เส้นทางการเมืองและความในใจ ปวิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช-หน.พรรคเพื่อชาติ เดินหน้ารีแบรนด์พรรค สู้ศึกเลือกตั้ง

หลังเมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา ที่ประชุมใหญ่วิสามัญพรรคเพื่อชาติ มีการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ โดยเลือก น.ส.ปวิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช หรือ ฮาย ประธานสโมสรฟุตบอล เชียงราย ยูไนเต็ด บุตรสาว นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร  เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อชาติคนใหม่ สิ่งที่หลายคนอยากรู้กันก็คือ แล้ว ฮาย-ปวิศรัฐฐ์ ในวัย 30 ปี ที่ถือเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีอายุน้อยที่สุดคนหนึ่งในบรรดาหัวหน้าพรรคการเมืองปัจจุบัน จะขับเคลื่อนพรรคเพื่อชาติที่ปัจจุบันเป็นพรรคฝ่ายค้านต่อไปอย่างไรหลังจากนี้ รวมถึงย่อมอยากรู้ว่าจากอดีตคนในวงการฟุตบอล วงการกีฬา  เมื่อเดินเข้าสู่ถนนการเมือง ปวิศรัฐฐ์ วางเป้าหมายทางการเมืองต่อจากนี้อย่างไร หลังพี่ชาย ฮั่น-มิตติ ก็เคยเป็นอดีตเลขาธิการพรรคไทยรักษาชาติ ส่วนพี่สาว โฮม-ปิยะรัฐชย์ ปัจจุบันก็เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติ

เราจะเป็นพรรคเพื่อชาติรูปแบบใหม่หรือเกิดใหม่ขึ้นมาเลย จะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง..จะเป็นการรีแบนด์ที่จะตอบโจทย์ของคำว่า เราจะเป็นตัวจริงในสนามการเลือกตั้ง ตอบโจทย์ว่าเราจะเป็นพรรคการเมืองที่ยั่งยืน

ก่อนจะไปคุยกันถึงเรื่องการขับเคลื่อนทางการเมืองของพรรคเพื่อชาติ ฮาย-ปวิศรัฐฐ์ เล่าถึงประวัติส่วนตัวและเส้นทางการทำงานก่อนหน้าจะเข้าสู่ถนนการเมืองไว้ว่า เป็นลูกสาวคนเล็กของคุณพ่อยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานรัฐสภา โดยโตมาที่จังหวัดเชียงราย เรียนที่โรงเรียนอนุบาลเชียงราย จนเมื่ออายุ 11 ขวบรู้สึกว่าอยากเผชิญโลกกว้าง จึงได้ตัดสินใจขอไปอยู่โรงเรียนประจำตั้งแต่อายุ 11 ขวบ หลังจากนั้นก็ยาวเลยเรียนที่โรงเรียนสาธิตปทุมวัน, เตรียมอุดมศึกษา โดยช่วงเรียนมัธยมศึกษาได้ไปลงเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงด้วย จากนั้นเรียนปริญญาตรีที่คณะนิติศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบเนติบัณฑิต ต่อมาก็ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ London School of  Economics (LSE) ที่ประเทศอังกฤษ เป็นเวลาหนึ่งปี โดยเรียนด้านกฎหมาย

ระหว่างทางดังกล่าว ฮายทำหลายอย่างมากอยู่ในหลายวงการมาก เช่นได้มีการไปฝึกงานที่ Law Firm  รวมถึงที่สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่วงการกฎหมายอย่างเต็มตัว แต่ก่อนหน้านั้นรู้สึกว่าตัวเองอยากเป็นนักลงทุนด้วย ผนวกกับมีความสนใจเรื่องอสังหาริมทรัพย์ จึงได้ลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงตอนนี้ และอยากเป็นเจ้าของกิจการ อยากจะรู้ว่า SME ไปรอดในกรุงเทพฯ หรือไม่ จึงไปเปิดร้านซักรีดของตัวเอง ด้วยการใช้เงินทุนหลังจากที่ทำอสังหาริมทรัพย์แล้ว โดยเป็นร้านเล็กๆ ซึ่งการทำกิจการดังกล่าวเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต เพราะทำให้เจอความหมายของชีวิตว่าที่ผ่านมาเราเติบโตในครอบครัวการเมือง เราก็จะค่อนข้างเป็นที่รู้จักและมีอุปสรรคในชีวิตเยอะ เพราะเวลาทำอะไรคนก็บอกว่า ประสบความสำเร็จได้เพราะพ่อแม่ปูทางมาให้แล้ว เราจึงต้องพิสูจน์ตัวเองเยอะมาก เราจึงทำหลายอย่างเพื่อที่จะประสบความสำเร็จด้วยตัวเอง

ฮาย-ปวิศรัฐฐ์ เล่าถึงการเริ่มต้นเรียนรู้และทำธุรกิจแบบ SME ของตัวเองว่า ตอนนั้นไปทำร้านซักรีด ที่อยากจะบอกว่ากำไรที่เป็นตัวเงินไม่ใช่สิ่งสำคัญในชีวิต โดยเราค้นพบว่าเราชอบอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น โดยร้านที่เปิดเป็นร้านซึ่งรับซักรีดให้ศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่อยู่ในซอยบ้าน และเขาคิดเป็นกิโลโดยให้กิโลละไม่กี่บาท เพราะตอนนั้นไม่มีใครรับซักให้เลยเพราะมีอุจจาระมีอาเจียนที่ลงไปบนที่นอนโดยตรง เราก็รับซักผ้าปูเตียง รับซักเสื้อผ้า  รับซักทุกอย่างเลยให้ศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียง ตอนนั้นฮายมีความรู้สึกว่าเรามีความสุขที่ได้ทำงานแบบนี้มาก

จนต่อมาได้ไปศึกษาต่อที่อังกฤษจนจบปริญญาโท  และหลังกลับมาตอนนั้นกำลังเตรียมสอบเป็นผู้พิพากษา ปรากฏว่าพี่ชาย (มิตติ ติยะไพรัช) ไปทำงานการเมืองกับพรรคไทยรักษาชาติ ทำให้ไม่มีใครเป็นประธานสโมสรฟุตบอลเชียงรายฯ ต่อ ทางพี่ชายก็ติดต่อมาที่ฮาย โดยบอกว่าขอให้กลับมาทำงานที่บ้านที่เชียงราย หลังจากที่ฮายออกจากบ้านตั้งแต่อายุ 11 ขวบ ซึ่งตอนนั้นอายุกำลังเข้า  27 ปี ซึ่งตัวฮายเองเห็นทีมฟุตบอลมาตลอดตั้งแต่วันแรกที่พี่ชายก่อตั้งสโมสรฟุตบอลแห่งนี้ขึ้นมา จึงได้ตัดสินใจที่จะเข้าไปสานต่อเพราะพอเห็นช่องทางที่จะทำประโยชน์ได้เหมือนกันให้กับบ้านเกิด ให้กับทีมฟุตบอล ให้กับคนเชียงรายและคนไทยผ่านเรื่องของกีฬา โดยนับถึงปัจจุบัน ก็ทำมา 3 ปีครึ่งแล้ว

-ช่วงที่เรียนหนังสือเหตุใดถึงสนใจเรียนด้านกฎหมาย?

จริงๆ เป็นเพราะเราเจ็บปวดจากการเมืองพอสมควร  เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีเรื่องเกี่ยวกับตุลาการภิวัตน์ เรื่องความอยุติธรรมทางด้านกฎหมาย เรารู้สึกว่าทำไมบ้านเราถึงโดนไปแล้ว 2 คน ก็คือพ่อกับแม่ด้วย เราก็เลยสนใจอยากจะเรียนว่าเนื้อหาของกฎหมายเป็นอย่างไร การตีความ การบังคับใช้กฎหมาย การตัดสินเป็นอย่างไร เราอยากอ่านคำพิพากษาแล้วเข้าใจ เลยเลือกเรียนกฎหมายตั้งแต่รามคำแหงเป็นต้นมา โดยตอนเรียนมัธยมศึกษาเราเรียนสายวิทย์-คณิต ซึ่งตอนแรกจะแอดมิชชันเข้าศึกษาด้านคณะแพทย์ แต่ต่อมามองว่าเราอยากจะศึกษากฎหมายให้ลงลึก ซึ่งตอนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยก็สอบติดคณะนิติศาสตร์ ทั้งที่จุฬาฯ และธรรมศาสตร์ โดยไปสอบสัมภาษณ์ทั้งสองแห่ง สุดท้ายก็เลือกเรียนที่คณะนิติศาสตร์  จุฬาฯ

โดยช่วงที่เรียนเน้นไปที่กฎหมายแพ่งและอาญา  เพราะว่าอยากเป็นข้าราชการตุลาการ ส่วนตัวคืออยากจะลึกลงไปถึงกระทั่งเข้าไปทำงานเองเพื่อที่จะได้รู้ระบบ รู้วิธีการทำงาน จึงได้ตั้งใจศึกษาด้านกฎหมายแพ่งและอาญา  แต่ลึกๆ แล้วจริงๆ ก็ชอบกฎหมายธุรกิจกับกฎหมายระหว่างประเทศ ตอนไปอยู่ที่อังกฤษเรียนกฎหมายธุรกิจกับกฎหมายระหว่างประเทศ

หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ-ปวิศรัฐฐ์ กล่าวต่อไปว่า  ก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้คิดว่าจะเป็นนักการเมือง เพราะว่าเรามองเห็นว่ามันยากลำบากมากกับการเป็นนักการเมือง ชีวิตที่เราต้องดิ้นรนหนีรัฐประหาร (รัฐประหารโดย คมช.ตอนปี  2549) ไปคนละทิศละทาง ต้องแยกกันอยู่นานมากๆ เพื่อหลบหนีในตอนนั้น เราก็เลยมองว่าไม่ได้อยากเป็นนักการเมือง แต่พอผ่านประสบการณ์ชีวิตมา 30 ปี ก็มองว่าความหมายของชีวิตคือการได้ทำประโยชน์ให้กับอะไรสักอย่างหนึ่ง เลยคิดว่าการเข้ามาทางการเมืองครั้งนี้ก็เป็นช่องทางหนึ่ง ที่จะทำให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อบ้านเกิดของเราได้จึงตัดสินใจ ไม่ได้ลังเลเลย ตัดสินใจแค่ 2-3 วัน

จากความเจ็บปวดที่ครอบครัวเจอ

ขอเดินหน้าเข้าสู่ถนนการเมือง

-ก่อนหน้านี้ที่ยังไม่ได้เข้ามาทำงานการเมือง มองการเมืองอย่างไรบ้าง?

เรามองการเมืองว่าเป็นพื้นที่ที่ไม่น่าเข้ามาอยู่ ไม่น่าเข้ามา เข้ามาแล้วเปลืองตัว เข้ามาแล้วไม่รู้ว่าถ้าเราเลือกไม่ถูกฝั่ง เหมือนกับว่าเราอาจจะโดนก็ได้ โดนพิษโดยที่เราไม่ทันตั้งตัวก็เป็นได้ ตอนนี้ที่อยากเข้ามาทำเพราะอยากเห็นการเมืองในรูปแบบที่เปิดกว้างให้ทุกคน และรู้สึกว่าปลอดภัย รู้สึกว่ากฎหมายสามารถคุ้มครองเราได้ กฎหมายจะสามารถอำนวยความยุติธรรมได้ เราอยากเห็นแบบนั้น แล้วถ้ามันเปิดกว้างก็จะมีคนหลากหลายที่พร้อมเข้ามาเพื่อทำงานให้กับประเทศชาติ นั่นคือการเมืองที่เราอยากเห็น

-ตอนนั้นเริ่มเห็นบิดาทำงานการเมืองในช่วงไหน?

ตอนที่จำความได้เป็นช่วงตอนปี 2544 ที่พ่อเริ่มเข้าพรรคไทยรักไทย โดยตอนนั้นฮายอายุประมาณ 10 ขวบ ก็เห็นคุณพ่อเริ่มทำงานกับรัฐบาลของคุณลุงทักษิณ ชินวัตร  และได้เป็นตำแหน่งสำคัญเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี  แล้วต่อมาก็เป็น รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามด้วยประธานรัฐสภา ด้วยความที่คุณพ่ออายุน้อยและมีความมุ่งมั่นจึงได้รับตำแหน่งที่สำคัญ มันก็ทำให้ชีวิตเรายากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะเราอยู่ในโรงเรียนและมีความเห็นต่างทางการเมือง ความขัดแย้งเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยนั้น  ตั้งแต่มีม็อบพันธมิตร มีเสื้อเหลือง เสื้อแดง มี นปช.  กปปส. ในช่วงนั้นคือช่วงที่เราอยู่ในช่วงวัยรุ่นวัยเรียน ทั้งเพื่อนทั้งอาจารย์ต่างแสดงออกทางการเมืองอย่างรุนแรง  แค่นามสกุลเราบางทีก็ผิดแล้ว เราจึงมองว่าเราไม่ชอบการเมืองเลย

-แล้วช่วงเรียนหนังสือที่จุฬาฯ ที่ตอนนั้นเป็นช่วง กปปส. คุยการเมืองกับเพื่อนๆ ได้หรือไม่?

คุยไม่ได้เลย ถึงกระทั่งเพื่อนๆ บอกว่าแค่เห็นนามสกุล เห็นชื่อพ่อก็คือเสื้อแดงแล้ว ก็คงไม่คบกันนะ พูดแบบนี้เลย อันนี้เป็นเรื่องจริงที่เราเจอ

-มองความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา เรื่องการแบ่งสีเสื้อทางการเมืองอย่างไรบ้าง?

เรามองว่ามันไม่ค่อยสมเหตุสมผล ณ ตอนนั้น รู้สึกว่ามีเบื้องหลังอะไรที่เรายังไม่เข้าใจ คนที่มองจากภายนอกก็ยิ่งไม่เข้าใจเข้าไปใหญ่เลยว่ามันเกิดอะไรขึ้นในสังคมไทย  และจริงๆ แล้วกฎหมายน่าจะอำนวยความยุติธรรมให้ได้เท่าเทียมมากกว่านี้ อันนั้นในมุมมองของเด็กในตอนที่เราเป็นเด็ก เราก็เลยสนใจที่จะศึกษาให้ถ่องแท้ยิ่งขึ้นถึงทั้งเจตนารมณ์ของกฎหมาย ทั้งโลจิกที่มันอยู่เบื้องหลังกฎหมายในแต่ละเรื่อง เรามีความสนใจมาก คือเราอยากรู้จริงๆ ว่านักกฎหมายเขาคิดยังไง และเราก็ถือว่าเป็นนักศึกษากฎหมายจริงๆ เลย

-คนในครอบครัว คุณพ่อก็โดนคดียุบพรรคพลังประชาชน ส่วนพี่ชายก็คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ เรามีความรู้สึกยังไงตอนนั้น?

ก็รู้สึกเจ็บปวดตลอดมาข้างในจิตใจ ว่าถ้าเกิดการเมืองเป็นแบบนี้แล้วจะมีใคร คือทุกคนคงรู้สึกไม่ต่างกัน  คนไทยก็คงรู้สึกไม่ต่างกันว่าทำไมดูยุ่งยากซับซ้อน และขัดแย้งตลอดเวลาในตัวเอง ซึ่งจริงๆ มองว่าความเห็นต่างมีได้ แต่ไม่ควรขัดแย้ง ไม่ควรใช้ความรุนแรง อันนี้คือสิ่งที่ฮายเชื่อมั่นว่ามันแก้ไขปัญหาได้ด้วยความสันติ

-การที่ตัดสินใจเข้ามาทำงานการเมือง เกรงไหมว่าจะเจอแบบพ่อและพี่ชาย เช่นไม่ได้รับความเป็นธรรมอะไรต่างๆ ตามมา?

อย่างที่บอกว่าประสบการณ์เรื่องความเจ็บปวด มันทำให้กลายเป็นความรู้สึกชินไปแล้ว ชินต่อเรื่องแบบนี้ ชินกับความเจ็บปวด เราก็เลยเปลี่ยนให้เป็นพลังว่า เรามีพลังที่เรามีแรง ณ ตอนนี้เรามีแรงเหลือเฟือมาก เราก็เลยอยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ ในการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของการเมืองไทยให้ไปสู่รูปแบบที่เราอยากเห็น

-ที่เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อชาติเกิดจากอะไร  มีการทาบทามอย่างไร ใช้เวลาตัดสินใจนานแค่ไหน?

ไม่มีการทาบทาม ฮายเป็นคนอาสาเข้ามาทำงาน ฮายนำทีมงานเข้ามาอาสา บอกว่าเราอยากเห็นพรรคเพื่อชาติในรูปแบบที่คนในรุ่นของเรา หรือแม้แต่ตัวเราเองก็อยากจะเข้ามาช่วยทำงาน เข้ามาในรูปแบบของคณะทำงาน ที่จะมารีแบรนด์พรรคและเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานในพรรคเพื่อชาติใหม่ทั้งหมด ก็กลายเป็นว่าในที่ประชุมทั้งสมาชิกพรรคและกรรมการบริหารพรรคก็บอกว่า  "อ้าว งั้นฮายก็เป็นเองเลย" เหมือนกับว่างั้นฮายก็น่าจะทำได้ดี

ฮายก็เลยกลับไปคิดประมาณ 2-3 วัน ก็เลยตอบตกลง ก็เป็นที่มาของการเลือกตั้งจากสมาชิกพรรคให้เป็นหัวหน้าพรรค เลยกลายเป็นเรื่องที่เซอร์ไพรส์ในวงการการเมืองมาก เพราะไม่เคยมีข่าวหลุดออกมา ไม่เคยมีประเด็นนี้เกิดขึ้นมา เพราะตอนนั้นช่วงประมาณวันที่ 8-9 กันยายน  ที่เพิ่งจะคุยเรื่องรีแบรนด์พรรค พอวันที่ 10 กันยายน ก็ประชุมเลือกกรรมการบริหารพรรค 

สำหรับความตั้งใจหลังเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ เป้าหมายแรกสุดคือต้องการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของพรรคการเมือง โดยเริ่มจากพรรคเพื่อชาติก่อน ต้องการเกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง อยากให้เป็นในแนวราบไม่ใช่แนวตั้ง เราต้องการความเห็นจากทุกคนในพรรคจริงๆ จึงใช้วิธีแบบ Design Thinking มีการประชุมกันบ่อยมากเพื่อที่จะรับฟังความคิดเห็นของคนทุกเจนเนอเรชัน และสมาชิกของพรรค กรรมการบริหารพรรคทุกคน เราอยากจะเห็นพรรคการเมืองที่มีความเสมอภาคเท่าเทียม ทุกเพศทุกวัย และไม่ใช้ความรุนแรง อันนี้คือสิ่งที่เราเน้นมากจริงๆ ว่าเราจะต่อต้านการใช้ความรุนแรงทั้งที่มองเห็น และมองไม่เห็น

เป็นจุดที่ทำให้เราเชื่อมั่นว่าไม่ว่าเราจะทำอะไร หากเรามีเป้าหมาย เรามีจุดยืนที่ชัดเจน เราจะนำพาองค์กรประสบความสำเร็จได้ เหมือนพรรคเพื่อชาติก็เช่นกัน ต่อให้ไม่ได้ส.ส.สักคน แต่อย่าคิดว่าตัวฮายจะยอมแพ้ตั้งแต่สมัยแรก บอกเลยว่าสมัยต่อไป เราก็จะต้องได้ส.ส.

ส่วนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นหลังจากนี้ สำหรับตัวฮายเองที่วางไว้คือ จะลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ จะไม่ลง ส.ส.เขต เพราะต้องการเวลาที่จะคิดภาพใหญ่ของยุทธศาสตร์พรรค, นโยบายพรรค

-ในฐานะหัวหน้าพรรค วางแบรนด์พรรค วาง Position ทางการเมืองพรรคเพื่อชาติไว้อย่างไร ฟังดูเหมือนต้องการจะรีแบรนด์พรรคให้มีความทันสมัย  เน้นคนรุ่นใหม่ เหมือนกับจะเข้าไปแชร์กลุ่มเป้าหมายฐานเสียงของพรรคก้าวไกล?

จริงๆ มองตัวเองว่าเราจะเป็นพรรคการเมืองที่แข็งแรง เป้าหมายคือแข็งแรงและยั่งยืน ดังนั้นเราจะไม่มีกลุ่มเป้าหมายแค่กลุ่มเดียว คือเราต้องการแข่งกับทุกพรรคการเมืองแน่นอน โดยจะแข่งขันในเรื่องของนโยบาย วัฒนธรรม และเรื่องของยุทธศาสตร์ต่างๆ เพื่อที่จะเป็นพรรคการเมืองที่ฮายประกาศไว้ว่า เป็นพรรคการเมืองที่เป็นตัวจริงในสนามการเลือกตั้ง และเป็นตัวจริงที่เป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนชาวไทยอย่างแท้จริง

บัตร 2 ใบ-หาร 100 ก็ไม่หวั่น

เปิดโฉมรีแบรนด์พรรค 14 ต.ค.

-แต่กติกาเลือกตั้งระบบบัตรสองใบ ที่สุดท้ายหากสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ออกมาที่ 100 หาร ที่ฐานคะแนนต้องประมาณสามแสนกว่าคะแนนต่อ ส.ส.หนึ่งคน จะมีผลต่อพรรคหรือไม่?

แน่นอนว่าเรามองถึงขนาดพรรคของตัวเองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ว่าเป็นพรรคการเมืองขนาดเล็ก เพราะว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่พรรคเพื่อชาติได้คะแนนมา ประมาณ 300,000 กว่าคะแนน ครั้งนี้เราจึงมองเป้าหมายว่าพรรคต้องควรทำได้มากกว่าเดิม เพราะสิ่งที่เราแข็งแรงในเรื่องของพื้นที่ และตอนนี้เมื่อเรารีแบรนด์พรรคใหม่ ก็จะกลายเป็นว่าเราก็จะได้ภาพใหญ่ของทั่วประเทศผนวกรวมเข้ามาด้วย และนโยบายพรรคเพื่อชาติที่เราจะนำเสนอออกไปก็จะเป็นนโยบายที่กินใจและโดนใจ ทำได้จริง และที่สำคัญคือยั่งยืน ไม่ใช่เป็นนโยบายที่ฉาบฉวย เพราะส่วนตัวมองว่าถ้าเราขายแบบฉาบฉวยมันจะไม่ใช่เป้าหมายของเรา ที่เราต้องการวางพรรคแบบยั่งยืน

-คนก็มองว่าพรรคเพื่อชาติจะเป็นพรรคที่มีฐานเสียง หรือเป้าหมายทางการเมืองที่เชียงราย อยู่ที่ภาคเหนือตอนบนเป็นหลัก?

นั่นคือในอดีต แต่ตอนนี้ฮายพยายามที่จะมีตัวแทนพรรคเพื่อชาติให้ครบทุกจังหวัด เพื่อที่จะพยายามส่งผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ระบบเขตลงให้ได้มากที่สุด เราอาจจะไม่การันตีหรือรับปากว่าจะส่งให้ครบทุกเขต แต่พรรคพยายามจะส่งให้ได้มากที่สุด เราวางเป้าหมายของ ส.ส.เขตไว้จำนวนมากพอสมควรเหมือนกัน เพราะว่าเราก็มีความแข็งแรงทางด้านความเหนียวแน่นของตัวแทนในพื้นที่แต่ละที่ ซึ่งตอนนี้เราตระเวนไปทั่วทุกภาคของประเทศไทยแล้ว ไม่ใช่เพียงแค่ภาคเหนือเท่านั้น

โดยขณะนี้พรรคเพื่อชาติก็พร้อมเต็มที่สำหรับการเลือกตั้ง พร้อมจริงๆ ไม่รู้จะบอกว่าพร้อมยังไง เราพยายามส่งผู้ลงสมัคร ส.ส.เขตให้ได้มากที่สุด ส่วนผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่อพรรคก็กำลังจัดทำบัญชีอยู่ และพรรคจะทำการเปิดตัวพรรคเพื่อชาติในรูปแบบใหม่อย่างเป็นทางการวันที่ 14 ตุลาคมนี้ ซึ่งการจัดงานครั้งนี้อยากให้รอชม เพราะจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง โจทย์ของฮายที่มอบให้กับทีมงานก็คือ ลบภาพจำเดิมของพรรคเพื่อชาติ เราจะเป็นพรรคเพื่อชาติรูปแบบใหม่หรือเกิดใหม่ขึ้นมาเลย จะฮือฮามากเพราะจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงทั้งหน้าตาของคน หน้าตาของพรรค โลโก้พรรค โดยจะเป็นการรีแบรนด์ที่จะตอบโจทย์ของคำว่าเราจะเป็นตัวจริงในสนามการเลือกตั้ง ตอบโจทย์ว่าเราจะเป็นพรรคการเมืองที่ยั่งยืนและเป็นพรรคการเมืองที่จะอยู่คู่กับสังคมไทยกับประเทศชาติไปนานที่สุดเท่าที่จะทำได้

-เหตุใดตั้งเป้าว่าจะมี ส.ส.เขต จากที่ตอนเลือกตั้งปี 2562 พรรคได้แต่ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์?

มองไว้ว่าพรรคต้องได้ ส.ส.มากกว่า 5 ที่นั่ง ต้องมากกว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 แต่จริงๆ แล้วเป้าหมายเราอยากได้ ส.ส.ถึงขนาดที่ว่าเราอยากจะ ปฏิรูปเรื่องการศึกษา คือถ้าได้ 10-25 คน หรือแม้แต่ในอนาคตเราก็อยากจะได้มากกว่า 50 เสียง ด้วยที่มองไว้เอง เราจะทำพรรคแบบที่มีความยั่งยืน คือไม่ได้รีบร้อนว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นจะต้องได้ทันที แต่เราวางโครงสร้างตั้งแต่ ณ วันนี้ไปจนถึงสมัยหน้า หรือแม้แต่อีก 10 ปีข้างหน้าก็ยังไม่สายสำหรับพรรคเพื่อชาติ ซึ่งแน่นอนว่าพอมีจุดยืนตรงนี้ ถามว่าเราจะควบรวมกับพรรคการเมืองอื่นไหม-ไม่มี เราจะยืนด้วยคำว่าเพื่อชาติแน่นอน

-ตอนนี้พรรคขนาดเล็กก็เริ่มทยอยไปรวมกันแล้ว เช่นพรรคกล้ากับพรรคชาติพัฒนา ในส่วนของเพื่อชาติคนก็ต้องมองว่าจะไปไหวหรือไม่?

จะไหวหรือไม่ไหว ฮายมองว่าเป็นเรื่องของจุดยืน เราเคยพูดกับที่ประชุมว่าต่อให้เราได้ศูนย์คน ฮายก็รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้หวั่นไหวเลยว่ามันจะเป็นความล้มเหลวหรือไม่  เพราะเรากำลังสร้างรากฐานที่มั่นคงให้กับพรรค ให้กับจุดยืน ให้กับเป้าหมายที่เราอยากเห็นต่อประเทศชาติ ดังนั้น ต่อให้พรรคได้ศูนย์คน อย่างสมมุติตอนเลือกตั้ง ฮายจะเป็นผู้สมัครระบบปาร์ตี้ลิสต์เบอร์หนึ่ง แต่หากฮายไม่ได้เข้าไปเป็น ส.ส. ฮายก็ไม่ได้รู้สึกว่าล้มเหลวหรือสูญเปล่าเลย  เพราะเรามีความตั้งใจที่จะทำงานตรงนี้จริงๆ เพื่อประเทศชาติ เราเห็นมาตลอดชีวิตว่าพ่อกับแม่ และพี่ชาย ทำงานเพื่อท้องถิ่นและประเทศชาติมาตลอด และสิ่งเหล่านี้มันไม่เคยสูญเปล่าเลย ต่อให้ทุกวันนี้เขาจะโดนแบนทางการเมือง แต่เขาก็ยังทำงานเพื่อท้องถิ่น เพื่อบ้านเมืองอยู่ตลอดมา โดยไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งเลย

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของจำนวน ส.ส.ที่คาดหวัง ก็คืออยากได้มากกว่าเดิม แต่หากให้พูดตอนนี้ด้วยความที่ยังไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองเลย และด้วยวัยสามสิบปี และด้วยความเป็นผู้หญิงก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในเวลาอันรวดเร็ว ก็ไม่ได้อยากจะพูดไปก่อนว่าพรรคอยากจะได้ ส.ส. 20 คนหรือ 50 คนขนาดนั้น เพราะมันพิสูจน์อะไรไม่ได้เพราะเป็นแค่คำพูด แต่เราหวังว่าในอนาคตเราต้องการเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ แต่ ณ ตอนนี้ที่บอกว่ายังไม่ได้ตั้งเป้าในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น เพราะนับจากนี้มีเวลาแค่ประมาณ 6-8 เดือน หรืออาจจะน้อยกว่าก็ได้หากมีการยุบสภาเกิดขึ้น ดังนั้นถ้าเราจะไปบอกว่าเราจะได้สัก 10-20 คน คนก็อาจหัวเราะเรา ก็เลยมองว่าก็ขอให้ได้มากที่สุด ส่วนเป้าหมายใหญ่ก็อยากดูแลงานในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ หรือหากให้ครอบคลุมเลยก็คือกระทรวงมหาดไทย ที่ดูแลเรื่องโรงเรียนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เพราะฮายอยากให้คนไทยได้มีการศึกษาที่ดีตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่สถานรับเลี้ยงเด็ก เพื่อที่จะได้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าในประเทศนี้ เพราะทุกวันนี้มันถูกแบ่งแยกด้วยระบบการศึกษาว่าใครเรียนโรงเรียนแห่งไหน เรียนสายอะไร เราเลยมองว่าเรื่องของการศึกษาต้องมีการแก้ไขปัญหาให้ยั่งยืนดีกว่า

-ที่จังหวัดเชียงราย เพื่อชาติจะสู้เต็มที่หรือไม่ จะมีการหลบให้เพื่อไทยหรือไม่?

พรรคสู้เต็มที่ คิดว่าถ้าเป็นไปได้ก็จะส่งผู้สมัคร ส.ส.ให้ครบทุกเขต เพราะเราก็คิดว่าพรรคเพื่อชาติก็มีศักยภาพในหลายเขตเลือกตั้งที่ก็เป็นตัวเต็งเช่นกัน

-การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ปัจจัยหลักอย่างหนึ่งที่ทำให้เพื่อชาติได้คะแนนมาระดับหนึ่ง ก็เพราะมีจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตประธาน นปช.มาช่วยเดินสายหาเสียงให้ แต่เลือกตั้งที่จะมีขึ้นจะไม่มีจตุพรมาช่วยแล้ว  จะมีผลอย่างไรและพรรคจะทำอย่างไรต่อไป?

ภาพจำของพรรคเพื่อชาติเดิมก็คือ แกนนำของกลุ่มต่างๆ ที่มารวมตัวกัน คนเก๋าประสบการณ์ คนรุ่นพ่อที่มารวมกัน ทำให้คิดว่านี่คือจุดที่ทำให้พรรคได้คะแนน ดังนั้นในครั้งนี้เราจึงมีหน้าที่พิสูจน์ว่าจริงๆ แล้วนโยบายที่โดนใจคน หรือตัวบุคคลที่โดนใจคน

ฮายมองว่าเรามีความคิด มีนโยบาย มียุทธศาสตร์ในการบริหารพรรคเพื่อชาติที่แตกต่างจากเดิมแน่นอน การเลือกตั้งที่จะมีขึ้น จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเราจะได้ ส.ส.กี่นั่ง และมันเป็นที่ตัวคนหรือที่นโยบาย อันนี้ก็จะเป็นจุดพิสูจน์ได้อย่างหนึ่งของพรรคเพื่อชาติที่เราจะ รีแบรนด์พรรค ในครั้งนี้

-ที่มีคนของพรรคเพื่อชาติปัจจุบัน โดยเฉพาะที่เป็น ส.ส. มีข่าวจะย้ายออกไป เช่น อารี ไกรนรา ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ตรงส่วนนี้จะมีผลอย่างไรกับพรรคหรือไม่?

ตั้งแต่ฮายทำงานมา ไม่เคยมีสักครั้งที่ยึดติดกับตัวบุคคล ตอนที่บริหารสโมสรฟุตบอลเชียงราย ยูไนเต็ด วันแรกที่เข้าไป มีคนบอกว่าโค้ชที่เคยอยู่เก่งมาก แต่ลาออกไป หรือนักเตะของทีมถูกซื้อตัวไปโดยทีมที่รวยๆ หลายคนมากที่เป็นนักเตะแกนหลักของทีม จนคนบอกว่าปีนั้น ทีมเชียงรายต้องตกชั้นแน่ๆ แต่เรามองว่าในทรัพยากรที่เรามี เราต้องดึงทรัพยากรของคนออกมาให้ได้มากที่สุด ปรากฏว่าปีนั้นเชียงรายฯ เป็นแชมป์ลีกสูงสุดของประเทศ ชนะบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ก็ไม่ต่างจากครั้งนี้ ที่ทุกๆ ปีทีมเชียงรายฯ ก็จะมีนักเตะที่เป็นแกนหลักออกไปจำนวนมาก และเราก็หาคนเข้ามา คนก็บอกว่า ที่ได้มา โนเนม หรือบอกว่าฝีเท้าเล่นได้แค่ระดับลีกล่าง ไม่ควรเล่นลีกสูงสุด เอาเข้ามาแบบนี้ บริหารอย่างนี้คิดได้ไง เราก็บอกว่าเราเชื่อมั่นในทีมที่เราเลือกมา และเชื่อมั่นว่าทีมเราจะประสบความสำเร็จได้ และเราก็ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ครั้งนี้ก็เช่นกัน ไม่ว่าใครจะลาออกจากพรรคเพื่อชาติไป หรือคนบอกว่าคนนี้มีคนในสังกัดเยอะเท่าไหร่ ทำพื้นที่ได้มากน้อยแค่ไหน แต่ฮายมองว่าหากเรายึดติดอยู่กับตัวบุคคล เราก็จะไม่สามารถนำพาพรรคไปข้างหน้าได้ ดังนั้นสิ่งที่เราควรยึดถือคือเป้าหมายและอุดมการณ์ของพรรค พรรคก็จะยั่งยืน ไม่ใช่ยึดติดกับตัวบุคคล

เพราะอย่างฮายที่เข้ามา ตอนแรกไม่ได้เข้ามาในฐานะเป็นหัวหน้า แต่เข้ามาในฐานะทีมงาน ฮายก็บอกว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือแกนของพรรค ไม่ใช่ตัวบุคคล ถ้าหากจะให้ฮายมาทำในฐานะทีมงาน ต้องมั่นใจในระบบที่ฮายจะเซตขึ้นว่ามันจะมีความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง โดยที่เราไม่ต้องยึดติดกับคนมีชื่อเสียง หรือไม่ต้องยึดติดกับตัวบุคคลในอดีต

-จุดยืนทางการเมืองของพรรคในช่วงเลือกตั้งและหลังเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร สามารถจับมือกับพรรคอย่างพลังประชารัฐ หนุนบิ๊กป้อมได้หรือไม่ หรือว่าหนุนเพื่อไทย สนับสนุนคุณแพทองธาร ชินวัตร?

จุดยืนของพรรคเพื่อชาติไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคล แต่เป็นเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง เราเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย เชื่อมั่นในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนั้นจุดยืนเรื่องประชาธิปไตยจะไม่เปลี่ยนแปลง เพราะนี่คือ Core คือแกนหลักของพรรคเพื่อชาติ ที่เราเริ่มสร้าง Brand model ขึ้นมา เราเขียนเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกคือ democracy บวกกับการมีส่วนร่วมและความเท่าเทียม นี่คือสิ่งที่เป็นแกนหลักของพรรคเพื่อชาติ เรายึดมั่นอุดมการณ์ตรงนี้มากกว่าตัวบุคคลหรือตัวพรรค

-มองพื้นที่การเมืองกับคนรุ่นใหม่อย่างไรบ้าง?

ก็อยากสื่อสารแบบที่เคยสื่อสารกับที่ประชุมพรรคเพื่อชาติว่า คำว่าคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่ว่าต้องเป็นคนอายุน้อย แต่รุ่นใหม่คือไม่ว่าจะอายุเท่าใด หรือเพศใด เพราะในพรรคเองก็มีคนที่เกษียณแล้วจำนวนมากที่เป็นกรรมการบริหารพรรค แต่ฮายเชื่อมั่นว่าบุคคลเหล่านั้นก็เป็นคนรุ่นใหม่เช่นเดียวกัน และฮายก็ถามว่า ท่านเชื่อไหมว่าท่านก็เป็นคนรุ่นใหม่ เพราะอยู่ในกระบวนการที่พวกเรานำเข้ามาใช้กับพรรค เช่น กระบวนการ Design Thinking หรือกระบวนการ Brainstorming ที่เรานำเข้าไปโดยที่ท่านนั่งกับพวกเราได้ตั้งแต่เก้าโมงเช้าถึงหนึ่งทุ่ม โดยสนุกกับการทำงานรูปแบบนี้ไปด้วยกัน กับการคิดนโยบายร่วมกัน ด้วยวิธีการรูปแบบใหม่ด้วยกัน ฮายเลยมองว่าพรรคเพื่อชาติคือพรรคการเมืองที่มีแนวคิดแบบพรรครุ่นใหม่ ไม่ได้เกี่ยวว่าเป็นคนรุ่นใหม่ทั้งหมด

หน.พรรควัย 30-ไร้ประสบการณ์การเมือง

มองคือจุดแข็ง ไม่ใช่จุดอ่อน

-จุดแข็งของเพื่อชาติในยุคที่ฮายขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค จะชูเรื่องอะไรตอนหาเสียง?

ก็จะชูเรื่องการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน คือเราต้องการสร้างเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์ ผ่านการศึกษาที่ทันสมัย นี่คือคีย์ที่เราเน้น คือเรื่องเศรษฐกิจและการศึกษา เราต้องการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอของประเทศจริงๆ ส่วนเรื่องกฎหมาย ก็แน่นอนว่าต้องแก้ไขควบคู่กันไป

และด้วยความที่ฮายเป็นนักกฎหมาย ฮายมองว่ามันไม่ได้มีเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ต้องแก้ แต่ต้องแก้ทุกเรื่อง เพราะว่ากฎหมายไม่ได้อัปเดตมานานมากแล้ว แต่กฎหมายที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องรัฐธรรมนูญ เพราะคือแม่บทของกฎหมายทั้งปวง บางทีอาจคิดว่าเขียนไว้ครอบคลุมแล้ว แต่กฎหมายลูกยังออกตามไม่ทัน หรือการบังคับใช้กฎหมายไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง เราจึงมองว่าต้องแก้ไขกฎหมายในทุกมิติถึงจะแก้ไขปัญหาได้ เราจึงต้องวางโครงสร้างที่มันครอบคลุมทั้งหมด

-กับวัยสามสิบปี ยังไม่เคยมีประสบการณ์การเมืองมาก่อน มาเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง มองว่าเป็นจุดอ่อนหรือจุดแข็ง?

ไม่เคยมองว่าสิ่งนี้คือจุดอ่อนเลย แต่มองว่าคือจุดแข็งด้วยซ้ำ เพราะด้วยความที่ว่าเราไม่ได้อยู่ในการเมืองมาเลย เราอยู่ในครอบครัวการเมือง แต่เราไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง แปลว่าเราจะไม่ได้ซึมซับวัฒนธรรมแบบเดิมเท่าที่ควร มันเลยมีพื้นที่ให้เกิดความสร้างสรรค์มากมาย เราไม่ได้รู้สึกว่า เอ้ย รูปแบบเก่ามันแบบนี้ แล้วเราจะไปเปลี่ยนไม่ได้ เราจะยึดติด แต่เราคิดแบบใหม่ทั้งหมดเลย คิดในแง่ของการที่เราเป็นนักกฎหมาย นักธุรกิจด้วยซ้ำ มันก็เลยกลายเป็นพื้นที่ของความสร้างสรรค์ พื้นที่ของ creativity ทั้งหมด เราจึงมองว่านี่คือจุดแข็งมากกว่าจุดอ่อน.

จากบริหารสโมสรฟุตบอล

มาเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง

'ต่อให้ไม่ได้ ส.ส.สักคน อย่าคิดว่าจะยอมแพ้'

เมื่อบทสัมภาษณ์มาถึงการคุยเรื่อง นโยบายพรรค-ทิศทางพรรค ที่จะมีการจัดงานใหญ่ของพรรคเพื่อชาติ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการรีแบรนด์ทางการเมืองของพรรคเพื่อชาติในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เราถามถึงนโยบายพรรคเพื่อชาติที่เตรียมไว้ ในช่วงการหาเสียงที่จะมีขึ้นเบื้องต้นจะให้ความสำคัญกับเรื่องแนวนโยบายด้านใดบ้าง ปวิศรัฐฐ์-หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ บอกว่า อันดับแรกเลยเราต้องเน้นเศรษฐกิจและปากท้องก่อน สิ่งที่ต้องทำทันทีคือจะทำอย่างไรให้คนมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นทันที ทำอย่างไรที่จะลดหนี้ในครัวเรือน ทำอย่างไรที่จะทำให้ค่าครองชีพของประชาชนลดลง รวมถึงการทำให้ประชาชนรู้สึกว่าซื้อของในราคาที่ถูกลง สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ต้องทำทันทีในระยะสั้น

ส่วนระยะยาวเราอยากสร้างเศรษฐกิจที่ Sustainable ให้มีความยั่งยืนให้กับคนไทย เราก็เลยมองว่าต้นตอของปัญหาก็คือเรื่องของการศึกษา หลายพรรคการเมืองมองว่าเรื่องนโยบายการศึกษาไม่อยากทำ รอนานและใช้งบประมาณเยอะ แต่ด้วยจุดยืนของเรา ฮายอยากบอกว่าเรามีเวลา ฮายเริ่มต้นการเมืองในวันนี้ในวัย 30 ปี ดังนั้นอีก 10 ปีข้างหน้า 20 ปีข้างหน้า เราอาจเห็นคนที่ประสบความสำเร็จในระบบการศึกษาไทยจำนวนมาก ตอนนี้คนอาจมองว่าคนที่ประสบความสำเร็จต้องเรียนแพทย์ เป็นวิศวะ เป็นนักการเมือง หรืออะไรที่มันแคบมาก แต่ในอนาคตเราอยากเห็น คนรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าแม้จะเรียนสายอาชีพ แม้จะเรียนในระบบ กศน. เพราะเมื่อตัวเองเห็นคุณค่าก็จะเคารพตัวเอง ระบบเศรษฐกิจมันก็จะดีและยั่งยืน คือเน้นเรื่องของการพัฒนาคน

อย่างเรื่องการศึกษา มองว่าต้องทำให้คนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย อันนี้คือจุดมุ่งหมายสูงสุด เพราะมันเป็นสาเหตุของปัญหา เป็นเรื่องของการพัฒนา ที่ต้องพัฒนาตั้งแต่เนิร์สเซอรี เพราะเป็นช่วงวัยที่สมองต้องพัฒนา สมองต้องมีการพัฒนาการตั้งแต่เด็กๆ แต่ตอนนี้ดูเหมือนคนไทยโตมาในสภาพแวดล้อมที่หากเราไม่มีเงินก็จะถูกทิ้งขว้างมากมาย เพราะเราไม่ได้มีงบหรือมีบุคลากรที่มีคุณภาพที่จะไปดูแลเด็กน้อยตั้งแต่ประถมวัย เราเลยอยากจะเริ่มทำตั้งแต่เด็กเลย และขยายมาจนถึงประถมศึกษา-มัธยมศึกษา

ส่วนที่บอกว่าอยากให้ความสำคัญกับคนที่เรียนด้านสายวิชาชีพ เพราะปัจจุบันพบว่ามีการให้งบประมาณไปที่สายวิชาชีพแค่ยี่สิบเปอร์เซ็นต์ สายวิชาการ (สายสามัญ) แปดสิบเปอร์เซ็นต์ แต่ตลาดแรงงานไม่ได้รองรับคนที่เรียนจากสายวิชาการทั้งหมดแปดสิบเปอร์เซ็นต์ ทำให้คนจำนวนมากตกงาน ก็เลยกลายเป็นปัญหาของระบบเศรษฐกิจระยะยาวอีก เราเลยมองว่าควรปรับแก้ให้เป็นแบบ 50 ต่อ 50 ทั้งสายวิชาชีพและสายวิชาการ รวมถึง กศน.ควรเป็นระบบการศึกษาที่เราสามารถดีไซน์ได้ด้วยตัวเองตามสิ่งที่เราอยากเรียน แล้วนำเวลาว่างไปทำอย่างอื่น คือคนยังไปมองว่าเรียน กศน.อาจไม่มีคุณภาพ คนยังมองแบบนั้นอยู่ แต่จริงๆ แล้วตัวฮายเองเริ่มจากนักฟุตบอลด้วยซ้ำ โดยนักฟุตบอลในทีมของฮายไม่อยากให้เสียเวลาไปกับสายวิชาการ เพราะไม่ตอบโจทย์วิชาชีพของเขา

ทางฮายเลยดีไซน์หลักสูตรขึ้นมาเองสำหรับเด็กนักฟุตบอลเชียงราย ยูไนเต็ด ว่าควรให้เรียน กศน. แล้วเราขอ กศน.ว่าเราขอดีไซน์หลักสูตรของการเป็นนักฟุตบอล คือฮายคิดแตกต่างจากอะคาเดมีที่อื่น โดยตรงนี้เพิ่งเริ่มทำมาประมาณสองเดือน โดยเด็กนักฟุตบอลควรเรียนเรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬา เรียนเรื่องการเข้าฟิตเนสดูแลตัวเอง และทักษะการจัดการชีวิตด้านการเงิน-ภาษี และหลังจาก  short-term ของอาชีพเขาจบไปแล้ว เขาควรทำอะไร จากที่เด็กไทยทุกวันนี้ถูกบังคับให้เรียนตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงสี่โมงเย็นในสายวิชาการที่เขาไม่ได้สนใจ ทำให้เข้าไปเรียนก็มีการไปนั่งหลับ แล้วกลายเป็นว่ารัฐบาลก็ต้องมารับภาระค่าใช้จ่ายให้เรียนฟรีโดยที่เขาไม่ได้สนใจ อันนี้คือภาระของประเทศชาติจริงๆ จึงมองว่าควรแก้ตั้งแต่ต้นเหตุ ไม่ใช่แก้ที่ปลายเหตุ ทุกวันนี้เราแก้ที่ปลายเหตุเยอะไป

ส่วนนโยบายเรื่อง Soft Power ที่ช่วงหลังหลายพรรคการเมืองบอกว่าจะมีนโยบายเรื่องนี้ไปใช้ตอนหาเสียงเลือกตั้ง มุมมองของ ปวิศรัฐฐ์-หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ บอกว่า เรามีแนวคิดเรื่อง Soft Power หลายมิติมาก เพราะ Soft Power ไม่ได้มีมิติเฉพาะแค่เรื่องวัฒนธรรม แต่ยังมีอีกหลายมิติ เช่น นโยบายการต่างประเทศ-มิติของค่านิยมและอุดมการณ์ทางการเมือง ที่จะเป็น Soft Power ของประเทศประเทศหนึ่ง ตอนนี้เรายังไปมองแค่มิติเดียวคือด้านวัฒนธรรม แต่แค่วัฒนธรรมเราก็ต้องแก้แล้ว เพราะตอนนี้เราให้คุณค่าวัฒนธรรมแค่รูปแบบเดียว ทั้งที่ตอนนี้จริงๆ แล้วเทรนด์ของโลกมีเทรนด์วัฒนธรรมที่หลากหลายมิติมาก

...อย่างเช่นตอนนี้ที่กำลังดังของไทยเลย คือซีรีส์วาย ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงศึกษาธิการอาจไม่ได้สนับสนุนเรื่องนี้ เพราะอาจรู้สึกว่าขัดต่อจารีตประเพณี เราก็เลยมองว่าประเทศไทยมีความแตกต่างหลากหลาย เราก็ควรโอบรัดวัฒนธรรมที่กว้างขึ้น มันจะได้เป็น Soft Power ที่แข็งแรงอย่างแท้จริงและยั่งยืน เพราะแม้แต่การออกกฎหมายเรื่องการสมรสเท่าเทียม เราก็ยังผลักดันกันแบบไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เลยมองว่าเราควรแก้ที่ต้นเหตุแล้วเราถึงจะผลักดันเรื่อง Soft Power ให้มีคุณค่า ให้ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศอย่างแท้จริง   

      -ในฐานะที่อยู่วงการกีฬาโดยเฉพาะฟุตบอล หากวันข้างหน้าถ้ามีโอกาสได้เข้าไปทำงานการเมืองด้านกีฬา จะมีนโยบายส่งเสริมพัฒนาวงการกีฬาของไทยอย่างไรบ้าง?

      เราเห็นปัญหาชัดเจนเลยว่าเราวางโครงสร้างระยะยาวไม่ดี จริงๆ แล้วเราควรเริ่มตั้งแต่ระบบเยาวชน แต่ตอนนี้เราไปแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งจริงๆ กีฬาก็ไม่ได้ต่างจากเรื่องระบบการศึกษา คือควรวางโครงสร้างตั้งแต่ยังเป็นเด็กเยาวชนที่ยังซึมซับได้ดี แต่ตอนนี้เราไปเน้นตอนที่เริ่มเป็นวัยรุ่นไปแล้ว ที่มันช้าเกินไป ซึ่งรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านกีฬาควรต้องสนับสนุนหรือส่งเสริมให้ทุกสโมสรด้านกีฬามีอะคาเดมี แต่ทุกวันนี้มีแค่ไม่กี่สโมสรที่มีอะคาเดมีเยาวชนแบบจริงจัง ซึ่งมันไม่ทัน ช้ากว่าคนอื่นไปหลายก้าว

-จะสามารถนำประสบการณ์ด้านการกีฬามาใช้ในทางการเมือง การบริหารงานพรรคเพื่อชาติได้อย่างไรบ้าง?

ถ้าเป็นเรื่องกีฬาสำคัญมากเลย เพราะฮายเคยมีประสบการณ์บริหารสโมสรฟุตบอลเชียงราย ยูไนเต็ด ในช่วงเกิดวิกฤตโควิด ทำให้ได้รู้จากประสบการณ์ของตัวเองถึงปัญหาต่างๆ ที่คนในสโมสรต้องเจอ เช่น ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจที่พนักงานในสโมสรต้องเจอในช่วงโควิด รวมถึงองค์กรธุรกิจที่ประสบปัญหาช่วงโควิดเจออะไรบ้าง และรัฐบาลควรสนับสนุนช่วยคนเหล่านี้อย่างไร ซึ่งฮายก็พาองค์กรรอดในช่วงนั้นมาได้ ทั้งที่คนที่เคยผ่านวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งมาก็ยังรู้สึกว่าช่วงวิกฤตโควิดหนักกว่า ฮายก็เลยรู้สึกว่าเราแข็งแรงกับการที่พาองค์กรรอดวิกฤตครั้งนี้ และเราจะพาองค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน เราจะไม่ตายง่ายๆ ไม่ล้มง่ายๆ ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ก็จะเป็นแบบเดียวกันกับที่ฮายจะนำพาพรรคเพื่อชาติ ต่อให้คนจะมองว่าเราคือสโมสรเล็ก พรรคเล็ก เงินน้อยที่สุดในลีก คนน้อยที่สุดในลีก แต่ฮายก็ยังเชื่อมั่นว่าเราจะประสบความสำเร็จได้ และฮายก็พาเชียงราย ยูไนเต็ด คว้าทุกแชมป์ของประเทศไทยมาแล้ว

เป็นจุดที่ทำให้เราเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าเราจะทำอะไร หากเรามีเป้าหมาย เรามีจุดยืนที่ชัดเจน เราก็จะนำพาองค์กรประสบความสำเร็จได้ เหมือนพรรคเพื่อชาติก็เช่นกัน ต่อให้ไม่ได้ ส.ส.สักคน แต่อย่าคิดว่าตัวฮายจะยอมแพ้ตั้งแต่สมัยแรก บอกเลยว่าสมัยต่อไปเราก็จะต้องได้ ส.ส.” หัวหน้าพรรคเพื่อชาติกล่าวทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงเชื่อมั่น. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้

คำนูณ ผ่าปม 2 ได้ 3 เสีย ถ้าไม่ยกเลิก MOU 2544

ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เชื่อมโยงถึงเกาะกูด, การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ยั

ตอกยํ้าดีลฮ่องกง ลิ่วล้อแจงแทนนาย ‘พรรคส้ม’ ยากเป็นรัฐบาล

ตอกย้ำดีลฮ่องกงเหลว! "ณัฐวุฒิ" ขยายความ "ทักษิณ" คุย "ธนาธร" แค่เล่าชะตากรรม ไม่มีการพาดพิง ม.112 กับก้าวไกล เผยตั้งแต่โหวต "พิธา"

'พิธา' คุยพรรคประชาชนแข่งเลือกตั้งมีแต่ชนะกับพัฒนา ไม่มีคำว่าแพ้

ที่จ.อุดรธานี แกนนำ สส. และผู้ช่วยหาเสียงพรรคประชาชน ร่วมเวทีปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก องค์การ​บริหาร​ส่วน​จังหวัด​ (อบจ.)​ อุดรธานี ที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 พ.ย. 2567 ซึ่งพรรคประชาชนได้ส่ง คณิศร ขุริรัง เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายก