เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2565 เวียดนามสามารถนำทุเรียนสดเข้าจีนได้แล้ว และภายในปีนี้คาดว่าทุเรียนสดจากฟิลิปปินส์จะได้รับอนุมัติให้ส่งออกไปยังจีนได้เช่นกัน นับจากนี้ไปจะหมดยุคการผูกขาดในตลาดจีนโดยทุเรียนสดจากไทยแล้ว จนหลายฝ่ายเริ่มเป็นกังวลเกี่ยวกับอนาคตของทุเรียนไทยในตลาดจีน บทความนี้ขอนำเสนอผลงานวิจัยที่ได้ทำการประเมินแนวโน้มสถานการณ์อุตสาหกรรมทุเรียนไทยในอนาคต เป็นบทสรุปจากโครงการวิจัย “ผลกระทบระยะยาวของการขยายกิจการของผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ต่างชาติ” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยมีผู้เขียนเป็นหัวหน้าโครงการ
โครงการศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลกระทบระยะยาวของการขยายกิจการของโรงคัดบรรจุชาวต่างชาติต่อห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่คุณค่าของผลไม้ไทย โดยเลือกใช้ทุเรียนเป็นกรณีศึกษา การศึกษาได้ประเมินสถานการณ์ในอนาคตจากแนวโน้มการเกิดปรากฏการณ์ ที่น่าจะส่งผลต่อทิศทางของวิถีการปลูกและการค้าทุเรียนไทย จำนวน 6 เหตุการณ์สำคัญด้วยกัน ครอบคลุมตามแนวความคิดของ PEST (Political, Economic, Social, and Technological) คือ 1) แนวโน้มการบริโภคทุเรียนในจีน 2) แนวโน้มการแผ่ขยายอิทธิพลของโรงคัดบรรจุต่างชาติ 3) แนวโน้มของกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยด้านอาหาร 4) การขยายพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนในไทย 5) การสูญเสียองค์ความรู้ด้านการเพาะปลูก และ 6) สถานการณ์การแข่งขันจากทุเรียนที่ปลูกในต่างประเทศ ซึ่งปัจจัยทั้ง 6 ด้านเป็นปัจจัยที่กระทบสถานการณ์ด้านอุปสงค์ในประเด็นอัตราการเติบโตและหดตัวของความต้องการบริโภคทุเรียนไทย และกระทบสถานการณ์ด้านอุปทานในประเด็นอิทธิพลของต่างชาติที่มีต่อห่วงโซ่คุณค่าทุเรียนไทย เกิดเป็นภาพอนาคต 4 ภาพ ดังรูป
การประชุมระดมความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมทุเรียนไทย พบว่า หากไม่มีการดำเนินการเชิงรุกใดๆ ใน 5 ปีข้างหน้า ผู้ประกอบการไทยจะมีศักยภาพในการแข่งขันลดลงจากเดิมมาก อาจถูกผู้ประกอบการต่างชาติเบียดขับออกจากตลาด เกิดเป็น “ภาพอนาคตที่ 2” ต่อมา ใน 10 ปีข้างหน้า ความพยายามทดลองปลูกทุเรียนที่มีรสชาติและคุณภาพดีในต่างประเทศเริ่มออกดอกออกผล การจำหน่ายทุเรียนไทยในจีนเริ่มเผชิญการแข่งขันจากทุเรียนต่างประเทศที่สูงขึ้น จนใน 20 ปีข้างหน้าจะเกิดเป็น “ภาพอนาคตที่ 3” การจำหน่ายทุเรียนไทยในตลาดจีนเผชิญการแข่งขันที่เข้มข้นจากทุเรียนต่างประเทศ ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการจีนสามารถยึดครองการค้าทุเรียนในตลาดไทยได้เกือบทั้งหมด ถ้าไม่มีการบริหารจัดการที่ดี อาจเกิดการผูกขาดการค้าโดยการแทรกแซงตลาดจากผู้นำเข้าทุเรียนรายใหญ่ในฝั่งจีน แต่สถานการณ์ไม่น่าจะถึงขั้นเลวร้ายจนเกิดเป็น “ภาพอนาคตที่ 4”
การศึกษานี้ได้ประเมินผลกระทบในระยะยาวอันเป็นผลจากการขยายอิทธิพลของผู้ประกอบการต่างชาติในอุตสาหกรรมทุเรียนไทย ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals, SDGs) ของสหประชาชาติ ในระยะแรกเริ่มของการเข้ามาประกอบการ การเข้ามาประกอบธุรกิจของทุนต่างชาติได้สร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับทุเรียนไทย ในการขยายการส่งออกไปจำหน่ายในตลาดจีน ส่งผลถึงราคาผลผลิตที่เกษตรกรได้รับเพิ่มขึ้นจากเดิมอย่างมาก อย่างไรก็ดี ความท้าทายของอุตสาหกรรมทุเรียนไทยจะอยู่ที่การรักษาผลประโยชน์ทางบวกที่เคยได้ในระยะสั้นให้ยังคงอยู่ต่อไปในระยะยาว ผู้ประกอบการต่างชาติย่อมแสวงหาหนทางที่จะขยายโอกาสทางธุรกิจของตน และภาคการค้าไทยไม่น่าจะมีความสามารถชะลอหรือหยุดการขยายอิทธิพลของทุนต่างชาติเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในการค้าทุเรียนได้ โดยในระยะยาว การขยายอิทธิพลของทุนต่างชาติมีโอกาสก่อให้เกิดผลกระทบได้ทั้งด้านบวกและด้านลบ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและสภาวการณ์แวดล้อมอุตสาหกรรมทุเรียนไทยในอนาคต ซึ่งเปรียบเสมือน “จุดคานงัด” ของอนาคตทุเรียนไทย ประกอบด้วยความพร้อมในด้านต่างๆ ดังนี้
1) ความสามารถการบริหารจัดการการขยายการปลูกทุเรียน 2) ตลาดจีนยังคงนิยมสินค้าทุเรียนไทยอย่างต่อเนื่อง 3) การแข่งขันจากทุเรียนต่างชาติยังอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรงนัก 4) รสชาติและคุณภาพของผลผลิตดี 5) เกษตรกรไทยมีอำนาจต่อรองในการขายผลผลิต ภายใต้กลไกตลาดที่เป็นธรรม 6) เกษตรกรมีวิธีการบริหารความเสี่ยง 7) ความจริงจังและต่อเนื่องในการส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาด้านสินค้าและตลาด 8) ความจริงจังและต่อเนื่องในการส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาด้านการปลูก และการพัฒนาระบบบริหารจัดการองค์ความรู้ด้านการเพาะปลูก และ 9) การทำสวนทุเรียนแบบปลอดภัยและยั่งยืน
กลยุทธ์และมาตรการที่เป็นข้อเสนอแนะของการศึกษานี้ ตั้งอยู่บนฐานความคิดสำคัญ 3 ประการ คือ 1) อุตสาหกรรมทุเรียนไทยยังต้องพึ่งผู้ประกอบการต่างชาติในการรักษาความมั่นคงของการส่งออกไปจำหน่ายในตลาดจีน 2) การรับมือกับการขยายอิทธิพลของทุนต่างชาติ คือ การป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดในการรับซื้อผลผลิตจากสวน เกษตรกรชาวสวนทุเรียนจะต้องมีอำนาจต่อรองในการเจรจาการซื้อขายผลผลิต และ 3) สถาบันเกษตรกรจะต้องเป็น “เครื่องมือ” ในการขับเคลื่อนการสร้างความเข้มแข็งและอำนาจต่อรองให้กับชาวสวน โดยมีองค์กรของรัฐทำหน้าที่อำนวยความสะดวกและสนับสนุนด้านกฎระเบียบและข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็น
กลยุทธ์และมาตรการที่หวังผลระยะสั้น ประมาณ 1-3 ปี ประกอบด้วย การรวบรวมข้อมูลทั้งด้านการเพาะปลูกในประเทศ การค้าทุเรียนในประเทศ การค้าทุเรียนในตลาดจีน และการเพาะปลูกและการค้าทุเรียนของต่างชาติที่เป็นคู่แข่งของทุเรียนไทย รวมถึงการพัฒนาระบบจัดการองค์ความรู้ด้านการผลิตทุเรียน กลยุทธ์และมาตรการที่หวังผลระยะกลาง ประมาณ 3-5 ปี ประกอบด้วย การจัดระเบียบและการกำกับดูแลการเข้ามาประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวตามกฎหมายที่มีอยู่หลายฉบับ
รวมถึงการติดตามและกำกับให้มีการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบอย่างจริงจัง และการเตรียมความพร้อมเชิงสถาบันเพื่อรองรับและส่งเสริมการก่อเกิดของสถาบันเกษตรกรในอนาคต ด้วยการยกระดับคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ให้เป็นคณะกรรมการพัฒนาและบริการจัดการทุเรียนไทย ที่จัดตั้งโดยอำนาจของพระราชบัญญัติ เพราะจะมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมทุเรียนไทย โดยคณะกรรมการนี้ทำหน้าที่กำกับดูแลการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และให้การสนับสนุนการจัดตั้งและการดำเนินการของสถาบันเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน ส่วนกลยุทธ์และมาตรการที่หวังผลระยะยาว 5 ปีขึ้นไป คือ การพัฒนาสถาบันเกษตรกรที่มีความเข้มแข็ง จนสามารถเป็นหัวรถจักรขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมทุเรียนไทยในระยะยาวอย่างแท้จริง ทั้งนี้ กลยุทธ์และมาตรการที่นำเสนอเพื่อหวังผลในระยะสั้นและระยะกลาง เป็นงานส่วนที่หน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการหลัก เป็นการวางรากฐานเพื่อให้ประสบความสำเร็จในการจัดตั้ง “สถาบันเกษตรกร” ที่เข้มแข็งนั่นเอง
หมายเหตุ คณะผู้วิจัยประกอบด้วย รศ.ดร.สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์, รศ.นสพ.ดร.วิชัย ทันตศุภารักษ์, ผศ.ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน, ผศ.เรือเอก ดร.สราวุธ ลักษณะโต, ผศ.ดร.ศุภวรรณ วิเศษน้อย, ผศ.ดร.ฐิติมา วงศ์อินตา และ อ.ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ทั้งนี้ความเห็นในรายงานนี้เป็นของผู้วิจัย สกสว. ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป.
นายสมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
คำนูณ ผ่าปม 2 ได้ 3 เสีย ถ้าไม่ยกเลิก MOU 2544
ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เชื่อมโยงถึงเกาะกูด, การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ยั
'แก้วสรร' แพร่บทความ 'นิติสงคราม' คืออะไร?
นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ออกบทความเรื่อง “นิติสงคราม” คืออะไร???
อย่าได้ประมาทในธรรม.. “เมื่อใจตรง .. จะตรงใจ”..
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. เดินทางกลับมาจากอินเดีย เมื่อ ๗ พ.ย.๒๕๖๗.. ถึงกรุงเทพฯ ๘ พ.ย.๒๕๖๗ หลังจากไปร่วมประชุม “The First Asian Buddhist Summit 2024” ที่นิวเดลี งานนี้จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวของรัฐบาลอินเดีย
ขึ้นต้นก็(เขียน)ผิดแล้ว ! ว่าด้วยเส้น “ละติดจูด” ที่ 11° “E” ในเอกสารแนบท้าย MOU 2544
เขียนและพูดเรื่อง MOU 2544 มาหลายปี หลากมุมมอง ล่าสุดช่วงนี้ก็จำแนกข้อดีข้อเสีย รวมทั้งส่วนที่จะได้และส่วนที่จะเสียหากเจรจาสำเร็จ ล้วนหนัก ๆ ทั้งนั้น .
ไม่เลิก MOU 44 ได้สอง-เสียสาม !
คำถามของท่านนายกรัฐมนตรึเมื่อวันก่อนที่ว่าถ้าเราเลิก MOU 2544 แล้วจะ “ได้” อะไร ดูเหมือนท่านจะเห็นว่าเราจะ “ไม่ได้” อะไรเลยละกระมัง จึงสรุปว่าจะไม่เลิกและจะเดินหน้าต่อ
พฤศจิกายน ศาลรธน. รับคำร้องคดี ทักษิณ-พท. ล้มล้างการปกครองฯ
ความคืบหน้าคำร้องคดีสำคัญทางการเมือง กรณีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยสั่งการให้นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1