การกระจายอำนาจเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

การพัฒนาเศรษฐกิจนั้นมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อยกระดับความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตเพื่อให้ประชาชนมีความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน นโยบายเศรษฐกิจต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีการยึดโยงกับประชาชน

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีความหลากหลายของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหลากหลายในเชิงพื้นที่ แต่ละจังหวัด แต่ละท้องถิ่น มีที่ตั้ง ภูมิประเทศ วัฒนธรรม และโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันออกไป ประชาชนมีอาชีพ มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้ความต้องการบริการจากภาครัฐแตกต่างกันออกไปตามภูมิภาคและท้องถิ่นด้วย

แนวทางหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ก็คือ การกระจายอำนาจ (decentralization)

การกระจายอำนาจที่จะตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นได้นั้นต้องประกอบด้วยองค์ประกอบต่างๆ อย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่

หนึ่ง การกระจายอำนาจทางการเมือง โดยให้ประชาชนในแต่ละท้องถิ่นสามารถเลือกผู้นำของตนเองโดยตรงแทนการแต่งตั้งจากส่วนกลาง ทำให้ผู้นำท้องถิ่นมีความยึดโยงกับประชาชน มีความรู้ความเข้าใจพื้นที่และชุมชน มีความผูกพันและทุ่มเททำงานเพื่อคนในท้องถิ่น

สอง การกระจายอำนาจการบริหาร โดยให้รัฐบาลในส่วนภูมิภาคเป็นตัดสินใจ จัดหา และให้บริการสินค้าสาธารณะต่างๆ แก่ประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ แทนที่จะเป็นนโยบายจากส่วนกลางที่คิดแทนคนในแต่ละพื้นที่

สาม การกระจายอำนาจทางการคลัง เพื่อให้ท้องถิ่นมีงบประมาณที่เพียงพอต่อในการบริหารงานในพื้นที่ของตนเอง

กระแสต่อต้านการกระจายอำนาจที่ผ่านมามักอ้างถึงเหตุผลต่างๆ เช่น คนในชนบทยังขาดความรู้ ไม่ทราบว่าบริการและการลงทุนจากภาครัฐโครงการใดเป็นประโยชน์ต่อตนเองและท้องถิ่น รวมถึงอ้างถึงนักการเมืองท้องถิ่นที่โกงกิน ใช้งบประมาณไม่เหมาะสม มีการซื้อเสียง นำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า การตัดสินใจเรื่องการพัฒนาภูมิภาคยังควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาลจากส่วนกลางมากกว่าท้องถิ่น

อย่างไรก็ตาม การรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลางก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าการบริการภาครัฐจะตอบสนองความต้องการท้องถิ่นได้ดีกว่า มีประสิทธิภาพมากกว่า โกงกินน้อยกว่า ในขณะที่การกระจายอำนาจที่แม้ว่าจะมีปัญหาที่ต้องเรียนรู้และติดตามแก้ไขไปด้วยกัน แต่ก็มีข้อดีหลายประการที่ไม่ควรละเลย

ประการแรก รัฐบาลในแต่ละท้องถิ่นทราบความต้องการของประชาชนในพื้นที่ดีกว่ารัฐบาลส่วนกลางในเมืองหลวงที่อยู่ห่างไกล นอกจากนี้รัฐบาลที่ส่วนกลางอาจไม่ทราบหรือไม่เข้าใจบริบทและข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ การสื่อสารของคนในภูมิภาคกับผู้มีอำนาจในการตัดสินใจในส่วนกลางต้องผ่านหลายขั้นตอน ทำให้การออกแบบและการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างเต็มที่

ประการที่สอง ประชาชนในแต่ละพื้นที่สามารถสอดส่องและตรวจสอบการใช้งบประมาณของรัฐบาลท้องถิ่นได้ดีกว่าการใช้งบประมาณของรัฐบาลส่วนกลาง เพราะสามารถติดตามผลการใช้เงินที่มีเป้าหมายที่ชัดเจนและยึดโยงกับการให้บริการกับประชาชนในพื้นที่นั้นๆ

ประการที่สาม เป็นการสร้างการแข่งขันระหว่างท้องถิ่นต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีการสื่อสารและสื่อออนไลน์ต่างๆ ในปัจจุบันที่ทำให้ประชาชนสามารถเปรียบเทียบนโยบาย ความสามารถ และผลงานของผู้นำที่ตนเองเลือกมากับผู้นำท้องถิ่นอื่นๆ ได้ง่ายดาย ซึ่งในที่สุดแล้วเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการภาครัฐให้สูงขึ้น

แน่นอนว่าการกระจายอำนาจไม่ได้แปลว่ารัฐบาลกลางจะหมดบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคและท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประสานงานในโครงการพัฒนาที่ครอบคลุมหลายท้องที่ หรือช่วยเหลือท้องถิ่นที่ขาดแคลนบุคลากรและความเชี่ยวชาญเชิงเทคนิค รวมถึงการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณที่ท้องถิ่นได้รับจัดสรร

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ผ่านมาเร็วๆ นี้ได้ก่อให้เกิดความตื่นตัวในการมีส่วนร่วมในการเมืองระดับท้องถิ่นขึ้นมาอีกครั้ง กระแสความตื่นตัวนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในกรุงเทพมหานครเท่านั้น ประชาชนในส่วนภูมิภาคจำนวนไม่น้อยได้แสดงความคิดเห็นว่าผู้ว่าราชการจังหวัดอื่นๆ ก็ควรมาจากการเลือกตั้งเช่นกัน

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการกระจายอำนาจ เพื่อให้แต่ละจังหวัดมีอำนาจในการบริหารงานด้วยตนเองมากขึ้น ตอบสนองต่อความต้องการประชาชนในแต่ละจังหวัดได้ดีขึ้น

ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงแค่การให้สิทธิเสรีภาพในการปกครองตนเองแก่ประชาชนเท่านั้น แต่ยังสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อยกระดับความกินดีอยู่ดีของประชาชนคนไทยอีกด้วย

ศ.ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ University of San Diego  

กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดร.วิรไท อดีตผู้ว่าฯ ธปท. ดิจิทัลวอลเล็ต กับค่าเสียโอกาส ทำนโยบายสาธารณะต้องรอบคอบ

รัฐบาลของ "แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี" อยู่ในช่วงกำลังจัดตั้งคณะรัฐมนตรีเพื่อรอการเข้าบริหารประเทศอย่างเป็นทางการ โดยหนึ่งในโจทย์ใหญ่ที่รอรัฐบาลอยู่ก็คือ

“ทศพิธราชธรรม”.. อำนาจธรรม... ต้องเคารพ!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ระหว่าง วันที่ ๑๘-๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๗ ได้รับนิมนต์จากวัดป่าญาณสัมปันโนอารยาราม (ธ) อ.เชียงแสน จ.เชียงราย และจากฝ่ายปกครองอำเภอเชียงแสน .. แม่สาย .. แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ในโครงการร้อยใจธรรม ...

ณัฐพงษ์ หน.พรรคประชาชน ฝ่ายอนุรักษนิยม อย่าระแวงเรา กับจุดยืน 'สถาบันฯ-แก้ 112'

บทบาทของ "พรรคประชาชน" พรรคการเมืองที่ขึ้นมารับไม้ต่อจากพรรคก้าวไกล ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคไป นับจากนี้ถือว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง

ความยุติธรรม .. สร้างได้ .. หากเข้าใจ (สาระธรรม)!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ฤดูกาลฝนแม้เพิ่งเริ่มต้น กาลจำพรรษาแม้เพิ่งเข้าสู่ช่วงแรกของไตรมาส แต่สภาวธรรมที่ปรากฏไม่ได้อ่อนด้อยจืดจางลงไปเลย มิหนำซ้ำกลับเข้มข้นในการแสดงออกถึงความเป็นธรรมชาติของดินฟ้าอากาศ ที่พร้อมใจกัน แสดงพลังสัจธรรมว่า.. “อำนาจแห่งความจริงเหนืออำนาจความนึกคิดปรุงแต่งเสมอ..”

ศาลรธน.กับคำตัดสินอันตราย ยุบ ”ก้าวไกล” สร้างดาบสองคม เอาผิดยาก 44 ส.ส.เสนอแก้ 112

แม้ตอนนี้ พรรคก้าวไกล ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลเป็นเวลาสิบปีไปเมื่อ 7 ส.ค.