การศึกษาไทยในยุคดิจิทัล ยุคสมัยเปลี่ยนไป...แต่ทำไมระบบการศึกษาไทยยังเหมือนเดิม

คำว่า “การศึกษา” หมายถึง วิธีการส่งผ่านจุดมุ่งหมาย ความรู้ ทักษะ จารีตประเพณีและค่านิยมที่สั่งสมมา ให้ดำรงอยู่จากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง 

การส่งผ่านองค์ความรู้ ทักษะ และจารีตประเพณีนั้น เป็นเรื่องที่สังคมแต่ละสังคมจะต้องมีวิธีการที่แตกต่างกันออกไป ไม่มีมาตรฐาน เพราะแต่ละเหตุการณ์นั้นมีข้อแตกต่างกัน เว้นแต่การเรียนรู้เพื่อการเอาตัวรอดในฐานะของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ ที่อาจจะใกล้เคียงกันทั่วโลก แต่เชื่อหรือไม่ว่า การศึกษาภาคบังคับในปัจจุบัน กลับกลายเป็นเรื่องของการเอาเยี่ยงอย่างมาจากสังคมอื่น แล้วมากำหนดว่าต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ถึงจะมีมาตรฐาน โดยเฉพาะประเทศไทย พยายามที่จะนำลัทธิการลอกเลียนแบบมากำหนดให้เยาวชนทุกคนต้องเรียนเหมือนกันหมด ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง เพราะแต่ละสังคมตามแต่ละภูมิประเทศไม่เหมือนกัน ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน ใช้ภาษาที่ไม่เหมือนกัน แต่งกายไม่เหมือนกัน ทานอาหารแตกต่างกัน จารีตประเพณีมีเอกลักษณ์เฉพาะ แล้วเหตุใดการศึกษาภาคบังคับจึงจะต้องให้เรียนเหมือนกันทุกภาคด้วย ต้องสอบแข่งขัน ต้องแย่งชิงตำแหน่ง ชิงความเป็นเลิศ ซึ่งก็เท่ากับการสร้างสังคมให้เป็นสังคมของการแข่งขัน ไม่ใช่สังคมแห่งการแบ่งปันหรือช่วยเหลือกัน จนกลายเป็นความเคยชินไปจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก็ย่อมต้องมองทุกคนเป็นคู่แข่งขันหมด แบบนี้ไม่น่าจะเรียกว่า “การศึกษา” 

คำว่า Education นั้นมาจากภาษาลาติน มาจากคำว่า Educo ซึ่งแปลว่า “ฉันรู้, ฉันฝึก” ซึ่งถ้าทำความเข้าใจให้ดีจะไม่มีคำว่า “การแข่งขัน” ในความหมายนั้น แต่ก็แน่นอน ที่อาจจะมีผู้รู้บอกว่า ก็ที่ว่า “ฉันรู้, ฉันฝึก” นี่ไง ก็ฉันรู้ ฉันฝึกไปเป็นผู้ชนะ ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างจากการต่อสู้ในเวทีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสนามรบ เวทีมวย หรือการฉกฉวยโอกาสในการครอบครองแผ่นดินหรือขยายดินแดนในประวัติศาสตร์ที่เราได้เห็นกันอยู่บ่อยๆ

จากแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของประเทศไทย (2561-2580) เป็นยุทธศาสตร์ชาติฉบับแรกของประเทศไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งจะต้องนำไปสู่ การปฏิบัติเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง  ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจ พอเพียง” เพื่อความสุขของคนไทยทุกคน ยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้ คาดหวังว่าประเทศไทยจะอยู่ในอันดับ 1 ใน 20 ของการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ International Institute for Management Development (IMD) ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่เน้นปัจจัยด้านเศรษฐกิจมหภาค โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า ประเทศไทยอยู่ในช่วงอันดับที่ 25-30 โดยมีจุดอ่อนในด้านประสิทธิภาพการผลิต ด้านโครงสร้างพื้นฐานทั่วไป ด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และด้านการศึกษา ซึ่งผ่านไปแล้ว 4 ปี วันนี้อันดับทางการศึกษาของประเทศไทยนั้นตกลงไปอยู่ที่ 56 ในการเปรียบเทียบจาก 64 ประเทศทั่วโลก และอยู่อันดับ 8 ในอาเซียน ซึ่งต้องถือว่า “นโยบายการศึกษาล้มเหลว”

แล้วอะไรคือปัจจัยของความล้มเหลวทางการศึกษาของชาติ เราควรที่จะต้องยอมรับเสียทีว่ายุคสมัยมันเปลี่ยนไปไกลมากถึงขนาดที่ผู้ใหญ่ตามเด็กไม่ทันแล้ว เด็กสมัยนี้ไม่ได้ต้องการระบบการศึกษาแบบสอบแข่งขัน ไม่ได้ต้องการความเป็นเลิศทางวิชาการ แต่สิ่งที่เขาต้องการคือการอยู่รอดในสังคมอย่างมีคุณภาพตามวิถีของการเปลี่ยนแปลงของสังคมมากกว่า การให้โอกาสไปพร้อมๆกับการให้การศึกษาจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น ให้โอกาสที่เยาวชนสามารถที่จะเลือกบนความเป็นต้วของตัวเองได้ว่าจะเรียนอะไร ไม่ใช่ว่าจะต้องเรียนเหมือนกันหมดทั้งประเทศ โดยใช้ระบบ “แพ้คัดออก” เป็นตัวตั้ง บางคนท้อถอยตั้งแต่ระดับประถมศึกษา และจะมาปรากฏให้เห็นมากขึ้นในระดับมัธยมปลาย เด็กคะแนนดีได้เรียนหมอ เรียนวิศวะ เด็กคะแนนน้อยไปเป็นครู ไปเรียนช่างกล ทำไมประเทศไทยไม่เอาเด็กที่มีองค์ความรู้ ทักษะ จารีตประเพณีและค่านิยม ไปเป็นครู เอาเด็กที่รู้จักวิธีการใช้งานเครื่องจักรกลหรือระบไฟฟ้าไปส่งเสริมให้เป็นช่าง เด็กไทยไม่ได้โง่ทุกคน เรามีนักศึกษามากกว่า 40% ในระดับอุดมศึกษาที่จบมาแล้วไม่ได้ทำงานในสาขาที่ตนได้ร่ำเรียนมา พูดง่ายๆว่า “สูญเปล่าทางวิชาการ”    

ในขณะที่นโยบายสาธารณะเรื่องการศึกษาของชาติยังเป็นที่ถกเถียงกันในระดับผู้ใหญ่ การใช้เทคโนโลยีมาเปลี่ยนแปลงสภาพความเป็นอยู่ในสังคมนั้นมีอิทธิพลมากต่อการศึกษา การเรียนรู้แบบดั้งเดิมสามารถเรียนรู้ได้ง่ายกว่าเดิมมาก และวิธีการเรียนรู้ก็ไม่ใช่ระบบท่องจำเหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะการใช้เทคโนโลยีในเรื่องของการศึกษาจะต้องใช้ความคิดและทักษะการใช้มากกว่าการอ่าน เขียน หรือท่องจำ ถ้าท่านไม่เชื่อก็ลองถามพวกต่างด้าวที่เข้ามาทำงานอยู่ในประเทศไทยซิว่า เขาเรียนภาษาไทยจากไหน เขาทอนเงินเป็นได้อย่างไร เขาซ่อมท่อประปา เดินสายไฟ วางแนวการสร้างถนนเป็นจากอะไร ถ้าไม่ใช่ทักษะของการรับการถ่ายทอดองค์ความรู้และการค้นคว้าด้วยตัวเอง แล้วท่านคิดว่าเด็กไทยจะทำไม่ได้เชียวหรือ

สิ่งที่สำคัญที่สุดในขณะนี้คือการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาปี 2564 และร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ของกระทรวงศึกษาธิการให้เร็วที่สุด เพราะนั่นคือทางออกที่พึงกระทำโดยด่วน เป็นการกระจายอำนาจทางการศึกษา การเรียนรู้ สู่ท้องถิ่น อย่างชัดเจน โดยให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม และที่สำคัญคือการคงไว้ซึ่งจารีตประเพณีในสังคม ที่ไม่ได้ถูกให้ต้องบังคับเรียนเหมือนกันหมดทั่วประเทศ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะผ่านการพิจารณาวาระ 2 และวาระ 3 จากสภาฯในสมัยประชุมนี้โดยเร็ว คงไม่ต้องให้รอกันเป็นปีๆ และทำให้เยาวชนเสียโอกาส และที่สำคัญคือยุทธศาสตร์ชาติต้องเกิดขึ้นได้จริง เรื่องการศึกษานั้นเราคงจะต้องปรับปรุงกันให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลาจะรอช้าไม่ได้ การสร้างชาติต้องสร้างจากรากฐานของประชาชน ไม่ใช่การสร้างระบบโดยคนไม่กี่คน ซึ่งปัจจุบันก็ยังดูเหมือนว่าความต้องการที่แท้จริงทางการศึกษานั้น ประชาชนมีส่วนร่วมน้อยมากกว่าที่ควรจะเป็น ควรจัดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นให้บ่อยครั้งมากขึ้น และควรที่จะจัดระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับยุคสมัยในปัจจุบันด้วย

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนมีความเห็นว่าถึงเวลาแล้ว ที่ระบบการศึกษาของไทยจะต้องถูกจัดระเบียบขึ้นมาใหม่ ให้มีความทันสมัยมากขึ้น เปิดโอกาสมากขึ้น เรียนรู้กระบวนการทางเทคโนโลยีให้มากขึ้น แต่ที่สำคัญที่สุดคือการสอนให้เยาวชนของชาติได้เรียนรู้จารีตประเพณีและวัฒนธรรมที่ถูกต้อง มีคุณธรรมและจริยธรรมให้มาก การสอบแข่งขันยังคงมีได้อยู่ แต่คงต้องเป็นเรื่องการสอบแข่งขันทางคุณธรรมและจริยธรรม การช่วยเหลือผู้อื่นและมีสำนึกความรักชาติมากกว่าการสอบได้คะแนนสูงๆในวิชาต่างๆที่บางทีก็ไม่รู้ว่าเรียนจบไปจะได้ใช้หรือเปล่าด้วยซ้ำ ซึ่งหากกระบวนการทางความคิดเปิดเวทีสาธารณะมากขึ้นก็น่าจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย

 ไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว
ประธานมูลนิธิเด็กวัด กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'วิษณุ' แย้มเร่งตรวจกม.ฉบับใหม่ ปิดช่องขรก.รีดใต้โต๊ะ ได้ใช้ปีหน้า

'วิษณุ' เผย 'กฤษฎีกา' กำลังตรวจร่างกฎหมายอำนวยความสะดวก นวัตกรรมป้องปรามโกงยุคดิจิทัล คาดได้ใช้ปี 68 ข้าราชการต้องระวังมากขึ้น

'ดร.เอ้' ยก 'ลอว์เรนซ์ หว่อง' แนะ ผู้นำไทย ควรเรียนรู้จากสิงคโปร์ เร่งทำ 4 เรื่อง

ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เรื่อง "ผู้นำไทย ควรเรียนรู้จากสิงคโปร์" มีเนื้อหาดังนี้

Climate School (โรงเรียนเพื่อการรักษาสภาพภูมิอากาศ)

เป็นที่ทราบกันดีโดยทั่วไปอยู่แล้วว่า ในปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับสภาวะแวดล้อมที่มีภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จนทุกประเทศในโลกต้องหันมาให้การสนับสนุนส่งเสริมนโยบายการรักษาสิ่งแวดล้อม

การศึกษาชั้นพื้นฐานกับการพัฒนาเยาวชนด้วยกฎ 10 ข้อของลูกเสือ

มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาบนโลกใบนี้ ย่อมต้องมีการพัฒนาตนเองตั้งแต่แรกเกิด ส่วนหนึ่งคือพัฒนาจากธรรมชาติ ได้แก่การเรียนรู้ในการหายใจ การเรียกร้องเมื่อท้องหิวหรือเจ็บป่วย