กำไรโรงกลั่นดันน้ำมันแพง

ในช่วงสามปีที่ผ่านมา โลกช่างโหดร้ายเสียเหลือเกิน มนุษย์ต้องเผชิญกับไวรัสตัวใหม่ชื่อ โควิด-19 ทำเอาทั่วโลกต้องเจ็บป่วยและเสียชีวิตเป็นจำนวนนับล้านคน เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทั่วไปหมด การล็อกดาวน์เพื่อระงับโรคระบาดก่อให้เกิดการว่างงานและความยากจนอย่างกว้างขวาง

แต่พอโควิด-19 เริ่มลดความรุนแรงลงและกลายเป็นโรคประจำถิ่นซึ่งมีวัคซีนและยารักษาได้แล้ว เราก็โชคร้ายอีกเมื่อต้องมาเผชิญกับวิกฤตพลังงานอันเกิดจากสงครามรัสเซียบุกยูเครนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีนี้เป็นต้นมา

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มจากไม่ถึง 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ.2563 ขึ้นมาอยู่ในระดับสูงกว่า 100 เหรียญฯ ต่อบาร์เรลในเดือนกรกฎาคมปีนี้ และในช่วงสองปีเดียวกัน ราคาขายหน้าปั๊มในกรุงเทพฯ ของน้ำมันเบนซินและดีเซลก็เพิ่มขึ้นจากลิตรละแถวๆ 20 บาท มาเป็นกว่า 40 บาท (เบนซิน) และ 35 บาท (ดีเซล) สร้างความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสให้กับผู้ใช้น้ำมัน (รวมถึงก๊าซหุงต้มและก๊าซธรรมชาติด้วย)

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปแพงขึ้นอธิบายได้ โดยชี้ไปที่ราคาน้ำมันดิบที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมากมาย แต่ในระยะหลังมีนักการเมืองบางคนชี้ว่า ราคาน้ำมันขายปลีกแพงขึ้นมากส่วนหนึ่งเป็นเพราะโรงกลั่นน้ำมันและบริษัทผู้ขายน้ำมันคิดกำไรมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการระบุว่า “ค่าการกลั่นน้ำมัน” สูงเกินไป และเสนอแนะให้นำกำไรส่วนเกินมาช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ใช้น้ำมันบ้าง

 “ค่าการกลั่นน้ำมัน” คืออะไร? คำตอบสำหรับคำถามนี้ต้องอาศัยความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกของไทย ซึ่งมีองค์ประกอบหลักอยู่ 4 ส่วน ได้แก่ 1.ราคาขายหน้าโรงกลั่น 2.ภาษีต่างๆ (สรรพสามิต เทศบาล และมูลค่าเพิ่ม) 3.เงินกองทุน (กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน) และ 4.ค่าการตลาด (ค่าใช้จ่ายและกำไรของบริษัทน้ำมันและปั๊มน้ำมัน รวมถึงค่าขนส่งน้ำมันจากโรงกลั่นถึงคลัง/ปั๊ม)

 “ค่าการกลั่น” เป็นส่วนหนึ่งของราคาหน้าโรงกลั่น โดยเมื่อหักต้นทุนที่เป็นน้ำมันดิบออกจากราคาหน้าโรงกลั่น ก็จะเหลือเป็นส่วนที่เรียกว่า “ค่าการกลั่นเบื้องต้น” (gross refining margin หรือ GRM) ในประเทศไทย GRM นี้มีการคำนวณและรายงานเกือบทุกวัน โดยหน่วยงานที่เรียกว่าสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ซึ่งอยู่ในสังกัดของกระทรวงพลังงาน

ผมลองย้อนไปดูข้อมูลค่าการกลั่นที่รายงานโดย สนพ. ปรากฏว่าในช่วง 10 ปีก่อนหน้าปีนี้ ค่าการกลั่นของโรงกลั่น 6 โรงในไทยเฉลี่ยแล้ว มีค่าสูงสุดที่ 2.46 บาทต่อลิตรในปี 2561 และต่ำสุดที่ 70 สตางค์ต่อลิตรในปี 2563 เมื่อเฉลี่ยตลอด 10 ปีจะได้ประมาณ 1.70 บาทต่อลิตร

แต่พอเริ่มปี 2565 ค่าการกลั่นเริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในเดือนเมษายนและพฤษภาคมของปีนี้มีค่าเกิน 5 บาทต่อลิตร และในเดือนมิถุนายนสูงขึ้นเกินกว่า 6 บาทต่อลิตร ก็แสดงว่า ค่าการกลั่นและกำไรของโรงกลั่นสูงขึ้นจริงอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ สังเกตได้ว่าช่วงที่เพิ่มขึ้นมากตรงกับเวลาที่รัสเซียเริ่มทำสงครามในยูเครนพอดี

หลายคนออกมาค้านว่า “ค่าการกลั่นไม่ใช่กำไรของโรงกลั่นน้ำมัน” โดยให้เหตุผลว่าค่าการกลั่นมีส่วนประกอบอื่นๆ ด้วย อันได้แก่ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ของโรงกลั่นที่ไม่ใช่น้ำมันดิบ ผมเห็นด้วยกับประเด็นที่ว่าค่าการกลั่นไม่ใช่กำไรของโรงกลั่น แต่ผมลองเปรียบเทียบข้อมูลค่าการกลั่นและกำไรสุทธิของโรงกลั่นในอดีตแล้ว พบว่า ค่าการกลั่นเป็นตัวชี้วัดที่ค่อนข้างดีของกำไรสุทธิของโรงกลั่น

ข้อมูลล่าสุดสำหรับไตรมาสแรกของปีนี้ชี้ให้เห็นว่า ค่าการกลั่นตามรายงานของ สนพ.สูงขึ้นอยู่ในระดับเฉลี่ย 1.91 บาทต่อลิตร ในขณะที่กำไรสุทธิของโรงกลั่นเพิ่มขึ้นมากเป็นส่วนใหญ่ โดยมีค่ามากกว่ากำไรเฉลี่ยต่อหนึ่งไตรมาสในปี 2564 และผมเชื่อว่าเมื่อมีรายงานการเงินสำหรับไตรมาสที่สองของปีนี้ออกมา เราจะได้เห็นว่าโรงกลั่นไทยยิ่งจะมีกำไรสุทธิสูงมาก และน่าจะมากกว่าในไตรมาสแรกเสียอีก

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า โรงกลั่นน้ำมันไทยมีกำไรค่อนข้างสูงในช่วงหกเดือนแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นมาก ดูได้จากทั้งข้อมูลที่เป็นค่าการกลั่นและกำไรสุทธิ ปรากฏการณ์นี้เป็นจริงสำหรับโรงกลั่นและบริษัทน้ำมันทั่วโลก เพราะเกิดจากการขาดแคลนน้ำมันในตลาดโลกอันเป็นผลจากสงครามรัสเซียบุกยูเครน

ผู้สังเกตการณ์หลายคนเสนอแนะว่า รัฐบาลไม่ควรจะเข้าไปแทรกแซงธุรกิจขององค์การในลักษณะที่จะเป็นการนำเอากำไรทางธุรกิจมาช่วยลดราคาน้ำมันหน้าปั๊ม แต่ควรปล่อยให้การดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันเป็นไปตามกลไกการตลาดอย่างเสรี 

ผมเองเห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่า ในกรณีปกติที่ผู้ซื้อผู้ขายในตลาดสามารถแข่งขันกันได้อย่างเต็มที่และเป็นธรรม เราควรปล่อยให้กลไกการตลาดทำงานอย่างเสรี แต่เราต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันตลาดน้ำมันทั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ ไม่ใช่เป็นตลาดภายใต้สถานการณ์ปกติที่มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม มีการแทรกแซงโดยภาครัฐในลักษณะต่างๆ เช่น การผูกขาดของกลุ่มประเทศโอเปก การแทรกแซงล่าสุดคือการที่รัฐบาลสหรัฐและยุโรปตะวันตกตัดสินใจคว่ำบาตรเพื่อลดและเลิกการซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย

ภายใต้สถานการณ์ที่ทำให้ตลาดน้ำมันไม่สามารถมีการแข่งขันกันได้อย่างเต็มที่ และราคาน้ำมันที่แพงขึ้นได้กลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง จึงมีเหตุผลที่รัฐบาลไทยจะเข้าไปแทรกแซงเพื่อปรับปรุงกลไกการตลาดให้สนับสนุนการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมที่เหมาะสม การที่โรงกลั่นน้ำมันมีค่าการกลั่นและกำไรที่สูงมากเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะเกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการแทรกแซงของรัฐบาลในประเทศต่างๆ ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในสงครามยูเครน

รัฐบาลไทยได้พยายามตรึงราคาขายปลีกน้ำมันมาโดยตลอดช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสูงขึ้นมาก ทั้งโดยวิธีการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและการลดภาษีสรรพสามิต ในปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหนี้สะสมอยู่กว่า 100,000 ล้านบาทแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นหนี้ที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ หนี้สาธารณะของภาครัฐเองก็เพิ่มสูงขึ้นมากตั้งแต่ช่วงที่รัฐบาลต้องใช้จ่ายเพื่อบรรเทาผลกระทบและกระตุ้นเศรษฐกิจอันเกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ผมจึงเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องให้หาวิธีทำให้โรงกลั่นน้ำมันลดค่าการกลั่นลงไปบ้าง วิธีหนึ่งซึ่งน่าจะทำได้โดยไม่เป็นการแทรกแซงธุรกิจมากเกินไป และอยู่ในอำนาจของภาครัฐที่จะทำได้คือ การเปลี่ยนวิธีการกำหนดราคาหน้าโรงกลั่นที่ใช้เป็นราคาอ้างอิง ในการคำนวณภาษี และราคาขายปลีกที่ควรจะเป็น

ในปัจจุบัน ราคาอ้างอิงนี้คำนวณโดยอาศัยค่าเฉลี่ยของราคาหน้าโรงกลั่นที่สิงคโปร์ บวกกับค่าขนส่งน้ำมันทางเรือระหว่างสิงคโปร์และไทย เราอาจจะเปลี่ยนวิธีการคำนวณโดยหันไปใช้ราคาต่ำสุดของโรงกลั่นที่สิงคโปร์และตัดค่าขนส่งออก ก็จะทำให้ราคาอ้างอิงนี้ลดลงไปได้บ้าง ในขณะเดียวกันเราก็อาจจะกำหนดเงื่อนไขที่ทำให้โรงกลั่นของไทยมีค่าการกลั่นที่สอดคล้องกับกำไรขั้นต่ำที่ควรได้รับก็ได้

ผมเชื่อว่า วิธีการคำนวณราคาอ้างอิงแบบใหม่นี้น่าจะทำให้ราคาหน้าโรงกลั่นของไทยลดลงได้ 2-3 บาทต่อลิตร ซึ่งก็จะช่วยทำให้ภาระการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงได้ระดับหนึ่ง และอาจทำให้ราคาขายปลีกลดลงด้วยเมื่อเทียบกับวิธีการคำนวณราคาอ้างอิงเดิม โรงกลั่นเองก็ยังมีโอกาสได้กำไรในระดับปกติ และก็น่าจะรู้สึกภูมิใจที่ได้มีโอกาสช่วยผู้ใช้น้ำมันที่กำลังแบกภาระเงินเฟ้ออันหนักอึ้งอยู่ในขณะนี้.

ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อภิสิทธิ์-อดีตนายกรัฐมนตรี มอง 'จุดเสี่ยง' รัฐบาลเพื่อไทย ระเบิดการเมือง วางไว้เองหลายลูก

แม้ขณะนี้จะไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองใดๆ แต่สำหรับ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์" การแสดงทัศนะหรือความคิดเห็นทางด้านการเมือง

ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..

รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ

เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก

คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!

เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย

ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?

การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก