เจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา จากตอนที่ ๑ .. ได้เขียนอารัมภบทเข้าสู่การทำความรู้จักกับนครตักศิลา แห่งแคว้นคันธาระ ใน ๓ ระยะ คือ ก่อนพุทธกาล.. สมัยพุทธกาล.. และหลังพุทธกาล ทั้งนี้เพื่อจะได้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องโยงใยกับเส้นทางของพระพุทธเจ้า.. และสู่ความสืบเนื่องของพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินอารยธรรมแห่งนี้.. ที่จัดอยู่ในความเป็นแผ่นดินชายขอบของชมพูทวีป.. ที่สำคัญยิ่งในทางยุทธศาสตร์ ซึ่งตั้งอยู่ตรงทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อนุทวีป (อินเดีย) ครอบคลุมเนื้อที่สองฟากของแม่น้ำสินธุ.. ที่สมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณนานาชนิด ส่งกลิ่นหอมไปทั่วในยามที่อากาศเย็นสบาย.. จึงได้ชื่อว่า คันธาระ... (แคว้นคันธาระ)
ปัจจุบัน พื้นที่ส่วนใหญ่ของแคว้นคันธาระ อยู่ในเขตรัฐเคพี (Khyber Pakhtunkhwa) และรัฐปัญจาบ.. บริเวณเมืองเปชวาร์.. เมืองราวัลปินดี ที่แสดงพื้นที่แคว้นคันธาระส่วนใหญ่ รวมถึงเมืองตักศิลาในปัจจุบัน.. ที่ตั้งอยู่ในสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน
หากพิจารณาดูแผนที่ชมพูทวีปสมัยโบราณ จะพบว่า แคว้นคันธาระ แคว้นกัมโพชะ ตั้งอยู่ชายขอบด้านทิศเหนือของชมพูทวีป ที่มีแว่นแคว้นใหญ่ที่เรียกว่า มหาชนบท ถึง ๑๖ แคว้น ซึ่งเรียกพื้นที่ตั้งดังกล่าวว่า อุตตราปถะ แปลว่า ดินแดนส่วนเหนือของชมพูทวีป ซึ่งจัดเป็นเขตปัจจันตชนบท.. โดยมี ตักศิลา เป็นเมืองหลวงแห่งคันธาระสืบมายาวนาน ตั้งแต่ก่อนสมัยพุทธกาล ด้วยความรุ่งเรืองทางศิลปวิทยาการด้านต่างๆ รวมถึงไตรเภททั้ง ๑๘ สาขาวิชา.. ซึ่งเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงที่สุดในการศึกษายุคโบราณนานกว่า ๓,๐๐๐ ปี.. จะเรียกว่า เป็นเมืองมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลก (ชมพูทวีป) ก็ว่าได้.... ดังที่มีรากฐานอยู่ใน เขตราวัลปินดี แคว้นปัญจาบ สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ดังที่มีการขุดค้นพบซากสิ่งก่อสร้างโบราณวัตถุมากมายในพื้นที่ เมืองตักศิลา ที่ตั้งอยู่ในเขตราวัลปินดีปัจจุบัน โดยเฉพาะบริเวณใกล้กับ สถานีรถไฟสะราบกละ ห่างจากกรุงราวัลปินดีไปทางทิศตะวันตกหรือทิศตะวันตกเฉียงเหนือราว ๓๕ กิโลเมตร
การได้มีโอกาสมาจำพรรษาที่นครตักศิลาในปีพุทธศักราช ๒๕๖๕ นี้ของอาตมา (MV.Arayawangso) จากประเทศไทย จึงทำให้เกิดความพึงใจอย่างยิ่งที่จะได้เข้าไปยังโบราณสถานเหล่านั้นที่แสดงความเป็นอารยธรรมมรดกโลกทางพุทธศาสนาแห่งแคว้นคันธาระ.. ที่ยังคงมีร่องรอยให้ได้ศึกษา จากการรักษาพื้นที่โบราณสถานดังกล่าวให้เป็นเขตของกรมโบราณคดีแห่งรัฐบาลปากีสถาน
จึงได้กล่าวไปเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ที่พิพิธภัณฑ์ตักศิลา.. เวลา ๑๖.๐๐ น. ถึงจุดประสงค์และความมุ่งหมายที่เดินทางมาจำพรรษาครั้งประวัติศาสตร์ บนแผ่นดินคันธาระ ณ นครตักศิลา โดยมีการถ่ายทอดภาพเสียงผ่านสื่อสำนักต่างๆ ท่ามกลางบุคคลสำคัญที่มากล่าวถวายการต้อนรับ ได้แก่...
๑.) H.E. Mr.Asim Iftikhar Ahmad Additional Secretary, UN, and Spokesperson Ministry of Foreign Affairs
๒.) H.E. Mr.Chakkrid Krachaiwong Ambassador of Thailand to Pakistan
๓.) Mr.Aamer Ahmed Atozai Director General East Asia Pacific, Ministry of Foreign Affairs
๔.) Mr.Muhammad Iqbal Khan Manj Director of Taxila Museum
และคณะเจ้าหน้าที่ ผู้ติดตาม ทั้งจากปากีสถานและไทย... ตลอดถึงประชาชนชาวปากีสถานที่ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมงานแถลงข่าวถวายการต้อนรับพระอาจารย์อารยวังโสจากตัวแทนรัฐบาลปากีสถานในครั้งนี้
ในส่วนของอาตมา จึงได้ขอบคุณและกล่าวถึงจุดประสงค์ของการมาพักจำพรรษาในปีพุทธศักราช ๒๕๖๕ ตามการนิมนต์ (เชิญ) ของรัฐบาลปากีสถาน ณ นครตักศิลา แห่งแคว้นคันธาระ ในครั้งนี้ว่า... “เพื่อศึกษาถึงร่องรอยอารยธรรมคันธาระ มรดกโลกทางพุทธศาสนา.. ที่มีคุณค่ายิ่ง” เพื่อจัดทำเป็นหนังสือเผยแผ่ไปทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ด้วยฉบับแปลภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ.. ที่จะพยายามจัดทำให้เสร็จภายในพรรษานี้ (๓ เดือน) นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม–ตุลาคม... ดังที่ได้กล่าวท่ามกลางการแถลงข่าวถ่ายทอดสด ที่เผยแผ่ไปทั่วทางสื่อไอทีในสังคมปัจจุบัน
ก่อนที่จะเปิดโอกาสเชิญท่านอื่นๆ ตามรายชื่อที่กล่าวมาได้กล่าวถวายการต้อนรับและขอบคุณ เนื่องในความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง ๒ ประเทศ (ไทย-ปากีสถาน) ซึ่งนับเป็นการเริ่มต้นที่ดีมากต่อการจำพรรษาประวัติศาสตร์บนแดนอารยธรรมคันธาระ มรดกโลกพุทธศาสนา ณ เมืองตักศิลา รัฐปัญจาบ ปากีสถานในปัจจุบัน
อีกวันต่อมา (๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๕) จึงได้เดินทางไปศึกษาโบราณสถานทางพุทธศาสนาสมัยคันธาระ ในเขตมรดกโลก ที่ชื่อ Jaulian ซึ่งแม้ว่าจะอยู่ในเขตรัฐ KP (Khyber Pakhtunkhwa) แต่กลับตั้งอยู่ใกล้เมืองตักศิลา รัฐปัญจาบ โดยใช้เวลาเดินทางไปไม่ถึงครึ่งชั่วโมง..
เมื่อเดินทางไปถึง Jaulian ซึ่งตั้งอยู่บนภูเขาที่ไม่สูงมากนัก โดยมี ดร.อับดุล ซามาด Director Archaeology and Museums, Government of Khyber Pakhtunkhwa มาถวายการต้อนรับพร้อมคณะเจ้าหน้าที่ของกองโบราณคดี/พิพิธภัณฑ์เปชวาร์ จึงได้เดินขึ้นไปตามขั้นบันไดหินจนถึงโบราณสถาน Jaulian ได้พบเห็นถึงสภาพความสมบูรณ์ของโบราณสถานที่ได้รับการดูแลอย่างดีจากกองโบราณคดีของไคเบอร์ปัคตูนควา (KP) จึงน่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสภาพของพระพุทธรูปปูนปั้นและสถูปต่างๆ ที่ยังคงเห็นร่องรอยสภาพที่สวยงามยิ่ง สมกับเป็นสมบัติอันล้ำค่าทางโบราณศิลป์สมัยคันธาระ ที่ทรงคุณค่าและความงดงามอย่างยิ่ง ดังภาพที่ปรากฏ
สำหรับโบราณสถานมรดกโลกพุทธศาสนาแห่งนี้ (Jaulian) เกิดขึ้นสมัยราชวงศ์กุษาณะตอนปลาย อยู่ห่างจากเมืองโบราณเซอกัป (Sirkap) แห่งนครตักศิลา (Taxila) ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร โดยตั้งอยู่บนเนินเขาซึ่งอยู่สูงจากพื้นที่ราบไม่น่าจะเกิน ๑๐๐ เมตร ประกอบด้วยสถูปและวิหารโบราณสมบูรณ์ โดยเฉพาะสถูปทรงสาญจีสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช...
จากบันทึกการขุดค้นและบำรุงรักษาทราบว่า ได้รับการขุดแต่งและควบคุมโดย Sir John Marshall โดยมีทางเข้าศาสนสถาน ๓ แห่ง ประกอบด้วยลานสถูป ๓ ลาน ทางด้านใต้เป็นลานสถูปที่อยู่ยกพื้นสูงขึ้นไป ในขณะที่ทางตอนเหนือเป็นที่ตั้งของสถูปที่อยู่ระดับต่ำลงมา ทางตะวันตกเป็นลานส่วนที่สามซึ่งมีขนาดเล็กกว่า และเชื่อมลานที่ ๑ และลานที่ ๒
ที่ลานด้านล่าง ปัจจุบันใช้เป็นทางเข้าหลัก ประกอบด้วยสถูป ๕ องค์ ซึ่งคงเหลือเพียงส่วนฐานที่ประดับตกแต่งด้วยประติมากรรมปูนปั้น ที่ฐานสถูปองค์หนึ่งปรากฏ อักษรขโรษฐี กล่าวสั่งการสร้างรูปเคารพและชื่อผู้สร้าง ด้านล่างของลานมีห้อง/คูหาขนาดเล็กเรียงเป็นแถว เคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ ซึ่งพระพุทธรูปหลายองค์ได้นำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ตักศิลา...
สำหรับสถูปประธาน อยู่บนลานชั้นบน ซึ่งคงเหลือแต่ฐานพระเจดีย์ในปัจจุบัน... เพื่อเป็นพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและธาตุพระสาวกรูปสำคัญๆ .. สร้างสมัยกุษาณะ ราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ ส่วนภาพประดับตบแต่งต่างๆ คงเกิดมาภายหลัง
ที่น่าสนใจยิ่งบนลานส่วนนี้ คงเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นสวยงามประทับนั่ง.. ซึ่งบริเวณพระนาภีมีรูสำหรับให้ผู้ที่มาสักการบูชาได้ใช้นิ้วแหย่เข้าไป เพื่ออธิษฐานขอให้ปลอดจากโรคทุกข์ภัยทั้งปวง โดยที่ด้านล่างมี อักษรขโรษฐี เขียนระบุว่า “อุทิศโดย หนึ่งใน “พุทธมิตร” ณ ลานชั้นนี้ ได้พบสถูปจำลองบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ประดับด้วยหินมีค่าติดข้างๆ หลายชนิด
ทางตะวันออกของห้องชั้นล่าง มีบันไดนำไปสู่ลานขนาดย่อม ลักษณะสี่เหลี่ยมโล่งๆ ล้อมรอบด้วยกุฏิขนาดเล็กของพระสงฆ์ เพื่อการศึกษาปฏิบัติธรรม
ศาสนสถาน .. โบราณสถาน สมัย Jaulian ยังอยู่ในสภาพดีพอสมควร เริ่มสร้างสมัยกุษาณะ ราวพุทธศตวรรษที่ ๘ และสิ้นสุดราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ดังปรากฏร่องรอย ห้องเรียน ที่พัก.. สถานประกอบศาสนกิจ ที่ยังครบถ้วนปรากฏให้เห็นอยู่ เพื่อเป็นหลักฐานการสืบค้น สืบไปถึงซึ่งประติมากรรมที่ Jaulian เป็นลักษณะปูนปั้นคล้ายๆ กับที่ Bhamala .. ใน KP เช่นเดียวกัน ดังภาพ...
