การสนับสนุน SME ด้วยระบบ Alternative Credit Scoring for SME

การเติบโตของธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างมากจนกลายเป็น Growth Engine ที่มีส่วนสำคัญที่สุดที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2564 มูลค่าทางเศรษฐกิจของ SME คิดเป็นร้อยละ 35.0 ต่อมูลค่า GDP ของทั้งประเทศหรือคิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 5.62 ล้านล้านบาท โดยมีสัดส่วนของภาคธุรกิจเป็น ภาคการบริการ ร้อยละ 44.0 ภาคการค้าร้อยละ 31.4 และภาคการผลิตร้อยละ 22.6 ซึ่งปัจจัยที่สนับสนุนให้ SME เติบโตอย่างต่อเนื่องคือการขยายตัวของการบริโภคครัวเรือนและภาคเอกชน    การเติบโตของ E-commerce การเติบโตของภาคท่องเที่ยว รวมถึงนโยบายและมาตรการส่งเสริมต่าง ๆ ของภาครัฐ นอกจากนั้นในช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาพบว่าภาคธุรกิจ SME มีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยปี 2564 SME เติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 13 เปอร์เซ็นต์จากปี 2563 ซึ่งมีการเติบโตที่สูงกว่าอัตราการเติบโตของภาคเศรษฐกิจโดยรวม นอกจาก SME จะมีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวมอย่างสูงแล้วการจ้างงานที่อยู่ในภาคส่วนของ SME ก็มีสัดส่วนที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับการจ้างงานของประเทศ โดยการจ้างงานของธุรกิจ SME มีจำนวนประมาณ 13 ล้านคนซึ่งคิดเป็นสัดส่วน  72% ของการจ้างงานทั้งประเทศนอกจากนั้นในปี 2564 การจ้างงานในภาค SME ยังขยายตัวประมาณ 6 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อน และหากมองในถึงภาคการส่งออกพบว่ามูลค่าการส่งออกของ SME อยู่ที่ประมาณ 684,000 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการส่งออกของประเทศไทย

นอกจากความสำคัญทางด้านการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ SME ยังเป็นภาคส่วนที่สำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศผ่านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยการใช้นวัตกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจให้สามารถแข่งขันในระดับสากลได้ ตามนโยบายการส่งเสริมภาคธุรกิจของรัฐบาลที่เรียกว่านโยบาย “อุตสาหกรรมเป้าหมายกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Engine of Growth)” หรือที่เราเรียกกันสั้นๆว่าการยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์ของธุรกิจไปสู่ New s-curve ใหม่ ซึ่งเป็นนโยบายที่เน้นในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำนวัตกรรมมาใช้ในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้นเพื่อให้เกิดการสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ซึ่งนโยบายนี้ยังเป็นหนึ่งในนโยบายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้วยเช่นกัน โดยการดำเนินงานเพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถบรรลุถึงการพัฒนาไปสู่ภาคเศรษฐกิจ New s-curve ใหม่ผ่านโครงการสร้างผู้ประกอบการอัจฉริยะซึ่งจะต้องมีการสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ SME ยุคใหม่ การสร้างโอกาสในการเข้าถึงตลาดใหม่ หรือ ตลาดสากล และที่สำคัญคือการสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงิน โครงการหรือแผนงานต่างๆเหล่านี้ต้องถูกขับเคลื่อนประกอบกันเพื่อทำให้ผู้ประกอบการมีความเข้มแข็ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว SME ไทยที่ไม่สามารถพัฒนาธุรกิจด้วยการใช้นวัตกรรมหรือการทำวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้เนื่องจากการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนเนื่องจากผู้ประกอบการถูกปฏิเสธสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจากการศึกษาขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ระบุว่าการปล่อยสินเชื่อให้กับ SME ในประเทศไทยมีผู้ประกอบการเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่สามารถผ่านการประเมินและกู้ยืมได้

นอกจากนั้น OECD ยังระบุอีกว่า SME ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันโดยเฉลี่ยสูงกว่าวงเงินสินเชื่อที่ขอถึง 5 เท่า โดยมูลค่าสินเชื่อที่ผู้ประกอบการทั้งหมดยื่นขอกู้จากธนาคารพาณิชย์มีมูลค่าทั้งหมด 4.46 ล้านล้านบาท มีเพียง 17 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้กู้ที่เป็นผู้ประกอบการ SME และมีจำนวน SME เพียง 50,000 กว่ารายหรือคิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของ SME ที่ยื่นขอกู้เท่านั้นที่ผ่านการประเมินจากสถาบันการเงิน ซึ่งสาเหตุหลักที่สถาบันการเงินไม่ปล่อยกู้ให้กับ SME คือ 1. การที่ SME  ไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกันที่เพียงพอ 2. SME ส่วนมากมีปัญหาเรื่องการจัดทำแผนธุรกิจ ไม่รู้ว่าจะเขียนแผนธุรกิจอย่างไร ขั้นตอนการเขียนเป็นอย่างไร 3. ผู้กู้ขาดประสบการณ์ทำธุรกิจหรืออาจมีประสบการณ์น้อย โดยในเหตุผลข้อนี้ธนาคารได้อธิบายว่าผู้ประกอบการที่ขาดประสบการณ์แล้วทางธนาคารจะสามารถมั่นใจได้อย่างไรว่าผู้ประกอบการจะสามารถนำพาธุรกิจให้ประสบความสำเร็จและไปรอดได้ ซึ่งเหตุผลนี้หากเป็นธุรกิจ startup แม้ว่าผู้ประกอบการจะมีไอเดียดีเพียงใดก็ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินได้เลย 4. SME ส่วนใหญ่ไม่มีประสบการณ์ในการกู้ทำให้ไม่มีประวัติทางด้านเครดิต หรือคะแนนเครดิตต่ำซึ่งธนาคารพาณิชย์อาจไม่มั่นใจเพราะผู้ประกอบการไม่มีประวัติการชำระหนี้หรือประวัติทางด้านเครดิตซึ่งทำให้กู้ไม่ผ่านได้เช่นกัน

ซึ่งกระบวนการวิเคราะห์สินเชื่อนี้จะแตกต่างจากการวิเคราะห์ของประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยสถาบันการเงินจะทำการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ของกู้ คือ 1. ข้อมูลทางการเงิน 2. ข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงิน เช่น คุณลักษณะของผู้ประกอบการความสามารถในการทำธุรกิจ ตัวอย่างเช่นระบบเครดิตบูโรในประเทศสิงคโปร์จะใช้ข้อมูล 2 ประเภท คือ 1. ข้อมูลจากการประเมินตามพื้นฐานการดำเนินการของกิจการเช่น ยอดขาย กำไร ROI ROE 2. ข้อมูลจากการประเมินขีดความสามารถของบุคคล เช่น ระดับของขีดความสามารถของผู้บริหาร ทัศนคติ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจในระบบออนไลน์หรือ Social Media เป็นต้น นอกจากนั้นจากข้อมูลงานวิจัยที่ผ่านมาพบว่าปัจจัยแห่งความสำเร็จของผู้ประกอบการจะไม่ได้มาจากข้อมูลทางการเงินอย่างเดียวเท่านั้น ผู้ปล่อยกู้ต้องนำปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจมาใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ความสามารถของผู้กู้มาประกอบด้วย สำหรับประเทศไทยทางสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ สสว. มีโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการประเมินความน่าเชื่อถือของ SME หรือ SME Credit Rating database  เพื่อพัฒนาระบบ SME Credit Rating ให้หน่วยงานภาครัฐสามารถนำเครื่องมือนี้มาใช้ในการประเมินขีดความสามารถของ SME เพื่อพิจารณาในการปล่อยสินเชื่อให้กับ SME ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งระบบ SME Credit Rating นี้มีการใช้ AI มาช่วยในการประเมินขีดความสามารถของผู้ประกอบการโดยเน้นไปที่การใช้ข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงิน ซึ่งข้อมูลจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนได้แก่ 1. ข้อมูลทางด้านขีดความสามารถในการเข้าสู่ตลาดสากล 2. ข้อมูลทางด้านขีดความสามารถทางด้านการตลาด โดยใช้ข้อมูลในส่วนของการเทรนนิ่งมาจากผู้ประกอบการ SME ที่ประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมต่าง ๆ จำนวนมากกว่า 500 ราย 

โดยจากการดำเนินงานใน 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า SME ที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจนั้นสามารถวัดได้จาก 1. ระดับของความเป็นมืออาชีพของผู้บริหาร 2. ค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาสินค้าหรือบริการ 3. ความมีเอกลักษณ์ของสินค้าและบริการ 4. กิจการมีการทำวิจัยเพื่อสำรวจความต้องการของผู้บริโภคหรือไม่ 5. กิจการมีการสำรวจความพึงพอใจของสินค้าหรือไม่รวมไปถึงเกลียดการมีเทคนิคที่กิจการใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการการผลิตสินค้าหรือไม่ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญ 5 อันดับแรกที่ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจพึงมี ดังนั้นหากสถาบันการเงินที่ปล่อยเงินกู้ให้ SME นำปัจจัยดังกล่าวไปใช้ในการประเมินการปล่อยสินเชื่อจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการ SME ดังนั้นหากมีการพัฒนาระบบนี้ต่อไปจะทำให้ภาครัฐหรือสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการ SME มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งหากผู้ประกอบการ SME สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมาจะส่งผลให้การพัฒนา SME ไปสู่การเป็นผู้ประกอบการอัจฉริยะที่มีการใช้นวัตกรรมได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นหากการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่ SME จะส่งผลให้ GDP ของประเทศจะมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นอีกประมาณ 10% – 15% ซึ่งหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วเช่นประเทศสิงคโปร์ซึ่งผลิตภัณฑ์มวลรวมของธุรกิจ SME อยู่ในระดับ 70 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ก็จะพบว่าระบบการประเมินขีดความสามารถที่เพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการ SME นั้นจะช่วยเพิ่มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศได้อีกมากด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ผู้เขียนคาดหวังว่าการเผยแพร่ และพัฒนาระบบประเมินขีดความสามารถของ SME ที่มีประสิทธิภาพจะสามารถสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ให้มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้อีกด้วย

คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ

ดร.พงษ์สุทธิ พื้นแสน

รองคณบดีฝ่ายบริหารและวางแผนยุทธศาสตร์

อาจารย์วิชาเอกการเงิน คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อาจารย์อุ๋ย' เตือนรัฐบาลรับมือสินค้าจีนทะลักรอบใหม่ ส่อหนักกว่าเดิม หลังทรัมป์ชนะเลือกตั้ง

นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการพิจารณา

สสว. เดินหน้าจับมือ ช้อปปี้ ผลักดันสิทธิประโยชน์ SME เน้นเสริมตลาดออนไลน์ ติดอาวุธองค์ความรู้สู่ตลาดสากล

สสว. เดินหน้าประสานความร่วมกับช้อปปี้ เสริมแกร่ง SME ภายใต้แนวคิด “SME Privilege Club คลับพิเศษสำหรับ SME” มุ่งเน้น 3 ด้านสำคัญ การเพิ่มผลิตภาพ/ลดต้นทุน การขยายช่องทางการตลาด และการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุน พร้อมสนับสนุนกิจกรรมเสริมประสบการณ์ตลาดออนไลน์แข่งขันในระ

“สสว.” เดินหน้าจับมือ “ช้อปปี้” จัดแคมเปญต่อเนื่อง “SUPER SME MARKET” ช้อปสะดวกทุกที่สินค้า SME คัดสรร โปรโมชันฉ่ำ!

สสว. ร่วมกับ ช้อปปี้ จัดแคมเปญออนไลน์ “SUPER SME MARKET” 16 สิงหาคม – 19 กันยายน 2567บนแพลตฟอร์มช้อปปี้ ชวนอุดหนุนสินค้าคัดสรรพิเศษจาก SME รับส่วนลดและโปรโมชันพิเศษตลอดแคมเปญ

สสว. ย้ำบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการส่งเสริม SME โดยจับมือกว่า 30 หน่วยงานร่วมกันส่งเสริม SME ภายใต้แผนปฏิบัติการส่งเสริม SME ปี 2567

นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวว่า สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)