มองอนาคต พรรคการเมืองไทย ก่อนศาล รธน.ชี้ชะตาหาร 100 หลังเลือกตั้ง เกิดการเคลียร์ขั้วใหม่

      ขณะที่การเมืองไทยกำลังเตรียมเดินหน้าเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง ซึ่งจะเห็นได้จากความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่ขยับตัวกันมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงนี้ เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่สนามเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอนาคต

      อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งบริบทการเมืองไทยที่ต้องติดตามกันให้ดี ก็คือการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่มีการยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยพรรคการเมือง มีเนื้อหา ขัดหรือแย้ง ต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่ 

ที่ตอนนี้ ศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาคำร้องอย่างขะมักเขม้น และอาจจะมีการวินิจฉัยเสร็จสิ้นในอนาคตอันใกล้ จึงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามกันให้ดี โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. ในประเด็น สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ตามร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังวินิจฉัยอยู่ตอนนี้เป็นสูตรที่ให้ใช้ 100 หารคำนวณเก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งหากสุดท้ายผลการวินิจฉัยออกมาอย่างใดอย่างหนึ่ง จะมีผลต่อการเลือกตั้งและการเมืองไทย โดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งอย่างมาก

      ก่อนจะรู้ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า นักวิชาการสายรัฐศาสตร์ นักวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทยที่มีชื่อเสียงในยุคปัจจุบัน มองปฏิทินการเมืองไทยในช่วงต่อจากนี้คั่นเวลาไว้ก่อนว่า การเมืองหลังจากนี้เป็นการเมืองในโหมดที่การเตรียมการเลือกตั้ง ทุกคนในฝ่ายการเมืองตั้งหลักจะไปเลือกตั้งอย่างเดียว จะช้าหรือเร็วก็ได้ เป็นช่วงเตรียมลุยเต็มที่

...ผมมั่นใจว่าจะมีการ ยุบสภา แน่นอน เพียงแต่จะยุบเร็วหรือยุบช้า ดูแล้วไม่อยู่ครบเทอมสี่ปี เพราะการอยู่ครบเทอมไม่มีประโยชน์กับพรรครัฐบาล โดยปัจจัยการเมืองที่จะบ่งบอกว่าจะให้เลือกตั้งช่วงไหน ก็อยู่ที่พรรคฝ่ายรัฐบาลพร้อมเลือกตั้งเมื่อใด ที่ดูแล้วคงพร้อมช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 มากกว่า เพราะถึงตอนนี้พบว่าพรรคฝ่ายขั้วรัฐบาลตั้งตัวช้ามาก

      ขอเรียกพรรคการเมืองขั้วรัฐบาลว่าพรรคลุงตู่กับพรรคลุงป้อม เพื่อให้เห็นภาพ คือพรรคอื่นอย่างภูมิใจไทย ผมว่าเขาพร้อม เช่นเดียวกับประชาธิปัตย์ แต่พรรคลุงตู่กับพรรคลุงป้อมที่ไม่รู้ว่าจะเป็นพรรคเดียวกันหรือไม่ อันนี้คือตัวแปรว่าจะยุบสภาเร็วหรือช้าอยู่ที่สองคนนี้ เพราะสูตรดูเหมือนยังไม่ลงตัวว่าทั้งสองคนจะแยกกันไปอยู่คนละพรรค หรือจะรวมกันอยู่พรรคเดียวกัน แต่ตอนส่งชื่อแคนดิเดตนายกฯ ให้ กกต.ก็ส่งสองชื่อ

      มองว่าหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น เพื่อไทยก็ได้ ส.ส.มามากสุดและแนวโน้มอาจจะแลนด์สไลด์ด้วย เพราะพรรคคู่แข่งอีกขั้วยังไม่ชัดเลย พรรคลุงตู่กับพรรคลุงป้อมยังไม่ชัด ยังไม่ฟอร์มตัวเลย ทำให้ดูจากตอนนี้ที่เราคุยกันเดือนตุลาคม เพื่อไทยมีโอกาสแลนด์สไลด์ อาจได้ ส.ส.เกิน 250  เสียง ตราบใดที่ลุงป้อมลุงตู่ยังไม่ชัดเรื่องพรรค อย่างสมมุติจบเอเปกแล้วนายกฯ เลือกที่จะยุบสภาเลย ดูแล้วคงเร็วไป  ฝ่ายรัฐบาลไม่น่าจะทำ เพราะจะแพ้เลือกตั้งและจะแพ้เยอะ  แต่หากค่อยๆ ฟอร์มตัวและค่อยๆ ทำพรรคให้ลงตัว แล้วยุบสภาเพื่อเลือกตั้งอย่างเร็วเดือนมีนาคมปีหน้า แบบนี้อาจพอไหว

      คือเลือกตั้งวันนี้ ที่หนึ่งก็เพื่อไทย ที่สองคงภูมิใจไทย  เพราะดูแล้วพลังประชารัฐอาจกระจัดกระจาย ดูแล้วพรรคแนวโน้มคงแตก เพราะอย่างในพื้นที่ กทม. คน กทม.ก็เริ่มจะไม่เอาพลังประชารัฐ ภาคใต้ก็ลูกผีลูกคน ก็เหลือแค่บางพื้นที่ แล้วหากพลเอกประยุทธ์ไม่อยู่กับพลังประชารัฐ อาจมีหลายกลุ่มในพรรคก็จะไม่อยู่ต่อ บางกลุ่มอาจตามพลเอกประยุทธ์ไปด้วย

      ดร.สติธร มองการที่พลเอกประยุทธ์เหลือเทอมการเป็นนายกรัฐมนตรีอีกแค่สองปี จากผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีแปดปีนายกรัฐมนตรีว่า สองปีดังกล่าวมีผลต่อการครองอำนาจ เพราะพลเอกประยุทธ์ไม่สามารถอยู่ในอำนาจได้ด้วยตัวเองหลังเลือกตั้งแบบอยู่เต็มสมัยสี่ปี แต่ในทางยุทธศาสตร์ก็ยังมีโอกาสพลิกเกมได้ คือมันอาจเป็นจุดแข็งในการสร้างพันธมิตร คือวันนี้หากลุงตู่ยังคงกินรวบคนเดียว เลือกตั้งสมัยหน้าจะไม่มีเพื่อน คือหากไม่มีข้อจำกัดเรื่องสองปี ก็จะทำให้เกิดลักษณะพลเอกประยุทธ์ก็จะบอกว่า ให้ชูตัวเองเป็นแคนดิเดตนายกฯ แล้วหลังเลือกตั้งจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน โดยถ้าพลเอกประยุทธ์ยังสามารถเป็นนายกฯ ได้ต่ออีกสี่ปี แบบนี้อนุทินจากภูมิใจไทยอาจคิดว่ารอไม่ไหว  เพราะผมก็อยากเป็นเหมือนกัน จะให้รอถึงสี่ปีคงไม่ไหว แต่พอพลเอกประยุทธ์เป็นได้แค่สองปี พลเอกประยุทธ์อาจบอกพรรคที่มาร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วยกันว่า ขอให้สนับสนุนผม มาร่วมตั้งรัฐบาลด้วยกันเพราะเป็นนายกฯ ได้แค่สองปีเอง อีกสองปีที่เหลือคุณเอาไป

