วิพากษ์คำตัดสินคดี8ปี ศาลให้เหตุผลอ่อน-ไม่น่าเชื่อถือ

หลังที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา มีมติด้วยเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ในคำร้องคดีแปดปีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยวินิจฉัยว่า "พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ต้องพ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรี" และระบุในคำวินิจฉัยกลางว่าการนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯให้เริ่มนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้เมื่อ 6 เมษายน 2560 ทำให้พลเอกประยุทธ์คัมแบ็กกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีเต็มตัวอีกครั้ง หลังสิ้นสุดการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทันที

ด้านความเห็นจากนักวิชาการด้านกฎหมาย”รองศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์-อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์”ที่ติดตามการวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญมาต่อเนื่องโดยตลอดแสดงทัศนะต่อคำวินิจฉัยคำร้องคดีแปดปีพลเอกประยุทธ์ไว้อย่างน่าสนใจหลายแง่มุม ที่ต้องอ่านรายละเอียดแบบบรรทัดต่อบรรทัด

เริ่มต้นด้วยการที่"ดร.มุนินทร์"ให้ความเห็นว่า สิ่งที่อยากพูดถึง"คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ"ก็คือเรื่อง"การให้เหตุผลในการวินิจฉัย"ที่พบว่าในคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญที่นำมาอ่านซึ่งเป็นฉบับย่อ ส่วนคำวินิจฉัยกลางฉบับเต็ม คาดว่าจะมีการเผยแพร่หลังจากนี้ต่อไป สำหรับคำวินิจฉัยกลางที่อ่านเมื่อ 30 กันยายน สิ่งที่อยากพูดถึงคือเรื่อง"การให้เหตุผล"ของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ก็เป็นการโต้แย้งซึ่งประเด็นหลักๆ ผมมองว่าเหตุผลค่อนข้างอ่อน ไม่ค่อยน่าเชื่อถือ และหลักการที่อ้างอิง ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่ามีการตัดสินแบบถูกต้องเหมาะสม

พอเหตุผลที่ศาลให้มาในคำวินิจฉัยมันอ่อนและไม่น่าเชื่อถือ ก็ทำให้คนตั้งคำถาม เกิดเป็นคำถามเยอะแยะมากมาย จนคนขาดความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของศาล และนำไปสู่ข้อสรุปที่คนเขาปรามาสกันไว้ก่อนแล้วว่า ไม่หวังอะไรกับศาล เพราะดูจากคดีก่อน ๆ ผลก็เป็นแบบนี้อยู่แล้ว และพอมาเจอคดีนี้อีก ผลก็ไม่ได้ต่างกัน

ผมขอหยิบยกประเด็นสำคัญๆ มา ซึ่งเรื่องแรกคือเรื่องการปรับใช้หลัก"กฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง"ที่ก็เป็นเหตุผลหลักที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้ในการวินิจฉัยว่าพลเอกประยุทธ์ ยังเป็นนายกรัฐมนตรีต่อได้หลัง 24 สิงหาคม 2565 โดยการนับระยะเวลาแปดปี ให้เริ่มนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2560 ซึ่งประเด็นนี้ ถามว่าเป็นหลักการที่ในทางกฎหมายเป็นที่ยอมรับหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าใช่ เพราะหลักกฎหมายไม่มีผลย้อนหลังเป็นหลักการซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป แต่ว่าการปรับใช้หลักการนี้ในแต่ละบริบท แต่ละกรณีจะมีความแตกต่างกันไป

พบว่ามันมีอยู่สองปัญหาในการปรับใช้หลักการนี้ของศาลรัฐธรรมนูญ ปัญหาประการแรกก็คือ การปรับใช้หลักกฎหมายไม่มีผลย้อนหลังของศาลรัฐธรรมนูญมันไม่สม่ำเสมอ เพราะเคยมีกรณีคดีที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้เช่นคดีของสิระ เจนจาคะ (อดีตส.ส.กทม.พลังประชารัฐ) ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้พ้นจากส.ส.เพราะขาดคุณสมบัติและถูกตัดสิทธิเพราะพบว่ามีการกระทำความผิดก่อนที่รัฐธรรมนูญจะมีผลบังคับใช้ ที่ศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องวินิจฉัยเหมือนกันว่ากรณีดังกล่าว เป็นกรณีที่มีการกระทำความผิดก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะมีผลบังคับใช้เอามาเป็นโทษกับบุคคลได้หรือไม่ ที่ศาลก็มองว่าทำได้ จนเป็นเหตุให้นายสิระถูกตัดสิทธิ เมื่อเราตั้งหลักแบบนั้นว่ารัฐธรรมนูญบังคับย้อนหลังไปได้ เพื่อตัดสิทธิบุคคลได้ ก็เกิดคำถามว่าแล้วทำไมการปรับใช้รัฐธรรมนูญถึงจะไปย้อนหลังเพื่อเป็นโทษกับพลเอกประยุทธ์ไม่ได้

คือหากศาลรัฐธรรมนูญตั้งหลักตั้งแต่แรกๆ ในการตัดสินคำร้องคดีที่มีลักษณะดังกล่าว คือ"กฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง"แล้วกรณีคดีของนายสิระ ที่ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า โอเคจะไม่บังคับย้อนหลังเพื่อเป็นโทษกับนายสิระ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีนายสิระบนหลักการนี้แล้วมาตัดสินคดีพลเอกประยุทธ์แบบเดียวกัน ผมคิดว่าถ้าออกมาแบบนี้นักกฎหมายพอจะเข้าใจได้ แต่พอตัดสินแตกต่างกัน มีการปรับใช้กฎหมายแตกต่างกัน บางคดีโดนย้อนหลังแต่บางคดีให้ไปข้างหน้าอย่างเดียวเช่นคดีพลเอกประยุทธ์ที่ให้ไปข้างหน้าอย่างเดียว มันก็ทำให้เห็นว่า มีการเลือกปฏิบัติในการปรับใช้กฎหมาย ที่จะมีคำถามเกิดขึ้นได้ถึงแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าเป็นคนละกรณีกัน กรณีคำร้องของนายสิระเป็นเรื่องของ"คุณสมบัติของส.ส."แต่กรณีคำร้องคดีแปดปีเป็นเรื่อง"การนับระยะเวลา"แต่ว่าโดยเนื้อแท้ของมันก็คือการปรับใช้หลักกฎหมายไม่มีผลย้อนหลังเหมือนกัน สาระสำคัญมันเหมือนกันคือว่าเราควรปรับใช้กฎหมายหรือหลักดังกล่าวนี้เพื่อไปเป็นโทษกับบุคคลได้หรือไม่

คิดว่าเป็นสิ่งสำคัญมากที่ศาลต้องปรับใช้หลักกฎหมายที่เป็นหลักเดียวกันให้เกิดผลแบบเดียวกัน ในข้อเท็จจริงแบบเดียวกัน ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นปัญหาว่ามันไม่เหมือนกัน ผลมันไม่เหมือนกัน ต่อไปเราก็จะไม่รู้ว่าต้องปรับใช้หลักกฎหมายไม่มีผลย้อนหลังอย่างไร กรณีไหนย้อนหลังได้ กรณีไหนย้อนหลังไม่ได้ ทีนี้มันขึ้นอยู่กับความอำเภอใจของคนตัดสิน คนตีความ

ดร.มุนินทร์"กล่าวต่อไปว่า ประเด็นที่สองของ เรื่องการปรับใช้หลักกฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง พบว่า ศาลไม่ได้หยิบยกเรื่อง"เจตนารมณ์ของการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้ที่ไม่เกินแปดปี"เพราะว่าหากดูบริบทเจตนารมณ์ดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 ประกอบ เราจะเห็นว่า ในการตีความเรื่องกฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง เราต้องคิดถึงเรื่องเจตนารมณ์พิเศษดังกล่าวนี้ด้วย ผมเคยแสดงความเห็นไว้ก่อนหน้านี้ว่า การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติเรื่องไม่ให้เป็นนายกฯเกินแปดปี เป็นเรื่องที่ไม่ปกติในระบบรัฐสภา เพราะระบบรัฐสภาในหลายประเทศส่วนใหญ่จะไม่มีการจำกัดระยะเวลาการเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะตราบใดที่ประชาชนเลือกคุณมา พรรคการเมืองต้นสังกัดบุคคลนั้นได้เสียงข้างมากในสภาฯ จนตั้งรัฐบาลได้ คนจากพรรคที่มีเสียงข้างมากก็อาจได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าประชาชนจะไม่เลือกแล้วหรือคนนั้นเบื่อไปเอง แต่การที่เลือกที่จะจำกัดวาระนายกฯไว้แค่ไม่เกินแปดปี แสดงว่ามีเหตุผลพิเศษหรือเจตนารมณ์พิเศษ ดังนั้นเหตุผลพิเศษ-เจตนารมณ์พิเศษดังกล่าว ควรจะต้องนำมาคำนึงถึงในการปรับใช้กฎหมายไม่มีผลย้อนหลังด้วยเช่นเดียวกัน ประเด็นนี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่ค่อยไปแตะเรื่องเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 158 สักเท่าใดนัก

"ทั้งหมดคือปัญหาที่พบในเรื่องการปรับใช้หลักกฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง ที่ผมว่าการให้เหตุผลมันอ่อนมาก ทำให้ไม่น่าเชื่อถือ"

นักวิชาการด้านกฎหมาย-ดร.มุนินทร์"แสดงทัศนะอีกว่า เรื่องที่สอง ที่ผมเห็นว่าเหตุผลอ่อนมากกว่าอีกและค่อนข้างแปลกใจมากก็คือกรณีที่อ้างถึงการค้นหาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ในบันทึกรายงานการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือกรธ.ที่ศาลก็ไม่ได้แตะความเห็นของคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรธ.เท่าใดนัก ที่มีข่าวว่าให้ความเห็น-ข้อเท็จจริงที่มันขัดแย้งกันเอง ระหว่างรายงานการประชุมกรธ.ครั้งที่ 500 กับครั้งที่ 501

ในประเด็นนี้ที่น่าสนใจก็คือว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ได้บอกว่ารายงานการประชุมของกรธ. เป็นการทำขึ้นหลังรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีผลบังคับใช้แล้วไปปีกว่า โดยศาลบอกว่าไม่ได้ทำขึ้นในช่วงการยกร่างรัฐธรรมนูญ

ซึ่งประเด็นว่ากรธ.ทำกันช่วงไหน มันไม่ได้สำคัญมาก มันยังเป็นเวลาที่ใกล้ชิดกันอยู่ แต่สิ่งที่สำคัญ ก็คือคนที่ทำบันทึกหลักการและเหตุผล มีการคุยกัน เพราะคนที่ร่างรัฐธรรมนูญก็คือคนที่รู้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญดีที่สุด เพราะฉะนั้นในช่วงเวลาที่มีการทำกันของกรธ.แม้จะทำภายหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ แต่ก็เป็นช่วงที่ยังไม่มีเหตุการณ์หรือสถานการณ์จริงเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเวลาถกเถียงกัน เขาก็จะพูดคุยกัน ทำบันทึกหลักการและเหตุผลที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการร่างรัฐธรรมนูญขึ้น เพราะจะมีใครทำบันทึกหลักการและเหตุผลของรัฐธรรมนูญ รวมถึงคำอธิบายรายมาตราที่แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้ดีไปกว่า คณะบุคคลคณะนี้(กรธ.) ไม่มีอีกแล้วเพราะกรธ.คือกลุ่มคนที่รู้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญดีที่สุด

ศาลรัฐธรรมนูญมาให้เหตุผลทำนองที่ว่า ถ้าเขาต้องการให้ ข้อโต้แย้งเรื่องการนับเวลาแปดปี ที่คุณมีชัย หยิบยกขึ้นมาพูดในที่ประชุมกรธ.เป็นเจตนารมณ์ของกฎหมาย ก็คงต้องเอาส่วนนี้ไปใส่ไว้ในเอกสารในส่วนที่อยู่ในบันทึกเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและคำอธิบายประกอบไว้ด้วย คือศาลกำลังบอกว่า เวลาดูเจตนารมณ์ควรไปดูเอกสารชุดที่เป็นบันทึกเจตนารมณ์อย่างเดียว ไม่ต้องไปดูตัวรายงานการประชุมเพราะหากจะให้สิ่งที่อยู่ในการประชุมเป็นเจตนารมณ์เขาคงจะเอาสิ่งนี้ไปใส่ไว้ในบันทึกหลักการและเหตุผลด้วย

ให้บิ๊กตู่เป็นนายกฯต่อ เหตุผลอ่อน

คนตั้งคำถามการตัดสิน-ขาดความเชื่อมั่น 

"ดร.มุนิทร์"ย้ำว่า การให้เหตุผลข้างต้นดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการให้เหตุผลที่แปลกประหลาดที่สุด เพราะคงไม่มีใครทำแบบนั้น ใครจะไปเอารายละเอียดในบันทึกรายงานการประชุมไปใส่ไว้ในบันทึกหลักการและเหตุผลและคำอธิบายรายมาตรา เพราะอันนั้นเป็นเรื่องของบันทึกหลักการและเหตุผลอย่างย่อในเชิงเรียกว่านามธรรม เป็นเรื่องหลักการ  ส่วนรายละเอียดต่างๆเช่น คำถามที่ถกเถียงกันที่เป็นรายละเอียดประกอบ มันไม่ได้ไปอยู่ในรายงานการประชุม มันเลยเป็นหลักว่าเวลาเราค้นหาเจตนารมณ์ เราต้องดูเอกสารทั้งสองส่วนประกอบเข้าด้วยกัน เพราะฉะนั้น รายงานการประชุมก็จะเป็นเอกสารอีกชุดหนึ่งที่บ่งบอกถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย ไม่ใช่ดูแค่บันทึกหลักการและเหตุผลอย่างเดียวเท่านั้น ตัวรายงานการประชุม มันก็เป็นเอกสารอีกชุดหนึ่งที่บ่งบอกถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย ในการค้นหาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต้องเริ่มต้นดูจากเอกสารที่เป็นตัวบันทึกเจตนารมณ์ คือไปดูตัวเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 158 ที่บัญญัติไว้ว่า เรื่องให้เป็นนายกฯไม่เกินแปดปี เพื่อป้องกันการผูกขาดอำนาจ แต่เนื่องจากเอกสารชุดนั้นไม่ได้เขียนไว้ละเอียดและไม่ได้บอกว่าการนับวาระแปดปีจะให้เริ่มนับตั้งแต่เมื่อใด จึงต้องไปดูเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องก็คือ รายงานการประชุมของกรธ. ประกอบกัน แต่ศาลพยายามทำลายความน่าเชื่อถือ ทำลายคุณค่าของรายงานการประชุม เพื่อไม่ให้ต้องอธิบายประเด็นที่ว่าคุณมีชัย เข้าใจผิดหรือไม่เข้าใจผิด ในเรื่องรายงานการประชุมกรธ. มันจะได้ไม่เป็นปัญหา ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องแปลกประหลาดมาก ที่ผมไม่เคยได้ยินที่ไหนมาก่อน ก็เพิ่งได้ยินครั้งแรกในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้ ที่หากไปเล่าให้นักวิชาการต่างประเทศฟัง เขาคงเห็นเป็นเรื่องที่น่าขบขัน

"เป็นปัญหาสองเรื่องสำคัญในคำวินิจฉัยในคดีแปดปีพลเอกประยุทธ์ที่ทำให้ผมไม่มีความเชื่อมั่นว่า คำตัดสินที่ออกมามีน้ำหนักหรือมีเหตุผลที่จูงใจเลย คำตัดสินอ่อนในเรื่องของการให้เหตุผล ซึ่งพอเหตุผลที่ศาลให้มาในคำวินิจฉัยมันอ่อนและไม่น่าเชื่อถือ ก็ทำให้คนตั้งคำถาม เกิดเป็นคำถามเยอะแยะมากมาย จนคนขาดความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของศาล และนำไปสู่ข้อสรุปที่คนเขาปรามาสกันไว้ก่อนแล้วว่า ไม่หวังอะไรกับศาล เพราะดูจากคดีก่อน ๆ ผลก็เป็นแบบนี้อยู่แล้ว และพอมาเจอคดีนี้อีก ผลก็ไม่ได้ต่างกัน จนหาแนวไม่ได้ว่า เหตุของศาลก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จนดูเหมือนว่าขึ้นอยู่กับว่าใครคือผู้ถูกร้องในคดีนั้นๆ

ถ้าสังเกตคดีที่ผ่านมาๆ จะพบว่า พลเอกประยุทธรอดทุกครั้ง โดยคดีแปดปีเป็นคดีที่สี่แล้วที่พลเอกประยุทธ์รอด จากสถิตินี้ คงมีเรื่องเดียวที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินออกมาแล้วเกิดผลที่สอดคล้องต้องกัน ก็คือ พลเอกประยุทธ์รอดตลอด"

-คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีผลผูกพันกับทุกองค์กร สิ่งที่เขียนไว้ในคดีนี้จะเป็นการวางบรรทัดฐานอะไรที่จะสร้างปัญหาทางข้อกฎหมายในอนาคตหรือไม่?

คิดว่าคงไม่ เพราะต้องยอมรับว่า ในช่วงที่ผ่านมาร่วมแปดปี คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก็เป็นช่วงเวลาที่มีข้อโต้แย้งกันทั้งในทางกฎหมายและทางการเมืองเยอะถึงความชอบธรรมต่างๆ ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ตัวรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไปจนถึงองค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญว่ามีความชอบธรรมอะไรหรือไม่ รวมถึงคดีต่างๆ ที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน

ผมเชื่อว่าวันหนึ่งข้างหน้าเมื่อเรามีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีข้อโต้แย้งแบบนี้น้อยลง อย่างเช่นรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่มาจากกระบวนการที่คนในสังคมส่วนใหญ่ยอมรับและไม่ค่อยโต้แย้งความชอบธรรม ผมเชื่อว่าถ้าถึงวันนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ที่ผ่านมา มันจะถูกลบล้างออกจากสารบบหรือตำราทางนิติศาสตร์ หรือหากยังจะปรากฏอยู่ ก็จะเป็นคำวินิจฉัยที่มีเครื่องหมายคำถาม เพราะฉะนั้นแล้วหากถามว่าเราจะนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานอะไรต่างๆ ได้หรือไม่ ก็คงจะไม่ได้ คงจะยาก

แต่สิ่งที่น่าสังเกต คือข้อเท็จจริงที่ได้จากมติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมา 6 ต่อ 3 ก็ทำให้ความกังวลของผมที่เกรงว่าศาลจะตัดสินเพราะมีใบสั่ง ข้อกังวลนี้ก็อาจมีน้ำหนักน้อยลงไป เพราะ3 เสียงที่เป็นเสียงข้างน้อยก็แสดงให้เห็นว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญน่าจะมีดุลยพินิจอิสระในการตัดสิน แต่ในส่วนของ 6 เสียง เขาก็อาจมีความคิดความอ่านตรงกัน ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร เพราะchoice ก็คงมีแค่สองทาง คือ ถ้าไม่นับจากปี 2560 ก็ต้องนับจากปี 2557 ส่วน 2562 ตัดทิ้งไปได้เลย ถ้าดูเสียงข้างน้อย 3 เสียง ก็พอถือได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปพอสมควรหากเทียบกับผลการตัดสินในอดีตที่มักจะเป็น 9 ต่อ 0 หรือ 8 ต่อ 1 ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่ปกติ โดยเฉพาะหากเปรียบเทียบกับศาลรัฐธรรมนูญของประเทศต่างๆ และหากพิจารณาถึงธรรมชาติของคดีที่ขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นคดีการเมืองที่ก่อให้เกิดความเห็นที่แตกแยกในสังคมค่อนข้างสูง อย่างหากไปดูตอนที่เรามีศาลรัฐธรรมนูญเปิดใหม่ ๆ ก็จะพบว่าการลงมติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในคดีต่างๆ เสียงที่ออกมาจะค่อนข้างใกล้เคียงกัน บางทีชนะกันแค่เสียงเดียว ผมรู้สึกว่า อย่างน้อยก็ยังดีที่ยังมีเสียงข้างมาก-เสียงข้างน้อยกันอยู่พอสมควร ไม่ได้ชนะกันแบบเด็ดขาด

และหากไปดูตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อยจะพบว่ามาจากสายนักวิชาการ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยสองคนที่เห็นไปในทางเดียวกัน  คือ ศ.ดร.ทวีเกียรติ​ มีนะกนิษฐ์ ก็เป็นศาตราจารย์ด้านกฎหมายอาญา และศ.ดร.นครินทร์​ เมฆไตรรัตน์ก็เป็นศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ ที่นักวิชาการก็จะชัดเจนในเรื่องการปรับใช้หลักการกับเรื่องนี้ ซึ่งมองในฐานะนักวิชาการด้วยกัน ผมก็คิดว่าเราก็ดีใจอยู่บ้างเล็กน้อยที่นักวิชาการเข้าใจในเรื่องหลักการปรับใช้กฎหมายกับข้อเท็จจริงโดยยังคงยึดมั่นในหลักการที่เราคิดว่าถูกต้องและเหมาะสมที่สุดในสถานการณ์นี้

ตั้งข้อสังเกตุ ศาลรธน. ตัดบท

ไม่เคลียร์ข้อกังขา บันทึกประชุมกรธ.

-ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ให้นับวาระการเป็นนายกรัฐมนตรีนับแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้เมื่อ 6 เมษายน 2560 มองอย่างไร?

มันเป็นไปได้ คือหมายความว่ามันเป็นไปได้ในเรื่องของการตีความ คือผมไม่ได้ปฏิเสธในเรื่องการมีความเห็นที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่ผมคาดหวังมากกว่าก็คือเรื่องของ"การให้เหตุผลทางกฎหมาย"ที่ต้องมีการอ้างอิงหลักการและข้อเท็จจริงที่มีน้ำหนักมากกว่านี้ ปัญหาที่ผมกังวลคือเมื่อไม่ได้หยิบยกข้อเท็จจริงที่เป็นปัญหาขึ้นมาพูดให้ชัด อย่างกรณีความเห็นที่ขัดแย้งกันเองของคุณมีชัย ที่ทำบันทึกชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ สิ่งที่เราอยากฟัง อยากอ่านในคำร้องคดีนี้ก็คือ"ศาลมีความเห็นอย่างไรต่อข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกันเอง"ซึ่ งสังคมมองว่าเป็นเรื่องใหญ่ ที่คุณมีชัย บอกว่า กรธ.ประชุมกันแค่ครั้งที่ 500 และในตัวบันทึกรายงาน เจ้าหน้าที่จดผิดพลาด แต่ปรากฏว่า มีข้อเท็จจริงว่ามีการประชุมไปถึงครั้งที่ 501 และอาจไม่ได้มีการจดผิดพลาด เพราะกรธ.ก็มีการรับรองรายงานการประชุม อันนี้คือสิ่งที่คนสงสัย เป็นข้อเท็จจริงที่บั่นทอนความเชื่อมั่นอย่างมาก

ศาลจึงมีหน้าที่จะต้องหยิงยกปัญหานี้ขึ้นมาวินิจฉัยว่า ศาลรับฟังข้อเท็จจริงอย่างไรในเรื่องนี้ เพื่อให้คนคลายความค้างคาใจ ซึ่งจากการอ่านคำวินิจฉัย ผมยังไม่ได้ยินว่าศาลเห็นอย่างไร แต่กลับได้เห็นแต่ความพยายามในการทำลายน้ำหนักของรายงานการประชุมโดยบอกว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพราะหากเป็นก็ต้องไปอยู่ในเอกสารอีกส่วนหนึ่งที่เป็นบันทึกหลักการและเหตุผลและคำอธิบายต่าง ๆเรียกได้ว่า ตัดบทไปเลย ซึ่งเป็นการให้เหตุผลแบบง่าย ๆไป เลยทำให้เกิดความสงสัยขึ้นกันเยอะ รวมถึงความไม่พอใจต่างๆ ขึ้นมา

"ดร.มุนินทร์-คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์"ย้ำว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีพลเอกประยุทธ์ครั้งนี้ ทำให้คำถามหรือความเชื่อของคนส่วนหนึ่งที่มองว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่ช่วยให้พลเอกประยุทธ์หรือทางกลุ่มนี้ได้มีการสืบทอดอำนาจต่อไป ยิ่งทำให้ความเชื่อเหล่านี้ยิ่งแน่นมากขึ้น มันดูมีความเป็นจริงมากขึ้น ซึ่งมันเป็นเรื่องที่อันตรายมากต่อสังคมไทยและวิชานิติศาสตร์

ผมไม่ได้กังวลเรื่องว่าพลเอกประยุทธ์ จะอยู่ต่อหรือไม่ได้อยู่ต่อ เพราะยังไงอีกไม่กี่เดือนก็จะมีการเลือกตั้ง แต่สิ่งที่ผมกังวลคือเรื่องของการให้เหตุผล คือจะทำอย่างไรให้คนเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรม คือหากศาลตัดสินอย่างเป็นกลางและบริสุทธิ์จริงๆ ว่าควรนับตั้งแต่ปี 2560 แบบนี้ ไม่มีปัญหาเลย แต่สิ่งที่เราคาดหวัง คือ ความบริสุทธิ์ใจของศาล มันจะต้องแสดงออกมาโดยการให้เหตุผล คือคนอื่นไม่มีทางไปรู้ได้ว่า ศาลคิดอะไรอยู่ในใจ แต่สิ่งที่พวกเราเห็น พวกเรารู้ ก็คือสิ่งที่ศาลเขียนออกมาผ่านคำวินิจฉัย เพราะนั่นคือความคาดหวังสูงสุดจากนักนิติศาสตร์อย่างพวกผม คือเราอยากเห็นคำวินิจฉัยที่มีน้ำหนัก ที่หนักแน่น อ้างอิงหลักกฎหมายที่น่าเชื่อถือ อ้างอิงข้อเท็จจริง มีข้อเท็จจริงประกอบที่หนักแน่น

ดังนั้น หากศาลรัฐธรรมนูญอ้างอิงหลักกฎหมายที่น่าเชื่อถือ มีความสมเหตุสมผล มีความเป็นระบบ มีความสม่ำเสมอ อ้างอิงข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง สิ่งเหล่านี้จะเป็นเกราะกำบังให้ศาลรัฐธรรมนูญเอง ไม่ว่าศาลจะวินิจฉัยตัดสินออกมาอย่างไร จะมีคนเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย แต่อย่างน้อยยังมีเหตุผลต่างๆ รองรับอยู่ แต่พอเหตุผลมันอ่อน ก็ทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัย ยิ่งมีคดีที่ตัดสินก่อนหน้า แล้วมีความเคลือบแคลงสงสัย มันสะสม สะสม มาเรื่อย ๆจนมาถึงจุดหนึ่งที่จะเริ่มไม่มีความหวังแล้ว และหากในอนาคต ถ้ามีคดีเกิดขึ้น ก็ไม่ต้องตาม เรียกว่าก็แล้วแต่อำเภอใจของคนตัดสิน อันนี้เป็นเรื่องที่อันตรายมากต่อนิติศาสตร์และต่อสังคมไทยในภาพรวม สิ่งนี้คือเรื่องที่ผมกังวลที่สุด เพราะไม่รู้ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหนถึงจะทำให้คนมีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญเพราะสุดท้าย ผมไม่อยากให้เกิดความรู้สึกกันว่า "มีไป ก็ไม่มีประโยชน์ มีแต่โทษ ก็ยุบไปเลย" ทั้งๆ ที่จริงๆ ในประเทศส่วนใหญ่ เขาก็มีศาลรัฐธรรมนูญ มีศาลสูงสุดที่วินิจฉัยคดีทางรัฐธรรมนูญ โดยหลักการการมีศาลรัฐธรรมนูญจึงมีประโยชน์ ประเทศไทยก็ควรมีศาลรัฐธรรมนูญ ผมไม่อยากให้ต้องยุบไปเพราะคนขาดความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของศาลโดยสิ้นเชิง

                                                      โดยวรพล กิตติรัตวรางกูร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..

รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ

เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก

คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!

เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย

ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?

การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก