จากสุวรรณภูมิ.. สู่แคว้นคันธาระ (ปากีสถาน).... (ตอนที่ ๘) อธิษฐานจำพรรษา .. ณ นครตักศิลา ปี ๒๕๖๕ ..

  • จาริกทัศนศึกษา.. ร่องรอยอารยธรรม.. ถวายบูชาพระรัตนตรัยในหุบเขาสวัต (ตอนเหนือของปากีสถาน)... ต่อเนื่องเป็นวันที่สี่ (๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๕...) 

 

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ดังที่ได้เดินทางไปทัศนศึกษา Amluk-Dara ที่มีสถูปโบราณขนาดใหญ่กลางหุบเขา.. ซึ่งกองโบราณคดี-พิพิธภัณฑ์เปศวาร์แห่งไคเบอร์ปัคตุนควา.. ได้มีการฟื้นฟูบูรณะตามความรู้ความสามารถอย่างดียิ่ง.. เห็นได้จากสภาพที่ยังคงดำรงอยู่อย่างสมบูรณ์ในคุณค่าทางจิตวิญญาณใน Amluk-Dara ที่ชาวพุทธควรเดินทางไปเยี่ยมชม.. เพื่อสักการบูชา.. ระลึกถึงบรรพชน.. ผู้ได้ทุ่มเทกำลังความพร้อมในชีวิตอุทิศสร้างมหาสถูป.. ในท่ามกลางมหาวิหารไว้ เพื่อประโยชน์แห่งการศึกษาสืบเนื่องพระพุทธศาสนาสืบต่อไปในโลกนี้....

ดังที่ คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ซึ่งติดตามไปทัศนศึกษาที่ Amluk-Dara ในครั้งนี้ ได้เขียนบันทึกเผยแพร่พร้อมภาพประกอบว่า... 

 “..เช้าวันนี้ (๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๕) หลวงพ่อพระอาจารย์อารยวังโสได้นำพระสงฆ์-สามเณรและคณะศรัทธาชาวไทย ไปสักการบูชา พระสถูป อัมลุก-ดารา (Amluk-Dara Stupa) ซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขา Swat อันเป็นถิ่นกำเนิดพระพุทธศาสนาฝ่ายวัชรญาณ สร้างขึ้นในสมัยศตวรรษที่ ๓ (ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๓ (พ.ศ. ๒๐๑-๓๐๐)) ในยุคคันธาระ.. ที่พุทธศาสนารุ่งเรืองยิ่งในตอนเหนือของชมพูทวีป

แต่ต่อมาด้วยความเปลี่ยนแปลงในทางสังคมการเมือง-การปกครองที่ยึดโยงกับศาสนา.. ซึ่งสะท้อนให้พุทธศาสนาถูกทำลาย.. ปล่อยทิ้งร้างไปในพื้นที่อิทธิพลการปกครองที่สนับสนุนศาสนาอื่นๆ .. จนพุทธศาสนาได้สูญสิ้นไปจากชมพูทวีป นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๗ เป็นต้นมา...

โดยพื้นที่แว่นแคว้นฝ่ายเหนือ ไม่ว่าจะเป็นแคว้นกัมโพชะ แคว้นคันธาระ แคว้นปัญจาละ.. แคว้นกุรุ... ได้ถูกแบ่งเป็นประเทศต่างๆ โดยถูกผนวกพื้นที่รวมเป็นการปกครองแบบสาธารณรัฐ.. เช่น อินเดีย.. ปากีสถาน.. อัฟกานิสถาน เป็นต้น...

สำหรับพื้นที่ในแถบหุบเขาสวัต.. หุบเขาเปศวาร์.. หุบเขาตักศิลา.. ได้ผนึกรวมกันเป็นสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ที่ส่วนใหญ่ของประชากรมากกว่า ๙๐% นับถือศาสนาอิสลาม.. ในส่วนของพุทธศาสนานั้นคงเหลือเพียงแต่ร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองในอดีต ที่ปรากฏผ่านทางอารยธรรมโบราณสถานพุทธศาสนา ซึ่งได้รับการยกให้เป็นมรดกโลก.. ที่ทรงคุณค่าทางจิตวิญญาณ ที่ชาวโลก.. โดยเฉพาะประเทศพุทธศาสนาควรภาคภูมิใจ...

ดังที่ เซอร์ออเรล สไตน์ นักโบราณคดี ชาวฮังกาเรียน-อังกฤษ ได้เดินทางเข้าไปสำรวจในพื้นที่ดังกล่าวเมื่อปี ค.ศ.๑๙๖๒ และนำไปสู่การบูรณะฟื้นฟูโบราณสถานทางพุทธศาสนาที่ทรงคุณค่าทางอารยธรรมเหล่านั้นอย่างจริงจัง.. โดยเฉพาะที่ Amluk-Dara Stupa ... ซึ่งปัจจุบันกองงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์แห่งเปศวาร์... ในไคเบอร์ปัคตุนควา (Khyber Pakhtunkhwa) ได้รับหน้าที่เข้าไปบูรณะซ่อมแซม ดูแลรักษาต่อเนื่อง... โดยคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ตามแบบแผนทางโบราณคดีภายใน ๖ เดือน (นับตั้งแต่กรกฎาคม ๒๕๖๕ นี้) โดยมีการคัดเลือกและลำเลียงหิน เพื่อการบูรณะซ่อมแซมนี้โดยตรง มาจากลุ่มน้ำสวัต  (Swat Valley)...

สำหรับ Amluk-Dara Stupa ... ที่ตั้งอยู่ในหุบเขาอิลุม (Ilum) นั้น.. มีทิวทัศน์คล้ายภาคเหนือสุดของประเทศไทย มีเมฆหมอกปกคลุมยอดเขาตลอดปี.. ในฤดูหนาวจะแปรเป็นหิมะจับขาวตามยอดภูเขาลาดลงมาสู่หุบเขา แลดูสวยงาม...

ภายหลังเมื่อไปถึงหลวงพ่อพระอาจารย์อารยวังโส.. ได้กล่าวว่า “..ตรวจสภาพภูมิประเทศโดยรอบ พระสถูป Amluk-Dara แห่งนี้ที่มีพระสถูปเล็กๆ เรียงรายแวดล้อม พร้อมวิหารประกอบศาสนกิจ.. และที่พักสงฆ์เพื่อการปฏิบัติธรรม.. ศึกษาธรรม.. ก็พอจะอนุมานได้ว่า พระสถูป Amluk-Dara แห่งนี้.. น่าจะอยู่ในพื้นที่มหาสังฆารามที่ต้องมีพระสงฆ์จำนวนมากมาอยู่อาศัย.. ดุจเดียวกับสังฆารามต่างๆ .. ที่ตั้งอยู่ในเขตป่า-ภูเขา... ในแว่นแคว้นแห่งนี้ตามบันทึกของหลวงจีน.. โดยเฉพาะถ้ำขนาดต่างๆ ที่อยู่บนภูเขารายรอบพระสถูป Amluk-Dara แห่งนี้.. ซึ่งน่าจะเคยเป็นที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์ในสมัยนั้น...

ในวันนั้น ขณะที่คณะได้เดินทางไปถึงเป็นเวลาประมาณใกล้เที่ยง พระอาทิตย์กำลังส่องแสงสว่างจ้า เมื่อสาดกระทบลงมาในหุบเขาที่ Amluk-Dara Stupa ตั้งอยู่.. โดยมีร่องรอยลำธารขนาดใหญ่พาดผ่านลาดลงมาจากเทือกเขา... จึงได้เห็นถึงความสวยงามของธรรมชาติ.. และความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ดังกล่าวที่เหมาะแก่การทำการเกษตรกรรม ปลูกพืชนานาพันธุ์... โดยเฉพาะไม้ผล.. ดังที่ชาวบ้านในพื้นที่ได้นิยมปลูกต้นลูกพลับ (persimmon).. ที่ให้ออกดอกผลดีมาก.. จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจของ Khyber Pakhtunkhwa .. Pakistan ในปัจจุบัน

แต่น่าอัศจรรย์ยิ่ง.. เมื่อหลวงพ่อและคณะ.. ได้เริ่มปฏิบัติศาสนกิจ.. ด้วยการเจริญพระพุทธมนต์.. อบรมจิตภาวนา.. ตามเหมาะควร.. พลันบนท้องฟ้าที่กำลังสว่างไสวด้วยแสงพระอาทิตย์ยามเที่ยงวัน กลับปรากฏมีเมฆหมอกและแผ่ไหลครอบคลุมลงมาปกคลุมทิวเขา จนดูคล้ายฤดูหนาวอย่างใดอย่างนั้น โดยเฉพาะอากาศที่ไหลเย็นลงมาทดแทนความร้อนจากแสงแดดในยามเที่ยงที่ค่อยๆ สูญหายไป.. ให้กลายเป็นดุจเสมือนฤดูหนาวที่คืบคลานเข้ามา.. เมื่อผสมผสานกับสายลมเย็นที่โบกโชยมาเป็นระยะๆ จึงให้เกิดความรู้สึกสัปปายะในธรรมอย่างยิ่ง.. จนชวนให้ใคร่เจริญภาวนาโดยฉับพลัน...

เมื่อหลวงพ่อพระอาจารย์อารยวังโสได้ประกอบศาสนกิจเหมาะควรแล้วตามวิถีพุทธ.. จึงได้สนทนากับคณะทำงานของกองโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ของเปศวาร์ โดยมี ดร.อับดุล ซามัด ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์และโบราณคดีเปศวาร์ฯ ได้มาร่วมอำนวยการถวายการต้อนรับดูแลด้วยตนเอง... และเป็นธรรมเนียมที่ต้องจบภารกิจด้วยการให้สัมภาษณ์สดๆ กับสื่อสำนักต่างๆ ที่ติดตามไปสัมภาษณ์ บันทึกภาพ-เสียงถึงในสถานที่จริง.. ก่อนจะถ่ายรูปหมู่และเดินทางกลับ โดยหลวงพ่อได้ขอแวะไปชม โบราณสถานที่ชื่อ Bazira ชื่อในปัจจุบันเรียกว่า Barikot สถานที่อันเคยเป็นที่พักของกองกำลังทหารของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช.. ที่เชื่อกันว่าเป็นสถานที่ซึ่งพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชเคยประทับที่ Barikot นี้ ร่วมกับกำลังทหารของพระองค์ท่าน... ดังที่มีบันทึกทางเอกสารสรุปของนักโบราณคดีประจำแหล่งนี้สรุปว่า...

 “..โบราณคดีแห่งนี้สืบทอดมาตั้งแต่ยุคสำริด เมื่อ ๑,๖๐๐ ปีก่อนคริสตกาล.. ต่อมาพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชยกกองทัพมาตั้งบ้านเรือนที่ Bazira แห่งนี้เมื่อ ๓๒๗ ปีก่อนคริสตกาล.. และตกทอดมาถึงยุคชาวกรีกอาศัยราว ๑๒๐ ปีก่อนคริสตกาล.. จนเข้าสู่ยุคราชวงศ์ กุษาณะ.. และกระทั่งถึงยุคที่ชาวมุสลิมเข้ามาอยู่อาศัย...”

โดยในวันนั้น (๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๕) หลวงพ่อพระอาจารย์อารยวังโสและคณะ.. ได้เดินทางมาถึง Barikot ประมาณบ่ายโมงเศษ.. อากาศบริเวณดังกล่าวกำลังร้อนอบอ้าวพอทน.. ต่อการให้เดินทัศนศึกษาบริเวณพื้นที่ผังเมืองโบราณทั้งหมดที่ถูกขุดค้นเพื่อทำการศึกษา โดยนักโบราณคดีชาวอิตาลี.. ที่ได้นำวัตถุโบราณต่างๆ ที่อ้างอิงทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ไปจัดเก็บไว้ที่ พิพิธภัณฑ์สวัต (Swat) ในปัจจุบัน

สิ่งสำคัญของโบราณสถานแห่งนี้คือ การพิสูจน์ชั้นดินที่ทับถมมาหลายร้อยปี.. ที่แสดงถึงความเป็นหลักฐานอ้างอิงในแต่ละช่วงสมัย.. โดยเมื่อขุดค้นอย่างถูกวิธีทางโบราณคดี จึงได้เห็นความอัศจรรย์ของร่องรอยประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติอีกหน้าหนึ่ง... ที่ชักนำไปสู่การเชื่อมโยงกับความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาในสมัย ราชวงศ์โมริยะ (สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช) ราชวงศ์กุษาณะ (สมัยพระเจ้ากนิษกะมหาราช).. ในประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒-๓ และ ๖-๗.. เป็นต้น.... ดังที่นักโบราณคดีชาวอิตาลีได้บันทึกไว้ว่า... “ช่วงแรกของพุทธศาสนาที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นช่วงเวลา ๒๐๐ ปีก่อนคริสตกาล สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช และในช่วงที่สองคือ สมัยของพระเจ้ากนิษกะ (Kaniskha) แห่งราชวงศ์กุษาณะ ผู้ครองดินแดนช่วง ค.ศ.๑๐๐ ทั้งสองยุคนี้นับเป็นยุคทองของพุทธศาสนาบนดินแดนแห่งนี้... จึงได้เห็นการทับซ้อนกันของการใช้พื้นที่ไปในแต่ละยุค.. แต่ละสมัย ดังปรากฏให้เห็นหลักฐานจากชั้นดินเหล่านี้.. ที่ Barikot .. ตามที่นักโบราณคดีชาวอิตาลีได้ขุดค้นพิสูจน์.. ที่แสดงหลักฐานชี้ให้เห็นบางบริเวณที่ถูกเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปตามกาลเวลา.. อันแสดงถึงการใช้พื้นที่นี้อย่างเข้มข้นต่อเนื่องมายาวนานนับพันปี...”

เสร็จสิ้นจากพื้นที่ด้านล่าง .. ที่ปรากฏเป็นรูปผังเมืองขนาดใหญ่ที่รองรับผู้คนมากมาย พร้อมระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานโลกสมัยนั้นแล้ว.. หลวงพ่อพระอาจารย์อารยวังโสและคณะนักโบราณคดีฯ ปากีสถาน จึงได้ขึ้นไปทัศนศึกษาพื้นที่บริเวณต่อเนื่องทางด้านบน.. ที่กองโบราณคดีของรัฐบาลแห่งไคเบอร์ปัคตุนควา (Khyber Pakhtunkhwa) ได้เวนคืนที่ดินบริเวณดังกล่าวจากประชาชนในท้องถิ่นที่เข้าไปถือครอง ซึ่งจากการตรวจสอบทางโบราณคดีในเบื้องต้นพบว่า.. เป็นพื้นที่โบราณสถานทางพุทธศาสนาที่มีทั้งสถูปและวิหาร.. เป็นร่องรอยรากฐานปรากฏอยู่ในชั้นใต้ดิน เมื่อต้องขุดลึกลงไปในระดับ ๓-๔ เมตรตามหลักโบราณคดี.. โดยตรวจสอบอายุของโบราณสถานดังกล่าวพบว่า.. น่าจะมีอายุกว่า ๒,๐๐๐ ปี หากเป็นเช่นนั้น.. โบราณสถานของพุทธศาสนาใน Barikot .. แห่งนี้ จะเป็นมหาวิหารของพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่ง จากที่เคยมีการค้นพบมาในดินแดนที่ศาสนาพุทธเคยรุ่งเรืองในหุบเขาสวัต (Swat Valley) .. แห่งนี้ ..คณะโบราณคดีจากอิตาลีและปากีสถานซึ่งได้สรุปความเห็นจากหลักฐานที่พิสูจน์ทางโบราณคดี ตรงกันว่า.. “มหาวิหารพุทธศาสนาที่อยู่ในพื้นที่ Barikot น่าจะสร้างขึ้นหลังจากพระโคตมพุทธเจ้า.. ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันของศาสนาพุทธได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปราว ๒–๓ ร้อยปี (ราวพ.ศ.๒๐๐-๓๐๐) .. หรือประมาณช่วงกลางของศตวรรษที่ ๒ ก่อนคริสตกาล.. อย่างแน่นอน...”... (ติดตามอ่านตอนต่อไป).

เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..

รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ

เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก

คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!

เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย

ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?

การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก