เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. การเดินทางไปทัศนศึกษาที่ Sirkap .. เมืองโบราณใน ๓ แห่งที่ถูกขุดค้นพบโดย Sir John Marshall นักโบราณคดีชาวอังกฤษที่ได้ทำการขุดค้นเมืองตักศิลา (Taxila) ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๖ – ๒๔๗๗ .. จึงนับว่ามีคุณค่าเป็นอย่างยิ่งต่อการเห็นภาพรวมของการส่งสืบต่อแหล่งอารยธรรม โดยเฉพาะทางพระพุทธศาสนาในพื้นที่นครตักศิลา ก่อนจะถูกทำลายอย่างย่อยยับในพุทธศตวรรษที่ ๑๑ (ราวคริสต์ศตวรรษที่ ๕)
ในเช้าวันอาทิตย์ที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕ อาตมาจึงได้เดินสำรวจพื้นที่ซากเมืองโบราณ Sirkap พร้อมเจ้าหน้าที่ของกองโบราณคดีตักศิลา เพื่อทัศนะผังเมืองที่ยังปรากฏอยู่ทางโบราณคดี ที่แสดงให้เห็นความเป็นเมืองหลวงโบราณหมายเลข ๒ ใน หุบเขาตักศิลา แห่งนครตักศิลา ที่สร้างต่อเติมขึ้นโดยทหารชาวแบคเตรียกรีกของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช เมื่อ ๑๙๐ ปีก่อนคริสตกาล จนเมืองดังกล่าวได้รับฉายาว่า Acropolis of Taxila ด้วยผังเมืองที่ลอกเลียนแบบกันมาจากเมืองกรีก.. ที่มีลักษณะเป็นผังเมืองสี่เหลี่ยม มีถนนผ่ากลางจากเหนือสู่ใต้ โดยมีบ้านเรือน ร้านค้า ชุมชน.. สถานที่ทางศาสนา.. และพื้นที่สวนสาธารณะ วางเรียงรายอยู่สองฟากฝั่งอย่างมีระเบียบ กำแพงก่อด้วยหินสูงใหญ่
เมื่อเดินผ่านย่านชุมชนตรงไปทางเหนือ จะเข้าสู่เขตพระราชวังของกษัตริย์ผู้ปกครองที่มีที่ตั้งอยู่บนเนินขนาดย่อม ลักษณะปราสาทราชวังวางอยู่บนเนินสวยงาม สามารถมองสอดส่องลงมายังตัวเมือง Sirkap ได้อย่างทั่วถึง... นามว่า พระเจ้ากุนาละ .. อุปราชแห่งแคว้นมคธ.. ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช เคยประทับอยู่ที่นครตักศิลา.. ณ เมือง Sirkap แห่งนี้.. นักโบราณคดีจึงพากันเรียกเนินพระราชวังโบราณดังกล่าวว่า.. Royal Palace of King Kunala..
หากจะเชื่อมโยงรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชกับพระนครตักศิลา แคว้นคันธาระ.. ๑ ใน ๑๖ มหาชนบทในชมพูทวีป ก็คงต้องย้อนกลับไปประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒–๓ ในสมัยโมริยวงศ์ ปกครองมคธชนบท ตลอดถึงแว่นแคว้นน้อยใหญ่ในชมพูทวีป.. โดยทรงครองราชย์ในช่วงประมาณปี พ.ศ.๒๖๘–๓๑๑ ทรงเป็นกษัตริย์องค์ที่ ๓ แห่ง ราชวงศ์โมริยะ หรือ ราชวงศ์เมารยะ แห่งกรุงปาฏลีบุตร แคว้นมคธ..
สมัยการปกครองของพระเจ้าอโศกมหาราช ได้ทรงขยายดินแดนแห่งราชอาณาจักรของพระองค์ออกไป จนมีอาณาเขตที่กว้างขวางที่สุดในประวัติศาสตร์อินเดียโบราณ หากเปรียบเทียบพื้นที่การปกครองในปัจจุบัน ได้แก่ การนำเอาพื้นที่ สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน สาธารณรัฐอิสลามอัฟกานิสถานบางส่วน และสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ มารวมกัน...
ทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกที่สำคัญที่สุดแห่งพระพุทธศาสนา แสดงองค์เป็นอุบาสกที่มีความศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัย ความพยายามทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาของพระองค์ ส่งผลให้พระพุทธศาสนาเจริญก้าวหน้าทั้งในแคว้นมคธ.. แคว้นน้อยใหญ่ในมัชฌิมประเทศ ที่ทรงปกครองดูแลอยู่.. ตลอดจนถึงการแผ่ไปแว่นแคว้น.. นานาประเทศ นอกมัชฌิมประเทศอย่างแพร่หลาย.. จนทำให้ได้รับการยกย่องว่าทรงเป็นผู้นำจิตวิญญาณของชาวโลกแท้จริง....
ดังหลังจากสนับสนุนส่งเสริมกิจการของสงฆ์ในพระพุทธศาสนาที่ได้มีการกระทำสังคายนาครั้งที่ ๓ ขึ้น (พ.ศ.๒๓๔/หนังสือมหาวงศ์/หนังสือทิวยาวทาน ระบุ พ.ศ.๒๙๐) ได้ทรงอาราธนาคณะสงฆ์.. ได้จัดส่งพระสมณทูตออกเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังภูมิภาคอื่น ทั้งในชมพูทวีปและนอกชมพูทวีป.. ตามความเห็นและข้อแนะนำของพระโมคคัลลีบุตรติสสเถรเจ้า ที่ทำหน้าที่ประธานสงฆ์ในการกระทำสังคายนาที่นับเป็นครั้งที่ ๓ ในพระพุทธศาสนา กระทำอยู่ ๙ เดือนจนแล้วเสร็จ โดยมีพระสงฆ์ที่ล้วนเป็นพระอรหันต์จำนวน ๑๐,๐๐๐ รูป ร่วมกระทำสังคายนา ณ วัดอโศการาม นครปาฏลีบุตร แคว้นมคธ.. ที่มีพระเจ้าอโศกมหาราชเป็น องค์อุปถัมภก
จึงเป็นเหตุให้คณะสงฆ์ โดยมีพระโมคคัลลีบุตรติสสเถรเจ้า ซึ่งเป็นประธานในการกระทำการสังคายนาในครั้งที่ ๓ นั้น ได้มีสังฆมติ.. ให้มีการส่งสมณทูตไป ๙ คณะ หรือ ๙ สาย เพื่อแยกย้ายกันไปเผยแผ่พระธรรมวินัยที่ถูกต้องตรงตามพระพุทธพจน์ที่ทรงแสดงไว้ดีแล้ว เช่น...
คณะที่ ๑ พระมัชฌันติกเถระ เป็นหัวหน้าไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของสาธารณรัฐอินเดีย (แคว้นมคธ) ได้แก่ แคว้นคันธาระและกัศมีร์
คณะที่ ๒ พระมหาเทวเถระ เป็นหัวหน้าไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาทางภาคใต้ของสาธารณรัฐอินเดีย (แคว้นมคธ) ได้แก่ รัฐมหิสกมณฑลและรัฐไมเซอร์... เป็นต้น
ในรัชสมัยของพระองค์ จึงได้เห็นความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาที่แผ่ไปทั่วทั้งในชมพูทวีปและแว่นแคว้นนอกชมพูทวีป ทรงให้ความสำคัญในการรวบรวมพระบรมสารีริกธาตุขึ้นอีกครั้ง จากที่ถูกอัญเชิญกระจายไปตามเมืองต่างๆ ทั้ง ๘ เมืองในเบื้องต้น.. เช่น เมืองราชคฤห์ เมืองพาราณสี เมืองกบิลพัสดุ์ เมืองกุสินารา เป็นต้น.. ด้วยการสั่งก่อสร้างพระสถูปขึ้นใหม่ทั่วทั้งชมพูทวีป เพื่อยกย่องบูชาพระบรมสารีริกธาตุของพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยมีการแจกจ่ายไปยังหัวเมืองต่างๆ ให้ทำการก่อสร้างพระสถูปบรรจุไว้บูชา... ดังที่ได้เห็นพระสถูปทรงสาญจี.. แพร่ไปทั่วจนถึงสุวรรณภูมิ (นครปฐม) ด้วยความเชื่อและความเลื่อมใสว่า “การได้สร้างพระสถูปหรือพระมหาเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุถวายพระพุทธเจ้านั้นเป็นยอดแห่งมหากุศล.. รวมถึงเสาหินที่ปักไว้แสดงเครื่องหมายของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในพระพุทธศาสนาแต่ละแห่งนั้น.. อาทิ ลุมพินี สถานที่ประสูติ, พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ เป็นต้น และยังมีเมืองต่างๆ ที่แสดงถึงความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในยุคสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งมีพระมหาเจดีย์และเสาศิลา.. ปรากฏอยู่ให้สืบค้นหาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ เมืองโกสัมพี, เมืองสาญจี, เมืองเกศรีย์, เมืองเวสาลีในสาธารณรัฐอินเดีย.. และ เมืองตักศิลา แห่งแคว้นคันธาระ ในสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานปัจจุบัน... ด้วยการปรากฏของพระมหาเจดีย์ “ธรรมราชิกสถูป” ณ เมืองตักศิลา เพื่อยืนยันว่าสถานที่ดังกล่าวนี้เป็นสถานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนา...
จึงปรากฏหลักฐานว่า ในปี พ.ศ ๒๙๐ พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงอุปถัมภ์การทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ ๓ โดยมีพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธานสงฆ์ในการกระทำสังคายนาจนแล้วเสร็จ.. ต่อมา พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงอาราธนาพระสมณทูตเดินทางไปเผยแผ่พระธรรมวินัยถึง ๙ สาย โดย ๑ ใน ๙ สายนั้น เข้าสู่แคว้นคันธาระ.. ณ นครตักศิลา แห่งนี้... และเชื่อมโยงในทางการปกครองเกี่ยวกับพระเจ้าอโศกมหาราช ตามหลักฐานใน หนังสือมหาวงศ์และหนังสือทิวยาวทาน ว่า “ในปี พ.ศ.๓๐๘ ได้ทรงส่งเจ้าชายกุนาละไปเป็นอุปราชที่เมืองตักศิลา แคว้นคันธาระ..”. ก่อนที่จะเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.๓๑๑.. (เป็นปีที่ ๓๘ แห่งรัชสมัยของพระองค์.. หากนับการครองราชย์ตั้งแต่พระชนมายุ ๒๑ พรรษา ก็เป็นปีที่ ๔๒ แห่งรัชสมัยของพระองค์)
ดังนั้น.. เมื่อมาเชื่อมโยงกับการเดินทางไปทัศนศึกษาที่เมืองโบราณ Sirkap ในหุบเขาตักศิลา.. ว่า.. ด้านบนเนินเป็นเขตพระราชฐานของพระเจ้ากุนาละ... โดยมีบันทึกไว้เป็นทางการของฝ่ายโบราณคดีที่ขุดค้นเมืองตักศิลาสมัย พ.ศ.๒๔๕๖–๒๔๗๗ (ค.ศ.๑๙๑๓–๑๙๓๔) โดย Sir John Marshall นักโบราณคดีชาวอังกฤษ.. ทำให้พบแหล่งที่อยู่อาศัยหรือเมืองโบราณดังกล่าว คือ Sirkap ที่เป็น ๑ ใน ๓ แห่ง โดยระบุว่า เมืองนี้มีการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องกว่า ๓๐๐ ปี ภายใต้การครอบครองของกรีก ซิเถียน ปาเถียน และกุษาณะ.. ดังหลักฐานศิลปกรรมที่ปรากฏจากการขุดค้นพบที่ระบุว่า เมือง Sirkap น่าจะ มีอายุอยู่ในราวศตวรรษที่ ๒ ก่อนคริสตกาล....
จากความเชื่อมโยง.. ตามที่กล่าว โดยการอ้างอิงเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับพระเจ้าอโศกมหาราช.. จึงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ว่า “ธรรมราชิกาสถูปหรือมหาสถูปแห่งตักศิลา”... ในแคว้นคันธาระ.. ได้สร้างขึ้นในสมัยที่มีการเผยแผ่พระพุทธศาสนามาสู่แคว้นคันธาระ.. ภายหลังการกระทำการสังคายนา เมื่อ พ.ศ.๒๙๐ (พ.ศ.๒๓๔) เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ.. โดยมีรูปทรงพระสถูปร่วมสมัยกับพระสถูปสาญจี.. ซึ่งต่อมาพื้นที่ดังกล่าวได้พัฒนาขึ้นเป็นพระอารามขนาดใหญ่ เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของพระภิกษุจำนวนมาก.. ในแว่นแคว้นคันธาระ ซึ่งพุทธศาสนารุ่งเรืองมากที่สุดในราวพุทธศตวรรษที่ ๖–๗.. เป็นต้นมา.. ก่อนจะสูญสิ้นสลายไปในพุทธศตวรรษที่ ๑๗.. ซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้ากนิษกมหาราช แห่งราชวงศ์กุษาณะ จึงเป็นไปได้ที่ “ธรรมราชิกสถูป” ถูกสร้างขึ้นใน ๒ วาระ ได้แก่
๑) ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช โดยการอ้างอิงสถูปเดิมทรงสาญจี.. ในศตวรรษที่ ๓ ก่อนคริสตศักราช...
๒) สมัยพระเจ้ากนิษกมหาราช ได้สร้างธรรมราชิกสถูปขึ้นบนซากสถูปเดิมสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชที่มีอายุเก่าแก่กว่า...
ต่อมา.. ได้ถูกทำลายโดยชาวฮั่นขาวในคริสต์ศตวรรษที่ ๕ และถูกทอดทิ้งไป
Sir John Marshall .. ได้เริ่มขุดค้นบริเวณดังกล่าวเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๖.. พบว่า ตัวสถูปถูกปล้นสะดม มีสภาพย่ำแย่มาก.. และพบว่ามีการสร้างคูขนาดใหญ่ เพื่อนำของมีค่าในสถูปออกมา.. มีการค้นพบโครงกระดูกในพื้นที่เปิดทางใต้ของสถูปและสิ่งของเครื่องใช้ของพระสงฆ์ที่สันนิษฐานว่า น่าจะถูกฆ่าตายในช่วงการรุกรานของชาวฮั่นขาว.... (น่าสังเวชยิ่ง!)
ก่อนหน้านั้น ราว พ.ศ.๙๔๓ หลวงจีนฟาเหียนยังได้เดินทางมานมัสการพระมหาสถูปแห่งตักศิลา (ธรรมราชิกสถูป) ดังกล่าว บันทึกไว้ว่า เมืองตักศิลายังสมบูรณ์ดีอยู่.. รวมถึงพระสถูปเจดีย์.. วัดวาอารามทั้งหลาย
ต่อมา ราว พ.ศ.๑๐๕๐ ชนชาติฮั่นยกมาตีและทำลายพุทธสถานทั้งหลาย.. ทำให้เมืองตักศิลาพินาศไป
ดังหลักฐานที่หลวงจีนฟาเหียนจั๋ง (พระถังซัมจั๋ง) ได้บันทึกไว้เมื่อ พ.ศ.๑๑๘๖ สมัยมาสืบพระพุทธศาสนาในอินเดีย ได้กล่าวว่า...
...เมืองตักศิลามีสภาพเสื่อมโทรม เป็นเพียงเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งที่ขึ้นกับ แคว้นกัศมีระ
โบสถ์ วิหาร สถานศึกษา และปูชนียสถาน ถูกทำลายหมด... (จากนั้นก็ไม่ปรากฏเรื่องเมืองตักศิลาอีก)…..
เจริญพร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..
รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ
เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก
ประมาทไม่ได้เลย คือ จิตของเรา!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีพระภาษิตบทหนึ่งกล่าวว่า..
คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!
เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย
ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?
การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก
ขบวนการแพทย์ชนบท กับรางวัลแมกไซไซ ปี 2024 ทิศทางพัฒนาระบบสุขภาพไทย
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คือวันเสาร์ที่ 16 พ.ย. คณะผู้แทน”ขบวนการแพทย์ชนบท” ได้เดินทางไปรับรางวัลแมกไซไซ ประจำปี 2024