ตอน ....สัตตาหกรณียะครั้งแรกในพรรษาปีพุทธศักราช ๒๕๖๕ สู่ หุบเขาสวัต (Swat Valley) ตามนิมนต์ของตระกูลออรังเซบ (Aurangzeb) เจ้าผู้ครองแว่นแคว้นสวัตรุ่นสุดท้าย
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา... (ต่อจากตอนที่แล้ว)... จากบันทึกการเดินทางของหลวงจีนฟาเหียน เมื่อ พ.ศ.๙๔๒-๙๕๗ .. แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของพุทธศาสนาตามที่กล่าว จึงไม่แปลกที่อารยธรรมพุทธศาสนาสมัยคันธาระ.. จะปรากฏมากมายในหุบเขาสวัต (Swat Valley) แห่งนี้ ที่มีนามเดิมว่า “อุทยานะ” แปลว่า “สวน” ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถานในปัจจุบัน และอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันตกของเทือกเขาหิมาลัย การาโกรัม ฮินดูกูช และปามีร์
ด้วยความเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์อีกแห่งหนึ่งของพุทธศาสนา (มหายาน) ในอดีต ก่อนการก่อการร้ายจะแพร่ระบาดไปทั่วโลก จึงได้เห็นชาวพุทธจากจีนและทิกเบต เดินทางมาแสวงบุญกันไม่น้อย ด้วยวัดวาอาราม สถูป วิหาร พระพุทธรูปแกะสลัก ที่มีอยู่มากมาย.. ดังในปี พ.ศ.๑๑๘๓ ที่หลวงจีนถังซัมจั๋งบันทึกไว้ว่ามีถึง ๑,๔๐๐ แห่ง ดังปรากฏอยู่ถึงปัจจุบันในร่องรอยพุทธศาสนาที่เป็นมรดกโลกในหุบเขาสวัตแห่งนี้
ค่ำคืนนี้.. จึงได้ไปสวดมนต์ ทำวัตรเย็น ที่ รอยพระพุทธบาท ที่ปรากฏบนแผ่นหินโบราณสวยงามมาก ในรูปรอยพระบาทที่มีกงจักรปรากฏอยู่กลางฝ่าพระบาท.. อันถูกต้องตามพุทธลักษณะที่ควรแก่การมาสักการบูชารอยพระบาทพระพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่ง... จึงเป็นหนึ่งคืนที่มีความปีติสุข.. จึงเกิดกำลังใจในการนั่งเขียนต้นฉบับ.. มาจนจบ เมื่อเข้าสู่เวลา ๐๑.๑๑ น. ของวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๕.. ที่สมควรแก่เวลาในการอำลาไปพักผ่อนเพื่อเอากำลัง.. ที่จะตื่นขึ้นมา... เป็นวันที่ ๓ ใน ๗ วัน ที่กระทำการสัตตาหกรณียะออกจากเขตอธิษฐานจำพรรษา ณ พิพิธภัณฑ์ตักศิลา (นครตักศิลา แห่งแคว้นคันธาระในอดีต) รัฐปัญจาบ/ปากีสถาน และเป็นคืนที่ ๒ ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาพักภายในพิพิธภัณฑ์สวัตได้ เพื่อกราบไหว้บูชารอยพระบาทคู่ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบนแท่นหินทราย ที่ปรากฏรูปลายลักษณะสวยงาม ถูกต้องตามพระบาทลักษณะดังปรากฏกงจักรบนกลางฝ่าพระบาท ที่ประทับบนแผ่นหินที่มีอายุยาวนานมาหลายร้อยปี จึงปรากฏรอยแตกร้าวทั้งสองข้างของพระบาทคู่.. แต่ยังครบสมบูรณ์เมื่อนำมาประกอบรวมกัน...
