หนี้อุปโภคบริโภคส่วนบุคคลประมาณ 5.2 ล้านล้านบาท เป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 ของหนี้สินครัวเรือนทั้งระบบซึ่งมียอดหนี้คงค้าง 14.764 ล้านล้านบาท หากรวมหนี้เพื่อธุรกิจสำหรับรายย่อยเรียกโดยรวมว่าหนี้สินครัวเรือนที่ไม่มีหลักประกันจะเป็นร้อยละ 53 ของหนี้สินครัวเรือน ส่วนที่เหลือร้อยละ 47 เป็นหนี้ครัวเรือนที่มีหลักประกัน เช่นหนี้บ้าน หนี้เช่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์
การติดหล่มหนี้ครัวเรือนที่ไม่มีหลักประกันจะเป็นเรื่องที่พูดในครั้งนี้ โดยเฉพาะหนี้อุปโภคบริโภคประมาณ 5.2 ล้านล้านบาทว่าจะนำพาเศรษฐกิจประเทศไปข้างหน้า หรือ จะพาถอยหลัง ทั้งประชาชนในฐานะผู้กู้ก็มีโอกาสติดหล่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โรคอุบัติใหม่ ต้องพะวงกับการชำระหนี้
การบริโภคของประชาชนเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์กระตุ้นให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่การบริโภคที่เกินสมควรโดยเฉพาะที่เกิดจากการก่อหนี้จำนวนมาก ก็จะสร้างปัญหาเกินความสามารถในการชำระหนี้จนต้องมาร่วมมหกรรมแก้ไขหนี้กัน
มหกรรมร่วมใจแก้หนี้สัญจร ครั้งที่ 2 ได้จบลงแล้วที่ขอนแก่น ผลลัพธ์ในความพยายามแก้ไขหนี้ครัวเรือน จำนวน 520000 ราย ที่ได้รับการแก้ไข ในทุกกลุ่มหนี้เช่น หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อรายย่อย เช่าซื้อ เพื่อการศึกษา ลูกหนี้มาจากสถาบันการเงิน ต่าง ๆ รวมถึง กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ( กยศ ) ส่วนหนี้ข้าราชการครู ตำรวจ ที่ใช้บริการจากสหกรณ์ออมทรัพย์ ได้รับการแก้ไขหนี้แล้วเสร็จร้อยละ 64 ( ข้อมูล ไทยคู่ฟ้า กย.2565 )
จากหนี้เสียครัวเรือน จำนวน 2.9 ล้านราย ยอดหนี้ 4 แสนล้านบาท เป็นการยากที่จะคาดเดาว่าหนี้เสียครัวเรือนอีกกว่า 2 ล้านรายมีสภาพเป็นอย่างไร มองในแง่ดีอาจได้รับการแก้ไขปัญหาโดยสถาบันการเงินที่เป็นแหล่งเจ้าหนี้เอง
งานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ ยังมีอีก 3 ครั้ง ที่ จังหวัด เชียงใหม่ หาดใหญ่และชลบุรี ทั้งหมดจะจัดภายในเดือน มกราคม 2566 ซึ่งสอดรับกับนโยบายรัฐบาลที่ให้เป็นปีแห่งการแก้หนี้
ลูกหนี้ จะได้ความมั่นใจในการเข้าร่วมงาน มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสถาบันการเงินที่มีอำนาจในการตัดสินใจ มีพี่เลี้ยงช่วยลูกหนี้ให้คำแนะนำในการแก้หนี้ ไม่ว่าจะเป็น ทีมงาน ธปท. ทีมงานหมอหนี้ จึงเป็นโอกาสทองของลูกหนี้ที่เหลือเวลา 2 เดือนที่จะได้รับการดูแลจากสถาบันการเงินพร้อมหน่วยงานที่กำกับดูแลอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ดีแนวโน้มหนี้ครัวเรือนของไทยยังคงสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนวิกฤตโควิด ซึ่งมีอัตราส่วนที่ ร้อยละ 78.7 ต่อผลิตภัณฑ์รวมประชาชาติ ( จีดีพี )ในไตรมาสแรกของปี2562 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 88.2 ณ.มิถุนายน 2565 จึงเป็นที่มาของความกังวลต่อภาระหนี้สินครัวเรือนของประชาชนที่เพิ่มขึ้น
ปัจจุบันสินเชื่ออุปโภคบริโภคมีการเติบโตสูงสุดร้อยละ 18.6 ในไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่การก่อหนี้ก้อนใหญ่ เช่น ซื้อบ้าน รถยนต์มีการขยายตัวน้อยกว่าเพียงร้อยละ 4.1 และ 0.3 ตามลำดับ ดังนั้นถ้าเรายังคาดหวังให้หนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีลดลงอย่างมีนัยสำคัญ การเติบโตของจีดีพีประเทศจะต้องมีการเร่งขยายตัวไม่น้อยกว่าการเติบโตหนี้ จากการประชุมเอเปคที่จัดขึ้นที่กรุงเทพเมื่อสัปดาห์ก่อน กับโมเดล BCG ( Bio-Circular-Green ) ของไทยซึ่งจะเป็นต้นแบบการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนลดความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ และการลงทุนตรงจากนักลงทุนต่างประเทศในโครงการ EEC ก็จะเป็นตัวเร่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจเช่นกัน
ตรรกะทางคณิตศาสตร์ หากต้องการให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีให้อยู่ใกล้เคียงก่อนวิกฤตโควิด เราต้องลดตัวเลขหนี้ครัวเรือนซึ่งเป็นตัวเศษลง ยกตัวอย่างลดหนี้อุปโภคบริโภคลงไปครึ่งหนึ่งจากร้อยละ 35 ให้เหลือร้อยละ 17.5 จะทำให้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีลดลงโดยอนุมานจากร้อยละ 88.2 เหลือ 77.5 ซึ่งใกล้เคียงกับก่อนเกิดโควิดที่ร้อยละ 78.7 ในปี 2562 เรายังเห็นว่าน่าจะมีการนำรายได้ต่อหัวของประชาชน เข้ามาร่วมการกำหนดกรอบสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ตัวอย่าง เช่น จีน สิงคโปร์ ไทยมี GDP ตัวหัวอยู่ที่ us$18110 100845 และ 19476 โดยมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ที่ 52.6 54.7 และ 78.7 ตามลำดับในปี 2562
พฤติกรรมการใช้จ่าย เพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค มีปัจจัยหลายประการ เช่น ประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคน ฐานะการเงินครัวเรือน การปลูกฝังค่านิยมในการใช้จ่าย การออม รวมถึงพัฒนาการทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เป็นต้น ปัจจัยเปล่านี้จะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างอุปทานของหนี้อุปโภคบริโภค
แหล่งเงินกู้ที่สำคัญสำหรับหนี้ครัวเรือน ณ. มิถุนายน 2565 รวม 14.76 ล้านล้านบาทได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ สหกรณ์ออมทรัพย์ บริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และ อื่น ๆ จำนวนเงิน 6.31 4.13 2.18 1.62 และ 0.52 ล้านล้านบาทตามลำดับ โดย ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ มีส่วนร่วมตลาดสูงสุดร้อยละ 70 รองลงมาเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ร้อยละ 15 และบริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง ร้อยละ 11
ความสำคัญของการอำนวยสินเชื่อต้องรู้จักตัวตน KYC ผู้กู้ พร้อมเช้าใจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้กู้ ซึ่งเริ่มเข้ามามีบทบาทในการให้สินเชื่ออุปโภคบริโภค การประเมินความสามารถในการชำระหนี้ เป็นหัวใจที่สำคัญที่สุด ความสำคัญอยู่ที่การตรวจสอบหนี้ของผู้กู้ต้องมีความครบถ้วนไม่ตกหล่น ปัจจุบันมีสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อครัวเรือนข้างต้นไม่อยู่ในสมาชิกเครดิตบูโร เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ ส่งผลให้มีการกู้หนี้ซ้ำซ้อนจนเกินความสามารถในการชำระชองผู้กู้ ถ้าไม่มีมาตรการจากภาครัฐให้แหล่งเงินหนี้ครัวเรือนเป็นสมาชิกเครดิตบูโรทั้งหมด จะเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำ และเป็นสองมาตรฐานในระบบการเงินไทย
เนื่องจากหนี้อุปโภคบริโภคเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกันจะมีความเสี่ยงสูงกว่าหนี้ที่มีหลักประกัน จึงต้องชดเชยด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า เริ่มต้นประมาณร้อยละ 10 ถึง 24 ต่อปีระยะเวลาให้กู้ประมาณ 1-5 ปี ปกติกู้ยาวเวลา 5 ปีไม่มีหลักประกันมีความเสี่ยงสูงกว่ากู้เวลาสั้น 1 ปี จึงถูกชดเชยด้วยอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นร้อยละ 24 ตัวอย่างถ้ากู้เงิน 100000 บาท ระยะเวลา 5 ปี ต้องเสียดอกเบี้ยปีละ 24000 บาทหรือเดือนละ 2000 บาทถ้านำดอกเบี้ยจำนวนนี้มาใช้จ่ายประจำวันอย่างพอเพียงน่าจะใช้ได้ไม่ต่ำกว่า 10 วัน
หากมีวิธีคิดที่ดีก่อนการใช้จ่าย เช่น การใช้จ่ายด้วยการประเมินความคุ้มค่าของเงิน มีทางเลือกในการใช้จ่าย จะเป็นเครื่องมือช่วยลดการใช้สินเชื่ออุปโภคบริโภค ซึ่งดอกเบี้ยสูง เมื่อหลายปีก่อนได้เคยใช้หนี้อุปโภคบริโภคครั้งเดียว ใช้เพราะมี promotion เบิกเงินใช้ในสัปดาห์โดยไม่มีดอกเบี้ย พอครบกำหนดก็คืนเงินทั้งจำนวนไม่เสียดอกเบี้ย
ทุกวันนี้ใน แต่ละสัปดาห์จะเห็นกล่องที่บรรจุสินค้ามาส่งที่บ้านเป็นการสั่งซื้อสินค้า online โดยสมาชิกในครอบครัว การที่มีสมาชิกในครอบครัวอยู่ในช่วงปลาย gen y ซึ่งมักจะมีความรวดเร็ว ตัดสินใจเร็ว ถ้าชอบและใช่ก็ซื้อ จากรายได้ของตัวเอง แต่ยังคงทำอะไรไม่เกินตัว
ตัวอย่างการใช้จ่ายอย่างไม่มีเพดานจำกัดของนายกรัฐมนตรีและมกุฎราชกุมาร ซาอุดิอาระเบีย หนึ่งในผู้มั่งคั่งระดับโลกได้ประกาศวันหยุดงานเพื่อฉลองชัยชนะของนักฟุตบอลทีมชาติต่อทีมอาเจนติน่า และแววว่าจะทรงมอบรถยนต์ยี่ห้อโรลส์รอยช์ รุ่นแฟนธอม ราคาคันละประมาณกว่า 50 ล้านบาท ให้เป็นรางวัลนักเตะทีมชาติด้วย นี่คือตัวอย่างการใช้จ่ายของไร้ขีดจำกัดผู้ทรงอิทธิพลทางการเงินคนหนึ่ง
จากประสบการณ์ที่ได้เป็นนักจิตสังคม ให้กับศาลจังหวัด ผู้ที่ถูกศาลพิพากษาจำคุกในคดีต่าง ๆ ที่ได้รับความเมตตาจากผู้พิพากษาให้รอลงอาญาต้องมารับคำปรึกษาจากนักจิตสังคมเพื่อปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตไม่ให้กระทำผิดอีก ได้เห็นการดำรงชีวิตของประชาชนอีกกลุ่มหนึ่ง เพียงการหารายได้มาเพื่อเลี้ยงปากท้องของคนในครอบครัวก็ไม่ง่าย ทำงานรับจ้างรายวันรายได้กว่า 300 บาทก็ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับงานแต่ละวัน มีกรณีหนึ่งที่น่าสนใจเป็นการวางแผนการเงินให้คนชาติพันธุ์ เพื่อการศึกษาของลูกปีหน้าจะขึ้น ม 4. และย้ายเข้ามาเรียนในเมือง ให้รู้จักการออมเงินจากรายได้เช่นการขายพืชผลในฤดูกาลผลิต การรับจ้างรายวัน การคำนวณรายจ่ายต่อวันของครัวเรือน ทำให้หัวหน้าครอบครัวรายนี้มีความหวังที่จะหาเงินจำนวน 15000 บาทในแต่ละปี เพื่อส่งลูกให้เรียนหนังสือสูงขึ้น ประชาชนต้องตระหนักรู้และช่วยตัวเองก่อน
มีการสำรวจภาคประชาชนเรื่องการมีรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายหรือไม่ ร้อยละ 16.5 ตอบว่ามีรายได้เพียงพอปานกลางถึงมาก ร้อยละ 20.8 และ 26.4 มีรายได้น้อย และน้อยมาก ประชาชนที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายสูงถึงร้อยละ 36.1 กลุ่มนี้น่าจะเป็นประเด็นและได้รับการดูแลจากภาครัฐก่อน
การกู้ยืมหนี้อุปโภคบริโภค ควรเกิดจากไม่มีเงินเพียงพอช่วงเวลาหนึ่งในการดำรงชีวิตหรือซื้อสินค้าที่จำเป็น หรือเกิดเหตุการณ์ที่ต้องใช้เงิน เพื่อรักษาพยาบาล เพื่อการเดินทางท่องเที่ยว เป็นต้น
ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยจะสูงมากเมื่อมีการให้กู้ระยะเวลาที่นาน เพื่อลดความเสี่ยงสถาบันการเงินก็ไม่จำเป็นออก product ที่มีระยะเวลานานเช่น 5 ปี ระยะเวลาที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์เพื่อใช้ฉุกเฉิน ชั่วคราวน่าจะประมาณ 1-3 ปี และอัตราดอกเบี้ยก็อาจสามารถลดลงเพื่อลดภาระแก่ประชาชนไม่เกิน ร้อยละ 16
ตลอดระยะเวลาช่วงวิกฤตโควิด ธนาคารแห่งประเทศไทยได้แสดงบทบาทในฐานะผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินได้ออกมาตรการที่เข็มข้นหลายอย่าง ปรับแก้สิ่งที่ถูกละเลยในอดีต เช่น การคิดลดดอกเบี้ยปรับ การเปลี่ยนวิธีการตัดหนี้ให้เป็นธรรมต่อผู้กู้ เป็นต้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างกำลังดำเนินการ ทบทวนโครงสร้างอัตราดอกเบี้ย คุ้มครองลูกหนี้ คิดอัตราดอกเบี้ยที่สะท้อนความเสี่ยงของลูกหนี้ที่แท้จริง เป็นต้น
ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ กระทรวงการคลัง สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นต้น กำลังเร่งแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้แก่ประชาชนด้วยมหกรรมร่วมใจแก้ไขหนี้ จากวิกฤตโรคอุบัติใหม่ โควิด ข้อเสนอต่อไปนี้สะท้อนมุมมองจากประสบการณ์ที่มีต่อหนี้อุปโภคบริโภค
1 เพื่อลดความเสี่ยงของสถาบันการเงินและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน หนี้อุปโภคบริโภคควรมีระยะเวลาให้กู้อยู่ ระหว่าง 1-3 ปี เพดานดอกเบี้ยลดลงเป็นร้อยละ16 เท่ากับบัตรเครดิต
2 เพื่อให้การปล่อยหนี้อุปโภคบริโภคมีข้อมูลหนี้ของผู้กู้ครบถ้วน สถาบันการเงินที่ปล่อยหนี้อุปโภคบริโภคตามรายชื่อจากธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ จะต้องนำส่งข้อมูลลูกหนี้ทั้งหมดให้บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
3 เพื่อให้หนี้ครัวเรือนไม่ส่งผลต่อเสถียรภาพการเงินและปัญหาการดำรงชีวิตประชาชนประจำวัน ควรกำหนดสัดส่วนหนี้อุปโภคบริโภค ให้อยู่ไม่เกินร้อยละ 20 ของ port หนี้ครัวเรือน
บทสรุป จากข้อเสนอข้างต้นจะเป็นประโยชน์ต่อการลดค่าใช้จ่ายของประชาชนลดภาระดอกเบี้ย สถาบันการเงินมีข้อมูลหนี้ครบถ้วนบริหารความเสี่ยงได้ดีขึ้น สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของประเทศอยู่ในมาตรฐานที่ไม่ทำให้เกิดความเป็นกังวล และสุดท้าย ทั้งประชาชนและสถาบันการเงินก็จะก้าวพ้นการติดหล่มหนี้อุปโภคบริโภค
วงศกร พิธุพันธ์
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เริ่มวันแรก! เปิดลงทะเบียน 'คุณสู้ เราช่วย' ปลดหนี้ 3 แสนล้าน
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กระทรวงการคลัง ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)