...แบบนี้มันสร้างความหวังให้มากกว่ากันเยอะ มันเป็นข้อดีในแง่ของการสร้างพันธมิตร ทั้งพันธมิตรของคนที่จะมารวมกันมาอยู่ในพรรคเดียวกัน เพราะจะต้องมีการส่งไม้ต่อให้ใครสักคนหนึ่ง หรือมาร่วมกันในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล  ประตูมันเปิดสำหรับพรรคร่วมรัฐบาล คือหลังลงจากอำนาจไป หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลมีโอกาสได้เฉิดฉาย ดีกว่าลุงตู่กินรวบแล้วให้รออีกทีตอนปี 2570 ถามว่าใครจะรอ

อ่านใจ พปชร.ดันนายกฯ คนละครึ่ง

        -ในแง่การเลือกตั้ง หากพลเอกประยุทธ์ลงพลังประชารัฐ ประชาชนอาจลังเลใจได้ไหมว่าเลือกพลเอกประยุทธ์และพลังประชารัฐเข้าไปเป็นนายกฯ งานจะไม่ต่อเนื่องเพราะเป็นได้แค่สองปี ก็ไปเลือกพรรคอื่นในฝ่ายเดียวกัน?

      มันอยู่ที่การสื่อสารตอนช่วงหาเสียงเลือกตั้งว่า จะชูแคนดิเดตนายกฯ อย่างไร แน่นอนว่าเกมมันต้องเปลี่ยน ไม่สามารถชูได้แบบเดิม แบบเดิมคือชูพลเอกประยุทธ์คนเดียว แบบตอนปี 2562 แต่เลือกตั้งที่จะมีขึ้นต้องชูไม่สองคนก็สามคนในพรรคเดียวกัน โดยแคนดิเดตทั้งสามชื่อต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ และต้องสื่อให้ชัดกับประชาชนไปเลย เช่นต้องบอกไปเลยว่า หากเลือกแล้วพลเอกประยุทธ์จะเป็นนายกฯ ได้สองปี แล้วจากนั้นจะส่งไม้ต่อให้แคนดิเดตนายกฯ คนที่สอง ซึ่งจะวางใครก็ขึ้นอยู่กับว่าพรรคจะขายอะไร โดยแคนดิเดตเบอร์สองไม่ได้หมายความว่าต้องรอก่อนสองปีแล้วถึงค่อยเข้ามาทำงาน

เพราะช่วงสองปีที่พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ แคนดิเดตเบอร์สองก็สามารถเป็นรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ช่วงสองปีนั้นได้เลย โดยให้เดินไปด้วยกัน  มันก็จะไม่มีรอยต่อ มันจะมีแค่รอยต่อในทางกฎหมาย คือพอพลเอกประยุทธ์ลงก็ไปโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีกันใหม่ในสภา แต่วันนั้นสภาที่จะโหวตให้คือสภาผู้แทนราษฎร แล้วจะไม่มีสมาชิกวุฒิสภามาร่วมโหวตให้แล้ว เพราะเลยกำหนดเวลาห้าปีที่ให้ ส.ว.มาร่วมโหวตนายกฯ แล้ว ทำให้ฝ่ายพลเอกประยุทธ์ก็ต้องคิดโจทย์ดีๆ แต่ดูแล้วหากพลเอกประยุทธ์ยังอยู่กับพลังประชารัฐ ยังไงสองชื่อที่มีแน่นอนก็คือ พลเอกประยุทธ์กับพลเอกประวิตร

สำหรับกรณีที่มี ส.ส.พลังประชารัฐออกมาเสนอสูตร หมดลุงตู่ สู่ลุงป้อม หรือ นายกฯ คนละครึ่ง ผมมองว่าคนในพลังประชารัฐคงมองว่า โมเดลพรรคตู่พรรคป้อม หากแยกกันเดินคงไปได้ลำบาก แต่ควรต้องไปในทางต้องอยู่พรรคการเมืองเดียวกัน ซึ่งหากจะมาอยู่พรรคเดียวกัน การที่พลังประชารัฐเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ได้สามชื่อ ก็ให้เสนอไปแค่สองชื่อคือ พลเอกประยุทธ์ ลุงตู่ กับพลเอกประวิตร ลุงป้อม แล้วเวลาไปหาเสียงเพื่อให้เกิดความชัดเจน ก็ให้พูดให้ชัดเจนไปเลยว่าทั้งสองคนได้เป็นนายกรัฐมนตรีแน่นอน แต่ให้พลเอกประยุทธ์เป็นก่อน จากเทอมนายกฯ ที่เหลือสองปี พอลุงตู่อยู่ครบสองปีหมดวาระ ก็ดัน พลเอกประวิตรขึ้นมาเป็นแทน เพื่อให้การทำงานไร้รอยต่อ  เพราะหากจะใช้วิธีแบบพลเอกประวิตรไปพรรคหนึ่ง พลเอกประยุทธ์ไปอีกพรรคหนึ่ง แต่คู่แข่งอย่างเพื่อไทยเขาจะแลนด์สไลด์ แต่พวกเดียวกันจะมาแยกกันเอง จะเหลือสักกี่สิบคน พรรคหนึ่งอาจได้หกสิบ อีกพรรคเจ็ดสิบ จะไปสู้ได้อย่างไร มองว่าหลังจากนี้พี่น้อง 3 ป.คงรอไปคุยกันให้ลงตัว 

      ส่วนพรรคการเมืองที่เคยมีข่าวว่าอาจจะเสนอชื่อพลเอกประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ ที่หากดูจากตอนนี้มองว่าคงไม่น่าจะได้ ส.ส.ถึง 25 คน แต่ดูแล้วพรรคกลุ่มดังกล่าวคงมีการระดมกันออกมาก่อนสักรอบหนึ่งเพื่อเช็กบางอย่าง ซึ่งถ้าระดมกันแล้วผลออกมาไม่ค่อยเท่าไหร่ พลเอกประยุทธ์ไม่น่าจะขยับตัวเองจากพลังประชารัฐไปที่พรรคดังกล่าว

เพียงแต่ว่าผมกำลังมองว่า ทั้งฝ่ายลุงป้อมและลุงตู่ กำลังรอเช็กกระแสอยู่ เช่นหากลุงป้อมอยู่ที่พลังประชารัฐจะไปได้สักแค่ไหน แล้วลุงตู่ไปอีกพรรคหนึ่งจะไปได้สักแค่ไหน  ผมว่าเขากำลังคำนวณอยู่ และเผลอๆ ประตูอาจจะเปิดไปหาพรรคใหม่ที่มีอยู่แล้วเช่นภูมิใจไทย ผมยังแอบคิดว่า โจทย์สำหรับพลเอกประยุทธ์ หากต้องการกลับมาแบบชัวร์ๆ เลยก็ไปที่ภูมิใจไทย สบายเลย ผมว่าอนุทินเขาก็อาจจะยอม  เพราะแทนที่จะเอาสรรพกำลังไปทุ่มที่พรรคอื่น เช่น รวมไทยสร้างชาติ ก็เทไปรวมที่ภูมิใจไทยเลย แบบนี้ภูมิใจไทยก็แตะที่ระดับ 100 เสียงได้

ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย  สถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึง พรรคเพื่อไทย ว่า ผมว่าปัญหาของเพื่อไทยช่วงหลังคือเรื่อง "นโยบาย" เพราะคนก็คาดหวังกับเพื่อไทยสูง ว่าเปิดมาแล้วต้องโดน แต่สมัยนี้ การคิดเรื่องนโยบายมันยากกว่าอดีต กับการคิดว่าจะปล่อยนโยบายอะไรออกมา ที่เป็นนโยบายซึ่งคนอื่นไม่เคยคิดได้มาก่อน เพราะสมัยก่อนไม่มีคนทำ พอเพื่อไทยเปิดอะไรออกมามันก็ดีหมด แต่วันนี้คนทำไปหมดแล้ว ดูอย่างกรณีชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ตอนหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะพบว่าก็จะไม่มีนโยบายใหญ่ๆ แต่เป็นนโยบายแบบเส้นเลือดฝอย  แต่เป็นเรื่องที่กระทบกับชีวิตคน มันก็เลยพอขายได้ แต่การเมืองระดับชาติมันไม่ใช่แบบนั้น

      ส่วนที่ผมมองว่าเพื่อไทยจะชนะแลนด์สไลด์ เพราะหากดูจากตอนนี้เดือนตุลาคม 2565 จะเห็นได้ว่าพรรคฝ่ายขั้วรัฐบาลยังไม่พร้อม แต่เมื่อใดที่รัฐบาลพร้อม ผมเชื่อว่าไม่แลนด์สไลด์ อย่างหากเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ แล้วไปเลือกตั้งตอนเดือนพฤษภาคมปีหน้า ผมว่าเพื่อไทยน่าจะได้สัก 200  เสียงโดยประมาณ แต่คงไม่เกิน 250 เสียง เพราะเป้าดังกล่าวดูแล้วยาก ยกเว้นว่าสภาพการเมืองของพลเอกประยุทธ์กับพลเอกประวิตรยังคงสภาพแบบทุกวันนี้ แบบนี้เพื่อไทยก็อาจได้เกิน 250 แต่กว่าจะถึงตอนเลือกตั้ง ผมว่าฝ่ายพลเอกประวิตรกับพลเอกประยุทธ์คงปรับให้ลงตัวหลายอย่าง จนโอกาสของเพื่อไทยก็จะยากขึ้น

พรรค พท.มีโอกาส

จับขั้วกับพรรคลุงป้อม

        -มองว่ามีโอกาสที่เพื่อไทยจะจับมือกับพลังประชารัฐตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งได้หรือไม่?

      ถ้ามองเรื่องการจับขั้ว ผมมองว่ามีโอกาสที่เพื่อไทยจะจับขั้วกับพรรคพลเอกประวิตร แต่ต้องไม่ใช่พรรคพลเอกประยุทธ์ เพราะเงื่อนไขของเพื่อไทยในการจัดตั้งรัฐบาล ถ้าไม่อยากให้พรรคพัง คือเต็มที่ก็ยอมจับกับพรรคพลเอกประวิตร แต่ไม่ใช่พรรคประยุทธ์ หรืออย่างกรณีหากพลเอกประยุทธ์อยู่กับพลังประชารัฐ แล้วหลังเลือกตั้งผลออกมา พลเอกประยุทธ์บอกไม่เอาอะไร เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคพลังประชารัฐไปจับมือกับเพื่อไทย แบบนี้ผมว่าน่าจะมีโอกาส  เพราะเงื่อนไขเดียวของเพื่อไทยคือไม่เอาประยุทธ์

      อย่างเพื่อไทยเองถ้าดูจากข่าวเรื่องอาจจะรับกลุ่มธรรมนัส พรหมเผ่า เข้าพรรคเพื่อไทย พอเป็นแบบนี้ที่เพื่อไทยพยายามจะทำในช่วงหลังเพื่อหาเสียงกับคนรุ่นใหม่ พอเจอแบบนี้คนรุ่นใหม่เขาก็ไม่เอา ยิ่งทำให้โจทย์การดัน อุ๊งอิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร หรือพยายามสร้างกระแสว่าเป็นพรรคแนวรุ่นใหม่ ต่อไปจะยิ่งยากกว่าเดิมขึ้นไปอีก เพราะเพื่อไทยไปมองแค่ว่าธรรมนัสมี ส.ส.ในมือกี่คน เพื่อไทยจะได้ ส.ส.เขตเพิ่มกี่คนหากรับกลุ่มธรรมนัสเข้ามา แต่ไม่ได้มองในภาพใหญ่ว่าเพื่อไทยเองจะเสียคะแนนจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ไปเท่าใด โดยเฉพาะในพื้นที่เลือกตั้งซึ่งเพื่อไทยสูสีกับพรรคอื่น  พอเป็นแบบนี้อาจจะเสียคะแนนจากคนรุ่นใหม่ได้ โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครและเขตเมืองในจังหวัดต่างๆ  คะแนนจะไหลไปที่พรรคก้าวไกลหมด แต่ก็ต้องดูเหมือนกันเพราะแม้จะไปเข้าทางพรรคก้าวไกล แต่หากสองพรรคคือเพื่อไทยกับก้าวไกลเกิดตัดกันเองอีก ก็อาจทำให้ทั้งสองพรรคแพ้ให้กับอีกฝั่ง ทำให้แลนด์สไลด์ที่หวังของเพื่อไทยจะยิ่งยากขึ้น ได้มาสิบจากธรรมนัสแต่ไม่รู้จะเสียคืนไปเท่าไหร่

      การที่กลุ่มธรรมนัสจะเข้าเพื่อไทย ก็เพราะ ส.ส.ในกลุ่มที่เป็น ส.ส.เขต หากเข้าเพื่อไทยมีโอกาสจะได้กลับเข้าสภาหลังเลือกตั้งเกือบทุกคน เพียงแต่ว่ากลุ่มนี้ในทางการเมือง คนก็อาจมองว่าเป็นกลุ่มที่อาจไว้ใจไม่ค่อยได้ อย่างหากเลือกตั้งถ้าฝั่งการเมืองที่อยู่ในซีกฝ่ายค้านปัจจุบัน รวมเสียงกันแล้วมากกว่าฝ่ายพรรคการเมืองขั้วรัฐบาลปัจจุบัน แต่เสียงไม่ได้ถึงกับทะลุเยอะเช่นประมาณ 260-270 เสียง ถึงตอนนั้นอาจจะมีการทำให้เสียงของกลุ่มพรรคฝ่ายค้านปัจจุบันพวกเพื่อไทย ก้าวไกล เสรีรวมไทย ให้ได้เสียงต่ำลงมา จนทำให้พรรคฝ่ายรัฐบาลปัจจุบันได้เสียงมากกว่าจนแคนดิเดตนายกฯ ของฝั่งพรรครัฐบาลปัจจุบันได้รับเลือกเป็นนายกฯ แล้วเมื่อฝั่ง 3 ป.ไปเป็นรัฐบาล ก็กวักมือเรียกฝ่ายธรรมนัสให้กลับมาร่วมรัฐบาลอีกก็ยังได้ มันจะมีงูเห่าในเพื่อไทยไหลมาแบบง่ายๆ ซึ่งกลุ่มที่เป็นไปได้มากสุดก็คือกลุ่มนี้ เพราะจะเห็นได้ว่าย้ายไปย้ายมา ย้ายไปเรื่อยๆ คือเพื่อไทยได้กลุ่มธรรมนัสไป เหมือนกับว่าจะเสี่ยงไปแล้วจะดีกับพรรค ทำให้เป้าหมายแลนด์สไลด์มาแน่ แต่อาจกลายเป็นว่าหลังเลือกตั้งกลายเป็นงูเห่ากลับบ้านหมด

      “ที่ล่าสุดแกนนำเพื่อไทยออกมาบอกว่า สามารถร่วมงานการเมืองกับพลังประชารัฐ ภายใต้เงื่อนไขคือไม่มีพลเอกประยุทธ์ ไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์นั้น ก็มองว่าคงเป็นเรื่องที่ฝ่ายเพื่อไทยต้องการให้ฝ่ายการเมืองในซีกรัฐบาลเวลานี้ ทำการโดดเดี่ยวพลเอกประยุทธ์ไปเลย โดยการบอกว่าสามารถมาร่วมทำงานกันได้ เพียงแค่ไม่เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ ซึ่งทำให้ตัวพลเอกประยุทธ์ หากคิดจะไปสร้างอำนาจต่อรองกับพลเอกประวิตรก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก”

      ขณะที่ พรรคภูมิใจไทย ผมว่าภูมิใจไทยเขามีจุดแข็งของเขา ดูแล้วตัว ส.ส.ที่มีอยู่และ ส.ส.ที่พรรคได้มา น่าจะทำให้พรรคได้ ส.ส.เขตอย่างน้อย 50 ที่นั่งขั้นต่ำการันตีไว้แล้ว  และอาจไปถึงระดับ 70-80 เสียงได้ แต่จะถึงขั้นแตะร้อยเสียง ผมยังไม่เชื่อขนาดนั้น แต่หากได้พลเอกประยุทธ์มาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของภูมิใจไทยก็อาจได้ถึงระดับหนึ่งร้อย หรือถึงหนึ่งร้อยยี่สิบเสียงได้ ส่วนภูมิใจไทยจะได้ ส.ส.เขต กทม.หรือไม่ หลังมีกระแสข่าวว่าจะมี ส.ส.กทม.จากพรรคอื่นย้ายมาอยู่ด้วย มองว่าก็คงมีโอกาสมากกว่าเดิม แต่หากดูจากผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก.ที่ผ่านมา แม้เพื่อไทยกับก้าวไกลจะตัดคะแนนกันเอง แต่อีกฝั่งพบว่าก็ตัดกันเองเยอะ  โดยพื้นที่กรุงเทพฯ ถึงต่อให้มี ส.ส.กทม.ของพลังประชารัฐไปอยู่กับภูมิใจไทยอย่างที่มีกระแสข่าว แต่ก็ยังมีพรรคอื่นๆ  อยู่ เช่นประชาธิปัตย์ ก็จะทำให้คะแนนก็จะแชร์กันเอง เลยกลายเป็นว่าคะแนนจะตัดกันเองทั้งสองฝั่ง แล้วก็ยังมีพรรคอื่นๆ เช่น พรรคสร้างอนาคตไทย พรรคไทยสร้างไทย

 พูดง่ายๆ สำหรับพรรคภูมิใจไทย สนามกรุงเทพฯ หากเป็นไปตามกระแสข่าวที่ว่าจะมี ส.ส.กทม.ย้ายมาอยู่ด้วย มันก็อาจเหมือนสภาพตอนพลังประชารัฐเมื่อปี 2562 แต่ว่าผลเลือกตั้ง กทม.เมื่อปี 2562 ที่พลังประชารัฐได้ ส.ส.กทม.เข้ามาเยอะสุด ส่วนสำคัญก็เพราะได้กระแสพลเอกประยุทธ์  แล้วไปดึงคะแนนจากประชาธิปัตย์ใน กทม.มาได้ แต่ภูมิใจไทยจะไม่มีกระแสแบบพลังประชารัฐในเวลานั้น จึงต้องถามว่าภูมิใจไทยจะเอาอะไรมาช่วยทำให้ได้ ส.ส.เขตใน กทม.  เพราะดูจากตอนนี้ในพื้นที่ กทม.เขาอาจจะมีฐานคะแนน แต่สิ่งที่ขาดคือกระแสพรรค

      -หากภูมิใจไทยได้ ส.ส.มาอันดับสอง โดยพลังประชารัฐมาอันดับสาม แต่พรรคการเมืองฝั่งรัฐบาลปัจจุบันยังสามารถรวมเสียงกันแล้วเกินกึ่งหนึ่ง เป็นไปได้ไหมที่พลังประชารัฐและฝ่ายที่คุมเสียง ส.ว. 250 คน จะยอมโหวตให้อนุทินเป็นนายกฯ?

      ก็เป็นไปได้ แต่ทางพลังประชารัฐคงอยากได้คนของเขา คือพลเอกประวิตร ขึ้นมาเป็นนายกฯ มากกว่า แต่โจทย์ของพรรคพลเอกประวิตรกับพรรคพลเอกประยุทธ์คือ หากเลือกตั้งยังไงก็เอาชนะพรรคเพื่อไทยไม่ได้ แต่สิ่งที่เขาคงต้องคิดคือ จะทำอย่างไรก็ได้ต้องชนะภูมิใจไทยกับประชาธิปัตย์  เพราะหากแพ้ก็ทำให้แคนดิเดตนายกฯ ของพลังประชารัฐ ก็จะหมดความชอบธรรมในการเสนอชื่อเข้าชิงเมื่อไปเทียบกับอีกสองพรรคที่ได้ ส.ส.มากกว่า โอกาสของอนุทินหากจะขึ้นเป็นนายกฯ ก็คือ ภูมิใจไทยต้องได้ ส.ส.มากกว่าพรรคที่เสนอชื่อพลเอกประวิตรกับพลเอกประยุทธ์ โดยหากดูจากตอนนี้ก็ถือว่าอนุทินและภูมิใจไทยมีโอกาสสูง

ถ้าสูตรหาร 100 ฉลุ

พรรคเล็ก-เกิดใหม่ เลือดเข้าตา

ดร.สติธร ยังวิเคราะห์เส้นทางการเมืองของพรรคการเมืองตั้งใหม่หลังจากนี้ว่า ในมุมมองผมถ้าหากกติกาเลือกตั้งออกมาว่า คือบัตรสองใบและหาร 100 ปาร์ตี้ลิสต์ จะทำให้การแข่งขันในสนามเลือกตั้ง พวกพรรคใหม่ต่างๆ ก็คงต้องไปเน้นที่การแข่งขันในระบบเขต ไม่ใช่ปาร์ตี้ลิสต์ เพราะขนาดพรรคใหญ่อย่างเพื่อไทย จากที่เคยได้สัดส่วนปาร์ตี้ลิสต์ประมาณสี่สิบเปอร์เซ็นต์ของจำนวนที่นั่ง ผมว่าต่อไปก็ไม่ใช่แล้ว จำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพื่อไทยจะถูกแชร์โดยพรรคก้าวไกล และเลือกตั้งรอบหน้าปาร์ตี้ลิสต์ก็จะลดลงจากปี 2562 เหลือแค่ 100 ที่นั่ง ต่อให้ได้สี่สิบเปอร์เซ็นต์ก็ 40 ที่นั่ง สู้ไปลุ้นเอาชนะที่ระบบเขตดีกว่า

      และหากหากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ พรรคการเมืองตั้งใหม่ทั้งหลายแม้ต่อให้เป็นพรรคที่มีหัว ดูแล้วอาจมีทุนอยู่บ้าง เช่นพรรคของ ดร.สมคิด (สร้างอนาคตไทย) พรรคของคุณหญิงสุดารัตน์ (ไทยสร้างไทย) ก็ยังมีแนวโน้มจะได้ ส.ส.ไม่ถึงสิบที่นั่ง เพราะการไปหวังเก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์มันก็ยากมาก  หากพรรคตั้งใหม่เหล่านี้ไม่สามารถเอาชนะในระบบเขตได้ ดูแล้วแทบไม่มีทางอะไร

      ซึ่งสำหรับพรรคการเมืองขนาดเล็ก หากต้องการไปต่อทางการเมืองก็อาจจะทำในลักษณะแบบพรรคชาติพัฒนา ที่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นชาติพัฒนากล้า เพราะพรรคชาติพัฒนาก็แบกชื่อแบกประวัติเก่าๆ ตั้งแต่ยุคพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณไว้ ก็เลยต้องเป็นชาติพัฒนากล้า หลังกลุ่มของกรณ์ จาติกวณิชเข้ามาอยู่ด้วย หรืออย่างชาติไทยพัฒนา ก็ต้องแบกชื่อเก่าไว้ แต่พรรคเหล่านี้สภาพทางการเมืองมันก็ไปยาก  กับพรรคการเมืองที่มีฐานการเมืองแค่จังหวัดเดียวหรือสองจังหวัดมันไปยาก หรืออย่างที่มีข่าวกลุ่มสนธยา คุณปลื้ม  อดีตนายกเมืองพัทยา จะไปฟื้นพรรคเดิมของตัวเอง

ส่วนที่บางพรรคการเมืองเปิดใหม่ที่เปิดตัวมา พบว่าไปเน้นที่ภาคใต้ ที่ก็ถูก แต่ว่าภาคใต้ก็มี ส.ส.แค่ห้าสิบกว่าที่นั่ง  แล้วสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมว่าพวกพรรคใหม่ โอกาสจะได้ ส.ส.ก็น่าจะไม่มี ก็ทำให้เหลือแค่ประมาณสี่สิบกว่าที่นั่ง ในมุมมองผมก็เห็นว่าพรรคตั้งใหม่ควรมารวมกัน ไม่อย่างนั้นหลังเลือกตั้งพรรคเหล่านี้ก็จะเป็นพรรคต่ำสิบหมด จนทำให้พรรคที่มีความหมายทางการเมืองเหลือแค่ 4-5 พรรคเท่านั้น

สำหรับ พรรคก้าวไกล ผมมองว่าคงเหนื่อยสำหรับการเลือกตั้งรอบนี้ อย่างปาร์ตี้ลิสต์ให้เต็มที่ก็น่าจะได้ประมาณ  20 ที่นั่ง เพราะของเดิมสมัยพรรคอนาคตใหม่เขาเคยได้ป๊อปปูลาร์โหวต 16 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเทียบกับสัดส่วนปาร์ตี้ลิสต์ปัจจุบันก็เท่ากับ 16 ที่นั่ง และตอนนั้นก็ยังได้คะแนนส่วนหนึ่งจากไทยรักษาชาติโดนยุบพรรคด้วย รอบนี้ต่อให้คนไม่เอาเพื่อไทยในบัตรปาร์ตี้ลิสต์ คนรุ่นใหม่เทมาหาพรรคก้าวไกลหมด ผมว่าไปไกลสุดก็ไม่เกิน 25 ที่นั่ง อันนี้คือโจทย์ใหญ่ของก้าวไกลว่ารอบนี้จะได้เท่าไหร่ เพราะตอนปี 2562 คะแนนก็ได้มาจากไทยรักษาชาติโดนยุบพรรค และพบว่าส.ส.เขตอนาคตใหม่ที่ชนะเพื่อไทยก็มีแค่ไม่กี่เขต ซึ่งกรณีของก้าวไกลผมว่าคะแนนจะสวิงมาก เพราะหากดูจากระบบเขตก็จะพบว่า คะแนนของเพื่อไทยกับก้าวไกลเป็นคะแนนที่มีฐานคะแนนก้อนเดียวกัน ที่ขึ้นอยู่กับว่าคนจะตัดสินใจเลือกพรรคไหนระหว่างเพื่อไทยกับก้าวไกล

        -มองอนาคตพรรคประชาธิปัตย์อย่างไรบ้าง มีโอกาสฟื้นหรือไม่ เพราะก็ยังมีกระแสข่าวจะมี ส.ส.หลายคนอาจย้ายพรรค อาจมีเลือดไหลออกไปอีก?

      วันนี้อนาคตประชาธิปัตย์ไม่ได้อยู่ในมือตัวเอง แต่อยู่ในมือของผู้มีอำนาจในทางการเมืองว่าเขาจะเล่นเกมอย่างไร ที่ก็คือ กลุ่ม 3 ป. อย่างสมมุติเขาบอกว่า เพื่อที่จะทำให้พวกเขากลับมามีอำนาจอีกครั้ง เขาต้องได้ ส.ส.ในภาคใต้ให้ได้เยอะที่สุดให้ได้ หรือบอกต้องเอา กทม.ด้วย แบบนี้ประชาธิปัตย์ก็เหนื่อย

 สภาพประชาธิปัตย์จะเหมือนตอนเลือกตั้งปี 2562 แต่อาจจะหนักกว่าเดิมอีก เพราะฝ่ายผู้มีอำนาจก็คงมองแล้วว่า ก็ไม่รู้จะไปพื้นที่ตรงไหน ก็เหลือแค่ภาคใต้กับ กทม. ที่เขาคงมองว่าจะเลือกฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามฝ่ายเพื่อไทยชัดๆ ซึ่งสองพื้นที่นี้คือภาคใต้กับ กทม. ถ้าฝ่ายผู้มีอำนาจต้องการแบบนี้ ผลก็จะไปกินฝ่ายประชาธิปัตย์ แล้วประชาธิปัตย์ หากจะยอมเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดในอนาคต เพราะหากไปแข็งขืนก็เสร็จ อย่างน้อยก็อาจรอร่วมรัฐบาลเหมือนที่เป็นรอบนี้ แต่พรรคก็ต้องยอมเล็กลงไปจากเดิมอีก ยกเว้น 3 ป. เปลี่ยนเกมเล่น คือหากจะสู้กันจริงๆ กับอีกฝั่ง พื้นที่ กทม.กับภาคใต้ ทาง 3 ป.อาจคิดว่าจะยอมให้ประชาธิปัตย์ถือธงนำจะง่ายกว่าหรือไม่

 ผมมองว่าเขาอาจต้องวางยุทธศาสตร์กันแบบรายพื้นที่ เช่น ภูมิใจไทย คุณแข็งที่ไหนก็ดันให้เต็มที่ไปเลย เช่นเดียวกับประชาธิปัตย์ พื้นที่ไหนแข็งก็ดันไปเลย แล้วพื้นที่ไหนที่ภูมิใจไทยกับประชาธิปัตย์ไม่ค่อยแข็งเท่าไหร่ ก็ดันพรรคลุงตู่ ลุงป้อมลงไปสู้ แล้วเอาสามพรรคนี้มาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลหลังเลือกตั้งรอบหน้า คือไม่หักกันเยอะ เพราะยังไงทั้งสามส่วน คือภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ พรรคลุงตู่ ลุงป้อม การจะได้เป็นพรรคอันดับหนึ่งก็เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว แต่อย่างน้อยทำให้รวมเสียงกันแล้วสามารถเข้าไปโหวตเลือกนายกฯ หลังเลือกตั้งได้พอแล้ว ชนิดแบบไม่ต้องหน้าบาง คือหากจะเอาคนจากพรรคไหน แม้ได้มาเช่น 60 เสียง ก็สู้กับพรรคที่ได้สองร้อยเสียง (เพื่อไทย)

      เพราะผมมองว่าจากผลการเลือกตั้ง กทม.ที่ผ่านมา หลายพรรคมีบทเรียนเรื่องการตัดคะแนน ก็อาจทำให้พรรคการเมืองเช่นฝ่ายรัฐบาลเวลานี้อาจมีการคุยกันเรื่องว่าจะเอาอย่างไร เช่นจะมีการถอยให้กันในบางพื้นที่หรือไม่ เพราะหากวางแผนการเลือกตั้งโดยคำนวณแล้ว เช่นบางพื้นที่ ประชาธิปัตย์ตัดกับภูมิใจไทย เพื่อไทยตัดกับก้าวไกล พอคำนวณไปคำนวณมาพบว่าแพ้หมด แบบเลือกตั้ง ส.ก. เขาอาจไม่เอา เพราะหากแข่งกันเองแบบตอนเลือกตั้งปี 2562 มันจะยากกว่าเดิม

      -ที่คุยกันตอนนี้เดือนตุลาคม หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นปีหน้า 2566 มองว่าพรรคการเมืองขั้วรัฐบาลปัจจุบันมีโอกาสกลับมาเป็นรัฐบาลหลังเลือกตั้งหรือไม่?

      ผมว่ายาก เพราะอย่างที่บอกมันไม่มีความชัดเจนจากทั้งพรรคลุงตู่ พรรคลุงป้อม มีแต่พรรคลุงป้อมพรรคเดียวที่อาจพอไปได้ แต่หากดูจากตอนนี้อาจไม่พอแล้ว เพราะคนในพรรคก็ไม่รู้จะแยกย้ายไปไหนกันหมด พรรคลุงตู่ก็ยังไม่ชัด ผมว่าเขาคงต้องการเวลารอดูอะไรบางอย่างก่อนสักพัก แล้วค่อยตัดสินใจว่าจะเอายังไงแน่ แต่สุดท้ายก็คงจะเคาะออกมาภายใต้ scenario ที่เจ๋งที่สุดสำหรับฝ่ายตัวเอง

      คือวันนี้ผมยังไม่อยากเรียกพลังประชารัฐ เพราะมันพูดยาก เพราะพรรคการเมืองของพลเอกประยุทธ์กับพรรคของพลเอกประวิตร อยากเรียกว่าพรรคลุงตู่ พรรคลุงป้อม เพราะพลังประชารัฐก็ไม่ได้วางฐานการเมืองของตัวเองแบบจริงจังในหลายที่ แล้วแบบนี้จะทำให้เป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ต่อไปได้ยังไง

      อย่างที่ผมบอกตอนต้นว่าอาจจะมีการยุบสภาหลังการประชุมเอเปก ที่หลังประชุมเสร็จสิ้นลง แม้ภาพลักษณ์ของพลเอกประยุทธ์จะดีมาก คะแนนนิยมขึ้นมาแล้ว แต่การตัดสินใจจะยุบสภา เขาก็คงต้องดูด้วยว่าตัวแบ็กอัปของพลเอกประยุทธ์ คือพรรคของลุงตู่ จะเป็นอย่างไร จะกลับมาเดินเครื่องเต็มที่ได้หรือยัง มีทุนไหลเข้าเต็มที่แล้ว หลังเอเปกก็อาจใช้เวลาอีกสักหนึ่งเดือนแล้วยุบสภา ก็อาจจะไหว ซึ่งพรรคลุงตู่ดังกล่าวอาจจะเป็นรวมไทยสร้างชาติก็ได้ หรือจะเป็นพลังประชารัฐ แต่ก็ต้องดูว่าพลเอกประยุทธ์จะอยู่คู่กับพลเอกประวิตรหรือไม่ แต่พรรคลุงตู่ หากพลเอกประยุทธ์ไปที่รวมไทยสร้างชาติ แกก็จะมีชื่อใหญ่ แล้วลุงป้อมก็ไปมีชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ อีกพรรคหนึ่ง ก็คือต่างคนต่างไป แยกกันเดิน รวมกันตี มันก็เป็นไปได้ ผมถึงได้บอกว่าพรรคลุงตู่ ถึงตอนนี้มันดูไม่ชัดว่าจะเอาไงดี เพราะดูแล้วมันยังมีวิธีไปได้อีกหลายทาง แต่หากพลเอกประยุทธ์จะอยู่กับพลังประชารัฐ มันก็ง่ายดี ในแง่ของการที่ว่ามันมีพรรคอยู่แล้ว ก็อาจมีการไปเรียกพรรคพวกเก่ากลับมา เช่นบางคนที่กำลังคิดไปรวมไทยสร้างชาติ ก็บอกให้กลับมา แล้วเดินหน้าในนามพลังประชารัฐพรรคเดียว แต่กรณีนี้คือพลเอกประยุทธ์อยู่พลังประชารัฐ จะอยู่บนเงื่อนไขเดียวคือ สามชื่อในบัญชีแคนดิเดตนายกฯ ของพลังประชารัฐ ทั้งพลเอกประวิตร พลเอกประยุทธ์ และอีกหนึ่งชื่อ ต้องไปด้วยกันได้ แต่หากว่ามันไปไม่ได้ในโมเดลแบบนี้ ก็มองว่าก็อาจต้องไปโมเดลสองพรรค ก็ต้องให้มีรวมไทยสร้างชาติไว้อีกหนึ่งพรรค ไว้ไปเดินทางการเมืองต่อไป แล้วพลังประชารัฐ ทางพลเอกประวิตรก็ทำไป แล้วสองพรรคนี้ก็ไปเจอกันที่สภาหลังเลือกตั้ง

ผมถึงมองว่าตรงนี้ เกมมันยังไม่จบ ผมถึงนิยามไว้ว่าพรรคลุงตู่ พรรคลุงป้อม เพราะมองว่ามันยังไม่ชัดสำหรับทั้งสองคนนี้ แต่สองคนนี้แนวโน้มคือลงเป็นแคนดิเดตนายกฯ แน่นอน เพียงแต่ว่าจะพรรคเดียวกันหรือคนละพรรค อันนี้ก็จะเป็นเงื่อนไขว่าการเมืองไทยจะไปทางไหนด้วย แผนเลือกตั้งจะออกมายังไง ก็อยู่ที่แผนการของสองคนนี้ด้วย

2566 การเลือกตั้ง

เพื่อพิสูจน์ความเป็นขั้วการเมือง

      -โฉมหน้าการเลือกตั้งรอบหน้าจะเป็นแบบไหน ยังจะมีลักษณะการโหวตแบบเลือกขั้วอยู่หรือไม่

      ผมว่าเรื่องแบบเลือกขั้วยังจะมี คือการชูแบบเลือกว่าจะเอาประยุทธ์ ไม่เอาประยุทธ์อาจจะยังพอมี หากพลเอกประยุทธ์ยังลงสมัครเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ทำให้ประเด็นนี้ยังไง ก็ต้องมีด้วยส่วนหนึ่งในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ส่วนเรื่องว่าประชาธิปไตยหรือไม่ประชาธิปไตย มันก็ไม่ชัดแล้ว เพราะเลือกตั้งปี 2562 มันชัด เพราะเป็นการเลือกตั้งในช่วงรัฐบาลทหาร การเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ผมมองว่าจะเป็นแนวแบบอุดมการณ์มากขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง อุดมการณ์แบบจะ รื้อหรือไม่รื้อโครงสร้างใหญ่ของประเทศ แต่จะตีคู่ไปกับภาคปฏิบัติคือการแก้ไขปัญหา แปลว่าตัวหลังต้องวัดกันด้วยว่าแต่ละพรรค เอาใครมาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่จะทำให้เกิดความหวังได้ว่าจะสามารถจัดการกับปัญหาที่มันซับซ้อนของประเทศได้มากขนาดไหน

      ส่วนเรื่อง รื้อหรือไม่รื้อโครงสร้างใหญ่ของประเทศ เป็นเรื่องของจุดยืนโดยรวม คือจะไม่ใช่การรวมขายแพ็กเกจนโยบายแบบง่ายๆ เหมือนเมื่อก่อน ที่จะมาบอกว่าถ้าเข้าไปเป็นรัฐบาลแล้วจะมีนโยบายเศรษฐกิจด้านต่างๆ อย่างไร คือพรรคการเมืองขายนโยบายได้ แต่พรรคการเมืองก็ต้องนำคนที่จะเข้าไปทำ มาให้ประชาชนเห็นด้วยว่าหน้าตาเป็นอย่างไร แล้วคนจะดูว่าน่าจะทำได้หรือไม่ได้

      "การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นจะเป็นการเลือกตั้งที่จะทำให้ความเป็นขั้วการเมือง เกิดการเคลียร์กันรอบใหม่ จัดหน้ากระดานอำนาจกันใหม่ อย่างเพื่อไทยบอกว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย แต่คนก็อยากรู้ว่าแค่ไหน เพราะเฉดประชาธิปไตยของก้าวไกลกับเพื่อไทยมันคนละแบบ แต่วันนี้มันเหมือนอยู่ฝ่ายเดียวกัน แต่หลังเลือกตั้งมันจะชัดขึ้นว่าจริงๆ แล้วสองพรรคนี้ควรอยู่ขั้วเดียวกันหรือไม่ จะเป็นการเลือกตั้งที่เป็นบทพิสูจน์ความเป็นขั้ว"

      เพราะอย่างเพื่อไทย หากชนะเลือกตั้งแล้วตั้งรัฐบาลโดยรวมเสียงกับฝ่ายค้านปัจจุบัน เช่นก้าวไกลรวมกันแล้วได้เกิน 300 เสียง การตั้งรัฐบาลก็ต้องไปตามนี้ เพราะหากจะบอกว่าไม่เอาก้าวไกล จะไปรวมกับพรรคลุงป้อมคงไม่ได้ แต่หากวันไหนอยู่กันไปแล้วมันไม่เข้าทางเพื่อไทย ทางเพื่อไทยบอกว่าจับมือกับพรรคลุงป้อมดีกว่า เพื่อไทยก็อาจจะไม่จับมือกับก้าวไกลเป็นรัฐบาล

ทำให้หากออกมาเป็นแบบนี้คือเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคลุงป้อม พรรคฝ่ายค้านก็จะนำโดยก้าวไกลกับประชาธิปัตย์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นพวกเดียวกัน แต่ต้องมาเป็นฝ่ายค้านด้วยกัน ทำให้ที่บอกกันวันนี้ว่าพลังประชารัฐรวมกับประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาลกันได้ แต่จริงๆ ถึงตอนนั้นอาจไม่ใช่ จนคนที่เลือกบางพรรคการเมืองตอนเลือกตั้ง อาจรู้สึกตอนหลังเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลว่าเลือกผิดข้างไปแล้ว เพราะจริงๆ แล้วทางเพื่อไทยกับพลังประชารัฐ จับกันอยู่ แล้วเลือกตั้งรอบต่อๆ ไปก็อาจจะสวิงกลับไปแบบเดิมเหมือนตอนนี้ คือมันจะเกิดการเคลียร์ขั้วกันใหม่”.   

......................................................................................................................................................................................

ฉากการเมืองไทยหลังเลือกตั้ง

โอกาส 'พท.+พปชร.' จับมือตั้งรัฐบาล

      ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินสถานการณ์การเมืองไทย ในช่วงต่อจากนี้ไปจนถึงที่จะมีการเลือกตั้งใหญ่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีหน้า 2566

      โดยเมื่อถามมุมมองว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเห็นการจับมือกันตั้งรัฐบาลสองพรรค ระหว่างเพื่อไทยกับพลังประชารัฐผ่าน "ดีลลับ” ระหว่างดูไบกับป่ารอยต่อฯ โดยมีธรรมนัส พรหมเผ่า ที่อาจกำลังจะเข้าเพื่อไทย เป็นตัวกลางประสาน ดร.ไชยันต์ ให้ความเห็นว่า ทั้งเพื่อไทยและพลังประชารัฐคงไม่ประกาศในตอนหาเสียงว่าจะจับมือกัน แต่จะพูดลอยๆ ว่าต้องดูคะแนนที่ออกมา แต่การจะจับผสมกันนั้นจะมีลีลาอีกมากมาย ต้องตีเนียนทั้งสองฝ่าย ไม่งั้นพังทั้งคู่

      -หลังการเลือกตั้งมีโอกาสที่การจัดตั้งรัฐบาล จะเปลี่ยนไปอยู่ขั้วเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่?

เป็นไปได้ที่เพื่อไทยจะมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่ก็เฉียดฉิวกับภูมิใจไทย ส่วนสมาชิกวุฒิสภาก็พร้อมที่จะลงให้กับพรรคแรกที่รวมเสียงได้เกิน 250 แต่ถ้าไม่มีพรรคใดรวมได้เกิน 250 และทั้งสองฝ่าย ใกล้เคียงกัน ก็จะตัดกันที่คะแนน สว. ซึ่งก็พอจะเดาได้ว่าจะไปทางไหน มิใช่หรือ

ส่วนเส้นทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กับพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นมองว่า ในกรณีลุงตู่ที่จะอยู่ได้อีกแค่ถึง 2568 (ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีแปดปี) จะมีนักการเมืองมากแค่ไหนที่จะยอมลงทุนกับลุงตู่สองปี และให้ลุงป้อมรับไม้ต่อ หากลุงตู่เกิดได้เป็นนายกรัฐมนตรี โดย ส.ส. พปชร.ก็ดี หรือพรรคร่วมรัฐบาลก็ดีรู้ว่าลุงอยู่แค่สองปี ก็จะเกิดปัญหา ไม่เชื่อฟังลุงตู่เท่าไรนัก เพราะต้องฟังลุงป้อมด้วย อาการจะหนักกว่าที่เคยเป็นมา ปัญหาข้าสองเจ้าบ่าวสองนาย คนเป็นเจ้าเป็นนายจะลำบาก การวางตัวรัฐมนตรี การบริหารราชการ จะมีแต่ปัญหาไม่ราบรื่น แต่ถ้าลุงตู่ไปอยู่พรรคอื่น เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคอื่น แล้วลุงป้อมเป็นแคนดิเดต พปชร. ก็จะแก้ปัญหาไปได้ระดับหนึ่ง แต่ก็จะกลายเป็นแข่งกันเอง ตัดคะแนนกันเอง คนที่เชียร์ลุงตู่ จะไม่ลงให้ลุงป้อมและ พปชร.เลยทั้งสองใบ ต่อให้ลุงป้อมและพลังประชารัฐ ประกาศว่าหากพรรคลุงตู่ได้คะแนนเยอะกว่า ก็จะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ แต่ก็อีกนั่นแหละ จะไม่ใช่ปัญหาข้าสองเจ้าบ่าวสองนาย แต่กองเชียร์จะซัดกันเอง หนักเลย                

...แต่ปัญหาแบบนี้จะหมดไปได้ หากลุงตู่ประกาศวางมือ เพราะกองเชียร์ลุงตู่ที่เป็นแฟนประเภทเกลียดนักการเมือง อาจจะหันมาลงคะแนนให้ลุงป้อมและ พปชร. หากลุงตู่อ้อนว่า ถ้ารักลุงตู่ก็ควรรักลุงป้อมในฐานะตัวตายตัวแทน แต่แฟนลุงตู่ที่ไม่ได้เกลียดนักการเมืองจนเกินไป ก็จะกวาดตาดูแคนดิเดตของพรรคการเมืองอื่นๆ แต่ก็อย่างที่กล่าวไป หากมีตัวแคนดิเดตหน้าใหม่ที่ทั้งลุงตู่และลุงป้อมหามาแทนลุงตู่ได้ พลังประชารัฐก็อาจจะมีทางพอไปต่อได้ โดยมีพรรคอื่นๆ ที่เป็นฝ่ายสนับสนุนพร้อมใจกันประกาศเชียร์แคนดิเดตคนนั้น ซึ่งก็อาจจะเป็นพลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร. อย่างที่สื่อคาดเดาไว้ก็ได้  

-ในส่วนของเพื่อไทยมีโอกาสได้ ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งแบบแลนด์สไลด์หรือไม่ เพราะอะไร?

เกินกึ่งหนึ่งมันยาก ตัวหารมันเยอะ ส่วนแลนด์สไลด์ไม่ต้องพูดถึง แต่ก็น่าจะมาเป็นอันดับต้นๆ แต่จะมีปัญหาเรื่องการกำหนดตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และการจัดตัวคนลงในระบบบัญชีรายชื่อ นักการเมืองเก่าคืนรัง ต่างก็มีผลงาน เพราะไทยรักไทยถูกยุบ นักการเมืองระดับกรรมการบริหารพรรคที่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองถูกตัดสิทธิ์ ส่งผลให้อีกรุ่นหนึ่งแจ้งเกิดเป็นกรรมการบริหารพรรคและเป็นรัฐมนตรีสมัยพลังประชาชน ต่อมาถูกยุบอีก ทำให้อีกรุ่นหนึ่งแจ้งเกิดมีตำแหน่งเช่นกัน

 มาวันนี้ กระบี่รุ่นหนึ่ง สอง สาม ก็กลับสำนักกันหมด ไม่รู้จะจัดแถวกันยังไง แต่เชื่อว่านายใหญ่ของพรรคสั่งได้ ให้เล่นเก้าอี้ดนตรียังไงถ้าได้จัดตั้งรัฐบาล

ทั้งเพื่อไทยและพลังประชารัฐคงไม่ประกาศในตอนหาเสียงว่าจะจับมือกัน แต่จะพูดลอยๆ ว่าต้องดูคะแนนที่ออกมา แต่การจะจับผสมกันนั้นจะมีลีลาอีกมากมาย ต้องตีเนียนทั้งสองฝ่าย ไม่งั้นพังทั้งคู่

-ในส่วนของพรรคก้าวไกลประเมินว่าอย่างไรบ้าง มีโอกาสได้ ส.ส.มากน้อยแค่ไหน?

น้อยลงกว่าตอนเลือกตั้งปี 2562 แต่ก็ยังจะมี ส.ส.เข้าสภา เพราะคนรุ่นใหม่วัยสิบแปดปีในปีนี้ และสามปีที่แล้ว ก็จะลงคะแนนให้ก้าวไกลพอสมควร อีกทั้งเขายังหาเสียงแบบฮาร์ดคอร์ คือสุดโต่ง หวังได้ใจแฟนพันธุ์แท้ แม้จะไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ถ้าเขาครองใจแฟนพันธุ์แท้นี้ไว้ได้ เขาก็มาแน่ และคนที่ลงให้ก็ไม่สนด้วยว่าหน้าตาแคนดิเดตและบัญชีรายชื่อจะเป็นอย่างไร รวมทั้งผู้สมัครเขตจะมีประสบการณ์หรือคุณสมบัติทางด้านความรู้ไหม ขอให้มีอุดมการณ์แบบเดียวกับพรรคและคณะเป็นพอ แต่เมื่อหารร้อยด้วย เก้าอี้ในสภาของพรรคก้าวไกลก็จะไม่มาก แต่พวกเขารอได้

สำหรับ พรรคประชาธิปัตย์ มองว่ายังไม่ฟื้น ในกรุงเทพฯ ลำบาก ภาคใต้ก็ใช่จะดี รักษาไว้ได้เท่าเดิมเหมือนปี 2562 ก็เหนื่อย คนใต้เบื่อลุงๆ ก็มี ยังรักก็มี แล้ว ปชป.จะประกาศจุดยืนของตัวเองอย่างไร เสนอหัวหน้าพรรคเป็นนายกฯ ก็เสียเสียงคนรักลุง เสนอว่าจะสนับสนุนลุงๆ ก็เสียเสียงคนเบื่อลุงๆ หึๆ เล่นยากอยู่

ขณะที่พรรคภูใจไทยก็มีโอกาสจะได้ ส.ส.ถึง 120 คน และแม้อนุทินจะประกาศว่าถ้าถึงก็พร้อมเป็น แต่คิดว่าเขารอได้ รอจังหวะดีๆ ไม่จำเป็นต้องผลีผลาม อย่างที่เคยให้สัมภาษณ์ไปกับไทยโพสต์ว่า ภูมิใจไทยเหมือนจระเข้ นอนอ้าปากรอ ใครๆ ก็มา ไม่ท้าตีท้าต่อยใคร ผลงานมี ครูใหญ่ (เนวิน) ก็ธูปใหญ่ ไฟแรง ไม่มีตก มีแต่เพิ่ม อย่างไรก็ดีเชื่อว่าก่อนเลือกตั้งคงมีปรากฏการณ์และข้อมูลอะไรให้วิเคราะห์พยากรณ์ได้ชัดเจนขึ้นมากกว่านี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..

รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ

เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก

คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!

เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย

ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?

การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก