ตอน ....สัตตาหกรณียะครั้งแรกในพรรษาปีพุทธศักราช ๒๕๖๕ สู่ หุบเขาสวัต (Swat Valley) ตามนิมนต์ของ ตระกูลออรังเซบ (Aurangzeb) เจ้าผู้ครองแว่นแคว้นสวัตรุ่นสุดท้าย
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ระหว่างวันที่ ๒๓-๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๕ เป็นห้วงเวลาที่อาตมาได้กระทำสัตตาหกรณียะตามพุทธานุญาต ด้วยมีเหตุอันควร ได้แก่ การไปฉลองศรัทธาตระกูลออรังเซบ... ที่มีหนังสือลงนามโดย Ms.Zenab Adnan ภรรยาของ Miangul Adnan Aurangzeb ผู้ล่วงลับ ซึ่งได้นิมนต์ไว้เมื่อปี ๒๕๖๒ ในครั้งแรกที่อาตมาเดินทางมาเยือนถิ่นอารยธรรมมรดกโลกพุทธศาสนาในอาณาจักรกุษาณะ .. แคว้นคันธาระ ทั้งนี้เพื่อขอให้ได้อัญเชิญ Bell of Peace มาประกอบศาสนพิธีอธิษฐานอำนาจธรรมให้เป็นไปเพื่อความสงบสุขของบ้านเมืองแผ่นดินสวัต.. ที่ Prince Adnan (Miangul Adnan) ท่านรักและผูกพันมาก
เมื่อได้ตัดสินใจเดินทางมาจำพรรษาประวัติศาสตร์ของคณะสงฆ์ในพุทธศาสนาบนแผ่นดินแว่นแคว้นคันธาระ ณ นครตักศิลา.. ในรัฐปัญจาบ สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ปัจจุบัน.. จึงได้นึกถึง Prince Adnan.. ที่ได้อาราธนานิมนต์ไว้ในครั้งนั้น
แต่เป็นที่น่าปลงสังเวชเป็นอย่างยิ่ง ในสภาพธรรมทั้งหลายที่ต้องเป็นไปตามกฎพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา... เมื่อได้ทราบข่าวการถึงแก่ชีวิตด้วยอุบัติเหตุบนท้องถนนของ Prince Adnan Aurangzeb .. เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ก่อนจะเดินทางมาจำพรรษา แต่ด้วยระลึกถึงความจริงใจ.. ความตั้งใจจริงของ Prince Adnan.. ที่อาราธนานิมนต์มาเยี่ยมเมืองสวัต เพื่อจะได้ประกอบศาสนกิจติดตั้ง Bell of Peace ที่พิพิธภัณฑ์เมืองสวัต จึงตกลงใจในการรับนิมนต์จากภรรยาของ Prince Adnan คือ Ms.Zenab Adnan และตระกูล Aurangzeb .. ที่ยังมีน้องชายของ Prince Adnan ๒ คน ซึ่งอยู่ด้านหลัง
๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๕ .. จึงได้ทำการสัตตาหกรณียะตามพุทธานุญาต ให้สามารถเดินทางออกจากเขตจำพรรษา ด้วยมีเหตุอันสมควรตามพระธรรมวินัยได้ ทั้งนี้ จะต้องไป-กลับภายใน ๗ วัน เพื่อเข้าสู่เขตอธิษฐานจำพรรษา.. การอธิษฐานจะได้ไม่ขาด.. ที่เรียกว่า ขาดพรรษา.. และอาจจะอาบัติ (บาปจากการกระทำผิดพระวินัย) ด้วย...
การออกเดินทางจากนครตักศิลา.. (หุบเขาตักศิลา) เมืองหลวงของแคว้นคันธาระในอดีต เพื่อเดินทางโดยรถยนต์ไปสู่เมืองสวัต.. ที่อยู่ในแว่นแคว้นคันธาระในอดีตเช่นเดียวกัน ซึ่งเกิดขึ้นโดยมีรถตู้ของสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำปากีสถานจัดถวายครั้งนี้ โดยมีพันเอก (พิเศษ) อดิศักดิ์ โชวิเชียร และภริยา (น.ส.หทัยรัตน์ วารีสมานคุณ) ติดตามไปถวายการดูแลในครั้งนี้ด้วย ซึ่งใช้เวลาในการเดินทางไม่นานนัก ประมาณ ๓ ชั่วโมงเศษๆ.. ไม่ถึง ๔ ชั่วโมง ไปบนถนนหลวงที่ตัดใหม่ผ่านเส้นทางด่วน ซึ่งออกจะสะดวกสบายในการเดินทางมากกว่าสมัยก่อนเป็นอย่างมาก...
เมื่อรถยนต์ที่นำพาไปวิ่งเข้าสู่พื้นที่หุบเขา Swat .. จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของทิวทัศน์สองข้างทางมากขึ้น.. โดยเฉพาะเสน่ห์ของเส้นทางที่ตัดลอดอุโมงค์เข้าสู่ทิวเขา.. หลายลูก.. หลายอุโมงค์.. มากกว่าในทุกที่.. ที่เคยเดินทางไป.. จึงได้รับความรู้สึกอีกแบบหนึ่งที่แปลกใหม่...
ข่าวสาร... ที่เคยฝังใจว่า กำลังเดินทางเข้าสู่พื้นที่สีแดงในเรื่องก่อการร้ายจากในอดีต ค่อยเจือจางหายไปจากจิตใจ.. ทิวทัศน์ที่สวยงามด้วยธรรมชาติได้เข้ามาแทน.. ยิ่งได้เห็นการปฏิสันถารดูแลอย่างดี.. ยิ่งเสริมสร้างความรู้สึกยินดียิ่งที่ได้มาเยือนหุบเขาสวัต.. ที่ร่ำลือว่า ดุจดังสวิตเซอร์แลนด์ในเอเชีย... ที่มีวิวทิวทัศน์สวยงามที่สุดในปากีสถาน...
หุบเขาสวัต (Swat Valley) ... เมื่อมองดูด้วยสายตาจะเห็นสภาพเป็นหุบเขาขนาดใหญ่สลับซับซ้อน ออกจะคล้ายอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ใต้สุดสยามของประเทศไทยเรา... โดยข้อมูลทางการได้ระบุว่า.. หุบเขาสวัตมีพื้นที่โดยรวมกว่า ๑๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ตั้งอยู่ในรัฐ KP (Khyber Pakhtunkhwa) ทางด้านชายแดนตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งชาวปากีสถานภาคภูมิใจยิ่งว่า.. เป็นดินแดนอุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำและดิน.. อันเหมาะแก่การทำกสิกรรม.. เกษตรกรรม.. จึงได้เห็นป้ายข้างทางบอกชื่อมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งใน Swat ว่าเป็น University of Agriculture…
วิวทิวทัศน์ที่นั่งรถผ่านเข้าไปสู่หุบเขาสวัต ยังสวยงามตระการตา ด้วยสันเขาสูง โตรกธาร หมู่บ้านชุมชนที่ผุดเป็นหย่อมๆ .. ไปตลอดแนวทิวเขา ให้เห็นกระจัดกระจายไปตามไหล่เขา
ภูมิประเทศของหุบเขาสวัต.. จึงมีทั้งที่ราบลุ่มหุบเขา ที่ราบสูง และพื้นที่บนยอดเขาสูงที่มีหิมะปกคลุมไปตลอดทั้งปี... ออกจะดูละม้ายคล้ายกับโพคาราในเนปาล... แต่กลิ่นอายอารยธรรม.. นั้น... แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง.. ด้วย ๒ ข้างทางที่ต้องจอดแวะลงไปทัศนศึกษาและสักการบูชาสถูปเก่าแก่.. พระพุทธรูปที่แกะสลักบนโขดหินตามภูเขา.. ที่มีจำนวนมากมาย.. อันเป็นหลักฐานที่รับรองข้อมูลประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติได้ว่า... เป็นแผ่นดินที่พุทธศาสนาเคยรุ่งเรืองสูงสุดมาก่อนแน่นอน.. ในสมัยคันธาระ.. เป็นอาณาจักรพุทธศาสนาอันยิ่งใหญ่ ไม่ด้อยไปกว่าแคว้นมคธในมัชฌิมประเทศเลย.. ก็ว่าได้..!!
ในระหว่างทางที่เข้าสู่หุบเขาสวัต.. คณะผู้ดูแลได้ขอนิมนต์แวะพักริมแม่น้ำสวัต ที่ไหลรินเย็นใจใสสะอาดมาจากภูเขา... ก่อนจะเดินทางไปแวะสักการะ Shingardar Stupa.. ซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ห่างจากถนนใหญ่เข้าไปประมาณไม่น่าเกิน ๑ กิโลเมตร แต่หนทางที่คดเคี้ยวเลี้ยวไปมาในหมู่บ้านการเกษตรขนาดย่อม.. ให้แลดูเป็นที่ยากต่อการสัญจรไปเยือนโดยไม่มีคนรู้เส้นทาง.. นำทาง...
เมื่อได้เห็น ชินการ์ดาร์สถูป (Shingardar Stupa) ให้หวนนึกไปถึง ธัมเมกขสถูป ที่มีลักษณะทรวดทรงองค์เอวคล้ายกันมาก แม้ขนาดจะต่างกัน.. อันแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชที่แผ่ไปทั่วชมพูทวีป.. จริงๆ!!
ตามประวัติ สถูปดังกล่าวบูรณะล่าสุดเมื่อปี ๑๙๗๒ มีความสูงประมาณ ๓๐๐ ฟุต ความกว้างที่ส่วนยอด ๙๗ ฟุต พื้นฐานล่างวัดโดยรอบมีขนาด ๔,๔๐๐ ฟุต โดยมีประวัติทางโบราณคดีเขียนบันทึกแสดงไว้เป็นหลักฐานในการศึกษาว่า พระราชาอุตระ ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้ามาบนหลังช้าง เพื่อไปสู่สถานที่แห่งหนึ่ง แต่เมื่อช้างพาหนะเชือกดังกล่าวเดินทางมาถึงบริเวณนี้ได้ล้มตายลง โดยไม่ทราบสาเหตุ ร่างของช้างกลายเป็นศิลาขนาดใหญ่
พระราชาอุตระจึงได้สร้างพระเจดีย์และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ ณ พุทธเจดีย์แห่งนี้!!
ในวันนั้น (๒๓ ก.ค.๒๕๖๕) เมื่อรถยนต์ที่นั่ง.. เข้าสู่พื้นที่ดังกล่าว ได้มีประกายสายฝนเป็นละอองสาดลงมาเบาๆ ท่ามกลางอากาศที่สว่าง ไม่ได้มีอาการใดๆ ว่าฝนฟ้าจะตก.. มีแสงแดดส่องตามปกติ.. ฝนเป็นนิมิตอันหนึ่งที่แสดงความเป็นมงคลในทุกครั้ง เมื่อเข้าสู่การสักการบูชา.. พระรัตนตรัย... ในสถานที่สถูปพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ .. ในทุกหนทุกแห่ง
เมื่อได้ชื่นชมพระสถูปที่ตั้งตระหง่านท้าทายแดดลมฝนมาพอสมควรแล้ว.. จึงเห็นสภาพที่ถูกรื้อค้นทำลายจากน้ำมือของมนุษย์ในแต่ละยุคสมัย โดยเฉพาะคนในท้องถิ่น ที่ไม่เข้าใจในคุณค่าของโบราณสถานเหล่านี้ที่มีอายุมายาวนานร่วมสองพันปี โดยยังมีสภาพที่พอให้เห็นในความเป็นโบราณสถานของพุทธศาสนาจากซากปรักหักพัง ดังที่เป็นเนินสถูปโบราณไว้ให้ดูต่างหน้า... จึงอุทานในใจว่า... เป็นไปได้อย่างไรกับสภาพที่ยังคงสมบูรณ์ในเชิงของโบราณคดี ให้ได้ดำรงอยู่ให้เห็นถึงปัจจุบันนี้.. ซึ่งเหตุผลอันหนึ่งที่จะเป็นหลักฐานในเชิงอ้างอิงได้อย่างแท้จริง คือ การที่รัฐบาลปากีสถาน โดยกองโบราณคดีใน KP (Khyber Pakhtunkhwa) ได้เข้ามาทำนุบำรุงดูแลรักษาอย่างจริงจัง และดูแลป้องกันบูรณะได้ทันเวลา.. จึงยังไม่ถูกทำลายจากชาวบ้านจนสูญสิ้นสภาพไปยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ ดุจดังที่หลายแห่งนั้น สภาพของความเป็นโบราณสถานได้สูญสิ้นไปจนไม่เหลือร่องรอย....
สถูปชินการ์ดาร์.. แห่งนี้ หากได้รับการบูรณะจากผู้มีความรู้ทางโบราณคดีอย่างดี ถูกต้องตามหลักศิลปะในยุคสมัย.. ย่อมจักสวยงามและทรงคุณค่ายิ่ง.. ต่อจิตวิญญาณของชาวพุทธ.. ทั่วโลก.....
ก่อนออกจากชินการ์ดาร์สถูป.. ได้แวะไปถ่ายรูปกับเด็กๆ ชาวปากีสถานตอนเหนือ ที่มีผิวพรรณวรรณะออกไปทางเอเชียกลาง.. ยุโรป ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากกรีก ที่เข้ามาปกครองพื้นที่ในสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ที่ทิ้งให้แม่ทัพนายกอง.. ปกครองดูแลบ้านเมืองแถบนี้ ก่อนพระองค์จะเสด็จกลับ... และไปสวรรคตในระหว่างทางผ่านเข้าสู่ หุบเขาบามิยัน.. ที่ตั้งอยู่ในอัฟกานิสถาน ปัจจุบัน
เมื่อรถยนต์เข้าสู่เส้นทาง เพื่อเดินทางต่อไป.. ในระหว่างทางได้แวะลงไปสักการะ Ghaligai Buddha ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสลักบนศิลาภูเขาขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่เชิงเขา เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิขนาดใหญ่ ยังคงเหลือร่องรอยของความเป็นพุทธศิลป์คันธาระได้เห็น... โดยเฉพาะจากเส้นลายแสดงริ้วจีวรที่ยังสมบูรณ์.. ส่วนพระพักตร์ .. พระเศียร ถูกทำลายสิ้น คล้ายๆ กับทุกแห่ง.... (ติดตามอ่านตอนต่อไป).
เจริญพร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..
รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ
เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก
ประมาทไม่ได้เลย คือ จิตของเรา!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีพระภาษิตบทหนึ่งกล่าวว่า..
คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!
เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย
ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?
การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก
ขบวนการแพทย์ชนบท กับรางวัลแมกไซไซ ปี 2024 ทิศทางพัฒนาระบบสุขภาพไทย
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คือวันเสาร์ที่ 16 พ.ย. คณะผู้แทน”ขบวนการแพทย์ชนบท” ได้เดินทางไปรับรางวัลแมกไซไซ ประจำปี 2024