หลังจบการประชุมมเอเปกไปแล้วเมื่อ 19 พ.ย. ที่ผ่านมา การเมืองต่อจากนี้ ก็กลับเข้าสู่โหมดปกติ ซึ่งหนึ่งในประเด็นร้อนทางการเมืองที่ต้องติดตามกันให้ดีต่อจากนี้ก็คือเส้นทางของ”ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชงฯ”ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพรบ.กัญชาฯของสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาเสร็จแล้ว และตอนนี้ร่างกฎหมาย ดังกล่าวก็ถูกบรรจุอยู่ในระเบียบวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระต้นๆ
เหตุที่เรื่องนี้เป็นประเด็นร้อนทางการเมือที่ต้องติดตามก็เพราะจะเห็นได้ว่า เรื่องดังกล่าว เริ่มเห็นร่องรอยความคุกรุ่นทางการเมืองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง คือ “พรรคภูมิใจไทย”ที่ชูนโยบายเรื่องปลดล็อกกัญชา –กัญชาทางการแพทย์ กับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งหลังจากส.ส.ประชาธิปัตย์ออกมาทักท้วงการผลักดันร่างพรบ.กัญชาฯ ทั้งในสภาฯและนอกสภาฯ ก็ทำให้ แกนนำและส.ส.ของทั้งสองพรรค เปิดศึกการเมืองใส่กันอย่างร้อนแรง
โดยล่าสุด วิปรัฐบาลให้ข้อมูลเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าเบื้องต้น ร่างพ.ร.บ. กัญชา กัญชงฯ อาจเข้าสู่การพิจารณาของสภาในวาระสอง ประมาณวันที่ 7 ธ.ค. แต่หากพรรคภูมิใจไทยอยากเลื่อนพิจารณาให้เร็วขึ้น พรรคภูมิใจไทยต้องประสานมายังวิปรัฐบาลและใช้เสียงของสภาฯเพื่อขอให้เลื่อนการพิจาณณาให้เร็วขึ้น จึงต้องดูกันว่าท่าทีของพรรคภูมิใจไทยหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป
“ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และแกนนำพรรคภูมิใจไทย”ในฐานะ”ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพรบ.กัญชาฯ สภาผู้แทนราษฎร”ให้สัมภาษณ์ชัดๆ ในครั้งนี้ถึงเส้นทางของร่างพรบ.กัญชาฯโดยยอมรับว่ายังคาดการได้ยากว่าสภาฯจะโหวตให้ร่างพรบ.กัญชาฯ ผ่านวาระสาม เพื่อส่งต่อไปยังวุฒิสภา หรือสุดท้ายร่างพรบ.กัญชาฯ จะไม่ผ่านเพราะโดนคว่ำกลางสภาฯ อย่างไรก็ตาม เห็นว่า ที่ผ่านมา การขวางร่างพรบ.กัญชา จากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง คือเกมการเมืองอย่างแน่นอน
เริ่มที่”ศุภชัย-แกนนำภูมิใจไทย”เล่าถึงที่มาที่ไปของการผลักดัน-เสนอร่างพรบ.กัญชาฯว่า พรรคภูมิใจไทยมีนโยบายในการปลดล็อคกัญชาออกจากพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ ซึ่งเป็นนโยบายหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2562 และเมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง พรรคภูมิใจไทยได้เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล ทางพรรคภูมิใจไทย ได้เสนอนโยบายเรื่องการปลดล็อกกัญชาให้กับพรรคร่วมรัฐบาลและตัว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่าพรรคขอให้เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล
ต่อมาในที่สุด พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีก็เห็นชอบ เพราะฉะนั้นนโยบายเร่งด่วนข้อ 4 คือเรื่องของการปลดล็อคและสนับสนุนกัญชาทางการแพทย์ พืชสมุนไพรต่างๆให้มีเรื่องของการวิจัยพัฒนาต่างๆ รวมถึงการส่งเสริมในเรื่องอุตสาหกรรม เรื่องการพาณิชย์ต่างๆที่เกี่ยวกับกัญชา เพราะฉะนั้นแปลว่า มี 2 เรื่องคือ พรรคภูมิใจไทยมีนโยบายเรื่องการปลดล็อกกัญชาที่ได้รับการผลักดันโดยรัฐบาล ซึ่งตอนที่พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา นายกรัฐมนตรีก็ได้แถลงนโยบายนี้ไปด้วย
นอกจากนี้ ในความเป็นจริงที่มีอยู่อย่างหนึ่งคือแนวคิดเรื่องการปลดล็อคกัญชามีมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล คสช. เห็นได้จากอดีตรมว.สาธารณสุข ยุครัฐบาลคสช. คือ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร ท่านก็มีการประกาศที่คลายล็อคพอสมควร
จนต่อมาเมื่อรัฐสภาได้เริ่มทำงาน ต่อมาได้มีการเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา มา 1 ฉบับเรียกว่า"พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ"เป็นกฎหมายปฏิรูปของรัฐบาล ซึ่งตรงนี้เป็นการรวบรวมเอากฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดทางด้านยาเสพติดมาประมวลอยู่ด้วยกันนำมาประมวลอยู่ด้วยกัน เดิมมีพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ในประเภท 5 ระบุว่า กัญชาเป็นยาเสพติดในนั้นจะมี ฝิ่น กัญชา กระท่อม กฎหมายให้เป็นยาเสพติด ในประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่เสนอต่อรัฐสภาในเวลานั้น สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือปรากฏว่าในประมวลกฎหมายยาเสพติด ในมาตรา 29 ในนี้ไม่มีกัญชา เพราะนโยบายรัฐบาล ต้องการคลายล็อกกัญชา เมื่อคลายแล้วก็มาสู่การปลดล็อกโดยประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับนี้ ที่มีอยู่ก็คือ พืชฝิ่น แต่กัญชาไม่มีแล้วเพราะนโยบายรัฐบาล
จนต่อมาพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาและมีผลบังคับใช้ ลงประกาศเป็นกฎหมาย เมื่อ 8 พฤศจิกายน 2564 และมีผลบังคับใช้หลังลงประกาศในราชกิจานุเบกษาหนึ่งเดือน จึงมีผลบังคับใช้เมื่อ 8 ธันวาคม พ.ศ 2564 ณ วันนั้นกัญชาไม่ได้ถูกระบุว่าเป็นยาเสพติดอีกต่อไป ในยาเสพติดให้โทษที่แบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือไม่มีตรงไหนที่บอกว่ากัญชาเป็นยาเสพติด
แต่ในขณะเดียวกันคือตามมาตรา 29 ของพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด ฯ ได้บัญญัติว่า หลังจากที่กฎหมายมีการประกาศใช้แล้ว ให้รมว.สาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด และโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือคณะกรรมการป.ป.ส. ให้รัฐมนตรีประกาศอีกครั้งว่าในทั้ง 5 ประเภทนี้ แต่ละประเภทมียาเสพติดประเภทไหนบ้าง
ต่อมารมว.สาธารณสุข(อนุทิน ชาญวีรกูล) ได้ประกาศ ว่ายาเสพติดให้โทษที่แบ่งออกเป็น 5 ประเภท สิ่งที่เป็นยาเสพติดเช่น 1 พืชฝิ่น 2 เห็ดขี้ควาย 3 สารสกัดจากกัญชาหรือกัญชงที่มีค่า THC เกิน 0.2% แปลได้ว่าทั้งต้นไม่เป็นยาเสพติดอีกต่อไป ซึ่งตอนที่เขายกเลิกเมื่อเดือนธันวาคม2564 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ได้มีการปลดกัญชาออกไปแล้ว และให้รมว.สาธารณสุขประกาศ ซึ่งรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของ คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดด้วยความเห็นชอบของป.ป.ส. ก็คุมเฉพาะสารสกัดที่มีค่า THC ที่ทำให้เมาที่เกิน 0.2% แต่ถ้าต่ำกว่า 0.2% ก็ไม่ได้เป็น และทั้งต้นรวมถึงช่อดอกก็ไม่ได้เป็น
เมื่อถึงตรงนี้แล้วต่อมา หลังจากธันวาคม 2564 ประกาศฉบับดังกล่าว ได้มีเสนอไปให้ที่ประชุมของคณะกรรมการป.ป.ส. พิจารณา โดยวันดังกล่าว ที่ประชุมบอกว่า ต้องมีกฎหมายอีกฉบับหนึ่งเฉพาะเพื่อมาคุมกัญชาโดยเฉพาะ ที่ไม่ใช่เป็นยาเสพติดแต่มาคุมเพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรม หรือครัวเรือน รวมทั้งมาส่งเสริมด้านการวิจัยเพื่อจะต่อยอดไปในทุกๆด้าน ก็ควรที่จะมีกฎหมายอีก1 ฉบับ
ย้ำเส้นทางร่างพรบ.กัญชาฯ
คือกฎหมายของรัฐบาล
"ศุภชัย-แกนนำพรรคภูมิใจไทย"เล่าต่อไปว่า ที่ประชุมบอร์ดป.ป.ส.วันดังกล่าว ทางนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่เป็นประธานบอร์ดป.ป.ส. ก็ได้บอกต่อที่ประชุมว่า ถ้าจะให้เสนอโดยให้เป็นร่างพรบ.ของรัฐบาล จะต้องใช้เวลาเพราะมีขั้นตอนต่างๆ เช่นต้องส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา โดยกฤษฏีกาก็ต้องไปฟังความคิดเห็นในการยกร่างกฎหมายจากหน่วยงานต่างๆ กระบวนการนำเข้าและทำให้ร่างออกมาจากครม.จะใช้เวลานาน เราต้องมีกฎหมายนี้ขึ้นมาโดยเร็ว นายวิษณุ ก็บอกว่า เอาอย่างนี้แล้วกัน ทราบว่าพรรคภูมิใจไทย มีร่างกฎหมายลักษณะดังกล่าวอยู่แล้ว ให้ถือเอาร่างพรบ.ของพรรคภูมิใจไทยเสนอเข้าสภาฯเลย แต่ขณะเดียวกันประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่บอกเรื่องคุมเฉพาะสารสกัด ก็อย่าเพิ่งให้มีผลทันที แต่ให้มีผลไป 180 วันหลังประกาศได้หรือไม่ กระทรวงสาธารณสุขบอกว่าขอ 120 วันจึงได้ตกลงกันว่าให้มีผลหลังประกาศกระทรวงสาธารณสุขออกมาแล้ว 120 วัน
ซึ่งในที่สุดก็ได้มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565และครบ 120 วันในวันที่ 9 มิถุนายน 2565
“ศุภชัย”ย้ำว่า ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจให้ชัดก่อนว่าในวันนั้น(การประชุมคณะกรรมการป.ป.ส.) ที่ประชุมตกลงให้พรรคภูมิใจไทยเป็นผู้เสนอกฎหมาย จนต่อมานายอนุทิน หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยพร้อมกับส.ส.ของพรรคภูมิใจไทย จึงไปเสนอร่างพรบ.กัญชาฯ ต่อสภาฯ โดยไปยื่นร่างพรบ.กัญชาฯต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร
"ผมจึงอยากบอกว่า อย่ามาบอกว่าร่างพรบ.กัญชาฯ ไม่ใช่ร่างรัฐบาล เพราะรัฐบาลขอให้พรรคภูมิใจไทยเป็นผู้เสนอร่างฯ จึงถือว่าเป็นร่างของรัฐบาล"
ต่อมาหลังเสนอร่างพรบ.กัญชฯเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2565 ทางประธานสภาฯ ก็รับร่างพรบ.กัญชาฯ แล้วจากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติ ต่อมา ประธานสภาฯตรวจร่างแล้ว เห็นว่าร่างพรบ.กัญชาฯ เป็นร่างพรบ.เกี่ยวด้วยการเงิน ยังไม่รับ จนกว่านายกรัฐมนตรีจะรับรอง ประธานชวนก็ส่งร่างพรบ.กัญชาฯ ให้กับนายกรัฐมนตรีรับรอง ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็เซ็นรับรองทันที เพราะนายกรัฐมนตรีรู้ว่าร่างดังกล่าวคือร่างพรบ.ของรัฐบาลและก็ได้ส่งกลับไปที่สภาฯ
อย่างไรก็ตาม แทนที่สภาฯ จะได้พิจารณาร่างพรบ.กัญชาฯ โดยทันที ถ้าจำได้ในช่วงนั้นโควิด-19 ระบาดหนัก สภาปิดตลอด ไม่มีการประชุม กว่าที่สภาฯ จะได้พิจารณาเข้าสู่วาระแรก คือวันที่ 9 มิถุนายน 2565 โดยผลการออกเสียงของที่ประชุม ก็ลงมติรับหลักการแล้วก็มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพรบ.กัญชาฯขึ้นมา 25 คน โดยมีตัวแทนจากทุกพรรคการเมือง ทั้งพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน และต่อมาก็ไปพิจารณาโดยมีผมเป็นประธานกรรมาธิการฯ โดยพรรคเพื่อไทยมีคนของพรรคในคณะกรรมาธิการชุดนี้มากที่สุดคือหกคน ส่วนพรรคภูมิใจไทยมี 2 -3 คน พรรคประชาธิปัตย์มี 2 คนและพรรคต่าง ๆเช่น ก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย มาร่วมเป็นกรรมาธิการกันเต็มกันหมด รวมถึงตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา -จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือป.ป.ส. -สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา -กระทรวงสาธารณสุข
ซึ่งมันคือร่างกฎหมายของรัฐบาลนั่นแหละ โดยร่างเดิมที่พรรคเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ร่างเดิมมีอยู่ 45 มาตรา แต่เราก็คิดว่าทุกอย่างเราก็อยากจะรับฟังความคิดเห็นมาจากทุกภาคส่วน เพราะฉะนั้นในช่วงนั้นก็มีราชวิทยาลัยทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยต่างๆ ภาคเอกชน ส่งความเห็นมาว่าควรจะต้องมีประเด็นอะไรต่างๆ เขียนไว้ในร่างพรบ.กัญชาฯ
ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณร่างพรบ.กัญชาฯ ต่อมาได้ตั้งที่ปรึกษากรรมาธิการมา 40 กว่าคนซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องของกัญชา เช่นรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาทั่วทั้งหมด รวมถึงผู้ประกอบการ และพวกสายเขียว พรรคก้าวไกลมีเสนอคนจากสายเขียวเข้ามา คนที่เกี่ยวข้องโดยตรงก็มาร่วมเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการ
“ศุภชัย –ปธ.กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพรบ.กัญชาฯ”กล่าวต่อไปว่า ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ แม้ผมจะเป็นประธาน แต่การพิจารณาร่างพรบ.กัญชา ฯ ก็พิจารณาโดยคณะกรรมาธิการ และได้มีความเห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องมีการเขียนเพิ่มประเด็นอะไรต่างๆที่ครอบคลุมอันเป็นผลมาจากการรับฟังความคิดเห็น และเราก็คิดว่าสิ่งที่ประเทศไทยมีอยู่คือเรามีเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการบริโภคแอลกอฮอล์ มีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องของยาสูบ มีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องกระท่อม ซึ่งมีมาตรการควบคุมอย่างเข้มข้น แต่ในทางวิชาการมีอยู่อย่างหนึ่งคือ ผลการวิจัยในส่วนของ"บุหรี่-เหล้า-กัญชา" โอกาสที่จะเสพแล้วติด บุหรี่แรงมากประมาณ 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ ที่มีโอกาสติด เหล้าก็อาจจะลองลงมาถ้าดื่มบ่อยๆ ส่วน กัญชาน้อยที่สุด โอกาสติดน้อยที่สุดเหมือนติดกาแฟ แต่เราเอามาตรฐานอย่างสูงมากำกับ เพราะ ฉะนั้นเหตุผลที่เพิ่มขึ้นมาไม่ใช่เพิ่มแล้วจะทำให้เกิดความคลุมเครือ แต่เพิ่มเข้ามาเพื่อทำให้เกิดความชัดเจน
เพราะฉะนั้นวันนี้ สิ่งที่ยืนยันได้อย่างหนึ่งว่า จริงๆแล้วในร่างพรบ.กัญชาฯ ไม่ได้มีการกำหนดเรื่องอนุญาตให้นันทนาการเลย มีแต่เรื่องทางการแพทย์และการส่งเสริมในเรื่องอุตสาหกรรม พาณิชยกรรมและต้องอย่าลืมว่าตลาดกัญชาของโลกในวันนี้ เกี่ยวกับเรื่องกัญชา มูลค่าประมาณ 8 แสนล้านบาท และในวันนี้ธุรกิจในประเทศไทยที่ยังไม่มีกฎหมายครอบคุมคุ้มครองอย่างชัดเจน วันนี้ประมาณ 70,000 กว่าล้าน วันก่อนมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเขาวิเคราะห์มา
เพราะฉะนั้นการทำงาน ทำร่างพรบ.กัญชาฯ ฉบับนี้ ก็เพื่อจะส่งเสริมให้มีกฎหมายที่ครอบคลุม ให้มันตรงครบถ้วนทุกมิติตามนโยบายรัฐบาล ฉะนั้นไม่ได้ผลิตมาเพื่อทางการแพทย์อย่างเดียว แต่การทำอาหาร สาร CBD ที่อยู่กัญชา มูลค่า 1 กิโลกรัม ประมาณ 200,000 บาท วันนี้ตลาดเรื่องการสูบนันทนาการมีไม่ถึง 5% แต่เราไปหลงไปติดอยู่ตรงนั้นอยู่
ผมยืนยันได้ว่าร่างพรบ.กัญชาฯ ฉบับนี้ ทำมาอย่างมีความสมบูรณ์แล้ว ตอนที่ร่างพรบ.กัญชาฯ เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาฯในวาระสอง เมื่อตอนสมัยประชุมสภาฯครั้งที่แล้ว และมีสมาชิกลุกขึ้นอภิปรายบอกว่าให้คณะกรรมาธิการฯ ไปทำมาใหม่ ประชาธิปัตย์เสนอมา 13 ประเด็น พรรคเพื่อไทยเสนอมา 5 ประเด็น ผมขอบอกว่าทั้ง 13 + 5 ประเด็นดังกล่าว มีอยู่ในร่างหมดแล้ว หรือถ้าไม่มีบรรจุ ก็มีกรรมการเสียงข้างน้อยเขาสงวนความเห็นไว้แล้ว ฉะนั้นเรื่องเหล่านี้ไม่มีทางที่จะทำให้เราทำกฎหมายไม่ดีเพราะกฎหมายมาจากตัวแทนทุกพรรคการเมืองไม่ใช่แค่พรรคภูมิใจไทย พรรคภูมิใจไทยเสนอ 45 มาตรา ออกมาเป็น 95 มาตรา โดยทุกพรรคการเมือง โดยนักกัญชาทั้งหลาย นักวิชาการจากสำนักงาน ป.ป.ส. ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
"วันนั้นเป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ ยืนยันว่าวันนี้ร่างพรบ.กัญชาฯ คือตัวที่จะแก้ปัญหาสภาพที่เป็นอยู่ทั้งหมด ยิ่งดึงช้าเข้าไป ยิ่งทำให้กัญชาขาดการควบคุมให้มันครอบคลุม วันนี้ประกาศต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุขที่ประกาศออกมามันก็ได้แค่บางระดับ แต่มันไม่สามารถทำได้ทั้งหมด"
-ประเด็นที่ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงพรรคอื่นๆ และที่มีเสียงไม่เห็นด้วยในบางประเด็นตามร่างพรบ.กัญชาฯเช่นที่ให้ปลูกกัญชาในครัวเรือนได้ไม่เกินสิบห้าต้น ทำไมถึงต้องมี จะปรับแก้ได้หรือไม่?
จริงๆคือ 15 ต้นมาจากฐานความคิดว่าตลอดปีถ้าครอบครัวหนึ่งจะปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ในทางการ ทำเป็นยารักษาตัวเอง รักษาคนในครอบครัวหรือปรุงอาหารเพื่อเป็นประโยชน์ต่อร่างกายประมาณ 15 ต้นมันพอที่จะเหมาะ เพราะจริงๆปี 1 ปลูกได้ไม่เกิน 2 ครั้งเขาก็ต้องขออนุญาต ครั้งหนึ่งเขาก็ต้องปลูกรวมแล้วไม่เกิน 15 ต้น แต่อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ถึงแม้ว่าจะมีกรรมาธิการเสียงข้างมากจะเขียนในร่างว่าให้ไม่เกิน15 ต้น แต่ก็พบว่า ก็มีกรรมาธิการหรือส.ส.ที่ยื่นขอสงวนคำแปรญัตติให้น้อยกว่านั้นเช่นบางคนขอสงวนความเห็นมาว่าให้ปลูกได้ไม่เกิน 10 ต้นก็มี บางคนก็บอกว่าไม่ให้ปลูกสักต้นก็มี เมื่อเป็นแบบนี้ ก็เอาไปอภิปรายกันในสภา ซึ่งไม่ได้แปลว่าจบตรง 15 ต้นเลย เขาพูดเหมือนไม่เข้าใจวิธีการของกระบวนการทางฝ่ายนิติบัญญัติ ก็เห็นเป็นเจ้าแห่งหลักการอยู่แล้ว ทำไมจู่ๆไม่เข้าใจขึ้นมาว่าเมื่อไม่เห็นด้วย ก็สามารถลุกขึ้นอภิปรายในที่ประชุมสภาฯ ได้อยู่แล้ว โดยหากเสียงข้างมากในที่ประชุมสภาฯ เห็นด้วยกับการอภิปรายของเขา ก็อาจลงมติเห็นตามเขา
อัดคนประชาธิปัตย์
บิดเบือนกม.หวังผลการเมือง
-ที่ประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยในร่างพรบ.กัญชาฯ กับกรณี ที่ผู้อนุญาตหรือผู้รับจดแจ้ง ไม่ออกใบอนุญาตหรือใบรับจดแจ้ง หรือไม่ต่ออายุใบอนุญาต มีการให้ผู้ขออนุญาตหรือขอจดแจ้ง มีสิทธิ์อุทธรณ์ต่อรมว.สาธารณสุข ทางประชาธิปัตย์เลยบอกว่าการเขียนไว้แบบนี้ เกรงจะเกิดการล็อบบี้วิ่งเต้นต่างๆ ?
ประเด็นดังกล่าวเรื่องการให้อุทธรณ์ได้ เป็นหลักการที่เขียนตามกฎหมายปกครอง ซึ่งกฎหมายทุกฉบับที่รัฐใช้อำนาจ จะต้องไม่ตัดสิทธิ์ในการที่ประชาชนมีสิทธิ์ที่สามารถจะอุทธรณ์ความเห็นแย้งได้ ไม่ใช่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จ เช่นไปขออนุญาตแล้วไม่ให้แล้วก็จบ แต่อันนี้เขียนไว้ให้อุทธรณ์เวลากรณีที่ขออนุญาตแล้วไม่ให้ ซึ่งเมื่อไม่ให้เขาก็มีสิทธิ์ที่จะอุทธรณ์ อันนี้เป็นเจตนาที่ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐมนตรี ไม่ใช่ว่าวันนี้เขียนมาเพื่อนายอนุทิน กฎหมายนี้มันใช้ได้ตลอดไป
อันนี้เป็นการเขียนเพื่อปกป้องสิทธิ์ของประชาชนไม่ให้ราชการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ อันนี้เป็นเหมือนทุกกฎหมาย กฎหมายที่เขียนในลักษณะนี้และเป็นข้อเสนอของกฤษฎีกา ซึ่งเป็นผู้ช่วยแก้ไขร่างกฎหมายฉบับนี้ในชั้นคณะกรรมาธิการฯของสภาฯ
ขอเล่าต่อไปว่า หลังจากที่ประชาธิปัตย์ เสนอให้คณะกรรมาธิการฯ มีการทบทวนประเด็นต่างๆในร่างพรบ.กัญชาฯ ผมก็ส่งหนังสือไปถามว่าห่วงใยประเด็นไหนบ้าง ขอให้ส่งประเด็นมา ทางเขาก็ส่งมา จากนั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพรบ.กัญชาฯที่ผมเป็นประธาน ก็มาประชุมกัน เพื่อนำประเด็นที่ประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยส่งมา กรรมาธิการก็เห็นพ้องต้องกันว่าที่ทั้งสองพรรคส่งมา ประเด็นต่างๆ มันมีอยู่แล้วในร่างพรบ.กัญชาฯ ที่เขาเตะออกมา ผมถึงบอกว่า วันนั้นเขาไม่ได้อ่าน แต่ถ้าอ่านแล้วยังส่งมา แสดงว่าคุณโง่ สติปัญญาคุณไม่มี
วันนี้คนที่เป็นกรรมาธิการจากพรรคประชาธิปัตย์ เขาเองเป็นคนเสนอให้เปิดพื้นที่ ให้ทำโซนนิ่งให้ใช้นันทนาการได้ แต่กรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่บอกว่าอย่าเลย จึงไม่ได้กำหนดไว้ในร่างพรบ.กัญชาฯ แต่สิ่งที่เขาเสนอ(กนก วงศ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากพรรคประชาธิปัตย์) เป็นสิ่งที่ดี ต้องชมท่าน เขาบอกว่ามันก็เป็นประโยชน์เรื่องส่งเสริมการท่องเที่ยว และถ้าเป็นแบบนี้ คนตัวเล็กตัวน้อย เกษตรกร ก็มีโอกาสที่จะได้ขายสินค้านี้สำหรับกรณีอย่างเช่น ช่อดอก ก็สามารถนำไปสำหรับนันทนาการได้ แต่ต้องเข้าใจอยู่อย่างหนึ่งว่าคนที่สูบกัญชา เขายังสูบกันมาเนิ่นนานแล้ว และต้องเข้าใจว่าการสูญกัญชา ไม่ใช่เรื่องนันทนาการ แต่สูบกัญชาเพื่อการรักษาโรค การสูบกัญชาทำให้เขานอนหลับ คนส่วนใหญ่ที่สูบในปัจจุบัน เขาสูบเพื่อพักผ่อนนอนหลับ สูบแล้วก็หลับ วันนี้ข่าวที่ออกมาว่า สูบแล้วก้าวร้าวอะไรต่างๆ ผมยืนยันว่าไม่ใช่กัญชา เพราะกัญชาสูบแล้วมันไม่ได้คึกคัก สูบแล้วผ่อนคลาย หลับสบาย
วันนี้อย่าลืมว่าการที่ยังไม่มีกฎหมายมาบังคับใช้ มันก็มีผลทำให้ขาดการดูแลอย่างสมบูรณ์ อย่างที่กล่าวหากันว่า มีเด็กนำไปสูบกัน แบบนี้ตำรวจก็ต้องจัดการ ต้องสืบให้รู้ว่ามาจากสาเหตุสูบกัญชาจริงหรือไม่ และเป็นกัญชาจริงหรือไม่ ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆที่มีการขายกัญชาตอนนี้ แต่หากมีกฎหมายกัญชาออกมา เขาต้องขอยื่นขออนุญาต ต้องมีการบอกแหล่่งที่มาว่าเอากัญชามาจากไหน วันนี้ พบว่ามีการนำเข้ากัญชาจากต่างประเทศเต็มไปหมด คุมสภาพไม่ได้ มีการฉีดอะไรเข้าไปหรือไม่ จนสูบแล้วเป็นอันตรายต่อผู้สูบ แต่หากกฎหมายกัญชาออกมา ทุกอย่างจะถูกคุมไว้หมด
“วันนี้มีนักการเมืองไปบิดเบือนว่าร่างกฎหมายฉบับนี้มีปัญหา หากกฎหมายออกมาจะทำให้กัญชาเป็นเสรี แต่จริง ๆแล้วตรงกันข้าม เพราะกฎหมายกัญชาจะทำให้สิ่งที่เป็นเสรีในปัจจุบัน มันจะกลับเข้าสู่ระบบ ที่มาบอกหากกฎหมายออกมาแล้วจะเป็นกัญชาเสรีสุดขั้ว มันไม่จริง วันนี้มันมีอยู่ เพราะดึงเกมไว้ แต่ต่อไปมันจะสุดขั้วจริงๆ ถ้าคุณไม่ผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ ผมถึงเคยบอกว่าหากคุณทำให้ร่างพรบ.ฉบับนี้ตก จะต้องยอมรับผลที่่มันจะเกิดขึ้น หากประเทศนี้ไร้การกำกับดูแลโดยกฎหมาย”
-เรื่องของ"คณะกรรมการกัญชา กัญชง"ที่เป็นบอร์ดใหญ่สุดตามร่างพรบ.กัญชาฯ ทำไมถึงต้องให้มีบอร์ดจากภาคเอกชนไม่น้อกว่าสามคน และในร่างเขียนให้อำนาจรมว.สาธารณสุขแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเจ็ดคน ?
หลักก็คือแทนที่กรรมการจะมีแต่ตัวแทนจากหน่วยราชการทั้งหมด เราก็กำหนดว่า ให้ต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งโครงสร้างแบบนี้ เป็นโครงสร้างที่ผู้เสนอที่ก็คือกรรมาธิการที่มาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาที่มันเป็นรูปแบบ ที่ทุกกฎหมายที่กฤษฏีการ่วมทำ ต้องมีโครงสร้างแบบนี้ เป็นเรื่องปกติ
-ในร่างพรบ.กัญชาฯ มีมาตราไหน หรือประเด็นอะไรที่มีกรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างมาก เลยสงวนความเห็นไว้มาอภิปรายวาระสอง รวมถึงมาตราใดที่มีส.ส.ที่ไม่ได้เป็นกรรมาธิการได้ยื่นขอสงวนคำแปรญัตติไว้เพื่อมาอภิปรายวาระสอง?
เป็นเรื่องของแนวความคิดเรื่องของการปลูก เขาเป็นห่วงเรื่องนี้กันว่าการอนุญาตให้ประชาชนปลูกกัญชา ซึ่งจริงๆเรื่องนี้เป็นสิทธิของประชาชนมาตั้งแต่อดีต อย่างในประเทศไทย ก่อนที่จะมีกฎหมายเขียนไว้ให้กัญชาเป็นสิ่งผิดกฎหมาย กัญชาเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับบ้านของคนมาตั้งแต่ดั้งเดิม เขาใช้กันมาเป็นยา ในตำรับยาเป็นร้อยปีก็มีอยู่ แต่ต่อมาวันหนึ่งก็ถูกกล่าวหาว่าต้นไม้ชนิดนั้นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย มันก็ไม่ต่างจากประเทศอื่นเช่นสหรัฐอเมริกา ที่เคยเป็นของถูกกฎหมาย แต่ต่อมาวันหนึ่ง ประธานาธิบดีนิกสัก ประกาศว่า กัญชาเป็นสิ่งผิดกฎหมายแต่มาวันนี้ พอเขายอมรับว่า กัญชา เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ วันนี้ประมาณ 42 รัฐในสหรัฐอเมริกา ได้ปลดล็อกกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติดแล้ว มีการปล่อยคนที่ติดคุกจากคดีกัญชาออกมาหมดแล้ว
-ร่างพรบ.กัญชา ประเมินตอนนี้แนวโน้มจะผ่านหรือไม่ผ่านวาระสาม?
ถ้าฟังตอนนี้ผมว่าคงไม่เกินสองสัปดาห์หน้าต่อจากนี้ เพราะร่างอยู่ในระเบียบวาระการพิจารณาของสภาฯแล้ว แต่หากจะมีใครพยายามไปเลื่อนระเบียบวาระอื่นขึ้นมาพิจารณาก่อน อันนั้นก็คือ การเมือง เพื่อจะดึงไว้ และเท่าที่ฟังดู ผมก็ยังไม่แน่ใจว่าพรรคการเมืองทั้งหลายจะโหวตลงมติให้ร่างพรบ.กัญชาฯ ผ่านวาระสาม เพราะผมมีความเชื่อว่าวันนี้เขาเอาเรื่องการเมืองมานำหน้าแล้ว
วันนี้วิธีการแก้ปัญหาก็คือหากอยากให้บ้านเมืองได้ประโยชน์จากกัญชา ไม่เล่นการเมือง ก็ต้องโหวตให้ร่างพรบ.กัญชาฯ ผ่านสภาฯ โดยหากเห็นว่ามีประเด็นอะไรที่ต้องแสดงความเห็น มาตราไหนเห็นแล้วไม่สบายใจ อยากอภิปราย ก็มาอภิปราย โดยหากเสียงส่วนใหญ่ในสภาฯ เห็นด้วย ก็ทำได้ทั้งนั้น กรรมาธิการเปิดกว้างอยู่แล้ว เป็นอำนาจในมือของส.ส. ให้จำให้ชัดว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่ร่างของพรรคภูมิใจไทย แต่เป็นร่างของกรรมาธิการ เป็นร่างที่สภาฯตั้งคนเข้าไปเป็นกรรมาธิการ แต่จู่ๆ วันนี้ กรรมาธิการและส.ส.หลายคน ออกมาพูดจาเรื่องนี้ ซึ่งผมในฐานะประธานกรรมาธิการฯ ผมต้องออกมาปกป้องกรรมาธิการ เพราะคุณกำลังดูหมิ่นดูแคลน เหยียดหยามดูถูก คณะกรรมาธิการชุดนี้ไม่ใช่นายศุภชัย ใจสมุทร แต่เป็นคณะกรรมาธิการที่คุณเห็นชอบให้ส่งไปเป็นกรรมาธิการ แต่มาวันนี้มาเหยียบหยามเขา ทั้งที่บางคน ก็มาจากพรรคการเมืองเดียวกับคุณเอง แบบนี้มันถูกต้องหรือ
-ชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองประธานวิปรัฐบาลจากประชาธิปัตย์ บอกว่า วิปรัฐบาลไม่เคยมีมติให้ส.ส.รัฐบาลโหวตสนับสนุนร่างพรบ.กัญชา?
ก็แล้วแต่จะเอาสีข้างเข้าถู เขาอาจจะไม่ทราบเรื่อง แต่ก็อย่างที่ผมเล่าให้ฟังที่มาที่ไปข้างต้น ผมขอย้ำว่า ถ้าวันนี้ พรรคภูมิใจไทย ไม่เสนอร่างพรบ.กัญชาฯ ฉบับนี้เข้าสภาฯ ทางรัฐบาลชุดนี้ก็ต้องเสนอร่างพรบ.กัญชาฯ เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ เหมือนพรบ.พืช กระท่อมฯ ที่เมื่อปลดล็อกมาแล้ว ก็ต้องมีกฎหมายสำหรับพืชกระท่อมฯ ถามว่าทำไมรัฐบาลไม่เสนอร่างพรบ.กัญชาฯเข้าสภา ถามว่าทำไมนายกรัฐมนตรีถึงเซ็นรับรองให้ร่างพรบ.กัญชาฯ เข้าสภาฯเพราะเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน เหตุก็เพราะรู้กันไงว่านี้คือร่างพรบ.กัญชาฯ ที่พรรคภูมิใจไทยเสนอเข้าสภาฯ แทนรัฐบาล วันนี้ จึงไม่ควรมาบิดเบือนข้อเท็จจริงตรงนี้ วันนี้เราตรวจสอบกันได้ พูดกันแล้ว ยันกันด้วยหลักฐานก็ได้ ก็ใช้วิธีเอารายงานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.)มาตรวจดูได้ เพราะประชุมกันเรื่องนี้ตอนนั้นก็มีมติออกมาชัดเจน
-สุดท้ายแล้วหากร่างพรบ.กัญชาฯ ถ้าไม่ผ่านวาระสาม จะเกิดอะไรขึ้นในทางการเมือง?
ยังไม่ทราบจะเกิดอะไรในทางการเมือง แต่ที่แน่ๆ หากร่างพรบ.กัญชาฯ ไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในแง่ผลที่จะเกิดขึ้นกับประเทศ ก็คือ จะไม่มีกฎหมายใดมารองรับอย่างสมบูรณ์ที่จะทำให้นโยบายรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องกัญชาเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ เชิงการเมือง ประเด็นที่สอง คือเนื่องจากปัจจุบันตอนนี้ ในทางการเมืองคือช่วงปลายสมัยของสภาฯ ชุดปัจจุบันแล้ว หากไม่ผ่าน ก็ไม่เป็นไร ก็ไปพิสูจน์ในการเลือกตั้ง
-เทอมของสภาฯ เหลืออีกแค่สามเดือนเศษ กับช่วงเวลาที่เหลืออยู่ จะพิจารณาได้ทันหรือ หากส่งไปวุฒิสภาแล้ว ทางสว.มีการแก้ไขร่างของสภาฯเยอะ จนอาจต้องตั้งกรรมาธิการร่วม?
ร่างพรบ.กัญชาฯ ฉบับนี้ หากสภาฯพิจารณากันวาระสอง วาระสาม วันเดียวก็จบ จากนั้น สภาฯก็ส่งร่างไปให้วุฒิสภา ก็เห็นมีสมาชิกวุฒิสภาบางคนบอกว่า อยากให้สภาฯรีบส่งร่างพรบ.กัญชาฯ มาให้วุฒิสภา ซึ่งผมก็ได้คุยกับสว.หลายคน เขาก็แสดงความเป็นห่วงโดยบอกว่าอยากให้มีกฎหมายออกมารองรับ เท่าที่ทราบทางสว.ก็มีการศึกษาร่างพรบ.กัญชาฯ กันแบบเป็นคู่ขนานไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว ผมว่าทางสว.ศึกษาร่างพรบ.กัญชาฯ มากกว่าฝั่งสภาผู้แทนราษฎรเสียอีก
เรื่องกรอบเวลา ผมมองว่าหากจะทำกันจริงๆ ยังไง ก็ทันให้ออกมาภายในเทอมของสภาฯชุดปัจจุบัน เชื่อว่าทันอยู่แล้ว เว้นเสียแต่จะไม่อยากให้ทัน ไม่ทันก็คือล้ม ที่ล้มก็คือไม่มีกฎหมาย มันก็เหมือนกับการปล่อยให้เรื่องของกัญชา เป็นไปตามยถากรรม เด็กก็มีสิทธิ์จะนำมาสูบกัน แต่ร่างพรบ.กัญชาฯ ฉบับนี้ หากเด็กสูบเช่น พ่อให้ลูกสูบ พ่อติดคุก
- หากร่างพรบ.กัญชาฯ ไม่ผ่านสภาฯท่าทีของภูมิใจไทยจะเอาอย่างไร ?
ยังไม่ถึงเวลานั้น แต่ไม่เป็นไร เราก็อาจเสียดายแทนประชาชน เพราะมีกฎหมายดีๆ รออยู่ แต่ว่ามันก็เป็นเอกสิทธิ์ของส.ส. (โหวตลงมติ) คือวันนี้ อย่างที่ผมบอก ตอนนี้มันคือไทม์มิ่งการเมืองที่อยู่ในเทอมสุดท้ายของสภาฯ เพราะหากออกมาตอนเทอมแรกๆของสภาฯ ก็คงโหวตผ่านให้
-โดยมารยาทการเมือง พรรคร่วมรัฐบาลที่เคยร่วมสนับสนุน เคยร่วมโหวตรับหลักการตั้งแต่วาระแรก ควรมีท่าทีอย่างไรต่อเรื่องร่างพรบ.กัญชาฯ หลังจากนี้?
สำหรับการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล สิ่งหนึ่งที่ภูมิใจไทยมีก็คือว่า เราเคารพมติวิปรัฐบาล และร่างกฎหมายของรัฐบาล เราลงมติให้ตลอดมา ไม่เคยมีบิดพริ้ว บิดเบี้ยว นี้คือพรรคภูมิใจไทย แต่เราไม่รู้ว่าพรรคอื่นจะเป็นอย่างเราหรือไม่ ก็แล้วแต่ครับ แต่ในที่สุดแล้ว หากเขาจะโหวตไม่ให้ผ่าน ก็เป็นเอกสิทธิ์ของเขา แต่วันนี้ เขาจะไปอธิบายต่อสังคม และอธิบายกับประชาชนว่าอย่างไรในส่วนที่มันเป็นความจริงว่า เหตุผลที่ไม่โหวตเห็นชอบร่างพรบ.กัญชาฯ เพราะร่างฉบับนี้ เกรงจะออกมาเป็นกฎหมายที่ไม่ดี หรือเหตุผลที่โหวตไม่เห็นชอบ เพราะเป็นเรื่องการเมือง เรื่องการไปเบียดกันในเขตเลือกตั้ง หรือเรื่องอะไร ก็ไม่เป็นไร
ย้ำเป็นเกมการเมือง
ขวางลำร่างกม.กัญชา
-คิดว่าเรื่องนี้เป็นเกมการเมืองอะไรหรือไม่ ระหว่างพรรคภูมิใจไทยกับประชาธิปัตย์ ?
ผมว่าจริงๆ ก็คือใครที่จะลงมติไม่เห็นชอบด้วยกับร่างพรบ.กัญชาฯ ทั้งที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ก็มีเหตุผลทางการเมืองทั้งนั้น เพราะเหตุผลทางกฎหมาย ไม่มีเหตุผลที่จะโหวตไม่รับร่างพรบ.กัญชาฯฉบับนี้ เป็นเรื่องการเมืองอยู่แล้วครับ
-กรณี รมว.สาธารณสุข นายอนุทิน ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) เมื่อวันที่ 11 พ.ย. เกิดขึ้นเพราะอะไร และจะมีผลต่อร่างพรบ.กัญชาฯอย่างไร?
เป็นการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานว่า กัญชา ไม่ใช่ยาเสพติด คือก่อนหน้านั้น เคยมีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข แต่ว่าทั้งต้น คือช่อ-ดอก ประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ออกมาก่อนหน้านี้ไม่ได้ครอบคลุม คือไม่ได้ไปกำกับมัน เพราะถือว่ากัญชาไม่ใช่ยาเสพติด แต่ต่อมาเมื่อสังคมมีความห่วงใย ก็เลยเปลี่ยนมาคุมเฉพาะช่อดอกโดยการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเมื่อ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ก็คือ ทำให้การคุมมีความเข้มข้นขึ้น และในข้อความต่างๆที่อยู่ในร่างพรบ.กัญชาฯ ก็นำมาใส่ในประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ออกมาเมื่อ 11 พ.ย. 2565 เช่นการห้ามขายกับนักเรียนนักศึกษา การห้ามขายโดยเครื่องขาย ห้ามขายออนไลน์ ห้ามโฆษณาขายทางออนไลน์ เป็นการคุมเฉพาะเรื่องการค้าเท่านั้น แต่ประชาชนที่ปลูกใช้เพื่อประโยชน์ตัวเองไม่คุม ดังนั้นถ้าประชาชนจะใช้ประโยชน์จากช่อดอกที่ตัวเองปลูกไว้ ก็สามารถใช้ประโยชน์ได้ ไม่เกี่ยวกับประกาศฉบับนี้ แต่หากกรณีเพื่อการค้า เช่น เปิดร้านขายช่อดอก จะห้ามไม่ให้มีพื้นที่เช่นมีห้องสำหรับการสูบตรงนั้น คนซื้อก็ซื้อกลับไปใช้ที่บ้าน
-กรณีมีกรรมการแพทยสภาคนหนึ่งและส.ส.พรรคฝ่ายค้านร่วมกัน ยื่นฟ้องรมว.สาธารณสุข และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคําสั่งให้เพิกถอนประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ให้ปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด พร้อมทั้งขอให้ศาลมีคําสั่งคุ้มครองชั่วคราว จะมีผลอะไรหรือไม่ หากศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวหรือมีคำสั่งใดๆออกมา โดยเฉพาะ จะมีผลต่อร่างพรบ.กัญชาฯหรือไม่?
จริงๆ โดยหลัก เรื่องอยู่ที่ศาลปกครองแล้ว ผมก็ไม่อยากวิจารณ์ แต่เขาก็ใช้สิทธิ์ทางศาล แต่อยากจะบอกว่าใช้สิทธิ์โดยชอบด้วยเหตุในการฟ้องหรือไม่ ผมไม่คิดว่ามี เพราะอย่างเรื่อง”อายุในการฟ้องคดี”โดยหลักคือเมื่อมีเหตุแล้วต้องยื่นภายในเก้าสิบวัน ถ้าดูตอนนี้ก็เลยเวลามาแล้ว และเรื่องการอ้างเหตุว่าเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งจริงๆ ถ้าเพื่อประโยชน์สาธารณะ หากไม่เห็นด้วยตั้งแต่ตอนแรก ก็ต้องรีบยื่นไป และบุคคลที่ยื่น ผมเห็นว่ามีวาระซ่อนเร้น เป็นเพื่อประโยชน์ส่วนตนทั้งนั้น เช่นหมอคนที่ไปยื่น เขาก็โฆษณาหาเสียงว่าเบอร์ของเขาคือเบอร์อะไร ได้สมัครเป็นแพทยสภา และกำลังต่อสู้เรื่องกัญชา ให้ช่วยเลือกแกด้วย อันนั้นหาเสียงแล้ว นอกจากนี้ในส่วนของส.ส.ที่จริงๆ มีภาระหน้าที่ในด้านกฎหมาย ที่รอให้ทำอยู่คือร่างพรบ.กัญชาฯว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน ส.ส.ฝ่ายค้านจากพรรคก้าวไกล ก่อนหน้านี้เคยหนุนเรื่องกัญชามาตลอด แต่จู่ๆ ก็พลิก 180 องศา ก็ต้องอธิบาย อีกทั้งเหตุที่ยกเลิกกฎหมาย การจะให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ปลดล็อกกัญชา มีเหตุอะไร นับได้กี่เคส มีจริงหรือไม่ ที่บอกว่าประกาศดังกล่าวก่อให้เกิดความวุ่นวายทั้งประเทศ มีจริงหรือไม่ หาเหตุมาอธิบายได้จริงหรือไม่
วันนี้ประโยชน์มันมีมากกว่าโทษมากมาย แต่วันนี้คุณคิดจะมาล้มล้างเรื่องนี้ สิ่งที่เขาทำทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องอะไร อย่างก้าวไกล ก่อนหน้านี้เชียร์ สนับสนุนมาตลอด คุณอยู่กับสายเขียว แล้ววันนี้คุณต้องการดึงกลับไปไว้ในบัญชียาเสพติด มีเหตุผลอย่างเดียว คือการเมือง ผมไม่รู้ว่าเพราะอะไร แต่เหตุผลประการสำคัญคือว่า พอโพล์บางสำนักบอกว่าภูมิใจไทยได้ที่สอง แต่ละคนก็เสียจริตกันไปหมด
“ศุภชัย –ประธานกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพรบ.กัญชาฯ”ย้ำตอนท้ายว่า อยากให้สังคมทำความเข้าใจว่า กรรมาธิการที่ไปร่างพรบ.กัญชาฯ เป็นกรรมาธิการที่สภาฯแต่งตั้งมาจากทุกพรรคการเมือง จากภาคราชการ นักวิชาการ เพราะฉะนั้นทุกคนที่มา มาทำหน้าที่ที่ไม่เกี่ยวกับพรรคการเมือง ขอให้แยกให้ออกว่าร่างพรบ.กัญชาฯ ไม่ใช่ร่างกฎหมายของพรรคภูมิใจไทย แต่เป็นร่างที่ทุกคนได้ร่วมกันทำขึ้นมา
“ผมยืนว่าร่างพรบ.กัญชาฯ คุ้มครองสังคมทุกมิติ สนับสนุนให้ใช้ประโยชน์จากกัญชาได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด ทำให้สังคมมีความปลอดภัย แต่ถ้าในที่สุดแล้วไม่สามารถผ่านร่างพรบ.กัญชาฯออกมาจากสภาฯ ได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้น คำว่ากัญชาเสรีจะเกิดขึ้นจริง และไร้การควบคุม ถ้าหากร่างพรบ.กัญชาฯฉบับนี้ ส.ส.คนไหน เห็นว่ามาตราไหนยังเขียนออกมาไม่ดี ส.ส.ก็มีสิทธิ์ที่จะขอแก้ไขได้ในการพิจารณาร่างพรบ.กัญชาวาระสองพิจารณาเรียงรายมาตรา ขออย่าได้ทำเรื่องการเมือง จนทำให้บ้านเมืองเสียหาย มีอะไรก็ขอให้ว่ากันไปตามกระบวนการนิติวิธี ตามกระบวนการนิติบัญญัติ”
โดยวรพล กิตติรัตวรางกูร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้
บูมเศรษฐกิจ 2 ชาติ ! “อนุทิน” เร่งสร้างสะพานมิตรภาพจันทบุรี-ไพลิน จับมือกัมพูชา กระตุ้นค้าขายชายแดน-ท่องเที่ยว
วันที่ 21 พย. บริเวณสะพานข้ามคลองตะเคียน ด่านผักกาด จุดก่อสร้างสะพานมิตรภาพจันทบุรี-ไพลิน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะผู้บริหาร อาทิ นายอรรษิษฐ์ สัมพัน์รัตน์
'อนุทิน' ยันภูมิใจไทยโหวตเสียงข้างมาก 2 ชั้นในการทำประชามติ
'อนุทิน' ยืนยัน ภท.โหวตเสียงข้างมาก 2 ชั้น หากนำมติ กมธ.ร่วมประชามติเข้าโหวตในสภา ย้ำเพื่อให้ ปชช.ตัดสินใจเรื่องสำคัญอย่างแท้จริง ชี้ทุกอย่างมีเงื่อนเวลาถ้าแก้ไม่ทันก็รอสภาชุดหน้า
“ผู้ประกอบการ ราชบุรี” ชม “อนุทิน” ฟื้นกีฬาวัวลาน ให้แข่งตอนกลางคืน มั่นใจ เป็นงานเฟสติวัลระดับโลก
จากกรณีที่กระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวง ให้การแข่งขันวัวลานจัดขึ้นในเวลากลางคืน ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2567 โดยล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เดินทางไปเปิดการแข่งขันวัวลานที่
’ห้าพันตารางกิโลเมตร‘ เท่ากับกี่ตารางนิ้ว ? เงื่อนตายของ MOU 2544 ?
MOU 2544 ไม่ใช่กรอบการเจรจาเพื่อหาข้อตกลง ”แบ่งผลประโยชน์(ปิโตรเลียม)“ เท่านั้น แต่หาข้อตกลง “แบ่งเขตแดน(ทะเล)“ ด้วย !
คำนูณ ผ่าปม 2 ได้ 3 เสีย ถ้าไม่ยกเลิก MOU 2544
ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เชื่อมโยงถึงเกาะกูด, การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ยั