30 พ.ย. ศาลรธน. วินิจฉัย ร่างพรบ.การเลือกตั้งส.ส.ฯ หาร 100 ปาร์ตี้ลิสต์ ฉลุย-สะดุด?

แวดวงการเมืองต่างเฝ้ารอผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคำร้องคดีร่างพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าการเลือกตั้งส.ส.ฯ ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดลงมติคำร้องคดีดังกล่าว ในวันพุธที่ 30 พ.ย. นี้

หลังก่อนหน้านี้ เมื่อวันพุธที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมีมติด้วยเสียงเอกฉันท์ว่าร่างพรบ.พรรคการเมือง ฯ ที่มีสมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อกันยื่นคำร้อง ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

“นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่”ในฐานะ”แกนนำสมาชิกรัฐสภาที่ร่วมกันยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างพรบ.การเลือกตั้งส.ส.ฯ มีเนื้อหาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่”กล่าวถึงการที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีผลคำวินิจฉัยในคำร้องคดีดังกล่าววันที่ 30   พ.ย.นี้ว่าเพื่อให้เข้าใจที่มาที่ไปของคำร้องดังกล่าว ขอสรุปให้เห็นภาพว่า คำร้องที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญทางกลุ่มผู้ร้อง ได้ยื่นให้ศาลวินิจฉัยในสองประเด็น

ประเด็นแรก คือร่างพรบ.การเลือกตั้งฯดังกล่าวในเรื่อง”ระบบการคิดคำนวณส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ที่ให้ใช้ระบบ 100 หาร ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 93 และ 94 หรือไม่”ซึ่งสองมาตราดังกล่าวให้มีส.ส.พึงมี และให้การคำนวณหาส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ในสองกรณีคือกรณีที่การเลือกตั้งยังไม่แล้วเสร็จทั้งหมด คำนวณอย่างไร กับกรณีที่ภายในหนึ่งปี ถ้าเกิดมีการสอบสวนการเลือกตั้งแล้วกกต.บอกว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งจนต้องจัดการเลือกตั้งซ่อมใหม่ ก็ต้องมีการคำนวณส.ส.พึงมีและส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ อันนี้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ต้องวินิจฉัยว่า เมื่อรัฐธรรมนูญมาตรา 93 กับ 94 มีบัญญัติไว้แบบนี้ แล้วระบบหาร 100 ปาร์ตี้ลิสต์ ที่ไม่มีเรื่องของส.ส.พึงมี ที่เขียนไว้ในร่างพรบ.การเลือกตั้ง ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะหาร 100 เป็นการยกเลิกเจตนารมณ์หลักของรัฐธรรมนูญทั้งสามข้อ คือส.ส.พึงมี -ทุกคะแนนเสียงไม่ตกน้ำ -ระบบจัดสรรปันส่วนผสม ระบบหาร100 ทำลายทั้งสามหลักการดังกล่าว

“นพ.ระวี”กล่าวต่อไปว่าสำหรับประเด็นที่สองที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคือ “กระบวนการได้มาซึ่งระบบหาร 100 ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ”เพราะในช่วงที่รัฐสภากำลังพิจารณาร่างพรบ.การเลือกตั้งส.ส.ฯ ในวาระสอง ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพรบ.การเลือกตั้งของรัฐสภา(สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เป็นประธาน) ตั้งแต่มาตรา 1 จนถึงมาตรา 23 โดยในมาตรา 23 ฝ่ายผมได้สู้จนชนะ คือเสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกรัฐสภา โหวตให้เป็นหาร 500 จากเดิมที่ร่างของกรรมาธิการเป็นหาร 100 ทำให้ต่อจากนั้น จะต้องมีการพิจารณามาตราในลำดับถัดไป คือตั้งแต่มาตรา 24 ไปจนจบประมาณมาตรา 28-29

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาโหวตให้ใช้หาร 500 แล้ว ต่อมาคณะกรรมาธิการฯได้มีการประชุมและปรับแก้เนื้อหาในร่างพรบ.การเลือกตั้งฯในมาตราถัดๆ ไปให้สอดคล้องกับมาตรา 23 จากนั้นกรรมาธิการ ก็ส่งร่างที่มีการปรับแก้ไข ในมาตราที่ 24 เป็นต้นมาจนจบ มาให้รัฐสภาเตรียมพิจารณาในวาระสองต่อ ที่ขั้นตอนทางที่ประชุมรัฐสภา ก็จะนำร่างดังกล่าวมาพิจารณาเรียงรายมาตรา ไปจนครบทั้งฉบับ ภายใต้หลักคือหาร 500 พอพิจารณาครบหมด ที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะต้องโหวตวาระสาม ว่าจะให้ร่างพรบ.การเลือกตั้งฯผ่านความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบจากรัฐสภา

แต่ปรากฏว่ามีการเล่นเกมกัน ทำให้การประชุมรัฐสภา เพื่อกลับมาพิจารณาร่างพรบ.การเลือกตั้ง ตั้งแต่มาตรา 24 เกิดขึ้นไม่ได้ ตอนนั้นที่ประชุมร่วมรัฐสภาองค์ประชุมล่มสี่ครั้ง จนเลยเวลา 180 วัน ซึ่งที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะต้องพิจารณาร่างพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ แต่สุดท้าย รัฐสภาพิจารณาไม่เสร็จ เมื่อเลย 180 วันมา กฎหมายบัญญัติว่า ต้องใช้ร่างที่รัฐบาลเสนอเข้ามาที่เป็นร่างหลักในตอนที่รัฐสภาพิจารณาเห็นชอบวาระแรก ก็เลยทำให้ มีการใช้ร่างพรบ.การเลือกตั้งฯ ที่ผ่านวาระแรกมาแทนร่างของคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งร่างดังกล่าว(ร่างของคณะกรรมการการเลือกตั้ง) ให้ใช้100 หารปาร์ตี้ลิสต์ โดยตามขั้นตอน คุณชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ก็จะต้องส่งร่างพรบ.การเลือกตั้งดังกล่าวไปให้นายกรัฐมนตรีเพื่อเตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯ

แต่ในช่วงที่กำลังจะรอส่งร่างฯให้นายกรัฐมนตรี ทางกลุ่มผู้ร้อง ก็ยื่นให้ศาลวินิจฉัยว่ากระบวนการดังกล่าวข้างต้นที่ทำให้พิจารณาร่างพรบ.การเลือกตั้งส.ส.ของคณะกรรมาธิการฯ ไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ ด้วยการทำให้รัฐสภาองค์ประชุมล่มถึงสี่ครั้ง

ประเมินแนววินิจฉัยคดี

ออกสูตรไหน-แก้ปัญหาอย่างไร 

"นพ.ระวี-แกนนำกลุ่มผู้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างพรบ.การเลือกตั้งส.ส.ฯ" กล่าวว่า สำหรับแนววิเคราะห์ในเรื่องนี้ วิเคราะห์ได้ว่า หนึ่ง หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คำร้องดังกล่าวที่ยื่นไปฟังไม่ขึ้น จบไป เหมือนกับกรณีคำร้องร่างพรบ.พรรคการเมือง ที่ศาลวินิจฉัยไปเมื่อวันพุธที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา ถ้าออกมาแบบนี้ ก็คือจบ ระบบการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็จะเป็นระบบหาร 100

ส่วนประเด็นที่สอง(องค์ประชุมล่มสี่ครั้งทำให้พิจารณาร่างพรบ.การเลือกตั้งไม่ทัน 180 วัน)  หากศาลวินิจฉัยว่าเป็นเรื่องธรรมดาของสภาฯ ถ้าศาลมองแบบนี้ ก็จบไป ก็เท่ากับว่า เรื่องกฎหมายลูก พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ที่แก้ไขตามที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราก่อนหน้านี้ ก็จบหมดทั้งสองฉบับคือร่างพรบ.การเลือกตั้งส.ส.และร่างพรบ.พรรคการเมือง ขั้นตอนต่อไปก็เตรียมประกาศใช้ และเมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายลูกทั้งสองฉบับแล้ว ก็เท่ากับมีกฎหมายรองรับการเลือกตั้ง ก็สามารถยุบสภาฯ ได้แล้ว หากจะมีการยุบสภาเกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี หากเกิดกรณีว่า ร่างพรบ.การเลือกตั้งส.ส.ไม่ผ่านคือมีเนื้อหาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ  ต้องรอดูว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทางศาลได้วินิจฉัยว่าร่างดังกล่าวไม่ผ่านแบบไหน เช่นหากไม่ผ่านเพราะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 94 ที่เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าอย่างนี้ ก็ต้องถือว่าร่างพรบ.การเลือกตั้งที่ให้ 100 หาร ก็ต้องตกไปหมด ต้องไปเริ่มต้นกันใหม่ แต่หากจะเริ่มต้นเสนอร่างพรบ.การเลือกตั้งส.ส.กลับเข้ามาใหม่ จะเขียนให้ใช้ 100 หารอีกครั้งไม่ได้แล้ว เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปแล้วว่าขัดรัฐธรรมนูญ ก็ต้องเสนอเป็นหาร 500 เข้ามา อันนี้กรณีที่หนึ่ง

แต่หากเกิดกรณีอีกแบบคือ หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่า หาร 100 ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ยังมีสมาชิกรัฐสภายืนกรานว่ายังไงต้องเป็นหาร 100 ให้ได้ แล้วจะทำอย่างไร คำตอบคือ จะต้องยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา 93 และ 94 ก่อน และหากรัฐสภามีการแก้ไขมาตรา 93 และ 94 เสร็จ แล้วมีการประกาศใช้  จากนั้น คนที่ต้องการให้ใช้หาร 100 ให้ได้ ก็เสนอร่างพรบ.การเลือกตั้งส.ส.ที่จะใช้หาร 100 เข้ามาให้รัฐสภาพิจารณาใหม่ ที่ก็อาจจะใช้ร่างเดิมของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพรบ.การเลือกตั้งส.ส.ของรัฐสภาตอนที่เป็นหาร 100 ก็ได้โดยรัฐบาลหรือส.ส.เข้าชื่อกันเสนอร่างพรบ.การเลือกตั้งส.ส.ดังกล่าวกลับเข้ามายังรัฐสภาใหม่อีกรอบ แล้วก็เดินไปตามขั้นตอนการขอแก้ไขเพิ่มเติมพรบ.ประกอบรํฐธรรมนูญ ก็พิจารณาไปทีละวาระตั้งแต่วาระแรกจนถึงวาระสาม ก็จะออกมาเป็นระบบหาร 100 ได้ ถ้าเป็นแบบนี้ คนที่ไม่เห็นด้วยกับหาร 100 ก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว เพราะมีการไปแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 93 และ 94 แล้ว แต่ถามว่าวิธีการนี้จะทำทันภายในสมัยประชุมสภาฯรอบนี้ที่เป็นเทอมสุดท้ายของสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ ดูแล้ว ไม่ทันแน่นอน เพราะต้องทำสองขั้นตอน เริ่มตั้งแต่แก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ดูแล้วสองเดือนยังไม่รู้จะเสร็จทันหรือไม่ และพอเสร็จ ยังไม่ทันจะเสนอแก้ไขกฎหมายลูกคือพรบ.การเลือกตั้งส.ส.  ก็อาจจะมีการยุบสภาแล้ว

"นพ.ระวี"กล่าวต่อไปว่า สำหรับประเด็นตามคำร้องที่ยื่นไปในประเด็นที่สองเรื่อง มีการทำให้องค์ประชุมล่ม จนทำให้พิจารณาร่างพรบ.การเลือกตั้งฉบับของคณะกรรมาธิการไม่ทันภายใน 180 วัน ซึ่งหากผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาว่า เรื่องนี้ขัดรัฐธรรมนูญจริง การทำให้องค์ประชุมรัฐสภาล่ม เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ศาลก็อาจวินิจฉัยว่าให้กลับไปเริ่มต้นใหม่ คือกลับไปเริ่มต้นการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพรบ.การเลือกตั้งฯ อีกครั้งโดยเริ่มจากมาตรา 23 ที่ค้างอยู่ แล้วก็พิจารณาเรียงรายมาตราไปจนครบทุกมาตรา แล้วก็โหวตวาระสาม ถ้าเป็นแบบนี้ ก็ไม่ต้องมีการเสนอร่างพรบ.การเลือกตั้งส.ส.ฯใดๆ เข้ามาใหม่ ก็ให้มีการเรียกประชุมร่วมรัฐสภา ส.ส.และสว.อีกครั้ง เพื่อพิจารณาร่างพรบ.การเลือกตั้งส.ส.ฯ ถ้าเป็นแบบนี้ การจะมาใช้วิธีเตะถ่วงเพื่อทำให้พิจารณาร่างพรบ.ฯ ไม่ทัน180 วันก็จะเกิดขึ้นไม่ได้แล้ว เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยออกมาแล้ว

ส่วนกระบวนการจะทำอย่างไร เป็นเรื่องที่สมาชิกรัฐสภาต้องมาหารือร่วมกันถึงกระบวนการต่าง ๆว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หากเสียงส่วนใหญ่เห็นว่า ทำได้ ก็ใช้วิธีพิจารณามาตราถัดๆไปเลยคือ เริ่มที่มาตรา 24 ของร่างพรบ.การเลือกตั้งส.ส.ฉบับคณะกรรมาธิการ พิจารณาไปเรื่อยๆจนถึงมาตรา29 ที่เป็นมาตราสุดท้าย ก็ถือว่าจบการพิจารณาในวาระสอง จบเสร็จ ก็โหวตวาระสาม

เรื่องนี้อาจออกได้หลายหน้า ต้องรอฟังผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ...หากใช้ระบบหาร 100 ประเมินว่า เพื่อไทย จะมีทั้งส.ส.เขตและปาร์ตี้ลิสต์โดยคะแนนเสียงมาอันดับหนึ่ง โดยจำนวนส.ส.จะทิ้งพรรคการเมืองที่ได้เสียงอันดับสองแบบขาดลอย และทำให้ที่บางฝ่ายไปมองว่าพลเอกประยุทธ์จะได้กลับมาเป็นนายกฯต่อ แต่ผมกลับมองตรงกันข้าม คือ มองว่า อาจจะ50-50

แต่หากตอนโหวตวาระสาม ถ้าเสียงส่วนใหญ่โหวตไม่ให้ร่างฯดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ก็จะทำให้ร่างพรบ.การเลือกตั้งส.ส.ฯ ดังกล่าวตกไปทันที ก็ต้องไปเสนอญัตติกลับมาใหม่ แต่หากร่างพรบ.การเลือกตั้งส.ส. ฯ ดังกล่าว ผ่านวาระสาม  ก็เท่ากับ หาร 500 ชนะในการโหวตวาระสาม แต่หากออกมาแบบนี้ ก็มองว่าอาจจะไม่ยังจบดี เพราะฝ่ายที่ต้องการหาร 100 อาจจะยังไม่ยอม เพราะไม่ว่าสุดท้าย หากร่างพรบ.การเลือกตั้งส.ส.ออกมาเป็นหาร 500 ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบไหน จะทำให้อาจเกิดกรณีคือ ก่อนที่คุณชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จะนำร่างพรบ.การเลือกตั้งส.ส.ฯ ส่งให้นายกรัฐมนตรีเพื่อเตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯ ฝ่ายหาร100 ก็จะยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าหาร 500 ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ซึ่งหากเป็นแบบนี้ มันก็ไม่จบ ยุบสภาฯก่อนแน่นอน หรืออาจเกิดกรณี ฝ่ายต้องการหาร 100 เขาอาจคิดว่า ดูแล้วอาจไม่ทันกับสมัยประชุมนี้ เขาอาจคิดว่าจะยอมให้หาร 500 ผ่านไปก่อนดีหรือไม่ แล้วในการเลือกตั้งส.ส.ที่จะมีขึ้น ซึ่งอาจจะให้มีการทำประชามติ ถามความเห็นประชาชนด้วยว่าเห็นด้วยกับการให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ซึ่งหากผลการทำประชามติออกมาว่าประชาชนเห็นด้วย จนมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กลุ่มที่หนุนหาร 100 อาจคิดว่า ก็รอให้ไปมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หลังเลือกตั้งก็ได้ เพราะเมื่อทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมา ถ้ามีการประกาศใช้ ก็จะต้องมีการเขียนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญใหม่หมดทั้งฉบับ รวมถึงพรบ.การเลือกตั้งส.ส.ด้วย แต่ฝ่ายหนุน หาร 100 หากเขาจะยื้อ ไม่ให้ใช้หาร 500 เขาก็มีสิทธิ์ทำได้ โดยการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าหาร 500 ขัดรัฐธรรมนูญ แต่หากส่งเรื่องไปแล้ว ปรากฏว่าเวลาไม่พอ แล้วหากนายกฯจะยุบสภาฯ จะทำอย่างไร เรื่องก็คาอยู่

"ต้องดูกันว่าผลคำวินิจฉัยจะออกมาอย่างไร เพราะตอนนี้ก็คาดการได้ยากว่าจะออกมาแบบไหน แต่สุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน แล้วมีการพยายามจะเล่นเกมยืดเยื้อ ไม่ว่าจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จนเวลาเลยไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าแล้วยังไม่จบ สภาปิดแล้วหลัง 28 ก.พ. 2566 ซึ่งหากถึงตอนนั้น คงเป็นไปได้ยากที่จะเปิดสภาสมัยวิสามัญ ก่อนวันที่  23 มีนาคม 2566ที่สภาต้องหมดวาระเพราะครบเทอมสี่ปี  เพื่อจะมาขอให้รัฐสภาพิจารณากฎหมายลูก แต่หากจะขอให้เปิดวิสามัญ  ก็ทำได้ แต่เรื่องกรอบเวลา การประชุมเพียงวันเดียว จะพิจารณาเสร็จทันหรือ ดูแล้วก็คงไม่เสร็จ เพราะฉะนั้น ถ้ามีใครเล่นเกมยืดเยื้อ ผมเดาว่า สุดท้าย รัฐบาลอาจจะออกพระราชกำหนดว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. “

และถ้าจะทำ ผมเดาว่า ในพระราชกำหนดที่อาจจะทำออกมา สูตรคำนวณส.ส.จะออกมาที่หาร 500 เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่า หาร 100 ขัดรัฐธรรมนูญ จะไปออกพระราชกำหนดโดยให้เป็นระบบหาร 100 มันก็ไม่ได้

อันนี้คือกรณีหากศาลวินิจฉัยว่าหาร100ในร่างพรบ.การเลือกตั้งฯขัดรัฐธรรมนูญ แต่หากศาลวินิจฉัยว่าไม่ขัด มันก็จบไปแล้ว ไม่มีในส่วนนี้เกิดขึ้น

ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าหาร 100 ขัดรัฐธรรมนูญ แล้วจะต้องมีการดำเนินการใดๆหลังจากนั้นตามที่ไล่เรียงมาข้างต้น เช่นหากต้องมีการออกพระราชกำหนด ก็ต้องให้เป็นหาร 500  ส่วนมาตราอื่นๆในพระราชกำหนด ก็ออกตามเนื้อหาในร่างพรบ.การเลือกตั้งส.ส.ฯ ของกรรมาธิการ  ที่ค้างการพิจารณาในวาระสองคือตั้งแต่มาตรา 24 ถ้าเอาตามนี้ ก็จะลดข้อขัดแย้งได้ เพราะกรรมาธิการเสียงข้างมากเห็นด้วย ที่เป็นกรรมาธิการทั้งจากฝ่ายค้าน รัฐบาลและจากฝ่ายรัฐบาล มันก็จะลดการกล่าวหารัฐบาลลงไปได้ เพราะถ้าไทม์ไลน์เป็นไปตามที่กล่าวแล้วช่วงเวลาไปตกเอาในช่วงเดือนมีนาคม 2566 ตอนนั้นสภาฯ ก็ปิดสมัยประชุมไปแล้ว ตรงนี้จะทำอย่างไร จะเลือกตั้งกันไหม ถ้าออกมาแล้วทำให้มีการเลือกตั้ง ใครจะมาด่ารัฐบาลก็ด่าไม่ได้ เพราะรัฐบาลจำเป็นต้องออกพรก.เพื่อให้มีการเลือกตั้งตามกรอบเวลา หรือหากจะใช้วิธีไปแก้กฎหมายลูก แล้วใครจะเป็นคนมาทำ ในเมื่อส.ส.หมดวาระ เรื่องนี้อาจออกได้หลายหน้า ต้องรอฟังผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

-ในช่วงการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ ทางศาลได้มีการขอให้ผู้ร้องส่งเอกสารหรือหลักฐานอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ และพอทราบไหมว่า ทางศาลรัฐธรรมนูญได้ขอเอกสารที่เกี่ยวข้องกับทางรัฐสภา ที่มีนัยยะสำคัญในการวินิจฉัยคดี?

ตอนแรกหลังศาลรับคำร้องไว้พิจารณา  ฝ่ายผู้ร้องก็คิดว่า ศาลจะขอให้ผู้ร้องส่งเอกสารเพิ่มเติม แต่ปรากฏว่าศาลได้ทำหนังสือถึงรัฐสภาและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อขอเอกสารที่เกี่ยวข้องไปเท่านั้น

เท่าที่ทราบเอกสารที่ศาลขอไป ก็มีเช่น หนังสือบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพรบ.การเลือกตั้งส.ส.ของรัฐสภา และหนังสือต่างๆที่เกี่ยวกับการพิจารณาร่างพรบ.การเลือกตั้งส.ส. ของกรรมาธิการทุกอย่างแบบละเอียด รวมถึงบันทึกการประชุมร่วมรัฐสภา ตอนที่พิจารณาร่างพรบ.การเลือกตั้งส.ส.

ก็คงทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเห็นแล้วว่าตอนที่พิจารณาเรื่องนี้ รัฐสภาได้มีการพิจารณาไปถึงมาตรา 23 (หาร500) แต่พอจะไปถึงมาตรา 24 เกิดขึ้นไม่ได้ องค์ประชุมล่ม ส่วนจะเพราะอะไร ศาลก็ได้เห็นรายละเอียดทั้งหมด ส่วนที่ไม่ได้ขอเอกสารเพิ่มจากฝ่ายผู้ร้อง อาจเพราะเห็นว่าคำร้องที่ยื่นไปเขียนไว้ชัดเจนแล้ว ไม่มีประเด็นอะไรที่ต้องขอเอกสารเพิ่มเติม

มั่นใจคำร้องที่ยื่นศาลรธน.

ได้ลุ้นหาร100 เสี่ยงสะดุด

-จนถึงขณะนี้มั่นใจมากน้อยกับการลงมติของศาลรัฐธรรมนูญวันพุธนี้ 30 พ.ย.?

ผมถือว่าผมทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถ บนจุดยืนที่ผมเป็นคนโหวตเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญปี 2560 ตอนทำประชามติ โดยเห็นด้วยกับเจตนารมณ์ทั้งสามข้อตามที่กล่าวข้างต้น แต่หาร100 คือระบบที่จะทำลายเจตนารมณ์ทั้งสามข้อดังกล่าว ..ดังนั้นผมจึงยื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพราะเห็นว่าในรัฐธรรมนูญมาตรา 93 กับ 94 มีเรื่องของคะแนนพึงมีอยู่ และผมเชื่อว่าศาลเวลาวินิจฉัย เอาข้อกฎหมายเป็นหลักในการวินิจฉัย โดยเอาเรื่องหลักรัฐศาสตร์ เป็นเรื่องประกอบ แต่ปรากฏชัดเจน อย่างเวลาคุยกันในรัฐสภา เวลาที่คุยกับคนที่เห็นด้วยกับหาร 100 บางคนบอกว่า มาตรา 93 กับ 94  เรื่องคะแนนพึงมี เป็นแค่ติ่ง ไม่ต้องนำมาพิจารณาก็ได้ แต่ในระบบกฎหมายมันไม่มีคำว่าติ่ง

ผมก็ยังเชื่อมั่นว่าที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดลงมติคำวินิจฉัยคำร้องคดีนี้ เรื่องหาร 100 ขัดรัฐธรรมนูญ แน่นอน แต่จะขัดแค่ไหน ขัดในเรื่องหลักหรือเป็นเรื่องรอง ก็รอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าศาลระบุยังไง ก็พอมองทางออกได้ว่า แล้วรัฐสภาจะต้องแก้ไขอย่างไร แต่เชื่อว่าศาลจะวินิจฉัยว่าหาร 100   ขัดรัฐธรรมนูญแน่นอน

ส่วนประเด็นเรื่องของ”กระบวนการพิจารณาร่างพรบ.การเลือกตั้งส.ส.ของที่ประชุมร่วมรัฐสภา”อันนี้เราไม่มั่นใจว่าศาลจะเห็นด้วยกับเราหรือไม่ แต่กระบวนการที่รัฐสภาทำแบบนี้ ถามว่ามันทำถูกต้องหรือไม่ ล็อบบี้กันทำให้องค์ประชุมรัฐสภาล่มถึงสี่ครั้ง ผมก็คิดว่าศาลก็ต้องรักษาประเพณีที่ถูกต้อง ผมก็เดาว่าศาลจะวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่อย่างนั้น สภาฯ ก็ใช้วิธีการแบบนี้ได้ตลอด

อันนี้คือความมั่นใจของผม เพราะร่างพรบ.การเลือกตั้งของส.ส.ฯ มันไม่เหมือนกับร่างพรบ.พรรคการเมือง ฯ อันนี้ไม่ใช่ว่า พอศาลวินิจฉัยว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญแล้วออกมาพูด แต่ก่อนหน้านั้น ผมก็คิดในใจว่า น่าจะผ่านในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ เหตุเพราะร่างฯดังกล่าว ส.ส.ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมถึงสว.ที่ร่วมเป็นกรรมาธิการฯ เห็นพ้องต้องกันว่า เรื่องระบบไพรมารีโหวตที่เขียนไว้ในพรบ.พรรคการเมืองฯ ร่างโดยคนที่ไม่ใช่นักการเมือง ไม่รู้สภาพการเมืองจริงๆ ร่างเป็นทฤษฎีที่เพ้อฝันแต่ปฏิบัติจริงไม่ได้ ตอนที่พิจารณาเรื่องนี้ กรรมาธิการเราถกกันละเอียดว่าหากให้ใช้ระบบไพรมารี่โหวตแบบเดิมที่ยังไม่ได้แก้ไข พวกพรรคการเมืองโดยเฉพาะพรรคเล็กสูญพันธุ์หมด เพราะกว่าจะไปหาเสียง หาคนลงสมัครรับเลือกตั้งให้ได้400 เขต  ต้องมีตัวแทนพรรคการเมืองใน 400 เขต โดยหนึ่งเขตต้องมีสมาชิกพรรคเกินหนึ่งร้อยคน แสดงว่าทุกพรรคต้องสร้างสมาชิกห้าหมื่นคน ค่าสมัครสมาชิกก็ห้าล้านแล้ว แล้วต้องเปิดประชุมตั้งตัวแทนอีกสี่ร้อยเขต ซึ่งหนึ่งเขตอย่างน้อยก็ต้องสองหมื่น ก็อีกแปดล้าน หลังจากนั้น หากมีการยุบสภา มีการเลือกตั้ง ก็ต้องเปิดประชุมทุกเขตอีก เพื่อทำไพรมารีโหวต ทำให้ทุกพรรคที่จะสู้ ต้องจ่ายเงินยี่สิบล้าน แล้วพรรคขนาดเล็กๆ ที่ไหนจะมีเงิน เป็นการเขียนออกมาที่ทำไม่ได้

ตอนก่อนศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยร่างพรบ.พรรคการเมือง เมื่อ23 พ.ย. ที่ผ่านมา ผมก็คิดไว้ว่า ศาลก็คงเห็นชอบกับคณะกรรมาธิการ โดยหากระบบยังคงเป็นรูปแบบเดิม พรรคขนาดใหญ่เขาทำได้ ค่าสมาชิกเขาก็จ่ายให้หมด เขามีเงินเขาก็จ่าย แล้วตอนทำไพรมารีโหวต ก็ส่งคนไปล็อบบี้กันตอนทำไพรมารีโหวต ก็เป็นไปตามที่ผมคาดไว้ก่อนหน้านี้ โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 9 ต่อ 0 ว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่สำหรับเรื่องร่างพรบ.การเลือกตั้งส.ส. ก็ต้องรอดูวันที่ 30 พ.ย.

วิเคราะห์เลือกตั้ง หากใช้ 100 หาร

กับ 500 หาร ผลต่างกันอย่างไร

   -หากสุดท้าย ถ้าระบบการเลือกตั้งออกมาที่บัตรสองใบ โดยใช้หาร 100 ในการคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ฉากทัศน์การเมืองไทยจะเป็นอย่างไร?

หากใช้ระบบหาร 100 ประเมินว่า พรรคเพื่อไทย ก็จะมีทั้งส.ส.เขตและปาร์ตี้ลิสต์โดยจะได้คะแนนเสียงมาอันดับหนึ่ง โดยจำนวนส.ส.จะทิ้งพรรคการเมืองที่ได้เสียงอันดับสองแบบขาดลอย และทำให้ผมมั่นใจว่า ที่บางฝ่ายไปมองว่าพลเอกประยุทธ์จะได้กลับมาเป็นนายกฯต่อ แต่ผมกลับมองตรงกันข้าม ผมมองว่า อาจจะ50-50 โดยพรรคเพื่อไทยและพรรคการเมืองที่เป็นแนวร่วมเดียวกัน อาจจะได้เป็นรัฐบาลในสมัยหน้า หากใช้หาร 100 แต่ในส่วนของพรรคก้าวไกล ยังไงก็จะมีส.ส.น้อยลง เพราะคะแนนในบัญชีรายชื่อฐานจะอยู่ที่ประมาณ 370,000 คะแนนต่อส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หนึ่งคน พรรคก้าวไกลอ่อนเรื่องส.ส.เขต

ส่วนพลังประชารัฐ บิ๊กตู่กับบิ๊กป้อม หากยังเหนียวแน่นเหมือนเดิม มองว่าก็มีโอกาส 50-50 ที่จะได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกสมัย แต่หาก3 ป.แตกกัน บิ๊กตู่กับบิ๊กป้อม แยกกัน โดยพลเอกประยุทธ์ไปที่พรรครวมไทยสร้างชาติ บิ๊กป้อมอยู่พลังประชารัฐต่อ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ส.ส.ในพรรคก็จะแบ่งกัน โดยหากมองในแง่ดี พรรคบิ๊กตู่อาจได้ห้าสิบเสียง พรรคพลังประชารัฐได้มาห้าสิบเสียง ผลคือพลังประชารัฐก็จะเป็นรัฐบาลแบบเดิม ภายใต้องค์ประกอบคือพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลปัจจุบันอย่าง ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา เป็นต้น รวมเสียงกันแล้วมากกว่าฝ่ายเพื่อไทย ขั้วนี้ก็เป็นรัฐบาล แต่หากเพลี่ยงพล้ำ คือฝ่ายเพื่อไทยกับแนวร่วม ได้ส.ส.รวมกันแล้วเกือบจะเกิน 250 เสียง อาจเป็นไปได้ที่บิ๊กป้อมจะสวิงไปที่ฝั่งเพื่อไทย จนรวมตัวจัดตั้งรัฐบาลร่วม300 เสียง โดยบิ๊กป้อมอาจมีโอกาสเป็นนายกฯ จากการต่อรองตกลงกันอะไรหรือไม่ แต่เชื่อว่าบิ๊กป้อมจะเป็นรัฐบาลแน่นอน

เกมนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะเบรกไม่ให้ส.ส.และกลุ่มต่างๆ ในพลังประชารัฐ ตามบิ๊กตู่ไปที่รวมไทยสร้างชาติ เช่น กลุ่มสุชาติ ชมกลิ่น ถึงเวลาจริงๆ จากที่บอกจะมีตามไปด้วยประมาณยี่สิบคน สุดท้ายแล้วอาจไปกับสุชาติแค่สิบคน ส่วนกลุ่มสามมิตร ก็ต้องคิดแล้วว่าจะไปรวมไทยสร้างชาติกับบิ๊กตู่ที่ไม่แน่นอนว่าจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน หรือจะอยู่กับพลังประชารัฐต่อ ที่ก็มีโอกาสได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ที่ก็คือ อยู่กับบิ๊กป้อม ยังไง ก็ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน ทำให้สามมิตรก็อาจไม่ไปไหน ก็อยู่กับบิ๊กป้อมดีกว่า เพราะอยู่ด้วย ทุนก็ไม่ต้องออก กระสุนมีให้เพียบ เกมจะพลิกทันที

ดังนั้นที่บอกจะมีกลุ่มต่างๆ ในพลังประชารัฐ อาจแยกตัวออกไปอยู่กับรวมไทยสร้างชาติ ตามบิ๊กตู่อออกไปด้วย  ถึงเวลาจริงๆ ก็ไม่อาจไม่ไป _เช่นเดียวกับกลุ่มอื่นในพลังประชารัฐ เช่นกลุ่มมะขามหวาน เพชรบูรณ์ ของสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ที่อาจอยู่พลังประชารัฐต่อ เกมอาจพลิกได้ ไม่ใช่ว่ากระแสบิ๊กตู่ดี จะตามไปกับบิ๊กตู่ เพราะเหนืออื่นใด ส.ส.ส่วนใหญ่ต้องการอยู่ฝ่ายรัฐบาล

“นพ.ระวี”กล่าวต่อไปว่า แต่หากสุดท้าย ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าหาร 100 ขัดรัฐธรรมนูญ จนสุดท้ายกระบวนการหาทางออกของรัฐสภากลับมาเป็นว่าให้ใช้หาร 500  และให้มีส.ส.พึงมี ผลที่จะเกิดขึ้นคือ เพื่อไทย ส.ส.ก็จะหายไปจากเป้าหมายของพรรคอย่างน้อยก็ 25-30 เสียงที่หายไปจากส.ส.บัญชีรายชื่อที่เพื่อไทยเคยทำได้ ประมาณ 25-30 เปอร์เซนต์จากคะแนนในบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ แต่ที่หายไปจากเพื่อไทย ก็จะไปโป่งที่พรรคก้าวไกลแทน แต่ผมมองว่า วันนี้เพื่อไทยกับบิ๊กป้อมคงไม่ห่วง เพราะวันนี้ก้าวไกลคงชิ่งไปรอเป็นฝ่ายค้านหลังเลือกตั้งอีกรอบ แต่สิ่งที่บิ๊กป้อมจะได้หากใช้หาร 500 คือพรรคพลังประชารัฐ ก็จะมีส.ส.เพิ่มขึ้นมาจากส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ที่จะทำให้ บิ๊กป้อมมีพลังไปต่อรองกับเพื่อไทย หากในอนาคตมีการจับมือกันระหว่างเพื่อไทยกับบิ๊กป้อม เทียบกับหากใช้หาร100 ส.ส.เพื่อไทยจะมีมากกว่าพลังประชารัฐแบบขาดลอย แต่หากใช้หาร 500 ก็จะทำให้เพื่อไทยส.ส.หายไปร่วมๆ 30 คน แต่พลังประชารัฐ ก็ได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มขึ้นมา ขั้นต่ำก็ประมาณ 9-10 คน ทำให้บิ๊กป้อมมีพลังต่อรองในการขอเป็นนายกฯสมัยหน้า เมื่อไปจับมือกับเพื่อไทย

ระบบหาร500 จะทำให้พรรคเล็ก รอดชีวิตเข้ามาในสภาฯ อาจจะประมาณ 7-8 พรรค คงไม่มากเหมือนตอนเลือกตั้งปี 2562 ที่พรรคเล็กเข้ามาร่วมๆ 13 พรรค เพราะเก้าอี้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เหลือแค่ 100 คน จากเดิมตอนเลือกตั้งปี 2562 ที่มี 150 คน  

-ก่อนหน้านี้ เคยบอกว่า หาก3 ป.แตกกัน แยกกันไปคนละทาง อาจเสี่ยงสูญพันธ์ ตอนนี้ชัดแล้วว่า พลเอกประยุทธ์ ไปรวมไทยสร้างชาติน่าจะแน่นอนแล้ว?

ผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่หลังการเลือกตั้ง กลุ่ม 3 ป.และพรรคพลังประชารัฐ สุดท้ายได้ส.ส.หลังเลือกตั้งมาเป็นอันดับสอง และเข้ามาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ มันไม่ใช่เกิดจากเพียงแค่รัฐธรรมนูญให้สิทธิสมาชิกวุฒิสภาลงมติโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาลได้เท่านั้น แต่การที่ 3 ป.ประสบความสำเร็จทางการเมืองเพราะความเป็นปึกแผ่นของ 3 ป. ที่เดินหน้าทำสามเงื่อนไขหลักคือ หนึ่ง มีกระสุน หลังสรุปบทเรียนในอดีตที่อดีตนายทหารที่ทำการรัฐประหารแล้วตั้งพรรคการเมืองในเวลาต่อมา ส่วนใหญ่ลงเลือกตั้งได้แค่สมัยเดียวก็เลิก เหตุเพราะ"กระสุนหมด"แต่ยุค3 ป.เขาเตรียมกระสุนไว้เพียงพอ สอง เขาสร้างกระแส พลเอกประยุทธ์ สมัยเป็นผบ.ทบ.เข้ามาทำรัฐประหาร เมื่อปี 2557 เพราะตอนนั้นการเมืองขัดแย้งกันหนัก มีการฆ่ากันตายมากมาย เขาจึงมีความชอบธรรมสร้างกระแส"รักสงบ จบที่ลุงตู่"นี้คือมีกระแส  สาม มีเครือข่าย เพราะเขาสรุปบทเรียน คือแม้ในอดีตพรรคทหาร ก็มีเครือข่ายมากมาย ไปกว้านกลุ่มต่างๆ มาเป็นเครือข่าย ซึ่ง 3 ป.ก็ทำเหมือนกัน ก็ไปดึงไปสร้างเครือข่ายจากกลุ่มต่าง ๆเช่น เครือข่ายบ้านใหญ่ เครือข่ายจากเพื่อไทยให้แยกออกมา เมื่อ 3 ป.ทำครบเงื่อนไขดังกล่าว ทำให้เขาประสบความสำเร็จ จนพลังประชารัฐได้ส.ส.มาร้อยกว่าคน มาเป็นพรรคอันดับสอง โดยแม้จะแพ้เพื่อไทย แต่เขารวบรวมเสียงส.ส.ได้เกินครึ่งหนึ่งของจำนวนส.ส.ในสภาฯจนตั้งรัฐบาลได้ เพราะหากไม่เกินกึ่งหนึ่ง ยังไง ก็ไปไม่รอด สมาชิกวุฒิสภา ก็ช่วยอะไรไม่ได้ ขณะเดียวกัน พรรคการเมือง นักการเมืองที่มาร่วมจัดตั้งรัฐบาล ก็คิดว่าฝ่าย3 ป.มีสว.คอยสนับสนุนคอยอยู่ข้างฝ่ายนี้ ก็เลยมารวม แต่จริงๆ หากฝ่ายพลังประชารัฐรวมเสียงเกินกึ่งหนึ่งไม่ได้ มันก็ไปไม่ได้ ตอนแรกๆ ก็ตั้งรัฐบาลแบบเสียงปริ่มน้ำ แต่ก็ผ่านมาได้จนทุกวันนี้

แต่สำหรับการเลือกตั้งรอบหน้าที่จะมีขึ้น อันแรก ถามว่า กระแสอ่อนลงหรือเพิ่มขึ้น บอกได้เลยว่า กระแสนิยมลดน้อยลง ถามว่า พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกฯมาแปดปี แล้วคนเริ่มเบื่อไหม ที่ผ่านมา ปฏิรูปประเทศอะไรได้จริงจังหรือไม่ ใช่หรือไม่ ส่วน "กระสุน"อันนี้อาจจะมีมากขึ้น "กระแสลด แต่กระสุนเยอะ"ส่วน"เครือข่าย3 ป."พบว่า เครือข่ายก็ไม่ได้มีกลุ่มใหม่ๆ มีแต่ถูกช่วงชิงออกไป

“ยังยืนยันอย่างที่เคยบอกไว้ หาก3 ป.แตกคอกัน ซึ่งบิ๊กป้อมกับบิ๊กตู่อาจไม่พอใจผม แต่ผมพูดความจริงก็คือถ้าแตกคอกัน  3 ป.สูญพันธุ์ “

เพราะโอกาสที่พรรคขั้วรัฐบาลตอนนี้จะกลับมาเป็นรัฐบาลหลังเลือกตั้งอีกครั้ง จะเหลือแค่ 40 เปอร์เซนต์ โดยฝ่ายเพื่อไทยมีโอกาสเป็นรัฐบาล 60 เปอร์เซนต์ โดยหากเป็นแบบนี้ อนาคตของพลเอกประยุทธ์ที่ไปรวมไทยสร้างชาติ อาจจะเป็นฝ่ายค้าน แล้วตัวพลเอกประวิตร จะมั่นใจได้อย่างไรว่าถึงเวลาจริงๆ เพื่อไทยจะยอมให้บิ๊กป้อมเป็นนายกฯ ถ้าเพื่อไทย ส.ส.มาสัก 200 คน ประชาชาติ มา10 เสียง เสรีรวมไทยมา 10 -เพื่อชาติมาสัก 3 คน ส่วนพรรคพลังประชารัฐ หากได้ส.ส.มาไม่เยอะพอ เพื่อไทยอาจไปดึงชาติพัฒนากล้า ชาติไทยพัฒนา ดึงพวกนี้มา ก็อาจได้สัก 275-280 เสียง ก็ตั้งรัฐบาลได้แล้ว         พลเอกประยุทธ์ พลเอกประวิตร ทำให้พรรคทหาร จากเดิมที่พรรคทหาร อยู่ได้แค่สมัยเดียว ก็หายไปกันหมด แต่ตอนนี้อยู่มาได้หลายปี แต่ท้ายสุดอาจสูญพันธุ์ เพราะหากต้องไปเป็นฝ่ายค้านสักแค่สมัยเดียว สมัยหน้า หากหวังจะขึ้นมาเป็นรัฐบาลอีก ก็น่าจะยากแล้ว อันนี้เป็นการวิเคราะห์ด้วยความเห็นส่วนตัวของผม

โดยวรพล กิตติรัตวรางกูร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..

รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ

เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก

คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!

เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย

ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?

การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก