เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา... ติดตามต่อจากตอนที่แล้ว.. พระสงฆ์ทุกรูปจึงได้เดินทางกลับที่พักบ้าน Miangul Aurangzeb .. ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากพิพิธภัณฑ์สวัต (Swat Museum) ใช้เวลาไม่เกิน ๑๕ นาทีในการเดินทาง เพื่อไปบิณฑบาตและรับถวายสังฆทาน
(หมายเหตุ.. การเดินทางไปจำพรรษาประวัติศาสตร์ของคณะสงฆ์ ที่นครตักศิลา แคว้นคันธาระ ในครั้งนี้.. จะมุ่งเน้นการปฏิบัติศาสนกิจให้ครบสมบูรณ์ จึงเห็นภาพคณะสงฆ์จำนวน ๖ รูป.. บิณฑบาตในทุกเช้า.. ที่นครตักศิลา โดยมีชาวพุทธทั้งจากสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงอิสลามาบัด/ปากีสถาน และคณะศิษย์ศรัทธาฯ ที่ติดตามไป ได้ทำหน้าที่ความเป็นตัวแทนชาวพุทธทั่วโลก ในการใส่บาตร ถวายสังฆทาน และปฏิบัติศาสนกิจในฐานะชาวพุทธกันอย่างเข้มแข็ง.. อันควรแก่การอนุโมทนายิ่ง)
เมื่อเสร็จสิ้นการกระทำภัตตกิจ.. ของพระสงฆ์ ณ บ้านพักฯ แล้ว.. จึงได้พร้อมเดินทางไปสู่สถานที่ประดิษฐาน Bell of Peace ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์สวัต.. โดยมีความพิเศษยิ่ง.. เมื่อได้เห็นธงชาติไทย-ธงชาติปากีสถานขึ้นคู่กัน โดยมีพระบรมฉายาลักษณ์ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งตระหง่านอยู่ ด้านหน้ามีโต๊ะหมู่ เครื่องดอกไม้ธูปเทียนแพ ที่แวดล้อมด้วยธงทิวริ้วผ้าสีขาวสีเหลือง ที่ชาวไทยโดยการสนับสนุนของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอิสลามาบัด ได้จัดขึ้น ทั้งนี้ได้มีการมอบหมายให้พันเอกอดิศักดิ์ โชวิเชียร ผู้ช่วยทูตทหารบก รักษาการผู้ช่วยทูตทหารไทย สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอิสลามาบัด เป็นผู้แทนเอกอัครราชทูตไทยฯ ในการทำหน้าที่เป็นผู้นำ (ประธาน) ชาวไทยถวายความจงรักภักดีในครั้งนี้
โดยมีหลวงพ่อพระอาจารย์อารยวังโส ได้อัญเชิญพระดำรัสในสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ถวายพระพรแด่ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ขึ้นอ่านถวายพระพรชัยมงคล ท่ามกลางชาวไทยและชาวปากีสถานที่มาร่วมงานในพิธี... ที่คับคั่งด้วยสื่อมวลชนทุกแขนงของทางปากีสถาน...
หลังจากนั้น.. เพลงชาติไทย.. และเพลงชาติปากีสถาน ได้ถูกเปิดขึ้น.. พร้อมเสียงร้องของประชาชนทั้ง ๒ ประเทศ.. ที่ต่างฝ่ายต่างให้ความเคารพซึ่งกันดุจญาติมิตร.. อันเป็นภาพความสวยงาม.. เป็นภาพสันติธรรมอย่างแท้จริง... แม้จะต่างศาสนากัน ก็มิใช่เป็นข้อกีดขวาง ความรัก ความเกื้อกูลกัน.. และความปรารถนาดีต่อกัน.....
จนเข้าสู่กำหนดเวลาลั่นระฆังสันติภาพที่ชาวสวัต (Swat) รอคอยมาถึง ๓ ปี ๐๘.๓๐ น. .. การกล่าวเปิดงานมงคล.. เพื่อส่งเสียงสันติภาพ.. จากสวัต/ปากีสถาน.. ไปทั่วทุกภพภูมิ (ทั่วโลก) จึงเกิดขึ้น โดยหลวงพ่อพระอาจารย์อารยวังโส ท่ามกลางสื่อมวลชนที่พร้อมใจถ่ายทอดสดแพร่ภาพ-เสียงไปทั่วโลก จึงเกิดขึ้น
เมื่อกล่าวจบลง... จึงได้ทำพิธีลั่นระฆังสันติภาพ...
ก่อนจบลง ได้ยินเสียงระฆังตีรัวขึ้นอีกครั้ง ๑ ชุด... หลังจากนั้น หลวงพ่ออารยวังโสจึงได้มอบไมโครโฟน.. ให้ทางปากีสถาน คือ คุณอิมราน ชอกัต (Imran Shauket) ได้ตีระฆังอีก ๓ ครั้ง.. ปิดท้ายด้วยการกล่าวขอบคุณจากทางชาวสวัต/ปากีสถาน มีการถ่ายรูปร่วมกัน.. กล่าวขอบคุณซึ่งกันและกัน ด้วยใบหน้าที่เปื้อนรอยยิ้มและความสุข.. โดยทุกคนที่เข้าร่วมงาน.. ไม่เว้นแม้แต่สื่อมวลชนชาวปากีสถาน.. ที่ดูท่าทางออกจะมีความสุขไปด้วย... เพราะนี้คืองานมงคลธรรมบนแผ่นดินสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ที่จะถูกแพร่ไปทั่วโลกว่า... บัดนี้ สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน พร้อมแล้วกับการต้อนรับชาวโลก.. โดยเฉพาะชาวพุทธจาก ๓๒ ประเทศทั่วโลก.. เพื่อมาเยือนดินแดนถิ่นอารยธรรมคันธาระอันลือชื่อ ที่ทรงคุณค่ายิ่งทางจิตวิญญาณของชาวพุทธ.. และชาวโลก....
เสียงระฆังแห่งสันติภาพในครั้งนี้ ได้ประกาศชัดเจนไปทั่วโลกว่า....
“บัดนี้ สันติภาพได้ปรากฏเกิดขึ้นแล้ว ในแผ่นดินอารยธรรมคันธาระ.. มรดกโลกทางพุทธศาสนาแห่งนี้.. ในความเป็นสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ปัจจุบัน.. ที่พร้อมยินดีต้อนรับทุกคน.. จากทั่วทุกประเทศ ดุจญาติมิตร....”
ภายหลังจากเสร็จสิ้นงานมหามงคลในวันดังกล่าว คณะสงฆ์จึงได้ออกเดินทางกลับสู่ที่ตั้งการอธิษฐานอยู่จำพรรษา ณ นครตักศิลา ต่อไป เพื่อเตรียมตัวเดินทางสู่นครปุรุษปุระ แห่งอาณาจักรกุษาณะ.. แห่งแคว้นคันธาระ ซึ่งปัจจุบันคือเมืองเปศวาร์ (Peshawar) แห่งรัฐ Khyber Pakhtunkhwa ต่อไป
สำหรับเมืองเปศวาร์นั้น เป็นเมืองหลวงของรัฐไคเบอร์ปัคตุนควา สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน เป็นเมืองใหญ่สุดของแคว้น และใหญ่เป็นอันดับห้าของปากีสถาน โดยตั้งอยู่ในหุบเขาเปศวาร์ ทางตะวันออกของ Khyber Pass อันเก่าแก่ ใกล้กับชายแดนอัฟกานิสถาน
เมืองเปศวาร์.. เดิมชื่อ นครปุรุษปุระ... เมืองหลวงของอาณาจักรกุษาณะ ที่มีพื้นที่ครอบคลุมแว่นแคว้นต่างๆ ในตอนเหนือของชมพูทวีปไปทั่ว ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “เปษาวูร” .. และมาเป็นเปศวาร หรือ เปศวาร์ (Peshawar)....
ตามบันทึกของหลวงจีนฟาเหียนกล่าวว่า ได้เดินทางมาถึง ราชธานีปุรษปุระ พร้อมเพื่อนภิกษุ โดยได้ออกจากคันธาระไปทางตอนใต้ ใช้เวลา ๔ วัน
ในหนังสือบันทึกของหลวงจีนฟาเหียนได้กล่าวอีกว่า เมื่อครั้งสมัยพุทธกาล.. พระพุทธองค์ได้เสร็จมาถึงนครแห่งนี้ พร้อมด้วยพุทธสาวก
ในครั้งนั้น พระพุทธองค์ได้มีพระดำรัสแก่พระอานนท์ว่า...
“...ภายหลังเวลา เมื่อพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานล่วงไปแล้ว
ณ ที่แห่งนี้ จะมีกษัตริย์ทรงพระนามว่า “กนิษกะ” ขึ้นองค์หนึ่ง จะเป็นผู้สร้างพระสถูปขึ้น ณ ที่แห่งนี้...”
จากบันทึกของหลวงจีนมีเรื่องเล่าไว้ยาวพอสมควร.. อันเป็นหลักฐานของการค้นคว้าทางโบราณคดีชิ้นหนึ่ง.. ที่สำคัญยิ่ง... ซึ่งในวันที่ ๓๑ กรกฎาคม–๕ สิงหาคม ๒๕๖๕ อาตมา (พระ อ. อารยวังโส) รับนิมนต์จากผู้อำนวยการกองโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ของเปศวาร์ แห่ง Khyber Pakhtunkhwa เพื่อไปทำพิธีอธิษฐานระฆังสันติภาพ (Bell of Peace) ซึ่งประดิษฐานเมื่อ.. ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๒ ครั้งแรกที่เดินทางไปเยี่ยมเยียนปากีสถาน...
สำหรับประวัติโดยสังเขปของอาณาจักรกุษาณะ (Kushan Empire) ซึ่งมีเมืองหลวงชื่อ นครปุรุษปุระหรือเมืองเปศวาร์ (เปชวา) ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนามีดังนี้
อาณาจักรกุษาณะ (Kushan Empire)
- ประมาณ ๒๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช-ค.ศ.๓๒๐ พวกกุษาณะ (Kushana) เป็นชนเร่ร่อนต่างชาติที่เข้ามารุกรานและตั้งอาณาจักรปกครองอินเดียทางตอนตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย
กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ คือ กษัตริย์กนิษกะ (Kanishka the Great)
กษัตริย์กนิษกะปกครองดินแดนบริเวณที่เรียกว่า แคว้นคันธาระ (Ghandara) ศูนย์กลางอาณาจักร คือ เมืองเปศวาร์ (Peshawar) (ปัจจุบันอยู่ในเขตทางตะวันตกเฉียงเหนือประเทศปากีสถาน) และมีเมืองตักศิลา (Taxila) เป็นศูนย์กลางความเจริญ
สมัยกษัตริย์กนิษกะอินเดียมีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านศิลปวิทยาการแขนงต่างๆ โดยเฉพาะด้านการแพทย์.. อุปถัมภ์ศาสนาพุทธ (นิกายมหายาน) ให้เจริญรุ่งเรือง โดยจัดส่งสมณทูตไปเผยแพร่ศาสนาพุทธยังจีนและทิเบต.. มีการสร้างพระพุทธรูปที่มีศิลปะงดงามและสร้างเจดีย์ใหญ่ (Kanishka Stupa) ที่เมืองเปศวาร์ (Peshawar) ศิลปะสมัยนี้ได้รับอิทธิพลจากกรีก ซึ่งมีความโดดเด่นในด้านประติมากรรมรูปเทพเจ้า ทำให้เกิดการสร้างพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ตามคตินิกายมหายาน โดยพระพุทธรูปในระยะแรกเริ่มนี้จะมีลักษณะเหมือนจริงตามธรรมชาติ ศิลปะภายใต้การอุปถัมภ์ของราชวงศ์กุษาณะนี้ เรียกว่า ศิลปะแบบคันธาระ (Ghandara)
การเสื่อมอำนาจของสมัยกุษาณะ
แต่ภายหลังสมัยของกษัตริย์กนิษกะ จักรวรรดิกุษาณะก็อ่อนแอลง เนื่องจากถูกรุกรานจากชนเผ่าที่มาจากเอเชียกลาง จึงทำให้บ้านเมืองแตกเป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อย หลังจากจักรวรรดิกุษาณะเสื่อมอำนาจลงไม่นาน อินเดียสามารถรวบรวมเป็นปึกแผ่นได้อีกครั้งภายใต้การปกครองของราชวงศ์คุปตะ (ค.ศ.๓๒๐–๕๓๕).... (ติดตามอ่านตอนต่อไป).
เจริญพร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..
รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ
เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก
ประมาทไม่ได้เลย คือ จิตของเรา!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีพระภาษิตบทหนึ่งกล่าวว่า..
คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!
เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย
ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?
การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก
ขบวนการแพทย์ชนบท กับรางวัลแมกไซไซ ปี 2024 ทิศทางพัฒนาระบบสุขภาพไทย
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คือวันเสาร์ที่ 16 พ.ย. คณะผู้แทน”ขบวนการแพทย์ชนบท” ได้เดินทางไปรับรางวัลแมกไซไซ ประจำปี 2024