รายงานปรัชญาไทยบทที่ 12 (ต่อ)

ปรัชญาศาสนาแบบศาสนศึกษา 

การค้นคว้าศาสนาเชิงวิทยาศาสตร์ดังที่กงต์ ทายเลอร์ เฟรเซอร์ และคนอื่นๆ อีกมากค้นคว้าไว้นั้น นับว่ามีคุณค่ามากทางวิชาการ ไม่ควรที่ใครจะมองข้ามหรือประณามในนามของศรัทธาทางศาสนา แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรใช้เป็นข้ออ้างสรุปว่าศาสนาเป็นแค่วิทยาศาสตร์ ผู้วิจัยเห็นด้วยกับความคิดที่ว่า มีความสำคัญผิดถึงกับเอาศาสนามาเป็นเงื่อนไขให้แบ่งแยกและทะเลาะวิวาทกัน แต่ก็ไม่เห็นด้วยที่จะแก้ปัญหาโดยการเลิกเชื่อศาสนา เพราะการมีศรัทธาต่อศาสนาแบบยึดเหนี่ยวแต่ไม่ยึดติดนั้นเป็นไปได้ คือยึดเป็นที่พึ่งโดยเชื่อว่าสัจธรรมแห่งศาสนามีจริง แต่ไม่ต้องยึดติดว่าของฉันนี้เท่านั้นที่เป็นสัจธรรม ของคนอื่นผิดหมด เราไม่ยึดติดตรงนี้ เราจึงเคารพศรัทธาของกันและกันด้วยจริงใจและจริงจัง มีองค์กรอิสระ (NGO) หลายองค์กรในปัจจุบันที่จัดตั้งขึ้นด้วยเป้าหมายที่จะส่งเสริมความคิดและการปฏิบัติดังกล่าวด้วยทัศนคติว่า พหุนิยมทางศาสนา (religious pluralism) ซึ่งอาจจะเป็นศาสนศาสตร์ คือ บนฐานความเชื่อว่ามีสิ่งเหนือธรรมชาติและโลกหน้า หรืออาจจะเป็นเพียงศาสนศึกษา คือ เสนอเป็นข้อมูลสำหรับวิชาการโดยไม่ผูกมัดตัวเองว่ามีความเชื่อตามที่เสนอหมดทุกเรื่องหรือไม่

ฟรอยด์ (Sigmund Freud 1856-1938)  มิได้มองเหมือนทายเลอร์เพียงแค่ว่าผู้ฝัน แต่ก่อนเชื่อว่ามีดวงวิญญาณออกจากร่างไปเที่ยวแล้วกลับเข้าร่างเดิม จนกว่าจะตายจึงไม่กลับมาอีก และหาร่างอื่นหรือสิ่งอื่นสิงสถิตต่อไป (คล้ายความเชื่อเรื่องฝันของบรรพบุรุษของไทย) ฟรอยด์ไม่ปฏิเสธความคิดข้อนี้ของทายเลอร์ที่วิจารณ์ว่าเป็นความเชื่องมงายไร้มูลเหตุระดับชาวบ้าน แต่คิดต่อไปว่าลึกลงไปกว่านั้นความฝันยังแสดงความเป็นจริงตามหลักวิทยาศาสตร์ด้วย คือมนุษย์เรานอกจากจะมีความรู้สึกนึกคิดในระดับสำนึกที่ผู้คิดเองก็ไม่รู้ว่ามี จึงเที่ยวคิดว่ามาจากภายนอก แท้ที่จริงก็อยู่ในจิตอีกระดับหนึ่งใต้จิตสำนึกลงไป ฟรอยด์จึงตั้งชื่อให้ว่า “จิตใต้สำนึก” (the subconscious)

เหมือนเราซื้อบ้านที่เจ้าของเคยอยู่มาแล้วเป็นแรมปี เมื่อเราซื้อมาเจ้าของก็ไม่เคยบอกเราเลยว่ามีห้องใต้ดิน ประตูทางเข้าก็เก็บไว้มิดชิดไม่อาจจะรู้ได้ ในห้องนั้นเป็นที่เก็บข้าวของสารพัดของเจ้าของเดิม ทั้งที่เก็บไว้ใช้และที่ต้องการทิ้ง ในนั้นจึงมีกลิ่นสารพัดกลิ่นซึ่งลอดรอยร้าวโชยมาเป็นระยะๆ แล้วแต่ว่ากลิ่นส่วนไหนจะมีโอกาสลอดออกมาเมื่อใด และในเมื่อทิ้งร้างไว้อย่างนั้นก็กลายเป็นที่ซ่องสุมของสัตว์นานาชนิดทั้งที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์ ว่างๆ มันก็ทะเลาะกัน ส่งเสียงประหลาดๆ ทำให้ขนหัวลุก หลายคนสันนิษฐานว่าเจ้าที่แรง และน่าจะมีหลายเจ้าที่แย่งกันเป็นใหญ่ เอาใจยาก ถวายของเท่าไร และอย่างไรก็ไม่เห็นสงบ บางครั้งสัตว์เหล่านี้ก็เผยโฉมให้เห็น เช่น มด ปลวก แมลงสาบ แมงป่อง ตะขาบ จิ้งหรีด จิ้งจก ตุ๊กแก ตะกวด งู กบ คางคก เขียด แมลงวันหัวเขียว ยุง ฯลฯ ซึ่งผู้พบเห็นคิดว่ามาจากภายนอกบ้าน ฟรอยด์จึงตั้งทฤษฎีขึ้นมาสันนิษฐานว่า บ้านชั้นที่เรากินอยู่หลับนอนนี้คือ “จิตสำนึก” เราพอจะรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ส่วนชั้นใต้ดินที่ลับๆ ล่อๆ อยู่นั้นคือ “จิตใต้สำนึก” (subconscious) ซึ่งมักจะแสดงฤทธิ์เดชในความฝัน นอกนั้น บ้านของเรายังมีหิ้งพระ เรียกว่า “จิตเหนือสำนึก” (superconscious) อันเป็นที่มาของอุดมการณ์และความใฝ่ฝันทั้งหลาย แม้เห็นไม่ชัดแต่เมื่อรู้ความแล้วก็พอจะรู้ว่ามี และถ้าสังเกตหน่อยก็พอจะรู้การทำงานและบทบาทของมัน ที่เรียกว่าจิตเหนือสำนึกก็เพราะมันอยู่ชั้นบนในอากาศ พอมีแสงสว่างให้เห็นได้ นอกจากจะปิดตาไม่ยอมมอง แต่ข้างล่างที่แดนใต้สำนึกนี่ซิ มันมืดมิดเสียจนมองไม่เห็นแม้แต่ความมืด เป็นแดนสนธยาจริงๆ จิตเหนือสำนึกและจิตใต้สำนึกรวมเรียกว่า “จิตไร้สำนึก” (unconscious)

อาศัยที่ฟรอยด์เป็นคนมีเชาวน์ก็ลองเดาเอา เหมือนนักวิทยาศาสตร์ดังๆ ทั้งหลายก็ใช้วิธีเดาเอาทั้งนั้น อย่างนิวเถิ้น (Newton) ก็เดาว่ามีแรงโน้มถ่วงดูดแอปเปิลให้ตกจากต้น ที่แท้ก็ไม่เห็นแรงโน้มถ่วงหรอก เห็นแต่ลูกแอปเปิลตก ก็เดาเอาว่าโลกดูดให้ตก ไอน์สไตน์ก็เดาจนได้รางวัลโนเบล เดาแล้วไม่ได้เรื่องก็มีเยอะ พวกที่เดาแล้วได้เรื่องจึงถือว่าโชคดี เหมือนเดาเลขท้ายแทงหวยแล้วบัญเอิญถูก

ฟรอยด์สอนว่าการนับถือศาสนาเป็นพฤติกรรมของคนเป็นโรคประสาทอย่างหนึ่ง เพราะเนื้อหาของศาสนาไม่มีอะไรจริงแบบวัตถุวิสัยเลย เป็นเพียงการแสดงออกของการเก็บกดจากจิตใต้สำนึกเท่านั้นเอง แต่การเก็บกดทางศาสนานั้นเก็บกดมาในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติถ่ายทอดต่อเนื่องกันเรื่อยมา จึงมีผลต่อจิตใต้สำนึกของมนุษย์ทั่วไปอย่างคล้ายคลึงกัน จึงรวมตัวกันระบายออกร่วมกันในองค์การศาสนาด้วยการปฏิบัติและพิธีกรรมร่วมกัน ผู้เข้าใจเรื่องนี้จึงจะรอดจากการกดดันทางอาการประสาท เลิกนับถือศาสนาและเลิกเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติใดๆ ทั้งสิ้น จิตใจก็จะปลอดโปร่งเบิกบานมีสภาพจิตเป็นปกติ ไม่ทุรนทุรายว้าวุ่นเหมือนคนมีศรัทธาต่อศาสนา (คำสอนของฟรอยด์จึงไม่ใช่ศาสนศาสตร์ แต่เป็นศาสนศึกษาประเภทไม่เชื่อว่ามีความเป็นจริงเหนือธรรมชาติอย่างชัดเจน)

เมื่อเป็นเช่นนี้ ฟรอยด์จึงอธิบายต่อไปได้ว่า จิตสำนึกของมนุษย์เราแต่ละคนเป็นสนามประลองยุทธ์ของพลังจิตไร้สำนึก 2 ฝ่าย ฝ่ายสูงมาจากจิตเหนือสำนึกเฉพาะตัวกับจิตเหนือสำนึกของมนุษยชาติร่วมมือกัน ส่วนฝ่ายต่ำก็มาจากจิตใต้สำนึกเฉพาะตัวและจิตใต้สำนึกของมนุษยชาติร่วมมือกัน ดังนั้น อะไรที่ตกตะกอนจากประสบการณ์ส่วนตัวก็ดี หรือตะกอนจากประสบการณ์ของมนุษยชาติก็ดี มีสิทธิจะสร้างความวุ่นวายให้เกิดโรคประสาทของแต่ละคนได้ทั้งสิ้น นักจิตวิเคราะห์และแพทย์บำบัดโรคจิตก็เลยมีภาระหนักต้องศึกษาและพิจารณาทั้งประวัติส่วนตัวและประวัติความเป็นมาของมนุษยชาติด้วย ซึ่งมีศาสนาเป็นข้อมูลสำคัญ ดูก็ยุ่งยากสลับซับซ้อนอยู่ไม่น้อยเลย

จริงอยู่ในการวินิจฉัยโรคทางประสาท นักจิตวิเคราะห์จะสืบถามถึงความเชื่อทางศาสนาและการปฏิบัติศาสนกิจด้วย ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องเชื่อว่าอาการป่วยนั้นมีบ่อเกิดมาจากความขัดแย้งในจิตไร้สำนึกของมนุษยชาติ ซึ่งไม่มีหลักฐานเพียงพอให้เชื่อได้ว่ามีจริง เป็นเพียงสมมุติฐานของฟรอยด์เท่านั้น อาจจะตีความด้วยสมมุติฐานอื่นแทนได้ เช่น เกิดจากความสำคัญผิดในการนับถือศาสนาเฉพาะตัวของผู้ป่วยทางประสาทนั้นเอง หรืออาจจะเป็นเพราะว่าระบบศาสนาไม่ดีพอ มุ่งข่มขู่สร้างความกลัวให้ผู้นับถือมากเกินไป หรืออาจจะเป็นเพราะผู้ป่วยหวังอะไรจากการนับถือศาสนาเกินควร ซึ่งก็เข้าข่ายสำคัญผิดทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ทั้งนี้มิได้หมายความว่านักจิตวิเคราะห์ (psychological analyst) ทุกคนจะต้องเป็นผู้ไร้ศาสนา เพราะบางคนอาจจะนับถือศาสนาอย่างมั่นคง เพียงแต่เอาใส่วงเล็บไว้ (bracketing) ในขณะวิเคราะห์จิตตามหลักวิชาการ เหมือนนักธรรมชาติศึกษาเอาเรื่องศาสนาใส่วงเล็บในขณะศึกษาวิชาธรรมชาติศึกษา (ดูเทคนิคการใส่วงเล็บของฮูสเซิร์ล (Edmund Husserl))

ดูร์แกง (Emile Durkheim 1858-1917)  มองศาสนาเป็นปรากฏการณ์ของคนที่รวมตัวกันในสังคม อยากจะเข้าใจศาสนาก็ใช้วิธีเดียวกันกับวิชาสังคมวิทยาคือพยายามหาหน่วยย่อยที่สุดของปรากฏการณ์ศาสนา และเอามาประกอบกันเป็นเหตุการณ์ต่างๆ ทางศาสนา ก็จะเข้าใจความเป็นจริงที่อยู่เบื้องหลัง อันได้แก่สังคมศาสนาได้ ไม่มีอะไรมากกว่านั้น หนังสือของท่านชื่อว่า Elementary Forms of Religious Life (รูปแบบเบื้องต้นของชีวิตศาสนา) ดูร์แกงมิเพียงแต่เอามาตรการวิทยาศาสตร์ไปตัดสินเนื้อหาศาสนาอย่างที่นักพุทธิปัญญาทั้งหลายพยายามกระทำกัน แต่ถือว่าศาสนาเป็นความรู้เหมือนวิทยาศาสตร์คือมองเอกภพและอยากเข้าใจจึงพยายามหาหน่วยย่อยที่สุดของมัน หน่วยย่อยที่สุดของศาสนาเรียกว่าอณูศาสนา (religious molecules) เมื่อพบแล้วจึงเอาหน่วยย่อยประกอบขึ้นเป็นขั้นๆ ก็จะเข้าใจศาสนาได้เป็นระบบเครือข่ายของความเป็นจริงทางศาสนา

ดูร์แกงพบว่าอณูศาสนามีเพียง 2 ชนิดเท่านั้น คือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ (the sacred) และสิ่งไม่ศักดิ์สิทธิ์ (the profane) ซึ่งสังคมที่นับถือศาสนาแทรกให้กับสิ่งต่างๆ อณูทั้ง 2 มีความเป็นจริงในสมอง ความเข้าใจว่าศักดิ์สิทธิ์ เป็นความเป็นจริงในสมองของสังคมที่มอบให้สิ่งใด สิ่งนั้นก็ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อศักดิ์สิทธิ์แล้วอาจจะให้คุณหรือให้โทษก็ได้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่จำเป็นต้องให้คุณเสมอไป ส่วนความเข้าใจว่าไม่ศักดิ์สิทธิ์นั้นเป็นความเป็นจริงในสมองของแต่ละคน แม้จะอยู่ในสมองของหลายคน แต่ก็ไม่มีวันจะรวมกลุ่มกันเป็นความเข้าใจของสังคม เช่น หินก้อนหนึ่งถูกแกะสลักให้เป็นรูปเทพอพอลโล มีความเข้าใจว่าศักดิ์สิทธิ์ในสมองของคนกลุ่มหนึ่งหรือหลายกลุ่มทันที แต่ก้อนหินธรรมดาก้อนหนึ่ง มีความเข้าใจว่าไม่ศักดิ์สิทธิ์ในสมองของหลายคนก็จริง แต่พวกเขาจะไม่มีวันรวมตัวกันทำอะไรสักอย่าง เพื่อแสดงความเข้าใจว่าไม่ศักดิ์สิทธิ์ร่วมกัน เหมือนอย่างกลุ่มชนที่รวมตัวกันเพื่อแสดงความเข้าใจร่วมกันถือความศักดิ์สิทธิ์ของก้อนหินที่เป็นรูปเทพอพอลโล จากความรู้เรื่องอณูศาสนาเช่นนี้ ก็สามารถเข้าใจได้ว่าศาสนากับไสยศาสตร์นั้นเป็นคนละเรื่อง ไม่ใช่สองระดับของความเข้าใจศาสนา ทายเลอร์สอนว่าไสยศาสตร์เป็นระดับสูงกว่าศาสนา ซึ่งหมายความว่าเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ต่างระดับความเข้าใจกันเท่านั้น ส่วนดูร์แกงคิดว่าเป็นคนละเรื่อง ไม่สามารถพัฒนาโดยอาศัยกันได้ เพราะศาสนามีมิติสังคม ส่วนไสยศาสตร์อยู่แค่ระดับมิติส่วนตัวเท่านั้น ดังสำนวนของท่านว่า “ไสยศาสตร์ไม่มีสักการสถาน” (There is no church of magic) แต่ศาสนามีมากมาย

เทคนิคการตีความปรากฏการณ์ศาสนาของดูร์แกงก็ต่างกับเทคนิคการตีความที่แล้วๆ มา เพราะที่แล้วๆ มา ตีความว่าศาสนาเป็นผลของวิวัฒนาการและเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ แต่การตีความของดูร์แกง เป็นแบบเครือข่ายและเป็นเรื่องของเคมี เหมือนน้ำแยกธาตุออกได้เป็นออกซิเจนกับไฮโดรเจน ไม่มีวิวัฒนาการ ไม่มีประวัติศาสตร์ ไม่จำกัดสถานที่ ไม่ว่าที่ไหนและเมื่อไรก็เดินตามกฎเดียวกัน ต่างกันที่มีองค์ประกอบมากน้อยกว่ากันเท่านั้น เหมือนอย่าง H2O ก็เป็นน้ำ ส่วน H2 SO4 ก็เป็นกรดกำมะถัน

ดูร์แกงมิได้เชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง มีแต่ความศักดิ์สิทธิ์ตามที่ประชาชนมอบให้เท่านั้น แมกซ์มืลเลอร์เชื่อมากกว่า ที่คิดว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์จริงแฝงอยู่เบื้องหลังตำนานปรัมปราและคัมภีร์ศาสนาทั้งหลาย ดูร์แกงมองว่าความศักดิ์สิทธิ์ของโทเทมและทาบูเป็นแง่บวกและลบของเรื่องเดียวกัน จึงเรียกรวมๆ ว่าโทเทมก็พอ โทเทมเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ย่อยที่สุดและพื้นฐานที่สุด เมื่อมีโทเทมหลายชนิดจับกลุ่มกันก็จะกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ซับซ้อนขึ้น จากโทเทมสามัญอันเป็นพลังอบุคคลก็จะกลายเป็นพลังบุคคลคือ เทพและพระเจ้าตามลำดับของความซับซ้อน ดูร์แกงน่าจะคิดว่าพระรัตนตรัยก็เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซับซ้อนเช่นกัน เพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คงความศักดิ์สิทธิ์อยู่ได้ ผู้รู้สึกความศักดิ์สิทธิ์ต้องช่วยกันทะนุบำรุงโดยปฏิบัติตามข้อบังคับและร่วมพิธีกรรม ตลอดจนเสียสละกำลังกายกำลังทรัพย์และกำลังใจถือความภักดี โทเทมเป็นคำภาษาเผ่าออสเตรเลีย ชาวเผ่าเมลเลอนีเซียน (Melanesian) เรียกมานา (mana) ชาวเผ่าอินเดียนแดงเรียก wakan, manitou, orenda ฯลฯ ล้วนแต่เป็นเรื่องเดียวกัน เป็นหน่วยย่อยที่สุดของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มองอย่างนี้ดูร์แกงถือว่าเป็นการมองอย่างนักสังคมวิทยา ซึ่งดูร์แกงถือว่าลึกกว่าที่ชาวบ้านมอง

สวรรค์นรกสำหรับดูร์แกงนั้นเป็นเรื่องที่ผู้นำศาสนาประดิษฐ์ขึ้นเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้นของศาสนา เพื่อให้ขลัง วิญญาณจะได้มีกำลังใจดูแลและบังคับร่างกายได้ชะงัดขึ้น วิญญาณไม่รู้ตาย ไม่ตายพร้อมกับร่างกาย แต่จะกลับคืนสู่สังคมและเป็นส่วนหนึ่งของสังคมต่อไป ถ้าได้ทำดีมาก็จะฝากชื่อไว้กับสังคม และจะอยู่ชั่วสังคมสลาย นั่นคือความไม่รู้ตายของวิญญาณในความหมายของดูร์แกง วิญญาณเหล่านี้แหละที่รวมตัวกันเป็นวัฒนธรรมของสังคม ส่วนที่เด่นก็จะเป็นผีบรรพบุรุษ ซึ่งในวัฒนธรรมไทยก็น่าจะได้แก่เจ้าพ่อหลักเมือง ผีเสื้อเมือง ผีปู่ตา ผีปู่ย่าตายาย ฯลฯ ในบางวัฒนธรรมก็เป็นเทพประจำเผ่าซึ่งมีหลายองค์หรือองค์เดียวแล้วแต่วัฒนธรรม เหล่านี้คือที่มาของตำนานปรัมปรา วิญญาณนิยม พหุเทวนิยม และเอกเทวนิยม

ดูร์แกงได้ชื่อว่าเป็นผู้แยกวิชาสังคมวิทยาออกจากปรัชญาในปี ค.ศ.1895 ด้วยการเผยแพร่หนังสือ The Rules of Sociological Method (กฎของวิธีสังคมวิทยา)

คาร์ลมาร์กซ์ (Karl Marx 1818-1883) เสนอความคิดว่า เศรษฐกิจของสังคมเป็นตัวกำหนดชีวิตสังคม แล้วมาร์กซ์ก็ยกตัวอย่างจากคริสต์ศาสนาที่ใครๆ ก็รู้จักกันดีในยุโรป คือ ตอนใดที่อำนาจเศรษฐกิจอยู่ในมือของผู้ใดหรือกลุ่มใด บรรดาปัญญาชนและบรรดานักบวชของศาสนาคริสต์ก็จะขอพึ่งผู้มีพลังเศรษฐกิจ เพื่อได้รับทุนการศึกษาและสร้างบรรยากาศการปฏิบัติงานของตน เพราะพวกนี้เท่านั้นมีเงินให้ทุน และก็ยินดีใช้เงินเพื่อการนี้โดยการลงทุนสร้างสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย เพื่อสร้างผู้มีความรู้ให้เป็นครู จะได้สอนผู้อื่นต่อไป ก็แน่นอนว่าผู้วางแผนและหลักสูตรการศึกษาจะต้องรู้สึกเกรงใจผู้ให้ทุนโดยอัตโนมัติ หรือโดยสัญชาตญาณก็ว่าได้ การศึกษาทั้งระบบจึงปรากฏว่าส่งเสริมสนับสนุนระบบเศรษฐกิจที่เกื้อหนุนการศึกษาขณะนั้น เป็นการเอื้ออาทรต่อกันแบบน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า แล้วมาร์กซ์ก็ยกสังคมยุคกลางซึ่งอำนาจเศรษฐกิจอยู่ในมือของเจ้าของที่ดินซึ่งมี 2 กลุ่ม คือ ขุนนางและคริสตจักร ซึ่งร่วมมือกันรักษาสถานภาพได้อย่างดีโดยตั้งโรงเรียนสถาบันการศึกษาของรัฐ โดยนักบวชนักพรตเป็นผู้สอนให้ใช้ชีวิตในโลกนี้ เพื่อเตรียมตัวไปมีความสุขในสวรรค์ ในโลกนี้ให้อยู่อย่างประหยัดจะไปสวรรค์ได้ง่าย สมัยฟื้นฟูเศรษฐกิจอยู่ในมือของพ่อค้าซึ่งตั้งมหาวิทยาลัยที่เป็นอิสระจากศาสนาและขุนนาง เพื่อให้การศึกษาแก่ปัญญาชนที่ส่งเสริมการเคารพต่อกฎหมายของรัฐและอุทิศตนให้รัฐเพื่อต่อต้านระบบศักดินา ครั้นถึงยุคอุตสาหกรรม นักอุตสาหกรรมก็ลงทุนให้การศึกษาที่ส่งเสริมการแข่งขันเสรีอันเป็นทางได้เปรียบของผู้มีเงินทุนมากกว่า ทั้งปัญญาชนและนักบวชของศาสนาคริสต์ต้องการทุน จึงยอมเป็นผู้สนับสนุนที่ว่าง่าย ทำให้ความรู้เป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจโดยอาศัยครูอาจารย์ซึ่งรวมถึงนักบวชของศาสนาคริสต์ด้วย เป็นเครื่องมือเกลี้ยกล่อมประชาชนให้ยอมรับสภาพที่ถูกกดขี่โดยดุษณี ในฐานะที่ได้รับการยกย่องนับถือโดยคนทั่วไปว่าเป็นผู้รู้ พูดอะไรคนก็เชื่อ 

โปรเตสแตนต์ที่แยกออกไป ก็ตกอยู่ใต้อิทธิพลของผู้มีอำนาจเศรษฐกิจที่ต้องการเป็นอิสระจากสันตะสำนัก เหมือนหนีเสือปะจระเข้ มาร์กซ์คิดเช่นนั้น ส่วนชาวคาทอลิกที่ยังยอมขึ้นกับสันตะปาปานั้น มาร์กซ์มองว่าสันตะปาปาตกอยู่ใต้อิทธิพลของผู้กำอำนาจเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถสั่งสันตะปาปาให้ใช้อำนาจสั่งและสอนเพื่อค้ำจุนอำนาจของตน ซึ่งสันตะปาปาก็ต้องยอมเพื่อมิให้สมาชิกหลุดจากอำนาจไปเป็นโปรแตสแตนต์มากขึ้น สภาพเช่นนี้คงมีอยู่ถึงสมัยของมาร์กซ์ผู้พยายามชี้ให้ดูว่า ปัญญาชนเป็นสมุนของผู้มีอำนาจเสมอมา

มาร์กซ์กล่าวว่าศาสนาเป็นยาเสพติด ซึ่งหมายความตามมาร์กซ์ว่า ศาสนาทุกศาสนาเป็นมายา (illusion) เป็นความสำคัญผิด และเป็นความสำคัญผิดที่เลว ไม่พึงปล่อยไว้อย่างที่ดูร์แกงคิด เพราะให้ผลร้ายมากๆ (evil consequences) ศาสนาเป็นผลพลอยได้จากการต่อสู้ระหว่างชั้นชน (by-product of the class struggle) และจากผู้ไม่กล้าสู้ จึงหาทางประนีประนอมให้เลิกต่อสู้ นับเป็นอุปสรรคร้ายกาจต่อความก้าวหน้าสู่อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ มาร์กซ์ได้แสดงความรู้สึกเกลียดชังต่อศาสนามาแต่ไหนแต่ไร ในวิทยานิพนธ์ปริญญาได้เขียนแสดงความรู้สึกของตนไว้โดยอ้างคำพูดของโพรมีเทียส (Prometheus) ว่า “ข้าพเจ้าเกลียดเทพเจ้าทั้งหลาย” (I hate all the gods) และให้เหตุผลที่ตนชอบข้อความดังกล่าวว่า “เพราะเทพไม่ยอมรับว่าความสำนึกตนเองของมนุษย์นั่นแหละคือเทพเจ้าสูงสุด” ให้สังเกตว่ามาร์กซ์ตอนนี้เล่นลิ้นหรือที่ตรรกวิทยาเรียกว่าไดเลมมา หรือปัญหา 2 แง่ คือ ถ้าเทพถือว่ามนุษย์เป็นเทพสูงสุด เทพทั้งหลายก็ต้องอยู่ใต้อำนาจของมนุษย์ ซึ่งมาร์กซ์คิดว่าไม่มีเทพใดจะยอม แต่ถ้าเทพไม่ยอมถือตามข้อเรียกร้อง มาร์กซ์ก็จะเกลียดชังเทพทุกองค์ ทั้งขึ้นทั้งล่องก็ลงข้อสรุปเหมือนกันว่าไม่มีเทพอันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาใดๆ ทั้งสิ้น ลงเอยว่าศาสนาเป็นความสำคัญผิดที่เลว

ลัทธิอัตถิภาวนิยมแก้ลำว่าความสำคัญผิดที่เลว (bad faith) ทำให้เกิดทุกข์ จึงเสนอให้แก้เป็นความสำคัญผิดที่ดี (good faith) ด้วยหลัก 3 กล้า คือกล้าเผชิญปัญหา กล้าประเมินวิธีปฏิบัติ และกล้าลงมือทำการด้วยความรับผิดให้ตัวเองมีใจเสรีที่จะตัดสินใจต่อไป ลัทธิหลังนวยุคสายกลางจะรับเอามาต่อยอดเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการสร้างสรรค์ ปรับตัว ร่วมมือ และแสวงหา (creativity, adaptivity, cooperativity and inquisitivity) ด้วยวิธีวิเคราะห์ วิจักษ์ และวิธาน (=ประยุกต์เพื่อการสร้างสรรค์ ปรับตัว ร่วมมือ และแสวงหา).

ซอกแซกหามาเล่า

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ

เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก

คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!

เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย

ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?

การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก

อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้