นิยายสองสมุทร : อิทธิพลใหม่ของสหรัฐอเมริกาต่อไทย

1.  เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 มีข่าวใหญ่ที่อาจหลุดรอดจากความสนใจของประชาชนทั่วโลกคือการประชุม 14 ประเทศผู้ก่อตั้ง Indo-Pacific Framework ซึ่งทุกประเทศสมาชิก (ยกเว้นสหรัฐ ฟิจิ กับอินเดีย) ต่างอยู่ใน RCEP และครึ่งหนึ่ง อยู่ใน CPTPP

2.  ในนิยายสองสมุทรนี้สหรัฐเน้นความร่วมมือกึ่งศตวรรษที่ 21 เรียก Free and Open Indi-Pacific (FIOP) Strategy เป็นความริเริ่มของ ฮิลลารี่  คลินตัน เพื่อแข่งกับ Belt Road Initiatives ของจีน เหมือนกับที่ได้เสนอ TPP แข่งกับ RCEP ซึ่งเมื่อ 20 ปีที่แล้วได้มองไทยและสิงคโปร์เป็นผู้นำ แต่หลังจากที่ไทยไม่สามารถเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เพราะเจรจา FTA กับสหรัฐไม่สำเร็จ ( และไม่มีวันสำเร็จ ) และลาวและกัมพูชาถูกครอบงำโดยจีน ทำให้เวียดนามซึ่งอยู่ใน FTA กับทุก ๆ กลุ่มและเกือบทุกประเทศรวมทั้งสหภาพยุโรป รัสเซีย และจีน รวมทั้งได้รับผลกระทบทางตรงจากการขยายอำนาจในทะเลจีนใต้ของจีน กลายเป็นหมากสำคัญของภูมิรัฐศาสตร์นี้ แน่ชัดว่าไม่นานเวียดนามจะถูกยกให้มีฐานะที่มั่นคงทางเศรษฐกิจการเมืองและภูมิรัฐศาสตร์เพื่อต้านการรุกของจีน โดยอินเดียเพิ่มความสัมพันธ์ดังกล่าวกับเวียดนามแล้ว สหรัฐเองเปิดตลาดให้เหมือนกับทำ FTA กับสหรัฐ และคาดว่า Ceteris paribus ด้วยประชากร 97 ล้านคน รายได้ประชาชาติต่อหัวเวียดนามจะแซงไทยภายใน 24 ปี และมีความสามารถเจรจากับจีนภายใต้ความร่วมมือสองสมุทรนี้แทนอาเซียนได้ รวมทั้งเปิดให้สหรัฐเข้ามาใช้เมืองท่าที่อ่าวคัมราน และสหรัฐเองมีแผนที่ยุทธศาสตร์การรบในเวียดนามอย่างปรุโปร่ง

3. ในขณะเดียวกันไต้หวันได้ประกาศ Southbound Policy หนีจีนลงมาจับมือกับอาเซียน เอเชียใต้และออสตราเลเซีย 18 ประเทศ ทำให้เห็นชัดว่าเครือข่ายใยแมงมุม ของ FOIP ไม่ธรรมดาจริงๆ โดยมีเวียดนามเป็นศูนย์กลาง ถนนสองสมุทรสองนครานี้จึงมุ่งสู่เวียดนาม ไม่ใช่ไทย

4. สำหรับบทบาทของไทยได้ร่วมอาศัยร่มไม้ชายคาของ FOIP อย่างเกรงใจ ครั้งนี้อาจเป็นครั้งแรกที่ไทยถูกมองข้ามบทบาทหลัก และไม่ได้เป็นศูนย์กลางอะไรใน FOIP เนื่องจากศูนย์อำนาจแข็งได้ย้ายไปอยู่ที่เวียดนาม ดังนั้นการเล่นยุทธศาสตร์สนต้องลมจะทำให้บทบาทไทยในเกมนี้ด้อยสุด นอกจากนั้นสหรัฐอ่านไทยขาดว่าประมงและอาหารเป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนไทย คือการร่วมโครงการเฝ้าระวัง Eye in the Sky จับตามองกองเรือประมงจีนร่วมกับสิงคโปร์ซึ่งเป็นเจ้าของ FTA กับสหรัฐคอยคุมอยู่ข้างหลังด้วย

5. แล้วไทยควรจะทำอย่างไรกับนโยบายสองสมุทรของสหรัฐนี้

6. ไทยเป็นอาเซียนสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก แต่มัวแต่ไปยุ่งกับอาเซียนบก คือลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซียและพม่าเสียมากกว่า ซึ่งยังทำได้ไม่ค่อยดี ละเลยประเทศเกาะอาเซียน ได้แก่ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บรูไน และสิงคโปร์ ถนัดแต่การค้าชายแดนทางบกมุ่งสู่จีนตอนใต้ ผ่านการจัดทำเขตความร่วมมืออนุภูมิภาคที่ค้างคาอยู่ในหลายมิติเช่น GMS BIMSTEC และ ACMECS

7.  ในส่วนนี้นโยบายในมุมมองของไทยต่อสหรัฐจึงน่าจะเป็นยุทธศาสตร์ “ใช้หินก้อนเดียวปาได้นกทั้งฝูง” เฉพาะในมิติใช้ความร่วมมือสองสมุทรมาจัดการปัญหาอนุภูมิภาคในลักษณะพลังนุ่มหรือซอฟท์พาวเวอร์เพื่อจัดทำโครงการความร่วมมือทางวิชาการให้ไทยและสหรัฐ ดังนี้

8.ความร่วมมือทางด้านอินโดแปซิฟิค ด้านเศรษฐกิจ กับสหรัฐและอินเดีย

8.1 Free and Open Indo-Pacific Strategy  ( FOIP ) หรือ Indo-Pacific Initiatives ที่เสนอโดยอาเบะชินโสะน่าจะเป็นโอกาส ที่ไทยควรเข้าไปร่วมมือด้วยอย่างจริงจัง ถึงแม้จะเป็นความพยายามที่จะดึงอินเดียให้ถ่วงดุลย์ทางความมั่นคงและการทหารจีน แต่ก็มีมิติที่เป็นการเจรจาที่อาจใช้ซอฟท์พาวเวอร์ด้านการค้าการลงทุนที่ไทยสามารถนำมาใช้ได้โดยไม่เสียหาย เพราะไทยเป็นมิตรที่ดีกับทั้งสหรัฐและอินเดีย และได้ดุลย์การค้ากับทั้งสองประเทศ ภาคเอกชนที่เป็นยูนิคอร์นของไทยไปลงทุนในสหรัฐอเมริกาและอินเดียและมีการลงทุนจากทั้งสองประเทศเป็นอันมากในไทย

8.2 ไทยไม่สามารถทำ FTA กับสหรัฐได้ และการค้าของไทยกับสหรัฐมีเพียง 50 พันล้านเหรียญ ไม่อาจเทียบกับจีน แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะหันไปทำการค้าและการลงทุนกับจีนและทิ้งสหรัฐ ทางด้านอินเดียก็คงมีมิติที่ดีต่อจีนและรัสเซียเพราะอยู่ในกลุ่ม บริคส์ มีธนาคารร่วมทำธุรกรรมกัน และอินเดียก็ไม่ได้อยู่ในเอเปค การกระชับด้านเศรษฐกิจและการค้ากับ 14 ประเทศ อินโด-แปซิฟิค น่าจะดีกับไทย โดยรัฐบาล เช่นกระทรวงการต่างประเทศควรตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญไทยในนามของ  FOIP หรือ Friends Of Indo-Pacific เพื่อศึกษาและติดตามเรื่องยุทธศาสตร์นี้ ในส่วนความร่วมมือของไทยกับสหรัฐและอินเดียภายใต้ยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิคทางเศรษฐกิจนี้ให้อยู่ใน แพ็คเก็ต มินิความร่วมมือทางเศรษฐกิจและธุรกิจ อีกสามความร่วมมืออนุภูมิภาคของไทยที่ยังเป็นดาวค้างฟ้า เรียกว่า”ใช้หินกัอนเดียวปาได้นกทั้งฝูง”ได้แก่

ก. Greater Mekong Sub-Region ( GMS และ ACMECS ( Aeyawady-Chaophraya-Mekong Economic Cooperation) ไทยควรเสนอให้รวมยุทธศาสตร์นี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิค ซึ่งไทยมีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นมานาน ภายใต้การนำของ ADB สภาพัฒน์ และกระทรวงการต่างประเทศ และควรรวมอนุภูมิภาคทั้งสองเข้าด้วยกันไร้รอยต่อ เป็นอีกยุทธศาสตร์หนึ่งที่มีคุณค่าสูงของอาเซียนบกทั้งในแง่ของ ความมั่นคง เศรษฐกิจและ ภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งไทยได้เข้าไปมีบทบาทสูงในการเฝ้าติดตาม ซึ่งในเรื่องนี้สหรัฐได้ให้ความสนใจแต่ก็ยังหมุนหายุทธศาสตร์ทางเข้าไม่เจอ ซึ่งต้องดูความต่อเนื่องของนโยบายของประธานาธิบดีคนต่อไปว่ายังมีนโยบายของโอบามาในเอเซีย และ อินโดแปซิฟิคของไบเด็นหรือไม่

 ข.BIMSTEC หรือ Bangladesh India Myanmar Sri Lanka Thailand Economic Cooperation ซึ่งยืนหยัดมาเป็นเวลาช้านานแต่ยังไปไม่ถึงฝั่ง และ หลายประเทศกำลังประสบสภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมือง ภูมิรัฐศาสตร์ และ เศรษฐกิจ แต่ในทางธุรกิจและการเงินการลงทุนยังเป็นพื้นที่ให้ ความร่วมมืออินโดแปซิฟิคสามารถเข้าไปมีบทบาท

ค. พื้นที่อีกพื้นที่หนึ่งคือ ภาคอิสานของอินเดียซึ่งเคยเป็นไทย-อาหม หรือสยม หรือสยาม หรือเสียมอพยพเข้าไปประกอบด้วย รัฐต่างๆของอินเดียซึ่งขาดการพัฒนาและอินเดียเคยขอให้นักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุน 8 รัฐ ได้แก่ อรุณาชัลประเทศ ซึ่งจีนอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของธิเบต นาคาแลนด์ อัสสัม มณีปุระ เมฆลายา ตรีปุระ มิโซราม และสิกขิม ซึ่งมีศาสนาเชื้อชาติภาษาแตกต่างจากอินเดีย และห่างไกลจากความเจริญแต่วัฒนธรรมค่อนข้างกระเดียดมาทางเอเซียอาคเณย์ ซึ่งอินเดียเองก็หมุนหาทางพัฒนาอยู่แต่ไม่มีผู้ลงทุน

9. ประเด็นว่าควรร่วมมือด้านใดอยู่ในเมนูของเสาหลักของอินโดแปซิฟิคด้านอาเซียนบก ซึ่งจะ ดึงประชากร รายได้ และการพัฒนาให้เพิ่มขึ้น เร็วขึ้นซึ่งอาจรวมความร่วมมือดังต่อต่อไปนี้ อาทิเช่น

9.1  การพัฒนาSupply Chains

9.2 การพัฒนาการท่องเที่ยว

9.3 การพัฒนาพลังงานสะอาด และพลังงานอนาคต

9.4 การพัฒนากฎหมายการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม

9.5 การปราบปรามยาเสพติด

9.6 การพัฒนาดิจิทัลเทคโนโลยี และเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

9.7 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

9.8 การพัฒนาตลาดอาหารทะเลและโภชนาการ

9.9 การพัฒนาด้านสาธารณสุขและโรงพยาบาล

ซึ่ง Friends of Indo-Pacific ควรให้ ข้อมูลทางวิชาการแก่รัฐบาลและภาคเอกชนให้ใช้ในการการพัฒนาและลงทุนได้ในอนาคต

กฤษฎา เปี่ยมพงศ์สานต์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ ถึงสหรัฐ เตรียมประชุมเอกอัครราชทูต-กงสุลใหญ่ หารือภาคธุรกิจ

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.การต่างประเทศ เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา