ประเทศไทยมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ วัดจึงเป็นสถานที่สำคัญในการดำเนินกิจการของพระสงฆ์และเป็นที่ประกอบกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับประชาชนทั้งทางด้านศาสนา การศึกษา วัฒนธรรม และสังคม ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันวัดจึงกลายเป็นศูนย์กลางของสังคม เป็นที่รวมจิตใจของประชาชน เป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับคุณภาพชีวิตการดำรงชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในสังคม ทั้งยังเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคม
วัดจึงถือเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร และจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ประโยชน์แก่ส่วนรวม ดังนั้นในการดำเนินการของวัด จึงมีกฎหมายและข้อบังคับของภาครัฐกำกับ และมีคณะกรรมการที่มาร่วมกันทำงานโดยสมัครใจ เพื่อให้การปฏิบัติศาสนกิจเป็นไปด้วยความเรียบร้อย วัดจึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่ดี มีธรรมาภิบาล เพื่อให้เป็นที่ยอมรับ และสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้เกี่ยวข้อง และประชาชนในประเทศ
ตามแนวปฏิบัติด้านธรรมาภิบาลขององค์กรไม่แสวงหากำไร คณะกรรมการและผู้บริหารองค์กรจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ระมัดระวัง รอบคอบ โปร่งใส และตรวจสอบได้ ซึ่งเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้การบริหารจัดการวัดเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล คือ การจัดทำบัญชีและการควบคุมภายใน
การจัดทำบัญชี เป็นเครื่องมือสากลที่ทุกองค์กรทั้งแสวงหากำไรและไม่แสวงหากำไรจำเป็นต้องทำ เพื่อใช้ในการบันทึกรายการค้าที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการภายในองค์กร จำแนก และสรุปผลเพื่อใช้ในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ อาทิเช่น การควบคุมและดูแลสินทรัพย์ขององค์กรให้สูญหาย การวางแผนและบริหารทรัพยากรที่มีเพื่อความอยู่รอดขององค์กรในอนาคต
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจึงกำหนดให้ วัดต้องจัดทำบัญชีเพื่อให้ทราบฐานะการเงิน รายรับ-รายจ่าย และทรัพย์สินของวัด และเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการ ควบคุมภายใน และตรวจสอบได้ และให้วัดจัดทำบัญชีตามรูปแบบที่กำหนดไว้ในคู่มือไวยาวัจกร ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และให้วัดถือปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2 พ.ศ. 2511 ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ข้อ 6 กำไนดไว้ว่า “ให้เจ้าอาวาสจัดให้ไวยาวัจกร หรือผู้จัดประโยชน์ของวัดซึ่งเจ้าอาวาสแต่งตั้งทำบัญชีรับจ่ายเงินของวัด และเมื่อสิ้นปีปฏิทินให้ทำบัญชีเงินรับจ่ายและคงเหลือ ทั้งนี้ให้เจ้าอาวางตรวจดูแลให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและถูกต้อง” (สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม, 2558) จากข้อบังคับดังกล่าว เจ้าอาวาสวัดจึงมีหน้าที่จัดให้มีการทำบัญชี และจัดส่งบัญชีให้กับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นประจำทุกปี
แม้จะมีข้อบังคับให้วัดจัดทำบัญชีตามที่กล่าวมาข้างต้น จากผลการวิจัยของ ณดา จันทร์สม (2555) ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวัฒน์ (2552) พีรณัฐ์ ยาทิพย์ และกรรณิการ์ จะกอ (2554) และนฤพนธ์ เมืองจันทร์ และศิวัช ศรีโภคางกุล (2562) พบว่า ยังมีวัดจำนวนมากที่ไม่จัดทำบัญชี ไม่ทราบว่ามีการให้จัดทำบัญชี ไม่มีการตรวจสอบบัญชี บางวัดจัดทำบัญชีกันเองโดยไม่ได้จัดทำตามรูปแบบที่กำหนด นอกจากนี้บางวัดไม่มีการแบ่งแยกหน้าที่กันระหว่างผู้ดูแลทรัพย์สินกับผู้จัดทำบัญชี และเจ้าอาวาสแต่งตั้งเครือญาติที่ไม่มีความรู้ความสามารถมาทำหน้าที่ไวยาวัจกร จึงนำไปสู่ปัญหาความไม่โปร่งใสของการทำบัญชี และการบริหารกิจการในวัด
ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการทำบัญชีของวัด คือผู้ที่มีหน้าที่ทำบัญชีของวัดส่วนใหญ่ขาดความรู้ความชำนาญและไม่เข้าใจในการปฏิบัติงานด้านบัญชี ทำให้บันทึกข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่มีการตรวจสอบเอกสาร เอกสารสูญหาย ไม่แยกสมุดบัญชี จึงไม่สามารถจัดทำรายงานยอดคงเหลือ ณ วันสิ้นปีได้ (ธัญลักษณ์ ลีลาตระกูล, 2556) อีกปัจจัย รูปแบบการบันทึกบัญชีที่กำหนดตามคู่มือไวยาวัจกรที่ไม่ยืดหยุ่น ทุกวัดจะต้องปฏิบัติเหมือนกัน แต่ในความเป็นจริง วัดมีขนาด จำนวนพระสงฆ์ ทรัพย์สิน แหล่งที่มาของรายได้ จำนวนเงินเข้าออก จำนวนคณะกรรมการวัดที่แตกต่างกัน การกำหนดรูปแบบการบันทึกบัญชีที่ตายตัว ย่อมทำให้วัดขนาดเล็กที่มีรายรับเพียงไม่กี่รายการต่อเดือนปฏิบัติตามได้ยากเมื่อเทียบกับวัดขนาดใหญ่ (เธียรชัย เสาสามา และปวีนา กองจันทร์, 2563) นอกจากนี้การบันทึกบัญชีที่ให้วัดจัดทำเป็นรูปแบบตามหลักการบัญชี วัดจะต้องทำ 1. สมุดเงินสด 2. สมุดเงินฝากธนาคาร 3. สมุดบัญชีแยกประเภท 4. สมุดบัญชีรายรับรายจ่าย 5. เล่
มงบปีแสดงรายรับ รายจ่าย และเงินคงเหลือ ทำให้บุคคลทั่วไปที่ไม่มีความรู้ความชำนาญในงานบัญชีปฏิบัติตามได้ยาก หากเราไม่ยึดติดกับรูปแบบ และให้ความสำคัญกับเป้าหมายของการทำบัญชี คือ การมีข้อมูลที่เพียงพอสำหรับการบริหารจัดการวัด รูปแบบการบันทึกบัญชีอาจปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติได้
ทั้งนี้ มหาเถรสมาคมไม่ได้นิ่งนอนใจ มีกำหนดมาตรการในการส่งเสริมและกำกับติดตามการจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายของวัด ตามมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 18/2558 โดยจัดให้มีการอบรมไวยวัจกร ถวายคำแนะนำให้ความรู้แก่เจ้าอาวาสวัด และจัดพิมพ์หนังสือคู่มือการจัดการศาสนสมบัติของวัด และกำหนดเป้าหมายว่าจะมีการรายงานครบทุกวัดทั่วประเทศ ภายในระยะเวลา 5 ปี (สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม, 2558) นอกจากนี้เมื่อ ปี 2560 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการพัฒนารูปแบบบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างง่าย เหมือนกับบัญชีครัวเรือน และเสนอต่อที่ประชุมเถรสมาคม เพื่อให้วัดสามารถจัดทำรายงานการเงินที่ถูกต้องและครบถ้วนได้จริง ซึ่งประกอบด้วย 6 ส่วน ได้แก่ 1. สมุดบัญชีรายรับรายจ่ายรายวัน 2. สมุดบัญชีเงินฝาก 3. สมุดบัญชีแยกรายรับ 4. สมุดบัญชีแยกรายจ่าย 5. สมุดบัญชีงบประจำปี และ 6. รายงานงบประจำปี
การปรับเปลี่ยนครั้งนี้แสดงให้เห็นการปรับตัวของภาครัฐที่เข้าใจภาคประชาชนมากขึ้น เชื่อว่า การจัดทำบัญชีของวัดไม่นานเกินรอ วัดในประเทศกว่า 4 หมื่นแห่งจะสามารถจัดทำบัญชีได้อย่างครบถ้วนอย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้ ภาครัฐควรให้คำแนะนำเกี่ยวกับระบบการควบคุมภายในควบคู่ไปกับการกำหนดให้วัดจัดทำบัญชีเพียงอย่างเดียว เพราะหากขาดการควบคุมภายในที่ดีแล้ว ข้อมูลที่ได้จากการบันทึกบัญชีก็อาจเป็นข้อมูลเท็จได้เช่นกัน นอกจากนี้ ในยุคดิจิตอลที่ทุกคนมีมือถือและสามารถเข้าถึงการสื่อสารแบบไร้สายได้ ภาครัฐอาจนำเทคโนโลยีดิจตอลเข้ามาช่วยให้การบันทึกบัญชีของวัดกลายเป็นเรื่องง่ายและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นได้
ผศ.ดร.ปวีนา กองจันทร์
กลุ่มวิชาบัญชี คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สายแคมป์ปิ้งห้ามพลาด เช็กจุดกางเต็นท์ฟรี 37 จุดทั่วประเทศไทยช่วงปีใหม่
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลมุ่งสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน
รัฐบาลตีปี๊บแถลงผลงาน 90 วัน 12 ธ.ค. มั่นใจประเทศไทยไปได้สวย
รัฐบาลแถลงผลงาน 90 วัน “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง“ พฤหัสนี้ มั่นใจประเทศไทยไปได้สวย หลังพบทุกมิติของประเทศคึกคัก คาดจีดีพีปีหน้าเติบโตสู้ประเทศในอาเซียนได้แน่
ไทยบนเส้นทาง Data Center Hub: ปลดล็อคศักยภาพ สู่ "Digital Thailand" อย่างยั่งยืน
ปี 2567 นับเป็นปีแห่งจุดเปลี่ยนสำคัญบนแผนที่ Data Center โลก เมื่อยักษ์ใหญ่สายเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น AWS, Microsoft, Google ต่างประกาศลงทุนสร้าง Data Center ในประเทศไทย
ผู้สูงอายุไทยหลังเกษียณงานอายุ 60 ยังมีโอกาสทำงานต่อไปได้อีกกี่ปี?
ในปีพ.ศ. 2567 นี้ ประเทศไทยได้กลายเป็นสังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ประชากรคนไทยทั้งหมด 100 คน จะมีผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 20 คน และผู้สูงอายุเหล่านี้จะมีอายุขัยหรือชีวิตยืนยาวไป อีกประมาณ 21 ปี ช่วงชีวิตที่ยืนยาวต่อไปนี้