ผ่าระบบการศึกษาในบริบท 'สังคมการเมืองไทย'...อนาคตจะไปต่อกันยังไง(วะ!)?

ถ้าคลี่ปมการศึกษาในบริบทสังคมการเมืองไทย ก็จะพบเหตุปัจจัยที่บ่ม อม ครอบงำ หลายมิติ จนทำให้ระบบการศึกษาฟอนเฟะ ล้าหลัง ปรับตัวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าของโลกใบใหม่ ยิ่งถ้านำไปเทียบเคียงกับกลุ่มการศึกษาที่มีความก้าวหน้าตามที่ OECD ศึกษาไว้ จะพบว่าการศึกษาไทยนั้นต่างกับกลุ่มที่มีความก้าวหน้าลิบลับ ไม่ว่าจะเป็นของเซี่ยงไฮ้ สิงคโปร์ ฟินแลนด์ ออสเตรเลีย ฯลฯ

ถ้าเจาะส่องดูถึงเหตุปัจจัยของความล้าหลังที่แฝงฝังอยู่ในการบริหารจัดการการศึกษา การพัฒนาทุนมนุษย์ ผ่านบริบทสังคมการเมืองไทยก็คงสัมผัสเห็นหลากมิติทีเดียว!!!

เริ่มจากส่วนแรกว่าด้วย “ค่านิยมทางสังคม” ที่มีต่อเรื่องการศึกษา ค่านิยมที่ผูกติดกับการศึกษาเป็นค่านิยมที่คร่ำครึ ยึดโยงยึดกับ “ปริญญาบัตร” และ “การจัดชั้นการศึกษาตามปริญญาบัตร” เป็นสำคัญ เป็นความคิดค่านิยมแบบรัฐราชการ ขุนนาง อำมาตย์ในโลกเก่า ที่พึ่งพา เกาะติดอยู่กับระบบอุปถัมภ์ การศึกษาจึงมีสภาวะแบบมุ่งยกตนข่มท่าน ตะเกียกตะกายวิ่งหาศูนย์กลางอำนาจ มากกว่าจะเป็นมิติการให้คุณค่าเรื่องความรู้ ทักษะ ความเก่ง การปฏิบัติลงมือทำ หรือการสร้างสรรค์แบบผู้ประกอบการ ตลอดจนการประดิษฐ์คิดสร้างที่มุ่งความก้าวหน้า ก้าวพ้นจากกรอบความคิดแบบเดิมๆ ฯลฯ ค่านิยมทางสังคมในร่มเงาการศึกษาเยี่ยงนี้ส่งผลให้ระบบการศึกษาย่ำวนลึกอยู่ในความคิดมุมมองที่คร่ำครึของโลกใบเก่า ไม่อาจปรับตัวหลุดจากกับดักความคิดค่านิยมทางสังคมที่มีกฎหมายครอบงำไว้แน่นได้! การจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของผู้คนในสังคมจึงสมาทานตามบัตรใบของวุฒิการศึกษา มากกว่าการประจักษ์คุณค่าต่อศักยภาพ ความเก่ง ความรู้ ความมานะพยายามของบุคคล นี่คือพื้นฐานเบ้าหลอมความคิดการมองถึงคุณค่าคนที่อัปยศยิ่ง!!!

ส่วนที่สอง บริบทของสังคมการเมืองขาด “การสร้างภาวะผู้นำ” ระบบรัฐราชการเน้นการเป็นผู้ตามและการจำนนต่อระบบระเบียบเป็นสำคัญ แต่ระบบระเบียบ การนำไม่มีการปรับตัว หรือปรับตัวช้าจากความเทอะทะ-เลอะเทอะของระบบที่อัดแบกไว้จนซับซ้อนหนักอึ้ง ภาวะผู้นำจึงแปลกปลอมจากอำนาจและพิธีกรรมที่รัฐราชการให้ความสำคัญ หรือไม่ก็แปรนัยการเป็นผู้นำจากพฤติกรรมการตามและการประจบสอพลอ การตามใจ การจัดสรรผลประโยชน์ที่ผู้บริหารต้องการ! ภาพรวมของบริบทสังคมการเมืองที่ขาดการสร้างภาวะผู้นำหรือสร้างภาวะผู้นำแบบสามานย์! ส่งผลให้การบริหารการศึกษาให้ความสำคัญเรื่องโครงสร้างอำนาจ การจัดสรรอำนาจ และระบบระเบียบการบังคับบัญชาสั่งการ จนถึงการแสวงประโยชน์โพดผลในกลไกการศึกษาในลำดับชั้นของกรอบโครงสร้างอำนาจต่างๆ มากกว่าจะเน้นการสร้างความรู้ ความก้าวหน้า การปรับตัว การพัฒนาการเรียนรู้และทักษะที่เชื่อมโยงกับการปรับตัวของโลกใบใหม่ การพัฒนาวิชาชีพหรือการให้ความสำคัญสนับสนุนการปรับตัวพัฒนาทักษะแบบต่อเนื่อง เป็นจริง! ระบบการศึกษาจึงผูกโยงกับโครงสร้างอำนาจรัฐราชการอย่างเหนียวแน่น ไม่มีพื้นที่สำหรับความก้าวหน้า การปรับสร้างให้ทันความเปลี่ยนแปลงกระแสโลกใบใหม่แต่อย่างใด ที่มีอยู่บ้างก็เป็นแบบขาดๆ เกินๆ เป็นโครงการสั้นๆ เป็นละครเศร้าฉากที่จบลงง่ายๆ อย่างขาดความรับผิดชอบ!

ส่วนที่สาม มิติ “การอุดหนุนและประเมินผลในระบบการศึกษา” เป็นอีกมิติที่มีรูปแบบ กรอบโครงงานชัดในมิติของอำนาจ เป็นอำนาจแบบสั่งการจากบนลงล่าง (Top-down) ที่เป็นแก่นแกนสำคัญของอำนาจสั่งการ กำกับลงมาจากโครงสร้างส่วนบน ละเลยมิติความสร้างสรรค์เป็นตัวของตัวเอง หรือโลกแวดล้อมที่แตกต่างหลากหลาย และไม่ได้ใส่ใจให้คุณค่าความเก่ง ทักษะความรู้ที่โดดเด่น เชื่อมโยงกับการประดิษฐ์คิดสร้างที่ก้าวหน้าทันโลก! โลกของความก้าวหน้าโดดเด่น ทักษะ สร้างสรรค์เป็นสิ่งแปลกปลอมน่าหวั่นไหวสำหรับอำนาจ การสั่งการ เป็นความแปลกแยก ความเป็นอื่นของการอุดหนุนและการประเมินผลในระบบการศึกษา เพราะถูกมองว่าไม่สยบยอม ไม่เคารพต่อกติกา ไม่มีในสารบบการประเมิน ไม่ภักดีต่อการอุปถัมภ์ ไม่ก้มให้ผู้มีตำแหน่ง/อำนาจของรัฐราชการ นี่คือความล้าหลังที่ต่ำทราม ที่มีภาคปฏิบัติเครือข่ายรัฐราชการคิดและใช้บั่นทอนผู้เกี่ยวข้องให้ตกอยู่ใต้สภาวะการกดข่ม และซากระบบระเบียบที่ล้าหลังอย่างสิ้นคิด นี่คืออีกมิติที่สามานย์ยิ่ง!

ส่วนที่สี่ เป็นบริบทสังคมการเมืองที่ขับเคลื่อน “ภาพรวมการบริหารจัดการการศึกษาไทย” ต้องชี้ชัดว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่วนอยู่ในกลไกอำนาจรัฐราชการและการเมืองที่คอร์รัปชันแสวงประโยชน์! กรอบโครงสร้างหลักในบริบทสังคมการเมืองที่เป็นอยู่ เป็นกรอบโครงสร้างการบริหารที่ล้าหลัง เน้นอำนาจ สร้างความประจักษ์ตนแบบผิดทิศผิดทาง ขาดความรู้ สติปัญญา ภาพรวมในการขับเคลื่อนการศึกษาจึงทำให้การศึกษากลายเป็นเศษซากความถดถอยล้าหลัง เคลื่อนเป็นเส้นขนานกับความก้าวหน้าในโลกยุคใหม่ ปิดตัวอยู่ในมุมแคบของวิธีคิด มากด้วยวาทกรรมตามมิติทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ที่เลื่อนลอย เลื่อนไหลไปตามกลไกอำนาจ มีความย้อนแย้งในตัวเองสูง มีความกำมะลอเป็นแก่นแกน แต่โดดเด่นในการกดข่มผ่านระบบโครงสร้างและอำนาจ มีกฎหมาย ระบบระเบียบ และตำแหน่งแห่งที่ของบุคคลรองรับ! นี่คือชะตากรรมที่น่าเวทนาของการศึกษา การพัฒนาทุนมนุษย์ในยุคที่โลกก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงก้าวกระโดดในศตวรรษที่ 21!

ไม่แปลกเลยที่คนที่พยายามขับเคลื่อนการศึกษาสู่ความก้าวหน้าใหม่ เอาตัวไปอยู่ในพื้นที่เคลื่อนไหวของโครงสร้างการศึกษาในบริบทสังคมการเมืองไทยวันนี้จะหนักหนาสาหัสมากมาย ต้องใช้แรงบันดาลใจมหาศาลสักเพียงใด! การปรับตัวยกระดับความรู้ ทักษะใหม่ให้ทันโลกใบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปรวดเร็ว ต่อเนื่อง ก่อเคลื่อนพลวัตเปลี่ยนแปลงรวดเร็วไม่หยุดนิ่ง! ฯลฯ และถ้ายังการสร้างการศึกษา การพัฒนาคนแบบหื่นอำนาจ หิวผลประโยชน์ ฝังตัวกับระบบที่ล้าหลังแน่น ที่เป็นอยู่วันนี้ พรุ่งนี้จะมีสภาพเช่นไร?!?.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อภิสิทธิ์-อดีตนายกรัฐมนตรี มอง 'จุดเสี่ยง' รัฐบาลเพื่อไทย ระเบิดการเมือง วางไว้เองหลายลูก

แม้ขณะนี้จะไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองใดๆ แต่สำหรับ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์" การแสดงทัศนะหรือความคิดเห็นทางด้านการเมือง

ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..

รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ

เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก

คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!

เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย

ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?

การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก