คำร้องคดีแปดปี-พลเอกประยุทธ์ “ศาลรธน."อย่าให้เกิดวิกฤตศรัทธา

การเมืองไทยเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ เพราะอาจเกิดจุดพลิกผันทำให้แผงอำนาจการเมืองไทยภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อาจถึงจุดเปลี่ยนสำคัญกับคำร้องคดีวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแปดปีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158  ที่ฝ่ายค้านได้เข้าชื่อกันยื่นคำร้องส่งถึงประธานสภาฯเพื่อให้ส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยต้องจับตากันว่าศาลรธน.จะรับคำร้องคดีนี้เมื่อใดและหลังรับคำร้องแล้ว ศาลจะมีคำสั่งให้พลเอกประยุทธ์ หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ 

มุมมองต่อข้อถกเถียงในปัญหาข้อกฎหมายเรื่องวาระแปดปีการเป็นนายกฯของพลเอกประยุทธ์ มีทัศนะจากนักวิชาการ-นักกฎหมายมหาชนที่มาให้มุมมองเรื่อง"การตีความเจตนารมณ์การยกร่างรัฐธรรมนูญ"บนหลักวิชาการ เพื่อชี้ให้เห็นว่ามาตรา 158 มีเจตนาอย่างไรและแนวทางการตีความควรเดินไปในทิศทางใด นั่นก็คือความเห็นจาก”รองศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์-อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์”ที่เริ่มด้วยการไล่เรียงลำดับกระบวนการตีความตามเจตนารมณ์ของการร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 158 ที่ไม่ให้เป็นนายกฯเกินแปดปีว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาของรัฐธรรมนูญ ที่มีระบบกลไกที่ค่อนข้างแปลกพิศดาร ที่บอกแบบนี้ เพราะรัฐธรรมนูญของเราไม่เหมือนกับรัฐธรรมนูญของต่างประเทศ

...อย่างเรารับเรื่อง"ระบอบของรัฐสภา"มาจากประเทศอังกฤษ ที่นายกรัฐมนตรีได้รับเลือกมาจากความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเดิมเราไม่เคยมีการจำกัดวาระของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คือหากได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ได้เสียงสนับสนุนที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ก็เข้าไปเป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่อีกระบบหนึ่งคือ"ระบบประธานาธิบดี"ที่โดยปกติแล้วระบบบประธานาธิบดีในระบอบประชาธิปไตยก็จะมีการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีไว้อย่างเช่นที่ปรากฏที่สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ที่เป็นต้นแบบ แต่ของเราเป็น"ระบบผสม"ที่ค่อนข้างแปลกประหลาดคือ รัฐธรรมนูญปี 2560 ก็เป็นนวัตกรรมใหม่ ที่ผสมกันระหว่างการมีระบบรัฐสภากับการจำกัดวาระของผู้นำฝ่ายบริหาร

...ตรงนี้เราต้องไปดูเจตนารมณ์ของการที่ต้องมีการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คืออะไร ที่ชัดเจนว่า ผู้ร่างรธน.อยากให้ระบบทั่วไปเป็นระบบสภาฯ แต่ผู้นำฝ่ายบริหารคือนายกรัฐมนตรี มีวาระการดำรงตำแหน่งที่จำกัด ที่มีการเขียนไว้ชัดเจนในบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบกับคำอธิบายรายมาตราของรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ที่เขียนไว้ว่ามาตรา 158 มีเจตนารมณ์ "เพื่อป้องกันการผูกขาดอำนาจ" คือไม่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีอยู่ในอำนาจยาวนานเกินไป

ปัญหาของเรื่องที่เกิดขึ้นก็คือว่าในมาตรา 158 เรื่องการไม่ให้เป็นนายกฯเกินแปดปี เนื่องจากบังคับใช้ช่วงเปลี่ยนผ่านเพราะพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกฯมาตั้งแต่ปี 2557 ตอนที่รัฐธรรมนูญยังไม่ได้บังคับใช้ ต่อมามีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ก็เกิดปัญหาว่าการจำกัดวาระแปดปีตามมาตรา 158 ต้องนับรวมถึงระยะเวลาการเป็นนายกฯก่อนหน้านั้นหรือไม่ ที่เป็นปัญหาที่ได้มีการอภิปรายโต้เถียงกันว่า เราจะตีความมาตรา 158 อย่างไร ที่ก็มีแนวทางการตีความหลากหลายแนว โดยมีนักกฎหมาย ผู้รู้-ผู้เชี่ยวชาญ เสนอแนวทางการตีความ ที่ผมเองและนักกฎหมายหลายคน ก็พยายามเสนอแนวทางการตีความแบบปกติที่เราเข้าใจกันโดยทั่วไปในระบบกฎหมาย

"ดร.มุนินทร์"กล่าวต่อไปว่า สำหรับหลักการทางกฎหมายหรือทฤษฎีการตีความกฎหมายมีอยู่หลายทฤษฎี แต่ทฤษฎีที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในหมู่นักนิติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นนักนิติศาสตร์ในระบบกฎหมาย civil law ซึ่งระบบกฎหมายไทยเป็น civil law หรือนักนิติศาสตร์ในระบบกฎหมาย common law ของอังกฤษ สหรัฐอเมริกา หรือระบบอื่น จะมีหลักการตีความที่เรียกกันว่า “ตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย” ที่เป็นแนวทางการตีความที่เห็นร่วมกันมากที่สุดว่า”การตีความกฎหมายตามลายลักษณ์อักษร ควรตีความโดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ ที่เป็นการตีความที่สมเหตุสมผลที่สุด” เพราะเป็นการค้นหาว่า กฎหมายเรื่องนั้นทำไมถึงเกิดขึ้นมา จะได้ใช้ให้ถูกต้อง สอดคล้องกับที่มาและวัตถุประสงค์

....หากเรายอมรับตรงกันว่า การตีความตามเจตนารมณ์คือการตีความที่เหมาะสมที่สุดในการตีความกฎหมายตามลายลักษณ์อักษร คำถามถัดไป คือเราจะไปหาเจตนารมณ์อย่างไร จะค้นหาจากที่ใด จุดนี้ นักนิติศาสตร์เห็นคล้ายกันว่าเจตนารมณ์กฎหมายมันไม่เท่ากับเจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมายเสียทีเดียว เพราะก็มีคนบอกว่า หากอยากหาเจตนารมณ์ของกฎหมายเราควรไปถาม ผู้ร่างกฎหมายไหม เช่นสมมุติว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 หากผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญเกือบทั้งหมดยังมีชีวิตอยู่ ก็ใช้วิธีไปถามความเห็นเช่นนัดประชุมผู้ร่างรัฐธรรมนูญ แล้วให้โหวตกันเลยว่ามีความเห็นอย่างไร คิดว่ากฎหมายนี้มีเจตนารมณ์อย่างไร

รายงานการประชุมกรธ.ปี61

จุดชี้ชะตาคดี"ประยุทธ์-8ปี"

"ดร.มุนินทร์"ย้ำประเด็นนี้ไว้ว่า อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับในการตีความกฎหมาย จะเห็นได้ว่าเราไม่เคยได้ยินว่าใครเคยทำแบบนี้ เพราะเรามีหลักตรงกันอยู่ว่าเจตนารมณ์ของผู้ร่าง ไม่เท่ากับเจตนารมณ์ของกฎหมาย แต่เจตนารมณ์ของผู้ร่าง จะเป็นเบาะแส เป็นตัวบ่งชี้ว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายอยู่ตรงไหน

...โดยหากเรายอมรับว่าเจตนารมณ์ของผู้ร่าง เป็นเบาะแสที่สำคัญที่จะบ่งชี้ถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย แล้วเจตนารมณ์ของผู้ร่างจะไปหาอย่างไร จะไปหาโดยนัดประชุมกันมาแล้วมีการถามกันเลยไหม คำตอบคือ เราไม่ทำกันแบบนั้น ที่นัดประชุมผู้ร่างแล้วถามความเห็น เพราะนักนิติศาสตร์ เวลาหาเจตนารมณ์ของผู้ร่าง จะต้องไปดูในรายงานการประชุม หรือบันทึกที่เขียนหรือบันทึกการสนทนา ถกเถียงหรือพูดคุยกัน ในเรื่องที่เป็นประเด็นปัญหานั้น ซึ่งหากโชคดี ก็อาจไปค้นพบว่าปัญหานั้น เคยถูกหยิบยกขึ้นมาก่อนแล้วในการประชุมตอนที่ร่างกฎหมายกัน แล้วมีการแสดงความเห็นไว้ โดยหากเราโชคดีแบบนั้น เราก็จะได้เจอเจตนารมณ์หรือได้รู้ว่าคนร่างเขาคิดอย่างไร

          ..เหตุที่เราไม่ใช้วิธีนัดประชุมคนร่างที่ยังมีชีวิตแล้วใช้วิธีการถาม มีเหตุผลเดียวเลยคือ "ผู้ร่าง ความคิดเห็นเปลี่ยนได้ตลอด" คือมนุษย์ ก็เปลี่ยนไปตามเวลา สภาพแวดล้อม ความชอบ-ไม่ชอบ อย่างมนุษย์คนเดียวกัน หากถามเมื่อสิบปีที่แล้ว ณ เวลาที่ร่าง ตอนที่ยังไม่เกิดปัญหา ไม่เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมาเลย เช่น อาจไม่รู้ว่า"ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี"หรือ "ไม่รู้ว่าพลเอกประยุทธ์จะอยู่ได้จนถึงแปดปีหรือไม่ เพราะอาจคิดว่า พลเอกประยุทธ์อยู่แค่แปดปีก็เก่งแล้ว ไม่น่าจะอยู่ถึง ก็ล็อกไว้แปดปี " หรือให้เวลาผ่านไปอีกแปดปี แล้วเราลองถามคนเดียวกันโดยที่สถานการณ์มันเปลี่ยนไปแล้ว คราวนี้พลเอกประยุทธ์อยู่ในตำแหน่ง มันเป็นไปได้เหมือนกันที่คนร่างคนนั้น อาจแสดงความเห็นไม่เหมือนเดิม คือมนุษย์เปลี่ยนความเห็นไปได้ตลอดตามสถานการณ์ ตามเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป นี้คือเหตุผลที่เราต้องดูเจตนารมณ์ของคนร่างว่าเขาคุยอะไรกันตอนร่าง เราไม่มาถามทีหลัง แต่เราต้องไปดูตอนที่เขาร่าง ว่าเขาคุยอะไรกัน เขาคิดอย่างไรตอนร่าง

"รายงานการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญคือสิ่งที่บันทึก ข้อคิดเห็นและเจตนารมณ์ของคนที่ร่างรัฐธรรมนูญ  ที่แม่นยำ ถูกต้องที่สุด ณ จุดเวลานั้น ที่เราต้องดู ณ จุดเวลานั้นอย่างเดียวเท่านั้น เพราะเป็นจุดเวลาที่ยังไม่ถูกเจือปนไปด้วยสถานการณ์ที่มันเปลี่ยนแปลงไป"

...โชคดีมากที่รายงานการประชุมของกรธ.  มีการหยิบยกปัญหานี้มาตรา 158 ที่เรากำลังเจอกันไว้ก่อนแล้ว โดยคนที่หยิบยกขึ้นมาก็คือประธานกรธ.คุณมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่หยิบยกขึ้นมาถามในที่ประชุมกรธ.เอง แล้วคุณสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธานกรธ. ก็แสดงความคิดเห็นในเชิงเห็นด้วยกับประธาน ซึ่งที่บันทึกไว้มีสองคนที่แสดงความคิดเห็น ที่ก็เพียงพอแล้วที่ได้ข้อสรุปว่ามันเคยมีการหยิบยกขึ้นมา โดยสองคนที่แสดงความเห็นก็ไปในทางเดียวกัน โดยกรธ.คนอื่นไม่ได้แสดงความคิดเห็นเลย

...แต่ก็มีคนแย้งว่า ความเห็นดังกล่าว ไม่ใช่มติของกรธ. ซึ่งนักนิติศาสตร์ที่คุ้นเคยกับการร่างกฎหมายดี อย่างผม ก็เชี่ยวชาญหรือคุ้นเคยกับการอ่านรายงานการประชุมของกรรมการผู้ร่างกฎหมายต่างๆ  พบว่าการร่างกฎหมาย จะไม่มีมติ ตราบใดที่กฎหมายไม่ได้บังคับว่าให้ต้องมีมติเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยส่วนใหญ่ ที่เจอมากสุด จะเป็นการหยิบยกปัญหาขึ้นมาในการตีความ เช่นหากกำลังร่างมาตราอะไรอยู่ แล้วเจอปัญหาว่าถ้อยคำนี้ไม่ชัดเจน หรือเกรงว่าจะมีการตีความไปได้หลายอย่างหรือไม่ คนที่ร่างกฎหมายก็จะหยิบยกเรื่องแบบนี้มาพูดคุยถกเถียงกัน แล้วก็เสนอความเห็นกัน

...ยกตัวอย่าง เช่น คนหนึ่งอาจบอกว่า ผมเสนอแบบนี้ ต้องตีความแบบ A แต่อีกคนหากไม่เห็นด้วย ก็จะแสดงความเห็นแล้วบอกว่า ไม่เห็นด้วย แต่ควรตีความแบบ B โดยหากคนอื่น หากไม่แสดงความคิดเห็นออกมาที่แตกต่าง อย่างคนที่ศึกษารายงานการประชุมของกรรมการที่ร่างกฎหมาย จะเข้าใจว่ากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เห็นแตกต่างไปจากประธานกับรองประธานกรธ.  เพราะถ้าเห็นแตกต่างก็ต้องแสดงความคิดเห็นเพื่อให้มีการบันทึกไว้ โดยจากบันทึกรายงานการประชุมของกรธ.ที่พิจารณาประเด็นปัญหาที่คุยกัน(มาตรา158)มาเปิดดู พบว่ามีแค่ประธานกับรองประธานกรธ.แสดงความคิดเห็นไว้ โดยที่กรรมการกรธ.คนอื่นไม่ได้มีข้อคัดค้านเลย เราก็อาจเรียกได้ว่าเป็นการ

"เห็นด้วยกันแบบฉันทานุมัติ เป็นconsensusในหมู่ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ไม่มีใครโต้แย้ง"

เพราะฉะนั้นแล้ว เราอ่านตรงนั้น เราก็จะเข้าใจแบบนั้น ก็ต้องบอกว่า กรธ.ที่นำความเห็นโดยประธานกรธ.กับรองประธานกรธ. ก็คือ"การนับวาระแปดปีของพลเอกประยุทธ์ต้องนับรวมระยะเวลาตั้งแต่ที่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อ 24 สิงหาคม ปี 2557 ก็ต้องนับตั้งแต่วันนั้น และเมื่อนับมาแปดปี ก็จะครบแปดปีในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 และต้องถือว่าจะพ้นจากตำแหน่ง 25 สิงหาคม 2565"

สิ่งที่กล่าวทั้งหมดคือวิธีการตีความที่เป็นสเต็ป ที่ไม่ใช่แค่รัฐธรรมนูญ แต่กฎหมายอื่น หลักในการตีความก็ไม่ต่างกัน ซึ่งกรณีของมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญเมื่อกรธ.เคยมีการพูดคุยกันมาก่อนแล้ว บันทึกกันไว้ แล้วจะมีพยานหลักฐานอะไรที่มีน้ำหนักมากไปกว่าสิ่งที่บันทึกไว้ ณ เวลานั้นอีก 

"ดร.มุนินทร์"ย้ำว่าโดยส่วนตัว มองว่าเรื่องนี้มันชัดเจนมาก โดยหากเราไม่ได้มองประเด็นว่าเป็นพลเอกประยุทธ์ แต่มองว่าเป็นกฎหมายอะไรสักฉบับ เวลาเราจะตีความ เราจะตีความอย่างไร มันก็ต้องตีความแบบนี้ แล้วผลก็ต้องเป็นแบบนี้ มันไม่สามารถจะตีความเป็นอย่างอื่นได้ เพราะเป็นการตีความกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษรที่สมเหตุสมผลที่สุด และมันยากมากที่พยายามจะมาใช้หลักหรือทฤษฎีอื่น เพราะดูแค่มาตรา 264มันก็ชัดเจนแล้วที่บัญญัติว่า"ให้คณะรัฐมนตรีที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ก่อนให้ถือว่าเป็นคณะรัฐมนตรี ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้เมื่อปี 2560” เพราะฉะนั้นแล้วพลเอกประยุทธ์ก็ถือเป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 เพราะมาตรา 264 ให้ย้อนไปถึงช่วงเวลาก่อนหน้าประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วย ที่ถือว่าเป็นนายกรัฐมนตรีและมีคณะรัฐมนตรีอยู่ก่อนหน้านั้น แต่ประเด็นมาตรา 264 ไม่สำคัญเท่ากับหลักการค้นหาเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างที่บอกเพราะสิ่งนี้คือหลักการที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป

ตีความย้อนหลัง หากคู่กรณีคือรัฐ

ต้องจำกัดอำนาจไม่ใช่ขยายอำนาจ

"นักวิชาการจากคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์"กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาอาจมีบางคนแย้งว่าเราไม่สามารถตรากฎหมายขึ้นมาโดยมีโทษกับบุคคลย้อนหลังได้ ที่ก็เป็นหลักหนึ่งในทางนิติศาสตร์และเป็นหลักสำคัญมาก เพราะเป็นเรื่องการประกันหลัก"สิทธิเสรีภาพของประชาชน"คือหากวันนี้เขาทำอะไรลงไปแล้วกฎหมายยังไม่ได้บัญญัติให้เป็นความผิดหรือบัญญัติบทลงโทษไว้ อยู่ๆวันรุ่งขึ้น รัฐจะออกกฎหมายมาแล้วบอกว่าการกระทำเมื่อวานที่ทำไปเป็นความผิด ต้องถูกลงโทษ แบบนี้ไม่ได้ เพราะเวลาที่เขาทำ ยังไม่มีกฎหมายบอกว่าเป็นเรื่องการกระทำความผิดหรือว่ารัฐจะออกกฎหมายมาเพื่อจำกัดสิทธิเขาย้อนหลังไม่ได้ ซึ่งกรณีของพลเอกประยุทธ์ มันไม่ใช่กรณีตามหลักนี้ เพราะหลักนี้เป็นหลักที่ใช้กับความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายหนึ่งเป็นรัฐและอีกฝ่ายคือประชาชน เป็นบุคคลธรรมดาที่ถูกละเมิดสิทธิ

..รัฐก็คือฝ่ายที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติของรัฐ เช่น อำนาจจากฝ่ายรัฐสภา หรือจากฝ่ายบริหาร ออกกฎหมายมาลงโทษ หรือจำกัดสิทธิ ลดสิทธิประโยชน์ต่างๆ แต่กรณีของการนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ มันไม่ใช่การออกกฎหมายมาย้อนหลังเพื่อลงโทษพลเอกประยุทธ์ แต่เป็นเรื่องกรณีภายในฝ่ายบริหารเองคือนายกรัฐมนตรีที่เป็นตำแหน่งในฝ่ายบริหารควรจะมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งเท่าใด มันไม่ใช่เรื่องที่รัฐออกกฎหมายย้อนหลังมาเอาผิดกับบุคคล

 แต่กรณีนี้เป็นเรื่องภายในของฝ่ายบริหารเองที่พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี โดยตัวนายกรัฐมนตรีก็คือผู้แทนของรัฐ ที่ก็คือ"ตัวรัฐ"คือเป็นเรื่องของรัฐล้วนๆ เพราะมีคู่กรณีฝ่ายเดียว คือรัฐ ไม่มีคู่กรณีอื่น  ซึ่งพลเอกประยุทธ์คือส่วนหนึ่งของรัฐ ในฐานะนายกรัฐมนตรี เรากำลังพิจารณาว่าพลเอกประยุทธ์ในฐานะเป็นตัวแทนของรัฐ ควรจะสามารถเป็นตัวแทนได้ยาวนานแค่ไหน ทำให้หลักการตีความต้องตีความอีกแบบหนึ่ง

...หลักการตีความตามหลักกฎหมายมหาชนเวลาจะตีความว่า"รัฐควรมีอำนาจแค่ไหน"ถ้ากรณีมีข้อสงสัย ต้องตีความไปในทาง"จำกัดอำนาจก่อนที่จะตีความในทางขยายอำนาจ"เพราะตามหลักกฎหมายปกครอง ฝ่ายปกครองมีอำนาจ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือใช้อำนาจรัฐได้ก็ต่อเมื่อกฎหมายให้อำนาจไว้อย่างชัดแจ้ง ถ้าเราตีความไปในทางจำกัดอำนาจ มันจะเป็นประโยชน์กับประชาชนมากกว่า เราไม่สามารถไปถือเอาว่าพลเอกประยุทธ์เป็นประชาชนปกติ แล้วตอนนี้ รัฐธรรมนูญกำลังย้อนหลังเพื่อเอาผิดพลเอกประยุทธ์ มันไม่ใช่แบบนั้น พลเอกประยุทธ์คือส่วนหนึ่งของรัฐ คำถามคือส่วนหนึ่งของรัฐ อวัยวะหนึ่งของรัฐ คนนี้จะมาทำหน้าที่อวัยวะหรือส่วนหนึ่งของรัฐได้ยาวนานแค่ไหน มันเป็นเรื่องกฎหมายมหาชน กฎหมายปกครองแท้ๆ มันไม่ใช่เรื่องการย้อนหลังไปเอาผิดใคร 

-สรุปว่าความเห็นของอาจารย์มุนินทร์คือพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯหลัง 24 สิงหาคมนี้ต่อไปไม่ได้?

ใช่ครับ หลัง 24 สิงหาคม เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไม่ได้ ที่ก็สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของคนที่ร่างรัฐธรรมนูญนี้ขึ้นมา จากบันทึกหลักการและเหตุผล และคำอธิบายรายมาตราของรัฐธรรมนูญ มันก็เขียนไว้ชัดว่าทำไม มาตรา 158 ถึงต้องสร้างเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพราะเขาไม่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีอยู่นานเกินไป พอไปดูรายงานการประชุมก็สอดรับกันคือนายมีชัย ฤชุพันธุ์  นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ก็เห็นตรงกันและสอดคล้องกับบันทึกหลักการดังกล่าวในการร่างมาตรา 158 ซึ่งทั้งสองคนก็ตีความถูกต้องทุกอย่างจากบันทึกรายงานการประชุมของกรธ. รวมถึงบันทึกหลักการและเหตุผล มันจึงชัดเจนมาก และตรงนั้นคือความเห็นที่บริสุทธิ์ที่สุดเพราะมันเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ยังไม่มีใครรู้ว่าพลเอกประยุทธ์จะอยู่ถึงกี่ปี

-แต่คุณสุพจน์ อดีตรองประธานกรธ.ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า รายงานดังกล่าว ไม่ใช่มติของกรธ.จึงไม่มีผลผูกพัน อีกทั้งบอกว่า การนับวาระการเป็นนายกฯ ต้องนับหลังจาก พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ รอบสองเมื่อมิถุนายน 2562 จึงเท่ากับเป็นนายกฯมาแค่สามปีกว่า ยังเป็นอีกได้อีกร่วมห้าปี?

อย่างที่บอกข้างต้น ในการประชุมคณะกรรมการร่างกฎหมายแต่ละฉบับ จะไม่มีมติอยู่แล้ว เป็นเรื่องของการแสดงความคิดเห็น ว่ากฎหมายที่ร่างควรมีเจตนารมณ์อย่างไร ควรตีความอย่างไร ใครที่เห็นอย่างไรก็ต้องแสดงความคิดเห็น เพื่อให้มีการบันทึกไว้เพื่อเป็นประโยชน์ในการตีความ หรือในการที่ทางศาลหรือฝ่ายที่จะบังคับใช้กฎหมายได้มาดูในอนาคต

ในรายงานของกรธ.ที่บันทึกการแสดงความเห็นเรื่องมาตรา 158 ก็จะมีบันทึกการแสดงความเห็นของนายมีชัย และนายสุพจน์ สองคนเท่านั้น ในขณะที่คนอื่นไม่ได้โต้แย้งเป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้นแล้วก็ต้องถือว่าคนอื่นไม่ได้มีความคิดเห็นที่แตกต่างไป เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ หากไม่เห็นด้วย ต้องแสดงความคิดเห็นเอาไว้  นี้คือวิธีการอ่านรายงานการประชุมสำหรับนักนิติศาสตร์ที่ต้องการค้นหาเจตนารมณ์ของกฎหมาย เราอ่านกันแบบนี้ทั้งนั้น เราไม่ไปถามหรอกครับว่าทำไม ไม่มีการลงมติเลย เพราะส่วนใหญ่ไม่มีการลงมติอยู่แล้วในการร่างกฎหมาย การลงมติจะทำต่อเมื่อมีการบังคับไว้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญต้องมีการลงมติ

กรณีของคุณสุพจน์ ต้องบอกว่า ท่านเคยแสดงความคิดเห็นไว้แล้ว เท่ากับว่าตอนนี้มีสองความเห็นแล้ว คือความเห็นที่บันทึกอยู่ในรายงานการประชุมของกรธ.ที่เป็นความเห็นดั้งเดิมและบริสุทธิ์ที่สุด ที่หมายถึงว่าตอนที่แสดงความเห็นท่านก็ยังไม่ทราบว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น กับความเห็นปัจจุบันที่เป็นอีกแบบหนึ่ง

คำถามสำหรับผมคือ ผมจะไม่พูดว่าความเห็นไหนถูก ความเห็นไหนผิด แต่หากอย่างถ้าผมเป็นคนต้องตีความ ถ้าวันนี้ผมเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แล้วผมต้องดูว่าความคิดเห็นใด ควรรับฟัง ผมก็จะยึดถือความคิดเห็นที่อยู่ในบันทึกรายงานการประชุมไว้ก่อน จนกว่าคุณสุพจน์จะอธิบายได้ว่าแล้วเหตุใด คุณสุพจน์ถึงได้แสดงความคิดเห็นไว้แบบนั้นในรายงานการประชุม นี้เป็นปัญหาว่าคนๆเดียวกัน พูดไม่เหมือนกัน เราจะเชื่อความเห็นไหน ความเห็นเก่าหรือความเห็นใหม่

อย่าตีความตามอำเภอใจ

ยกเคศคดีซุกหุ้นทักษิณเป็นอุทาหรณ์

-ที่กลุ่มนักวิชาการ 51 คนจาก 15 สถาบัน ร่วมกันลงชื่อทำหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 16 สิงหาคม ในคดีแปดปีนายกฯ ที่มีชื่ออาจารย์มุนินทร์ด้วย เกิดขึ้นเพราะเหตุใด?

ถ้าเราใช้หลักการตีความแบบที่เป็นยอมรับกันโดยทั่วไปในหมู่นักนิติศาสตร์ ผลก็คือพลเอกประยุทธ์จะอยู่เป็นนายกรัฐมนตรีได้จนถึง 24 สิงหาคม 2565 มันชัดเจน และโชคดีมากที่เรื่องนี้กรธ.เคยคุยกันมาก่อนแล้ว และสิ่งนี้ชัดเจนที่สุดในการบ่งบอกถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 158 เราจึงมองไม่เห็นทางอื่นในการตีความ และเราเชื่อว่าความคิดเห็น และการอธิบายทั้งหลายในเรื่องนี้ที่ออกมา เป็นความพยายามที่จะต่ออายุให้พลเอกประยุทธ์ ซึ่งมันก็คือการทำลายหลักนิติศาสตร์ คือคุณมีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่าต้องการจำกัดอำนาจที่เบ็ดเสร็จ การผูกขาดอำนาจ ซึ่งจริงๆไม่ควรทำอย่างนั้น ตั้งแต่แรกถ้าพูดกันตามตรง เพราะเราเป็นระบบรัฐสภา เราควรปล่อยให้ประชาชนเลือกนายกฯโดยผ่านส.ส. ซึ่งตราบใดที่ประชาชนยังไว้วางใจ เขาก็ควรจะกลับมาเป็นนายกฯได้กี่รอบก็ได้เหมือนที่อังกฤษ เยอรมนี แต่พอเราเลือกระบบพิเศษแบบนี้ แล้วเรามีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนขนาดนี้ แต่วันนี้ จะมาบอกว่า ไม่ได้ ต้องนับไปอีกแบบ ควรให้โอกาสเขา ไม่ควรไปตัดสิทธิ์เขา การตีความแบบนี้ก็คือการทำลายเหตุผลของกฎหมายที่คุณสร้างขึ้นมา ที่มันพิศดารแบบนี้ ถ้าจะไปตีความแบบนั้น ก็คือการทำลายหลักที่คุณวางไว้เอง

ซึ่งเรากังวลว่ามันจะนำไปสู่"หลักการตีความตามอำเภอใจ"คือต่อให้กฎหมายและเจตนารมณ์มันจะชัดเจนขนาดไหน แต่นักกฎหมายก็สามารถหาแนวทางการตีความ เพื่อให้เกิดผลอย่างที่ต้องการได้เสมอ ที่จะเป็นเรื่องอันตรายมาก เพราะสุดท้ายแล้ว การมีกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษรหรือการเขียนกฎหมายให้ชัดเจนขนาดไหน สุดท้าย มันก็จะไม่มีความสำคัญ เพราะขึ้นอยู่กับการตีความตามอำเภอใจของคนที่ตีความว่าอยากจะตีความอย่างไร

และในทางการเมืองผมคิดว่าเราควรจะหยุดเสียทีในเรื่องความพยายามจะหาความชอบธรรมมาช่วยคนที่เราชอบ ผมยกตัวอย่างเช่นตอน"คดีซุกหุ้น"(ทักษิณ ชินวัตร โอนหุ้นให้คนใช้-คนขับรถ) ตอนนั้นคนชอบเขาเยอะมาก แม้กระทั่งอดีตตุลาการทั้งหลาย ผู้หลักผู้ใหญ่เขาชอบ ทุกคนก็พยายามหาคำอธิบาย หาความชอบธรรม มาอธิบายว่ามันไม่ผิดกฎหมายอย่างไร ผมจำได้ว่า คุณประเสริฐ นาสกุล ประธานศาลรัฐธรรมนูญเวลานั้น ก็เขียนคำวินิจฉัยส่วนตนไว้ชัดในฐานะตุลาการเสียงข้างน้อย ที่ก็กล้าหาญมากในเวลานั้นและเขียนไว้ดีมาก ซึ่งคดีนั้นคือประสบการณ์ ที่ตามกฎหมายก็เห็นกันชัดๆ นักกฎหมายก็เห็นกันชัดๆ ว่าต้องตีความอย่างไร แต่ก็มีความพยายามหาคำอธิบายมาเพื่อไม่ให้เป็นไปตามที่กฎหมายเขียนไว้อย่างชัดเจน สุดท้าย ก็รอด แล้วก็ตามมาด้วยวิกฤตทางการเมืองมากมาย ผมไม่ได้หมายความว่าต้องกำจัดคุณทักษิณ อะไรแบบนั้นแต่ถ้าเราปิดชื่อไว้ว่าเป็นใคร แล้วก็ว่าไปตามกฎหมายว่ากฎหมายนี้ควรมีเจตนารมณ์อย่างไร มันก็ชัดเจนมาก ผมถึงบอกว่าเราต้องดูบันทึกรายงานการประชุมของกรธ.เพราะเวลานั้น ความคิดมันบริสุทธิ์ที่สุด มันไม่เจือปน แม้ตอนนั้นจะรู้แล้วว่านายกฯคือพลเอกประยุทธ์แล้วก็มีแนวโน้มจะอยู่ต่อไป แต่ตอนนั้น ก็ไม่รู้ได้ว่าพลเอกประยุทธ์จะอยู่ได้นานแค่ไหน สิ่งที่เขาพูดและคิดกันตอนนั้น คิดบนฐานที่บริสุทธิ์ใจ มันควรจะเป็นแบบนั้น แบบนี้ตามหลักการ เราจึงจำเป็นต้องยืนยันว่าหลักนิติศาสตร์ที่ถูกต้องควรเป็นแบบนี้

จะเกิดอะไรขึ้น หากศาลรธน.

ไม่สั่ง"บิ๊กตู่"หยุดปฏิบัติหน้าที่?

-หากสุดท้าย ถ้าศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องคดีนี้ไว้วินิจฉัยแต่ไม่มีคำสั่งให้พลเอกประยุทธ์หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ จะเป็นอย่างไร?

ก็เป็นไปได้ที่ศาลอาจมีดุลยพินิจไม่สั่งให้พลเอกประยุทธ์หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีเพราะเป็นตำแหน่งสำคัญของประเทศ และอาจมีผลกระทบค่อนข้างร้ายแรง ถ้าให้หยุดไประหว่างที่ศาลกำลังพิจารณาคำร้องอยู่ ผมก็พอเข้าใจได้ แต่คนก็คงตั้งคำถามว่า ทำไมคำร้องคดีอื่นถึงให้หยุด แต่เหตุใดคำร้องคดีนี้ไม่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่

ผมคิดว่าศาลรํฐธรรมนูญต้องตอบคำถาม หากมีคนบอกว่า "ยังไง พลเอกประยุทธ์ก็ได้อยู่ต่ออยู่แล้ว"หรือเดาใจศาลว่ายังไง ก็ไม่วินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง แต่ผมเห็นว่าเรื่องนี้ชัดเจนมาก ซึ่งหากศาลเห็นต่างออกไป ศาลต้องเขียนออกมาให้ชัดเจนว่าที่มีบางฝ่ายเช่นกลุ่มนักวิชาการแสดงความเห็นออกมา ศาลรัฐธรรมนูญไม่เห็นด้วยอย่างไร ท่านมีทฤษฏีหรือหลักการตีความแบบไหนที่มีน้ำหนักมากกว่าในการตีความ โดยตั้งแต่สเต็ปแรก ก็ต้องอธิบายหากศาลไม่สั่งให้พลเอกประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่ เหตุผลคืออะไร แล้วทำไมเคสอื่นให้หยุด และสเต็ปต่อไปคือคำวินิจฉัยที่จะออกมาว่าทำไมตีความแบบนั้น ก็ต้องอธิบายให้ชัดเจน

ผมมองว่าคำร้องคดีพลเอกประยุทธ์ ศาลน่าจะพิจารณาเสร็จเร็วเพราะกำหนดที่จะครบ 24 สิงหาคม ภายในหนึ่งเดือน หลังรับคำร้องก็น่าจะเสร็จ จริงๆแล้ว ภายในสองสัปดาห์ก็น่าจะเสร็จแล้วว่ากันตามตรง เพราะเป็นประเด็นข้อกฎหมาย เอกสารก็มีพร้อมแล้ว ศาลเปิดดูได้เองหมด ศาลสามารถตีความกฎหมายได้เลย โดยไม่ต้องสืบพยาน ยกเว้นเช่น ศาลขอฟังพยานผู้เชี่ยวชาญ แต่เรื่องนี้ ผมว่าไม่จำเป็นต้องฟังพยานผู้เชี่ยวชาญ เพราะเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญถูกบันทึกไว้อย่างชัดเจน เป็นเอกสารลายลักษณ์อักษรอยู่ในรายงานการประชุมของกรธ.และบันทึกหลักการและเหตุผล และอยู่ในตัวรัฐธรรมนูญเองด้วยซ้ำที่ดูแค่แต่ละมาตราที่เกี่ยวข้องก็ตีความได้ ทุกอย่างสอดรับกันหมด

-จะเกิดปัญหาอะไรหรือไม่ หากศาลไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่แล้วเกิดผ่านไปหนึ่งเดือน ศาลวินิจฉัยว่าต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ?

ผมว่าไม่มีปัญหา คือหลักกฎหมายมหาชน ถ้าสุดท้ายแล้ว ศาลวินิจฉัยว่าให้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ก็จะไม่กระทบกับกิจการที่ทำไปแล้ว คือเป็นการคุ้มครองความแน่นอนเรื่องภารกิจของรัฐ ไม่อย่างนั้นแล้ว เกิดสมมุติว่าอยู่ต่อไปหนึ่งเดือนหลังรับคำร้อง อยู่เกินเวลาที่ต้องพ้นจากตำแหน่ง เช่นอยู่ไปถึง 25 กันยายนแล้วศาลเกิดวินิจฉัยว่า พลเอกประยุทธ์ต้องพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่ 25 สิงหาคม จะมีปัญหาว่าทำให้การกระทำที่นายกฯเซ็นอะไปในช่วงหนึ่งเดือนดังกล่าวเสียไปหมดเลย แล้วมันจะกระทบเป็นลูกโซ่เลยเพราะเป็นผู้บริหารสูงสุดของรัฐ มันจะวุ่นวาย เพราะฉะนั้น หลักกฎหมายปกครองปกติโดยทั่วไป หากสุดท้ายแล้ว หากศาลวินิจฉัยออกมาแล้วคนนั้นไม่มีอำนาจในภายหลัง สิ่งที่เขาทำไปในเวลาที่เขายังเชื่อว่าเขายังอยู่ในอำนาจ เมื่อศาลตัดสินออกมา ก็ไม่กระทบ ก็ถือว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องชั่งน้ำหนักเหมือนกันว่าจะเอาอย่างไรดี จะให้หยุดก่อนดีไหม หรือจะไม่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่

ผมคิดว่าทั้งสองทาง เอาจริงๆแล้ว ไม่มีปัญหาอะไร อย่างหากไม่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยให้ทำหน้าที่นายกฯต่อไป มันก็พอเข้าใจได้อยู่เหมือนกัน ผมว่ามีสองประเด็นที่ศาลต้องกังวลคือ สิ่งที่มีคนกังวลว่า หากสุดท้ายถ้าพลเอกประยุทธ์พ้นจากตำแหน่ง สิ่งที่ได้ทำไปก่อนหน้านั้น ก็เหมือนไม่มีความชอบธรรม เพราะตัวเองไม่ควรจะอยู่แล้วแต่ก็ยังใช้อำนาจต่างๆ แต่ว่าหลักกฎหมายมหาชน ก็มีวิธีการแก้ มีหลักการแก้ปัญหาไว้อยู่แล้ว ว่าทำได้ ไม่กระทบ

กับอีกประเด็นที่ผมกังวลมากกว่าคือเรื่องคำอธิบายว่าศาลปฏิบัติในแต่ละกรณี เหมือนกันหรือไม่เหมือนกันอย่างไร เช่นบางคดีให้หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่  แต่ทำไมคดีนี้ไม่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เป็นคำอธิบายที่ศาลต้องออกมาชี้แจงต่อประชาชน

ศาลก็มีสองโจทย์ที่ต้องคิด เริ่มจาก เรื่องแรก จะให้พลเอกประยุทธ์ หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่การเป็นนายกฯหรือไม่ เพราะหากพลเอกประยุทธ์ต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ แล้วต่อมา เกิดว่าต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ แต่ทำไมถึงปล่อยให้ตัดสินใจเรื่องสำคัญไปก่อนจะมีคำวินิจฉัย หรือควรให้หยุดพักไว้ก่อนจะดีกว่าหรือไม่ กับเรื่องที่สอง ก็คือ เคสคำร้องอื่น ศาลเคยทำมาอย่างไร แล้วเคสนี้ก็ควรต้องทำให้เหมือนกัน มันจะได้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่ว่าเคสอื่นให้หยุด แต่เคสนี้เป็นนายกฯบอกว่าไม่ให้หยุด แบบนี้ผมว่าอธิบายไม่ค่อยได้ เพราะหากหยุด ก็มีคนอื่นมารักษาการแทนได้

ถ้าอธิบายไม่ได้”ประยุทธ์”อยู่ต่อ

จะเกิดวิกฤตศรัทธาศาลรธน.

-คิดว่าคำร้องคดีพลเอกประยุทธ์ จะเป็นบทพิสูจน์ศรัทธาความเชื่อมั่นของประชาชนต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในเรื่องหลักนิติธรรมของศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันหรือไม่?

คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยเผชิญมา ด้วยเหตุผลที่ว่าแนวทางการตีความรัฐธรรมนูญ มันชัดเจนมากและผลการตีความ ถ้าใช้หลักการตีความโดยปกติทั่วไป ที่นักกฎหมายเห็นว่าสมเหตุสมผลที่สุด ผลก็จะเป็นแบบที่ผมบอกข้างต้น ซึ่งหากศาลเห็นต่าง และศาลไม่สามารถให้เหตุผลที่มันหนักแน่นกว่าได้ ก็จะเกิดวิกฤตศรัทธา ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่า ศาลกำลังช่วยพลเอกประยุทธ์ อยู่ใช่หรือไม่ อะไรแบบนี้ ผมคิดว่าเป็นความท้าทาย คืออันนี้ไม่ได้หมายความว่า ศาลต้องตัดสินเหมือนกับที่เราแสดงความเห็น คือหากศาลวินิจฉัยที่แตกต่าง ศาลก็ต้องมีคำอธิบายที่มีน้ำหนักมาหักล้างได้ ที่ผมก็ยังมองไม่ออกว่าจะมีเหตุผลอะไรที่ มันจะมีน้ำหนักไปกว่านี้ เพราะมันชัดเจนมาก ผมมองไม่เห็นทางอื่นที่จะตีความไปทางอื่น  

ผมคิดว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทุกคดี เป็นคดีที่ก่อให้เกิดผลทางการเมืองอยู่แล้ว รวมถึงทำให้เกิดความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย เพียงแต่ว่าคำร้องคดีไหนที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยค้านสายตาคนดูคือนักนิติศาสตร์ ที่เรื่องนี้ไม่น่าจะมีอภินิหารทางกฎหมายในแง่ที่ว่า มันไม่สามารถมีผลเป็นอย่างอื่นได้ หากใช้หลักกฎหมายแบบปกติทั่วไปที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป  แต่ถ้ามันเป็นอย่างอื่นได้ ก็แสดงว่ามันต้องมีอภินิหารทางกฎหมายบางอย่าง ผมคิดไปในแนวทางนั้นว่าหากศาลวินิจฉัยออกมาที่แตกต่างก็เป็นเรื่องอภินิหารทางกฎหมาย แต่ก็ไม่แน่ ก็ไม่อยากพูดดักศาลรัฐธรรมนูญ ก็อยากให้ท่านได้ตัดสินคดีอย่างรอบคอบ

"ที่ผ่านมา ก็จะสังเกตุได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เยอะในหลายคดี ในสิบคดี ก็มีสักแปดคดีถูกวิจารณ์ ที่เหลืออีกสองคดีคนก็อาจชื่นชม เห็นด้วย  ในบรรดาองค์กรอิสระของรัฐ ศาลรัฐธรรมนูญต้นทุนไม่ได้สูงมากนัก หากศาลวินิจฉัยให้ถูกต้อง ตรงไปตรงมา ในคดีใหญ่ขนาดนี้ ใช้ความกล้าหาญ ก็เชื่อว่าน่าจะทำให้ความเชื่อมั่นศรัทธาฟื้นฟูขึ้นมาระดับหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่าจะมากแค่ไหน"

ผมเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินตามหลักนิติศาสตร์ในคำร้องครั้งนี้ ผมค่อนข้างมั่นใจมาก ที่มั่นใจเพราะผมมองว่าศาลรัฐธรรมนูญทราบดีอยู่แล้วว่าการค้นหาเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องค้นหาอย่างไร อย่างที่ผมบอกวิธีการตีความอย่างที่ผมบอก เป็นวิธีการตีความที่รู้กันโดยทั่วไปในหมู่นักนิติศาสตร์ และผมก็เชื่อว่าศาลจะตัดสินตามหลักการกฎหมายปกติทั่วไปและจะเกิดผลอย่างที่ว่าคือพลเอกประยุทธ์ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะอยู่ครบแปดปีวันที่ 24 สิงหาคมนี้ แต่หากศาลตัดสินแตกต่างไปจากนี้ผมก็รออ่านคำวินิจฉัยกลางว่าศาลจะให้เหตุผลอย่างไร จะมีอภินิหารทางกฎหมายหรือจะมีหลัก-ทฤษฎีอะไร ที่นักนิติศาสตร์อย่างพวกเรายังไม่รู้อีก แต่ศาลรู้ แต่พวกเราไม่รู้ ซึ่งผมคิดว่าไม่น่าจะมี

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ร้อยใจไทย สืบสานราชธรรม .. ณ จังหวัดนครปฐม!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๗ โครงการร้อยใจธรรม สืบสานราชธรรม ทั้งแผ่นดิน ถวายเป็นพระราชกุศลฯ ที่ดำเนินการโดย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยและวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จ.ลำพูน

ลึกสุดใจ. ”พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ผบ.ตร.” ยึดกฎกติกา ไม่กลัวทุกอิทธิพล

ถึงตอนนี้ "พลตํารวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ หรือ บิ๊กต่าย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" ได้ทำหน้าที่ ผบ.ตร.อย่างเป็นทางการมาร่วมสามเดือนเศษ ส่วนการทำงานต่อจากนี้ ในฐานะ"บิ๊กสีกากี เบอร์หนึ่ง-รั้วปทุมวัน"จะเป็นอย่างไร?

2 สว. “ชาญวิศว์-พิสิษฐ์” ปักธงพิทักษ์รธน. ปกป้องสถาบันฯ พวกเราเป็นอิสระ ไม่มีรับใบสั่ง

กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูยเพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ต้องการทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น

ก้าวย่างออกจากปัญหา .. ของประเทศ!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา... คำกล่าวที่ว่า.. “เมื่อสังคมมนุษยชาติขาดศีลธรรม.. ย่อมพบภัยพิบัติ.. เสื่อมสูญสิ้นสลาย..” นับว่าเป็นสัจธรรมที่ควรน้อมนำมาพิจารณา.. เพื่อการตั้งอยู่ ดำรงอยู่ อย่างไม่ประมาท...

เหลียวหลังแลหน้า การเมืองไทย จาก 2567 สู่ 2568 ส่องจุดจบ ระบอบทักษิณภาค 2

รายการ"ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด"สัมภาษณ์ นักวิชาการ-นักการเมือง สองคน เพื่อมา"เหลียวหลังการเมืองไทยปี 2567 และแลไปข้างหน้า

วิปริตธรรม .. ในสังคม!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. เลียบบ้านแลเมือง มองดูเข้าไปในหมู่ชนของบ้านเรา.. ในยามที่นักการเมืองเป็นใหญ่ มีอำนาจวาสนาบริหารราชการแผ่นดิน จึงได้เห็นความไหลหลงวกวนของหมู่ชน ที่สาละวนอยู่กับการแสวงหา เพื่อให้ได้มาใน ลาภ สักการะ ยศ สรรเสริญ สุข.. ไม่เว้นแม้ในแวดวงนักบวชที่มุ่งแสวงหามากกว่าละวาง