เรื่องรอยพระบาทที่หลวงจีนฟาเหียนเขียนบันทึกไว้ใน “จดหมายเหตุแห่งพุทธอาณาจักร” ได้ระบุว่าเป็นรอยพระบาทเบื้องซ้ายที่ประทับไว้ลงในที่แห่งหนึ่ง ณ หุบเขาสวัต (Swat Valley) ที่หลวงจีนฟาเหียนเรียกว่า ราชอาณาเขตแห่งวู-จัง ที่แปลว่า “อุทยาน” แปลว่า “สวน” อยู่ทางทิศเหนือของ รัฐปัญจาบ เป็นเมืองซึ่งมีภูมิฐานยาวไปตามลำน้ำ “ศุภวัสตุ” ที่เรียกว่า แม่น้ำสวัต... ในหุบเขาสวัต.. ที่เรียกว่า.. เมืองสวัต จัดอยู่ในเขตการปกครองของ แคว้นคันธาระ
จึงได้เห็นความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในเมืองสวัตแห่งนี้ที่ควบคู่ไปกับ เมืองเปศวาร์ และ ตักศิลา.. ซึ่งอยู่ในอาณาเขตการปกครองเดียวกันแห่ง แคว้นคันธาระ
ในคืนวันที่ ๒ (๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๕) ซึ่งยังพักอยู่ในหุบเขาสวัต จึงได้เดินทางไปเยี่ยมชมทัศนศึกษาพุทธสถานโบราณที่รัฐบาลปากีสถานโดยกองโบราณคดี พิพิธภัณฑ์เปศวาร์ แห่งรัฐไคเบอร์ปัคตุนควา (KP) โดยในวันนี้ได้ไปสักการบูชาพระพุทธรูปบนผาหินทรายบนเนินเขา ในกลางหมู่บ้าน จาฮานาบัด จึงเรียกนามพระพุทธรูปดังกล่าวว่า พระพุทธรูปแห่งจาฮานาบัด โดยในยามเช้าของวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ซึ่งเป็นคืนวันที่ ๒ ที่มาพักประกอบศาสนกิจตามนิมนต์ของตระกูล Aurangzeb หลังจากเสร็จภัตกิจในยามเช้า เวลาประมาณ ๐๙.๑๕ น. จึงได้ออกเดินทางไป จาฮานาบัด ใช้เวลาเดินทางไปถึงสถานที่ดังกล่าวไม่เกินหนึ่งชั่วโมงด้วยรถยนต์ และเดินขึ้นไปบนภูเขาตามเส้นทางโบราณเล็กๆ ของชาวบ้านย่านนั้นที่กำลังเก็บผลไม้ลูกพีช (Peach) เพื่อบรรจุกล่องส่งไปขายในตลาด ราคากล่องละ ๙๐ บาท หรือ ๕๐๐ รูปีของปากีสถาน ในระหว่างทางมีสระน้ำขนาดสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ ๒ เมตร ยาวประมาณ ๓-๔ เมตร มีน้ำจากภูเขาไหลลงมากักเก็บไว้ในสระน้ำโบราณดังกล่าว ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับน้ำสะอาด.. มีตัวยาสมุนไพรจากรากไม้ที่มีตัวยานานาชนิด จึงเป็นที่นิยมของหมู่ชนในท้องถิ่นที่มาตักดื่มกิน...
สำหรับที่ไปที่มาของ สระน้ำภูเขา ดังกล่าวนั้น สันนิษฐานได้ว่า พระภิกษุที่มาอาศัยศึกษาปฏิบัติธรรม ณ วิหารบนภูเขา ที่จะได้ใช้สอยสรงสนานจนถึงบริโภคดื่มกิน... จึงทราบว่ามีตัวยาอยู่ในสระน้ำซับธรรมชาติดังกล่าวนั้น ที่มีการสลักรูปพระพุทธเจ้าไว้ตรงหน้าผาของหินทรายขนาดใหญ่ ที่มีหินน้อยใหญ่ประกอบเป็นบริวารให้แลดูมั่นคง สวยงาม...
การเดินทางขึ้นไปเพื่อกราบไหว้บูชาพระพุทธรูปดังกล่าว จึงไม่ยากลำบาก ใช้เวลาประมาณ ๒๐-๓๐ นาทีของการก้าวย่างไปบนเส้นทางเล็กๆ ที่มีบันไดหินบางตอนถูกสร้างขึ้น เพื่อรองรับเท้าของผู้ก้าวย่างขึ้นไปปฏิบัติศาสนกิจบนอารามของสงฆ์ บนภูเขาที่ปรากฏรูปแกะสลักบนหน้าผาหินทราย ที่ถูกสร้างขึ้นอย่างสวยงาม มีลักษณะสมส่วนตรงตามสูตรคำนวณการสร้าง ที่ได้รับการคิดค่าเผื่อของขนาดกว้างยาวสูงไว้อย่างพอเหมาะกับสายตา เพื่อแลดูขึ้นไปในเชิง ภาพ Perspective โดยวิธีธรรมชาติ ที่วางองศาการมองในทุกมุม ให้สามารถมองเห็นพระพุทธรูปได้อย่างสมสัดส่วนในทุกองศาการมอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงภูมิความรู้ทางการร่างภาพเพื่อแกะสลักบนหน้าผาหินทรายดังกล่าว ที่ยังคงมีสภาพโดยรวมสมบูรณ์ แม้ว่าจะผ่านการถูกทำลายไปบ้าง โดยเฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธรูปแกะสลักบนหน้าผาหินทรายดังกล่าวด้วยน้ำมือของพวก นิยมตาลีบัน แต่ขณะนี้ได้รับการบูรณะจาก “กองโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์เปศวาร์ ไคเบอร์ปัคตุนควา” แล้ว
สำหรับภาพสลักพระพุทธรูปบนหน้าผาหินทรายบนภูเขาที่จาฮานาบัด (Jahanabad) ดังกล่าว สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นมาตั้งแต่ คริสต์ศตวรรษที่ ๗.. ตรงกับพุทธศตวรรษที่ ๒-๓.. ขนาดสูง ๖ เมตร โดยตรงตำแหน่งหน้าผาหินทรายดังกล่าว ได้ถูกธรรมชาติจัดวางไว้บนภูเขาที่มีความสูงพอเหมาะ เมื่อขึ้นไปด้านบนแล้ว นอกจากจะเกิดความรู้สึกที่ดียิ่งต่อการได้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าแล้วนั้น ก็ยังสามารถชื่นชมทัศนียภาพโดยรอบได้อย่างทั่วถึง ให้เห็นถึงความสวยงามของธรรมชาติ ที่มีแนวลำคลองแม่น้ำสวัต (Swat River) ไหลผ่านไปอย่างสวยงามในท่ามกลางระหว่างชุมชนหมู่บ้านสองฝั่งคลอง.. ที่เนืองแน่นไปด้วยพฤกษานานาพันธุ์... อันแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ในท้องถิ่นดังกล่าวที่เต็มไปด้วยพื้นที่การเกษตร..
จริงๆ แล้ว ปรากฏการณ์สร้างวัด.. พระพุทธสถาน พระสถูป.. บนภูเขาในพระพุทธศาสนา เป็นที่นิยมเป็นอย่างยิ่ง.. เพราะจะต้องใช้ความอุตสาหะมาก.. ที่จะเพียรอย่างยิ่งด้วยสติปัญญา จึงดูเหมือนจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ โดยเฉพาะในสมัยพระเจ้ากนิษกะมหาราชแห่งอาณาจักรกุษาณะ
จึงได้นำหมู่สงฆ์และคณะศรัทธาญาติโยมที่ติดตาม ไปกราบไหว้พระพุทธรูปแห่งจาฮานาบัด (Jahanabad Buddha) ได้สวดมนต์ ฟังธรรม ปฏิบัติธรรมไปพร้อมๆ กัน โดยเจริญพระพุทธมนต์ในพระสูตรที่สำคัญๆ เหมาะควรแก่การอบรมจิตภาวนา ให้สอดคล้องกับ สัปปายสถานทางพุทธศาสนา แห่งนี้ ได้แก่ พระอนัตตลักขณสูตร.. พระสติปัฏฐานสูตร (ฉบับย่อ).. อานาปานสติสูตร (ฉบับเต็ม) ก่อนที่จะนำภาวนา แผ่เมตตา.. และสวดสรรเสริญพระคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ โดยพร้อมเพรียงกัน ท่ามกลางสายตาของหัวหน้าพิพิธภัณฑ์สวัตที่ติดตามไปถวายการดูแล รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ/หน่วยรักษาความปลอดภัย ที่ติดตามถวายการดูแลอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะเดินทางออกจากหุบเขาสวัต.. ดินแดนอารยธรรมคันธาระแห่งนี้..
ในวันที่สอง.. ที่ตรงกับ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๕.. จึงมีความปีติสุขยิ่ง.. ต่อการได้เดินทางไปทัศนศึกษาบนร่องรอยอารยธรรมพุทธศาสนาในหุบเขาสวัต.. ที่ยังคงสมบูรณ์พร้อมด้วยความเป็นสัปปายสถานธรรมของพุทธศาสนา จึงได้มาเข้าพักในพิพิธภัณฑ์สวัต.. เพื่อเขียนบันทึกเรื่องราวต่างๆ บนเส้นทางธรรม.. ในสมัยมาจำพรรษาในเขตแว่นแคว้นคันธาระ ณ นครตักศิลา.. ที่ได้มีโอกาสมาเยือนอารยธรรมพุทธศาสนาในหุบเขาสวัต (Swat Valley) เป็นครั้งแรก... และไม่เป็นครั้งสุดท้ายอย่างแน่นอน.. ด้วยความเชื่อมั่นในกุศลธรรมที่ได้มาศึกษาปฏิบัติบนแผ่นดินแห่งนี้อย่างจริงจัง... เพื่อขออำนาจแห่งธรรมได้แผ่กว้างไปทั่วหมู่สัตว์น้อยใหญ่ในทุกภพภูมิ จะได้ถึงความสงบสุขอย่างแท้จริง... (ติดตามอ่านตอนต่อไป)
เจริญพร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..
รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ
เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก
ประมาทไม่ได้เลย คือ จิตของเรา!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีพระภาษิตบทหนึ่งกล่าวว่า..
คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!
เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย
ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?
การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก
ขบวนการแพทย์ชนบท กับรางวัลแมกไซไซ ปี 2024 ทิศทางพัฒนาระบบสุขภาพไทย
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คือวันเสาร์ที่ 16 พ.ย. คณะผู้แทน”ขบวนการแพทย์ชนบท” ได้เดินทางไปรับรางวัลแมกไซไซ ประจำปี 2024