แม่น้ำชีกับการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดของรัฐ

แม้จะผ่านพ้นฤดูฝนกำลังย่างเข้าฤดูหนาววิถีชีวิตของชาวบ้านลุ่มน้ำชี จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร ยังต้องยืนแช่น้ำเกี่ยวข้าวที่ถูกน้ำท่วมเมื่อช่วงต้นตุลาคมที่ผ่านมา ความทุกข์ของคนลุ่มน้ำชีไม่ได้ขึ้นกับฤดูกาลกำหนดเหมือนอดีตที่ผ่านมา แต่กลับถูกกำหนดโดยการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดของรัฐตั้งแต่มีโครงการสร้างเขื่อนในแม่น้ำชีภายใต้โครงการโขง ชี มูล

แม่น้ำชี มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ บริเวณเขาพังเหยและเทือกเขาภูพาน ไหลผ่านสภาพภูมิประเทศทั้งภูเขาสูง ที่ราบลุ่มสลับกับโคกเนิน ตั้งแต่จังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ยโสธร ก่อนจะไหลมาบรรจบกับแม่น้ำมูล และไหลลงสู่แม่น้ำโขง รวมแล้วมีความยาวทั้งสิ้น 765 กิโลเมตร

ลุ่มน้ำชีตอนล่างในพื้นที่เขต จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีสภาพทางภูมิศาสตร์กายภาพที่หลากหลาย โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าทาม ซึ่งมีลักษณะเป็นพื้นที่ชุมน้ำ จะเกิดน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากเป็นสภาวะปกติ สำหรับชุมชนลุ่มน้ำชีในอดีตนั้น “ภาวะน้ำท่วม” ถือว่าเป็นปกติวิสัยและเป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะลักษณะการท่วมขังของน้ำไม่ยาวนาน

และน้ำท่วมในอดีตยังหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งคนในชุมชนเรียนรู้ที่จะปรับวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ ลำน้ำชีมีความสำคัญต่อวิถีการผลิตของชุมชน โดยพื้นที่ริมชี กุด ห้วย หนองน้ำต่างๆ ในบริเวณระบบนิเวศลุ่มน้ำชีสามารถใช้เป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ เป็นแหล่งอาหารและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำชีมาอย่างยาวนาน

ต่อมาภาครัฐได้เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการพัฒนาภาคอีสาน ผ่านนโยบายการพัฒนาลักษณะต่างๆ ผลพวงดังกล่าวได้ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตของชาวบ้าน จากการผลิตเพื่อยังชีพ เป็นการผลิตเพื่อค้าขาย และพัฒนาสู่ระบบการผลิตเพื่อการส่งออก

ปรากฏการณ์นี้เองส่งผลให้เกิดการขยายตัวของระบบชลประทานสมัยใหม่ เช่น เขื่อนขนาดใหญ่ ระบบคลองส่งน้ำ การเปลี่ยนจากระบบชลประทานเหมืองฝายแบบดั้งเดิม เป็นชลประทานเขื่อนคอนกรีตขนาดใหญ่ ทำให้รัฐบาลต้องทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อพัฒนาโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ ให้ตอบสนองความเจริญของเศรษฐกิจประเทศ

โครงการโขง-ชี-มูล เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ของภาครัฐ ที่ได้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำชี 6 เขื่อน ภายใต้การบริหารจัดการของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกอบด้วย เขื่อนชนบท เขื่อนคุยเชือก เขื่อนวังยาง เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย ซึ่งปัจจุบันได้ถ่ายโอนภารกิจการบริหารจัดการอยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งพบว่าเมื่อครั้งเริ่มดำเนินโครงการในระยะแรก

ชาวบ้านได้รับข้อมูลการก่อสร้างว่า เป็นการสร้างฝายยางในลุ่มน้ำชี แต่เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2543 ผลการก่อสร้างกลับกลายเป็นเขื่อนคอนกรีตขนาดใหญ่ มีประตูระบายน้ำเปิด-ปิดทุกเขื่อน โดยไม่ได้มีสภาพเป็นฝายยางน้ำล้นอย่างที่ชาวบ้านได้จินตนาการไว้

ปัญหาสำคัญภายหลังการก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำชีแล้วเสร็จคือ สภาพปัญหาน้ำท่วมขังอย่างยาวนานในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนล่าง โดยเฉพาะในพื้นที่การเกษตรไร่นา พื้นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนพื้นที่ป่าทาม ผลจากการท่วมขังยาวนานต่อเนื่อง ได้ส่งผลกระทบกับวิถีชีวิต และระบบนิเวศลุ่มน้ำชี จนเกิดความเสียหาย

ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อน การตัดสินใจในการพัฒนาโครงการโดยไม่ได้ศึกษาถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศ วิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของชุมชน จึงเป็นการทำลายภูมิปัญญาและองค์ความรู้ในการจัดการน้ำแบบดั้งเดิมของคนในพื้นที่ไป ทั้งยังส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาอย่างต่อเนื่อง            ปรากฏการณ์น้ำท่วมพื้นที่จังหวัดชัยภูมิช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมานั้น หลายคนเห็นภาพตามสื่อต่างๆ ต้องถือว่าหนักถึงหนักมาก เพราะได้รับอิทธิพลจากพายุทำให้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ทั้งที่ไม่มีสัญญาณเตือนจากอะไรเลย จังหวัดชัยภูมิถือว่าเป็นอีกพื้นที่ของต้นน้ำสายหลักของแม่น้ำชี ซึ่งมีต้นกำเนิดมาและมีลำน้ำสำคัญอีกหลายสาย เช่น ลำคันฉู ลำปะทาว ลำน้ำพรม ลำน้ำเชิญ เป็นต้น ที่คอยหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของชุมชน สิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศ

สถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้แบ่งน้ำออกเป็น 2 สาย สายที่ 1 น้ำท่วมจากพื้นที่ตัวจังหวัดชัยภูมินั้น จะไหลลงแม่น้ำชีโดยตรง ในขณะที่ในแม่น้ำชีมีเขื่อนกั้นแม่น้ำทั้งหมด 6 ตัว ภายใต้โครงการโขง ชี มูล เดิม ได้แก่ เขื่อนชนบท เขื่อนมหาสารคาม เขื่อนวังยาง เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย    

ส่วนสายที่ 2 เป็นลำน้ำสาขาที่สำคัญของแม่น้ำที่มีเขื่อนขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อนจุฬาภรณ์ไหลลงลำน้ำพรมก่อนบรรจบกับลำน้ำเชิญแล้วไหลลงเขื่อนอุบลรัตน์ และถ้าเขื่อนอุบลรัตน์ระบายน้ำก็จะไหลลงลำน้ำพองก่อนไหลลงแม่น้ำชี และสุดท้ายคือเขื่อนลำปาวที่ไหลลงแม่น้ำชีก่อนถึงเขื่อนร้อยเอ็ด

ในขณะที่คนกลางน้ำ คนท้ายน้ำชี ก็วิตกกังวลกับสถานการณ์น้ำท่วมของต้นน้ำชีในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิทั้ง 2 สายน้ำที่กำลังค่อยๆ ไหลหลากลงมา ว่าปริมาณน้ำจะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ในแต่ละวัน น้ำจะมาถึงบ้านเราเมื่อไหร่ น้ำจะท่วมพื้นที่การเกษตรหรือไม่ เพราะลงทุนไปมากแล้ว แล้วเราจะต้องเตรียมรับมือหรือไม่อย่างไร เขื่อนไหนจะปล่อยน้ำมาบ้าง เขื่อนมีกี่ตัว ปริมาณน้ำในเขื่อนมีเท่าไหร่ เพราะหน่วยงานรัฐไม่มีการประชาสัมพันธ์ที่ทั่วถึงและไม่เปิดเผยข้อมูลให้ชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ได้รับรู้ ทำให้ชาวบ้านต้องแสวงหาข้อมูลเอาเอง วิเคราะห์ระดับน้ำในแต่ละวันเอาเองผ่านประสบการณ์

ผ่านมาถึงวันนี้ปริมาณน้ำได้ไหลเอ่อเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านลุ่มน้ำชี จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร ทั้งๆ ที่ฝนตกตามฤดูกาลปกติ แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ น้ำได้ท่วมต้นข้าวที่กำลังตั้งท้อง กำลังออกรวง บางพื้นที่ข้าวกำลังสุก ยังไม่พร้อมที่จะเก็บเกี่ยว แต่ต้องเร่งเกี่ยวข้าวเพื่อหนีน้ำท่วม บางพื้นที่เก็บเกี่ยวไม่ทัน เพราะน้ำได้เอ่อท่วมข้าวแล้ว

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่ว่าพึ่งเคยเกิดขึ้น แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วหลังจากมีการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร ลุ่มน้ำชี สิ่งที่เป็นต้นเหตุของปัญหาคือ 1.เขื่อน ที่ถูกสร้างกีดขวางทางน้ำ ทำให้น้ำไหลไม่ปกติ 2.โครงสร้างของเขื่อน พอมีการสร้างเขื่อนก็จะปิดทางน้ำเดิมเพื่อเปิดเส้นทางเดินน้ำใหม่ ประกอบกับการสร้างพนังกั้นน้ำเพื่อบังคับน้ำให้ไหลไปในทิศทางเดียว จึงทำให้หลายพื้นที่ต้องเผชิญกับพนังกั้นน้ำถูกกัดเซาะขาด ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร

3.การบริหารจัดการน้ำแบบรวมศูนย์โดยรัฐ เมื่ออำนาจการบริหารจัดการน้ำถูกรัฐควบคุม จึงทำให้การบริหารจัดการน้ำไม่ได้สัมพันธ์กับระบบนิเวศและธรรมชาติที่ควรจะเป็น ซึ่งต้องเข้าใจว่าโดยธรรมชาติของแม่น้ำชีจะทำหน้าที่โดยการพร่องน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก แต่พอมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำชี ทำให้หน้าที่ตามธรรมชาติของแม่น้ำชีต้องถูกควบคุมโดยรัฐ ทั้งๆ ที่ผ่านมาถ้าการบริหารจัดการน้ำเมื่อรู้ว่าเข้าสู่ฤดูฝนหรือทราบว่าพายุจะเข้า รัฐที่ควบคุมเขื่อนแต่ละตัวจะต้องรีบพร่องน้ำต้นทุนออกจากเขื่อน เพื่อเตรียมรองรับน้ำใหม่ที่กำลังหลากมา จะเป็นการลดความเสี่ยงน้ำท่วมของพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านลุ่มน้ำชี

ฉะนั้นแล้วถ้าการบริหารจัดการน้ำรัฐยังรวมศูนย์ ก็เท่ากับว่าพื้นที่การเกษตรยังมีความเสี่ยง เขื่อนจะไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหา แต่กลับเพิ่มปัญหาให้กับชาวบ้าน ซึ่งทางออกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวคือ 1.รัฐจะต้องบริหารจัดการน้ำให้มีความสัมพันธ์กับนิเวศและฤดูกาล 2.รัฐจะต้องทบทวนบทเรียนการจัดการน้ำที่ผ่านมาว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่ 3.รัฐจะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาเก่าที่ชาวบ้านเรียกร้องให้แล้วเสร็จ 4.รัฐจะต้องยุติโครงการขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวบ้านและระบบนิเวศ โดยเฉพาะโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล 5.รัฐควรศึกษาร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ นักวิชาการ และนักพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อหารูปแบบการจัดการน้ำที่เหมาะกับชาวบ้านในพื้นที่เข้าถึงและจัดการได้จริงตามสภาพภูมินิเวศนั้นๆ.

สิริศักดิ์ สะดวก

ศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ร่องรอยธรรม .. จากโครงการร้อยใจธรรม .. ร้อยอำเภอฯ ณ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. เมื่อ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา ได้ปฏิบัติกิจใน “โครงการร้อยใจธรรม .. ร้อยอำเภอ “สืบสานราชธรรม”” ในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบฯ

เทวฤทธิ์ -กลุ่มสว.พันธุ์ใหม่ เสรีนิยมก้าวหน้า ปฏิรูปสภาสูง

สมาชิกวุฒิสภา(สว.)ชุดปัจจุบัน 200 คน จะประชุมร่วมกันนัดแรกในวันอังคารนี้ 23 ก.ค. โดยมีระเบียบวาระสำคัญที่จะให้สว.ทั้งหมดร่วมกันประชุมลงมติ นั่นก็คือ

“ศาสนกิจในอินเดีย .. ณ นครปูเน่” น้อมถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๗๒ พรรษา ๒๘ ก.ค.๖๗ ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ระหว่างวันที่ ๑๒-๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ได้เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจที่ นครปูเน่ รัฐมหาราษฏระ อินเดีย เพื่อติดตามความก้าวหน้าของการสร้างวัดแห่งแรกของชาวพุทธในอินเดีย

อังคณา สว. 2567 ภารกิจ-สิ่งท้าทาย สภาสูง กับโมเดลข้อเสนอ สภาเดี่ยว

การทำงานของสมาชิกวุฒิสภาชุดล่าสุด ที่เรียกกันว่า "สว. 2567" กำลังจะเริ่มต้นขึ้นหลังจากนี้ คาดหมายกันว่า การนัดประชุมวุฒิสภาเพื่อเลือก

บทธรรมถวายเป็นพระราชกุศล .. ในมหามงคลครบ ๖ รอบ “ราชธรรม .. สู่การเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย” (ตอนที่ ๗)

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. พระพุทธเจ้าได้ตรัส หลักการปกครองตามแบบธัมมิกสูตร ว่า..

ดร.มานะ-ว่าที่ สว. 2567 ความเป็นอิสระไม่มีอยู่จริง เรื่องใบสั่งก็คงมีบ้าง ไม่มีบ้าง

หนึ่งในผู้ผ่านการคัดเลือก 200 รายชื่อให้เตรียมเข้าไปทำหน้าที่ "สมาชิกวุฒิสภา" (สว.) ชุดใหม่ ที่น่าสนใจ ก็คือ "ดร.มานะ มหาสุวีระชัย อดีต สส.ศรีษะเกษ" ที่เคยสังกัดพรรคพลังธรรมและพรรคประชาธิปัตย์ตามลำดับ