คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่มี ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ เป็นประธาน กสทช.คนปัจจุบัน เข้าปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการไปเมื่อช่วงเมษายน 2565
โดย กสทช.ชุดปัจจุบันเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2564 ซึ่งจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี บนการจับตามองของสังคมว่า กสทช.ชุดปัจจุบันจะทำหน้าที่ได้อย่างที่สังคมคาดหวังไว้หรือไม่ ในภารกิจกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่กลุ่มทุนหรือผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่ง
ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. คนแรกที่มาจากวงการแพทย์-สาธารณสุข เพราะก่อนหน้าจะมาเป็นประธาน กสทช. ชื่อของ นพ.สรณ เป็นที่รู้จักกันดีในวงการแพทย์ ในฐานะอาจารย์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคหัวใจ
และเมื่อวันนี้ลาออกจากการเป็นอาจารย์-แพทย์ มารับตำแหน่งประธาน กสทช. ภารกิจต่อจากนี้ในฐานะประธาน กสทช. นพ.สรณ บอกว่าหน้าที่หลักของ กสทช. คือการกำกับดูแลนโยบายด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ โครงข่ายและคลื่นวิทยุ รวมถึงกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สูงสุดของชาติและประชาชน
...โดยภาระหน้าที่หลักคือ การพัฒนาการระบบโครงข่ายการสื่อสารเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยกรรมการทั้ง 7 คนได้รับการคัดเลือกมาตามความเหมาะสมในมิติทั้ง 7 ด้าน โดยที่เราเน้นความสำคัญในทุกด้าน โดยในฐานะประธานมีหน้าที่เพิ่มเติมคือ พัฒนาศักยภาพองค์กร หน่วยงานของสำนักงาน กสทช.เพื่อให้มีประสิทธิภาพ รองรับกับการให้บริการประชาชน
เมื่อถามถึงมีฉากทัศน์ในเรื่องกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จากนี้ไปอีก 6 ปีในช่วงการทำหน้าที่ประธาน กสทช.อย่างไร เพื่อทำให้เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศไปสู่สังคมดิจิทัล อีกทั้งเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกประชาชนในการเข้าถึงโอกาสต่างๆ เช่น การศึกษา การสาธารณสุข ประธาน กสทช. กล่าวตอบว่า ด้วยศักยภาพและความรู้ของกรรมการที่ครอบคลุมมิติทั้ง 7 ด้าน ในฐานะที่ได้รับความไว้วางใจได้รับเลือกเป็นประธาน ทางคณะกรรมการเชื่อว่าจะพัฒนาศักยภาพโครงข่ายโทรคมนาคมและการสื่อสาร และกิจการโทรทัศน์และกระจายเสียงของประเทศ ให้ไปสู่ยุคสังคมเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อขยายขีดความสามารถของสังคมผ่านการพัฒนาไปควบคู่กับการแข่งขันที่เท่าเทียม
...โดยยึดมั่นถึงหลัก Integrity ขององค์กร สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนและสังคม ว่าเราจะดูแลผลประโยชน์ให้เขา และสามารถกำกับดูแลกิจการให้มีความยุติธรรมและเท่าเทียม เป็นไปตามกฎหมาย และต้องมั่นใจว่ากฎหมายที่เราบังคับใช้นั้นมีความเป็นธรรม และพัฒนาควบคู่ไปกับเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เพื่อคงความเป็นผู้นำอาเซียนในด้านเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล หากเราสามารถขยายการครอบคลุมและทั่วถึงของโครงข่าย การแก้ปัญหาคอขวดในด้านต่างๆ ก็จะทำได้ง่ายขึ้น ทั้งด้านการศึกษาและสาธารณสุข ซึ่งจะอำนวยความสะดวกรัฐบาลในการดำเนินการพัฒนาประเทศตามนโยบายต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
-จากสถานการณ์โรคระบาดโควิด ที่วงการแพทย์ก็ยังบอกว่าในอนาคตอาจจะเกิดโรคระบาดใหม่ๆ อีกก็ได้ มองว่าเรื่องงานของ กสทช.จะสามารถทำให้ประเทศไทยและวงการแพทย์ สาธารณสุข รวมถึงวงการอื่นๆ สามารถเตรียมรับมือกับวิกฤตโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะการใช้กับ Telemedicine?
ตามสถิติการระบาดของโรคร้ายแรงมีวงจรของมันเอง ในทุกระยะ 10-100 ปี โรคระบาดโควิด-19 ก็ได้ช่วยให้เราเรียนรู้ความสำคัญของการใช้ระบบสื่อสารและระบบดิจิทัล รวมถึงการใช้สื่อสารมวลชนดิจิทัลในการบริหารจัดการระบบสาธารณสุข ซึ่งเราสามารถนำมาพัฒนาเพื่อใช้ในการให้บริการสาธารณสุขได้
จากประสบการณ์ที่เป็นแพทย์และอาจารย์หมอมากว่า 40 ปี ได้เห็นวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการรักษาชีวิตและเพิ่มคุณภาพชีวิตคนมาโดยตลอด เมื่อเข้ายุคสังคมดิจิทัล เทคโนโลยีการรักษาต่างๆ สามารถเข้าถึงได้ด้วยโครงข่ายโทรคมนาคม การเชื่อมโยงองค์ความรู้สามารถทำได้เร็วขึ้น การพัฒนาสื่อต่างๆ ก็เป็นเครื่องช่วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ผมจะนำเอาประสบการณ์ตรงนี้มาเพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยทุกคน
-หลังจากเข้ารับตำแหน่งประธาน กสทช. ได้วางนโยบายการทำงานไว้อย่างไร ในช่วงการทำหน้าที่เป็น กสทช. 6 ปีนับจากนี้ ทั้งนโยบายเร่งด่วน นโยบายระยะปานกลาง และนโยบายระยะยาว?
นโยบายที่ให้คือ Integrity Justice and Equality ความน่าเชื่อถือ ความยุติธรรม และความเท่าเทียม องค์กรต้องทำให้ประชาชนเชื่อมั่นได้ว่าจะรักษาผลประโยชน์ให้กับประเทศ และบังคับใช้กฎหมายให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เอกชนและประชาชนมั่นใจถึงนโยบาย และการพัฒนาที่จะช่วยเอื้อตลาดให้เติบโต รวมถึงเพิ่มการใช้ประโยชน์ของโครงข่ายให้เข้าถึงพี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคน
โดยในระยะเร่งด่วนคือ การสร้างความเชื่อมั่นในองค์กร การสร้างนิติธรรม และธรรมาภิบาลองค์กร ปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างองค์กรให้เติบโตขึ้นตามยุคสมัยในทันที ใช้งบประมาณให้คุ้มค่าผ่าน Lean Management-Transform องค์กรให้เป็นองค์กรตัวอย่างชั้นนำ ที่เดินหน้าไปสู่ยุคสมัยของโลกหลังโรคระบาดโควิด-19 นำ รวมถึงนำ lesson learnt จากวิกฤตต่างๆ มาพัฒนาเป็นองค์ความรู้
ในระยะกลางคือ การพัฒนาบุคลากรให้นำสมัย และองค์กรให้มีเอกภาพ และพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ๆ ให้เข้าถึงโอกาส รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลให้สอดรับกับการใช้งานที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยต้องทำให้โครงสร้างพื้นฐานสามารถขยายการเข้าถึงและครอบคลุมการใช้งานของพี่น้องประชาชนทุกคน
นอกจากนี้ องค์กรจะต้องเป็นส่วนสำคัญในการช่วยสนับสนุนการเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาคุณภาพสื่อมวลชน และเทคโนโลยีการกระจายภาพและเสียงให้พร้อมสำหรับการแข่งขันในยุคดิจิทัล
และระยะยาวคือ พัฒนากฎหมายและกฎระเบียบที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาธุรกิจและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง มองไปยังอนาคตในยุคอวกาศ การเตรียมการสำหรับยุค 6G internet-from-the-sky Quantum Computing Machine learning และ AI
ถามต่อไปว่า ในฐานะประธาน กสทช. มีหลักการทำหน้าที่อย่างไรในเรื่องการบริหารคลื่นความถี่ ส่งเสริมกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมของประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ อีกทั้งเพื่อคุ้มครองประชาชนผู้ใช้บริการให้ได้รับความเป็นธรรม ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ ประธาน กสทช. กล่าวว่า ยึดตามแนวนโยบายที่ให้ไว้ คณะกรรมการทุกคนเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และยึดมั่นในคุณธรรม ทุกอย่างต้องโปร่งใสและยุติธรรม หลักการนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่พี่น้องประชาชนได้ โดยที่จะนำประสบการณ์ในการบริหารงานต่างๆ มาบริหารองค์กรเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาการสื่อสาร และการเข้าถึงข้อมูลให้ประชาชนได้รับรู้การพัฒนาในด้านต่างๆ และสร้างการตระหนักรู้ถึงสิทธิและเสรีภาพที่ประชาชนพึงมีมากขึ้น
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ ประธาน กสทช.สมัครเข้ารับการสรรหาเป็น กสทช.และได้รับเลือกเข้ามาเป็นกสทช.ด้านคุ้มครอง เราจึงถามไปว่า มองว่าที่ผ่านมาผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองดูแลสิทธิต่างๆ เช่น การใช้บริการกิจการโทรคมนาคมในราคาที่เป็นธรรม และมีการปกป้องสิทธิส่วนบุคคลมากน้อยแค่ไหน เพราะที่ผ่านมาก็มักจะมีเรื่องร้องเรียนต่างๆ จากผู้บริโภคอยู่เสมอ โดยเฉพาะผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ และจะมีนโยบายในเรื่องการดูแลผู้บริโภคอย่างไร โดย ประธาน กสทช. ย้ำว่า โลกสมัยนี้เราเรียกว่ายุค VUCA ความอ่อนไหว (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความซับซ้อน (Complexity) และความสับสน (Ambiguity) ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ถูกใช้ในการมองความสัมพันธ์ต่างๆ ในโลกนี้
โดยในยุคนี้ อาวุธสมัยใหม่ไม่ใช่กระสุนดินปืน แต่เป็น Digital Warfare ที่ใช้ข้อมูล การเข้าถึง และโครงข่าย เป็นอาวุธและเป้าหมายในการโจมตี การสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจในระบบจะช่วยรักษาความมั่นคงของประเทศ สนับสนุนหน้าที่ของรัฐในการพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพของประชาชน และส่งเสริมการลงทุนในระยะยาว ซึ่งเป็นผลดีกับระบบเศรษฐกิจและสังคม การดูแลข้อมูล ระเบียบและกฎหมายในการจัดเก็บ ตรวจสอบ และการนำไปใช้ข้อมูล จึงจำเป็นจะต้องได้รับการพัฒนาและบังคับใช้โดยเร็ว
ในส่วนของประชาชน เครื่องมือสื่อสารกลายเป็นปัจจัยหลักในชีวิต การเข้าถึงจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ราคาการให้บริการต้องเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมกับรายได้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าพี่น้องประชาชนจะสามารถเข้าถึงโลกในยุคสมัยแห่งดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึงอย่างแท้จริง
-ภารกิจสำคัญๆ ของ กสทช. โดยเฉพาะภารกิจเฉพาะหน้าที่ต้องดำเนินการโดยเร็ว เท่าที่มองเห็นในปัจจุบันมีอะไรบ้าง?
ภารกิจสำคัญที่ต้องดำเนินการ ได้แก่ การรวมกิจการระหว่างทรูกับดีแทค, การประมูลคลื่นความถี่ฯ, การประมูลสิทธิวงโคจรดาวเทียม, การแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และสายสัญญาณที่ต้องได้รับการจัดระเบียบ
ส่วนเรื่องการควบรวมกิจการของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ประธาน กสทช. กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบเพราะมีผลกระทบหลายด้าน กสทช.ชุดนี้ให้ความสำคัญ ได้ประชุมหารือและได้กำหนดแนวทางในการดำเนินการ โดยได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อวิเคราะห์การรวมธุรกิจ 4 ชุด (4 ด้าน) 1.ด้านกฎหมาย 2.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง 3.ด้านเทคโนโลยี 4.ด้านเศรษฐศาสตร์ และจะจัดประชุม Focus Group เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง 2.กลุ่มนักวิชาการ 3.กลุ่มผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป
สำหรับภารกิจสำคัญเรื่องอื่นๆ อาทิ เรื่องการประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมฯ ฯลฯ ตอนนี้ กสทช.ได้มอบหมายให้สำนักงานนำเสนอแผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมแผนแม่บนการบริหารคลื่นความถี่ กฎหมาย และการดำเนินการต่างๆ ที่ผ่านมาให้ กสทช.รับทราบเพื่อกำหนดทิศทางในการดำเนินการต่อไป
ส่วนบทบาทของ กสทช.ในการเข้าไปดูแลควบคุมเนื้อหาหรือ content ของสื่อโทรทัศน์ ประธาน กสทช. บอกว่า กสทช.ไม่มีนโยบายในการควบคุมเนื้อหาของสื่อโทรทัศน์ เนื่องจากกฎหมายให้สื่อมวลชนกำกับดูแลกันเอง
“สื่อมวลชนมีสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอเนื้อหาข่าวสารที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย และศีลธรรมอันดี หากประชาชนผู้รับข่าวสารเห็นว่าเนื้อหาข่าวสารที่สื่อมวลชนนำเสนอไม่เหมาะสม รุนแรง ฯลฯ ก็สามารถร้องเรียนมาให้ กสทช.ตรวจสอบเนื้อหาเหล่านั้นได้ อันนี้ถือเป็นการกำกับดูแลของ กสทช.
-เรื่องของแผนโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือโทรคมนาคมโดยทั่วถึง ที่หมดอายุในเดือนพฤษภาคมปี 2565 ที่ กสทช.ชุดใหม่ต้องทําแผนฉบับใหม่ขึ้นมา ซึ่งจะต้องมีการกําหนดงบประมาณเพื่อไปเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงฯ หรือ USO จากผู้ประกอบการ กสทช.จะมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไร?
กสทช.ได้มีการพิจารณาแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ฉบับที่ 3 (แผน USO ฉบับที่ 3) เพื่อนำมาใช้งานเป็นการชั่วคราว เนื่องจากแผนฉบับที่ 2 หมดอายุในเดือน พ.ค.65 แต่ กสทช.ตระหนักถึงความสำคัญของแผนดังกล่าว จึงได้กำหนดให้แผนดังกล่าวมีอายุเพียง 1 ปี เพื่อที่จะรับฟังเสียงสะท้อนจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ภาคอุตสาหกรรม และผู้บริโภค เพื่อนำมาปรับปรุงแผน หลักเกณฑ์ต่างๆ กฎหมายที่จะบังคับใช้ให้มีความเหมาะสมต่อไป.
.....................................................................................................................................................
บิ๊กดีลควบรวมกิจการ ทรู-ดีแทค
บอร์ดใหญ่ กสทช.
รอรับรายงานผลศึกษา 3 ส.ค.
สำหรับการทำงานของ กสทช.ชุดปัจจุบัน เรื่องสำคัญที่หลายฝ่ายทั้งวงการธุรกิจ วงการโทรคมนาคม และประชาชน ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ รวมถึงเครือข่ายอื่นๆ ของสองบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการโทรคมนาคม นั่นก็คือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ที่มีแผนธุรกิจในการควบรวมกิจการเข้าด้วยกัน และขณะนี้อยู่ระหว่างการรอพิจารณาจากคณะกรรมการ กสทช.ชุดปัจจุบัน
โดยความคืบหน้าของเรื่องนี้เริ่มงวดเข้ามาเรื่อยๆ และต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคือวันที่ 26 ก.ค. คณะกรรมการ กสทช.ชุดปัจจุบัน ทั้ง 5 คนมีการเปิดเวทีพบปะสื่อมวลชน เพื่อแถลงผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงพูดถึงภาพรวมการทำงานของ กสทช.ชุดปัจจุบันกับสื่อมวลชนเป็นครั้งแรก
ซึ่งวันดังกล่าว ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงเรื่องดีลควบรวมระหว่างทรูกับดีแทคไว้ โดยสื่อมวลชนได้นำเสนอบทสัมภาษณ์ดังกล่าวมีเนื้อหาโดยสรุปว่า ในวันพุธที่ 3 ส.ค. สำนักงาน กสทช.จะรวบรวมผลการศึกษาทั้งหมดในเรื่องดังกล่าวนำเสนอให้บอร์ดพิจารณา โดยจะมีผลการศึกษาพิจารณาของคณะอนุกรรมการทั้ง 4 ชุดที่มีการตั้งขึ้น รวมถึงผลการจัดทำโฟกัสกรุ๊ป และการศึกษาของหน่วยงานภายนอก เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น และหลังจากนี้ก็อยู่ที่กรรมการแต่ละคนว่าจะใช้เวลาแค่ไหนในการพิจารณา และย้ำว่ายืนยันได้ว่าการพิจารณาเรื่องนี้จะไม่ยืดเยื้อ และไม่มีธงอย่างแน่นอน การพิจารณามีกฎหมายที่ต้องเดินตาม
ทั้งนี้ พบว่าก่อนหน้านี้เมื่อช่วง 22 ก.ค.65 มีการเสนอข่าวและรายงานข่าวบางส่วนระบุว่า คณะอนุกรรมการ 4 คณะที่แต่งตั้งโดย กสทช.เพื่อศึกษากรณีการขอควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด ได้ลงมติคัดค้านการรวมกิจการครั้งนี้ โดยมีมติ 3 : 1 โดยคณะอนุกรรมการด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง คณะอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ และคณะอนุกรรมการด้านเทคโนโลยี ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการ ขณะที่คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายเห็นด้วย
ทำให้ต่อมาสำนักงาน กสทช.ได้มีการชี้แจงกับสื่อมวลชนว่า ข่าวดังกล่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เนื่องจากการสรุปผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการทั้ง 4 ชุดยังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลโดยสำนักงาน ซึ่งจำเป็นต้องประมวลข้อมูลจำนวนมากทั้งจากการประชุมของคณะอนุกรรมการทั้ง 4 ชุด การจัดทำโฟกัสกรุ๊ปกับกลุ่มผู้เกี่ยวข้องต่างๆ และรายงานผลการศึกษาจากที่ปรึกษาทางวิชาการที่สำนักงาน กสทช.ได้มีการจัดจ้างไป
สำนักงาน กสทช.ยังชี้แจงอีกว่า สำนักงานได้มีการเสนอบอร์ด กสทช.เพื่อขยายเวลาออกไปอีก เนื่องจากจัดทำข้อมูลเป็นรายงานไม่ทัน ที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 18/2565 เมื่อวันที่ 18 ก.ค.65 จึงมีมติให้ขยายระยะเวลาในการจัดทำรายงานความเห็นกรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ของสำนักงาน กสทช.ออกไปจนถึงวันที่ 3 ส.ค.65 ตามที่สำนักงานเสนอ
“กระแสข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง ระหว่างนี้สำนักงาน กสทช.กำลังรวบรวมข้อมูลรายงานความเห็นของคณะอนุกรรมการทั้ง 4 คณะ ตลอดจนความเห็นของที่ปรึกษาเพื่อจัดทำรายงานความเห็นของสำนักงานเสนอที่ประชุม กสทช.ในวันที่ 3 ส.ค.65” ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.กล่าว
และวันเดียวกัน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (True) ได้ชี้แจง กรณีข่าวล้มดีลควบรวม "ทรู-ดีแทค" ซึ่งไม่มีการอ้างอิงชื่อของแหล่งข่าว โดยบอกว่าข่าวดังกล่าวสร้างความเข้าใจผิดต่อนักลงทุนและประชาชนทั่วไป ทำให้เกิดความเสียหายต่อบริษัท บริษัทได้ส่งหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ชี้แจงว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด และการควบบริษัทยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของบอร์ด กสทช. อีกทั้งนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวช่วงบ่ายของวันที่ 22 ก.ค.65 ยืนยันว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง และยังไม่ได้รับรายละเอียดหรือผลจากอนุกรรมการทั้ง 4 ชุด
“บริษัทอยากให้ความเชื่อมั่นว่า บริษัทได้ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายอย่างครบถ้วนแล้ว และหากมีความคืบหน้าเพิ่มเติมจะแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ในลำดับถัดไป”
อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้ว บิ๊กดีลควบรวมกิจการระหว่าง ทรู-ดีแทค คณะกรรมการ กสทช.จะมีท่าทีอย่างไร จะไฟเขียวหรือไม่ หรือจะติดเบรกการควบรวมกิจการดังกล่าว เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป แต่เรื่องนี้เห็นได้ชัดว่า เป็นหนึ่งในเผือกร้อน-งานสำคัญที่รอให้กรรมการ กสทช.ชุดปัจจุบันชี้ขาดตัดสินใจ ส่วนผลการพิจารณาและลงมติของ กสทช.จะออกมาอย่างไร ยังไงต้องมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยตามมา ที่ต้องดูกันว่า กสทช.จะมีคำตอบและเหตุผลในเรื่องนี้อย่างไร.
...........................................................
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ลึกสุดใจ. ”พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ผบ.ตร.” ยึดกฎกติกา ไม่กลัวทุกอิทธิพล
ถึงตอนนี้ "พลตํารวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ หรือ บิ๊กต่าย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" ได้ทำหน้าที่ ผบ.ตร.อย่างเป็นทางการมาร่วมสามเดือนเศษ ส่วนการทำงานต่อจากนี้ ในฐานะ"บิ๊กสีกากี เบอร์หนึ่ง-รั้วปทุมวัน"จะเป็นอย่างไร?
2 สว. “ชาญวิศว์-พิสิษฐ์” ปักธงพิทักษ์รธน. ปกป้องสถาบันฯ พวกเราเป็นอิสระ ไม่มีรับใบสั่ง
กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูยเพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ต้องการทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น
ก้าวย่างออกจากปัญหา .. ของประเทศ!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา... คำกล่าวที่ว่า.. “เมื่อสังคมมนุษยชาติขาดศีลธรรม.. ย่อมพบภัยพิบัติ.. เสื่อมสูญสิ้นสลาย..” นับว่าเป็นสัจธรรมที่ควรน้อมนำมาพิจารณา.. เพื่อการตั้งอยู่ ดำรงอยู่ อย่างไม่ประมาท...
เหลียวหลังแลหน้า การเมืองไทย จาก 2567 สู่ 2568 ส่องจุดจบ ระบอบทักษิณภาค 2
รายการ"ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด"สัมภาษณ์ นักวิชาการ-นักการเมือง สองคน เพื่อมา"เหลียวหลังการเมืองไทยปี 2567 และแลไปข้างหน้า
วิปริตธรรม .. ในสังคม!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. เลียบบ้านแลเมือง มองดูเข้าไปในหมู่ชนของบ้านเรา.. ในยามที่นักการเมืองเป็นใหญ่ มีอำนาจวาสนาบริหารราชการแผ่นดิน จึงได้เห็นความไหลหลงวกวนของหมู่ชน ที่สาละวนอยู่กับการแสวงหา เพื่อให้ได้มาใน ลาภ สักการะ ยศ สรรเสริญ สุข.. ไม่เว้นแม้ในแวดวงนักบวชที่มุ่งแสวงหามากกว่าละวาง
ธุรกิจคาสิโนถูกกฎหมาย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักเกี่ยวพันผู้มีอำนาจทางการเมือง
เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานเผยแพร่ผลการศึกษาผลกระทบของคาสิโนถูกกฎหมายต่อการฆาตกรรมและการข่มขืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้