เช็กความพร้อม จัดประชุม APEC 2022 Thailand Open. Connect. Balance

นับถอยหลังเหลืออีกไม่กี่วันแล้ว ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปก หรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific  Economic Cooperation: APEC) ในช่วงระหว่างวันที่  18-19 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้

สำหรับ APEC เป็นเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 โดยมีเป้าหมายหลักคือการส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน รวมถึงความร่วมมือในด้านมิติสังคมและการพัฒนาด้านอื่นๆ  อาทิ ความร่วมมือด้านการเกษตร การส่งเสริมบทบาทสตรีในเศรษฐกิจ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการพัฒนาด้านสาธารณสุข เพื่อนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ยั่งยืน และความมั่งคั่งของประชาชนในภูมิภาค

ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://www.apec2022.go.th/ ให้ข้อมูลไว้ว่า ปัจจุบันเอเปกมีสมาชิกจำนวน 21 เขตเศรษฐกิจ ประกอบด้วยมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก  เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น แคนาดา เกาหลีใต้ และรัสเซีย โดยไทยเป็นหนึ่งใน 12 เขตเศรษฐกิจผู้ร่วมก่อตั้ง ทั้งนี้ เอเปกมีประชากรรวมกว่า 2,900 ล้านคน หรือประมาณ  1 ใน 3 ของโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) รวมกันกว่า  53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,700 ล้านล้านบาท เกินครึ่งของ GDP โลก และมีมูลค่าการค้ารวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลก

ธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปกที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ว่า ไทยเตรียมการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกมาตั้งแต่ปี 2563 โดยในช่วงต้น กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวง กรมอื่นๆ มีการระดมความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ รวมถึงภาคเอกชน เกี่ยวกับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมของประเทศไทย มีการจัดประชุมในกลุ่มต่างๆ และภาคเอกชนถึงธีมหลัก หัวข้อหลักในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกของประเทศไทย ที่ก็คือ  Open. Connect. Balance. หรือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” ที่ก็ไม่ใช่ความคิดของกระทรวงการต่างประเทศทั้งหมด แต่เป็นข้อเสนอของ stakeholder หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่นจากภาคเอกชน  ภาคประชาสังคม ส่วนราชการ ก็มีการประชุม ค่อยๆ มีการพูดคุยกันมาตลอด หลังจากนั้นก็ได้มีการเตรียมการและเสนอรัฐบาลรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในส่วนของสารัตถะ เนื้อหาและนโยบายเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

อีกส่วนที่สำคัญคือการประสานงาน หารือกับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมจัดการประชุม การจัดเตรียมงบประมาณในการจัดประชุม โดยได้มีการหารือพูดคุยกันต่อเนื่องมาตลอด โดยเฉพาะในช่วงปี 2565 ที่มีการเตรียมการพูดคุยเรื่องการเตรียมจัดประชุมเอเปกมาตลอดทั้งปี 2565 จนมีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอย่างไม่เป็นทางการ หรือ APEC ISOM ที่เดิมทีต้องการให้เป็นการประชุมแบบกายภาพตั้งแต่ต้น แต่ก็ต้องมาจัดประชุมแบบออนไลน์แทน หลังจากนั้นก็มีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปกอีกสองครั้ง ในการนำปฏิญญาต่างๆ มาปฏิบัติจากสมัยการประชุมเอเปกก่อนหน้านี้ที่มาเลเซียและนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพ ที่มีการให้ความสำคัญกับหลายเรื่อง

ขณะที่ด้านการประชาสัมพันธ์ก็มีการเตรียมการต่อเนื่อง เช่นการประกวดสัญลักษณ์ที่ใช้ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ที่ก็ได้สัญลักษณ์คือ ชะลอม ที่สื่อถึงการเป็นเครื่องหมายการค้า การเดินทาง ภูมิปัญญาไทยและความยั่งยืน (sustainable) ที่สัญลักษณ์ดังกล่าวตอบโจทย์เราทั้งหมด ตามธีมหลักการประชุม Open. Connect. ที่เน้นเรื่องการเปิดกว้างส่งเสริมการค้าการลงทุน การเดินทางอย่างปลอดภัย การกลับมาของการไปมาหาสู่กันอีกครั้งหนึ่ง หลังจากผ่านช่วงโควิดกันมา เพราะเป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งของเราคือจะพยายามป้องกันไม่ให้ หากเกิดโควิดระบาดหรือมีโรคระบาดอื่นๆ หรือเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้อีก เราจะพยายามไม่ให้เขตเศรษฐกิจต่างๆ กลับมาล็อกดาวน์อีกครั้งหนึ่ง เป็นการทำงานเชิงรุก

โดยในเรื่องความเป็นอยู่ของสังคมและธุรกิจ ตลอดจนกระบวนการผลิตต่างๆ ของภาคเศรษฐกิจใน 21 เขตเศรษฐกิจก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ จะต้องเป็นไปอย่างมีสมดุล balance เพราะอย่างปัจจุบันหลายคนคงเห็นแล้วว่า เกิดสภาพไม่สมดุลในเรื่องของ สภาพสิ่งแวดล้อม เรื่องของก๊าซเรือนกระจกที่เราปล่อยออกไป แล้วไปอยู่ในอากาศ ดังนั้นต้องทำให้มีการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล การทำธุรกิจกันอย่างมีสมดุลก็เป็นธีมหลัก เราก็ปรับนำมาใช้จาก  "BCG" Bio-Circular-Green Economy เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว ที่เป็นนโยบาย เป็นวาระแห่งชาติของประเทศไทย ก็นำมาเป็นหัวข้อสำคัญในการคุยกันในกรอบการประชุมเอเปกทั้งหลาย ที่พบว่าทุกเขตเศรษฐกิจต่างเห็นด้วยและให้การตอบรับเป็นอย่างดี  และบางเขตเศรษฐกิจก็ก้าวหน้าไปกว่าไทย เพราะหากไปดูในชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเรา ไปดูในตลาดต่างๆ ของประเทศไทย หากถามว่าเรายั่งยืนกันจริงหรือไม่ ผมยังมองว่าไทยเราต้องทำอีกเยอะ

อย่างที่กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ตอนผมเข้ามา ผมก็บอกกับเจ้าหน้าที่เช่น ลดการใช้กระดาษให้น้อยลง หากไม่จำเป็นก็ไม่ต้องปรินต์กระดาษออกมา รวมถึงการเน้นให้ใช้วัสดุหมุนเวียนต่างๆ ซึ่งเรื่องแบบนี้ควรอยู่ในสังคมของเรา ควรอยู่ในชีวิตจิตใจของเรา เพื่อพยายามลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้ลดลงไปให้ได้มากที่สุด ซึ่งไม่ใช่แค่หน่วยงานต่างๆ เท่านั้น แต่ในภาคครัวเรือนก็ควรให้ความสำคัญด้วย อย่างหากไปดูในตลาดสดบ้านเรา ก็พบว่ายังมีการใช้พลาสติกกันเยอะอยู่ ที่โดยส่วนตัวผมก็คาดหวังอยากให้สังคมเราและสังคมเขตเศรษฐกิจต่างๆ มีความตื่นตัวในการทำเรื่องนี้ ลดการปล่อยคาร์บอน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และต้องใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้มากที่สุด เพราะการลดการใช้ก๊าซธรรมชาติ ลดการใช้น้ำมันยังไม่พอ แต่ต้องใช้พลังงานที่มาจากพลังงานหมุนเวียนด้วย เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ซึ่งธุรกิจใหญ่ๆ ของบ้านเราก็มีการทำกันเยอะ แต่ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก ขนาดย่อม โดยเฉพาะในภาคครัวเรือนของเรา  ผมคิดว่าของเรายังห่างไกลจากเรื่องนี้อีกค่อนข้างมาก

ทั้งหมดคือสิ่งที่ภาคส่วนต่างๆ ของประเทศไทยเราได้มีการคุยกันมาตลอดทั้งปีนี้ 2565

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวต่อไปว่า  สำหรับเรื่องการเปิดกว้างหรือ Open ก็คือการเน้นการพูดคุยการส่งเสริมการค้าการลงทุน โดยที่เห็นเป็นรูปธรรมคือ เรื่องการทำเขตการค้าเสรีเขตเอเชีย-แปซิฟิก

...อย่างนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย พบว่าเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์มาจากเขตเศรษฐกิจเอเปก  เพราะฉะนั้นความสำคัญที่เรามีกับเขตเศรษฐกิจเอเปก จึงมีมากมายมหาศาลสำหรับเขตเศรษฐกิจของประเทศไทย

 อย่างในปีนี้ กระทรวงพาณิชย์ที่เป็นแม่งาน อย่าง กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ก็มีการวางแผนงาน มีการกำหนดว่ากรอบที่จะคุยกันข้างหน้าคือเรื่อง Free  Trade Area of the Asia-Pacific หรือ FTAAP จะมีการคุยกันในการประชุมเอเปกครั้งนี้อย่างไร ที่เป็นเรื่องเขตการค้าเสรีและมีประเด็นใหม่ๆ ในการพูดคุย

ขณะที่เรื่องของ Connect ก็จะเป็นเรื่องของการเชื่อมโยงอย่างเรื่องของ Safe Travel ที่ประเทศไทย คือการมาดูกันว่าทำอย่างไรที่จะสามารถกลับมาเดินทางกันได้อย่างปลอดภัย โดยแม้ปัจจุบันโควิดจะเบาบางลง จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นก็จริง แต่เราก็ต้องเตรียมตัวไว้สำหรับโลกที่ไม่สมดุล ซึ่งเรื่องโลกที่ไม่สมดุล ลักษณะอย่างหนึ่งก็คืออาจเกิดโรคอุบัติใหม่ อาจกลับมาเกิดขึ้นใหม่อีกได้ โดยหากเกิดโรคระบาดใหม่ แล้วเขตเศรษฐกิจเอเปกเราจะมีการเตรียมตัวป้องกันอย่างไร เพื่อไม่ให้ต้องกลับไปล็อกดาวน์กันอีก โดยวิธีการหนึ่งก็คือการแบ่งปันข้อมูล การตรวจสอบใบฉีดวัคซีนโดยให้สามารถตรวจสอบใบฉีดวัคซีนกันได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องรอส่งกันไปกันมา แต่เราจะส่งข้อมูลนี้ใส่ไว้ให้กันเลยเช่นไว้ในโทรศัพท์มือถือ เช่นสมมุติว่ามีคนไทยเดินทางไปยังเขตเศรษฐกิจที่เขาทำเรื่องนี้ไว้แล้ว ในกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเปก เราก็สามารถรับรองใบฉีดวัคซีนของเราได้ เป็นต้น ก็ทำให้สามารถเดินทางกันได้โดยไม่ต้องกลับไปนั่งตรวจกันอีก ไม่ต้องมีการไปขอใบรับรองกันใหม่อีก

 นอกจากนี้ก็จะมีเรื่องของการแชร์กฎเกณฑ์การเข้า-ออก Immigration ที่เราสามารถตรวจสอบกันได้ง่ายๆ ว่า หากเดินทางไปประเทศนี้ เขามีเงื่อนไขการเข้าออกอย่างไรบ้าง

"สิ่งเหล่านี้เมื่อก่อนยังไม่เคยมีการทำกันมาก่อน เราก็อาศัยสิ่งท้าทายจากอุปสรรค สิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อกลับมาแก้ไขในอนาคต เพื่อว่าต่อไปในอนาคตเราจะต้องเดินทางกันง่ายขึ้น”

 ซึ่งจริงๆ แล้ว Connect ไม่ใช่แค่เรื่องของการเดินทาง แต่ Connect ในหลายๆ เรื่อง รวมถึงเรื่อง Digital  Connection ที่สำคัญ ซึ่งหน่วยงานของไทยก็มีความก้าวหน้าไปก่อนหรือควบคู่ไปกับการประชุมในเอเปกด้วยซ้ำไป  อย่างเช่นธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีการทำเรื่อง E-Payment กับประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก อันนี้ก็เป็นส่วนเรื่องของเรื่อง Digital Connection เช่นเราสามารถจ่ายเงินผ่านคิวอาร์โค้ดได้ อย่างบางคนเดินทางไปประเทศสิงคโปร์  ไปกินบะหมี่เป็ดย่างที่สิงคโปร์ เขาก็มีบริการที่สามารถจ่ายได้ผ่านคิวอาร์โค้ดในไทย ซึ่งเท่าที่ผมจำได้ก็มีที่สิงคโปร์และอีก 2-3 ประเทศ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เริ่มทำแล้ว โดยส่วนใหญ่จะเป็นประเทศเพื่อนบ้าน โดยเชื่อว่าอีกไม่นานก็คงจะได้มีการขยายต่อไปมากขึ้นอีก อาจจะมีไกลกว่านี้ด้วยซ้ำไป อันนี้ก็คือสิ่งที่อยู่ในส่วนของ Connect  เช่นเดียวกัน

ประเทศไทยได้อะไร

เป็นเจ้าภาพจัดประชุ APEC

ธานี-โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวหลังมีการถามว่า คนไทยและประเทศไทยจะได้อะไรจากการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกในครั้งนี้ อย่างที่ผมบอกข้างต้น แน่นอนครับ เอาตรงๆ เลย อย่างเรื่องของการเปิดกว้างหรือ Open หากเราสามารถวางแผนคุยกันไปได้ ในเรื่องของเขตการค้าเสรี หรือ FTAAP แน่นอนว่าตลาดส่งออกของเราจะมากขึ้น ส่วนเรื่องการนำเข้า เราก็ไม่ได้เสียเปรียบอย่างเดียว เพราะการนำเข้าก็มีเรื่องของการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อนำมาใช้ในการผลิตในประเทศไทย หลายอย่างก็จะนำเข้ามาในราคาที่ถูกลง ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าของเราจะมีราคาที่ต่ำลง รวมถึงก็จะทำให้มีการลงทุนที่มากยิ่งขึ้น นี่คือเรื่องของการเปิดกว้างหรือ Open

ขณะที่เรื่องของ Connect สิ่งที่คนไทยจะได้ คือเราจะสามารถเดินทางในกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเปกได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น เช่นเพราะเราจะมีใบฉีดวัคซีนของกันและกันในหลายๆ เขตเศรษฐกิจ ทำให้เรารู้แล้วว่าการเข้าเมืองของเขตเศรษฐกิจบางเขตเศรษฐกิจ ที่เดิมอาจยังไม่ชัดเจน เวลาเราจะไปต้องเข้าไปดูในเว็บไซต์ของสถานทูตประเทศนั้นๆ ที่ไม่สะดวก แต่เราจะนำมาไว้ในที่เดียวกัน แบบนี้เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้มีการเริ่มใช้กันแล้ว ทำให้เดินทางได้สะดวกขึ้น เป็น Digital Connection  มีระบบ E-Payment ที่มีบางหน่วยงานเริ่มไปแล้ว ตอนนี้เราก็ได้ผลแล้ว เช่นทำให้เกิดการใช้จ่ายได้อย่างสะดวก  เช่นการจับจ่ายเพื่อซื้อของ ทำให้เกิดความสะดวกมากขึ้น  หรือร้านค้าของเรา นักท่องเที่ยวที่มาจากเขตเศรษฐกิจเอเปกมาซื้อของ ก็สามารถรับค่าใช้จ่ายตรงนั้นได้ ทำให้ร้านค้าของไทยขายของให้นักท่องเที่ยวที่มาจากเขตเศรษฐกิจเอเปกได้ ผ่านระบบ E-Payment ตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานในเอเปก

ส่วน Balance หรือความสมดุล ก็เป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งคนที่ทำงานไม่ใช่แค่ในส่วนของเอเปก แต่คนจากภาคส่วนอื่นๆ เช่นคนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม คนทำงานด้านสังคม  เราจะค่อยๆ เห็น เราจะค่อยๆ ได้สังคมที่มีความสมดุลมากขึ้นในด้านสิ่งแวดล้อม จะได้สังคมที่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อมน้อยลง เราจะได้จิตสำนึกในการเปลี่ยนแปลงในสังคมที่จะดูแลผู้ที่ด้อยโอกาสมากขึ้น รวมถึงคนที่ด้อยโอกาส ซึ่งในเอเปกเขาให้ความสำคัญกับธุรกิจของกลุ่มที่อาจจะยังแข่งขันได้ไม่เต็มที่ เช่น กลุ่มสตรี กลุ่มผู้ด้อยโอกาส กลุ่มคนพิการ หรือแม้แต่กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่พบว่าในการพูดคุยกันของเอเปก เขาให้ความสำคัญกับคนกลุ่มเหล่านี้มากขึ้น

สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือสิ่งที่คนไทยจะได้รับ ซึ่งในหลายๆ ส่วนที่น้องๆ หรือคนรุ่นใหม่ หรือกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ในประเทศไทยเราทำกันมาพอสมควรแล้ว ที่มีการทำกันมาอยู่ก่อนแล้ว เราก็ส่งเสริมเขามากยิ่งขึ้น อย่างเช่นกลุ่มสตาร์ทอัปต่างๆ เราก็มีการทำ แอปพลิเคชันสำหรับเกษตรกร ชาวไร่ชาวนา เพื่อสนับสนุนการทำการเกษตร  เช่นการให้ข้อมูลว่าควรจะปลูกพืชอะไรที่จะเหมาะกับพื้นที่การเกษตรที่จะทำการเพาะปลูก ดินในพื้นที่เหมาะหรือไม่  ควรจะปลูกเมื่อไหร่ สภาพดินฟ้าอากาศเป็นอย่างไร และตลาดสำหรับการขายจะหาได้จากที่ไหน เป็นต้น ที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการใช้แอปพลิเคชัน และทำให้สามารถทำการเกษตรได้แบบยั่งยืน ไม่เบียดเบียนธรรมชาติ เป็นการช่วยกันเพื่อปรับเปลี่ยนสังคมและเศรษฐกิจบ้านเรา เพราะการจะปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจทั้งในบ้านเราและเขตเศรษฐกิจเอเปกมีได้หลายวิธี เช่นปรับเปลี่ยนด้วยแอปพลิเคชัน ด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ  ปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการทำงาน วิธีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเรา ที่เป็นวิธีการต่างๆ ที่น่าสนใจและพบว่าได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม

-ประเด็นที่ฝ่ายไทยจะนำไปหารือในเวทีเอเปกครั้งนี้หลักๆ มีอะไรบ้าง?

หลักๆ ก็มีหัวข้อแรก เปิดกว้าง Open เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุน เช่นเรื่องการวางแผนขั้นตอนและกรอบการคุยเรื่องเขตการค้าเสรี หรือ FTAAP

หัวข้อหรือเสาที่สอง Connect คือเชื่อมโยงกัน ที่คือการเชื่อมโยงด้านการเดินทางอย่างปลอดภัย ป้องกันเศรษฐกิจกลับไปล็อกดาวน์

และหัวข้อที่สาม Balance การสร้างสมดุล เช่นการทำธุรกิจอย่างสมดุล รวมถึงการใช้ชีวิตก็ต้องสมดุลมากขึ้น  เช่นลดการใช้วัสดุที่สิ้นเปลือง อย่างเราก็มีอาหารที่ทิ้งเยอะมาก เพราะเราเป็นประเทศอาหาร ขอเล่าให้ฟังมีสตาร์ทอัปบางคน คือกรมประชาสัมพันธ์เพิ่งจัดงานเรื่องอาหารแห่งอนาคตไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีสตาร์ทอัป ธุรกิจเอสเอ็มอีจากทั่วประเทศ รวม 2,018 ทีม แข่งขันกันทำอาหารแห่งอนาคต ที่คืออาหารที่จะเป็นที่นิยมในอนาคตและยั่งยืน ไม่สิ้นเปลืองธรรมชาติ ลดการทิ้งของเสีย อย่างเช่น แก้วมังกร เมื่อก่อนเปลือกแก้วมังกรเราจะทิ้งกันเพราะทานไม่ได้ แต่มีสตาร์ทอัปบางคนเขาเอาเปลือกแก้วมังกรที่สีสวยไปทำส่วนประกอบอาหาร แสดงให้เห็นว่าสังคมเราเริ่มเคลื่อน แต่เราก็ยังต้องทำมากขึ้น

ธานี กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องการเตรียมความพร้อมในการดูแลรักษาความปลอดภัยให้ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกและคณะที่จะเดินทางมาร่วมประชุมนั้น มีความพร้อมเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว อย่างวันอาทิตย์ที่ 6 พ.ย. จะมีการซ้อมขบวนวิ่ง (การซ้อมการเดินขบวนรถผู้นำเอเปก) ที่จะมีทั้งการซ้อมใหญ่และซ้อมย่อย รวมถึงการซ้อมการดูแลคู่สมรสผู้นำเขตเศรษฐกิจที่จะเดินทางมาด้วย ที่รับผิดชอบโดย คณะอนุกรรมการด้านการต้อนรับและรักษาความปลอดภัย ที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ  รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เช่น กรมพิธีทางการทูต โดยมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นเจ้าภาพหลัก

และก็มีแผนการต้อนรับตามสนามบินต่างๆ คือ ท่าอากาศยาน บน.6, ท่าอากาศยานดอนเมือง, ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, สนามบินอู่ตะเภา ก็มีการจัดเตรียมพื้นที่จอดรถสำหรับการต้อนรับตามสนามบินต่างๆ โดยจะมีพิธีต้อนรับตามสนามบินต่างๆ มีการตรวจตรารักษาความปลอดภัยตามแนวเส้นทางต่างๆ

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ตลอดทั้งปี 2565 จะมีคนที่เดินทางมาร่วมประชุมในเวทีต่างๆ ของเอเปก เช่นก่อนหน้านี้มีการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านต่างๆ มาถึง 8 ครั้ง เช่นด้านทรัพยากรธรรมชาติ ด้านสตรี  การประชุมรัฐมนตรีคลังด้านเอเปก เราต้อนรับแขกที่คิดว่าน่าจะเข้ามาสองพันถึงสามพันคนตลอดทั้งปี แต่คิดว่าน่าจะมากกว่านั้นด้วยซ้ำ เพราะอย่างช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ ก็มีสื่อมวลชนที่มาลงทะเบียนแล้วสองพันกว่าคน และมีผู้แทนที่จะมาร่วมการประชุมอีกประมาณสองพันถึงสามพันคน

ตลอดทั้งปีนี้ที่เราเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปก น่าจะมีคนเดินทางเข้ามา ทั้งผู้แทนที่จะเดินทางมาเข้าร่วมและสื่อมวลชน รวมแล้วน่าจะร่วมหมื่นคน ที่คนเข้ามาก็มีการเข้ามาใช้จ่าย”

สิ่งที่คนไทยจะได้ก็เรื่อง บทบาทของประเทศไทย ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปก ซึ่งการที่ผู้นำโลก เดินทางมาแล้วมาอยู่ในที่เดียวกันมากๆ ก็จะเป็นการส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพ และในการขับเคลื่อนสิ่งที่สำคัญสำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก  และสำหรับประเทศไทย

อย่างจะเห็นว่าที่เรามีวาระแห่งชาติเรื่อง BCG (Bio-Circular-Green Economy  เศรษฐกิจชีวภาพ  เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน) เพราะรัฐบาล นายกรัฐมนตรี และประชาชน เห็นว่าประเทศเราต้องขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ต้องเป็นความยั่งยืนยิ่งขึ้น ที่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศไทยและสำคัญสำหรับเอเปก เพื่อให้นำไปขับเคลื่อนร่วมกัน อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราอยากได้ และเราก็เห็นแล้วกับการที่เราจะได้รับบทบาทในการเป็นเจ้าภาพที่ผู้นำเขตเศรษฐกิจจะต้องมาคุยกัน

 นอกจากนี้ ในการประชุมก็อาจจะคุยกันเรื่องอื่นด้วย  เช่นปัจจุบันมีความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในโลก ความขัดแย้งต่างๆ ในโลกกรณีต่างๆ ผมคิดว่าผู้นำโลกเขาก็เห็น เขาก็อาจมีการคุยกันเรื่องนี้ ในระหว่างข้างๆ การประชุมเอเปก  อันนี้ก็จะเป็นบทบาทของประเทศไทยเช่นเดียวกันเพราะเราเป็นเจ้าภาพ 

อีกส่วนหนึ่งก็คือ การที่ประเทศไทยได้ต้อนรับผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุมต่างๆ ซึ่งถ้าประชาชนได้เห็นคนต่างชาติที่เข้ามาในกรุงเทพฯ เข้ามาในประเทศไทยจำนวนมากๆ หลังจากนี้ ก็อยากให้ช่วยกันภาคภูมิใจในการเป็นเจ้าภาพที่ดี ช่วยกันต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง เพราะอย่างสื่อมวลชน (ต่างประเทศ) ที่เดินทางเข้ามา ผมก็ว่าไม่ต่ำกว่าสองพันคนแล้ว

สำหรับการตอบรับการเดินทางมาร่วมประชุมเอเปก จนถึงขณะนี้ เขตเศรษฐกิจทุกเขตเศรษฐกิจในเอเปกตอบรับเข้าร่วมการประชุม

สิ่งสำคัญคือ การที่เราจะมี Bangkok  Goals ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG (Bangkok Goals on  BCG Economy) และจะมีถ้อยแถลงของที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก สรุปผลการประชุมทั้งหมด ส่วนที่สามคือ จะมีถ้อยแถลงของระดับรัฐมนตรีด้วย ก็จะสรุปผลการประชุมและเป้าหมายที่เขตเศรษฐกิจเอเปกจะเดินหน้าขับเคลื่อนต่อไป และส่งมอบให้เขตเศรษฐกิจที่จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมครั้งต่อไป คือสหรัฐอเมริกา ซึ่งสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องโลกร้อนอยู่แล้ว ก็ทำให้แน่นอนว่าสิ่งที่เราผลักดันในการประชุมเอเปกปีนี้จะได้รับการสานต่อ และเราก็วางกรอบเวลาไว้อย่างชัดเจนว่า เรื่องนี้จะได้รับการสานต่อและเราก็จะดูแลต่อไปด้วย

สำหรับผู้นำที่เข้าร่วม ทุกเขตเศรษฐกิจมีผู้แทนที่เข้าร่วมประชุมอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ก็เป็นระดับผู้นำเขตเศรษฐกิจ ผู้นำรัฐบาล ประมุขของประเทศ จะมีเฉพาะบางเขตเศรษฐกิจเท่านั้นที่ส่งผู้แทนมา อย่างเช่นรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (กมลา แฮร์ริส)

 และก็มีบางประเทศที่มีข้อจำกัดภายในประเทศ เช่น  เม็กซิโก มาเลเซีย อย่างมาเลเซียก็เพิ่งมีการยุบสภาไป ก็จะส่งผู้แทนมา เป็นต้น นอกนั้นเขตเศรษฐกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ จีน นิวซีแลนด์ เป็นต้น เหล่านี้มาเองหมด  อย่างจีนก็มีแนวโน้มสูงที่ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน จะเดินทางมาเข้าร่วมประชุมด้วย เป็นต้น

 ส่วนที่รอการยืนยันก็มี วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เพราะหลายเขตเศรษฐกิจผู้นำของเขาก็มีประเด็นเรื่องการรักษาความปลอดภัยด้วย

สำหรับแขกพิเศษที่จะเดินทางมา ก็จะมีจากสามประเทศคือ ฝรั่งเศส กัมพูชา ซาอุดีอาระเบีย โดยกัมพูชา เราเชิญมาในฐานะประธานอาเซียน ส่วนทางฝรั่งเศส เพราะเขาเห็นความสำคัญของเขตเอเชีย-แปซิฟิก ขณะที่ซาอุดีอาระเบีย เป็นผลสำเร็จจากความพยายามในการปรับความสัมพันธ์ให้เป็นระดับปกติของพลเอกประยุทธ์  นายกรัฐมนตรี และท่านดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผลที่สืบเนื่องเชื่อมโยงมาจากการปรับความสัมพันธ์ เพราะเอเชีย-แปซิฟิกก็มีความสำคัญสำหรับซาอุดีอาระเบีย

การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ เป็นโอกาสครั้งสำคัญของประเทศไทย ของคนไทย ที่เราจะสามารถภูมิใจได้ร่วมกันว่า เราสามารถผลักดันสิ่งที่เป็นความสำคัญของคนไทย และยังเป็นโอกาสสำคัญของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียนของเรา ที่จะมีการประชุมถึงสามการประชุมที่สำคัญอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ทั้งการประชุมอาเซียนที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา การประชุม จี20 ที่บาหลี และการประชุมเอเปก เพราะฉะนั้นเป็นบทบาทสำคัญของภูมิภาคของเรา ซึ่งเราต้องขับเคลื่อนร่วมกัน” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวตอนท้าย 

....................................................................................

 เอเปกคืออะไร?

เอเปก หรือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) คือเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2532

โดยมีเป้าหมายหลักคือการส่งเสริมการเปิดเสรีการค้า การลงทุน รวมถึงความร่วมมือในด้านมิติสังคมและการพัฒนาด้านอื่นๆ อาทิ ความร่วมมือด้านการเกษตร การส่งเสริมบทบาทสตรีในเศรษฐกิจ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการพัฒนาด้านสาธารณสุข เพื่อนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ยั่งยืน และความมั่งคั่งของประชาชนในภูมิภาค

ปัจจุบันเอเปกมีสมาชิกจำนวน 21 เขตเศรษฐกิจ ประกอบด้วยมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น แคนาดา เกาหลีใต้ และรัสเซีย โดยไทยเป็น 1 ใน 12 เขตเศรษฐกิจผู้ร่วมก่อตั้ง ทั้งนี้ เอเปกมีประชากรรวมกว่า 2,900 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) รวมกันกว่า 53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,700 ล้านล้านบาท เกินครึ่งของ GDP โลก และมีมูลค่าการค้ารวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลก

กลไกการทำงานของเอเปกแบ่งการดำเนินงานออกเป็นระดับต่างๆ ดังนี้

1.ระดับนโยบาย

1.1 การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก (APEC Economic Leaders’ Meeting หรือ AELM)

1.2 การประชุมรัฐมนตรีเอเปก (APEC Ministerial Meeting หรือ AMM)

1.3 การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก (APEC Ministers Responsible for Trade Meeting หรือ MRT)

1.4 การประชุมรัฐมนตรีคลังเอเปก (APEC Finance Ministerial Meeting หรือ FMM)

1.5 การประชุมรัฐมนตรีสาขาต่างๆ (Sectoral Ministerial Meetings)

2.ระดับปฏิบัติ

การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส (Senior Officials’ Meeting หรือ SOM) ซึ่งกำกับดูแลผลการประชุมของคณะกรรมการหลัก 4 เสาคือ (1) คณะกรรมการว่าด้วยการค้าและการลงทุน (Committee on Trade and Investment หรือ CTI) (2) คณะกรรมการด้านงบประมาณและการบริหาร (Budget and Management Committee หรือ BMC) (3) คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ (Economic Committee หรือ EC) และ (4) คณะกรรมการว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ (Steering Committee on Economic and Technical Cooperation หรือ SCE) และมีการประชุมระดับคณะทำงานอีกจำนวนมากภายใต้คณะกรรมการทั้ง 4

3.สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก (APEC Business Advisory Council หรือ ABAC) ทั้งนี้สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คู่มือเอเปกหัวข้อหลัก (Theme) และประเด็นสำคัญ (Priorities) ที่ไทยผลักดันในการเป็นเจ้าภาพเอเปก

หัวข้อหลักของเอเปก 2565

การเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปกของไทยในปี 2565 มีพลวัตและความท้าทาย แตกต่างจากเมื่อครั้งที่ไทยเป็นเจ้าภาพในปี 2546 เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในสภาวการณ์โควิด-19 ที่เอเปกกำลังปรับตัวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและเตรียมพร้อมรับมือความท้าทายใหม่ๆ ไทยจึงให้ความสำคัญกับการปรับตัวและฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 อย่างครอบคลุม สมดุล และยั่งยืน

โดยกำหนดหัวข้อหลักคือ Open. Connect. Balance. หรือ เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล เพื่อเปิดกว้างสู่ทุกโอกาสด้านการค้าและการลงทุน การส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคผ่านมุมมองใหม่ที่ได้เรียนรู้จากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ทุกภาคส่วนในสังคม เชื่อมโยงในทุกมิติเพื่อฟื้นฟูการเดินทางระหว่างกันที่สะดวกและปลอดภัย รวมทั้งเพิ่มความเชื่อมโยงทางดิจิทัล และส่งเสริมการเจริญเติบโตที่เน้นสร้างสมดุลในทุกด้านมากกว่าสร้างกำไร ผ่านการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การสร้างความมั่นคงทางอาหารและการเกษตร เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ทั้งนี้ ไทยได้นำโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG) มาเป็นแนวคิดหลักเพื่อขับเคลื่อนประเด็นที่จะผลักดันการเป็นเจ้าภาพเอเปกในครั้งนี้

เอเปกและไทย

ประโยชน์ของไทยในการเป็นเจ้าภาพเอเปก

การเป็นเจ้าภาพเอเปกของไทยในครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะส่งเสริมนโยบายและทิศทางการพัฒนาที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งไทยและภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในหลายมิติ โดยไทยจะได้ประโยชน์จากการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ได้ยกระดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจให้เป็นสากล เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับภาครัฐและภาคเอกชนผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากเขตเศรษฐกิจอื่นๆ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี

นอกจากนี้ การเป็นเจ้าภาพการประชุมของไทยท่ามกลางบรรยากาศการฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะภาคการเดินทางและท่องเที่ยว เป็นการฟื้นฟูการเดินทางและทำธุรกิจแบบพบหน้า และยังเป็นโอกาสให้ไทยได้แสดงความพร้อมว่าไทยสามารถปรับตัวและอยู่ร่วมกับสถานการณ์โควิดได้ โดยยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้พร้อมกัน

ประเด็นที่ไทยมุ่งผลักดันให้เป็นรูปธรรมและเป็นผลลัพธ์ในการเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งนี้ ได้แก่

(1) การส่งเสริมการค้าการลงทุนเสรีและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเอเปก ผ่านการขับเคลื่อนการเจรจาเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of Asia-Pacific: FTAAP) ในบริบทของการเจริญเติบโตหลังโควิด-19 ที่จะต้องยั่งยืนและสมดุล และเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน

(2) ส่งเสริมการเดินทางที่สะดวกและปลอดภัย ผ่านการจัดตั้งกลไก APEC Safe Passage Taskforce เพื่อหารือแนวทางที่ส่งเสริมการเดินทางที่สะดวกและปลอดภัย อาทิ การอำนวยความสะดวกอาชีพสำคัญ เช่น ลูกเรือ การส่งเสริมการใช้ Public Key Infrastructure ในการแชร์ข้อมูลด้านสุขภาพในภูมิภาค และการขยายคุณสมบัติของบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปก (APEC Business Travel Card: ABTC) ให้ครอบคลุมผู้เดินทางกว้างขึ้น

(3) การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมในเอเปก ด้วยการจัดทำเอกสารผลลัพธ์ระดับผู้นำเพื่อเร่งการพัฒนาตามแผนงานของเอเปกไปสู่การเติบโตอย่างเข้มแข็ง ยืดหยุ่น ยั่งยืน ครอบคลุม และสมดุลในยุคหลังโควิด-19 ตามแนวคิด BCG Economy

สาขาความร่วมมือที่ไทยให้ความสำคัญในปี 2565 ประกอบด้วย

-ความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน

ไทยจะผลักดันการส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการ MSMEs ตามแนวคิดเศรษฐกิจ BCG เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจผ่านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ และการส่งเสริมการหารือเชิงนโยบายการค้าระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดและข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนการจัดทำ FTAAP หลังยุคโควิด-19 รวมถึงการสานต่อการดำเนินงานตามปฏิญญาเรื่องการอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายสินค้าที่มีความจำเป็นปี พ.ศ.2563 (Declaration on Facilitating the Movement of Essential Goods) แถลงการณ์ห่วงโซ่อุปทานวัคซีนโควิด-19 (Statement on COVID-19 Vaccine Supply Chains) และแถลงการณ์การบริการเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนย้ายสินค้าที่มีความจำเป็น (Statement on Services to Support the Movement of Essential Goods)

-ความร่วมมือด้านการคลัง

ไทยจะส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) เพื่อให้สอดรับกับการผลักดัน BCG Economy ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ และภารกิจของรัฐบาลในการจัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับทุกภาคส่วนให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอ โดยเฉพาะการจัดหาแหล่งเงินทุนผ่านตลาดทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ นอกจากนี้ยังส่งเสริมการเป็นสังคมดิจิทัล (Digitalization for Digital Economy) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินนโยบายในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการดำเนินมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ การเชื่อมโยงการชำระเงิน ในภาคการเงิน การระดมทุนและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการในตลาดทุน เพื่อมุ่งสู่การเป็นสังคมเศรษฐกิจดิจิทัลร่วมกันในภูมิภาค

-ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว

ไทยจะนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเปกให้มีอนาคตที่ดีกว่าเดิม: การท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน (APEC Policy Recommendations on “Tourism of the Future: Regenerative Tourism”) โดยแนวคิดนี้สืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกทั้งระบบอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้เกิดการท้าทายแนวคิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) ซึ่งเป็นแนวคิดกระแสหลักด้านการท่องเที่ยวทั่วโลกมานานหลายทศวรรษ

-ความร่วมมือด้านการเกษตร

ไทยจะผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ควบคู่กับนโยบาย “3S” ได้แก่ Safety ความปลอดภัยของอาหาร Security ความมั่นคงของภาคการเกษตรและอาหาร และ Sustainability ความยั่งยืนของภาคการเกษตร เพื่อส่งเสริมความมั่นคงอาหารในภูมิภาคเอเปก นอกจากนี้ ไทยในฐานะประธานหุ้นส่วนเชิงนโยบายความมั่นคงอาหาร

เอเปก (APEC Policy Partnership on Food Security: PPFS) จะมีบทบาทสำคัญในการจัดทำแผนปฏิบัติการของแผนงานความมั่นคงอาหารเอเปกมุ่งสู่ปี ค.ศ.2030 (APEC Food Security Roadmap Towards 2030 Implementation Plan) เพื่อให้เขตเศรษฐกิจสมาชิกใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานด้านความมั่นคงอาหารในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกร่วมกันต่อไป

-ความร่วมมือด้านกิจการสตรี

ไทยจะให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างพลังทางเศรษฐกิจของสตรีในยุคหลังโควิด-19 และยุคดิจิทัล โดยจะนำแนวคิดเศรษฐกิจ BCG มาปรับใช้ เพื่อสร้างการเจริญเติบโตที่สมดุลและครอบคลุม มุ่งเน้นการดำเนินงานด้านสตรีที่ยึดโยงกับแนวทางขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการลา เซเรนา เพื่อสตรีและการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม (La Serena Roadmap for Women and Inclusive Growth) นอกจากนี้ยังมุ่งผลักดันการสร้างเครือข่ายสตรีผู้ประกอบการ BCG ไทยไปขยายผลในเอเปก เพื่อส่งเสริมบทบาท และสร้างโอกาสให้กับสตรีผู้ประกอบการ BCG ของไทยในระดับภูมิภาค

-ความร่วมมือด้านการส่งเสริม MSMEs

ไทยจะจัดกิจกรรมภายใต้โครงการ “Ready for the ‘Next Normal’: How MSMEs should adapt to an evolving market landscape” เพื่อหารือข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับตลาดสำหรับ MSMEs ในยุคหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผู้บริโภคมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป โดยจะแสวงหากลไกสนับสนุน MSMEs ให้ฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืนและครอบคลุม

-ความร่วมมือด้านสาธารณสุข

ไทยเสนอให้หัวข้อหลัก (Theme) ของการประชุมคณะทำงานด้านสุขภาพของเอเปก (APEC Health Working Group: HWG) ในปี 2565 คือ “Open to Partnership. Connect with the World. Balance Health and the Economy.” โดยจะมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ได้แก่

(1) ด้าน Open to Partnership จะขยายการสร้างสัมพันธ์กับองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ เพื่อพัฒนาความร่วมมือในประเด็นด้านการแพทย์และสาธารณสุข

(2) ด้าน Connect with the World จะจัดทำเว็บไซต์รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับข้อจำกัดการเดินทางข้ามพรมแดนในภูมิภาคเอเปกและหลักฐานการได้รับวัคซีน และการพัฒนามาตรฐานการใช้งานร่วมของระบบแสดงหลักฐานการได้รับวัคซีนโควิด-19 (Interoperability of Vaccination Certificates) ระหว่างเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปก และ

(3) ด้าน Balance Health and Economy จะจัดทำแถลงการณ์ร่วมของการประชุม 12th High-Level Meeting on Health and the Economy ซึ่งไทยจะผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ควบคู่กับการส่งเสริมประเด็นการเพิ่มการลงทุนด้านความมั่นคงทางสุขภาพ (health security) และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ทางการแพทย์และสาธารณสุข (digital health) เพื่อลดผลกระทบของภัยคุกคามทางสุขภาพต่อเศรษฐกิจ.

แหล่งข้อมูลจากเว็บไซต์ https://www.apec2022.go.th/ ของกระทรวงการต่างประเทศ

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด บ้านใหญ่ รอเข้าวิน พท.กวาดเยอะ-พรรคส้ม เสี่ยงร่วง

ยิ่งใกล้ถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ. พบว่าการหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ.ทั้งที่ลงในนามพรรคการเมือง และไม่ได้ลงในนามพรรค

ร้อยใจไทย สืบสานราชธรรม .. ณ จังหวัดนครปฐม!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๗ โครงการร้อยใจธรรม สืบสานราชธรรม ทั้งแผ่นดิน ถวายเป็นพระราชกุศลฯ ที่ดำเนินการโดย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยและวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จ.ลำพูน

ลึกสุดใจ. ”พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ผบ.ตร.” ยึดกฎกติกา ไม่กลัวทุกอิทธิพล

ถึงตอนนี้ "พลตํารวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ หรือ บิ๊กต่าย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" ได้ทำหน้าที่ ผบ.ตร.อย่างเป็นทางการมาร่วมสามเดือนเศษ ส่วนการทำงานต่อจากนี้ ในฐานะ"บิ๊กสีกากี เบอร์หนึ่ง-รั้วปทุมวัน"จะเป็นอย่างไร?

2 สว. “ชาญวิศว์-พิสิษฐ์” ปักธงพิทักษ์รธน. ปกป้องสถาบันฯ พวกเราเป็นอิสระ ไม่มีรับใบสั่ง

กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูยเพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ต้องการทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น

ก้าวย่างออกจากปัญหา .. ของประเทศ!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา... คำกล่าวที่ว่า.. “เมื่อสังคมมนุษยชาติขาดศีลธรรม.. ย่อมพบภัยพิบัติ.. เสื่อมสูญสิ้นสลาย..” นับว่าเป็นสัจธรรมที่ควรน้อมนำมาพิจารณา.. เพื่อการตั้งอยู่ ดำรงอยู่ อย่างไม่ประมาท...

เหลียวหลังแลหน้า การเมืองไทย จาก 2567 สู่ 2568 ส่องจุดจบ ระบอบทักษิณภาค 2

รายการ"ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด"สัมภาษณ์ นักวิชาการ-นักการเมือง สองคน เพื่อมา"เหลียวหลังการเมืองไทยปี 2567 และแลไปข้างหน้า