พรรษาประวัติศาสตร์ พุทธศักราช ๒๕๖๕ จากสุวรรณภูมิ.. สู่แคว้นคันธาระ (ปากีสถาน).... (ตอนที่ ๑)

เจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธาในพระรัตนตรัย ตามที่กล่าวเล่าเรื่องไปในบทที่แล้วว่า อาตมาได้รับนิมนต์ไปจำพรรษาที่สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน บนแผ่นดินอันมีคุณค่าทางอารยธรรมพุทธศาสนา อันสืบเนื่องมาจากอดีต สมัยเป็นที่ตั้งของ แคว้นคันธาระ มีเมืองหลวงชื่อ ตักศิลา.. ที่ชาวพุทธเรารู้จักนามกันดี... หากเคยเล่าเรียนเรื่องราวชาดกในพระพุทธศาสนาหรือจากในพระสูตรกันมาบ้าง ที่บันทึกเรื่องราวเล่าเรื่องอันเกี่ยวข้องกับแว่นแคว้นดังกล่าว ที่เป็น ๑ ใน ๑๖ มหาชนบทของชมพูทวีปที่เคยรุ่งเรืองยิ่งสมัยพุทธกาล...

หากค้นคว้าลงไปในความเป็นมาของแคว้นคันธาระ เพื่อทำความรู้จักในเชิง ภูมิประวัติ ที่ซึมซับประวัติศาสตร์เรื่องราวของมนุษยชาติในแต่ละสมัยมายาวนาน ก็จะพอสรุปให้เห็นภาพลักษณ์ได้เป็นระยะๆ ดังนี้

ในระยะที่ ๑ ก่อนสมัยพุทธกาล.. ซึ่งไม่สามารถระบุจำนวนปีได้ว่านครตักศิลามีอายุมากน้อยเท่าไร แต่หากค้นลงไปในเรื่องราวที่ปรากฏในชาดก ซึ่งถูกบันทึกไว้ในพระไตรปิฎก ก็จะพบเส้นทางของพระมหาโพธิสัตว์ที่ก้าวมาสู่ความเป็นพระพุทธเจ้าในสมัยปัจจุบัน ซึ่งได้เกิดมาใช้ชีวิตบนแผ่นดินดังกล่าว เพื่อบ่มเพาะบารมีธรรมให้สมบูรณ์ตามเจตจำนงที่ตั้งไว้เป็น มโนปณิธาน ในการดำเนินชีวิตทุกกาลสมัย.... ดังปรากฏหลักฐานที่นำสืบค้นจากชาดกที่ชื่อ จิตตสัมภูตชาดก ซึ่งมีเนื้อหาเล่าว่า.. “สมัยทรงเกิดเป็นจัณฑาล อยู่หมู่บ้านนอกกรุงอุชเชนี พระมหาโพธิสัตว์มาบังเกิดในหมู่บ้านนั้น ชื่อ จิตตกุมาร โดยมีเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันเป็นลูกของน้าสาว ชื่อ สัมภูตกุมาร .. ทั้งสองได้ประสบความทุกข์เพราะเสวยชาติกำเนิดที่เป็นจัณฑาล จึงได้ตกลงกันว่าจะปกปิดชาติกำเนิดแล้ว ปลอมแปลงเพศเป็นพราหมณ์มาณพ เดินทางไปสู่ นครตักศิลา ... เพื่อเล่าเรียนศึกษาศิลปะวิทยาการในสำนักของอาจารย์ทิศาปาโมกข์แห่งนครตักศิลา... จนที่สุดถูกจับได้ว่าเป็นจัณฑาล....” ... ซึ่งเป็นเรื่องราวของชีวิตที่ต้องดำเนินไปบนแผ่นดินอารยธรรมแห่งจิตวิญญาณนามว่า นครตักศิลา ที่น่าศึกษายิ่ง

เรื่องราวเส้นทางของพระโพธิสัตว์.. ก่อนจะบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ปรากฏร่องรอยบนแผ่นดินนครตักศิลายังมีอีกหลายสมัย นอกจากที่ยกมากล่าวไปแล้วนั้น :- ในส่วนที่มีความสัมพันธ์กับเมืองแห่งนี้ที่ว่า.. ทำไมชื่อนครตักศิลา ดังมีอีกเรื่องหนึ่งจากชาดกที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก เล่าถึงเรื่องเส้นทางสร้างบารมีธรรมสมัยทรงบำเพ็ญเพียรสร้างโพธิสัตว์บารมีที่ ได้ประทานเศียรของพระองค์ให้กับชายคนหนึ่ง โดยครั้งนั้น เสวยชาติเป็นพราหมณ์ อยู่ใน ชนบททลิททิ  จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้บ้านเมืองแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “ตักศิลา” แปลตามความในหนังสือของหลวงจีนฟาเหียนว่า “ศีรษะที่ถูกตัดออกแล้ว”

จากเรื่องราวในชาดกจึงพอประเมินได้ว่า นครตักศิลา เกิดขึ้นก่อนสมัยพุทธกาลมายาวนาน โดยไม่เคยมีหลักฐานใดๆ ที่จะสามารถประมาณได้ว่ากี่พัน..กี่หมื่นปี... ดังที่ปรากฏชื่อ “นครตักศิลา” ในชาดกเรื่องนั้นเรื่องนี้มาโดยตลอด ดังอีกเรื่องหนึ่งในสมัยเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์เช่นกัน ที่ ได้ทรงสละสรีระของพระองค์ ประทานให้เป็นอาหารแก่นางเสือที่กำลังอดอยาก หิวโหย... เพื่อเป็นทานบารมีอันยิ่ง.. เพื่อความถึงพร้อมในพุทธกรณธรรม... ที่จะได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณตามพระประสงค์

นครตักศิลา .. จึงได้ชื่อว่าเป็นบ้านเมืองที่พระมหาโพธิสัตว์ผ่านมาสร้างพระบารมีอันควรศึกษาอย่างยิ่ง... ว่า ทำไม.. จึงเป็นแผ่นดินคู่บารมีพระมหาโพธิสัตว์!?...

ในระยะที่ ๒ ในสมัยพุทธกาล.. ที่ปรากฏชัดเจนในชื่อ “นครหลวงตักศิลา แห่งแคว้นคันธาระ” ที่สมัยหนึ่งมีจอมกษัตริย์ผู้ทรงธรรมชื่อ พระเจ้าปุกกุสาติราช.. ที่ต่อมามีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. จนนำไปสู่การสละราชสมบัติ เสด็จออกบรรพชา-อุปสมบทในพระพุทธศาสนา ด้วยศรัทธาในพระพุทธองค์.. ด้วยชอบใจธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ดีแล้ว

ดังเรื่องที่เล่าไว้ใน ธาตุวิภังคสูตร ว่าต่อมาเมื่อออกบรรพชาแล้วนั้น ได้มีโอกาสฟังธรรมพระพุทธองค์ที่บ้านนายภัคควะ.. ช่างปั้นหม้อแห่งพระนครราชคฤห์ จนสามารถบรรลุธรรมเข้าถึงความเป็นอริยบุคคลขั้น พระอนาคามี ... ก่อนที่จะละสังขารด้วยผลกรรมเก่า ถูกยักษิณีสิงสถิตวัวให้ขวิดทำร้ายตายไปตามวิบากกรรมในอดีต...

ที่สำคัญยิ่ง ดังปรากฏหลักฐานในสมัยพุทธกาลพบว่า มีบุคคลสำคัญมากมายในสมัยนั้นเกี่ยวข้องกับนครตักศิลา.. ทั้งกษัตริย์ พราหมณ์.. ที่เดินทางไปร่ำเรียนฝึกฝนวิทยาการด้านต่างๆ .. ไม่ว่าการปกครอง การทหาร การแพทย์ การศิลปวิชาชีพที่นิยมในสมัยนั้นๆ ครบถ้วนไตรเพทที่หมู่ชนยกย่องในยุคนั้น ... เช่น พระเจ้าปเสนทิโกศล, เจ้ามหาลิแห่งกษัตริย์ลิจฉวี, พันธุลเสนาบดีแห่งวงศ์มัลละกษัตริย์, หมอชีวกโกมารภัจจ์ หรืออหิงสกะ “องคุลิมาล”.... จนถึงแม้เจ้าชายสิทธัตถะ แห่งราชวงศ์ศากยะ สักกชนบท ซึ่งต่อมา.. ก็คือ พระพุทธเจ้าของเรา.. ก็สันนิษฐานกันว่าเคยเดินทางไปศึกษาศิลปวิทยาการด้านต่างๆ ที่นครแห่งนี้ ... ซึ่งแม้จะไม่มีหลักฐานยืนยันในประวัติสมัยก่อนออกอภิเนษกรมณ์บรรพชา.. หากศึกษาจากบริบทของวัฒนธรรมประเพณี.. การศึกษาศิลปวิทยาการในยุคนั้น.. ก็น่าจะมีความเป็นไปได้.. อันแสดงให้เห็นความรุ่งเรืองของความเป็นมหาวิทยาลัยการศึกษาของโลกในยุคนั้นอย่างแท้จริง..

ในวาระที่ ๓ หลังพุทธกาล.. นครตักศิลา.. ถูกพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช กษัตริย์กรีกยึดครอง ดังปรากฏหลักฐานเป็นหนังสือที่ชาวกรีกกล่าวถึงบริบทวัฒนธรรมประเพณีของชาวตักศิลาว่า.. “ชาวตักศิลาที่เป็นคนยากจน ไม่สามารถหาคู่ให้กับลูกสาวได้ ก็นำไปขายที่ตลาด โดยเป่าสังข์ตีกลองเป็นสัญญาณให้ผู้สนใจมาดูตัว หากชอบใจก็ตกลงราคาซื้อขายกันนำไปเป็นภรรยา... เมื่อมีครอบครัว หากสามีตายก็จะต้องเผาตัวตายตามไปกับสามีด้วย..”

ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๒-๓.. เมื่อเข้าสู่สมัยพระอโศกมหาราช แห่งโมริยวงศ์ ได้มีการส่งเสริมเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปในต่างประเทศ โดยทรงอาราธนาพระสงฆ์ให้ทำหน้าที่สมณทูต ทั้งนี้ โดยแบ่งเป็นสมณทูต ๙ สาย โดย ๑ ใน ๙ สาย ได้แก่ พระมัชฌันติเถระที่เดินทางไปเผยแผ่ยังรัฐกัสมีรคันธาระ.. ยังให้เกิดการแผ่อาณาเขตการปกครองครอบคลุมไปทั่วชมพูทวีปของพระเจ้าอโศกมหาราช... รวมถึงแคว้นคันธาระ นครตักศิลาแห่งนี้ด้วย ดังที่ได้มีการก่อสร้างสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่า ธัมมราชิกสถูป แห่งนครตักศิลา

สำหรับมหาสถูปแห่งตักศิลาแห่งนี้.. บางความเห็นของนักโบราณคดีก็โต้แย้งว่า ไม่น่าจะเป็นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ด้วยมีผู้พบเหรียญอินโดกรีกที่สืบถึงศตวรรษที่ ๒ ก่อนคริสต์ศักราชในพื้นที่.. แต่ก็ยังไม่เป็นมติชัดเจน จึงไม่สามารถหักล้างหลักฐานและแนวความคิดเดิมได้ ที่อ้างความเป็นสถูปที่เป็นทรงสาญจี (สันติ).. ทรงศิลปนิยมในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช.. ที่ต่อมาได้ถูกทำลายโดยชาวฮั่นขาวในคริสต์ศตวรรษที่ ๕ และถูกปล่อยทิ้งให้เป็นซากปรักหักพังไปตามกาลสมัย.. ซึ่งในครั้งนั้น อาราม วิหาร สถูปของพุทธศาสนาถูกทำลายไปมากกว่าพันแห่งทั่วทั้งแว่นแคว้นคันธาระ...

ใน ค.ศ.๑๙๑๓ (พ.ศ.๒๔๕๖) เซอร์ จอห์น มาร์แชล ได้ทำการขุดค้นทางโบราณคดีในบริเวณพื้นที่พุทธสถานโบราณทั้งหลายในพื้นที่ตักศิลา พบตัวสถูปที่ถูกขุดรื้อทำลายปล้นสะดมอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมมาก มีหลักฐานร่องรอยการสร้างคูคลองขนาดใหญ่ เพื่อนำเอาของมีค่าออกมาจากสถูป.. พบซากโครงกระดูกของมนุษย์ในพื้นที่เปิดทางใต้มหาสถูปดังกล่าว พร้อมสภาพสิ่งของต่างๆ ที่แสดงว่าเป็นของพระสงฆ์ที่ถูกฆ่าทำลายในช่วงรุกรานของชาวฮั่นขาว...

จากหลักฐานที่ปรากฏทางโบราณคดี จึงสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นพุทธสถานที่สำคัญของอารยธรรมคันธาระในนครตักศิลา.. ที่ทรงคุณค่ายิ่ง ซึ่งตั้งอยู่ในสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานปัจจุบัน.. โดยอยู่ห่างจาก ลาวัลปินดี ไปทางทิศเหนือประมาณ ๓๕.๔๐ กิโลเมตร เป็นศูนย์กลางสำคัญของแคว้นคันธาระ.. ที่มีความเจริญรุ่งเรืองมายาวนานมากกว่า ๓,๐๐๐ ปี สิ้นสุดลงในพุทธศตวรรษที่ ๑๐ (พ.ศ.๑๐๐๘) โดยการรุกรานของพวกฮั่นขาว

สำหรับ เซอร์ จอห์น มาแชล (Sir John Marshall) นั้น นักโบราณคดีชาวอังกฤษที่ได้มาดำเนินการขุดค้นในเมืองตักศิลาตั้งแต่ ค.ศ.๑๙๑๓–๑๙๓๔ (พ.ศ.๒๔๕๖–๒๔๗๗) รวม ๒๑ ปี พบว่า นครตักศิลามีเมืองโบราณอยู่ ๓ แห่ง มีสถูปและพุทธสถานกว่า ๒๔ แห่ง มีอายุตั้งแต่ราวศตวรรษที่ ๖ ก่อนคริสตกาล... บริเวณเมืองโบราณ ๓ แห่ง ได้แก่ บริเวณเนินดินภีร์ (Bhir Mound).. เมืองเซอกัป (Sirkap) และเมืองเซอสุข (Sirsukh)

โดยที่เมืองเซอกัปได้พบจารึกที่ใช้ตัวอักษรและภาษาอราเมค (Aramaic) ที่กล่าวถึง การประดิษฐานเสาจารึก เพื่อเป็นเกียรติในโอกาสที่ “ปิยทรรสี” อโศก เจ้าชายอุปราช-ปกครองเมืองตักศิลา” .. นับเป็นหลักฐานสำคัญยิ่งในการสืบค้นหาอายุพุทธสถานในแผ่นดินดังกล่าว... ที่แสดงว่า.. เกิดในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชแน่นอน...

เมื่อวันนี้.. (๑๒ ก.ค.๒๕๖๕) ที่ผ่านมา อาตมาได้เดินทางไปจำพรรษาที่นครตักศิลา.. โดยเข้าพักในอาคารเก่าแก่ที่เป็นโบราณสถานในพิพิธภัณฑ์ตักศิลาที่รัฐบาลปากีสถานจัดถวาย ซึ่งเป็น บ้านพักของเซอร์ จอห์น มาแชล นักโบราณคดีชาวอังกฤษ ที่เคยมาพำนักทำงานขุดค้นเชิงโบราณคดี เมื่อกว่า ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา... จึงมีความปีติยินดีอย่างยิ่งที่ได้เข้าใกล้เจ้าของตำนานแห่งการขุดค้นโบราณสถานทางพุทธศาสนาแห่งนครตักศิลา.. อย่างแท้จริง... โดยเฉพาะการได้เข้าไปนั่งอยู่ในห้องนอนของ เชอร์ จอห์น มาแชล ที่ถูกเก็บรักษาไว้โดยกองโบราณคดี รัฐปัญจาบ แห่งสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน... เพื่อจะได้ระลึกถึงพระคุณของท่านผู้นี้ที่ได้ช่วยสืบค้นรักษาโบราณสถานของพุทธศาสนาให้ปรากฏมีอยู่ถึงปัจจุบัน.. จนโบราณสถานเหล่านั้นได้รับการยกเป็นมรดกโลกทางพุทธศาสนาในปัจจุบัน.. ที่ชาวปากีสถานและชาวพุทธควรภาคภูมิใจ.. ในประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของแผ่นดินอารยธรรมแห่งแคว้นคันธาระ ณ นครตักศิลา.. ที่ยังคงปรากฏชื่อดังกล่าวอยู่ถึงปัจจุบัน...!!.

เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..

รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ

เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก

คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!

เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย

ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?

การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก