ราคาน้ำมันดิบที่แพงขึ้นมากตั้งแต่ต้นปีนี้ได้สร้างความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสมาให้กับหลายประเทศที่ต้องอาศัยน้ำมันนำเข้า รวมถึงประเทศไทยที่ต้องนำเข้าน้ำมันมากถึง 90% ของปริมาณการใช้ทั้งหมด
เราทราบกันดีว่าสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นอย่างมากมาย จากประมาณ 60 ถึง 70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (น้ำมันดิบชนิดเบรนท์) ในช่วงต้นปีนี้ ขึ้นไปเป็นสูงสุดถึงกว่า 120 เหรียญในต้นเดือนมีนาคมนี้ และตลอด 9 เดือนของการสู้รบที่ยังคงดำเนินอยู่ถึงทุกวันนี้ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ไม่เคยต่ำกว่า 80 เหรียญเลย ทำเอาราคาน้ำมันหน้าปั๊มของไทยแพงอย่างไม่เคยเห็นมาก่อนในหลายปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดีเซลสูงถึง 35 บาทต่อลิตร ทั้ง ๆ ที่มีการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและการลดภาษีสรรพสามิต
ไทยพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนที่น้อยกว่าน้ำมัน (คือหนึ่งในสามของการใช้) แต่กระนั้นก็ตาม ก๊าซธรรมชาติที่นำเข้าในรูปของเหลว (liquefied natural gas หรือ LNG) ก็มีราคาแพงขึ้นมากเช่นเดียวกันกับน้ำมันดิบ ทำให้ต้นทุนการผลิตและราคาไฟฟ้าต้องขยับขึ้นเพราะ 60% ของไฟฟ้าผลิตโดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง
นอกจากน้ำมันและไฟฟ้าที่แพงขึ้นมากแล้ว สินค้าประเภทอาหารและวัสดุก่อสร้างบางประเภทก็มีราคาสูงขึ้นด้วย ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากปัญหาภาวะเงินเฟ้อกันถ้วนหน้า หลายคนที่ต้องตกงานและรายได้หดหายจากการล็อกดาวน์ในช่วงโรคระบาดโควิด-19 กำลังจะลืมตาอ้าปากได้ ก็ต้องมาเผชิญกับปัญหาปากท้องอีกรูปแบบหนึ่งในปีนี้
ในภาพรวมเราต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่กลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิด-19 อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจติดลบ 6.2% ในปี 2563 อันเนื่องมาจากมาตรการล็อกดาวน์ แล้วมาฟื้นตัวเล็กน้อย คือขยายตัวประมาณ 1.6% ในปีต่อมา ส่วนในปีนี้ก็คาดว่าคงเติบโตได้ประมาณ 3%
เป็นที่น่าสังเกตว่าในปี 2565 นี้ ฐานะทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทยเลวร้ายลงไปค่อนข้างมาก ปีนี้น่าจะเป็นครั้งแรกในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาที่ประเทศไทยจะมีการขาดดุลทุกดุลในบัญชีการชำระเงินระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นดุลการค้า ดุลบริการ ดุลบัญชีเดินสะพัด ดุลบัญชีเงินทุน และดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทยต้องขาดดุลการค้าน่าจะเป็นเพราะราคาและมูลค่าของสินค้านำเข้าประเภทเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นสูงมาก ในครึ่งปีแรกของปี 2565 สถิติชี้ให้เห็นว่ามูลค่าสินค้าเชื้อเพลิงนำเข้าเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 100% ซึ่งรวมถึงน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหินและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม มูลค่าสินค้านำเข้าโดยรวมเพิ่มขึ้นประมาณ 20% ในครึ่งปีแรกในขณะที่มูลค่าการส่งออกโดยรวมเพิ่มขึ้นประมาณ 10% และในช่วงหกเดือนแรกของปีนี้ไทยขาดดุลการค้าไปแล้วกว่า 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
การขาดดุลบริการมีสาเหตุมาจากการที่ต่างชาติมาเที่ยวเมืองไทยน้อยลงมากเพราะโควิด-19 ทำให้รายได้ของประเทศจากการท่องเที่ยวลดลงมาก บัญชีเงินทุนของไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาขาดดุลอย่างต่อเนื่อง เพราะเรายังไม่สามารถดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาได้มากนัก ดังนั้น ดุลสุดท้ายในบัญชี คือดุลการชำระเงินระหว่างประเทศในปี 2565 จึงกลายเป็นตัวแดง โดยสุทธิเงินไหลออกนอกประเทศ และทุนสำรองระหว่างประเทศก็มีมูลค่าลดลง
เท่าที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่าราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่แพงขึ้นก่อให้เกิดผลเสียต่อประเทศไทยอย่างเห็นได้ชัด เป็นการซ้ำเติมผลกระทบของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้
แต่หลายคนเชื่อว่า “ในทุกวิกฤต ย่อมมีโอกาส” ผมจึงตั้งคำถามว่า “มีโอกาสดี ๆ เกิดขึ้นได้จากราคาน้ำมันและก๊าซที่แพงขึ้นหรือไม่”
โลกกำลังเผชิญกับปัญหาภาวะโลกร้อน และต้องแก้ไขโดยการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก มาตรการที่ได้ผลมากที่สุดที่จะทำให้อุณหภูมิโลกร้อนอยู่ในขอบเขตที่ปลอดภัยได้คือ “การลดหรือเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน)” เชื้อเพลิงเหล่านี้ที่แพงขึ้นย่อมสร้างแรงจูงใจและโอกาสให้มนุษย์แสวงหาพลังงานสะอาดเพื่อนำมาใช้ทดแทนเชื้อเพลิงสกปรกได้มากขึ้น
ถ้าจะดูเฉพาะเมืองไทย เราก็จะเห็นโอกาสนี้อยู่ทั่วไป หลังคาของบ้านอยู่อาศัย อาคารพานิชย์ อาคารสำนักงาน โรงงาน คลังสินค้า และอาคารชนิดต่างๆ ยังมีพื้นที่ว่างเป็นจำนวนมากที่พร้อมจะติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ หรือที่เราเรียกกันว่าแผงโซลาร์เซลล์นั่นเอง
ยกตัวอย่างบ้านขนาดกลาง ใช้ไฟประมาณเดือนละ 800 หน่วย (หรือ 800 กิโลวัตต์ชั่วโมง หรือ kWh) เมื่อ 6 เดือนที่แล้วเคยจ่ายค่าไฟในอัตราหน่วยละ 4.75 บาท (รวม Ft และภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) ในปัจจุบันเสียค่าไฟอยู่หน่วยละ 5.45 บาท แพงขึ้นหน่วยละ 70 สตางค์เพราะก๊าซ LNG ที่นำเข้าและใช้ในการผลิตไฟฟ้าแพงขึ้นมาก ตกลงตอนนี้บ้านนี้จ่ายค่าไฟเดือนละ 4,360 บาท
เจ้าของบ้านนี้ต้องการจะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านเพื่อลดค่าไฟที่จ่ายให้การไฟฟ้านครหลวงลงไปบ้าง เขาได้ข้อมูลมาว่าหลังคาบ้านมีพื้นที่พอติดตั้งได้ 10 แผง ขนาดแผงละ 300 วัตต์ รวมกำลังไฟ 3,000 วัตต์ (หรือ 3 กิโลวัตต์ หรือ 3 kW) ค่าใช้จ่ายติดตั้งคิดเป็นวัตต์ละ 45 บาท รวมลงทุนทั้งสิ้นเป็นเงิน 135,000 บาท
โดยเฉลี่ย แผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดในไทยได้วันละ 3.6 ชั่วโมง หรือ 15% ของ 24 ชั่วโมง ดังนั้น 10 แผงบนหลังคาบ้านนี้จึงผลิตไฟฟ้าได้วันละ 10.8 หน่วย (3.6 ชั่วโมงคูณด้วย 3 kW) เดือนละ 324 หน่วย หรือปีละ 3,942 หน่วย คิดเป็นค่าไฟฟ้าที่ประหยัดได้เป็นเงินเดือนละ 1,766 บาท หรือปีละ 21,484 บาท แสดงว่าการลงทุนนี้สามารถคืนทุนได้ภายใน 7 ปี (payback period) และถ้าเป็นการลงทุนอายุเวลา 20 ปี การประหยัดค่าไฟฟ้าจะให้ผลตอบแทนสูงถึงปีละ 15% เทียบกับอัตราดอกเบี้ยในตลาดปัจจุบันก็ถือได้ว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าทีเดียว ถึงแม้ว่าอัตราค่าไฟจะลดลงเหลือ 4 บาท ผลตอบแทนก็จะลดลงเป็นปีละ 10% ซึ่งก็ยังคุ้มค่าอยู่ดี
ที่ดีมากกว่าผลตอบแทนด้านตัวเงินก็คือ การนำเอาไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสะอาดที่ไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก มาทดแทนไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตมากถึง 80% ถือเป็นการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนอีกทางหนึ่งด้วย
ในช่วงที่ค่าไฟแพงอยู่นี้ ภาครัฐเองก็ควรมีส่วนร่วมในการประหยัดไฟด้วย เพราะยังมีอาคารของรัฐจำนวนมากที่ยังไม่ได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ อาคารที่เหมาะสมสำหรับงานนี้ได้แก่อาคารที่มีการใช้ไฟฟ้าทุกวันตลอดปีและใช้มากในช่วงกลางวัน ตัวอย่างคือ โรงพยาบาล สนามบิน สถานีรถไฟ และสถานีขนส่งต่างๆ ถ้าภาครัฐเปิดโอกาสให้มีการลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาของอาคารเหล่านี้ (และอาจรวมถึงบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง) น่าจะมีผู้ทำธุรกิจด้านพลังงานสนใจลงทุนติดตั้งแผงและอุปกรณ์ประกอบให้ โดยรับผลตอบแทนในรูปของการเก็บค่าไฟฟ้าส่วนที่ผลิตและใช้จากแผงเหล่านี้จากเจ้าของอาคารในอัตราไม่เกินหน่วยละ 4 บาทเป็นเวลา 15 – 20 ปี
ผมเชื่อว่าบริษัทด้านพลังงาน รวมถึงการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (กฟน. กฟภ.) คงสนใจที่ทำธุรกิจตามเงื่อนไขแบบนี้กับหน่วยงานภาครัฐ เพราะไม่น่ามีความเสี่ยงว่าหน่วยงานจะเบี้ยวหนี้ ในขณะที่บริษัทก็ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าเชิงพาณิชย์ เอาโครงการแบบนี้ไปใช้กู้ธนาคารก็ได้
ภาครัฐเองก็จะได้ประโยชน์จากข้อตกลงข้างต้นนี้ เพราะในระยะยาวสามารถใช้ไฟฟ้าในอัตราหน่วยละ 4 บาท ซึ่งต่ำกว่าอัตราค่าไฟฟ้าจากระบบ (ซึ่งในอนาคตไม่น่าจะต่ำกว่า 4 บาท) เป็นการประหยัดค่าไฟโดยไม่ต้องลงทุนเองแม้แต่บาทเดียว มิหนำซ้ำยังช่วยทำให้ประเทศใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลน้อยลง อันเป็นส่วนหนึ่งที่จะนำไปสู่การลดคาร์บอนให้เหลือศูนย์ให้ได้ภายในช่วง 30 ปีข้างหน้า ตามสัญญาที่ท่านนายกฯ ประยุทธ์ไปทำไว้กับประชาคมโลกเมื่อสองปีก่อน
เรามาช่วย “พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส” กันเถอะครับ
เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
ดร. พรายพล คุ้มทรัพย์
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
CP LAND X พันธมิตร ส่งต่อความสุขเดินทางได้ ปีที่ 2 “Solar Cell for Life” ให้ชุมชนห่างไกล อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น เสริมคุณภาพเพื่อทุกชีวิต
บริษัท ซี.พี. แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ CP LAND บริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของประเทศไทย เดินหน้าพร้อมพันธมิตร และ พี่น้องประชาชนชาวดงลาน อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยหน่วยงานจากภาครัฐ อาทิ องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น องค์การบริหารส่วนตำบลดงลาน
อยากติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในบ้าน เลือกขนาดไฟกี่วัตต์ให้ตอบโจทย์?
การติดตั้งระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ไว้บนหลังคาบ้าน หรือ ‘โซลาร์เซลล์’ เป็นหนึ่งในวิธีที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่ในกลุ่มทำธุรกิจอุตสาหกรรม
ลงทุนในทองคำดีไหม
ข่าวที่เราได้เห็นอยู่บ่อยๆ ในปีนี้ ว่าราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีก น่าจะทำให้เรารู้สึกว่าเราควรจะลงทุนซื้อทองคำตอนนี้ไว้มากๆ เผื่อเอาไว้ขายทำกำไรได้งามๆ ในอนาคต
'สยามเทคโนโพล' เผย คนไทยส่วนใหญ่สนใจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เหตุช่วยประหยัดค่าไฟฟ้า
ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา นักวิชาการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และการจัดการความเสี่ยง วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ร่วมกับ อาจารย์วงศกร อยู่มาก หัวหน้าสาขาวิชาการตลาด วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม และ ดร.ธนเสฏฐ์ อัคคัญญ์ภูดิส อาจารย์ประจำสำนักวิจัยสยามเทคโนโพล เปิดเผย ผลสำรวจเรื่อง ประชาชนสนใจโซลาร์เซลล์
'เพนตากอน' ยุคใหม่ ใช้โซลาร์เซลล์
อาคารที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกจะไม่ใช้ความร้อนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอีกต่อไป 80 ปีหลังจากเปิดทำการ สำนักงานใหญ่ข
MEA จับมือ กปน. ติดตั้ง Solar Rooftop เสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
วันนี้ (5 ตุลาคม 2566) นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง พร้อมด้วย นายมานิต ปานเอม ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.)