ต่อมาในวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕ .. ได้เดินทางไปทัศนศึกษา.. เยี่ยมชม เมืองโบราณเซอกัป ซึ่งตั้งอยู่ใกล้พิพิธภัณฑ์ตักศิลา.. รัฐปัญจาบ แห่งปากีสถาน
สำหรับเรื่อง เซอกัป (Sirkap) สร้างขึ้นในราวครึ่งแรกของศตวรรษที่ ๒ ก่อนคริสตกาล โดยพวกแบคเตรียนและกรีก จากสภาพการขุดค้นทางโบราณคดี จึงได้พิสูจน์ทราบถึงการเป็นเมืองขนาดใหญ่ จากร่องรอยการอยู่อาศัยของหมู่ชนจำนวนมากในยุคนั้นที่มีระบบผังเมืองสมบูรณ์ยิ่ง.. ในทุกมิติ มีการวางระบบผังเมืองเหมือนตารางหมากรุกแบบกรีก ถนนหลักวางตัวในแนวเหนือใต้ และตัดกับถนนเส้นเล็กเป็นมุมฉาก สองข้างถนนเป็นอาคารร้านค้า โดยเฉพาะร้านทอง (เครื่องประดับ) ดังที่ได้ขุดค้นพบเครื่องประดับที่ทำด้วยทองจำนวนมาก ซึ่งสันนิษฐานว่าคงเป็นร้านค้าทองในบริเวณดังกล่าว
สำหรับพระราชวัง คงอยู่ทางทิศตะวันตกของถนน ในขณะบ้านเรือนที่อยู่อาศัยคงอยู่ด้านหลังร้านค้า รวมทั้งศาสนสถานของศาสนาต่างๆ เช่น เชน ฮินดู คริสต์... เป็นต้น นอกจากนั้นยังได้พบประติมากรรมพระอาทิตย์ด้วย สิ่งก่อสร้างฉาบด้วยปูนแล้วทาสีขาว และจากการขุดแต่งภายในเมืองได้พบจารึกที่ใช้ตัวอักษรและ ภาษาอราเมค (Aramaic) กล่าวถึงการประดิษฐ์เสาจารึก เพื่อเป็นเกียรติในโอกาสที่ “ปริยทรรสี” – อโศก เจ้าชายอุปราช .. ปกครองเมืองตักศิลา...” จึงนับเป็นหลักฐานสำคัญยิ่งที่จะใช้กำหนดโบราณสถานทางศาสนา ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การพัฒนา ตัวอักษรขโรษฐี ที่พัฒนามาจาก อักษรอราเมค (Aramaic) ... ติดตามอ่านตอนต่อไป ฉบับหน้า!!!.
เจริญพร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..
รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ
เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก
ประมาทไม่ได้เลย คือ จิตของเรา!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีพระภาษิตบทหนึ่งกล่าวว่า..
คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!
เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย
ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?
การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก
ขบวนการแพทย์ชนบท กับรางวัลแมกไซไซ ปี 2024 ทิศทางพัฒนาระบบสุขภาพไทย
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คือวันเสาร์ที่ 16 พ.ย. คณะผู้แทน”ขบวนการแพทย์ชนบท” ได้เดินทางไปรับรางวัลแมกไซไซ ประจำปี 2024