น้ำมันเป็นปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญในการผลิต ราคาสินค้าจะถูกจะแพงขึ้นอยู่กับต้นทุนการผลิตที่มีน้ำมันเป็นองค์ประกอบสำคัญ หลายชาติในยุโรปน้ำมันแพงเคยถึงกับทำรัฐบาลล้มลงได้เลย อาจเป็นเพราะชาวยุโรปตื่นคิดตื่นรู้สำนึกประชาธิปไตยสูง จึงลุกขึ้นประท้วงความไม่ถูกต้องของรัฐ
น้ำมันในประเทศไทยช่วงนี้มีราคาแพง (ตาราง 1 และ 2) ทั้งเบนซิน 95 และดีเซลของไทยแพงกว่าพม่าและมาเลเซีย น้ำมันราคาแพงจะกระทบต่อภาคผู้บริโภค ภาคส่งออก ภาคขนส่ง ภาคผู้ประกอบการทั่วไทย จากต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการสูงขึ้น เพิ่มดัชนีราคา เกิด ภาวะเงินเฟ้อ เมื่อข้าวของแพงขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้น จะเกิดวิกฤตใหญ่ 2 ด้านพร้อมกันเรียกว่า “STAGFLATION กล่าวคือราคาข้าวของแพง (INFLATION) ท่ามกลางความฝืดเคือง (STAGNATION) จากวิกฤตว่างงาน ขาดรายได้ ไม่มีกำลังซื้อ” หากเกิดวิกฤต 2 ด้านไปพร้อมกันจะเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยากยิ่ง ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ข้าวยากหมากแพง” เช่น “ผักแพง ค่าแรงถูก”
ขณะนี้ ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา STAGFLATION เกิดขึ้นแล้ว ถือเป็นภัยคุกคามใหม่ทางเศรษฐกิจ สร้างความกังวลใจต่อภาครัฐและภาคเอกชน แถมถูกซ้ำเติมจากการระบาดโควิดสายพันธุ์เดลตาพลัสระลอกใหม่อย่างกว้างขวาง ถึงกับต้องปรับตัวอุตลุด ของแพงเงินเฟ้อพุ่งสูงป่วนโลก วิกฤตเงินเฟ้อ กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก หลายประเทศส่อเกิด วิกฤตเงินเฟ้อรุนแรง (HyperInflation) ข้าวของแพงจะทะลุพิกัด!
ราคาน้ำมันเมืองไทยช่วงนี้แพง เป็นผลมาจาก กฎหมายไทย และระบบการจัดการ แบบสัมปทานผูกขาดน้ำมัน เมื่อรัฐบาลไทยทำตามความคิดฝรั่งที่ทำให้เกิด ระบบสัมปทานผูกขาด บริษัทน้ำมันเอกชนจึงกลายเป็นเจ้าของทรัพยากรน้ำมันของชาติ สามารถผูกขาดธุรกิจน้ำมันได้ กอบโกยกำไรมหาศาลเรื่อยมายาวนาน 50 ปีแล้วจนถึงปัจจุบันนี้ (2514-2564)
ปฐมบทของเรื่องเริ่มจากปี 2514 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาในยุคสงครามเย็น ที่เสรีนิยมสู้กับคอมมิวนิสต์ โดยอาศัย Hard Power ส่งกองทัพอเมริกาทำสงครามอินโดจีนและเวียดนาม และอาศัย Soft Power ไล่ล่าน้ำมันปิโตรเลียม แทรกแซงรัฐไทยออกกฎหมาย “พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม พ.ศ.2514” ในสมัยรัฐไทยเผด็จการทหารจากรัฐประหาร พ.ร.บ.ฉบับนี้มีจุดอ่อนมากที่สุด เพราะกำหนดให้ใช้ ระบบสัมปทาน ในการผลิตน้ำมันและปิโตรเลียม โดยยกกรรมสิทธิ์ในน้ำมันและปิโตรเลียมที่ขุดได้ ให้เป็นของธุรกิจเอกชนผู้รับสัมปทานทั้งหมด
พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 ของไทยร่างโดย นายวอลเตอร์ ลีวาย มันสมองคนสำคัญของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่แห่งตระกูลร็อกกี้เฟลเลอร์ มหาเศรษฐีอเมริกัน อีกทั้งยังเป็นที่ปรึกษาของธนาคารโลกอีกด้วย หลังจากนั้นบริษัทน้ำมันผูกขาดรายใหญ่อเมริกันได้ปักธงมากกว่า 50% ของการขุดเจาะน้ำมันและปิโตรเลียมทั่วไทย “พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514” ถูกขนานนามว่าเป็น “กฎหมายฉบับฝรั่งร่างฝรั่งรวย” ศาสตราจารย์ ดร.ไมเคิล แทนเซอร์ นักเศรษฐศาสตร์พลังงานชั้นนำของโลกวิจารณ์ว่า กฎหมายน้ำมันของไทย เป็นกฎหมายที่ล้าหลังมากที่สุดในโลกในยุคนั้น นับเป็นกฎหมายที่เป็นปฐมบทของการเสียเปรียบบริษัทน้ำมัน รัฐสยบยอมให้สัมปทานบรรษัทข้ามชาติผูกขาดทำธุรกิจน้ำมันยาวนานถึง 52 ปี เป็นที่น่าเสียดายมากว่าประเทศไทยมีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แต่ประชาชนไทยได้รับประโยชน์แค่บางส่วนเพียงน้อยนิดมาก เพราะถูก “ทรราชน้ำมัน (Oil Tyranny)” TNCs ฉกฉวยปล้นไปเกือบทั้งหมด
นายปีเตอร์ พี มิลเลอร์ นักกฎหมายพลังงานปิโตรเลียมได้วิเคราะห์ไว้ในหนังสือเรื่อง Energy Law (1981) ว่ารากฐานจากระบบสัมปทานแบบดั้งเดิม ที่มาจากประเทศตะวันตกเมื่อนำมาใช้กับประเทศอาณานิคม และด้อยพัฒนารวมทั้งไทย เป็นไปเพื่อเข้าครอบครองกรรมสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมและน้ำมันอย่างเบ็ดเสร็จในยุคล่าเมืองขึ้น ตามแนวความคิดเศรษฐศาสตร์อาณานิคม (Colonial Economics)
ในหนังสือเรื่อง “Hard Choices” (2014) ที่เขียนโดย นางฮิลลารี คลินตัน อดีตรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ และอดีตสตรีหมายเลข 1 ช่วง นายบิล คลินตัน แห่งพรรคเดโมแครต เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เธอยืนยันยุทธศาสตร์รัฐบาลสหรัฐอเมริกาในศตวรรษที่ 20 จนถึงปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับการควบคุมแหล่งปิโตรเลียมและน้ำมันทั่วโลก อาศัยทั้ง Soft Power และ Hard Power นั้น ชาวโลกจึงเห็นความขัดแย้งเหนือบ่อน้ำมันบ่อก๊าซแถวทะเลจีนตอนใต้ สหรัฐ VS จีน, สงครามอิรัก–สหรัฐยึดบ่อน้ำมัน, สงครามไล่ล่าทรัพยากรปิโตรเลียมที่ซีเรีย, การพิพาทขัดแย้งสหรัฐ–อิหร่านต่อเนื่อง การไล่ล่าน้ำมันปิโตรเลียมลามมาถึงอินโดจีน เวียดนาม และไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีบ่อก๊าซธรรมชาติอันอุดม คุณภาพดีในอ่าวไทยคือ แหล่งสำคัญ ได้แก่ แหล่งเอราวัณ และแหล่งบงกช
สำหรับประเทศไทยนั้น ขุนศึกไทยได้รับอิทธิพล “Hard Power” สูงตั้งแต่ยุคสงครามเย็นยุทธวิธีการรบแบบอเมริกัน แม้วันนี้หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 “ระบอบทหารใหญ่” อาจมีใจให้จีนบ้างแต่ก็ยังถูกครอบงำด้วยวิธีคิดแบบทหารอเมริกันไม่น้อย
การยึดครองปิโตรเลียมไทยจนถึงบ่อน้ำมันบ่อก๊าซของประเทศไทยให้ TNCs ผูกขาดน้ำมันปิโตรเลียมนั้น อาศัย “Soft Power” ด้านกฎหมาย และยุทธศาสตร์ยุทธวิธีด้านเศรษฐกิจโดยฉันทานุมัติวอชิงตัน แปลงสินทรัพย์ ความเป็นเจ้าของสินทรัพย์น้ำมันปิโตรเลียมของรัฐได้ กลายเป็นของธุรกิจเอกชนผูกขาดน้ำมัน โดยการแปลงสภาพขายสินทรัพย์น้ำมันชาติ ขายในราคาถูกมากให้ TNCs ผูกขาดน้ำมันเป็นเจ้าของสัมปทาน เนื้อหาอาจเข้าข่ายทำนองขายสมบัติชาติ หรือ ขายชาติ หรือไม่
การฮุบน้ำมันสู่มือทุนผูกขาด TNCs ทำได้ 2 ระลอก ด้วยการผ่าน กฎหมาย ระลอกแรก พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และระลอก 2 พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542
กล่าวคือ ฝรั่งรุกหนักระลอกแรก ส่วน ระลอกสองเป็นต้นมา ทางเทคโนแครตหรือนักบริหารนักวิชาการขุนนางไทย อาจเรียกว่า “คนไทยหัวใจฝรั่ง” ทำแทนตามอุดมการณ์ฝรั่ง เพื่อให้ TNCs ผูกขาดน้ำมันเรื่อยมา นักวิชาการขุนนางมักคิดเชิงเทคนิค (Technocrat) เพื่อ TNCs จะได้ผูกขาด ทำกำไรเชิงพาณิชย์สูงสุดผลประโยชน์ตกบริษัทตนมากกว่าประเทศชาติที่ตนสังกัด ภายใต้การบริหารจัดการน้ำมันทรัพยากรปิโตรเลียมแบบ “รัฐราชการ–นายทุนผูกขาดน้ำมัน–ขุนศึก” ในระบบเศรษฐกิจไทย แบบ ทุนนิยมผูกขาดอภิสิทธิ์ชนกินรวบสินทรัพย์ เกิดกำไรมหาศาลจากการผูกขาดน้ำมันยาวนานจนถึงปัจจุบัน
นักเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศนิยาม “บรรษัทข้ามชาติ (Trans–National Corporations หรือ TNCs)” คือ บริษัทเอกชนรายใหญ่ผูกขาดข้ามชาติ ทำตัวเสมือนไร้สัญชาติสังกัด โดยเป้าหมายหลักที่สำคัญของ TNCs คือ การทำกำไรเชิงพาณิชย์สูงสุด (Profit Maximization) ไม่ใช่ผลประโยชน์ของชาติตน เป้าหมายทำกำไรสูงสุดเพื่อผลประโยชน์สูงสุดให้บริษัทตัวเอง TNCs และผู้ถือหุ้นเป็นหลักสำคัญ คือ หัวใจของภารกิจของ TNCs ดังนั้น การที่ TNCs น้ำมันผูกขาดบางบริษัท อวดอ้างว่าบริษัทตนดำเนินการเพื่อความมั่นคงน้ำมันของประเทศชาติของตนนั้น เป็นแค่การสร้างมายาภาพลวงตาวาทกรรมลวงโลกเท่านั้นเอง TNCs น้ำมันผูกขาดรายใหญ่ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปผงาดมีอำนาจเหนือตลาด เหนือผู้บริโภค เหนือรัฐตลอดมาในยุคไล่ล่าทรัพยากรโดยจักรวรรดินิยมอเมริกา และประเทศทุนนิยมตะวันตก
กฎหมายปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ที่มักถูกเรียกว่า “ฉบับฝรั่งร่างฝรั่งรวย” นั้น นับเป็นกฎหมายฉบับแรกซึ่งเป็นฉบับแม่บท ในเวลาต่อมามีการแก้ไขรวมเป็น 7 ฉบับ (โปรดดูฉบับแม่บท 2514, แก้ไขฉบับที่สอง 2516, ฉบับที่สาม 2522, ฉบับที่สี่ 2532, ฉบับที่ห้า 2534, ฉบับที่หก 2550 และฉบับที่เจ็ด 2560) แต่เป็นการแก้ไขเชิงเทคนิคเพียงเล็กน้อยในลักษณะปะผุรถยนต์ ไม่เคยมีการแก้ไขประเด็นสำคัญหลักใหญ่ เรื่องความเป็นเจ้าของทรัพยากรน้ำมันและปิโตรเลียม ซึ่งเป็นของบริษัทน้ำมันเอกชนรายใหญ่ ในระบบสัมปทานหรือคล้ายสัมปทานน้ำมันตลอดมาในช่วง 50 ปีถึงปัจจุบัน (2514–2564) การแก้ไขกฎหมายน้ำมันแค่บางประเด็นปลีกย่อย ทำให้ระบบการจัดการน้ำมันยังคงไว้ซึ่งประโยชน์มหาศาลแก่บรรษัทข้ามชาติน้ำมัน (TNCs) เรื่อยมา ในปี 2542 รัฐบาลไทยถูกบีบให้มีการรับเงินกู้ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ด้วยการออกกฎหมายแปลงสินทรัพย์ของรัฐเป็นของเอกชน โอนสินทรัพย์น้ำมันและพลังงานเป็นของ TNCs ผูกขาดน้ำมัน โดยนำหุ้นเข้าขายในตลาดหุ้น แปลงสภาพสินทรัพย์น้ำมันและปิโตรเลียมของรัฐของประชาชน กลายเป็นของธุรกิจเอกชนเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดังกล่าว โดยสรุป ทรัพยากรน้ำมันและปิโตรเลียมไทยถูกรุกไล่ปล้นสองระลอก ระลอกแรกปี 2514 และระลอก 2 ปี 2542
น้ำมันมีราคาแพง นั้น ต้องแก้ไขตรง ต้นเหตุที่กฎหมายและการผูกขาดน้ำมันและพลังงาน รัฐไทยทั้งในยุครัฐบาลทหารมาจากการรัฐประหาร และในยุครัฐบาลพลเรือนมาจากการเลือกตั้งละเลยไม่แก้ไขตรงต้นเหตุเรื่อยมาสองยุค ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะทั้งสองยุคต่างมีผลประโยชน์ร่วมหรือไม่ จึงไม่กล้าแตะต้อง TNCs บรรษัทข้ามชาติน้ำมันและพลังงาน
เมื่อพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง สับเปลี่ยนได้เป็นรัฐบาลต่อๆ กันมาถึง 3 พรรค เห็นดีเห็นงามกับการสมาทานความคิดฝรั่งเสรีนิยมใหม่ (Neo-Liberalism) ในกรอบฉันทานุมัติวอชิงตัน (Washington Concensus) จึงทำให้เกิดการแปลงสภาพความเป็นเจ้าของน้ำมันและทรัพยากรปิโตรเลียมของรัฐ โอนสู่ความเป็นเจ้าของในมือบริษัทรายใหญ่กึ่งเอกชนผูกขาดน้ำมัน คือ TNCs ดังนี้
ปี 2540 ยุควิกฤตเศรษฐกิจไทยที่มักคุ้นในชื่อ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” นั้น รัฐบาลพรรคความหวังใหม่รับเงินกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่เต็มไปด้วยเงื่อนไขข้อจำกัดรัฐไทยต้องปฏิบัติ
ปี 2542 รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้ออกกฎหมาย “พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ” มุ่งแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แปลงสภาพสินทรัพย์ที่รัฐเป็นเจ้าของรวมถึงน้ำมันปิโตรเลียม ยกความเป็นเจ้าของให้เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทเอกชน
ก่อน 1 ตุลาคม 2544 ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง พรรคไทยรักไทยประกาศหากตนได้เป็นรัฐบาล จะยกเลิกกฎหมายไอเอ็มเอฟทั้งหมด ที่คนไทยเรียกว่า “กฎหมายขายชาติ” แต่ทว่าเมื่อพรรคไทยรักไทยได้เป็นรัฐบาล กลับไม่ได้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าวตามที่หาเสียงเอาไว้ ซ้ำร้าย วันที่ 1 ตุลาคม 2544 รัฐบาลพรรคไทยรักไทยกลับทำการแปลงสภาพบริษัทน้ำมันใหญ่ของชาติของประชาชนไทยให้กลายเป็นบริษัทจำกัด (มหาชน) รับโอนอำนาจสิทธิและพนักงานทั้งหมดตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542
ในยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทย จึงเกิดปรากฏการณ์ “อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ แกรนด์เซล” ขายของสินทรัพย์ราคาถูกให้ต่างชาติและเศรษฐีคนไทย นั่นคือ การซื้อ-ขายหุ้นบริษัทน้ำมันรายใหญ่ของชาติไทยในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2544 เกิดปรากฏการณ์อันน่าพิศวงเป็นที่เล่าลือตราบจนทุกวันนี้ที่รัฐบาลสามารถขายหุ้นหมดเกลี้ยงภายในเวลา 77 วินาที หรือ 1 นาที 7 วินาที เท่านั้น ขาย ณ ราคา ไอพีโอ 35 บาท ว่ากันว่าเป็นราคาประเมินต่ำกว่าความเป็นจริง ลัทธิอุปถัมภ์ทำให้บรรดาวงศาคณาญาติพี่น้องเพื่อนฝูงของนักการเมืองและเครือข่ายอำนาจน้ำมันได้หุ้นกันเพียบเป็นจำนวนมาก
บริษัทน้ำมันใหญ่เริ่มวันแรกเข้าตลาดหุ้น (6 ธันวาคม 2544) ราคาน้ำมันเบนซิน 95 อยู่ที่ 13.95 บาทต่อลิตร ต่อมาหลังเข้าตลาดหุ้นเพียงแค่ 8 เดือนเศษเท่านั้น ราคาน้ำมันเบนซิน 95 เพิ่มเป็น 43.19 บาทต่อลิตร ณ วันที่ 22 กรกฎาคม 2551 ซึ่งราคาน้ำมัน เบนซิน 95 เพิ่มขึ้นมากกว่า 300% ในช่วง 8 เดือนดังกล่าวหลังนำบริษัทน้ำมันรายใหญ่เข้าขายหุ้นในตลาดหุ้นในยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทยบริหารประเทศ
นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน อดีตรองประธานธนาคารโลก ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์อย่าง ศาสตราจารย์ ดร.โจเซฟ สติกลิทซ์ แห่งมหาวิทยาลัยโคลอมเบีย ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศในโลกแปรรูปรัฐวิสาหกิจน้ำมันและพลังงาน นำเข้าตลาดหุ้นแปรสภาพความเป็นเจ้าของยกกรรมสิทธิ์ให้เป็นของเอกชนอย่างง่ายดายในนโยบายแปลงสินทรัพย์รัฐเป็นทุนเอกชน สติกลิทซ์ถึงกับวิจารณ์แรงๆ ว่า “Privatization is Briberalization” หมายถึง การแปรรูปรัฐวิสาหกิจน้ำมันและพลังงานเป็นกระบวนการติดสินบน สติกลิทซ์ชี้ว่าเป็นการนำสมบัติชาติและประชาชนไปขายให้ธุรกิจเอกชนในราคาที่ต่ำกว่าราคาในตลาด ทำกำไรก้อนโตเข้ากระเป๋านายทุนน้ำมันพลังงานบางกลุ่ม และกลุ่มอํานาจนิยม ขณะที่คนส่วนใหญ่ ผู้บริโภค และผู้ประกอบการ กลับต้องทนทุกข์จากราคาน้ำมันและพลังงานสูงเกินจริงจากธุรกิจน้ำมันผูกขาด
ในเวลาต่อมาเมื่อ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ทำรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดย ระบอบทหารใหญ่ อ้างว่าจะขจัดคอร์รัปชัน และแก้ไขปรับเปลี่ยนปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ก่อนการเลือกตั้ง รวมทั้งปฏิรูปพลังงาน ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ที่รัฐบาลพูดไว้เสียดิบดีนั้น ประชาชนได้แต่รอแล้วรอเล่าเฝ้าแต่รอ พบแต่การปฏิรูปบนความว่างเปล่า คือไม่กล้าปฏิรูปอะไรเลย แรกๆ เข้ามาแทนที่จะปฏิรูปพลังงานซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจปากท้องชีวิตของประชาชนไทยทั้งปวงเสียตั้งแต่ต้นก็ไม่ทำ รัฐบาลทหาร คสช. กลับสร้างนวัตกรรมกฎหมายฉบับพิลึกพิลั่น คือ “กฎหมายปิโตรเลียม 2560” ที่ประชาชนมักเรียกว่า “กฎหมายปิโตรเลียม ฉบับปะผุ” ขึ้นมาใช้ ยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหา เพราะยังคงดำรงอยู่ของระบบคล้ายสัมปทานที่รัฐและประชาชนเสียเปรียบต่อไป ด้วยอำนาจอาจดูประหนึ่ง รัฐซ้อนรัฐ หรือไม่ ทั้งๆ ที่ธุรกิจน้ำมันส่วนใหญ่มาจากภาษีประชาชนไทย บริษัทน้ำมันควรดูแลทำให้เกิดน้ำมันพลังงานที่เป็นธรรมอันเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและประเทศชาติมิใช่หรือ
กระบวนการทำให้เกิด “กฎหมายปิโตรเลียม 2560” ของรัฐบาลทหาร คสช. ที่นำมาใช้ในปัจจุบันนี้ เป็นการนำเอากฎหมายปิโตรเลียมฉบับเก่ามาแก้ไขเพียงเล็กน้อยเชิงเทคนิค ไม่ได้แก้ไขในประเด็นหัวใจสำคัญ ทำให้ประชาชนและประเทศชาติเสียเปรียบบรรษัทข้ามชาติน้ำมันผูกขาดใหญ่ TNCs กลุ่มทุนพลังงานรีบเร่งรวบรัดหวังยึดครองบ่อก๊าซใหญ่คุณภาพดีแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช จึงเร่งจัดทำร่างกฎหมายพลังงาน 2560 ของฝ่ายรัฐปิดกั้นกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างชัดเจน
เมื่อประชาชนไม่เห็นด้วยโดยพิจารณาเห็นว่าร่างกฎหมายปิโตรเลียม 2560 ของรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. ที่มีเพียงไม่กี่มาตราไม่อาจแก้ปัญหาเก่าๆ ในเรื่องพลังงานทุนผูกขาดไม่เกิดการแข่งขันตามกลไกตลาด ราคาน้ำมันแพงนี้เป็นเพราะบิดเบือน บิดเบี้ยว ผิดเพี้ยนจากตลาดแข่งขัน ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน สร้างความเดือดร้อนต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการของไทย การบริหารจัดการที่กีดกันปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเข้าถึงทรัพยากรปิโตรเลียมและพลังงานในนโยบายสาธารณะพลังงานที่ต้องมีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างกระจายตัว โดยการจัดการต้องมีธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ ด้วยเหตุนี้ภาคประชาชนนำโดยเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จึงเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องทำหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. ควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ร่วม 100 ฉบับ เพื่อท้วงติงเสนอแนะการปฏิรูปโครงสร้างราคาน้ำมัน และขจัดการผูกขาดพลังงานปิโตรเลียม รัฐบาลมอบให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพลังงานมาร่วมประชุมหาทางออกกับตัวแทนภาคประชาชน คปพ. นานถึง 2 ชั่วโมง 42 นาที ฝ่ายประชาชนเสนอให้ตั้ง คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมาย โดยขอให้มีตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วมบ้าง มิใช่มีตัวแทนหน่วยงานพลังงานของรัฐเต็มไปหมด รองนายกรัฐมนตรีรับปากจะไปเสนอนายกรัฐมนตรี จะให้คำตอบภายใน 2 สัปดาห์ ตราบจนกระทั่งปัจจุบันก็ไม่เคยมีคำตอบใดๆ จากหัวหน้ารัฐบาลให้กับฝ่ายประชาชนแต่ประการใด
แม้หัวหน้า คสช. ในฐานะนายกรัฐมนตรี จะเงียบเฉยไม่แยแสใส่ใจต่อคำขอของภาคประชาชน ภาคประชาชนไม่ละความพยายาม ประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ มาร่วมด้วยช่วยกันร่างกฎหมาย “ร่างพระราชบัญญัติประกอบกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. ....” โดยมีคนไทยร่วมลงชื่อกว่า 20,000 รายชื่อครบทุกจังหวัด 77 จังหวัดทั่วประเทศ อีกทั้งยังมีคนไทยในต่างประเทศอีกหลายประเทศร่วมลงชื่อ เสนอต่อ สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ซึ่งล้วนแต่งตั้งโดย คสช. แต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณาใดๆ เลย ภาคประชาชนเสนอให้จัดตั้ง “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (National Oil Corporation) เพื่อบริหารจัดการน้ำมันและปิโตรเลียมทั้งหมด อีกทั้งท้วงติงคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมของรัฐว่าไม่ได้แก้ไขประเด็นสำคัญที่รัฐเสียเปรียบต่อเอกชนผูกขาดน้ำมันพลังงานปิโตรเลียมในระบบคล้ายสัมปทาน ทำให้ประเทศไทยขาดอธิปไตยน้ำมันพลังงานปิโตรเลียมต่อเนื่องต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด ในที่สุด สนช. ผ่านกฎหมายปิโตรเลียม 2560 อย่างรีบเร่ง รวบรัด ไม่เห็นหัวประชาชน
ยุคเผด็จการทหารครองเมืองในนาม คสช. กีดกันปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในนโยบายสาธารณะ ไม่ให้เกิด “อธิปไตยน้ำมันพลังงาน” รัฐฟ้องร้องการเคลื่อนไหวประชาชนด้วยกฎหมายปิดปาก (SLAPPS/Strategic Lawsuit Against People Participation) รัฐดำเนินคดีกับประชาชนจากการที่ประชาชนไปยื่นร่างกฎหมายน้ำมันปิโตรเลียมฉบับประชาชน ต่อ สนช.-สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พร้อมคัดค้านการออกกฎหมายปิโตรเลียม พ.ศ.2560 ฉบับปะผุ แต่รัฐเพิกเฉยไม่ฟังเสียงประชาชน ทั้งที่ประชาชนเคลื่อนไหวโดยสันติวิธี เพื่อให้เกิด “อธิปไตยน้ำมันพลังงาน” อย่างแท้จริง ประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่คัดค้านร่างกฎหมายของรัฐตลอดจนสมาชิกกลุ่ม คปพ. นับสิบกว่ารายที่ถูกหน่วยงานและบุคลากรของรัฐฟ้องร้องดำเนินคดี ต่างทยอยได้รับชัยชนะ และได้รับการยกฟ้องในที่สุด อันที่จริงนโยบายพลังงานชาติเป็นนโยบายสาธารณะที่มีผลต่อชีวิตของประชาชนทุกคนในประเทศไทย ประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะทักท้วง มีข้อเสนอแนะต่อรัฐได้มิใช่หรือ แม้สังคมไทยจะพูดถึงปัญหาพลังงานน้อยไปบ้าง แต่ก็น่าชื่นชมสถาบันการศึกษาบางแห่ง สื่อมวลชนบางสำนักมิได้เพิกเฉยปิดปากเงียบ หากแต่ช่วยนำเสนอข่าวสาร เป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชน ตลอดจนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาพลังงานและราคาน้ำมันเพื่อให้เกิดแนวทางการแก้ปัญหาที่เป็นธรรมให้กับประชาชนโดยไม่หวาดกลัวจะกระทบต่อทุนการศึกษา เงินวิจัย เงินช่วยเหลือ งบโฆษณาสปอนเซอร์ ฯลฯ
อธิปไตยน้ำมันพลังงานของไทย จักต้องมีใน 3 เรื่อง (1) คนไทยทั้งมวลเป็นเจ้าของตัวจริงในทรัพยากรน้ำมันพลังงาน (2) ประชาชนไทยมีอำนาจสูงสุดในการจัดการผลประโยชน์จากน้ำมันพลังงาน และ (3) รัฐไทยเป็นแค่เพียงตัวแทนประชาชน เป็นเพียงผู้รับมอบอำนาจจากประชาชน ให้ทำหน้าที่ในเจตจำนงเพื่อผลประโยชน์ชาติและประชาชนไทยสูงสุด แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ รัฐไทย ทุกยุค ตั้งแต่ปี 2514-2564 ไม่ได้ทำหน้าที่ รักษาอธิปไตยน้ำมันพลังงานปิโตรเลียมไทย อันเป็นสมบัติของชาติและของประชาชนไทยทั้งปวง ราคาน้ำมันจึงแพงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างในหลายมิติ
โดยสรุป รัฐบาลล้มเหลว ในนโยบายน้ำมันพลังงาน 3 ด้านด้วยกัน (1) ด้านกฎหมาย (2) ด้านการผูกขาดน้ำมันพลังงาน และ (3) ด้านการบริหารจัดการทำลายอธิปไตยน้ำมันพลังงาน เป็นที่น่าสังเกตว่ากรณีสินบนโรลส์-รอยซ์ จ่ายให้บุคลากรบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ตามที่ถูกกล่าวหาโดยองค์กรใหญ่ทางการของอังกฤษนั้น การตรวจสอบโดยทางการไทยผ่านมา 5 ปีแล้ว (2560–2564) ยังไม่มีข้อสรุปเลยถือว่าล่าช้ามาก
ประเทศไทยวันนี้ กลุ่มอำนาจนิยมน้ำมันพลังงาน TNCs ควบคุมเศรษฐกิจประเทศไทยผ่าน “รัฐราชการ–นายทุน–ขุนศึก” หมายถึง “รัฐราชการคุมกฎหมายน้ำมันพลังงาน–ทุนผูกขาดน้ำมันพลังงานคุมเงินตรากำไรมหาศาล–ขุนศึกคุมปืนทำหน้าที่คล้าย รปภ. คุ้มครองผลประโยชน์ของกลุ่มทุนผูกขาดอำนาจน้ำมันพลังงาน TNCs” ในระบบเศรษฐกิจไทยแบบ “ทุนนิยมผูกขาดอภิสิทธิ์ชนกินรวบสินทรัพย์” ที่ครอบงำสังคมไทย
รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ล้มเหลวมากที่สุดในประวัติศาสตร์รัฐประหารของประเทศไทย โดยเฉพาะทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ ทำการเมืองไทยถอยหลังเข้าคลองเป็นเผด็จการอำนาจนิยม สิ่งที่ล้มเหลวด้านเศรษฐกิจประเทศมากที่สุด คือ การไม่ปฏิรูปราคาน้ำมันและพลังงานเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมสำหรับประชาชนไทย ไม่ปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการน้ำมันผูกขาด ปล่อยให้มีการบิดเบือนราคาน้ำมัน ปล่อยให้ TNCs โกยกำไรผูกขาดน้ำมันมหาศาลต่อไป ตลอดระยะเวลาสู่ปีที่ 8 แห่งอำนาจแล้ว นายกรัฐมนตรีโดยวิชาชีพทหารเชี่ยวชาญ ทางการรบการทำสงคราม แต่ไม่มีความรู้ความสามารถในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจประเทศที่สลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนซ่อนปมในโลกยุคดิจิทัลที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายได้ จึงไม่เข้าใจและตระหนักว่าระบบผูกขาดน้ำมันและพลังงาน คือตัวการป่วนทำลายระบบเศรษฐกิจไทยให้อ่อนแอถึงฐานรากเลยทีเดียว น้ำมันแพงเป็นภัยคุกคามสร้างความอ่อนแอต่อเศรษฐกิจไทยอย่างแฝงลึกในผลประโยชน์ทับซ้อนและซ้อนทันของกลุ่มอำนาจน้ำมัน TNCs มาเป็นระยะ ดังเกิดขึ้นชัดเจนเป็นที่ประจักษ์น้ำมันแพงในวันนี้ น้ำมันแพงอาจถึงกับทำให้รัฐบาลล้มได้ ถ้าไม่รีบแก้ไขให้ตรงจุด
การไม่ปฏิรูปให้เกิดประชาธิปไตยทางการเมืองและทางเศรษฐกิจอย่างที่ผู้นำรัฐบาลได้ประกาศเอาไว้ ทำให้การรัฐประหารเสียของอย่างไม่เป็นท่า
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้า คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ปัจจุบันเป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบในเรื่องการบริหารจัดการพลังงานและน้ำมันแห่งชาติ ผูกขาดราคาแพงในวิกฤตการณ์พลังงานปัจจุบันได้
ล่าสุดข้อเรียกร้องของสหพันธ์การขนส่งแห่งประเทศไทยที่เสนอต่อรัฐบาลให้ พิจารณาลดราคาน้ำมันดีเซลที่ 25 บาทต่อลิตร เพื่อลดต้นทุนค่าขนส่ง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่าย จะดีกับภาคผู้ประกอบการ ลดต้นทุนการผลิต ภาคผู้บริโภคและเศรษฐกิจไทยโดยรวม ไม่เผชิญกับปัญหาหนักหน่วงด้านของแพง “เงินเฟ้อ” ช่วยให้เศรษฐกิจมีความสามารถในการแข่งขันในภาคการส่งออก พอช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยในภาวะรุมเร้าหลายด้านในปัจจุบันนั้น
ทาง กลุ่มอำนาจน้ำมัน TNCs และรัฐ ยืนกรานตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยจะกู้เงินเพิ่มขึ้น 2 หมื่นล้านบาท (ซึ่งจะเป็นภาระหนี้ของประชาชนเพิ่มขึ้นอีกมากซึ่งหนักอยู่แล้ว) มาตรึงดีเซล 30 บาทต่อลิตร ท่ามกลางเงินกองทุนน้ำมันเหลือน้อยมากแค่ 7,144 ล้านบาท (ณ 31 ต.ค.64) รัฐไม่ยอมลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันอ้างจะกระทบต่อฐานะการคลัง ทั้งที่เป็นผลมาจากรัฐผิดพลาดใช้นโยบายแจกเงินประชานิยมและลงทุนโครงการขนาดใหญ่จนกระทบต่อการคลังก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำ
รัฐดูเหมือนไม่แยแสกับประชาชนเรื่องวิกฤตน้ำมันราคาแพง มัวแต่สาละวนอยู่กับพรรคการเมืองที่รองรับอำนาจของตนไม่ให้กระฉอกไปมา นายทหารใหญ่พูดแบบไม่เคอะเขินจะขออยู่ต่อในอำนาจเมื่อครบ 8 ปี ในปี 2565 ไปอีก 5 ปี รวมเป็นทั้งหมดแห่งอำนาจ 13 ปี (2557–2571) ประชาชนได้แต่อ้าปากค้าง
อนึ่ง ราคาน้ำมันดิบตลาดโลก WTI Spot ดอลลาร์สหรัฐ (ณ วันที่ 2 พ.ย.64) อยู่ที่ 83 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งประธานาธิบดีรัสเซีย นายวลาดีมีร์ ปูติน ระบุราคาน้ำมันดิบตลาดโลกจะทะยานสูงขึ้นไปถึง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในเร็ววัน
ระวัง “STAGFLATION” น้ำมันแพงระอุเดือดเพราะผูกขาด อาจทำรัฐบาลล้มลงได้
ปัญหาราคาน้ำมันแพงในไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างต้องแก้ไขหลายมิติพร้อมกันไป ไม่ใช่แก้แค่ปัญหาเชิงเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ แค่บางเรื่องที่รัฐบาลทำอยู่ขณะนี้ ไม่อาจทำลายผูกขาดน้ำมัน ที่วนอยู่ในอ่าง ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำมันแพงได้อย่างถาวรแท้จริง ถามว่ารัฐบาลแก้เชิงเทคนิคเพื่อไม่ให้กระทบต่ออำนาจการผูกขาดของ TNCs น้ำมันรายใหญ่หรือไม่ (โปรดดูแผนภูมิ โมเดลผูกขาดน้ำมันพลังงานไทยโกยกำไร)
ล่าสุดประชาชาติธุรกิจ (5 พ.ย.64) รายงานสภาองค์กรผู้บริโภค อัดรัฐ “บริหารผิด” จี้ปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน ตามข้อมูลจากบางจาก ราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 29.54 บาท (6 พ.ย.64).
วิวัฒน์ชัย อัตถากร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อภิสิทธิ์-อดีตนายกรัฐมนตรี มอง 'จุดเสี่ยง' รัฐบาลเพื่อไทย ระเบิดการเมือง วางไว้เองหลายลูก
แม้ขณะนี้จะไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองใดๆ แต่สำหรับ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์" การแสดงทัศนะหรือความคิดเห็นทางด้านการเมือง
ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..
รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ
เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก
ประมาทไม่ได้เลย คือ จิตของเรา!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีพระภาษิตบทหนึ่งกล่าวว่า..
คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!
เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย
ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?
การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก