การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 น่าจะทำให้ไทยถอดบทเรียนกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี.... เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพิงตลาดส่งออกในสัดส่วนที่สูงเกินไปในทุกเครื่องจักรไม่ว่าจะเป็น การลงทุน ส่งออก ท่องเที่ยว และแม้แต่ภาคเกษตรก็ตาม จำเป็นต้องกลับมาทบทวนใหม่ทั้งสิ้นเพื่อลดพึ่งพิงการส่งออกให้มีความสมดุลกับตลาดภายในเพื่อลดผลกระทบจากปัจจัยภายนอก
ดังนั้นความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจไทยจึงควรมาจากภายในก่อนและแน่นอนว่า “ภาคเกษตรกรรม” ที่มีระบบแรงงานสูงสุดของประเทศจำนวนราว 13 ล้านคนเป็นกำลังแรงซื้อที่สำคัญสำหรับการบริโภคภายในประเทศแล้วยังเป็นฐานการผลิตที่สามารถส่งออกวัตถุดิบภาคเกษตรโดยตรงและต่อยอดไปสู่เกษตรแปรรูปเพื่อการขับเคลื่อนการส่งออกของไทยให้เข้มแข็งได้อีกด้วย
แม้ว่าสังคมไทยจะตระหนักให้คุณค่าว่า เกษตรกรคือกระดูกสันหลังของชาติ และไทยมีต้นแบบจากสังคมเกษตร แต่การพัฒนาประเทศตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากลับยังคงไม่สามารถยกระดับความเป็นอยู่ของ เกษตรกร ให้มีความกินดีอยู่ดี มิหนำซ้ำปัจจุบันยังมีหนี้ในระบบในอัตราที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับการพัฒนาประเทศที่จะก้าวไปสู่ยุค 4.0 หากเกษตรกรที่เป็นรากฐานของเศรษฐกิจยังไม่อาจประกอบอาชีพหลักที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ เศรษฐกิจฐานรากก็ย่อมไม่อาจเติบโตได้อย่างยั่งยืนเช่นกัน
วันนี้ไทยกำลังถอยหลังเข้าสู่โหมดเลือกตั้งเราจึงต้องติดตามนโยบายเพื่อเกษตรกรให้มาก....เพราะเชื่อว่าจากนี้แต่ละพรรคน่าจะทยอยออกมา....แต่สำหรับผู้เขียนได้ติดตามกูรูหลายคนที่มีมุมมองการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยหนึ่งในนั้นที่ต้องคอยส่อง Facebook หรือข่าวสาร คือ “ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน”ที่จะเขียนมุมมองและข้อเสนอแนะดีๆ ออกมาต่อเนื่อง
โดยเฉพาะการดูแลเศรษฐกิจฐานรากซึ่งก่อนหน้าได้ย้ำให้เห็นถึงปัญหาตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)หรือหนี้เสียในระบบของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)ที่จ่อหัวว่า” ความไม่ยุติธรรมในภาคเกษตร”โดยระบุว่า หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 3.7% ในปี 2563 เป็น 6.63% ในปี 2564 ซึ่งถ้าย้อนไปดูคำชี้แจงของผู้บริหารเมื่อสิ้นปีบัญชี 2564 ก็ระบุว่าในปีบัญชี 2565 ได้ตั้งเป้าหมายที่จะบริหารจัดการให้หนี้เสียปรับลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 4.5% ของสินเชื่อรวม แต่เพียงแค่ครึ่งปีแรกของปี 2565 หนี้เสียต่อสินเชื่อรวมพุ่งไปอยู่ที่ระดับ 12.5% และผู้บริหารธนาคารยังคาดว่าสิ้นปีบัญชี 2565 (31 มีนาคม 2566) สัดส่วนหนี้เสียจะลดลงอยู่ที่ประมาณ 7% ไม่ใช่ 4.5% อย่างที่ตั้งเป้าไว้แต่เดิมแล้ว
เมื่อดูตัวเลขสินเชื่อสะสมของเกษตรกรเฉพาะที่ธ.ก.ส. สูงถึง 1.6 ล้านล้านบาทแล้ว เราก็จะต้องเห็นนโยบายหาเสียง “พักหนี้เกษตรกร” ทุกรอบที่มีการเลือกตั้ง โดยท่านย้ำว่านี่ไม่ใช่วิธีแก้ไขแบบยั่งยืนโดยเสนอ การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างเอกชนกับเกษตรกร เรียกว่า บริษัทผู้ผลิตร่วม ลงทุนร่วมกัน ฝ่ายหนึ่งลงเงินทุน อีกฝ่ายหนึ่งลงแรง รับความเสี่ยงร่วมกัน กำไรแบ่งกัน ขาดทุนก็รับผิดชอบร่วมกัน จะทำเกษตรอัจฉริยะ จะเพิ่มผลผลิตต่อไร่ จะลดต้นทุน จึงจะขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม และแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรไทยได้อย่างยั่งยืน
ล่าสุดท่านยังตอกย้ำว่าเศรษฐกิจฐานรากคือความมั่นคงของชาติ โดยชี้ให้เห็นว่าผลกระทบโควิด-19 ทำให้รายได้สําคัญของประเทศลดลง ผู้ประกอบการรายย่อยขาดเงินทุน และประชาชนขาดกําลังซื้อ เศรษฐกิจฐานรากจึงสั่นคลอน หนทางฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยจึงต้อง “สร้างและซ่อมเศรษฐกิจฐานราก” ที่ท้องถิ่นและชุมชน ควบคู่ไปกับการสนับสนุนเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมที่เอื้อต่อการเพิ่ม “มูลค่าและคุณค่า” ให้กับเศรษฐกิจฐานราก เช่น การแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่า อุตสาหกรรมอาหารและเศรษฐกิจบนฐานชีวภาพภายใต้ BCG โมเดล (Bio,Circular,Green Economy) รวมทั้งการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่เน้นคุณภาพแทนปริมาณ
การสร้างและซ่อมเศรษฐกิจฐานราก ต้องดำเนินการด้วยการ “เติมทุน เติมทักษะ เติมรายได้” ต้องเติมทั้งสามอย่าง จึงจะเกิดผลสัมฤทธิ์ที่ยั่งยืน เติมทุนอย่างเดียว ไม่ว่าจะดำเนินการผ่านธนาคารของรัฐหรือกองทุนหมู่บ้าน แต่ไม่เติมทักษะใหม่ ก็ไม่สามารถเติมรายได้ให้ผู้ประกอบการในเศรษฐกิจฐานรากได้
ขณะเดียวกัน ต้องเพิ่มกำลังซื้อที่ระดับท้องถิ่นและชุมชน ด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพ ซึ่งส่วนมากจะเป็นอาชีพอิสระ ที่รัฐสามารถเข้าไปดูและสวัสดิการของผู้ประกอบอาชีพอิสระกลุ่มต่างๆ รวมไปถึงสวัสดิการสำหรับกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้เขาเหล่านี้มีกำลังซื้อเพียงพอสำหรับสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐาน ดังนั้นสร้างบ้านต้องเริ่มที่ฐานราก เศรษฐกิจฐานราก คือ ความมั่นคงของเศรษฐกิจไทย…..นับเป็นมุมมองที่ดีและจะดียิ่งกว่าหากนำไปสู่ภาคการปฏิบัติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ขบวนการแพทย์ชนบท กับรางวัลแมกไซไซ ปี 2024 ทิศทางพัฒนาระบบสุขภาพไทย
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คือวันเสาร์ที่ 16 พ.ย. คณะผู้แทน”ขบวนการแพทย์ชนบท” ได้เดินทางไปรับรางวัลแมกไซไซ ประจำปี 2024
อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้
“รมว.นฤมล”นำถก อนุฯ นบข.ด้านการผลิต มีมติยกเลิกโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง เปลี่ยนเป็นช่วยชาวนาไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิตครั้งที่ 1/2567
’ห้าพันตารางกิโลเมตร‘ เท่ากับกี่ตารางนิ้ว ? เงื่อนตายของ MOU 2544 ?
MOU 2544 ไม่ใช่กรอบการเจรจาเพื่อหาข้อตกลง ”แบ่งผลประโยชน์(ปิโตรเลียม)“ เท่านั้น แต่หาข้อตกลง “แบ่งเขตแดน(ทะเล)“ ด้วย !
คำนูณ ผ่าปม 2 ได้ 3 เสีย ถ้าไม่ยกเลิก MOU 2544
ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เชื่อมโยงถึงเกาะกูด, การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ยั
'แก้วสรร' แพร่บทความ 'นิติสงคราม' คืออะไร?
นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ออกบทความเรื่อง “นิติสงคราม” คืออะไร???