“สว.อุปกิต”มองมีเบื้องหน้าเบื้องหลัง คดีจับกุม”นักธุรกิจเมียนมา”ใกล้ชิดผู้นำพม่า ครวญครอบครัวตกเป็น”เหยื่อ”

ชั่วโมงนี้ คงไม่มีสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)คนไหน ตกเป็นที่สนใจและเป็นข่าวที่ถูกพูดถึงมากเท่ากับ “อุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภา”หลังถูกระบุในพื้นที่สื่อว่ามีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจกับ “ตุน มิน ลัต-นักธุรกิจชาวเมียนมาที่ถูกจับกุม โดยเป็นที่รู้กันว่า ตุน มิน ลัต เป็นคนที่มีความสัมพันธ์อันดีกับผู้นำทหารพม่าในปัจจุบัน จนทำให้หลังถูกจับกุม สถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทย ต้องออกหนังสือรับรองให้ อันแสดงให้เห็นว่า ตุน มิน ลัต ไม่ใช่นักธุรกิจเมียนมาธรรมดาๆแน่นอน”นอกจากนี้ เหตุที่ “สว.อุปกิต”ตกเป็นข่าวก็เพราะลูกเขยของนายอุปกิต ก็เป็นหนึ่งในบุคคลที่ถูกตำรวจควบคุมตัวไว้พร้อมกับ ตุน มิน ลัต ในขณะนี้ด้วยเช่นกัน 

โดย”อุปกิต-สมาชิกวุฒิสภา”เปิดเผยว่าหลังเกิดเหตุดังกล่าวขึ้น ทำให้ตนเองมีความเครียดอย่างมาก เพราะครอบครัวได้รับผลกระทบโดยตรง อย่างลูกสาวคนโต ที่สามีถูกจับกุม-ควบคุมตัวอยู่ในขณะนี้ ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวออกมา ทำให้ลูกสาวเครียดมากโทรศัพท์มาร้องไห้กับตนเองทุกวัน พร้อมกันนี้”อุปกิต”ตั้งข้อสังเกตุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าว อาจจะมีเบื้องหน้าเบื้องหลังบางอย่างจากเรื่องปัญหาการเมืองภายในประเทศเมียนมา ที่โยงถึงต่างประเทศด้วย ทำให้บางคนเช่นลูกเขยของตนเองกลายเป็นเหยื่อ ส่วนรายละเอียดว่า ทำไม “อุปกิต”จึงเชื่อเช่นนั้นเขาอธิบายไว้  รวมถึงเรายังได้ถามถึงสิ่งที่หลายคนอยากรู้ว่าจากนักธุรกิจชายแดนไทย-เมียนมา แล้วเขาเข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ได้อย่างไร

กับคำถามแรกที่ว่าเส้นทางชีวิตจากข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ แล้วลาออกไปทำธุรกิจจนกลายเป็นนักธุรกิจชายแดนไทย-เมียนมา มีที่มาที่ไปอย่างไร “อุปกิต-ส.ว.”ลำดับความไว้โดยสรุปว่า เคยทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศมา 10 กว่าปี จนเป็นข้าราชการชั้นพิเศษ ต่อมาได้ลาออกเพราะตอนนั้นคิดว่าควรจะเริ่มทำธุรกิจเพราะชีวิตที่กระทรวงการต่างประเทศ ผมค่อนข้างเบื่อ เพราะคุณพ่อของผมก็เคยเป็นทูต ได้ตระเวนไปทั่วโลกกันมาเกือบค่อนชีวิต  เลยทำให้ที่ผ่านมามีเพื่อนเป็นคนไทยน้อย และไม่ได้อยู่เป็นหลักแหล่ง ก็เลยลาออก ซึ่งตอนที่ตัดสินใจลาออก ก็คิดว่าการไปทำธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านง่ายกว่าทำธุรกิจในประเทศไทย เพราะ 1. ผมรู้จักคน  2. ผมมีความสามารถที่เคยทำงานในกระทรวงการต่างประเทศก็เลยไปประเทศเพื่อนบ้าน ไปดูลาดเลาหลายประเทศ ผ่านความยากลำบากมา

สำหรับสาเหตุที่ผมสนใจจะทำลงทุนทำธุรกิจชายแดนเพราะผมเคยเดินทางไปประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้มาก่อน ไม่ใช่แค่เมียนมา แต่ก็ยังมีเช่นกัมพูชา ซึ่งผมมีความชำนาญ รู้จักคน เพราะหากผมลาออกจากกระทรวงการต่างประเทศ แล้วมาตั้งแต่ทำธุรกิจในไทย ซึ่งคนอื่นๆ เขาทำกันไปไกลแล้ว แต่ไปทำธุรกิจกับประเทศพวกนี้ มองว่ายังพอมีโอกาสเพราะยังไม่ค่อยพัฒนามาก อย่างเรื่องไฟ ก็ยังทำได้ เลยทำโรงไฟฟ้า เพราะประเทศเขา(เมียนมา) ยังขาดแคลนเรื่องพวกนี้อยู่ ถนนหนทางก็ยังไม่ค่อยดี การติดต่อสื่อสารต่างๆ ไม่ค่อยมี คือเหมือนกับเมืองไทยเมื่อ 50 ปีที่แล้ว เราก็ใช้โมเดลว่าที่ผ่านมาประเทศไทยพัฒนาไปอย่างไร เราก็เอาไปปรับทำที่เมียนมาได้ เพราะมีโอกาส เหมือนกับไปเริ่มใหม่

ในที่สุดไปลงทุนที่ประเทศเมียนมา ได้สร้างโรงแรมที่เมียนมา ( Allure Resort Hotel Tachileik Myanmar)ที่ตอนนี้เกิดเรื่องเกิดราวขึ้นมา ซึ่งเป็นธุรกิจที่ถูกต้องและผมก็ไม่เคยมีปัญหาอะไรมาก่อนเลย คือผมไม่เคยปิดบังว่าผมเป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรมดังกล่าวและผมก็ทำไฟฟ้าควบคู่กันไปด้วย มันเริ่มจากว่าทางรัฐบาลเห็นว่าผมสู้ไม่ถอย เมื่อก่อนใช้ Generator (ตัวผลิตพลังงานไฟฟ้า) ปั่นไฟ แต่ทำไปทำมาต้นทุนมันสูงมาก ใกล้จะขาดทุนหลายรอบ ทางรัฐบาลเมียนมา เขาเลยอนุญาตให้ลากไฟไทยเข้ามา  โดยเข้ามาเริ่มจากใช้ที่โรงแรมก่อน พอเสร็จแล้วก็ ผมก็ให้ทางวัดใช้ ให้ชเวดากองใช้ แล้วจังหวัดท่าขี้เหล็กก็อยากจะซื้อไฟจากไทย ผมเลยเป็นผู้ประสานให้รัฐบาลคือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกับการไฟฟ้าท่าขี้เหล็ก เป็นคู่สัญญากันในตอนต้น และเขาก็แต่งตั้งบริษัทเราเป็นตัวแทนของทั้งคู่ เริ่มมาอย่างนั้น

สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ ที่เป็นปัญหาทั้งหมดที่ผมได้วิเคราะห์ก็คือช่วงที่ผมได้กำลังจะมาเป็นสมาชิกวุฒิสภา(ปี 2562 )ผมก็มีการโอนให้ลูกเขยผม เพื่อที่จะคอยที่จะขายเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ และมีคนมาซื้อไป ก็ขายขาด แต่ตัวของผมเองผมไม่ได้เหยียบขาไปที่ชายแดนหรือไปดูธุรกิจดังกล่าวเลยเพราะมันไม่ใช่ธุรกิจอย่างเดียวที่ผมทำ ผมไม่เคยเหยียบขา ไม่เคยอะไรต่ออะไร รวมทั้งลูกเขยของผมก็ไม่เคยทำ นิติกรรมหรือการบริหารโรงแรมแห่งนี้เลย หรือเกี่ยวข้อง ซึ่งอันนี้เขาเป็น victim ที่ผมคิดว่า เป็นกระบวนการที่เป็นฝ่ายค้าน เป็นกระบวนการที่มีปัญหากับผู้นำเมียนมา มันเป็นปัญหาภายในของเขา เราก็เป็นเหยื่อจากตัวนี้

จะสังเกตได้จากข่าวอันนี้ มันเริ่มมาปีกว่าแล้ว ปรากฏอยู่ในเพจของ Justice for Myanmar ซึ่งตอนแรกผมก็คิดว่ามันเป็นเรื่องที่เขาทะเลาะกันภายในมันจะมาเกี่ยวข้องอะไรกับเราได้ ก็พบว่า มีการทำชาร์จโยง ทุน มิน ลัตก็ดี ลูกเขยผม โยงผม โยงไปจนถึงคนมาซื้อโรงแรม มันเป็นข่าวที่อยู่ในเครือข่ายของฝ่ายค้านเมียนมา มีอิระวดี มีเครือข่ายข่าวของเขาต่างๆ ที่ลงเรื่องนี้ มีเพจ มีการสร้างข่าวปลอม และเมื่อถึงเวลาขยายมาบีบีซี  ขยายมาสำนักข่าวรอยเตอร์ และก็เกิดเหตุการณ์นี้เลย มันมองเห็นได้ชัดเลย

"ถามว่าทำไมถึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ผมก็ตั้งข้อสงสัยอีกอย่างหนึ่งคือผมโดนแอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ ที่ทุกคนคงทราบว่าเขาเป็นใคร ด่ามาก่อนหน้านี้แล้ว และผมไปเกี่ยวข้องอะไรด้วย ในเมื่อผมขายธุรกิจไปแล้วในหลักการ ผมไม่เคยเหยียบขาเข้าไป  ลูกเขยผมไม่เคยไป

เพราะฉะนั้นต้องให้ความเป็นธรรมกับเขาที่จะพิสูจน์ทุกอย่างในกระบวนการยุติธรรมของไทย ผมมั่นใจว่าอธิบายได้ ส่วนคนของเมียนมา เขาเป็นคนใกล้ชิดกับผู้นำเมียนมา ต้องให้ความยุติธรรมกับเขาด้วย ให้เขาสามารถชี้แจงได้ในกระบวนการยุติธรรมของบ้านเรา"

...ลองคิดดูว่าไทย กับเมียนมา มีชายแดนที่ติดกันกว่า 3,000 กิโลเมตร เราต้องพึ่งกันและกัน ซึ่งคนไทยคนพม่ามันก็จะมีปัญหากันมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน แต่เราต้องการที่จะให้มีสันติภาพระหว่าง 2 ประเทศ ในฐานะที่เคยเป็นนักธุรกิจที่เคยค้าขายชายแดน ผมก็ต้องขอฝากรัฐบาลไว้ด้วยว่าการค้าก็ดี ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านก็ดี เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับประเทศเรา คือถ้าเกิดอย่างนี้ขึ้นบ่อยๆแล้วใครจะมาลงทุนในเมืองไทย

คนนี้(ตุน มิน ลัต )เขาเป็นนักธุรกิจที่มีชื่อเสียง ผมก็ยอมรับว่าผมรู้จักเขาเป็นเวลานาน แต่ผมไม่ได้มารับประกัน แต่เท่าที่ผมสังเกตเขาจะไปทำธุรกิจเทาๆทำไม เขาเป็นตัวแทนรัฐบาลอิสราเอล เป็นตัวแทนรัฐบาลจีนในการขาย สินค้าบางอย่าง เช่น โดรน วิทยุสื่อสาร แต่ผมก็ไม่ได้รู้รายละเอียด เพราะผมไม่ได้ร่วมธุรกิจด้านนี้กับเขา ซึ่งมันอาจจะไปเกี่ยวข้องกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเมียนมา  คือต้องการที่จะทำให้เจ้านายของเขาเสื่อมเสีย และมันจะเห็นว่าเป็นกระบวนการภายในประเทศของเขาและมาประเทศของเราเมื่อมีช่องว่าง พวกนี้ก็เลยโดนข้อหาร้ายแรงมาก

-ทำไมตอนที่จะเข้ามาเป็นส.ว.ต้องขายธุริจที่ทำที่เมียนมามีการขายโรงแรม ขายหุ้นอะไรต่างๆด้วย?

จริงๆแล้ว อย่างที่ผมได้เรียนว่าผมไม่ได้เหยียบขาเข้าไป 8-9 ปีแล้ว ผมมาทำบริษัทมหาชน บริษัทที่มีชื่อ อันนี้มันเป็นหนึ่งในธุรกิจของผมเท่านั้น ผมไม่ได้อยากที่จะมีอะไรที่จะเคลือบแคลง คือคนจะคิดไม่ดีอะไรต่ออะไร ก่อนที่ผมจะมาเป็นส.ว. และเนื่องจากที่ผมไม่ได้ไปด้วย และผมต้องการที่จะขายหมดจะได้ไม่ต้องมีปัญหาอะไรทั้งสิ้น แต่ว่าผมก็ได้ชี้แจงทุกคนไม่เคยปิดบังว่าผมเป็นเจ้าของโรงแรม เป็นเจ้าของซื้อขายไฟ ไม่มีอะไรเลย ที่ทำมาก็ทำด้วยความบริสุทธิ์ไม่เคยมีปัญหาอะไรทั้งสิ้น จนก่อนมาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ผมเลยต้องโอนให้ลูกเขยก่อนที่จะขายไป อันนั้นคือสิ่งหนึ่ง

อันที่ 2 คือ ด่านปิดเพราะสถานการณ์โควิด 3 ปีที่แล้วเมื่อด่านปิด คนเมียนมาคนนี้เขาทำเรื่องไฟฟ้าอยู่แล้ว ก็เลยไม่ทราบว่าจะส่งเงินยังไง ซึ่งความเป็นมาคือเมื่อสมัยที่ผมทำธุรกิจโรงแรม การไฟฟ้าของเมียนมาจะเอาเงินมาให้ที่โรงแรม เราก็เอาข้ามด่านมาที่ธนาคาร บางครั้งก็แจ้งศุลกากร บางครั้งถ้าด่านไม่ได้เข้มงวดก็ไม่ได้แจ้ง เอาเงินสดเข้ามา ส่วนสาเหตุที่ต้องทำอย่างนั้นเพราะว่าการไฟฟ้าเขาไม่รับเงินสด เขากลัวแบงค์ปลอม เขาไม่มีบุคลากรมานับเงิน ซึ่งยังค่อนข้างจะไม่ทันสมัย ยังจ่ายเป็นเงินสด เป็นแบงค์ห้าสิบ แบงค์ร้อย โดยต้องให้แบงค์จัดการ ทางธนาคารก็จะออกเป็นแคชเชียร์เช็ค ก็ไปจ่ายที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ทำอย่างนี้มาหลายปีไม่มีปัญหา

แต่พอด่านปิดและผมขายโรงแรม ทางคนเมียนมาคนนี้ก็อยากทำธุรกิจไฟฟ้าต่อ ก็ได้มาจดทะเบียนในเมืองไทย แล้วก็กะว่าจะมาปักหลังที่เมืองไทยเลย เมื่อมาถึงก็โดนจับ ก็ไม่เป็นไร เพราะจะเล่าว่าปัญหาเกิดขึ้นตอนด่านปิด 3 ปีที่แล้ว ผมก็บอกว่าจะช่วยอำนวยความสะดวกเปิดด่านให้ไหม ทุกปลายเดือนเพื่อที่จะเอาเงินมาจ่าย เขาบอกว่าเขากลัว เพราะที่นั่นรบกันอาจจะโดนปล้นหรือโดนอะไร จึงได้ส่งผ่านตัวกลาง ซึ่งตัวกลางจริงๆแล้วไม่ได้โอนเงินเพราะระบบแบงค์ที่เมียนมาไม่มีระบบแบงค์ ล้าสมัยมาก มันจะไม่สามารถโอนเงินได้จากแบงค์จากแบงค์เมียนมามาแบงค์ไทย และอีกอย่างเรทค่าเงิน 1 ต่อ 1 แต่ในความเป็นจริงคือ 1 ต่อพัน สมมุติว่าแบงค์โอนได้จริงๆ ซึ่งก็อาจจะโอนไม่ได้หรืออาจจะโอนได้น้อย จะคิด 1 ต่อ 1 ทั้งที่จริงๆแล้วมันคือ 1 ต่อพัน ก็เจ๊งตั้งแต่ยังไม่ทำอะไรเลย

ปัญหาก็คือพอโอนผ่านคนกลาง ทางคนกลางก็ไม่ได้โอนเงิน มันก็เก็บไว้และมันก็ใช้บัญชีที่มันมีอยู่ในเมืองไทย เป็นร้อยๆบัญชีที่มี เช่นบัญชีคนงาน บัญชีนักศึกษา และหนึ่งในบัญชีพวกนั้นอาจจะเป็นบัญชีที่เกี่ยวข้องกับผู้ค้ายา เมื่อตำรวจจับเขาก็ตรวจเส้นทางการเงิน และเมื่อเห็นว่ามีลิงค์โยงอยู่ 3-4 อัน ก็เลยเหมาเข่งจับไปหมดคนที่ถือหุ้นบริษัท ทั้งโรงแรม ทั้งไฟฟ้า เรื่องก็มีแค่นี้

"กระบวนการที่ตกเป็นเหยื่อคือการทะเลาะกันภายในของประเทศเขาระหว่างใครก็แล้วแต่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจ เงินสำหรับพวกข่าว  อะไรแบบนี้ จะเห็นว่าลิงค์พวกนี้จะมีอยู่ในไทย จึงเห็นได้ชัดว่าเป็นเหยื่อในเรื่องที่เขาทะเลาะกันภายในและอาจจะไปเกี่ยวข้องกับมหาอำนาจบางประเทศก็ได้"

.....จะสังเกตได้ว่ามีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอันนี้เป็นเหยื่อหรือเปล่า คือผมก็ไม่ได้รู้จักท่านเป็นการส่วนตัว แต่ว่าผมได้อ่านข่าวเมื่อวันก่อนว่าเป็นเรื่องที่เขาทะเลาะกันภายในและมีมหาอำนาจแบ็คอัพอยู่มันถึงได้เกิดการอะไรพวกนี้

-มองว่าเรื่องนี้จะมีการจัดฉากมีเบื้องหน้าเบื้องหลัง?

ผมดูจากเส้นทางข่าวก็น่าจะเป็นอย่างนั้น

-การที่ออกมารับประกัน ตุน มิน ลัต ?

ขอเน้นว่าผมไม่ได้รับประกัน ผมแค่บอกว่าผมรู้จักเขา และเท่าที่ผมรู้จักเขา และเขาได้เล่ามาบ้างเกี่ยวกับธุรกิจที่เขาทำ และเท่าที่ผมรู้จักเขา เขาไม่มีประวัติด่างพร้อย ทางสถานทูตเมียนมาฯ ก็ทำหนังสือรับรองให้เขาหลังถูกจับกุม สถานทูตฯ เขาค้ำประกัน ไม่ใช่ผมค้ำประกัน เพราะผมเป็นใครจะไปค้ำประกันอะไรเขาได้ เพราะก็เพียงแต่ว่ารู้จักกัน และที่สำคัญคือลูกเขยผม ไม่มีเลย ไม่มีเกี่ยวข้องอะไรเลยกับธุรกิจสีเทา ไม่มีเด็ดขาด คือตัวผมรับแรงเสียดสีแรงกระแทกได้ แต่ว่าสำหรับเด็กที่เขาไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร ผมก็ต้องกอบกู้ชื่อเสียงของเขาให้

ลั่นพร้อมให้ตรวจสอบเส้นทางการเงิน

-หลังจากนี้จะทำอย่างไร เห็นมีข่าวว่าอาจจะมีบางหน่วยงานเช่นสำนักงานป.ป.ส. หรือหน่วยงานต่างๆในการตรวจสอบ อาจจะมีการตรวจสอบเส้นทางการเงิน พร้อมที่จะให้ตรวจสอบ?

ก็ว่าไปตามกระบวนการยุติธรรม เพียงแต่ผมมาเล่าให้ทราบถึงความคิดของผมเท่านั้น  ส่วนตัวผมขอบอกว่า พอขายโรงแรมอะไรต่างๆ แล้ว ก็มาถือหุ้น มาบริหารธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ มันเป็นร้อยเป็นพันล้านบาท ผมกับครอบครัวคงไม่ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องสีเทาอะไรแบบนี้

-มองว่าเรื่องสหรัฐฯหรือประเทศมหาอำนาจ เข้ามาเกี่ยวข้อง จากเหตุไม่พอใจการทำรัฐประหารของผู้นำทหารเมียนมาในปัจจุบัน?

ขอไม่พูดถึงชื่อของประเทศ แต่เอาเป็นว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับประเทศมหาอำนาจที่สนับสนุนฝ่ายค้านที่โน่นอยู่ และมีสื่อที่เขาสนับสนุนอยู่ เพราะเราเห็นเส้นทางของข่าว ก็ทราบมาพอสมควร

-ได้ติดต่อกับลูกเขยหรือไม่ หลังเกิดเหตุ?

ผมไม่ทราบจะติดต่อเขายังไง เพราะเขาถูกกักกันตัวตามที่เป็นข่าว เลยไม่มีโอกาสได้พบ ลูกสาวผมก็โทรศัพท์มาร้องไห้กับผมทุกวัน ผมก็ค่อนข้างจะเครียด เพราะไม่รู้ว่าจะช่วยได้ยังไง ยกเว้นตามกระบวนการยุติธรรม

-ได้คุยกับ ตุน มิน ลัตล่าสุดเมื่อใด?

ผมคุยทางโทรศัพท์ตอนที่เขาถูกควบคุมตัวใหม่ๆ ตอนนี้ภรรยาเขาที่อยู่เมืองไทย ที่ป่วยหนักอยู่ ก็โทรมาร้องไห้ทุกวัน ผมก็เครียด ก็เห็นใจเขา

-คิดว่าเรื่องนี้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเช่นตำรวจนครบาล หรือป.ป.ส.ควรต้องทำอย่างไร เร่งสอบสวนปิดสำนวนหรือต้องออกมาชี้แจงอะไร?

จริงๆ ผมไม่ค่อยรู้เรื่องพวกนี้เพราะไม่เคยมีประสบการณ์กับเรื่องพวกนี้เลย แต่ก็ต้องให้ความเป็นธรรมตามกระบวนการยุติธรรมกับเขา ต้องให้โอกาสเขา

-คิดว่าตัวเองเป็นเหยื่อหรืออะไรไหมที่ถูกลากโยงเข้าไป?

อะไรที่มัน ที่เกี่ยวกับรัฐบาลไทยด้วย ซึ่งคนอาจไม่ค่อยชอบสว.เป็นอะไรนั่นอยู่แล้ว ก็ถ้าผมถูกลากไปด้วย มันก็ง่ายต่อการทำให้ภาพพจน์ทั้งหลายไม่ดี

-ครอบครัวตอนนี้ได้รับผลกระทบเยอะ?

ก็ใช่ครับ อย่างลูกสาวผมคนโตที่เป็นลูกสาวของภรรยาคนแรก ที่ตอนนี้ผมเป็นคุณตาแล้ว โดยส่วนตัวผม ได้รับการเสียดสีอะไรผมทนได้ แต่ในความบริสุทธิ์และชื่อเสียงของสามีลูกสาวผม ทางผมจะต้องขอกอบกู้ เพราะว่าเขาไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลย โดยเขาเป็นผู้บริหารระดับสูงของอโกด้า เขาก็อาจจะโดนไล่ออก อาจจะเดือดร้อนลำบาก ก็เพราะว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เป็นเหยื่อ ทั้งที่เขามีการงานที่ดี เป็นคนดี เป็นคุณพ่อที่ดี ส่วนตัวผม ก็แน่นอน ช่วงนี้ก็เครียด เพราะคนที่เรารักคนใกล้ชิดเรามาโดนแบบนี้ใครบ้างจะไม่เครียด โดนถามคำถามตั้งแต่เช้าจนถึงสี่ทุ่ม สื่อโทรมา ญาติพี่น้องอะไรต่างๆ สารพัด แต่ไม่ใช่อะไรที่ทนไม่ได้

ส่วนเรื่องการทำธุรกิจของผม ที่เมียนมาผมไม่ได้ทำ เพราะพอเข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ผมขายหมด ผมก็ชี้แจงตอนแสดงบัญชีทรัพย์สินกับสำนักงานป.ป.ช.ไปแล้ว แม้กระทั่งโรงแรม Allure Resort Hotel  ผมก็ขายไปก่อนจะเข้ามาเป็นสว. ซึ่งอันนี้เป็นแค่ธุรกิจอย่างหนึ่งที่ผมทำ จริงๆ ผมทำธุรกิจเยอะ อย่างที่มีสื่อบางที่วิจารณ์ผมก่อนหน้านี้ ก็ไม่เข้าใจทำไมไม่บอกว่าผมมีความสามารถ ผมเป็นตัวแทนไทย เป็นพ่อค้าที่ประสบความสำเร็จสามารถค้าขายในประเทศเพื่อนบ้านได้

อย่างบริษัทหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ที่ผมบริหาร แล้วเป็นกรรมการผู้จัดการ เป็นประธานบริหาร ผมก็ขายแบบเทพอร์ตไปเลย ผมขายทิ้งเพราะผมไม่ต้องการ มีข้อครหาใดๆ ทั้งสิ้น ผมจะเน้นทำงานให้ส่วนรวม ทำงานให้สังคม

-เห็นว่าเคยมีประสบการณ์ในการช่วยคลี่คลายความขัดแย้งบริเวณชายแดนไทย พม่า มาก่อนหน้านี้?

คือแบบนี้ทุกประเทศก็มองผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก ประเทศมหาอำนาจก็เช่นเดียวกัน ก็มองผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก หากเขามีปัญหาขัดแย้งอะไร เขาก็จะทำทุกอย่างเท่าที่เขาทำได้ เพื่อที่จะบรรลุผลประโยชน์ของประเทศเขา ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน เราก็ต้องมองผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก อย่างไทยกับเมียนมา ด่านเราติดกันเป็นพันกิโลเมตร ประวัติศาสตร์ก็ทราบดีอยู่แล้ว ดีบ้างไม่ดีบ้าง เราก็คงต้องเห็นแห่งผลประโยชน์ของประเทศเรา เขาก็ต้องเห็นแก่ผลประโยชน์ของประเทศเขา เราก็ต้องพยายามสร้างมิตรไว้ แล้วเมียนมาเป็นประเทศที่ดื้อแพ่งมาก บทที่เขาจะไม่ติดต่อใคร เขาก็จะตัดทันที ไม่รับโทรศัพท์ตั้งแต่ระดับเด็กๆในกระทรวงการต่างประเทศ ไปจนถึงนายทหารระดับเด็กๆ จนไล่ไปจนถึงระดับผู้ใหญ่ เมียนมาไม่รับเลย

มีครั้งหนึ่งที่ผมจำได้สมัยหนึ่งที่มีปัญหาชายแดนไทย -เมียนมา คือเมียนมา เขาทราบมาว่า เราเคยมีนโยบายBuffer Zone ก็ได้ไปร่วมช่วยเหลือทางชนกลุ่มน้อย และเกิดการขับเครื่องบินไอพ่น บริเวณแถวแนวชายแดน ทางพม่าก็กำลังจะตัดความสัมพันธ์ ช่วงนั้นท่าน อดีตประธานาธิบดีเต็งเส่ง เป็นผู้นำ พอดีว่าเนื่องจากผมทำงาน-ลงทุนแนวชายแดน ท่านเต็งเส่งก็รู้จักผม โดยตอนนั้นกับทางรัฐบาลไทย ทางพม่าเขาก็ไม่ติดต่อแล้ว กำลังมีปัญหาระหว่างประเทศอยู่ ผมก็ไปกับพลเอกวิชิต ยาทิพย์ ไปช่วยกันอธิบาย

ผมจำได้ว่าพอไปถึง เขาก็ไม่ดูแล ไม่ต้อนรับอะไรเราเลย ก็ให้ระดับพลเอกถือกระเป๋าเอง นั่งรถเก่าๆ จากสนามบินเข้าไป โดยไปอยู่กันค่อนข้างนานกว่าจะติดต่อได้ ตอนนั้นเต็งเส่ง ก็จะไม่มาประชุมที่ประเทศไทยแล้ว คือพร้อมที่จะตัดความสัมพันธ์ ผมก็ได้มีส่วนช่วยนำพาตัวแทนประเทศไทยไปเจรจาจนเรียบร้อยจบลงได้

และเมื่อเร็วๆนี้ก็เช่น มีเหตุการณ์ที่เขารบกับชนกลุ่มน้อยบริเวณแนวชายแดนแถวแม่สอด จังหวัดตาก ตอนนั้นมีช่วงหนึ่งที่เครื่องบินของทางเมียนมา บินล้ำเข้ามายังฝั่งไทย ทำให้พวกที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ก็ออกมาบอกว่าทำไมไม่ยิงตก มาล้ำอธิปไตยดินแดนเรา แต่ผมได้ฟังคำให้สัมภาษณ์ พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผบ.ทอ.ให้สัมภาษณ์ดีมาก ที่บอกว่าสมมุติคุณมีบ้านอยู่ติดกันกับเพื่อนบ้าน แล้วเขาถอยรถเข้ามาในเขตพื้นที่ของคุณ แล้วคุณจะไปยิงเขาให้ตายเลยหรือจะบอกเขาว่าต่อไปอย่าทำอีก อันนี้ก็คือหลักการเดียวกัน เราต้องถ้อยทีถ้อยอาศัย เราเป็นประเทศเพื่อนบ้านกัน ลองคิดดูมีชาวเมียนมาอยู่ในเมืองไทยกี่ล้านคน เราพร้อมไหมที่จะมีปัญหากับเขา การค้าขายชายแดนมีมูลค่ามหาศาลมาก คุณจะตัดเลยให้เขาปิดด่านเลยไหม มันก็คือผลประโยชน์ของประเทศเรา ผลประโยชน์ของประเทศเขา เราเป็นเพื่อนกันไว้ดีกว่า เราอย่าไปแคร์เรื่องภายนอก ต้องคิดถึงผลประโยชน์ของประเทศไว้ก่อน

-คุณอุปกิต รู้จักกับผู้นำทหารพม่าบ้างหรือไม่?

ผมรู้จักมานานแล้ว เพราะมีธุรกิจอยู่ที่นั่น ผมก็ต้องติดต่อ ซึ่งพอดีทุกคนได้เข้ามาเป็นผู้นำประเทศทุกคนเลย ตั้งแต่ท่านเต็ง เส็ง อดีตประธานาธิบดีเมียนมา จนมาถึงท่าน มิน อ่อง ลาย เพราะแน่นอนเราทำธุรกิจที่นั่น เราก็ต้องติดต่อเขา เราไปอยู่บ้านเขา 

-กรณีที่เกิดขึ้นตอนนี้ มองว่าหากในทางคดี ยังเป็นแบบนี้ มีความคลุมเครือจะมีผลกระทบต่อสัมพันธ์ไทย- เมียนมา หรือไม่ ?

สัมพันธ์ไทย -เมียนมา โดยตรง ผมก็ไม่ทราบ ไม่แน่ใจ แต่ผมว่าในฐานะของนักธุรกิจ มันก็คงท่าจะไม่ดีแน่ เพราะก่อนที่เราจะทำอะไร เราต้องตรวจสอบให้แน่ชัดก่อน ไม่ใช่ว่าไปตามข่าวของกระบวนการที่จัดตั้งขึ้นมาแล้วก็ไปแอ็คชั่นทันที เพราะคนที่โดนจับไป เขาก็เป็นนักธุรกิจใหญ่ เท่าที่ผมอ่านจากข่าวเพราะผมก็ไม่ได้คุยกับเขาละเอียดมาก ปัจจุบันเขามีร่วม 19 บริษัท เขาทำธุรกิจถูกต้อง เขาเป็นตัวแทนของรัฐบาลบางแห่งไปขายสินค้าให้รัฐบาลเมียนมา อันนี้หรือเปล่าที่จะเป็นประเด็นทำให้ทางฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลไม่พอใจ ก็จะสร้างอะไรต่างๆ อันนี้หรือไม่ ผมก็ขอตั้งข้อสังเกตุไว้ ส่วนเขาได้รับความเป็นธรรมตามกระบวนการยุติธรรม เขาก็ต้องอธิบายได้ถึงที่มาที่ไปของเงินเขา

เส้นทางจากนักธุรกิจชายแดนสู่เก้าอี้ สมาชิกวุฒิสภา  

-คนสงสัยกันว่า เข้ามาเป็นสว.ได้อย่างไร?

ก็ได้รับการแต่งตั้ง คือผมก็ไม่ทราบชัดแน่นอน เพราะผมก็ไม่ได้สนิทกับผู้นำอะไรต่างๆ แต่อาจจะเป็น ด้วยความรู้ความสามารถผมในด้านต่างประเทศ ความรู้ผลในด้านธุรกิจพลังงาน เขาก็มีการคัดเลือก คนที่มีความเชี่ยวชาญ มีความชำนาญเฉพาะด้านแขนงต่างๆ เพื่อมาช่วยแนะนำ ช่วยพัฒนาด้านต่างๆ ส่วนหลังมีข่าว ผมก็ยังไม่ได้คุยอะไรกับเพื่อนสว. เพราะอยู่ในช่วงปิดสมัยประชุม แต่หลายคนก็ส่งกำลังใจมาให้

-หลังจากนี้ธุรกิจชายแดนไทย เมียนมา ระยะยาวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร?

ภาพรวมคือต้องพึ่งกันและกัน และต้องมีความละเอียดอ่อน คือพอมันมีข่าวไม่ดี แน่นอนว่าสื่อมวลชนเขาก็ชอบ แต่ว่าต้องเข้าไปดูในเนื้อจริงๆ อย่างกรณีที่เกิดขึ้นตอนนี้ ก็มีผู้ใหญ่ที่เคยทำงานด้านความมั่นคง ออกมาให้ข้อสังเกตุว่าเนื้อแท้จริงของเรื่องที่เกิดขึ้นมันคืออะไร

-เรื่องนี้หากยังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ อย่างที่บอกว่าก็มีบางกลุ่มไม่ชอบสว.เป็นทุนเดิม แล้วหากเรื่องนี้มีกระแสบอกว่าอยากให้คณะกรรมการจริยธรรม วุฒิสภา เข้ามาตรวจสอบ?

ก็ตั้้งได้ เพราะอย่างที่บอกผมห่างมานานแล้ว ผมไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร แต่เอาผมไปพาดพิง หากเขาเห็นว่าจำเป็นต้องตั้งจะเรียกผมไป ผมก็ยินดี แต่ว่าแล้วผมขัดจริยธรรมอย่างไร เพราะผมก็ไม่ได้เหยียบขาเข้าไปที่นั่นตั้ง 8-9ปี แล้วมาทำธุรกิจในไทยตั้ง 8-9 ปี โดยขายไปหมด แล้วผมจะผิดจริยธรรมอย่างไร เพียงแต่ว่าผมมาเปิดหน้าอธิบายเหตุการณ์ด้วยตนเอง

ส่วนที่ตัดสินใจไปให้ข่าวแถลงข่าวต่อสื่อที่รัฐสภา ก็เพราะเห็นว่ามีข่าวทำนองมีนักการเมืองไทยที่สนิทกับกลุ่มนี้ (ตุน มิน ลัต) มันก็ทำให้เกิดการเคลือบแคลงใจ เดี๋ยวคนอื่นจะโดนพาดพิง ผมไม่มีอะไรจะปิดอยู่แล้ว ผมก็มาเปิดเลยว่านี้คือผมเอง สังคมจะได้หายสงสัยกันว่าคือใครกัน ซึ่งข่าวแบบนี้คนก็มักจะชอบ แต่ขออยากให้ไปดูเนื้อแท้ และต้องให้ความเป็นธรรม เพราะอย่างคนอื่นอาจจะหลบอะไร ปล่อยให้มีอักษรย่อออกไปก่อน ผมเป็นคนที่ไม่เอาเลยครับ ผมเป็นคนที่ต้องการเผชิญหน้ากับความจริง ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง ไม่มีหลบอะไรทั้งสิ้น คือตอนนี้ผมเป็นห่วงว่าพวกที่ถูกคดีซึ่งตอนนี้ถูกควบคุมตัวอยู่  จะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ เขาควรได้รับความเป็นธรรมตามกระบวนการยุติธรรม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สว.อุปกิต ครวญตกเป็นเหยื่อยุติธรรมสามานย์

นายอุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) อภิปรายตอนหนึ่งว่า ในฐานะที่ตนตกเป็นเหยื่อความยุติธรรมสามานย์ของคนบางกลุ่มในกระบวนการยุติธรรม ที่ใช้อำนาจกลั่นแกล้งในการทำลายผู้อื่น สิ่งที่ตนจะอภิปรายต่อไปนี้ จะสะท้อนให้เห็นถึงปัญหากระบวนการต้นน้ำและกลางน้ำ ของการบังคับใช้กฎหมาย ที่รัฐบาลชุดนี้ ไม่มีความชัดเจนจริงจังในการแก้ปัญหา

ศาลเลื่อนนัดตรวจหลักฐาน คดี 'สว.อุปกิต' สมคบค้ายา-ฟอกเงิน

ศาลอนุญาตเลื่อนนัด ตรวจหลักฐานคดีกล่าวหา 'สว.อุปกิต' สมคบค้ายาเสพติด-ฟอกเงิน 22 เม.ย. เหตุยังคัดถ่ายเอกสารคดีทุนมินลัตไม่ได้ เจ้าตัวมั่นใจบริสุทธิ์ ขู่ฟ้องกลับกราวรูด

อุปกิต กับความหวังชนะคดี หลังศาลยกฟ้อง ทุน มินหลัด-ลูกเขย

น่าสนใจไม่น้อย กับทิศทางคดี ของ "สว.อุปกิต"หรือ "อุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภา"ที่ตอนนี้ตกเป็นจำเลยที่ศาลอาญาฯ ในคดีที่พนักงานอัยการ ยื่นฟ้อง ข้อหาเป็น

อัยการคดียาเสพติด สั่งฟ้อง 'สว.อุปกิต' ถูกกล่าวหาพัวพันเครือข่าย 'ทุน มิน ลัต'

พนักงานอัยการสำนักงานคดียาเสพติดนัดส่งตัวฟ้องในคดีที่ อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้อง นายอุปกิต ปาจารียางกูร สมาชิกวุฒิสภา ข้อหา เป็นสมาชิกวุฒิสภาสมคบกันฟอกเงิน และร่วมกันฟอกเงิน, เป็นสมาชิกวุฒิสภาร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ สนับสนุนหรือช่วยเหลือ หรือสมคบกันกระทำผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ฯ