ช่วงปัจจุบันพบว่า หลายพรรคการเมืองต่างขับเคลื่อนทำกิจกรรมการเมืองกันคึกคัก ทั้งการเปิดตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หรือการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ในหลายพื้นที่ เป็นต้น
มองไปที่ พรรคเพื่อไทย พรรคการเมืองขนาดใหญ่ ที่ได้รับการคาดหมายว่าจะได้ ส.ส.ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นมากที่สุด ส่วนจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ยังต้องรอติดตาม ก็พบว่าเคลื่อนไหวเตรียมการเลือกตั้งกันคึกคักเช่นกัน อย่างในสนามเลือกตั้ง กรุงเทพมหานคร ก็มีการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ระบบเขตหลายเขตเลือกตั้งก่อนพรรคการเมืองอื่นไปหลายช่วงตัว
เพื่อให้เห็นจังหวะขับเคลื่อนของเพื่อไทยต่อจากนี้ โดยเฉพาะประเด็น พรรคเพื่อไทย-การเมืองกับคนรุ่นใหม่ เราเลยไปสัมภาษณ์พูดคุยกับนักการเมืองหน้าใหม่-ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.ที่มีโปรไฟล์การศึกษาและการทำงานไม่ธรรมดา นั่นก็คือ จุฑาพร เกตุราทร ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขตบางรัก สาทร ปทุมวัน หนึ่งในคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย นักการเมืองหน้าใหม่ที่กำลังเป็นที่สนใจของหลายคนในเวลานี้ ด้วยโปรไฟล์การศึกษาจบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ทั้งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด, มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส หรือ UCLA และมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย โดยก่อนหน้านี้เคยทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย และเป็นอาจารย์ประจำสาขาสังคมวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ปัจจุบันได้ลาออกมาเข้าสู่ถนนการเมืองเต็มตัวเพื่อมาทำงานกับพรรคเพื่อไทย
จุฑาพร หรือที่คนเพื่อไทยเรียกกันว่า อาจารย์อู๋ เล่าถึงเส้นทางชีวิตก่อนเข้าสู่การเมืองว่า เป็นคนที่เติบโตในเมืองคือกรุงเทพมหานคร โดยเรียนหนังสือที่เมืองไทยจนถึง ม.3 ที่โรงเรียนสาธิตปทุมวัน จากนั้นจึงได้ขอครอบครัวไปเรียนไฮสกูลที่สหรัฐอเมริกา จนจบ University of California, Los Angeles (UCLA) ทางด้านเศรษฐศาสตร์บริหารธุรกิจ เรียนอยู่สามปี ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง
...หลังจากนั้นกลับมาทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยทำด้านนโยบายการเงิน-อัตราดอกเบี้ย ทำงานอยู่ที่แบงก์ชาติประมาณสามปี พอดีว่าที่แบงก์ชาติมีทุนการศึกษาให้คนที่สนใจไปเรียนต่อปริญญาโทและปริญญาเอก ซึ่งก่อนหน้านั้นอู๋ได้มีโอกาสเข้าไปทำงานในรัฐสภา โดยเข้าไปเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการของสภา คือคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง และการธนาคาร สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตอนนั้นมีคุณไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย เป็นประธานคณะ กมธ. เราเลยได้มีโอกาสไปร่วมประชุมแลกเปลี่ยนกับกลุ่มบุคคลต่างๆ ในการประชุมของคณะ กมธ. ทำให้เราเริ่มสนใจนโยบายเศรษฐกิจด้านอื่นๆ นอกจากแค่นโยบายการเงิน เลยตัดสินใจไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ จากนั้นพอเรียนจบก็ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยเรียนด้านสิทธิมนุษยชน หลังจากนั้นจึงได้กลับมาเป็นอาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยสอนด้านนโยบายสังคมเป็นหลัก เช่น นโยบายของประเทศต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จ โดยเวลาที่เราสอนก็จะย้อนดูด้วยว่าเข้ากับบริบทของประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร เพราะบริบทแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน ก็ต้องดูว่าเรื่องใดทำได้ เรื่องไหนทำไม่ได้ โดยอู๋สอนอยู่ที่ธรรมศาสตร์อยู่ประมาณสามปี
จุฑาพร กล่าวต่อไปว่า ส่วนการเข้ามาสู่การเมือง ต้องย้อนกลับไปช่วงสมัยเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่ธรรมศาสตร์ ที่ได้เห็นการทำงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน รวมถึงได้เห็นปัญหาหลายอย่างของประเทศ ทำให้เราเห็นว่า ประเทศดีกว่านี้ได้ ผนวกกับการที่เราได้สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย ทำให้มีโอกาสคลุกคลีกับนักศึกษาและคนรุ่นใหม่เยอะ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลกัน ทำให้ได้รู้ว่าเขามองประเทศไทยเป็นอย่างไร
“สิ่งหนึ่งที่นักศึกษามักจะถามเราคือ อาจารย์ไปอยู่สหรัฐอเมริกานานมากเป็นสิบปีแบบนี้ แล้วกลับมาประเทศไทยทำไม อันนี้เป็นคำถามที่เจอบ่อย คือทำนองว่า ไปอยู่ประเทศที่ดีแล้ว ไปเลย อย่ากลับมา แต่เราก็มองว่าไม่ เพราะเราคิดเสมอว่าเราเกิดเป็นคนไทย ยังไงก็ต้องกลับมาแทนคุณแผ่นดินเกิด”
...แม้เพื่อนอู๋หลายคนที่ไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ พอเรียนจบเขาไม่กลับมา ส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่ที่ต่างประเทศเลย เหมือนเขามองว่าเขาหมดหวัง เขาสิ้นหวัง เขารู้สึกว่าเหมือนกับเราแก้อะไรไม่ได้ ก็ขอไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าที่ประเทศอื่น อย่างเพื่อนเราที่เป็นคนไทยที่ไปเรียนต่างประเทศด้วยกัน เกือบ 70 เปอร์เซ็นต์เลือกที่จะแต่งงานใช้ชีวิตที่สหรัฐฯ หรืออังกฤษ และไม่กลับมาหลังเรียนจบแล้ว
อาจารย์อู๋-จุฑาพร สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นข้างต้นให้เราฟังว่า ในมุมมองเราเห็นว่าประเทศไทยคือประเทศบ้านเกิดเมืองนอน อู๋อยากเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ ทำให้ดีกว่านี้ ซึ่งหลายอย่างอู๋เชื่อว่าเราทำได้ เริ่มจากพวกเราต้องช่วยกัน
...พวกอาจารย์ ส่วนมากเชื่อไหมเขาจะไม่แต่งงาน หรือแต่งงานก็ไม่มีลูก เพราะเขามองว่าสังคมต่อไปในภายภาคหน้ามันน่ากังวล ทั้งระบบการศึกษาที่มีความเหลื่อมล้ำสูง และปัญหาสังคมต่างๆ ที่ดูไม่มีแสงสว่างสำหรับคนรุ่นใหม่ เขาก็กังวลว่าลูกจะต้องเติบโตขึ้นมาอย่างไร ประเทศเรามันเห็นวิกฤตหลายอย่าง อย่างสมัยก่อนคนสามารถทำงานเก็บเงินได้ ต่อยอดจากธุรกิจจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ สร้างรายได้เพิ่ม แต่ปัจจุบันมันยากขึ้น เพราะเรียนจบมาก็หางานยาก อาจตกงานนาน พอได้งานทำเงินเดือนเริ่มต้นสำหรับบัณฑิตจบใหม่ 15,000 บาท ซึ่งถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับค่าครองชีพปัจจุบันที่สูงมาก ลำพังค่าใช้จ่ายต่อเดือนก็อาจจะติดลบแล้ว อย่าว่าแต่จะสร้างฐานะ สร้างครอบครัวเลย แค่เลี้ยงตัวเองให้รอดก็ยากแล้ว
ทั้งหมดเลยเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่า อยากเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลง อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง อยากให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมด้วย ซึ่งเรามองว่าคำว่าคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่เรื่องของอายุ แต่เป็นเรื่องของความคิดมากกว่า ว่าคนเราต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน ต้องเปลี่ยนแปลง เพราะบางครั้งพอเราไปยึดติดว่าแต่ละอย่างต้องเป็นแบบนี้ เราจะไม่มีวันทัดเทียมกับประเทศอื่น อย่างเราเคยคิดกันว่าเวียดนามด้อยกว่าเรา ไม่มีวันแซงเรา แล้ววันนี้เป็นยังไง เขาก็แซงเราไปแล้ว เช่นเรื่องการส่งออกหรือการลงทุน ที่นักลงทุนไปลงทุนที่เวียดนามมากกว่าไทย ที่เรามองว่าหลายอย่างมันเกิดจากผู้นำและการบริหารงานที่ควรทำได้ดีกว่านี้
...จุดนี้เลยทำให้สนใจที่เข้ามาทำงานการเมือง เพราะอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของประเทศ เพราะที่ผ่านมาในช่วงไม่กี่ปีมานี้ที่รัฐบาลชุดนี้บริหารประเทศ เราถอยหลัง ไม่ได้แค่ย่ำอยู่กับที่ นักลงทุนเริ่มย้ายฐานการลงทุน ไม่มาลงทุนในประเทศไทย และเราเริ่มเห็นปัญหาหลายอย่าง เช่นเรื่อง การศึกษา ที่เรายังให้ความสำคัญกับ ครู-อาจารย์ น้อยเกินไป ในขณะที่สิงคโปร์ที่เป็นประเทศเล็กๆ ไม่ได้มีทรัพยากรอะไรเมื่อเทียบกับเรา แต่เขาให้ความสำคัญกับคนมากที่สุด เพราะครูคือคนที่สร้างคนรุ่นใหม่ สร้างทรัพยากรบุคคลให้ประเทศ เขาจะคัดคนที่จะเป็นครูมากเป็นพิเศษ โดยมีรายได้เท่ากับแพทย์ แต่ของเราจากข่าวที่ผ่านมา บางโรงเรียนครูอัตราจ้างบางทีเงินเดือนน้อยกว่าแรงงานต่างด้าว แล้วจะอยู่ได้อย่างไร ใครจะอยากเป็นครู อันนี้ก็ผิดตั้งแต่เริ่มต้นสำหรับเรื่องการศึกษา
-ก่อนหน้านี้มองสภาพการเมืองไทยอย่างไรบ้าง?
มีคนบางกลุ่มที่เสียผลประโยชน์ ต้องการสร้างสถานการณ์ให้เกิดความแตกแยกในชาติของเรา จนทำให้เกิดรัฐประหาร เราคนไทยทั้งประเทศต้องร่วมมือร่วมใจ สามัคคีกันพาประเทศของเราเดินไปข้างหน้า เป็นผู้นำทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ ให้คนไทยมีงานทำ มีรายได้ มีกินมีใช้ทุกครอบครัว ไม่ต้องลำบากไม่มีจะกินเหมือนทุกวันนี้
คนรุ่นใหม่สะท้อนผ่าน
เขากังวลเรื่องอนาคตที่ไม่แน่นอน
-ตอนช่วงเป็นอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ ได้สอนได้พูดคุยกับนักศึกษา คนรุ่นใหม่เยอะ เขามีความคิดเห็นหรือสะท้อนอะไรออกมาบ้าง?
ตอนที่เป็นอาจารย์ช่วงนั้นก็ประมาณปี 2560-2563 ส่วนใหญ่พบว่านักศึกษาเขากังวลมากในเรื่องเกี่ยวกับอนาคตของตัวเอง เช่นกังวลว่าจะตกงาน กังวลอนาคตต่อไปจะอยู่อย่างไร ค่าครองชีพไม่ตอบสนองกับงาน ส่วนเรื่องการอยากจะหนีไปอยู่ประเทศอื่น มันอยู่ในหัวของคนเยอะ เพราะพอมองว่าหลายเรื่องแก้ไม่ได้ เขาก็จะพยายามทำทุกหนทาง แต่เอาเข้าจริงแล้วสุดท้ายมันก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะหนีไป ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปเราจะเกิดสภาวะสมองไหล เพราะต่างประเทศเขาจะเวลคัมบางอาชีพที่เขาขาด ซึ่งเป็นอาชีพที่ขาดกันทั่วโลก เช่น แพทย์ พยาบาล ที่เก่งๆ ซึ่งเมื่อเรามีคนเก่งๆ อยู่ในประเทศ แต่เขาอยากออกไปจากประเทศ โดยหากไปแล้วกลับมาพร้อมประสบการณ์ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่จะไปแล้วไม่กลับมา มันก็จะสมองไหลเยอะขึ้นเรื่อยๆ ตรงนี้ก็เป็นความกังวลใจของเรา เพราะเราเป็นประเทศที่มีระบบสาธารณสุขที่ดีมากต่างชาติยอมรับ
-มีการมองกันว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่พวกนิวโหวตเตอร์ กลุ่มคนอายุ 18-25 ปี หากมีการเลือกตั้ง เขาอาจจะไปเลือกพรรคก้าวไกลมากกว่าเพื่อไทย?
กลุ่มคนอายุน้อยก็จะมีเรื่องที่เขาสนใจเป็นพิเศษ ทุกคนมีความคิดที่แตกต่าง เขาอาจจะชอบหรือสนใจบางประเด็นที่ก้าวไกลพูด แต่ไม่ใช่ว่าเขาไม่สนใจเพื่อไทย ทุกพรรคมีโอกาสไปนั่งในใจเขาได้ การได้นั่งแลกเปลี่ยนข้อมูลกันตลอด ทำให้อู๋เข้าใจความกังวลของเขา และพรรคเพื่อไทยเองรับฟัง และพร้อมแก้ปัญหา สร้างงาน สร้างรายได้ ผลักดันความเท่าเทียมในสังคม เช่น สมรสเท่าเทียม ความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ นโยบายของพรรคทำได้จริง มุ่งเน้นสร้างโอกาส ให้คนรุ่นใหม่ทำฝันให้เป็นจริง พัฒนาศักยภาพของตัวเอง เราจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ประชาชนอยู่ดีกินดี
-อย่างเรื่องประชาธิปไตยอะไรพวกนี้?
ประชาธิปไตยที่เป็นเรื่องสำคัญ พรรคเพื่อไทยรับฟังเสียงของคนทุกเจเนอเรชัน ในพรรคก็มีคนรุ่นใหม่เข้ามาเรื่อยๆ ทีมงานต่างๆ ในพรรคเพื่อไทยอายุน้อยมากแต่เก่ง สมัยก่อนคนอาจติดภาพว่าสมาชิกค่อนข้างมีอายุหน่อย แต่ตอนหลังก็มีการเปลี่ยนแปลง คนหลายเจเนอเรชันมีความสำคัญไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่ แต่กลุ่มนี้เขาก็เปลี่ยนใจได้ เขาพร้อมรอฟังนโยบายอย่างละเอียด และให้ความสำคัญกับตัวบุคคลด้วย ไม่ได้ยึดติดกับพรรคอย่างเดียว เขาพร้อมที่จะเลือกพรรคเพื่อไทยอยู่แล้วจากที่คุยๆ มา
จากอดีตคนแบงก์ชาติ-นักวิชาการ
สู่เส้นทาง 'ยังบลัดเพื่อไทย'
-การที่ลาออกจากชีวิตราชการ จากการเป็นอาจารย์มาสู่ถนนการเมือง ทำไมเลือกที่จะเดินเข้ามาพรรคเพื่อไทย?
เพราะเชื่อว่าเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองเดียว ตั้งแต่ยุคไทยรักไทย นโยบายของพรรคที่เสนอต่อประชาชนทำได้จริง ไม่ได้ขายฝัน อะไรที่ทำไม่ได้ก็ไม่พูด เพราะถ้าพูดออกไปแสดงว่าเราต้องทำให้ได้ เราก็มีนโยบายที่ประสบความสำเร็จมาก เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค หรือกองทุนหมู่บ้าน นโยบายหลายอย่างที่เคยทำเรามองว่ามันเปลี่ยนชีวิตคนได้จริงๆ อย่างเราลงพื้นที่ไปเดินตามถนน แม่ค้าขายลอตเตอรี่เขาโชว์แผลให้เราดู เขาบอกว่าแผลนี้เขาไปผ่ามา จากโครงการ 30 บาทฯ หรือสามีเขาไปผ่าขามาด้วยโครงการ 30 บาทฯ นโยบายนี้ลดโอกาสในการเป็นคนจน ช่วยคนให้หลุดพ้นจากความยากจน เคยมีงานวิจัยที่บอกว่าคนส่วนมากที่ตกอยู่ในความยากจนในหลายประเทศ เกิดจากค่ารักษาพยาบาล เพราะมันมีราคาที่สูงมาก เช่นในอินเดียหรือสหรัฐฯ
รวมถึงอู๋เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ เพราะหลายอย่างที่พรรคเพื่อไทยเสนอเป็นประชาธิปไตยที่กินได้ พรรคเพื่อไทยฟังเสียงประชาชนทุกรุ่น ไม่ใช่เฉพาะบางกลุ่ม พรรคมีนโยบายสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม อย่างนโยบายเพื่อผู้สูงอายุก็มี อู๋เชื่อว่าเพื่อไทย เป็นพรรคการเมืองที่ตอบโจทย์คนจำนวนมากของประเทศ จึงเชื่อว่าเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองที่ตอบโจทย์ความเชื่อของเรา
โดยตอนนี้อู๋ได้เป็นหนึ่งในคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ดูในเรื่อง เศรษฐกิจสมัยใหม่ และเชื่อมต่อกับคนรุ่นใหม่ เรามีบัณฑิตจบใหม่เยอะปีละเป็นแสนๆ แต่เป็นกลุ่มที่ตกงานมากสุด โดยหลายครั้งภาครัฐมักมองว่าเป็นเพราะเรียนมาไม่ตรงกับสายงาน แต่จริงๆ แล้วเราไม่ต้องไปบังคับเขาว่าคนนี้ต้องเรียนสายสังคม คนนี้ต้องเรียนสายวิทยาศาสตร์ เพราะทุกวันนี้อาชีพมันมีความหลากหลายมากขึ้น ยุคสมัยเปลี่ยนไป แต่การเรียนของเรายังเป็นแบบเดิมๆ สอนให้เด็กท่องจำ ไม่ได้สอนให้เด็กมีความคิดเอง ให้ได้เรียนรู้พัฒนา ถูกตีกรอบจำกัดทางความคิด ทำให้เด็กขาดระบบความคิดในการพัฒนาตนเอง ไม่เข้าใจสิ่งที่ตัวเองถนัด
อย่างปัจจุบันที่ใช้เทคโนโลยี AI ในจุดการทำงานต่างๆ เช่นลานจอดรถ ทำให้ใช้คนน้อยลง เรามองว่าต้องให้ความสำคัญมากขึ้นกับคนกลุ่มนี้ รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจที่ต้องเร่งแก้ไข ปัญหาปากท้องของแพง หนี้ที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา แล้วรัฐบาลกับเวลาที่เหลืออยู่จะแก้ได้หรือไม่ โดยเฉพาะ การเร่งสร้างงาน เพื่อรองรับคนที่จบใหม่ เพราะหลายปีที่ผ่านมาแทบไม่ได้มีการสร้างงานให้เกิดขึ้น รวมถึงการต้องเร่งสร้างความน่าเชื่อถือให้กับนักลงทุนกลับมาลงทุนในไทยมากขึ้น ถ้าหากทำได้ก็จะทำให้มีการจ้างงานตามมา
เรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สิ่งที่เพื่อไทยจะนำไปประกาศเป็นนโยบาย เรายืนยันว่าพรรคเพื่อไทยทำได้ เพราะเราต้องรู้ปัญหาก่อนถึงจะแก้ปัญหาได้ โดยปัญหาใหญ่ๆ ของประเทศเวลานี้ ที่คณะทำงานเศรษฐกิจเพื่อไทยเคยบอกไว้ เช่น ปัญหาหนี้สิน-การใช้งบประมาณมากสุด แต่การเติบโตของประเทศต่ำสุด, ปัญหาความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่ำสุด ซึ่งการจะเข้าไปแก้ปัญหา ก็เช่นการต้องเพิ่มจีดีพีของประเทศให้เร็วที่สุด เพราะจีดีพีประเทศต่ำมานานแล้ว โดยการขยายจีดีพีก็ต้องดูว่าอะไรทำแล้วจีดีพีจะขยายตัวเร็ว เราก็ต้องเร่งมือทำเรื่องดังกล่าว
-เหตุใดลงสมัครระบบเขต และทำไมเลือกเขต บางรัก ปทุมวัน สาทร ซึ่งพบว่าที่ผ่านมาเพื่อไทยไม่ค่อยชนะเลือกตั้ง มี ส.ส.ในเขตเลือกตั้งนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นประชาธิปัตย์ รอบที่แล้วก็พลังประชารัฐ?
คือเราก็เรียกตัวเองว่าเป็นคนเมือง เพราะเกิดและเติบโตมาในย่านนั้นคือแถวบางรัก เรียนโรงเรียนสาธิตปทุมวัน ก็ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองที่เป็นเขตเลือกตั้งที่จะลง ทำให้เข้าใจในฐานะชนชั้นกลาง เข้าใจว่าชีวิตคนในเมืองจะต่างจากชีวิตคนที่อยู่ชานเมืองหรือต่างจังหวัด ที่ก็จะมีปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องเกี่ยวกับคุณภาพชีวิต เช่น ฝุ่น มลพิษ คลองเหม็น รถติด ที่คนอื่นอาจเจอแต่ไม่เจอปัญหาบ่อยเท่าคนเมือง บวกกับก็เป็นพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพในการพัฒนา เช่น ถนนพัฒน์พงศ์-ธนิยะ เป็น Financial District แต่ทุกวันนี้มันไม่เหมือนเดิม อย่างสมัยก่อนย่านพัฒน์พงศ์เจริญมาก แต่ทุกวันนี้มันเงียบ ที่ส่วนหนึ่งเพราะโควิดด้วย แต่พอโควิดเริ่มคลี่คลายแล้ว คนที่เคยขายของอยู่ เขาออกจากพื้นที่แล้วไม่กลับมา รวมถึงแถวสีลมก็ค่อนข้างเงียบ ไม่บูม เหมือนสมัยก่อนที่มีแสงสีเสียง เฟื่องฟูมาก แต่ทุกวันนี้หากใครขับรถผ่านไปจะเห็นเลยว่ามันโล่งมาก ซึ่งเรามองว่าหากใจกลางของประเทศเป็นแบบนี้ พื้นที่อื่นแทบไม่ต้องพูดถึง เพราะโดยปกติของทุกประเทศทั่วโลก เมืองหลวงควรเจริญสุด ย่านใจกลางเมืองต้องเจริญ แต่หากตรงนี้ยังดีไม่ได้แล้วที่เหลือของประเทศจะดีได้อย่างไร
-มีการมองกันว่าพื้นที่ กทม.ชั้นใน โดยเฉพาะอย่างโซนบางรัก สีลม สาทร ที่คนมองว่าคนในพื้นที่จำนวนไม่น้อยอาจจะเป็นแนวเสื้อเหลือง ไม่ชอบเพื่อไทย ไม่ชอบคุณทักษิณ ชินวัตร แบบนี้ทำให้การทำพื้นที่หาเสียงยากหรือไม่?
ใช้คำว่าท้าทายดีกว่า เพราะทุกคนก็มีคนที่รักและไม่รัก ก็พยายามให้เขามองที่ตัวบุคคล ในส่วนของพรรคเพื่อไทยก็มีคนรักพรรคเยอะ เวลาไปหลายแห่งเขาก็ตะโกน เพื่อไทยมาแล้ว อันนั้นเขาก็เป็นแฟนคลับ แต่ในส่วนที่ไม่ค่อยปลื้มก็พยายามขอโอกาสเปลี่ยนใจเขา เพราะเราเชื่อว่าเหมือนทุกพรรคการเมือง คือในแต่ละพรรคคนมีความหลากหลาย ไม่อยากให้เขายึดติดว่าไม่ชอบคนนั้นคนนี้ แต่อยากให้เขาดูที่ผลงาน ขอโอกาสว่าเป็นคนรุ่นใหม่ พร้อมที่จะเข้าไปทำงานให้ชาวบางรัก สาทร ปทุมวัน เพราะถ้าเลือกแบบเดิมเขาก็ได้แบบเดิม ทุกวันนี้เขาไม่แฮปปี้ เขาบอกว่าที่ผ่านมาคนเดิมๆ ก็ไม่เห็นมีอะไรดี อู๋เลยบอกว่า ในเมื่อวันนี้ไม่ดี แก้ปัญหาไม่ได้ ขอโอกาสมาเลือกอู๋ ขอโอกาสให้อู๋ได้เข้าไปทำงานให้เขาได้เห็น แล้วค่อยตัดสินกัน หากวันนั้นมองว่าเราทำงานได้ไม่ดีก็เปลี่ยนใจได้ ทุกคนมีสิทธิ์เปลี่ยนใจได้ตลอด แต่อย่างน้อยวันนี้ขอเสนอตัวเองเป็นหนึ่งในทางเลือก เพราะคิดว่าตัวเองเป็นคนที่ตอบโจทย์ประชาชนในพื้นที่ตรงนี้ เพราะเป็นชนชั้นกลางที่ใช้ชีวิตในเมืองที่ไม่ต่างอะไรจากเขา เลยเข้าใจปัญหาต่างๆ ของประชาชนในพื้นที่และพร้อมเข้ามาแก้ปัญหา
-มองบทบาทของคนรุ่นใหม่กับการเมืองไทยอย่างไร?
คิดว่าคนรุ่นใหม่ควรเข้ามามีบทบาทมากกว่าปัจจุบัน คือเขามองว่าผู้ใหญ่หรือคนที่อายุมากกว่าไม่ค่อยรับฟัง เหมือนกับมองว่า "เออคุณยังเด็ก คุณไม่เข้าใจ โลกมันต้องเป็นแบบนี้" แต่ขณะเดียวกัน เรามองว่าคนเราเก่งคนละด้าน อย่างเด็กคนรุ่นใหม่สมัยนี้ เขาเก่งเรื่องเทคโนโลยีมาก ความคิดเขาก็จะเร็ว แล้วอาชีพปัจจุบันก็มีหลากหลาย เคยมีนักศึกษาที่สอนตอนเป็นอาจารย์เขาบอกว่า อยากไปเป็นยูทูเบอร์ อู๋ว่าเราต้องรับฟังเขา เพราะความคิดเขามันหมุนเร็ว แล้วมันก็ตอบสนองกับโลกที่มันเปลี่ยนไป ด้วยความที่เขาเป็นคนของยุคนี้ และที่สำคัญเขาเป็นคนของอนาคต คือผู้ใหญ่สำคัญแน่ เพราะ aging society เราก็มีประชากรในส่วนนี้เยอะ แต่น่าจะเป็นแนวของการแลกเปลี่ยนข้อมูลมากกว่า คือผู้ใหญ่ก็ต้องฟังเด็กหน่อยว่าอะไรที่จะตอบโจทย์ เพราะเขาต้องอยู่ต่อไปในวันที่เราทยอยจากไป ก็คือน่าจะต้องเปิดใจรับฟังให้มากขึ้น เราต้องให้โอกาสเขาได้พัฒนาและเรียนรู้
-คิดว่าเมื่อถึงตอนเลือกตั้ง หากเพื่อไทยเสนอชื่อคุณแพทองธาร ชินวัตร เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค จะมีผลอย่างไรบ้าง?
เชื่อว่าคนจำนวนมาก ที่ไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่ แต่รวมถึงคนที่มีความคิดพร้อมที่จะรับการเปลี่ยนแปลง ที่อยากเห็นประเทศก้าวไปข้างหน้าจะสนับสนุน พี่อุ๊งอิ๊ง เพราะเป็น expert ด้านนวัตกรรม จะนำ AI นำเทคโนโลยีเข้ามาทั้งในระบบราชการ จะดิจิทัลไลฟ์เปลี่ยนหลายอย่าง เป็น Paperless ที่เป็นเรื่องดีเพราะจากสภาวะโลกร้อนทำให้เราไม่อยากใช้กระดาษมาก เพราะเก็บข้อมูลยาก เวลาจะหาเอกสารทีเสียเวลาเข้าไปค้นในห้องเก็บเอกสารนานเป็นชั่วโมงยังไม่เจอ แต่หากข้อมูลเหล่านั้นอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์แล้วมันลิงก์กันหมด มันก็ง่ายขึ้น หรือการยกระดับ 30 บาทฯ ที่เริ่มทำที่เชียงใหม่ ต่อไประบบการจองคิวก็ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อทำให้เข้าถึงระบบสาธารณสุขได้สะดวกรวดเร็วขึ้น เทคโนโลยีเหล่านี้ต้องนำมาใช้เยอะขึ้น ซึ่งพรรคเพื่อไทยและพี่อิ๊ง รวมถึงหลายคนในพรรค มีความพร้อมที่จะผลักดันตรงนี้ ทำให้ประเทศเรามีความเชื่อมโยงกับความสมัยใหม่ จนทำให้ประเทศพัฒนาไปไกลกว่านี้ได้
...บิลล์ เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัท ไมโครซอฟท์ เขาเคยพูดว่า "ไม่ใช่ความผิดหรอกที่คุณเกิดมาจน แต่ถ้าคุณตายไปทั้งที่ยังจนอยู่ นั่นอาจเป็นความผิดพลาด" เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องช่วยให้ประชาชนหลุดจากความยากจน อย่างในสหรัฐอเมริกา รัฐจะสร้างโอกาสประชาชนมากพอ หากคุณขวนขวาย คุณสามารถเปลี่ยนสถานะทางสังคมเป็นใครก็ได้ อย่างที่บิลล์ เกตส์ และอีกหลายคนทำได้ แต่ในไทยเรามองว่าทุกวันนี้ที่เขาผิดหวังและสิ้นหวังจนไม่อยากมีลูก เพราะเขามองว่ามันแทบจะเปลี่ยนไม่ได้ เพราะปัจจุบันจะเก็บเงินไปซื้อที่ดินสักแปลง ก็ไม่ง่าย กับเงินเดือน 15,000 บาท ก็แทบไม่พอแล้วกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิต ทั้งค่าอาหาร ค่าเช่าหอพัก ค่าเดินทาง จนชีวิตคนเริ่มหมดหวัง ซึ่งตรงนี้อู๋เชื่อว่าเพื่อไทยสามารถสร้างความหวัง สามารถทำให้เศรษฐกิจดีกว่านี้ได้ ซึ่งเมื่อเงินมันกลับมา คนรุ่นใหม่ก็จะมีโอกาสที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถไปได้ไกลกว่ารุ่นพ่อแม่ หรือสถานะตอนเกิดตอนแรกของเขา โดยรัฐต้องช่วยสร้างโอกาส
"อยากให้คนอีกเยอะหันมาสนใจการเมือง และหันเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ไม่อยากให้มองว่าปล่อยๆ ไปเถอะ ไม่ใช่เรื่องของทุกคน เพราะอู๋มองว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน" จุฑาพร-ยังบลัดเพื่อไทยกล่าวย้ำ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'อิ๊งค์' เปิดตัว 9 ผู้สมัครนายก อบจ. ดีเอ็นเอเพื่อไทยชัด นามสกุลเดียวกับ สส.เพียบ
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะเลขาธิการพรรค และ สส.สระแก้ว , นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
'ทักษิณ' แจงไปตีกอล์ฟ ไม่มีอะไรต้องเคลียร์ 'อนุทิน' เป็นเรื่องธรรมดาลิ้นกับฟัน
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีปรากฎภาพตีกอล์ฟร่วมกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายสารัชถ์ รัตนาวะดี
‘หัวหน้าอิ๊งค์’ เตรียมเปิดตัว ผู้สมัคร นายก อบจ. 6 จังหวัด ในนาม ‘พท.’ 24 ธ.ค.นี้
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย(พท.) เตรียมแถลงเปิดตัว ผู้สมัคร นายก อบจ. 6 จังหวัด
‘พท.’ เปิดตัว ‘สลักจฤฎดิ์’ ลง นายก อบจ.เชียงราย โชว์เปิดวิดีโอ ‘ทักษิณ’ หนุนเต็มที่
พรรคเพื่อไทยจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงรายและสมาชิก อบจ.เชียงราย ทั้ง 36 เขต ในนามพรรคเพื่อไทย
พรรคส้มดาวกระจาย สู้ศึกอบจ. ‘พิธา’ ชน ‘ทักษิณ’ ตรง ‘ประตูท่าแพ-ตลาดวโรรส’ จันทร์นี้
พรรคประชาชน(ปชน.)เตรียมตัวส่งผู้สมัครนายก อบจ.ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ในวันที่ 23 ธ.ค. โดยส่งระดับแกนนำและผู้ช่วยหาเสียงที่เป็นผู้นำจิตวิญญาณลงประกบตามพื้นที่ต่างๆ
เหลียวหลังแลหน้า การเมืองไทย จาก 2567 สู่ 2568 ส่องจุดจบ ระบอบทักษิณภาค 2
รายการ"ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด"สัมภาษณ์ นักวิชาการ-นักการเมือง สองคน เพื่อมา"เหลียวหลังการเมืองไทยปี 2567 และแลไปข้างหน้า