งานถวายผ้ากฐินพุทธศาสนานานาชาติ .. ครั้งประวัติศาสตร์ (พ.ศ.๒๕๖๕) .. ณ สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. อีกครั้งที่ต้องเขียนแม้จะผ่านมาร่วมเดือน ด้วยเป็นเรื่องราวที่ไม่เคยเกิดขึ้นและยากที่จะเกิดขึ้นบนแผ่นดิน สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในแว่นแคว้นคันธาระ.. ๑ ใน ๑๖ มหาชนบทที่ยิ่งใหญ่ของชมพูทวีป มีเมืองหลวงที่เป็นนครโบราณอันลือชื่อมายาวนาน นาม นครตักศิลา ที่ชาวพุทธในประเทศไทยรู้จักกันดีเมื่อเอ่ยนาม

เมื่ออารยธรรมพุทธศาสนาแผ่ครอบคลุมไปทั่วชมพูทวีป โดยเฉพาะในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๓ ที่ราชวงศ์โมริยะเข้าปกครอง โดยมีแคว้นมคธเป็นศูนย์กลาง ที่มีนครปาฏลีบุตรเป็นเมืองหลวง พระเจ้าอโศกมหาราช จอมกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่เหนือชมพูทวีป ได้แผ่พระราชอำนาจไปทั่ว ไม่เว้นแว่นแคว้นฝ่ายเหนือ ทั้งแคว้นคันธาระ แคว้นกัมโพชะ ตลอดจนถึงแคว้นเล็ก เมืองกิ่ง เมืองก้านทั้งหลาย

ในสมัยดังกล่าว พระเจ้าอโศกมหาราชได้สนับสนุนการเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยคณะสงฆ์ให้แพร่กว้างขวางไปทั่วโลก ทุกทิศทาง เพื่อจาริกนำพระธรรมวินัยไปเผยแผ่ยังดินแดนต่างๆ พร้อมทั้งการสร้างเครื่องหมายของพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็น เสาพระอโศก ที่บันทึกเรื่องราว ปักเป็นเครื่องหมายแสดงความสำคัญของพื้นที่นั้นๆ หรือไม่ว่าจะเป็น พระสถูปเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ องค์ ที่ทรงสร้างไปทั่วชมพูทวีป เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ดังปรากฏในแคว้นคันธาระ.. ที่สืบเนื่องให้เห็นเป็นหลักฐานทางโบราณคดีถึงปัจจุบัน ที่ปรากฏ พระธรรมราชิกสถูป ขนาดใหญ่ บนพื้นที่อันกว้างขวาง ที่เต็มไปด้วยเจดีย์ขนาดต่างๆ ตลอดจนถึงวิหารใหญ่น้อยมากมายที่ปลูกเรียงรายรอบๆ พระธรรมราชิกสถูป ดังที่ปรากฏให้เห็นเป็นหลักฐานทางโบราณคดีในปัจจุบัน ซึ่งตั้งอยู่ในกลางนครตักศิลา ห่างจากเมืองศรีกัปป์.. ที่เป็นนครโบราณของตักศิลาสมัยหนึ่งที่ผ่านมา ก่อนที่นครตักศิลาจะสูญสลายไปในพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ด้วยกองทัพของ White Huns…

และสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของการแสดงความหมายเป็นนครพุทธศาสนา คือ เสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช.. ตลอดจนถึงมหาวิหารใหญ่น้อยมากมายของพระพุทธศาสนา ที่ปรากฏไปทั่วทั้งแว่นแคว้นฝ่ายเหนือ ที่แสดงความเป็น นครพระพุทธศาสนา อย่างแท้จริง..

ดังนั้น เมื่อได้มีโอกาสมาอยู่ จำพรรษา ณ นครตักศิลา ซึ่งปัจจุบันอยู่ใน รัฐปัญจาบ ปากีสถาน ในพรรษาปีพุทธศักราช ๒๕๖๕ ตามอาราธนานิมนต์ของรัฐบาลปากีสถาน ผ่านความเห็นชอบของกระทรวงการต่างประเทศ จึงเป็นข่าวที่แพร่สะพัดไปทั่วทั้งในประเทศพระพุทธศาสนาและโลกอิสลาม (อาหรับ) ที่กล่าวขานผ่านสื่อมวลชน เรียกการจำพรรษาในครั้งนี้ว่า เป็นพรรษาประวัติศาสตร์ของคณะสงฆ์ในพุทธศาสนา ที่กลับคืนมาอยู่จำพรรษา บนแผ่นดินอารยธรรมพระพุทธศาสนาในอดีต อันได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลกอารยธรรมคันธาระอีกครั้งอย่างยิ่งใหญ่

การได้รับนิมนต์จากรัฐบาลปากีสถาน ไปอยู่จำพรรษาประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในครั้งนี้ จึงนับเป็นโอกาสสำคัญยิ่งที่จะได้ใช้เวลาศึกษาร่องรอยอารยธรรมพุทธศาสนาในแว่นแคว้นฝ่ายเหนือของชมพูทวีปอย่างจริงจัง... โดยเฉพาะภายหลังพุทธปรินิพพานไปประมาณ ๕๐๐ ปี ที่ศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาได้เปลี่ยนฐานจากมัชฌิมประเทศ มาสู่แว่นแคว้นชายขอบของชมพูทวีป ซึ่งเป็นแว่นแคว้นที่เชื่อมโยงจากชมพูทวีปติดต่อไปสู่โลกภายนอก ไม่ว่าทางโลกด้านตะวันตกหรือโลกด้านตะวันออก โดยมีช่องประตูธรรมชาติที่เป็นจุดบังคับการเดินทางผ่านเข้าออกที่สำคัญยิ่ง ในปัจจุบันเรียกช่องประตูธรรมชาติสู่ชมพูทวีปดังกล่าวว่า Khyber Pass…

Khyber Pass .. จึงเป็นประตูธรรมชาติเปิดสู่ชมพูทวีป ที่เป็นเส้นทางคมนาคมของชาวโลกที่มุ่งเดินทางเข้ามาติดต่อประสานกับชาวชมพูทวีป.. จึงเป็นเส้นทางส่วนพื้นที่สำคัญยิ่งของ Silk Road ซึ่งดั้งเดิมเป็นเส้นทางของพ่อค้าวาณิชที่มาจากบ้านเมืองต่างๆ และแน่นอนที่หนีไม่พ้นคือ การเป็นเส้นทางเดินทัพกองกำลังอันยิ่งใหญ่ของกลุ่มชนเผ่า .. ประเทศต่างๆ ที่หวังยาตราทัพเข้าสู่ชมพูทวีป หรือแม้แต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มกำลังกองทัพจากแว่นแคว้นต่างๆ ในชมพูทวีป ที่จะประกาศศักดานุภาพไปภายนอกก็ต้องอาศัยการเดินทัพผ่านเส้นทางช่องประตูธรรมชาติ Khyber Pass แห่งนี้.. ที่มีชนเผ่าต่างๆ ในพื้นที่ดูแลอยู่.. ดังที่สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน ด้วยกลุ่มชนเผ่า Afridis .. ที่มีอำนาจในการปกครองตนเองตามกฎหมาย โดยการรับรองของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน.. อันเป็นความเชื่อมโยงทางการเมืองการปกครองที่มีนัยมาตั้งแต่สมัยอังกฤษ และเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ อินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ แต่ด้วยปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูและชาวมุสลิมในอินเดีย จึงนำไปสู่การแบ่งแยกประเทศ โดยในพื้นที่ตอนบน คือ ปากีสถานและบังคลาเทศ ที่มีชาวมุสลิมมากกว่า ได้แยกประเทศออกไปเป็นปากีสถานตะวันตก (ปากีสถานปัจจุบัน) และปากีสถานตะวันออก (บังคลาเทศ) ส่วนพื้นที่ส่วนใหญ่ที่มีชาวฮินดูมากกว่า ก็แยกตัวเองออกมาเป็น สาธารณรัฐอินเดีย ในการแบ่งแยกดินแดนครั้งนั้น ได้ทิ้งปัญหาหนึ่งไว้ให้เป็นปัญหาที่เรื้อรังถึงปัจจุบันระหว่างชาวฮินดูและชาวมุสลิม คือ กรณีการปกครองในเมืองแคชเมียร์ ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบปัญหาดังกล่าว

ปัจจุบัน ปากีสถานตะวันตก มีชื่อเป็นทางการคือ สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน (Islamic Republic of Pakistan) เป็นประเทศที่จัดแบ่งลงใน เอเชียใต้ มีพรมแดนติดกับอินเดีย อิหร่าน (เปอร์เซีย) อัฟกานิสถานและจีน... มีแหล่งอารยธรรมที่สำคัญติดอันดับสามของโลก ได้แก่ อารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ เป็นประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นอันดับที่ ๒ รองจากประเทศอินโดนีเซีย

พื้นที่ของสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานส่วนใหญ่ อยู่ในแว่นแคว้นฝ่ายเหนือของชมพูทวีป โดยเฉพาะในแคว้นคันธาระ.. ซึ่งเป็นแหล่งอารยธรรมทางพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ในพุทธศตวรรษที่ ๓-๔-๕.. เป็นต้นมา จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เศษๆ ที่พุทธศาสนาสูญสลายไปจากชมพูทวีป โดยในปัจจุบันมีแหล่งอารยธรรมพุทธศาสนาอยู่ในหุบเขาประวัติศาสตร์ ๓ แห่ง ที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก ได้แก่ หุบเขาตักศิลา (Taxila Valley) หุบเขาสวัต (Swat Valley) และ หุบเขาเปศวาร์ (Peshawar Valley)...

ในการมาอยู่จำพรรษา ณ นครตักศิลา ในปีพุทธศักราช ๒๕๖๕ จึงได้เกิดเรื่องราวสำคัญมากมายต่อการเชื่อมโยงประวัติศาสตร์อารยธรรมพุทธศาสนาที่ขาดหายไปในช่วงเวลาร่วมพันปี ให้คืนกลับมาอีกครั้ง.. ดังที่มีคำกล่าวว่า.. “การมาจำพรรษาของคณะสงฆ์ไทยในสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานในปีพุทธศักราช ๒๕๖๕ นี้ .. เป็นการสืบลมหายใจพุทธศาสนาที่จางหายไปให้กลับคืนมาอีกครั้ง...”

..และด้วยความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน จึงนำไปสู่ความเชื่อมโยงทางจิตใจระหว่างประชาชน ๒ ประเทศ ที่ใช้ความเป็นศาสนาของตน คือ ศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม ประสานสัมพันธ์กันได้ จนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่มีข้อขัดแย้ง และเกื้อกูลกันในทางวิถีสังคมที่ต้องอยู่ร่วมกัน ภายใต้กฎศาสนาอันเดียวกัน คือ ความเป็น Peace และ Happiness ที่เรียกว่า สันติและความสุข อันเป็นเป้าหมายเดียวกันของมนุษยชาติ ไม่ว่าจะมาจากศาสนาใด

จึงได้เห็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญยิ่งที่ไม่เคยปรากฏ คือ การที่พุทธศาสนิกชนชาวไทย, พม่า, ศรีลังกา, เวียดนาม... ที่มีเอกอัครราชทูตแต่ละประเทศเป็นผู้นำ ได้ร่วมกันถวายผ้ากฐินครั้งประวัติศาสตร์ โดยมีเอกอัครราชทูตจากอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, บรูไน และเจ้าหน้าที่ภาครัฐจากหลายหน่วยงานของรัฐบาลปากีสถาน ตลอดจนถึงชาวปากีสถาน..จำนวนหนึ่ง ที่ได้เดินทางมาร่วมแสดงความยินดีในการจัดงานประวัติศาสตร์ เพื่อฟื้นฟูอารยธรรมคันธาระ มรดกของพุทธศาสนา ณ นครตักศิลา สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ในครั้งนี้ ที่จัดขึ้นเมื่อ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๕ ณ พิพิธภัณฑ์นครตักศิลา รัฐปัญจาบ ปากีสถาน

ภาพการจัดงานของพุทธศาสนิกชนนานาชาติ เพื่อถวายผ้ากฐินประวัติศาสตร์ต่อคณะสงฆ์ไทย จำนวน ๖ รูป สามเณร ๑ รูป ที่ได้รับนิมนต์จำพรรษาครบไตรมาส ๓ เดือน ในฤดูกาลฝน ณ นครตักศิลา แคว้นคันธาระในอดีต.. จึงเป็นภาพที่ยิ่งใหญ่จริงๆ ในความรู้สึกของชาวพุทธทั่วโลก เพราะนับเป็นครั้งแรกในรอบพันปี ภายหลังจากพุทธศาสนาสูญหายไปจากชมพูทวีป เมื่อ พ.ศ.๑๗๐๐ เศษ

และน่าชื่นชมอย่างยิ่ง เมื่อได้รับไมตรีจิตจากประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม ที่ได้ไปร่วมแสดงความยินดีในงานถวายผ้ากฐินดังกล่าวที่มีการแพร่ภาพเสียงไปทั่วโลก ดังที่มีการแสดงความเห็นเป็นบวกกันจำนวนมากในโลก Social Media

นับเป็นการประกาศถึงพลังธรรมของมนุษยชาติ ที่สามารถสร้างสรรค์โลกให้เกิดสันติสุขได้แท้จริง ด้วยการมีความรัก ความเมตตากรุณาต่อกันและกัน...

 “เมตตาธรรม ค้ำจุนโลก... จึงเป็นสัจธรรมที่ไม่เคยผันแปรไปในทุกกาลสมัย”

ปัจจุบันจึงได้เห็นภาพนักท่องเที่ยวจากประเทศต่างๆ เดินทางไปเยี่ยมชมโบราณสถานอารยธรรมคันธาระ มรดกโลกทางพุทธศาสนาในสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานมากขึ้น ดังที่มีการบันทึกของ กองโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์แห่งรัฐ Khyber Pakhtunkhwa ที่ว่า.....

 “As a result of MV. Arayawangso visit to the rich Gandhara region, tourists have started to visit varying heritage sites across KP, namely Jaulian, Khanpur... 

The frequent visits of these tourists will promote multiculturalism and religious tourism in this region…….”

                                                      by Directorate of Archaeology & Museums, KP.

เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..

รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ

เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก

คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!

เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย

ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?

การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก