ผมเชื่อว่าพี่น้องคนไทย ต้องเคยได้ยินชื่อ ทุ่งกุลาร้องไห้ แต่ส่วนใหญ่อาจนึกภาพไม่ออก ทุ่งกุลาร้องไห้ที่เป็นภาพติดตาผม ตอนที่มีโอกาสผ่านไปครั้งแรก คือทุ่งกว้างสุดลูกหูลูกตา ที่ไม่มีต้นไม้อะไรนอกจากไม้พุ่มสูงไม่เกิน 1 เมตรยืนสู้แดดลม อยู่ประปราย ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นที่ราบขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2 ล้านไร่ใน 13 อำเภอ 5 จังหวัด คือ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ และยโสธร ทุ่งกุลาร้องไห้
“ท้องทุ่งแห้งแล้งที่ภาคอีสาน มีชื่อกล่าวขาน ทุ่งกุลาร้องไห้
เหลียวสุดขอบฟ้ารำไร แผ่นดินกว้างใหญ่ แล้งดั่งไฟแผดผลาญ
เขาเล่าไว้เป็นนิทาน ท้องทุ่งนี้มีช้านาน ไร่นาแสนกันดาร แห้งแล้งใจหาย
ครั้งหนึ่งพ่อค้าชาวเผ่ากุลา เดินดั้นด้นมา ทุ่งกันดารแสนเหนื่อยหน่าย
ร้อนแดดแผดเผาเจียนตาย ดั่งทะเลทราย หาจุดหมายเมื่อยล้า
เห็นขอบฟ้าไกลลิบตา แสนเหนื่อยเพราะเดินหลงมา หมดความหวังปัญญา กอดเข่า ร้องไห้” เพลง ทุ่งกุลาร้องไห้ ของศักด์สยาม เพชรชมพู น่าจะช่วยให้ภาพและที่มาในตำนานของทุ่งกุลา ได้ดี
ทุ่งกุลา ยังถูกใช้หาเสียงจากนักการเมืองอิสาน และนักการเมืองระดับชาติอยู่อย่างต่อเนื่อง ยาวนาน เช่น จะเปลี่ยนให้เป็นเมืองศูนย์กลางการพนัน เช่นลาสเวกัส จะให้ดิสนีย์แลนด์มาสร้างสวนสนุก จะเอาขยะของ กทม. ที่ล้นเมืองสมัยหนึ่งมาทิ้งที่ทุ่งกุลา
แต่การพัฒนาพื้นที่ ที่หลายคนเรียกว่ากึ่งทะเลทราย เพราะแห้งแล้ง ปีไหนฝนดีก็น้ำท่วม ประชาชนไม่สามารถทำมาหาเลี้ยงชีพได้พอเพียง เริ่มต้นจริงจังจาก มติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 17 มีนาคม 2520 ให้จัดตั้งศูนย์พัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ และมีการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ เสนอคณะรัฐมนตรี ต่อมาได้รับความช่วยเหลือจาก Australian International Development Assistance Bureau เข้ามาร่วมพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้จนถึงปี 2534 พื้นที่ส่วนหนึ่งของทุ่งกุลาฯ จึงเริ่มเขียวขจี มีข้าวหอมมะลิชั้นดี ที่ได้รับการจดทะเบียน GI (สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ว่ากันว่าคุณภาพดีที่สุด ใครยังไม่เคยชิมแนะนำให้ลองหาข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ (ของแท้) มาลองดูสักครั้งนะครับ
เพื่อตอบคำถามตามชื่อเรื่องที่ตั้งไว้ ผมขอใช้วิธีขอความเห็นจากนักวิชาการ ลูกหลานทุ่งกุลาฯ ตัวจริง เสียงจริง 2 ท่าน มาช่วยผมตอบ ท่านแรก ดร.บรรยง ทุมแสน เกิดและเติบโตจากทุ่งกุลาฯ อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ข้าราชการเกษียณ จากคณะเกษตรศาสตร์ มข. บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง คนแรกของคณะเกษตรศาสตร์ มข. ตอบผมว่า “ตามความเห็นของผม ทุ่งกุลาฯ ต้นไม้ใหญ่ในอดีตมีน้อยมาก หน้าแล้งขาดน้ำ ขนาดคนเผ่ากุลที่มาค้าขายยังร้องไห้ ปัจจุบันมีต้นไม้มากขึ้น พื้นที่ที่เคยเป็นทุ่งหญ้าแฝก ไม่ได้ทำอะไรกลายเป็นนาข้าว สามารถทำให้ความเป็นอยู่ของคนดีขึ้น แต่ยังมีปัญหาเรื่องน้ำท่วมในฤดูฝน หน้าแล้งยังแล้งเหมือนเดิม ถ้ามีการจัดการน้ำที่ดีขึ้น น่าจะทำให้ทุ่งกุลายิ้มได้นะ”
นักวิชาการอีกคน เป็น ดร.หนุ่มไฟแรง ที่เติบโตจากเด็กชายวิ่งช่วยแม่ขายผัก ในตลาด อ.สุวรรณภูมิ ได้รับทุนการศึกษา จนจบปริญญาเอกด้านเภสัชวิทยา จากมหาวิทยาลัยดังในอังกฤษ (Imperial College, London) จบมาใหม่ๆ เคยออกทีวีเล่าเรื่องชีวิตตนเองในโทรทัศน์หลายช่อง รับราชการใช้ทุนเป็นอาจารย์ที่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย จนครบกำหนด ตัดสินใจทิ้งเมืองกรุง กลับมาใช้ชีวิตในทุ่งกุลาฯอีกครั้งกับโครงการศูนย์การศึกษาทุ่งกุลาร้องไห้ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ดร. วีระพงษ์ ประสงค์จีน (ดร.แกง ที่หลายคนอาจติดตามในสื่อออนไลน์อยู่ ตอบคำถามผมว่า “ สมัยก่อนผมได้ฟังตำนานทุ่งกุลาร้องไห้ก็รู้สึกสะเทือนใจ นึกสงสาร เพราะตำนานเล่าขานว่าคนกุลาที่เดินทางผ่านทุ่งแห่งนี้ จำต้องร้องไห้เพราะความลำบาก แห้งแล้งกันดาร น้ำสักหยดก็หาดื่มไม่ได้ ตอนปีที่ผมเกิด พ.ศ. 2524 โครงการอีสานเขียวกำลังบูม มีการพัฒนาที่ดิน เริ่มมีการปลูกยูคาลิปตัส สร้างถนน สร้างฝายกั้นน้ำ เกิดระบบชลประทานมากมาย จนตอนนี้ทุ่งกุลาได้รับการพัฒนาพื้นที่ ยกระดับความเจริญขึ้นมาพอสมควร ภาพความแห้งแล้ง ดินแตกระแหง ภาพมายาคติแบบในหนังในละครคงหาไม่ค่อยเจอแล้ว
จะว่าไปแล้ว คำว่า “ทุ่งกุลาร้องไห้” ก็มาจากผู้คนในยุคปัจจุบันที่ตั้งชื่อให้ ขนานนามแล้วสร้างการรับรู้ให้พื้นที่แห่งนี้ดูแห้งแล้งกันดาร ไร้ผู้คน ขาดแหล่งทำมาหากิน แต่จากหลักฐานก่อนประวัติศาสตร์และยุคประวัติศาสตร์ พบการมีอยู่ของผู้คนเสมอมา โดยเฉพาะการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ลุ่มน้ำเสียว ลุ่มน้ำมูล ที่ปรากฏชุมชนโบราณและใช้พื้นที่นั้นอาศัยสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน เพราะที่ทุ่งกุลามีข้าว มีปศุสัตว์ มีโลหะ มีเกลือ และมีทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถหล่อเลี้ยงชีวิตได้
ตอนสมัยที่ผมเป็นเด็กทางโสก ทางลูกรัง ก็ยังพบเห็นได้เยอะ แต่ทุกวันนี้เส้นทางได้พัฒนาเป็นทางคอนกรีต ทางลาดยางมะตอยกันเกือบจะหมดแล้ว ยานยนต์ก็มีใช้หลากหลาย การคมนาคมขนส่งสะดวก ไปมาหาสู่กันคล่องตัวขึ้น เกิดการเชื่อมโยงของเส้นทางนานาชาติ การเกษตรก็เจริญรุดหน้ามีพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิและพืชเศรษฐกิจทางเลือกอื่นๆ เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรเกิดขึ้นใหม่อยู่ตลอดเวลา ผู้คนมีอาชีพหลากหมาย ระบบการศึกษาก้าวหน้า สัมคมวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ก็ยังคงอยู่ร่วมสมัยกับโลกสมัยใหม่ มีระบบบริการสุขภาพเชื่อมโยงทั้งระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด นอกจากนี้ยังมีโรงสีข้าวขนาดใหญ่ โรงงานอุตสาหกรรม โรงงานไฟฟ้าในพื้นที่ทุ่งกุลา ถ้าแต่ก่อนทุ่งกุลาต้อง “ร้องไห้” เพราะความลำบาก แห้งแล้ง หรือเดินทางไม่สะดวก ผมจึงคิดว่าปัจจุบันทุ่งกุลาไม่น่าจะร้องไห้แล้ว
ทุ่งกุลายังคงเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ระบบนิเวศทุ่งนา ป่าบุ่ง ป่าทาม ที่ราบลุ่มลำน้ำ หรือทุ่งหญ้าบนโคก เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญผมมองว่าทุ่งกุลาไม่ได้ขาดแคลนน้ำ เพราะมีแม่น้ำมูล (แม่มูน) ลำน้ำเสียว ลำน้ำพลับพลา ลำน้ำเตา ที่ยังคงเป็นเส้นเลือดคอยหล่อเลี้ยงผู้คนในพื้นที่อยู่ ให้ได้ทำการเกษตร และใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคของคนและสัตว์ ในขณะที่เขียนอยู่นี้ก็กำลังเกิดน้ำท่วมพื้นที่ทุ่งกุลาในวงกว้าง ดังนั้นการจัดการน้ำเชิงระบบในทั้งลุ่มแม่น้ำมูลจึงเป็นความสำคัญอย่างยิ่งยวดเพื่อให้ทุ่งกุลายังคงยิ้มแย้มต่อไปได้เรื่อยๆ “
เรื่องราวของทุ่งกุลาร้องไห้ บนพื้นที่สองล้านกว่าไร่นี้ ยังมีอะไรที่น่าศึกษาเรียนรู้ อีกมากมาย โอกาสหน้าผมจะเชิญคนทุ่งกุลา อย่าง ดร.แกง มาเล่าแจ้ง ให้พวกเรารับฟังอีกแน่นอนครับ
ดร. สุวิทย์ เลาหศิริวงศ์
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สหกรณ์บุรีรัมย์ นำข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟ จัดกระเช้าของขวัญปีใหม่ เพิ่มช่องทางการตลาด
สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. บุรีรัมย์ จำกัด นำข้าวสารหอมมะลิดินภูเขาไฟ ที่ได้มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์แล้ว และสินค้าทางเกษตรอื่นๆ นำมาห่อจัดเป็นชุดกระเช้า เ
'ชาวบ้านทุ่งกุลา' ยื่นฟ้องศาลปกครองฝังกลบโรงงานน้ำตาล
เครือข่ายฅนฮักทุ่งกุลา จังหวัดร้อยเอ็ด เดินหน้าฟ้องศาลปกครองอุบลราชธานี ยกเลิกสิทธิตั้งโรงงานน้ำตาล– คว่ำอีไอเอฉบับเดิมที่ขาดการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน
'เศรษฐา-อุ๊งอิ๊ง' ควงรมต.ใหม่โชว์ตัวในพื้นที่ ฟุ้งจบปัญหาเรื่องน้ำ เงินดิจิทัลสิ้นปี
คึกคัก! “เศรษฐา-อุ๊งอิ๊ง” ขึ้นเวที "เพื่อไทยพบประชาชน" ขอบคุณชาวร้อยเอ็ดเลือกให้เป็นรัฐบาล ย้ำอีกครั้ง เงินดิจิทัลได้แน่สิ้นปีนี้
'เศรษฐา' สั่งพัฒนาแหล่งน้ำทุ่งกุลา ดันข้าวหอมมะลิตีตลาดโลก
นายกฯ รับฟังสถานการณ์น้ำ-แผนพัฒนาทุ่งกุลาฯ สั่ง“กรมชลฯ” ผลักดันศักยภาพทุ่งกุลาฯ หาแหล่งน้ำ -พัฒนาข้าวหอมมะลิไทย หวังตีตลาดโลก เพิ่มมูลค่าสินค้า-สร้างรายได้เกษตรกร
รัฐบาลตีปี๊บ ประกวด 'ข้าวหอมมะลิไทย' ช่วยยกคุณภาพชีวิตเกษตรกร
รัฐบาลหนุนเกษตรกรและโรงสี จัดประกวดข้าวหอมมะลิไทยปี 2566 เฟ้นหาและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวไทยคุณภาพชั้นเลิศ พร้อมขยายช่องทางการจำหน่าย
”ภูมิธรรม“ ประกาศสุดยอดข้าวหอมมะลิ และข้าวสารไทยแห่งปี หนุนเกษตรกรและโรงสีรักษาคุณภาพขั้นสูง ขยายตลาดทั่วโลก
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในงานประกาศผลและพิธีมอบรางวัลการประกวดข้าวหอมมะลิของประเทศไทย ประจำปี 2566 (ครั้งที่ 41) และรางวัลการประกวดข้าวสารคุณภาพดีเด่นแห่งประเทศไทยประจำปี พ.ศ. 2566 ซึ่งจัดโดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในวันนี้ (24 เมษายน 2567)