”นิรโทษกรรม”รอบใหม่ มองเส้นทาง-โอกาสสำเร็จ ทำแล้ว ใครได้ประโยชน์?

 

หลัง"นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่"ออกมาจุดพลุเปิดประเด็นเตรียมเคลื่อนไหวเพื่อเสนอ"ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ"เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร

ซึ่งร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯดังกล่าว “เสนอให้นิรโทษกรรมคดีความที่เป็นผลสืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19  กันยายน พ.ศ.2549ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ไม่เป็นความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่งต่อไปและให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง"

แนวคิดและการเคลื่อนไหวดังกล่าวก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ การแสดงความคิดเห็นที่ตามมาหลากหลายทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้าน หากจะมีการผลักดันให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมฯรอบนี้

"น.พ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ เจ้าของแนวคิดในการยกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ"ดังกล่าว ย้ำว่าการที่ต้องเสนอร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯ เพราะพบว่า มีตัวอย่างสังคมในระดับสากล อย่างที่แอฟริกาใต้ ประเทศเขาเกิดข้อขัดแย้ง มีการฆ่ากันตาย ซึ่งความขัดแย้งแบบนี้ บางประเทศมีความขัดแย้งมีคนตายเป็นหมื่น บางประเทศเป็นแสน มันก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนต่างๆ ในประเทศเขา สุดท้ายแก้กันอย่างไร พบว่าเขาก็มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมทุกฝ่ายให้เลิกแล้วต่อกัน ให้เกิดความสามัคคดีปรองดอง หลังจากออกกฎหมายนิรโทษกรรมเสร็จพบว่าประเทศก็เข้าสู่ความสงบเรียบร้อย ประเทศเขาก็พัฒนาฟื้นตัวขึ้นมาได้ อันนี้คือทางสากล

เมื่อมาดูที่ประเทศไทย ผมก็ขอยกตัวอย่างว่าสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีการออกนิรโทษกรรมผ่านคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ตอนนั้น มีคนบอกว่า ออกมาแล้วได้อะไร จะเป็นการไปช่วยคอมมิวนิสต์ฆ่าฟันกัน ยิงทหารบาดเจ็บล้มตายเยอะแยะ แต่ในที่สุดหลังจากมีการออกมา ผลที่เกิดขึ้นผิดคาด โดยหลังจากมีการออก 66/2523 ไม่มีการเอาผิดกับคอมมิวนิสต์ทุกคนที่เข้า ไม่ว่าจะเป็นนิสิตนักศึกษา ประชาชน ชาวนา กรรมกร ทุกคนก็กลับมาใช้ชีวิตอยู่ในเมือง ในที่สุด สงครามกลางเมืองประเทศไทย ซึ่งตอนนั้นยิงกันทุกวัน อย่างวันนี้ยิงกันที่ภูพาน วันต่อไปที่สุราษฎร์ธานี วันต่อมาที่น่าน เพราะคอมมิวนิสต์มีอยู่ทั่วประเทศในเขตชนบท ทหารก็เข้าปราบ อีกวัน คอมมิวนิสต์ก็เข้าตีค่าย ยิงกันทุกวัน ตายกันทุกวัน แต่ในที่สุดหลังมีการออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523  ทำให้สงครามกลางเมืองในประเทศสงบ จนทุกวันนี้ ประเทศก็พัฒนา ความเจริญเข้าสู่ชนบท อันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

เมื่อมาดูสถานการณ์ความขัดแย้งทางความคิดในช่วงยุคปัจจุบัน โดยเมื่อนับจากช่วงตั้งแต่วันที่ 19กันยายน 2549 เมื่อพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เข้าทำรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ต่อมาก็เกิดเสื้อแดง -แนวร่วม นปช.เพื่อต่อต้านคมช. หลังจากนั้นก็เกิดความขัดแย้งขึ้นแทบทุกรัฐบาล สมัยรัฐบาลพลังประชาชน ยุคสมัคร สุนทรเวช สมชาย วงศ์สวัสดิ์  ก็มีม็อบพันธมิตรฯเสื้อเหลือง  ออกมาต่อต้าน มีคนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ต่อมาหลังอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีกลุ่มนปช.เสื้อแดง ออกมาต่อต้าน มีการล้มการประชุมอาเซียนซัมมิต มีการขอคืนพื้นที่ คนบาดเจ็บล้มตาย

ต่อมาหลังการเลือกตั้งปี 2554 ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีความพยายามจะออกพรบ.นิรโทษกรรม เป็นชนวนทำให้เกิดม็อบกปปส เกิดการต่อสู้ทางการเมือง คนบาดเจ็บล้มตายกันเป็นพัน จนเกิดรัฐประหารโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นยุคคสช. และต่อมาพลเอกประยุทธ์เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็มี ม็อบคนรุ่นใหม่ ม็อบสามนิ้ว เกิดข้อขัดแย้ง

ทั้งหมด จะเห็นได้ว่า ก่อนรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เกิดข้อขัดแย้งกระจายทั่วประเทศแบบซึมลึก เป็นข้อขัดแย้งระหว่างฝ่ายเหลืองกับแดง ฝ่ายทักษิณกับฝ่ายไม่เอาทักษิณ หลายครอบครัว สามีภรรยา หรือพ่อกับลุก คิดต่างกัน ก็ทะเลาะกัน หรือเพื่อนๆในกลุ่มเดียวกัน เคยอยู่ด้วยกันดีๆ ก็เกิดความแตกแยก

อย่างตัวผมเอง เพื่อนที่เป็นอดีตสหายที่เคยเข้าป่าด้วยกันตอนหลัง 6 ตุลาคม 2519 เมื่อเห็นต่างกัน ก็แตกแยกกันเป็นสองกลุ่ม เพื่อนผมบางคนที่เคยใกล้ชิดกัน ทำงานด้วยกัน แต่เขาอยู่ฝ่ายแดง ผมถือข้างเหลือง วันไหนเขามาขับรถให้ผมเดินทางไปเส้นทางไกลๆ นั่งกันไปสามคน มีผมและอีกสองคน คนหนึ่งเป็นเสื้อเหลือง อีกคนก็เสื้อแดง ขับรถไกลๆ ก็เกิดความง่วง ผมเลยลองพูดเรื่องประเด็นการเมืองขึ้นมา ผลปรากฏว่า ทั้งสองคนหายง่วง แล้วเถียงกันทันที ทั้งที่นั่งรถอยู่ด้วยกัน ทำงานด้วยกัน แต่พูดเรื่องการเมืองเรื่องเสื้อเหลืองเสื้อแดงเมื่อไหร่ เถียงกันทันที

แสดงให้เห็นว่า สังคมไทย มันขัดแย้ง ซึมลึกกันไปทั้งประเทศ พอมายุคนี้ เป็นความขัดแย้งของคนรุ่นใหม่ มีม็อบสามนิ้ว ที่ออกมาชนกับตำรวจโดยตรงที่แยกดินแดง แตกต่างจากม็อบสมัยก่อน ที่จะพยายามหลีกเลี่ยงไม่อยากปะทะกับตำรวจ แต่เราถูกอีกฝ่ายหนึ่งมายิงอยู่ตลอด

ความขัดแย้งที่ร้าวลึกดังกล่าวในสังคมไทย มันส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจ -สังคม -ความมั่นคง และหลายบริบท เรียกได้ว่า เสียหายหมด ประเทศไหน หากคนในประเทศด้วยกันเอง ทะเลาะกันแบบนี้ เจริญยาก จึงเป็นความจำเป็นที่เราต้องยุติข้อขัดแย้งทางการเมือง นี้คือเหตุผลที่ผมเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่เราควรต้องมีการออกพรบ.นิรโทษกรรม

ไขปม ทำไม ดันร่างพรบ.นิรโทษฯ

ช่วงสภาฯใกล้หมดวาระ

"นพ.ระวี"กล่าวต่อไปว่า ความพยายามผลักดันร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯ หลายคนอาจตั้งคำถามสงสัยว่าทำไมผมมานำเสนอเรื่องนี้ในช่วงการประชุมสภาฯสมัยสุดท้ายซึ่งที่ประชุมจะปิดสมัยกัน 28 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งที่มาที่ไปของเรื่องนี้ ต้องเล่าย้อนให้ฟังว่า หลังจากคสช. เข้าทำการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ตอนนั้น คสช.-ทหาร เขามีการตั้ง "ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์แห่งชาติ"ขึ้นมา โดยศูนย์ดังกล่าว ขึ้นกับกองทัพภาคที่ 1 มีคีย์แมนหลักคือพลเอกบุญธรรม โอริส

ทางศูนย์ปรองดองสมานฉันท์แห่งชาติ มีการประสานแกนนำเสื้อเหลือง -เสื้อแดงให้มีการมาพบปะพูดคุยกัน  อย่างผมเองกับแกนนำเสื้อแดง ก่อนหน้านั้น ไม่เคยมีความสนิทสนมพุดคุยอะไรกัน แต่ครั้งนั้นภายใต้การประสานงานของศูนย์ปรองดองฯ  แกนนำแนวร่วมเสื้อเหลืองเสื้อแดงก็มานั่งคุยกัน โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี2557ซึ่งกลุ่มเสื้อเหลือง-เสื้อแดง -กปปส. ที่มานั่งคุยกันในวงต่างๆ ผมว่าไม่ต่ำกว่าสามสิบครั้ง จนบางคนสนิทกันไปเลย บ้านแกนนำเสื้อแดง ผมไปมาไม่รู้กี่คนแล้วเพราะสนิทสนมกัน หลังได้ร่วมพูดคุยกันหลายครั้ง

และต่อมาในช่วงสภาปฏิรูปแห่งชาติหรือสปช. ที่เกิดขึ้นในยุคคสช. ก็มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ  ที่มีดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธานคณะกรรมการชุดดังกล่าว ได้ยกร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯ และเสนอแนวทางต่อรัฐบาลคสช.ในเวลานั้น แต่ก็ไม่ประสบผล ทั้งที่การทำงานของคณะกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง ฯ มีการเดินหน้าหลายอย่างเช่น มีการเดินทางไปเยี่ยม พูดคุยกับนักโทษคดีการเมืองทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดงที่อยู่ในคุก หรือมีการไปเยี่ยมแกนนำและแนวร่วมของเสื้อเหลืองเสื้อแดงบางคนที่ได้รับบาดเจ็บจนพิการถึงบ้านพัก จนมีการทำรายงานแนวทางสร้างความปรองดองออกมา แต่สุดท้าย ก็ไม่ได้มีการผลักดันออกมา เพราะรัฐบาลตอนนั้นไม่เห็นชอบ

ลำดับถัดมา ทาง"นพ.ระวี"ฉายภาพ”เส้นทางความพยายามสร้างความปรองดองสมานฉันท์”ในช่วงที่ผ่านมาของฝ่ายต่างๆ ต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ความพยายามขับเคลื่อนเพื่อพยายามสร้างความปรองดองสมานฉันท์ก็ยังมีออกมาอีก โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวที่สำคัญจาก พลเอกอกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหารรุ่น 12 กับพลเอกประยุทธ์ ที่เคลื่อนไหวเรื่องดังกล่าวในช่วงเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติในช่วงคสช. โดยพลเอกอกนิษฐ์ ได้มีการเคลื่อนไหวนัดแกนนำเสื้อแดง-เสื้อเหลืองมาคุยกันหลายครั้ง จนมีการยกร่างพรบ.นิรโทษกรรมขึ้นมา จะพบว่าทั้งสองครั้งที่ผมยกมาข้างต้น ทั้งสมัยดร.เอนก และพลเอกอกนิษฐ์ ต่างก็ทำแบบเดียวกับที่ผมเสนอคือไม่ให้เป็นร่างพรบ.ที่เป็นการ"นิรโทษกรรมสุดซอย"แต่สุดท้าย การขับเคลื่อนของพลเอกอกนิษฐ์ ก็ไม่ผ่าน ไม่ได้รับการผลักดันต่อ

...ต่อมาหลังเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 จบลง ผมเข้ามาเป็นส.ส. ตอนนั้นผมก็มีแนวคิดอยากเสนอร่างพรบ.นิรโทษกรรม เข้าสภาฯ เพราะเห็นว่าเป็นแนวทางหนึ่งในการลดความขัดแย้ง โดยตอนนั้นแกนนำม็อบสามนิ้ว ก็เพิ่งเริ่มเดินเครื่อง ผมก็คิดว่าอยากเสนอเลย เพราะไม่เห็นใครในสภา ฯจะยอมเสนอ แต่ปรากฏว่า ตอนนั้นผมเสนอไม่ได้ เพราะผมมีคดี จากที่เคยเป็นแกนนำ-แนวร่วมพันธมิตรฯ และกปปส. ตอนนั้นมีร่วมสิบกว่าคดี หากผมเสนอตั้งแต่ตอนปี 2562 คนก็จะบอกว่า ผลประโยชน์ทับซ้อน ทำให้ผมเสนอร่างพรบ.นิรโทษกรรมไม่ได้ แต่เราก็ยังมีการคุยกันอยู่เรื่อย ทั้งแกนนำเสื้อเหลือง-เสื้อแดง มีการนัดคุยกันเรื่อยๆ บ่อยครั้ง

...จนกระทั่งมาถึงปีนี้ 2565 คดีความต่างๆ ของจบผมเกือบหมดแล้ว ผมเหลือแค่คดีเล็กๆ แค่สองคดี เป็นคดีแพ่งหนึ่งคดี คดีอาญาหนึ่งคดี แต่ไม่ใช่คดีใหญ่ ซึ่งผมก็ไม่ห่วง ต่อให้นิรโทษกรรมแล้วยกเว้นผมสองคดีนี้ ก็ไม่เป็นไร เพราะเป็นคดีเล็ก ซึ่งคดีที่ค้างอยู่ มวลชนที่เคยร่วมเคลื่อนไหวด้วยกันกับผม โดนดำเนินคดีไปก่อนแล้ว ก็ยกฟ้องไปหมดแล้ว ซึ่งผมก็คงยกฟ้องอีก ผมก็เลยไม่ค่อยห่วง  ทั้งหมดทำให้ผมคิดว่าตอนนี้ได้เวลาที่จะต้องเสนอร่างพรบ.นิรโทษกรรมเข้าสภาฯ  เพราะสมัยประชุมสภาฯตอนนี้เป็นสมัยสุดท้าย จะปิดสมัยประชุม 28 ก.พ. 2566 ผมก็เลยต้องรีบเสนอ ส่วนที่หลายคนอาจตั้งคำถามว่า ที่ผมจะมาผลักดันให้สภาฯพิจารณาร่างพรบ.นิรโทษกรรมตอนนี้ จะทันหรือไม่ ก็อยากบอกว่าหากเสนอเข้าสภาแล้ว ฝ่ายรรัฐบาลเห็นชอบด้วย ก็ผลักดันให้เป็นเรื่องเร่งด่วนได้

ร่างพรบ.นิรโทษกรรมรอบใหม่

ทำไมครอบคลุมถึงแกนนำ

"หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่-นพ.ระวี ผู้ผลักดันให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมฯ"ในรอบนี้ กล่าวถึงเนื้อหาสำคัญของร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับนี้ โดยเล่าให้ฟังว่า ในการยกร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯ ผมก็ไปยกร่างโดยเอาโครงร่างพรบ.นิรโทษกรรมเดิมของพรรคเพื่อไทย ที่เคยเสนอเข้าสภาฯสมัยช่วงรัฐบาลเพื่อไทย ที่เป็นร่างพรบ.นิรโทษกรรม ที่เสนอเข้าสภาวาระแรก มันจะได้ง่ายขึ้น เวลาเสนอไป ก็ได้บอกว่าโครงร่างพรบ.ฉบับนี้มันคล้ายๆ กับของเพื่อไทยเดิม แต่ผมมาเปลี่ยนเนื้อหาหลักในร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯฉบับนี้ ไม่ให้เป็นนิรโทษกรรมสุดซอย แล้วก็เขียนให้สอดคล้องกับเนื้อหาของสถานการณ์ยุคนี้ เพราะของเพื่อไทยตอนที่เสนอเข้าสภาฯวาระแรกตอนนั้นมันเป็นช่วงปี  2556 ดังนั้น เราก็ต้องยกร่างปรับเนื้อหาในร่างพรบ.นิรโทษกรรมรอบนี้ ให้สอดคล้องกับยุคปัจจุบัน

...สำหรับ โดยเนื้อหาที่สำคัญของร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯ ที่ผมจะเสนอต่อสภาฯ หลักสำคัญคือ หนึ่ง จะให้นิรโทษกรรมเฉพาะคดีการเมือง ทั้งการชุมนุมทางการเมืองและการแสดงออกความคิดทางการเมือง เพราะบางคนแม้ว่าไม่ได้ไปชุมนุมแต่มีการแสดงออก ก็โดนความผิด ก็เสนอให้นิรโทษกรรมหมดทั้งสองเงื่อนไข

สอง  ในร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯฉบับนี้ จะชัดกว่าของร่างเพื่อไทยเดิมที่เสนอตอนปี 2556 คือ ให้นิรโทษกรรมทั้งแพ่งและอาญา เพราะว่าแกนนำทั้งฝ่ายเสื้อเหลืองพันธมิตร แกนนำเสื้อแดง จะพบว่า ก็โดนคดี ถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งเป็นพันล้าน ต้องนิรโทษทางแพ่งให้เขาด้วย

สาม ร่างดังกล่าวเสนอให้ นิรโทษกรรมทั้งแกนนำและประชาชน อันนี้สำคัญ โดยร่างฯของเพื่อไทยไม่ได้นิรโทษกรรมแกนนำ แต่ผมมองว่า อย่างสมัยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แกนนำเสื้อเหลือง ประกาศแนวทางการเคลื่อนไหวแบบอหิงสา ตอนพูดเราพูดได้ แต่ชุมนุมแล้วระเบิดลง เพื่อนเราที่ร่วมชุมนุมเสียชีวิต ถามว่าหากเป็นคุณจะยอมอหิงสาไหม ผมขอยกตัวอยางสมัยกปปส. ผมนำมวลชนไปที่หน่วยเลือกตั้งวัดศรีเอี่ยม แล้วทีมผมถูกแกนนำเสื้อแดง ที่ผมรู้หมดว่าเป็นใคร ยิงเข้าไปในรถปราศรัยของเรา ทำให้คุณสุทิน ธราทิน   แกนนำกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.)เสียชีวิต ในอ้อมอกของพวกเรา

ผมรู้สึกแค้นใจมาก เมื่อกลับมาที่ฐานการชุมนุม ผมก็คิดว่าผมที่เป็นอดีตสหายเก่า(เคยเข้าป่าหลัง6 ตุลาคม 2519 ) เราหาอาวุธได้ เราหาคนได้ ผมก็คิดว่าพรุ่งนี้จะไปล้างแค้นถึงบ้านคนที่ทำเพราะรู้ว่าใครทำ เพื่อนเราตายทั้งที่ไมได้ไปรบกับอีกฝ่าย เสียชีวิตและบาดเจ็บอีกสี่คน เราก็แค้นใจ แต่ที่สุดมติของแกนนำบอกว่าต้องชุมนุมแบบอหิงสา ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ใช้อาวุธตอบโต้ ไม่เช่นนั้นหากใช้ความรุนแรงตอบโต้จะเกิดสงครามกลางเมือง

ผมต้องกัดฟัน ต้องเรียกประชุมแล้วบอกเพื่อนเราว่าเราจะไม่แก้แค้นใดๆทั้งสิ้น นี้คือความสำคัญของการชุมนุมที่มีแกนนำ เพราะหากใจผม ตอนนั้นวันรุ่งขึ้นตื่นเช้ามาผมก็ไปถล่มคืนแล้ว แต่เพราะเรามีสติ เราก็บอกว่าขอให้อดทน นี้คือตัวอย่างว่าทำไมร่างพรบ.นิรโทษกรรม ให้นิรโทษกรรมแกนนำด้วย ซึ่งที่ต้องให้นิรโทษกรรมแกนนำ เพราะแกนนำเขามาต่อสู้ เขานำประชาชนมาเคลื่อนไหวต่อสู้ ให้ไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ให้มีแตกแถว ที่ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อเขาเอง แต่เขาต่อสู้เพื่อประเทศและส่วนรวม แล้วจะไม่ยกโทษให้เขาหรือ เขาต้องติดคุก แกนนำพันธมิตรติดคุก แกนนำนปช.ติคคุก แล้วดูม็อบคนรุ่นใหม่ ช่วงหลังเคลื่อนไหวแบบไม่มีแกนนำ ยุติการชุมนุมเสร็จ ก็มาฟัดกับตำรวจที่แยกดินแดง นี้คือม็อบที่ไม่มีแกนนำ ผมถึงเขียนไว้ในร่างให้นิรโทษกรรมหมด ทั้งแกนนำและประชาชน

....สมัยเพื่อไทยตอนเสนอร่างพรบ.นิรโทษกรรม วาระแรก ก็เสนอเข้ามา ก็อภิปรายกันไป พูดกันดี แต่พอเข้ากรรมาธิการวิสามัญฯและเอาร่างเข้าสภาวาระสองและวาระสาม สุดท้าย ออกมา กลายมาเป็นนิรโทษกรรมสุดซอย ดังนั้นต้องล็อกไว้ไม่ให้สุดซอย ผมจึงเขียนไว้ชัดเจนเลยว่า มีข้อยกเว้นสามเรื่องที่ไม่เข้าข่ายตามกฎหมายให้นิรโทษกรรมได้คือ

หนึ่ง “ไม่นิรโทษกรรมคดีทุจริตคอรัปชั่น” บางคนอาจบอกว่าที่เขาโดนคดีทุจริตเป็นเรื่องทางการเมืองเพราะมีการใช้อำนาจรัฐไปกดดันศาลทำให้ศาลตัดสินให้เขาผิด ซึ่งผมยืนยันว่าไม่ใช่ เพราะศาลยุติธรรมประเทศไทยมีความเที่ยงตรง เห็นไหม บางคดีทักษิณ ก็หลุดศาลยกฟ้อง บางคดีก็ผิด ศาลตัดสินโดยดูที่คดี เรื่องทุจริตจึงไม่สามารถให้นิรโทษกรรม ซึ่งหากไม่เขียนไว้แบบนี้ ประชาชนไม่เห็นด้วยแน่นอน เพราะแค่ขนาดเสนอมาตอนนี้ประชาชนที่เขายังไม่เข้าใจ ก็ไม่เห็นด้วยแล้ว ดังนั้นหากไม่ล็อกตรงนี้ไว้ จะเป็นปัญหา จะไม่มีใครเห็นด้วย รัฐบาลก็อาจไม่เอาด้วย

....สองคือ  “ไม่นิรโทษกรรมให้กับการทำความผิดคดีอาญาที่ร้ายแรง ที่มีโทษรุนแรง” ซึ่งประเด็นนี้ ผมเขียนไว้ในร่างพรบ.นิรโทษกรรมแบบกว้างๆ ไว้แบบนี้ แต่รายละเอียดจะเป็นอย่างไร สภาจะเป็นผู้ตัดสิน ถ้าร่างเข้าสภาฯ แต่เบื้องต้นที่คุยกัน คดีที่ร้ายแรงก็เช่น ม็อบไปยิงทหาร ยิงตำรวจ แบบนี้ถือว่ารุนแรง แบบนี้ไม่ยกเว้น เช่นเดียวกับ ตำรวจ ทหารไปยิงประชาชน ก็ไม่ยกเว้น ส่วนประเด็นเผาบ้านเผาเมือง ขอเล่าให้ฟังว่า ในช่วงที่มีการพูดคุยกันระหว่างแกนนำเสื้อเหลือง-เสื้อแดง ในช่วงที่มีศูนย์ปรองดองฯ เป็นตัวกลาง ฝ่ายเสื้อเหลือง ก็มีการพูดกันว่า คดีอาญาที่ร้ายแรงคือคดีเผาบ้านเผาเมือง ที่เป็นคดีที่มีโทษถึงประหารชีวิตได้จึงไม่ควรให้มีการนิรโทษกรรม ส่วนฝ่ายแกนนำเสื้อแดงก็บอกว่า ไม่ได้ -ตรงนี้ควรให้รวมอยู่ด้วยในการให้นิรโทษกรรมได้ด้วย  ก็ถกเถียงกัน จนในที่สุดฝ่ายเสื้อแดง ก็เล่าให้ฟังว่า พูดตรงๆ แกนนำเสื้อแดง ที่ชวนเผาบ้านเผาเมือง เขาไม่ได้เผา มันกระตุ้นโน้มน้าวคน แต่เขาเองไม่ได้ไปเผา คนที่เผาคือประชาชนตามจังหวัดต่างๆ พวกที่ทำ ก็ถูกดำเนินคดี ติดคุกไปหมดแล้ว บางคนก็หลุดออกจากคุกมาแล้ว แต่บางคนก็ยังโดนจำคุกอยู่

ดังนั้น ถึงตอนนี้แล้ว ก็ขึ้นอยู่กับสภาฯ แต่โดยส่วนตัวผมเห็นว่าเรื่องนี้ควรจะผ่อนผันให้ได้ แต่ก็อาจมีประชาชนจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับประเด็นนี้ แต่ผมคิดว่า ประชาชนที่ไปเผาบ้านเผาเมือง ถึงตอนนี้ เขาคงสำนึกได้พอสมควรแล้ว ติดคุกหัวโตมาแล้ว ก็น่าจะนิรโทษกรรมให้เขาได้ แต่อันนี้ ไม่ติดใจ หากสภาฯจะบอกว่า จะไม่ให้นิรโทษกรรมคดีเผาบ้านเผาเมือง โดยให้ถือว่าเป็นคดีอาญาที่ร้ายแรง ผมก็เลยยังไม่ได้เขียนละเอียดลงไป ก็ใช้วิธีเขียนกว้างๆ ไว้ก่อน เพื่อให้สภาฯตัดสินใจ

ส่วนคดีประเภทที่สาม ที่ไม่ให้นิรโทษกรรม คือ"คดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา112"เพราะผมถือว่าสถาบันฯอยู่เหนือการเมือง เพราะฉะนั้น คดี112 ไม่ใช่คดีการเมือง อันนี้จึงเสนอว่าไม่ให้นิรโทษกรรม ที่ดูแล้ว ก็คงไม่ได้รับความร่วมมือจากพรรคก้าวไกล หากร่างเสนอเข้าสภาฯ หรือพรรคก้าวไกล อาจใช้วิธีเขียนร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯของพรรคประกบแนบมาด้วย แต่ส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยกับการให้นิรโทษกรรมคดี 112 และคิดว่าพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค ก็ไม่เห็นด้วยกับเรื่องให้นิรโทษกรรม 112

ไม่นิรโทษคดี112

แต่116 ให้เข้าข่ายปลดคดี

"นพ.ระวี-ผู้เสนอแนวคิดการออกกฎหมายนิรโทษกรรมฯ"กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม จะพบว่า ม็อบคนรุ่นใหม่ โดนดำเนินคดี112 น้อย แต่พบว่าส่วนมากจะโดนคดีอาญาอื่น ที่ส่วนใหญ่พบว่าเป็นคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (มาตรา 116 บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดกระทําให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอัน มิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต (๑) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กําลังข่มขืนใจ หรือใช้กําลังประทุษร้าย (๒) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อ ความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ(๓) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินเจ็ดปี) โดยพบว่าโดนเอาผิดมาตรา 116 ถึงเกือบเก้าสิบเปอร์เซนต์ ผมก็เลยคิดว่า 116 ควรให้นิรโทษกรรมได้ เพราะไม่ใช่คดีจาบจ้วงสถาบันฯ

"ทั้งหมดคือสามเงื่อนไขที่เราคิดว่าควรเขียนไว้ในร่างพรบ.นิรโทษกรรม ให้ชัดเจนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแปรญัตติเป็นนิรโทษกรรมสุดซอยอีกครั้งหนึ่ง" 

ทาง"นพ.ระวี"กล่าวอีกว่า มีประเด็นหนึ่งที่ว่าหากพรรคเพื่อไทยต่อรองขอให้มีการนิรโทษกรรมคดีทุจริตคอรัปชั่นจะได้หรือไม่ผมคิดว่าเพื่อไทยอาจต่อรองมา แต่โดยส่วนตัวผม ไม่เห็นด้วยและคิดว่าพรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่น่าจะเห็นด้วย ซึ่งหากตกลงกันไม่ได้ ถ้าจะผ่านก็คือผ่านโดยเสียงส.ส.รัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภา แต่ส.ส.พรรคฝ่ายค้านอาจไม่เห็นด้วย ก็อาจเป็นไปได้ เพราะต้องเข้าใจว่า ฝ่ายแกนนำนปช.เสื้อแดงหลุดคดี แต่คนทุจริตจะไม่หลุดเพราะไม่นิรโทษให้แล้วคุณจะเลือกเอาอย่างไร หรือจะเอาทั้งหมด แบบนี้ก็อาจตกลงกันไม่ได้ เช่นเดียวกับพรรคก้าวไกล หากจะให้ร่างพรบ.นิรโทษกรรมครอบคลุมถึงการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 ด้วย ผมคิดว่าคงไม่ผ่าน พรรคร่วมรัฐบาลคงไม่ยอมผ่านให้ แต่ทั้งหมดก็ต้องไปสู้กันในสภาฯ แต่หากเขาผ่านให้ ก็ไม่เป็นไร ทางผมไม่ติดใจ แต่จุดยืนของผม คือไม่เห็นด้วยหากจะให้นิรโทษกรรมคดี 112 เพราะก้าวไกล เขาก็ต้องพิจารณาเหมือนกันว่า ม็อบสามนิ้ว ม็อบคนรุ่นใหม่ที่เชียร์อยู่ แต่พบว่าเก้าสิบกว่าเปอร์เซนต์ โดนคดี 116  ตรงนี้ร่างพรบ.นิรโทษกรรมให้ครอบคลุม ก็จะเหลือแต่คนที่ผิด 112 ต้องถามว่า จะเอาหรือไม่เอา เพราะคุณได้เก้าสิบเปอร์เซนต์แต่อีกสิบเปอร์เซนต์ ที่ทำผิด 112 ก็ต้องให้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม อันนี้ก็วิเคราะห์ท่าทีของสองพรรคหลักฝ่ายค้าน แต่สุดท้ายจะเป็นอย่างไร ก็ต้องสู้กันในสภาฯ

-กระบวนการผลักดันร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯเข้าสภาฯ หลังจากนี้ จะทำอย่างไรต่อไป?

หลังจากที่มีการเปิดเผยเนื้อหาในร่างพรบ.นิรโทษกรรมและการให้สัมภาษณ์กับสื่อตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา ผมก็ได้เริ่มปรึกษากับส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลก่อน โดยคุยกับส.ส.รัฐบาลทีละพรรค แล้วก็ฝากส่งร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯ ให้เขาพิจารณาและฝากให้ไปคุยในพรรคของเขา ถัดมา ก็พยายามคุยกับฝ่ายค้าน เช่นเพื่อไทย ก็ประสานทั้งกับหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและเลขาธิการพรรคเพื่อไทย แต่พอดีเขาติดภารกิจที่พรรคเพื่อไทย เลยยังไม่ได้คุยกันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ก็ได้มีการประสานกับแกนนำพรรคก้าวไกล แต่ก็ยังไม่ได้คุยกัน แต่ในส่วนของฝ่ายค้าน ก็มีการคุยกับบางพรรคไว้แล้วเช่น พรรคเพื่อชาติ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเนื้อหาในร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯ เขียนไว้ว่าให้นิรโทษกรรมทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา โดยคดีแพ่งที่ให้นิรโทษกรรม เป็นเฉพาะคดีแพ่งที่กระทำต่อรัฐ เช่นไปปิดอาคารของรัฐ แล้วถูกหน่วยงานรัฐฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย เช่น “สนามบิน”อย่างนี้ที่มีการเรียกค่าเสียหาย แบบนี้ยกให้ คือให้นิรโทษกรรม แต่หากเป็นคดีเอกชน จะไม่ให้นิรโทษกรรม เช่นที่แกนนำแดงมีการไปเผาอาคาร เผาห้างสรรพสินค้า ที่มีการฟ้องคดีกันอยู่ ก็ต้องไปตามนั้น และแกนนำที่ได้รับการนิรโทษกรรมทั้งหมดในร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯฉบับนี้ หลังจากได้รับการนิรโทษกรรมแล้ว ไม่มีสิทธิไปฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเอกชนหรือจากรัฐได้อีก เช่นมาอ้างว่า ต้องเข้าคุก ดังนั้น จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย แบบนี้ทำไม่ได้ เพราะถือว่าได้รับการนิรโทษกรรมแล้ว ก็ต้องจบกัน

ประเด็นต่อมา เมื่อมีเรื่องของแพ่ง เรื่องการเงินอยู่ด้วย โดยหลักการ การเสนอร่างพรบ.เกี่ยวกับการเงิน ฯ ต้องเสนอผ่านคณะรัฐมนตรี แล้วครม.จะเป็นฝ่ายเสนอร่างฯเข้ามายังสภาฯ จึงต้องรอดูว่า หลังจากประสานงานเสร็จ ได้คุยกับรัฐบาลชัดเจน ถ้าทางรัฐบาล ตัวนายกรัฐมนตรี เห็นด้วยที่จะเสนอร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯ แต่เมื่อเป็นพรบ.การเงินฯก็ต้องนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก่อน แล้วค่อยส่งร่างเข้ามา ดังนั้น ผมจึงไม่ได้ให้คนมาร่วมลงชื่อ ตอนนี้เป็นเพียงการทำดราฟต์ต้นร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯ ขึ้นมาเพื่อที่จะเคลื่อนไหว แต่สุดท้าย จะเป็นอย่างไรต้องดูกันต่อไป ถ้าต้องผ่านรัฐบาล ก็ต้องให้รัฐบาลเซ็นแล้วเสนอร่างเข้ามายังสภาฯ ไม่ใช่ส.ส.เสนอ

“นพ.ระวี”เปิดเผยว่า กระนั้น ก็มีบางคนเสนอว่า หากการผลักดันร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯ ถ้าต้องทำตามprocess ข้างต้น ต้องเสนอร่างฯให้สภาพิจารณา ตอนร่างเข้าไปวาระแรก ก็ประสานงานขอให้ร่างพรบ.นิรโทษกรรม มีการหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเป็นเรื่องด่วน ก็ถกกันใช้เวลาอาจสักหนึ่งวัน เพราะมีแค่ประมาณเจ็ดมาตรา แต่มาตราที่จะอภิปรายกันมากสุด ก็มีแค่ประมาณ 2-3 มาตราเท่านั้น ดูแล้วการพิจารณาวาระแรก วันเดียวก็สามารถพิจารณาได้แล้วเสร็จ จากนั้น หากสภาโหวตรับหลักการวาระแรก ทางสภาฯก็ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพรบ.ฯ แล้วพอกรรมาธิการพิจารณาเสร็จก็เสนอเข้ามาที่สภาฯให้พิจารณาในวาระสองและวาระสาม หากร่างผ่านสภาฯ ก็ต้องส่งไปที่วุฒิสภา ซึ่งหากวุฒิสภาให้ความเห็นชอบก็ถือว่าจบขั้นตอน แต่มีคนเสนอว่า เขาไม่มั่นใจจะเสร็จทันหรือไม่ ก็คุยกันว่า ควรทำเป็นร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับการปฏิรูปฯ แล้วเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภาระหว่างส.ส.กับสว. โดยหากที่ประชุมลงมติรับหลักการ ก็ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพรบ.ฯ ที่เป็นคณะกรรมาธิการร่วมรัฐสภา จากนั้นพอกรรมาธิการพิจารณาเสร็จ ก็เสนอร่างกลับมาให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาในวาระสองและวาระสาม คนก็ถามว่าทำแบบนี้อาจจะเร็วขึ้นหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องดูหลายปัจจัยเช่น หากเสนอเข้าไปยังรัฐสภา แล้วหากคุณชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาโดยบรรจุให้เป็นเรื่องด่วน เพื่อให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณา ถ้าแบบนี้กระบวนการอาจจะเร็วกว่า ตรงนี้ ผมคงต้องปรึกษาทางรัฐบาลและสมาชิกวุฒิสภาก่อน แต่สัปดาห์หน้านี้เป็นต้นไป ผมก็จะเริ่มเดินสายไปปรึกษาพูดคุยกับแกนนำกลุ่มต่างๆเช่น อดีตแกนนำเสื้อเหลือง อดีตแกนนำเสื้อแดงก่อน เพื่อจะบอกเขาว่า หลังจากนี้ จากที่เราเคยคุยกันไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง คราวนี้จะเสนอจริงแล้ว แต่จะผ่านสภาฯได้หรือไม่ ยังไม่รู้ ก็จะถามพวกเขาว่าเมื่อเสนอแล้ว จะมีความเห็นอย่างไร และจะให้ความร่วมมืออย่างไร จะปรับแก้เนื้อหาในร่างพรบ.นิรโทษกรรมตรงส่วนใดบ้างหรือไม่ พอคุยกับแกนนำเสื้อเหลือง เสื้อแดงเสร็จภายในวันพุธที่ 16 พ.ย.นี้เสร็จ ผมก็จะต้องไปเวิรค์กับฝ่ายรัฐบาลแล้ว

หากรัฐบาลเอาด้วยกับเรื่องนี้คือต้องการให้การเสนอร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯเสร็จทัน ก็ทำเป็นเรื่องด่วนได้ เช่นสมมุติยื่นร่างพรบ.นิรโทษกรรม เข้าสภาฯวันนี้ ก็ไปยื่นแล้วแจ้งท่านชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ แล้วสัปดาห์ถัดไปก็ประสานขอกับวิปรัฐบาล และวิปฝ่ายค้าน มาปรึกษากัน เพื่อขอให้สภาพิจารณาเป็นเรื่องด่วน พอร่างเข้าสภาฯ ก็ยกระเบียบวาระการพิจารณาเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาแล้วก็อภิปรายร่างพรบ.นิรโทษกรรมกันเลย ถกกันครึ่งวันก็เสร็จแล้ว หรืออย่างมากให้เวลาหนึ่งวันเลย หากผ่านวาระแรกขั้นรับหลักการ ก็ตั้งคณะกรรมาธิการ ซึ่งแต่ละคนก็จะเห็นแล้วว่าร่างพรบ.ฯดังกล่าวมีไม่กี่มาตรา ก็ช่วยกันพิจารณา ให้เสร็จภายในไม่เกิน 2-3 สัปดาห์ จากนั้น กรรมาธิการพอพิจารณาเสร็จ ก็ส่งกลับมาให้สภาฯพิจารณาต่อไปในวาระสอง พิจารณาเรียงรายมาตรา จากนั้นพอครบทุกมาตราที่คาดว่าใช้เวลาวันเดียวก็เสร็จ พอครบทุกมาตราแล้วก็โหวตวาระสามเลย ไม่ต้องมาพิจารณากันถึงตีสามตีสี่แบบครั้งก่อน หากรัฐบาลเห็นด้วยกับร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯ

ผมยกตัวอย่างให้ฟัง ตอนประชุมสภาฯสัปดาห์ที่แล้ว ผมมาที่รัฐสภา ก็ไปรอเซ็นชื่อเข้าประชุมสภาฯ ก็เจอคุณสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรมกับส.ส.พรรคภูมิใจไทยคนหนึ่ง ปรากฎว่า ส.ส.ภูมิใจไทย เข้ามาทักผม แล้วก็พูดขึ้นว่า “หมอระวี เสนอร่างพรบ.อะไรเข้ามา ผมไม่เห็นด้วย ไม่ผ่านสภาอยู่แล้ว”  ผมก็ถามเขากลับไปว่า ที่มาพูด แล้วได้อ่านร่างพรบ.ดังกล่าวหรือยัง คุณสมศักดิ์ เทพสุทิน ได้ยิน ก็พูดขึ้นมาว่า “ร่างพรบ.ดังกล่าวนี้ หมอระวี ผมเห็นด้วยนะ ผมจะช่วยผลักดัน” เห็นไหม คิดแตกต่างกันแล้ว

-ก่อนหน้าที่จะยกร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับดังกล่าว ได้มีการไปพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ อย่างไรบ้าง และส่วนใหญ่มีท่าทีอย่งไร เห็นด้วยหรือคัดค้าน?

เท่าที่ผมไปคุยมา มีทั้งแกนนำเสื้อเหลือง แกนนำเสื้อแดง พรรคร่วมรัฐบาล  รวมถึงส.ว. พบว่ายังไม่มีใครบอกว่า ไม่เห็นด้วยสักคนเลย แต่ฝ่ายค้านยังไม่ได้คุย แต่เขาคงเห็นด้วยในหลักการ แต่คงไม่เห็นด้วยกับข้อยกเว้น เพราะอย่างก้าวไกล ก็อยากให้คนรุ่นใหม่ได้รับการนิรโทษอยู่แล้ว แต่เขาต้องการให้ครอบคลุมถึง 112 ด้วยหรือไม่ อันนี้ต้องรอคุย แต่เป็นการคาดการณ์ว่าเขาคงอยากให้เรารวมไปถึง112 ด้วย ขณะที่กปปส. ก็เหมือนกับทุกส่วน แต่มีอยู่คนหนึ่งไม่เห็นด้วย เขาบอกไม่เอา คัดค้าน แต่คนอื่นเอาหมด

หากออกมาเป็นกฎหมาย

เซ็ตซีโร่คดีแกนนำและแนวร่วมทั้งหมด

-หากกฎหมายมีผลบังคับใช้ อดีตแกนนำหรือแนวร่วม ที่คดีความถูกศาลตัดสินไปแล้ว บางคนโดนตัดสิทธิการเมือง เช่นอดีตแกนนำกปปส. หรือแกนนำเสื้อแดง ที่โดนตัดสิทธิการเมือง หากสุดท้าย กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ถ้าผ่านมาได้แล้วประกาศใช้ คนเหล่านี้ที่โดนตัดสิทธิการเมือง สามารถลงเลือกตั้งได้เลยใช่หรือไม่?

ใช่ครับ ส่วนคนที่คดียังไม่ถึงศาล ก็ต้องยุติการสอบสวน คนที่คดีอยู่ที่อัยการ ทางอัยการก็ต้องยุติคดี ถอนคดีออกมา ส่วนคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมที่คดียังไม่ถึงที่สุด ศาลก็ต้องถอนคดีออกจากสารบบ ส่วนคดีที่ตัดสินจบไปแล้ว โดยมีการจำคุกหรือมีคำสั่งศาลให้ชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง ที่กำลังเจรจา กำลังยึดทรัพย์กันอยู่ ก็ต้องยุติกันหมด และเมื่อคดียุติไปแล้ว ก็ถือว่าเขาไม่เคยมีความผิด

ดังนั้นบรรดาอดีตรัฐมนตรี อดีตส.ส. ก็กลับคืนสภาพเดิม การเลือกตั้งรอบหน้า เขาก็ไปลงสมัครส.ส.ได้ ก็เป็นแบบเซ็ตซีโร่ ถือว่าเขาไม่ได้เคยกระทำความผิดมาก่อน

นพ.ระวี”ย้ำว่า หากกฎหมายนิรโทษกรรม สุดท้ายถ้ามีการประกาศใช้ สิ่งที่สังคมจะได้แน่นอน ผมยกตัวอย่างกรณีการออกการออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ตอนแรกก็บอกว่า ออกมาแล้วจะได้อะไร แต่ต่อมา ก็เห็นกันแล้วว่าได้อะไร สังคมสงบ สงครามกลางเมืองยุติเลย ไปดูแอฟริกาใต้ที่เขาฆ่ากัน ผิวสี แต่ตอนนี้เขาอยู่กันแบบสงบ เพราะมีการนิรโทษกรรม แต่ของเราคงไม่หวังผลไปถึงขั้นนั้น แต่ผมคิดว่าหากมีการนิรโทษกรรม แกนนำเสื้อเหลือง-เสื้อแดง –กปปส. ก็จะหลุดจากคดี น้องๆที่เป็นคนรุ่นใหม่ ก็จะหลุดจากคดี ทุกคนที่หลุดคดีเขาต้องคิด อย่างคนรุ่นใหม่เขาก็ต้องคิดว่าที่ผ่านมา ที่เคลื่อนไหวทำรุนแรงไปหรือไม่ ได้ยั้งคิดพอหรือไม่ สังคมควรอยู่ร่วมกันได้ภายใต้ความเห็นต่าง มันอาจทำให้ม็อบน้อยลง อะไรต่างๆน้อยลง ความรุนแรงน้อยลง -การbully ทางสังคมออนไลน์อาจลดน้อยลงสำหรับคนที่เห็นต่าง

“พอสังคมมันสุขสงบขึ้น เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง ความเจริญมันก็จะเริ่มพุ่งขึ้น สิ่งที่ทำ คือการทำเพื่อประเทศ”

และหากมองลึกลงไปอีก อย่างรัฐบาลสมัยหน้า หรือสมัยถัดๆไป แล้วเกิดมาเจอรัฐบาลที่ทุจริตคอรัปชั่นอย่างรุนแรง ผมถามว่าใครกล้าเป็นแกนนำ ผมเห็นมีอดีตผู้นำม็อบออกมาพูดว่าหากต่อไปมีแบบนี้มา ไม่เอาแล้ว เช่นมีข่าวว่าพรรคเพื่อไทย แล้วมาออกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอยให้คนแดนไกลกลับมาแบบเปิดเผย อย่างสง่างาม ประชาชนประท้วงแน่ แต่เขาบอกไม่ขอมาเป็นแกนนำแล้วเพราะเขาบาดเจ็บเสียหายมามาก เห็นไหม เพราะอะไร เพราะมาทำเพื่อบ้านเมืองแล้วมาถูกโทษ เพราะฝ่ายรัฐก็จะใช้กฎหมายต่างๆเช่น ออกกฎอัยการศึก ใช้พรก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ฯ ขยับซ้ายก็ผิด ขยับขาวก็ผิด เพราะฉะนั้น ถ้าออกกฎหมายนิรโทษกรรม ประชาชนส่วนหนึ่งบอก เมื่อคนที่ทำประโยชน์เพื่อบ้านเมืองจริงๆ ในที่สุด ก็มีโอกาสได้รับการนิรโทษกรรม ก็อาจทำให้มีคนกล้า กล้าสู้ เพราะไม่อย่างนั้น จะไม่มีใครกล้าสู้ อย่างผมเอง ก็หมดไปไม่รู้กี่ล้านบาท กับการสู้คดีความต่างๆ ที่เกิดจากการเคลื่อนไหว ต้องใช้จ่ายค่าทนายความ ค่าเดินทาง ค่าอะไรต่างๆ เยอะแยะไปหมด เราได้อะไร เราทำเพื่อบ้านเมือง แต่มันเสียหายยับเยิน

..สำหรับคนที่ไม่เห็นด้วยกับการผลักดันร่างพรบ.นิรโทษกรรม ก็ต้องมีเป็นเรื่องธรรมดา เพราะคงไม่ใช่ว่าจะมีคนเห็นด้วยทั้งหมด แต่คิดว่าคงไม่ถึงขั้นจะมีม็อบมาต่อต้านเรื่องนี้ เพราะอย่างในไลน์กลุ่มของพรรคพลังธรรมใหม่ ก็ยังมีคนเขียนข้อความไม่เห็นด้วย เพราะเขายังไม่เข้าใจ  บางคนบอกว่าจะมานิรโทษให้คนเผาบ้านเผาเมืองได้ยังไง   

“นพ.ระวี”สรุปตอนท้ายว่า การผลักดันเรื่องร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯ เรื่องนี้ ที่ผ่านมา แกนนำเสื้อเหลืองเสื้อแดงพยายามที่จะทำ แต่ว่าอำนาจรัฐยังไม่ยินยอม ยังกลัวประชาชนไม่เห็นด้วย ยังอะไรต่างๆ แต่สำหรับผมที่เป็นส.ส. ผมเห็นว่าผมมีสิทธิ์ที่จะเสนอเข้าสู่สภาฯ ถ้าเพื่อนส.ส.เห็นด้วย มาร่วมลงชื่อเสนอร่างพรบ.นิรโทษกรรม เราก็เสนอเข้าสภาได้ แล้วหากเสนอไปแล้ว หากสมาชิกจำนวนมากเห็นด้วยก็ผ่านกฎหมายออกมาเป็นมติของสภาฯ ก่อนหน้านี้ ผู้นำทางทหารที่ยึดอำนาจมา 13 ครั้ง ล้วนแล้วแต่นิรโทษให้ตัวเองหมด แต่ประชาชนไม่เคยมี นี้จะเป็นครั้งแรกที่จะมีการนิรโทษ ถ้าร่างพรบ.นิรโทษกรรมผ่านออกมาได้ ก็จะเป็นการนิรโทษกรรมคดีการเมืองต่อประชาชนเป็นครั้งแรก เพราะ คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เราไม่ได้เรียกว่านิรโทษกรรมชัดเจน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เหลียวหลังแลหน้า การเมืองไทย จาก 2567 สู่ 2568 ส่องจุดจบ ระบอบทักษิณภาค 2

รายการ"ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด"สัมภาษณ์ นักวิชาการ-นักการเมือง สองคน เพื่อมา"เหลียวหลังการเมืองไทยปี 2567 และแลไปข้างหน้า

วิปริตธรรม .. ในสังคม!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. เลียบบ้านแลเมือง มองดูเข้าไปในหมู่ชนของบ้านเรา.. ในยามที่นักการเมืองเป็นใหญ่ มีอำนาจวาสนาบริหารราชการแผ่นดิน จึงได้เห็นความไหลหลงวกวนของหมู่ชน ที่สาละวนอยู่กับการแสวงหา เพื่อให้ได้มาใน ลาภ สักการะ ยศ สรรเสริญ สุข.. ไม่เว้นแม้ในแวดวงนักบวชที่มุ่งแสวงหามากกว่าละวาง

ธุรกิจคาสิโนถูกกฎหมาย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักเกี่ยวพันผู้มีอำนาจทางการเมือง

เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานเผยแพร่ผลการศึกษาผลกระทบของคาสิโนถูกกฎหมายต่อการฆาตกรรมและการข่มขืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อภิสิทธิ์-อดีตนายกรัฐมนตรี มอง 'จุดเสี่ยง' รัฐบาลเพื่อไทย ระเบิดการเมือง วางไว้เองหลายลูก

แม้ขณะนี้จะไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองใดๆ แต่สำหรับ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์" การแสดงทัศนะหรือความคิดเห็นทางด้านการเมือง

ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..

รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ

เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก