ชุดความคิด-นัยระหว่างบรรทัด รธน.มาตรา 158 'บิ๊กตู่' อยู่หรือไป?

      การเมืองไทยเข้าสู่โหมดระทึกเร้าใจ หลังที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันพุธที่ 24 สิงหาคม ที่ผ่านมา มีมติรับคำร้องที่ ส.ส.ฝ่ายค้านยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา  158 พร้อมกับมีมติด้วยเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 มีคำสั่งให้ พลเอกประยุทธ์หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่การเป็นนายกรัฐมนตรี จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยในคดีดังกล่าว ส่งผลให้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ขึ้นมารักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีได้หลายวันแล้ว

      ศาสตราจารย์ ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 หรือ กรธ. และอดีตรองอธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ให้มุมมองความเห็นต่อปัญหาข้อกฎหมายในคำร้องคดีดังกล่าว โดยเฉพาะกรณีการประชุมของ กรธ.ที่ปรากฏเป็นบันทึกการประชุมที่มีการแสดงความเห็นเรื่องมาตรา 158 ที่มี กรธ.บางคน แสดงความเห็นให้นับย้อนหลังไปถึงการเป็นนายกรัฐมนตรีก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญด้วย รวมถึงคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาข้างต้น

      เริ่มที่ ชาติชาย อดีต กรธ. บอกว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้วินิจฉัย อีกทั้งมีคำสั่งให้พลเอกประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ช่วยลดอุณหภูมิความร้อนทางการเมืองลง หลังจากนี้สังคมจะได้สดับตรับฟังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะว่าอย่างไรกับคำร้องคดีดังกล่าว ก็ถือว่าชอบแล้วที่ศาลสั่งดังกล่าว เพราะเป็นประเด็นที่ปรากฏอยู่ในคำร้องของผู้ร้องด้วย เพราะหากไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แล้วเกิดว่าในอนาคตถ้าเกิดหากศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่าพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อไม่ได้หลัง 24  สิงหาคม โดยที่ไม่ได้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แล้วเกิดพลเอกประยุทธ์ไปสั่งราชการอะไร ก็อาจจะเกิดปัญหาทางกฎหมายตามมา จะยุ่งไปอีก ก็ตัดปัญหาเสีย หลังจากนี้พลเอกประยุทธ์ก็ทำหนังสือชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญไปตามที่ศาลสั่งภายใน 15 วัน ดูแล้วก็เป็นไปตามขั้นตอนและตามครรลอง ขอให้แต่ละฝ่ายอดทนรอคำวินิจฉัยที่จะออกมา  เพราะศาลรัฐธรรมนูญมี 9 คน แต่ละคนต้องมีเหตุมีผล จะมาเขียนอะไรที่โฉ่งฉ่างคงเป็นไปไม่ได้ และผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็ต้องแล้วแต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

      เมื่อถามถึงเรื่องบันทึกการประชุมของ กรธ.ครั้งที่ 500 ในเรื่องมาตรา 158 ซึ่งประชุมกันวันที่ 7 กันยายน  2561 ที่เป็นหนึ่งในประเด็นที่ฝ่ายค้านนำไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะมี กรธ.บางคนแสดงความเห็นว่าให้นับย้อนหลังไปถึงการเป็นนายกฯ ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วย เรื่องนี้ ดร.ชาติชาย อดีต กรธ. เล่ารายละเอียดไว้ว่า การประชุมดังกล่าวของ กรธ.เกิดขึ้นหลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เพราะเห็นว่าควรทำเอกสารที่จะเป็นหลักฐานว่ารัฐธรรมนูญแต่ละมาตราที่ กรธ.ยกร่างขึ้นมา และผ่านการทำประชามติมาแล้ว มีความหมายหรือว่ามีความมุ่งหมายว่าอย่างไรในแต่ละมาตรา

      สิ่งนี้คือความตั้งใจของ กรธ. ทาง กรธ.จึงตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุดเพื่อทำการร่างคำอธิบายรายมาตราของรัฐธรรมนูญปี 2560 จนครบ 279 มาตรา    จากนั้นคณะอนุกรรมการก็มาเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ กรธ. ทางที่ประชุมใหญ่ กรธ.ก็ใช้วิธีให้คณะอนุกรรมการคณะดังกล่าวรายงานต่อที่ประชุม กรธ.ว่าแต่ละมาตราในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าอย่างไร มีความมุ่งหมายเป็นอย่างไร  มีการอธิบายที่ชัดเจนหรือไม่ โดยเป็นการประชุมแบบนับต่อเนื่องตั้งแต่ประชุมครั้งแรกของ กรธ. จึงปรากฏออกมาว่าเป็นการประชุมนัดที่ห้าร้อย แต่การประชุมลักษณะดังกล่าวทำการประชุมกันไม่กี่ครั้ง เพราะว่าการดำเนินการประชุมดำเนินไปอย่างรวดเร็วเพราะ กรธ.แต่ละคนอ่านเอกสารมาล่วงหน้าแล้ว

      ดร.ชาติชาย อดีต กรธ. กล่าวอีกว่า ลักษณะการประชุม กรธ.ดังกล่าวได้ดำเนินไปโดยอนุกรรมการ ก็จะรายงานร่างคำอธิบายรายมาตราของรัฐธรรมนูญปี 2560  แต่ละมาตรา จากนั้นก็มีการถามกันในที่ประชุม กรธ.คณะใหญ่ว่ามีใครเห็นแตกต่างจากที่เขียนไว้หรือไม่ จะมีการให้แก้ไขอะไรหรือไม่ ซึ่งบางมาตราก็ไม่มีใครเห็นแตกต่าง  บางมาตราก็มีคนถามเพื่อความชัดเจน ว่าที่เขียนไว้แบบนี้ บางทีอาจยังไม่ครอบคลุม ก็เสนอความเห็นเช่นควรเขียนแบบนี้ดีหรือไม่ ขอให้มีการเติมเพิ่มเข้าไป บางคนเคยมีประสบการณ์มาก่อนก็เสนอว่า บทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องลักษณะดังกล่าว รัฐธรรมนูญในอดีตก็เคยเขียนไว้เช่นกัน  ก็เสนอว่าควรให้เขียนบ่งบอกไว้ คนอ่านจะได้รู้ประวัติว่า มันไม่ได้เพิ่งเกิดมีการเขียนเป็นครั้งแรก แต่มันมาจากรัฐธรรมนูญหลายฉบับก่อนหน้านี้

      ...ระหว่างนั้นก็มีการคุยกัน โดยเฉพาะเมื่อมาถึงมาตรา 158 ซึ่งผู้ที่อธิบายเรื่องมาตรา 158 ก็อธิบายหลักของกฎหมายเรื่องความมุ่งหมาย ที่บอกว่ามันเป็นเรื่องของความต่อเนื่อง เพราะตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2550 ก็มีการบัญญัติไว้แบบนี้ แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 มีข้อแตกต่างคือ การเป็นนายกรัฐมนตรีให้นับรวมไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีติดต่อกันหรือไม่ติดต่อกันก็ตาม แต่ทั้งชีวิตของคุณได้แปดปี ตอนนั้นก็มีการคุยและถามกันว่าเพราะอะไร  เขาก็บอกว่าเพื่อ ป้องกันไม่ให้มีการผูกขาดการมีอำนาจ เพราะว่าบ้านเราถ้ามีการผูกขาดเมื่อใด คนไทยเบื่อ แล้วการเมืองไทยก็ประเภทไม่อดทน ใจร้อน ไม่รอเวลา กฎหมายว่าอย่างไรก็ไม่รู้ แต่หากไม่ถูกใจก็จะต้องหาเรื่องไล่ให้จนได้ จนนำไปสู่การทะเลาะ ความขัดแย้งทางการเมือง ก็เลยมีการเขียนไว้ว่าเพื่อป้องกันไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งมาผูกขาด อยู่ยาว บ้านเมืองจะมีปัญหา จะไม่สงบ

...เราคุยกันว่า อย่างประเทศเพื่อนบ้านเรา อย่างที่กัมพูชา สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่อยู่มา 30 กว่าปี แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะสงบ มีฝ่ายไม่เห็นด้วย มันก็ไม่ถูก เพราะยิ่งอยู่นานก็ยิ่งครอบงำ มีอะไรต่างๆ มันไม่ใช่ประชาธิปไตย ที่หากไปดูประชาธิปไตยที่อื่น เขากำหนดเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งไว้เหมือนกัน หรือหากไม่กำหนด เขาก็กำหนดไว้เป็นบรรทัดฐานทางวัฒนธรรม

...อย่าง กรธ.ได้เคยคุยกันว่า ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา โธมัส เจฟเฟอร์สัน เป็นประธานาธิบดีมาแล้วสองสมัย พอจะถึงช่วงหมดสมัยมีคนมาชวนให้ลงสมัครต่อเป็นสมัยที่สาม แต่เขาบอกว่าไม่เอาแล้ว ถ้าอยู่ต่อ จะเป็นเผด็จการแล้ว ไม่ใช่ประชาธิปไตย แม้ตอนนั้นก็ยังไม่มีการเขียนเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไว้เลย เพิ่งมาเขียนทีหลังที่ห้ามเป็นสองวาระ ก็เพราะเจฟเฟอร์สันสร้างบรรทัดฐานไว้ ทาง กรธ.เรายังเคยคุยกันเรื่องนี้ในที่ประชุมผมยังจำได้ โดยที่ตอนยกร่างมาตรา 158 ทาง กรธ.เลยเขียนเรื่องนี้กันไว้ ซึ่งเวลานั้นก็ยังไม่รู้ว่าใครจะอยู่ถึงแปดปี

...เป็นเพียงแค่บันทึกประชุม ไม่ใช่มติของ กรธ. เพราะฉะนั้น ใครเอาไปอ้างอะไรก็รับผิดชอบกันเอาเองแล้วกัน...มาตรา 158 สี่วรรคที่อยู่ด้วยกันในมาตราดังกล่าว ถูกผูกกันเป็นองค์รวม เพราะถ้าไม่อย่างนั้น ก็ไปเขียนแยกออกไปเป็นคนละมาตราไปเลยไม่ดีหรือ ทำไม กรธ.ถึงเขียนให้มารวมกันในมาตราเดียว เหตุก็เพราะต้องการให้รวมกันเป็นชุดของความคิด เพราะรัฐธรรมนูญแต่ละมาตรา ถ้าไปดูจะเห็นได้ว่าจะเป็นชุดความคิดแต่ละชุด การตีความกฎหมายต้องอ่านเชื่อมโยงระหว่างวรรคในมาตราหนึ่งและระหว่างมาตราด้วยกันเพื่อให้เห็นภาพ

ที่มา-ที่ไป เบื้องหน้า-เบื้องหลัง

กรธ.ถกแปดปี ให้นับจากไหน

      ที่น่าสนใจ ดร.ชาติชาย อดีต กรธ. บอกเล่าไว้ว่า  การประชุมของ กรธ.นอกรอบเราก็มีการหารือกัน โดยมีการยกตัวอย่างเล่นๆ ว่า ถ้าเขียนแบบนี้ในมาตรา 158  แล้วจะให้เริ่มนับตั้งแต่เมื่อไหร่ นับยังไง ก็มีคนยกว่าถ้าเป็นนายกฯ ประยุทธ์จะนับเมื่อไหร่ แบบนี้เป็นต้น ก็มีการยกตัวอย่างกัน คนนั้นก็พูดคนนี้ก็พูด ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่า กรธ.เห็นด้วยกันหมด หลายคนที่เน้นเรื่องหลักกฎหมายปกครองก็บอกว่าต้องเริ่มนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560  ประกาศใช้ เพราะหากไปนับย้อนหลัง หลักกฎหมายปกครองย้อนหลังไม่ได้ ถ้าเป็นคุณย้อนหลังได้ แต่หากเป็นโทษย้อนหลังไม่ได้ ก็มีคนพูดว่าตอนยกร่างรัฐธรรมนูญมาตรานี้ พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2557 ที่เราก็ไม่รู้ว่าท่านจะอยู่ต่อหรือไม่ เพราะมันยังไม่มีการเลือกตั้งเลย ยังไม่ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วยซ้ำ แล้วจะนับกันอย่างไรดี

      ...ก็มีคนพูดว่าก็ให้นับตั้งแต่เริ่มเป็นนายกรัฐมนตรีตอนหลังรัฐประหารปี 2557 แต่ก็มีบางคนบอกว่าไม่ถูก  เพราะเขาไม่รู้เรื่อง ตอนนั้นเข้ามาปี 2557 แต่รัฐธรรมนูญมาออกตอนปี 2560 จะให้ย้อนหลังไปบังคับใช้ปี 2557 มันก็ไม่ยุติธรรม เพราะตามหลักกฎหมาย บังคับใช้เมื่อไหร่ก็มีผลสภาพบังคับใช้ตั้งแต่ตอนนั้น ก็อาจจะนับตั้งแต่ปี 2560  ช่วงเดือนเมษายนที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ หรือจะมานับเอาตามตัวหนังสือเลยตามมาตรา 158 ที่หากไปดูก็คือหลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ก็มีคนบอกว่าหากจะอ่านต้องอ่านให้ครบทุกวรรค เพราะว่ามาตรา 158 เป็นชุดความคิดใหม่ ที่เอา 159 มาเขียนว่านายกรัฐมนตรีตามมาตรานี้ ต้องมาจากการเลือกของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นการเลือกนายกรัฐมนตรีซึ่งไม่เหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ เพราะให้เลือกจากเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งในช่วงการเลือกตั้ง เมื่อมันมาล็อกไว้แบบนี้ มีคนบอกว่ามันต้องอ่านครบทุกวรรค แล้วก็ต้องตีความครบทุกวรรค

      "เพราะว่าเจตนาก็คือ หากต้องการบังคับใช้แปดปี ก็ต้องเป็นแปดปีที่มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 คือได้รับการโปรดเกล้าฯ ตามมาตรา 159 ทาง กรธ.เราถกกันแค่นี้ และสุดท้ายก็ไม่มีอะไร เพราะว่าฝ่ายเลขานุการเขาเห็น กรธ.พูดกันไปพูดกันมาเยอะ เขาก็คงจดอะไรได้บ้างไม่ได้บ้าง  ซึ่งหากจะอ่านจริงๆ ก็ต้องไปอ่านในความมุ่งหมาย  ซึ่งเป็นเอกสารที่เป็นทางการนำเสนอตีพิมพ์สู่สาธารณะ บันทึกประชุมเป็นเพียงแค่บันทึกประชุม ที่ก็เขียนไว้อยู่แล้วว่าเป็นเพียงแค่บันทึกการประชุม ไม่ใช่มติของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น ใครเอาไปอ้างอะไรก็รับผิดชอบกันเอาเองแล้วกัน"

      ...เพราะจะเห็นได้ว่าในมาตรา 158 ได้อธิบายไว้ว่า แต่ละวรรคหมายถึงอะไร แต่ไม่ได้มีการเขียนไว้ว่าแปดปีให้นับอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้เราคุยกันว่าสุดท้าย หากจะเกิดเหตุการณ์อะไรก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะจะให้ไปเขียนว่าการเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกินแปดปี ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ซึ่งจะไปเขียนแบบนั้นมันก็ไม่สมควรจะเขียน เพราะหลักกฎหมายมันชัดอยู่ในตัวมันแล้วว่า ประกาศใช้เมื่อไหร่ก็ต้องบังคับใช้ตั้งแต่วันนั้น จะไปเขียนให้มันเปลืองกระดาษ  เขียนให้มันเป็นที่อับอายเขาทำไมว่ายังต้องเขียนแบบนี้อีกทำไม กรธ.ก็เลยไม่ได้เขียน แต่ก็มีคนคิดเหมือนกันว่า ทำไมไม่เขียนไว้ว่าแปดปีให้นับตั้งแต่เมื่อไหร่ เราก็บอกว่าจะเขียนทำไม ก็มันเป็นสิ่งที่เขียนในกฎหมายฉบับใหม่ มันก็ต้องเริ่มบังคับตั้งแต่เริ่มใช้กฎหมายฉบับใหม่ เพราะหากในบทเฉพาะกาลไปเขียนว่า ความในมาตรา 158 ให้นับไปด้วยก่อนหน้านี้ ถ้ามีการเขียนไว้มันก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่บทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้เขียนไว้

 เพราะฉะนั้นมาตรา 264 ในบทเฉพาะกาลมันเป็นเพียงแค่ หลักของความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน จึงเขียนว่าคณะรัฐมนตรีที่อยู่ก่อนหน้า คณะรัฐมนตรีที่อยู่ก่อนหน้าประกาศใช้รัฐธรรมนูญก็ให้ถือว่าเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้ เพราะนาทีซึ่งมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 คณะรัฐมนตรีที่อยู่ก่อนหน้าการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มีผลทางกฎหมายจะหมดสภาพทันที หากไม่เขียนไว้แบบนี้ บ้านเมืองก็จะเป็นสุญญากาศ ไม่มีใครบริหาร ก็ต้องกลับไปสภา  กลับไปตามหาเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ต้องไปหาคณะรัฐมนตรีชุดใหม่กันหรือ ที่แบบนั้นขั้นตอนต้องใช้เวลาอีกนานเป็นสัปดาห์

      "ดังนั้น บทเฉพาะกาลจึงต้องเขียนไว้แบบนั้น เพื่อให้การบริหารงานมันต่อกันเท่านั้นเอง แต่ก็มีคนไปตะแบงตีความว่านี้ไง มาตรา 264 เขียนไว้ว่า ครม.ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ให้ถือเป็น ครม.ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ด้วย ดังนั้น ครม.ที่มีพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ มีมาตั้งแต่ปี 2557  แล้ว จึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันนั้น ซึ่งยืนยันว่ามันไม่ใช่ มันคนละหลัก คนละตอนกัน"

      ...อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ท้ายที่สุดก็ต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ มาตรา 158 ว่าจะให้เริ่มนับจากวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ หรือจะเริ่มนับหลังเข้ามาตอนหลังเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก 9 มิถุนายน 2562 ทั้งหมดก็อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตีความ

บันทึกประชุม กรธ.นำไปอ้างไม่ได้

มีคนพูดเยอะแต่ไม่ถูกจด

        -เหตุใดเอกสารดังกล่าวถึงมีแค่ กรธ.สองคนที่แสดงความเห็นคือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ กับนายสุพจน์  ไข่มุกด์ ไม่มีคนอื่นให้ความเห็นอะไร?

      ผมถึงบอกไงว่ามันเป็นการคุยกัน ในลักษณะการหารือแล้วก็จดบันทึกเฉยๆ ไม่ได้เป็นมติ แล้วก็คุยกันหลายคน มีคนนั้นก็พูด อีกคนก็พูด เจ้าหน้าที่่ฝ่ายเลขานุการเขาจดไม่ทัน ก็ใส่แต่เฉพาะหลักๆ เอกสารนั้นนำมาเป็นหลักฐานไม่ได้ เพราะเขาเขียนไว้อยู่แล้วว่าไม่ใช่มติ มันเป็นความเห็น และเป็นความเห็นส่วนบุคคลเท่านั้น ที่เขาจดมาเฉพาะบางคนเท่านั้น ผมเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่นำมาดู  เพราะดูหน้าปกก็รู้อยู่แล้วว่ามันไม่ใช่มติ จะอ้างไม่ได้ กรธ.ไม่เคยมีมติให้มาตรา 158 นับย้อนหลัง มีแค่การหารือกันว่าจะให้นับย้อนไปแบบนั้นได้หรือไม่ แบบนี้ได้หรือไม่ แล้วฝ่ายเลขาฯ ก็ไปจดคำพูดคนแค่ 1-2 คน อย่าง ดร.อุดม รัฐอมฤต อดีต กรธ.ก็พูดชัดว่ามันไม่ใช่ เพราะเขาสอนกฎหมายปกครองมา เพราะหากนับแบบนั้นก็ตาย

 ผมยังจำได้ที่ ดร.อุดม รัฐอมฤตบอก ที่บอกว่าหากนับแบบนั้นก็ต้องมีผลไปถึงอดีตนายกรัฐมนตรีอย่าง คุณชวน หลีกภัย, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แล้วมันจะแฟร์กับเขาไหม เพราะเขาเป็นนายกฯ ตั้งแต่ปีมะโว้ แล้วมาออกรัฐธรรมนูญไล่หลังโดยให้ไปนับปีการเป็นนายกฯ ของเขา ไปจำกัดสิทธิ์เขา อย่างคุณชวน หลีกภัย เกิดสมมุติหากมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แบบนี้หากนับกันย้อนหลังก็เท่ากับจะเหลือเวลาอีกไม่เท่าไหร่ มันจึงไม่แฟร์หากจะไปนับย้อนหลัง ตอนประชุม กรธ.นัดที่ 500 ดังกล่าวก็มี กรธ.บางคนแสดงความเห็นไว้ว่า ไม่ให้นับย้อนหลังไปถึงก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 แต่ฝ่ายเลขาฯ เขาไม่ได้จด  เพราะก็มีคนเห็นอย่างหนึ่ง บางคนก็เห็นอีกแบบ เจ้าหน้าที่คงเวียนหัวเลยจดไม่ทัน เพราะตอนนั้นมันไม่มีการจดชวเลขแล้ว เพราะมันไม่ใช่การประชุมแบบยกร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. แต่เป็นการประชุมเพื่อกลั่นกรองความมุ่งหมาย แล้วก็พูดประกอบกันไป

        -แต่ฝ่ายค้านที่ยื่นคำร้องไปก็อ้างเรื่องบันทึกการประชุมดังกล่าวของ กรธ. ซ้ำบอกว่ามีน้ำหนักมาก?

      ผมก็ไม่ใช่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตุลาการจะคิดอย่างไรก็เป็นเรื่องของท่าน แต่ผมเองในฐานะที่เป็นคนจากสายนักวิชาการ ผมว่ามันไม่ใช่ เพราะมันไม่ใช่มติ เมื่อมันไม่ใช่มติ แล้วจะมาทึกทักว่าเป็นความเห็นของ กรธ.ไม่ได้  เพราะว่ามันไม่ใช่ความเห็นขององค์คณะ เป็นแค่ความเห็นของกรรมการบางคนเฉยๆ เพราะฉะนั้นถ้าจะถามว่า กรธ.เคยมีมติหรือไม่ ว่าการนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้นับตั้งแต่เมื่อใด ก็ต้องตอบว่า กรธ.ไม่เคยมีเลย  เพราะเราถือหลักว่าเราร่างรัฐธรรมนูญไปแล้ว เรามีหน้าที่ร่าง เราไม่ได้มีหน้าที่ตีความหรือวินิจฉัย คนที่มีหน้าที่วินิจฉัยคือศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นสถาบัน เป็นกลไกหลักที่เรากำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว

แปดปีบิ๊กตู่ ต้องนับหลังเลือกตั้ง

        -ความเห็นส่วนตัวมองว่ามาตรา 158 กับตัวพลเอกประยุทธ์ ควรนับตั้งแต่เมื่อใด?

      ในความเห็นของผม เห็นว่านับตั้งแต่ 9 มิถุนายน  2562 เพราะว่าวรรคสองของมาตรา 158 มันล็อกไว้ว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจากบุคคลซึ่งสภาเห็นชอบตามมาตรา 159 และวรรคสุดท้ายบอกว่า "นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตําแหน่ง" ดังนั้นในมาตรา 158 สี่วรรคที่อยู่ด้วยกันในมาตราดังกล่าว ถูกผูกกันเป็นองค์รวม เพราะถ้าไม่อย่างนั้น ก็ไปเขียนแยกออกไปเป็นคนละมาตราไปเลยไม่ดีหรือ ทำไม กรธ.ถึงเขียนให้มารวมกันในมาตราเดียว เหตุก็เพราะต้องการให้รวมกันเป็นชุดของความคิด เพราะรัฐธรรมนูญแต่ละมาตรา ถ้าไปดูจะเห็นได้ว่าจะเป็นชุดความคิดแต่ละชุด การตีความกฎหมายต้องอ่านเชื่อมโยงระหว่างวรรคในมาตราหนึ่งและระหว่างมาตราด้วยกันเพื่อให้เห็นภาพ ถึงจะสะท้อนแนวคิดออกมาได้

        -คิดว่าผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีพลเอกประยุทธ์จะเป็นจุดพลิกจุดเปลี่ยนทางการเมืองหรือไม่?

      คิดว่าคงไม่พลิกไม่เปลี่ยนอะไร ถ้าเรายอมรับการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ แล้วก็มาดูคำวินิจฉัยกลางกับคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนกันอีกที

 หากใครเขียนอะไรมาไม่เข้าท่า ก็ไปโต้แย้งทางวิชาการด้วยเหตุและผล หากตัดสินไม่ดี ประชาชนฟังแล้วขัดต่อสำนึกที่ถูกต้อง เขาก็อยู่ไม่ได้หรอก ก็เสื่อมไปเอง อยู่ไม่ได้ ของแบบนี้ต้องอยู่ด้วยการรับฟังกันแล้วก็อดทน  แล้วใช้วิธีกดดันกันทางสังคม แต่ไม่ใช่กดดันกันทางการเมือง เช่นไปปิดถนนหรือไปจัดตั้งม็อบมาลุยกัน แบบนี้มันไม่ใช่ เพราะวันนี้คุณมาไล่ประยุทธ์ วันหน้าฝ่ายตรงข้าม เขาก็มาไล่นายกฯ ของฝ่ายคุณ คอยดู จริงไหม มันก็จะไม่จบไม่สิ้น

      ผมคิดว่าเราอยากเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ หากเราอยากมีการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย เราอยากมีสภา มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้มาทำหน้าที่ตามระบอบประชาธิปไตย เราควรที่จะอดทนรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคำร้องคดีนี้ที่จะออกมา เพราะกฎหมายก็เขียนแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ผ่านการทำประชามติมาแล้ว คุณจะชอบหรือไม่ชอบอย่างไร ก็ควรต้องเคารพคนที่เขาไปหย่อนบัตรทำประชามติที่เสียงส่วนใหญ่ผ่านประชามติ 

      ประชาธิปไตยของหลายประเทศทั่วโลก โดยพื้นฐานที่ทำให้เขาอยู่กันมาได้ อย่างที่อังกฤษ หรือสหรัฐอเมริกา ที่เราคิดว่าเป็นตัวอย่าง เขาอยู่กันได้เพราะความอดทน ความอดกลั้น การเมืองทุกประเทศมันก็คือการแย่งอำนาจกันทั้งนั้น สำหรับมนุษย์เรา ทุกคนมาลงสมัคร ส.ส. มาตั้งพรรคการเมือง ก็เพราะอยากได้อำนาจทั้งนั้น เมื่ออยากได้อำนาจก็เลยต้องต่อสู้กันทั้งในท่าทีและท่วงท่าต่างๆ ก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ว่าต้องมีขีดจำกัด อะไรที่มันเกินเลยที่จะทำให้การต่อสู้นั้นไม่อยู่ในทำนองคลองธรรม อย่างกรณีคำร้องคดีนี้ ก็ควรรอให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน.                            

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..

รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ

เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก

คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!

เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย

ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?

การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก