ศึกษาพุทธศาสนา .. จากประวัติศาสตร์!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. พุทธศาสนาของเรา เดินทางมายาวนานถึงปัจจุบันมากกว่า ๒,๖๐๐ ปี

บนเส้นทางอายุที่แสดงผ่านระยะเวลา.. ในแต่ละช่วง.. แต่ละตอนนั้น ย่อมปรากฏร่องรอยเรื่องราวต่างๆ ที่ควรพิจารณาศึกษาอย่างยิ่ง เพื่อการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องของความเป็นพระพุทธศาสนา ที่สะท้อนความเป็นจริงออกมาจากแต่ละห้วงเวลา.. แต่ละสมัย.. ที่เรียกว่า ประวัติศาสตร์.. อันแบ่งแยกในเบื้องต้นได้เป็น ๒ ห้วงระยะเวลา ได้แก่

๑.สมัยพุทธกาล

๒.หลังพุทธกาล

สมัยพุทธกาล.. มีเรื่องราวอันน่าศึกษามากมาย ดังปรากฏอยู่ในบันทึก ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า ผู้ตั้งพระพุทธศาสนา ซึ่งสามารถศึกษาพุทธประวัติได้จากบทบาทและการดำเนินชีวิตของพระองค์ ที่ถูกบันทึกไว้อย่างชัดเจน ผ่านพระธรรมคำสั่งสอน ทั้งที่เป็นพระวินัยและพระธรรม.. อันประมวลไว้ได้ถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

แต่หลังสมัยพุทธกาล เรื่องราวต่างๆ ของพุทธศาสนา กลับเกิดจากบทบาทของพุทธบริษัทที่ทำหน้าที่สืบทอดอายุพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะภิกษุสงฆ์สาวกซึ่งสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อม สังคมประเทศชาติ ในแต่ละพื้นที่.. ซึ่งแต่ละห้วงสมัย มีการบันทึกบ้าง ลืมบันทึกบ้าง.. บันทึกสูญหายไปแล้วบ้าง จึงออกจะยุ่งยากต่อการติดตามศึกษา ในร่องรอยเรื่องราวของความเป็นจริงในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาหลังพุทธกาล.. ที่ต้องแบ่งออกเป็นหลายช่วงระยะเวลา.. เช่น ตอนต้น, ตอนกลางและตอนปลาย... ซึ่งปรากฏประวัติพุทธศาสนาในชมพูทวีป แผ่นดินเกิดพระพุทธศาสนา ที่ต่อมาได้ถึงวาระสูญสิ้นไปในพุทธศักราช ๑๗๐๐ เศษ...

การผันแปร ความเปลี่ยนแปลงของพุทธศาสนาหลังพุทธกาลในเส้นทางการสืบอายุพระพุทธศาสนา จึงหลีกหนีไม่พ้น แม้ว่าจะได้มีการจัดประมวลคำสั่งสอนไว้เป็นหมวดหมู่แล้วก็ตาม ด้วยการสังคายนาของคณะสงฆ์ในแต่ละห้วงสมัย ดังปรากฏการสังคายนาในครั้งที่ ๑-๒-๓ และ ๔.. ในชมพูทวีป.. โดยเฉพาะในครั้งที่ ๔ ที่กระทำสังคายนาในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๖.. ตรงกับยุคสมัยอาณาจักรกุษาณะ ที่มีพระเจ้ากนิษกมหาราชเป็นจอมกษัตริย์ ซึ่งทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง แม้ว่าในการสังคายนาครั้งที่ ๔ จะไม่ได้รับการยอมรับจากคณะสงฆ์อีกฝ่าย ที่เรียกตนเองว่า พุทธเถรวาท หรือสถวีระ ซึ่งสมัยนั้น คณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนามีมากกว่า ๑๘ นิกาย.. แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับในเชิงประวัติพุทธศาสนาว่า การสังคายนาครั้งที่ ๔ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปรับเปลี่ยนของคณะสงฆ์ เพื่อการสืบอายุพระพุทธศาสนาให้สืบเนื่องต่อไป.. อันน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

ความสำคัญในด้านประวัติศาสตร์ภายหลังพุทธกาล จึงมีความสำคัญต่อการศึกษาของนักวิชาการ .. นักประวัติศาสตร์ทางศาสนา และผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ที่ต้องการศึกษาเรื่องราวของพระพุทธศาสนาในเชิงพุทธประวัติเป็นอย่างยิ่ง

ด้วยการไม่ศึกษาความเป็นจริง.. เพื่อรู้ในความเป็นจริงของประวัติศาสตร์พุทธศาสนา ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็แล้วแต่ที่ถูกปลูกฝังชี้นำมา นับเป็นเรื่องที่น่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง.. ที่จะนำไปสู่การสร้างอคติธรรม..ให้มีขึ้น .. ในหมู่ชาวพุทธและนักการศาสนา จึงไม่ควรอย่างยิ่ง..ต่อการปฏิเสธในความเป็นจริงที่ปรากฏมีอยู่ในแต่ละห้วงสมัย.. ไม่ว่าสิ่งที่ปรากฏมีอยู่จริงนั้น.. จะเป็นเรื่องที่มีสาระ.. หรือไม่มีสาระ.. สื่อสารความเป็นมาของพระพุทธศาสนาถูกต้องหรือไม่ก็ตาม...

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า.. การศึกษาประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในสมัยหลังพุทธกาลอย่างจริงจัง จึงเป็นเรื่องที่ควรอย่างยิ่งต่อนักการศาสนา พุทธศาสนิกชนทุกคน.. ดังที่มีการแบ่งพุทธประวัติหลังสมัยพุทธกาลเป็น ๔ ช่วงระยะเวลา ดังนี้...

ยุคที่ ๑ พุทธศาสนาดั้งเดิมแปรรูป.. สืบตั้งแต่พุทธศักราชที่ ๑๐๐–พุทธศักราชที่ ๔๐๐..

ยุคที่ ๒ ยุคเริ่มต้นความเป็นพุทธศาสนามหายาน ระหว่างพุทธศักราชที่ ๔๐๐–พุทธศักราชที่ ๗๐๐

ยุคที่ ๓ยุครุ่งเรืองของพุทธศาสนามหายาน ระหว่างพุทธศักราชที่ ๗๐๐–พุทธศักราชที่ ๑๒๐๐..

ยุคที่ ๔ยุคสมัยเสื่อมสิ้นพุทธศาสนาในชมพูทวีป.. หลังพุทธศักราชที่ ๑๒๐๐–พุทธศักราชที่ ๑๗๐๐

ซึ่งจากการศึกษาพบว่า... ผลแห่งการเปลี่ยนแปลงของพุทธศาสนาทั้ง ๔ ครั้งระยะเวลา หรือ ๔ ยุคสมัย ก่อนที่จะสูญสิ้นไปจากชมพูทวีป มีลักษณะการส่งสืบต่อกันมาอย่างน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพื่อจะได้เข้าใจถึงความเป็นพุทธศาสนาที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นพุทธศาสนานิกายใดๆ... จากประเทศใดๆ.. ที่ได้รับอิทธิพลมาจากความสัมพันธ์ขององค์กรพุทธศาสนาผ่านสังคมการเมือง-การปกครองของมหาชน ในแต่ละประเทศเขตแดนที่รับพระพุทธศาสนาไว้เป็นศาสนาของสังคมประเทศชาตินั้นๆ.. ในแต่ละห้วงสมัย...

ดังที่มีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยสมณทูต ๙ สาย ไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั้งในและนอกชมพูทวีป ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ที่ทรงขยายการปกครองไปทั่วชมพูทวีป โดยมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่มคธชนบท.. ที่มีนครปาฏลีบุตรเป็นเมืองหลวง (ปัจจุบันคือ นครปัฏนะ (Patna)/รัฐพิหาร สาธารณรัฐอินเดีย)..

โดยยุคพระเจ้าอโศกมหาราช เกิดในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๓ ประมาณ พ.ศ.๓๐๐ ซึ่งพระองค์ทรงส่งเสริมพุทธศาสนานิกายเถรวาท.. ที่เชื่อว่าเป็นพุทธดั้งเดิม เป็นศาสนาประจำราชอาณาจักร มีการสร้างวัดวาอารามต่างๆ มากมาย.. การสร้างพระสถูปเจดีย์ทรงสาญจี ๘๔,๐๐๐ องค์ ไปทั่วชมพูทวีป ดังปรากฏให้เห็นเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาจนถึงปัจจุบัน

ในสมัยดังกล่าวมีประเพณีการบวชในพระพุทธศาสนาของผู้ชายในชมพูทวีป.. เป็นที่นิยมเป็นอย่างยิ่ง จนทำให้ศาสนาอื่น ๆ อ่อนแอลง... โดยเฉพาะศาสนาพราหมณ์ ดังเกิดปรากฏการณ์แห่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนากันมากมาย.. และถึงขั้นมีการปลอมปนเป็นพระภิกษุจากนักบวชนอกศาสนา ทั้งนี้ เพื่อความอยู่รอดของศาสนาและบุคคลในศาสนาเหล่านั้น

การเข้ามาบวชเพื่อความอยู่รอด.. เพื่อมุ่งแสวงหาวัตถุปัจจัยเพื่อการดำรงชีวิต จึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ของพุทธศาสนาในยุคนั้น.. ด้วยมีการนำเอาทิฏฐิ.. คำสอน ความเชื่อ ตามศาสนาเดิมของตนเข้ามา..... ทำให้เกิดภาวะความปลอมปนในพระธรรมคำสั่งสอน.. ที่ประชาชนยากจะเข้าใจว่า อะไรคือพุทธศาสนาที่แท้จริง....

ปัญหาดังกล่าว.. จึงนำไปสู่การสังคายนาครั้งที่ ๓ โดยการอุปถัมภ์ของพระเจ้าอโศกมหาราช จึงทำให้.. พระพุทธศาสนารอดพ้นจากการถูกทำลายไปอีกครั้ง ด้วยการบิดเบือนพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า.. บันทึกไว้ในร่องรอยประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในครั้งนั้นว่า.. มีการคัดแยกพระที่ปลอมปนเข้ามา.. ออกไปมากกว่า ๖ หมื่นคน หรือราวๆ ร่วมแสนคนก็ว่าได้.. นับว่าไม่น้อยเลยกับจำนวนบุคคลที่ปลอมปนเข้ามาทำลายพระพุทธศาสนา ไม่ว่าด้วยเจตนาใดๆ ก็ตาม...

แม้ว่าพระพุทธศาสนา.. จะผ่านพ้นปัญหามาได้ตลอดในแต่ละยุค แต่ละสมัย ก็มิใช่หมายความว่า.. พระพุทธศาสนาจะปราศจากปัญหา.. ด้วยหลากหลายปัญหาที่แปรรูปมาจากในอดีตยังมิได้สูญหายไปไหน แต่กลับสอดฝังอยู่ในพระพุทธศาสนาที่ยังคงดำรงอยู่อย่างสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน.. ดังปรากฏชัดเจนในยุคสมัยที่ ๒ เมื่อเกิดการปรากฏตัวของภิกษุ ๒ รูปที่มีบทบาทสำคัญต่อคณะสงฆ์ ได้แก่ พระอัศวโฆษ และ พระนาคารชุน... ซึ่งพระนาคารชุนเกิดขึ้นภายหลังพระอัศวโฆษประมาณ ๑๐๐ ปีเศษ

สำหรับพระอัศวโฆษรูปนี้น่าติดตามศึกษาในบทบาทเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเกิดมาในยุคสมัยอาณาจักรกุษาณะแผ่อำนาจการปกครองไปทั่วชมพูทวีป โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่แคว้นคันธาระ.. มีนครปุรุษปุระเป็นเมืองหลวง ซึ่งในสมัยกษัตริย์พระนามว่า พระเจ้ากุษาณมหาราช พระพุทธศาสนาได้รุ่งเรืองอย่างยิ่งอีกครั้ง.. ที่เรียกขานตามหลักฐานประวัติศาสตร์พุทธศาสนาว่า.. เป็นยุคพุทธศาสนาฝ่ายเหนือรุ่งเรือง ซึ่งตรงกับยุคสมัยที่ ๒ หลังพุทธกาล

ในพุทธประวัติสมัยดังกล่าว พระอัศวโฆษ.. มีบทบาทเป็นอย่างสูงทั้งต่อศาสนจักรและอาณาจักรในยุคนั้น.. ด้วยได้รับการยกย่องว่า เป็นพระนักเทศน์ฝีปากเอก.. เป็นนักปราชญ์.. เป็นกวีเอกแห่งยุค มีชาติกำเนิดในสกุลพราหมณ์ ซึ่งต่อมาละทิ้งสกุลมาบวชเป็นสงฆ์ในพระพุทธศาสนานิกายสรวาสติวาทิน.. เป็นนิกายทางฝ่ายพุทธเถรวาทที่มีการปรับเปลี่ยนแตกต่างไปบ้างจากพุทธดั้งเดิม...

ด้วยความเป็นนักประพันธ์ มีวาทะอันคมคาย ชวนฟัง จึงได้แต่งเรื่องราวพุทธประวัติขึ้นมาเล่มใหม่ ให้สอดคล้องกับสมัยสังคมแห่งยุคนั้น จึงนับเป็นเรื่องแปลกใหม่ที่ชวนให้สังคมนิยมติดตามด้วยความเลื่อมใสศรัทธา จากนิทานที่สนุก ตื่นเต้นเร้าใจ.. ดังปรากฏหลักฐานจากบทประพันธ์ที่มีชื่อเรื่อง “พุทธจริต” ที่ถูกแต่งขึ้นด้วย ภาษาสันสกฤต .. และอีกหลายเรื่องราว.. ที่แทรกด้วยความรู้สึกนึกคิดของตนเอง.. เป็นทำนองนิยายรักแบบทางโลกที่สอดแทรกคติธรรม.. ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพุทธศาสนาดั้งเดิมเป็นอย่างยิ่ง ดังเช่น การเขียนนิทานเล่าเรื่อง พระนันทเถระพุทธอนุชา.. ว่า “เมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาขอร้องว่า อย่าเพิ่งละสังขารเข้านิพพาน ขอให้อยู่ช่วยบำเพ็ญศีลของพระโพธิสัตว์ เพื่อเทศนาสั่งสอนมหาชน จนกว่าจะเป็นสุขทั่วโลก”... ซึ่งพระนันทพุทธอนุชาตอบรับคำด้วยความเต็มใจ อันเป็นที่มาของต้นเค้าเรื่องของพุทธศาสนานิกายมหายาน ที่ถือเอา พระโพธิสัตว์ เป็นบุคคลสำคัญของพุทธศาสนานิกายดังกล่าว.. ที่ต่อมาเรียกว่า พุทธศาสนามหายาน นิกายโพธิสัตว์ยาน ... และแตกตัวออกไปเป็นนิกายต่างๆ .. จนเข้าสู่วาระสุดท้ายแห่งพุทธศาสนามหายานในชมพูทวีป เมื่อไปรับ นิกายมนตรายานของศาสนาฮินดู เข้ามา จนไม่หลงเหลือความเป็นพุทธศาสนาดั้งเดิม.. ดังปรากฏในยุคสมัยที่ ๔ ภายหลังพุทธศักราช ๑๒๐๐ เป็นต้นไป....

อนึ่ง.. เรื่องราวเหล่านี้ที่ยกมากล่าวโดยย่นย่อมีปรากฏในประวัติพุทธศาสนาหลังพุทธกาลที่ชาวพุทธควรศึกษา... เพื่อกลับมาทบทวนถึงพุทธศาสนาในปัจจุบันที่เรานับถืออยู่.. เพื่อความเข้าใจตรงตามความเป็นจริง..ว่า... “พระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าแท้จริงนั้น.. มีลักษณะธรรมเป็นอย่างไร.... อะไรคือพระธรรมวินัยดั้งเดิมในพระพุทธศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า...”.

 

เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..

รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ

เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก

คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!

เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย

ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?

การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก