เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2565 เวียดนามสามารถนำทุเรียนสดเข้าจีนได้แล้ว และภายในปีนี้คาดว่า ทุเรียนสดจากฟิลิปปินส์จะได้รับอนุมัติให้ส่งออกไปยังจีนได้เช่นกัน นับจากนี้ไป จะหมดยุคการผูกขาดในตลาดจีนโดยทุเรียนสดจากไทยแล้ว จนหลายฝ่ายเริ่มเป็นกังวลเกี่ยวกับอนาคตของทุเรียนไทยในตลาดจีน บทความนี้ขอนำเสนอผลงานวิจัยที่ได้ทำการประเมินแนวโน้มสถานการณ์อุตสาหกรรมทุเรียนไทยในอนาคต เป็นบทสรุปจากโครงการวิจัย “ผลกระทบระยะยาวของการขยายกิจการของผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ต่างชาติ” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยมีผู้เขียนเป็นหัวหน้าโครงการ
โครงการศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลกระทบระยะยาวของการขยายกิจการของโรงคัดบรรจุชาวต่างชาติต่อห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่คุณค่าของผลไม้ไทย โดยเลือกใช้ทุเรียนเป็นกรณีศึกษา การศึกษาได้ประเมินสถานการณ์ในอนาคตจากแนวโน้มการเกิดปรากฏการณ์ ที่น่าจะส่งผลต่อทิศทางของวิถีการปลูกและการค้าทุเรียนไทยจำนวน 6 เหตุการณ์สำคัญด้วยกัน ครอบคลุมตามแนวความคิดของ PEST (Political, Economic, Social, and Technological) คือ 1) แนวโน้มการบริโภคทุเรียนในจีน 2) แนวโน้มการแผ่ขยายอิทธิพลของโรงคัดบรรจุต่างชาติ 3) แนวโน้มของกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยด้านอาหาร 4) การขยายพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนในไทย 5) การสูญเสียองค์ความรู้ด้านการเพาะปลูก และ 6) สถานการณ์การแข่งขันจากทุเรียนที่ปลูกในต่างประเทศ ซึ่งปัจจัยทั้ง 6 ด้านเป็นปัจจัยที่กระทบสถานการณ์ด้านอุปสงค์ในประเด็นอัตราการเติบโตและหดตัวของความต้องการบริโภคทุเรียนไทย และกระทบสถานการณ์ด้านอุปทานในประเด็นอิทธิพลของต่างชาติที่มีต่อห่วงโซ่คุณค่าทุเรียนไทย เกิดเป็นภาพอนาคต 4 ภาพ ดังรูป
การประชุมระดมความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมทุเรียนไทย พบว่า หากไม่มีการดำเนินการเชิงรุกใดๆ ใน 5 ปีข้างหน้า ผู้ประกอบการไทยจะมีศักยภาพในการแข่งขันลดลงจากเดิมมาก อาจถูกผู้ประกอบการต่างชาติเบียดขับออกจากตลาด เกิดเป็น “ภาพอนาคตที่ 2” ต่อมา ใน 10 ปีข้างหน้า ความพยายามทดลองปลูกทุเรียนที่มีรสชาติและคุณภาพดีในต่างประเทศเริ่มออกดอกออกผล การจำหน่ายทุเรียนไทยในจีนเริ่มเผชิญการแข่งขันจากทุเรียนต่างประเทศที่สูงขึ้น จนใน 20 ปีข้างหน้า จะเกิดเป็น “ภาพอนาคตที่ 3” การจำหน่ายทุเรียนไทยในตลาดจีนเผชิญการแข่งขันที่เข้มข้นจากทุเรียนต่างประเทศ ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการจีนสามารถยึดครองการค้าทุเรียนในตลาดไทยได้เกือบทั้งหมด ถ้าไม่มีการบริหารจัดการที่ดี อาจเกิดการผูกขาดการค้าโดยการแทรกแซงตลาดจากผู้นำเข้าทุเรียนรายใหญ่ในฝั่งจีน แต่สถานการณ์ไม่น่าจะถึงขั้นเลวร้ายจนเกิดเป็น “ภาพอนาคตที่ 4”
การศึกษานี้ได้ประเมินผลกระทบในระยะยาวอันเป็นผลจากการขยายอิทธิพลของผู้ประกอบการต่างชาติในอุตสาหกรรมทุเรียนไทย ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals, SDGs) ของสหประชาชาติ ในระยะแรกเริ่มของการเข้ามาประกอบการ การเข้ามาประกอบธุรกิจของทุนต่างชาติได้สร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับทุเรียนไทย ในการขยายการส่งออกไปจำหน่ายในตลาดจีน ส่งผลถึงราคาผลผลิตที่เกษตรกรได้รับเพิ่มขึ้นจากเดิมอย่างมาก อย่างไรก็ดี ความท้าทายของอุตสาหกรรมทุเรียนไทยจะอยู่ที่การรักษาผลประโยชน์ทางบวกที่เคยได้ในระยะสั้นให้ยังคงอยู่ต่อไปในระยะยาว ผู้ประกอบการต่างชาติย่อมแสวงหาหนทางที่จะขยายโอกาสทางธุรกิจของตน และภาคการค้าไทยไม่น่าจะมีความสามารถชะลอหรือหยุดการขยายอิทธิพลของทุนต่างชาติเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในการค้าทุเรียนได้ โดยในระยะยาว การขยายอิทธิพลของทุนต่างชาติ มีโอกาสก่อให้เกิดผลกระทบได้ทั้งด้านบวกและด้านลบ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและสภาวการณ์แวดล้อมอุตสาหกรรมทุเรียนไทยในอนาคต ซึ่งเปรียบเสมือน “จุดคานงัด” ของอนาคตทุเรียนไทย ประกอบด้วยความพร้อมในด้านต่างๆ ดังนี้ คือ 1) ความสามารถการบริหารจัดการการขยายการปลูกทุเรียน 2) ตลาดจีนยังคงนิยมสินค้าทุเรียนไทยอย่างต่อเนื่อง 3) การแข่งขันจากทุเรียนต่างชาติยังอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรงนัก 4) รสชาติและคุณภาพของผลผลิตดี 5) เกษตรกรไทยมีอำนาจต่อรองในการขายผลผลิต ภายใต้กลไกตลาดที่เป็นธรรม 6) เกษตรกรมีวิธีการบริหารความเสี่ยง 7) ความจริงจังและต่อเนื่องในการส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาด้านสินค้าและตลาด 8) ความจริงจังและต่อเนื่องในการส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาด้านการปลูก และการพัฒนาระบบบริหารจัดการองค์ความรู้ด้านการเพาะปลูก และ 9) การทำสวนทุเรียนแบบปลอดภัยและยั่งยืน
กลยุทธ์และมาตรการที่เป็นข้อเสนอแนะของการศึกษานี้ ตั้งอยู่บนฐานความคิดสำคัญ 3 ประการ คือ 1) อุตสาหกรรมทุเรียนไทยยังต้องพึ่งผู้ประกอบการต่างชาติในการรักษาความมั่นคงของการส่งออกไปจำหน่ายในตลาดจีน 2) การรับมือกับการขยายอิทธิพลของทุนต่างชาติ คือ การป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดในการรับซื้อผลผลิตจากสวน เกษตรกรชาวสวนทุเรียนจะต้องมีอำนาจต่อรองในการเจรจาการซื้อขายผลผลิต และ 3) สถาบันเกษตรกร จะต้องเป็น “เครื่องมือ” ในการขับเคลื่อนการสร้างความเข้มแข็งและอำนาจต่อรองให้กับชาวสวน โดยมีองค์กรของรัฐทำหน้าที่อำนวยความสะดวกและสนับสนุนด้านกฎระเบียบและข้อมูลต่าง ๆ ที่จำเป็น
กลยุทธ์และมาตรการที่หวังผลระยะสั้น ประมาณ 1-3 ปี ประกอบด้วย การรวบรวมข้อมูลทั้งด้านการเพาะปลูกในประเทศ การค้าทุเรียนในประเทศ การค้าทุเรียนในตลาดจีน และการเพาะปลูกและการค้าทุเรียนของต่างชาติที่เป็นคู่แข่งของทุเรียนไทย รวมถึงการพัฒนาระบบจัดการองค์ความรู้ด้านการผลิตทุเรียน กลยุทธ์และมาตรการที่หวังผลระยะกลาง ประมาณ 3-5 ปี ประกอบด้วย การการจัดระเบียบและการกำกับดูแลการเข้ามาประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวตามกฎหมายที่มีอยู่หลายฉบับ รวมถึงการติดตามและกำกับให้มีการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบอย่างจริงจัง และการเตรียมความพร้อมเชิงสถาบันเพื่อรองรับและส่งเสริมการก่อเกิดของสถาบันเกษตรกรในอนาคต ด้วยการยกระดับคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ให้เป็นคณะกรรมการพัฒนาและบริการจัดการทุเรียนไทย ที่จัดตั้งโดยอำนาจของพระราชบัญญัติ เพราะจะมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมทุเรียนไทย โดยคณะกรรมการฯนี้ทำหน้าที่กำกับดูแลการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และให้การสนับสนุนการจัดตั้งและการดำเนินการของสถาบันเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน ส่วนกลยุทธ์และมาตรการที่หวังผลระยะยาว 5 ปีขึ้นไป คือ การพัฒนาสถาบันเกษตรกรที่มีความเข้มแข็ง จนสามารถเป็นหัวรถจักรขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมทุเรียนไทยในระยะยาวอย่างแท้จริง ทั้งนี้ กลยุทธ์และมาตรการที่นำเสนอเพื่อหวังผลในระยะสั้นและระยะกลาง เป็นงานส่วนที่หน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการหลัก เป็นการวางรากฐานเพื่อให้ประสบความสำเร็จในการจัดตั้ง “สถาบันเกษตรกร” ที่เข้มแข็งนั่นเอง
หมายเหตุ คณะผู้วิจัยประกอบด้วย รศ.ดร. สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ รศ.น.สพ.ดร. วิชัย ทันตศุภารักษ์ ผศ.ดร. ประมวล สุธีจารุวัฒน ผศ. เรือเอก ดร. สราวุธ ลักษณะโต ผศ.ดร. ศุภวรรณ วิเศษน้อย ผศ.ดร. ฐิติมา วงศ์อินตา และ อ.ดร. อาร์ม ตั้งนิรันดร ทั้งนี้ความเห็นในรายงานนี้เป็นของผู้วิจัย สกสว. ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป
สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์
ที่ปรึกษา หลักสูตรสหสาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ สําหรับ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สศท.8 เผย ปีนี้ไม้ผลภาคใต้ 4 ชนิด คาดผลผลิตรวม 6.9 แสนตันออกสู่ตลาดแล้วร้อยละ77
นายนิกร แสงเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 สุราษฎร์ธานี (สศท.8) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลสรุปข้อมูลเอกภาพไม้ผลภาคใต้ ปี 2567
มกอช. ขานรับข้อสั่งการ “รมว.เกษตรฯ” ลุยสวนทุเรียน-โรงรวบรวมผลทุเรียนชุมพร สร้างการรับรู้ปฏิบัติตาม มกษ. 9070-2566 ผลิตทุเรียนคุณภาพเพื่อการส่งออก ขณะที่ผู้ประกอบการ ตอบรับพร้อมปรับเข้าสู่หลักเกณฑ์
วันนี้ (16 ส.ค.67) นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่เยี่ยมชมสวนทุเรียน GAP โรงรวบรวมผลทุเรียนและโรงคัดบรรจุ
ฮือฮา! ทุเรียนลูกละ 1 บาท แห่รับบัตรคิวแน่นตลาด
ตลาดมหาชัยไนท์ต้นสน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ได้จัดมหกรรมทุเรียน ระหว่างวันที่ 4 - 7 กรกฎาคม 2567 สร้างความฮือฮาให้กับผู้ที่มาจับจ่ายใช้สอยที่ตลาด
ภูมิธรรมถกคาลดี้ (KALDI) ค้าปลีกญี่ปุ่นดันขายกาแฟ ผลไม้ สินค้าไทย
”ภูมิธรรม“ ถกคาลดี้ (KALDI) ค้าปลีกญี่ปุ่นดันขายกาแฟ ผลไม้ สินค้าไทย พร้อมชวนเดิน THAIFEX เลือกช้อปสินค้าคุณภาพไทยขึ้นห้างเพิ่ม
อากาศร้อนพ่นพิษ สวนทุเรียนที่บุรีรัมย์ แตกร่วงหล่นเสียหายนับร้อยลูก
นางทองใส ที่รัก เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนบ้านหนองตะไก้ หมู่ที่ 8 ต.ดงอีจาน อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งได้ทำเกษตรแบบผสมผสาน และได้ปลูกทุเรียนไว้บริเวณสวนข้างบ้านพักกว่า 20 ต้น ในเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ ได้เดินเก็บลูกทุเรียน ที่ปริแตก และร่วงหล่น