อารัมภบทเข้าพรรษาปี ๒๕๖๕ .. สู่คำถามที่ ๒ ชาวลำพูน!!

เจริญพร สาธุชนผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในปีนี้ วันแรม หนึ่งค่ำ เดือนแปด ตรงกับ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ซึ่งเป็นวันเข้าพรรษา ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕ กำลังจะเข้ามาถึง นับเป็นปุริมพรรษา (พรรษาแรก) ที่พระภิกษุจะหยุดยับยั้งอยู่ในอาวาสใดอาวาสหนึ่ง เพื่ออธิษฐานจำพรรษาเป็นเวลา ๓ เดือนในฤดูกาลฝนตามพระพุทธบัญญัติ..

นับเป็นประเพณีที่สำคัญในหมู่ชาวพุทธที่จะถือโอกาสเข้าวัด สมาทานศีล ฟังธรรม ปฏิบัติธรรมกันอย่างจริงจัง ตลอดไตรมาสเช่นกัน เพื่อบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ เป็นความสวยงามยิ่งของชาวพุทธ.. ที่ถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมาจนเป็นประเพณีปฏิบัติ...

ช่วงสัปดาห์ก่อนเข้าพรรษา จึงได้เห็นหมู่พระภิกษุเดินทางไปตามวัดต่างๆ เพื่อเตรียมเข้าพรรษา.. มีการไปเยี่ยมเยียนให้อนุศาสตร์แก่เพื่อนสหธรรมิก สัทธิวิหาริก อันเตวาสิก ทั้งหลาย ตามกิจอันพึงกระทำ...

สำหรับอาตมา.. ในพรรษาปีนี้ นับเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ควรจดจารึกไว้ ด้วยได้รับหนังสืออาราธนานิมนต์อย่างเป็นทางการ ผ่านทางการทูตจากรัฐบาลสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ขออาราธนาให้ไปจำพรรษา ณ นครตักศิลา แคว้นคันธาระในอดีตของชมพูทวีป (ปัจจุบันอยู่ในรัฐปัญจาบของปากีสถาน..)...

นับเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนาที่ได้รับอาราธนานิมนต์ไปจำพรรษาอย่างเป็นทางการ ดังที่ได้รับหนังสือของรัฐบาลแห่งรัฐปัญจาบ ผ่านการเห็นชอบของรัฐบาลกลางปากีสถาน ผ่านทางสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานประจำประเทศไทย เรื่อง การอาราธนานิมนต์ไปจำพรรษาดังกล่าว โดยมีการประสานผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลไทย ที่เรียกการสานสัมพันธ์ในครั้งนี้ว่า Dhamma Diplomacy (โดยคุณดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ)

บนความเป็นทางการที่สมบูรณ์ไปด้วยพิธีการ.. อันเน้นถึงความสัมพันธ์อันดีทางการทูตระหว่างสองประเทศ.. ที่มีมายาวนานจนครบ ๗๐ ปี อันควรยินดีอย่างยิ่ง แม้ว่าจะมีการนับถือศาสนาที่ต่างกันระหว่างประชาชน แต่ไม่ได้เป็นอุปสรรคด้วยการมีความคล้ายคลึงกันในภาวะทางจิตใจที่มีลักษณะโอบอ้อมอารี ชอบช่วยเหลือกันและกัน...

ด้วยความเป็นพื้นฐานทางนิสัยที่ใกล้เคียงกันระหว่างชาวปากีสถานกับชาวไทยเรา ทำให้อาตมายินดีตอบรับไปอยู่จำพรรษาในดินแดนอารยธรรมพุทธศาสนาในอดีต ที่ปัจจุบันได้รับการยกฐานะพื้นที่สำคัญๆ เหล่านั้นขึ้นเป็น มรดกโลก (Buddhist Heritage) ทางพุทธศาสนา ที่เคยรุ่งเรืองในอดีตบนแผ่นดินดังกล่าว โดยเฉพาะในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๕-๖.. เป็นต้นมา ก่อนพุทธศาสนาจะสูญสลายไปในพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เศษๆ...

ร่องรอยอารยธรรม.. คลื่นจิตวิญญาณชาวพุทธ.. เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนา จึงมีปรากฏให้เห็นเด่นชัดมากมาย ยิ่งกว่าประเทศต่างๆ ในโลกนี้ก็ว่าได้.. หากนับหลักฐานจากเรื่องราวที่บันทึกและโบราณวัตถุทั้งหลายที่ปรากฏ...

จึงนับเป็นโอกาสที่สำคัญยิ่งในการไปอยู่จำพรรษา เพื่อทัศนศึกษา ค้นคว้าเรื่องราวทางพุทธศาสนาในแต่ละห้วงสมัยผ่านพุทธประวัติ.. พุทธศิลป์.. และโบราณวัตถุทางพุทธศาสนาทั้งหลาย ที่ชาวปากีสถานได้จัดเก็บรักษาไว้อย่างดี รอคอยชาวโลกไปเยี่ยมชม ทัศนศึกษาในพุทธศิลป์ .. พุทธสถาน.. ที่ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมรดกโลก ดังกล่าว... ซึ่งคงจะได้มีโอกาสเขียนเรื่องราวเล่าเรื่อง ร่องรอยอารยธรรมพุทธศาสนาบนแผ่นดินสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน มาลงตีพิมพ์ใน “ปักธงธรรม” ไทยโพสต์ ดังเช่นเคย...

ต่อไปขอนำเข้าสู่ คำถามธรรมะของชาวลำพูน คำถามที่ ๒.. ที่ถามมาว่า “กระผมมีข้อกังขาว่า ทุกเช้าเวลาเราวิรัติศีลเรียบร้อยแล้ว.. เมื่อกลับไปใช้ชีวิตประจำวัน ก็ไม่ได้ตั้งใจวิรัติศีลตามที่กล่าว จึงประพฤติผิดศีลบ้าง ศีลขาดบ้าง.. จึงไม่ค่อยสบายใจ เราจะทำอย่างไรที่ไม่ให้จิตติดอยู่ตรงนี้ครับผม..”

 

วิสัชนา... คำถามนี้ตอบไม่ยาก.. หากใช้วิธีการถามมาตอบไปตรงๆ ว่ากันสั้นๆ สรุปเป็นเรื่องๆ เช่น เมื่อถามมาว่า ผิดศีลแล้ว ไม่สบายใจ เพราะเสียสัจจะ.. เสียการวิรัติศีลที่ตั้งไว้ว่า จะไม่ประพฤติล่วงศีลทั้ง ๕ ข้อที่วิรัติไว้ดีแล้วด้วยเจตนา.. แต่กลับประพฤติผิด.. ผิดไปจากเจตนาว่า วิรัติ คือ งดเว้นเด็ดขาดจากการล่วงละเมิดสิกขาบท (ศีล) ทั้ง ๕ ข้อ หรือ ๘ ข้อ.. เป็นต้น จึงติดใจ ไม่สบายใจในเรื่องดังกล่าว...

วิธีการที่จะไม่ให้ติดใจ.. ดับความไม่สบายใจได้ ก็คือ การเคารพใน สัจจะ ที่ตั้งใจไว้ สัจจะเป็นศีล.. ความสังวรเป็นศีล เจตนาเป็นศีล การวิรัติเป็นศีล.. หรือการไม่ล่วงละเมิดเป็นศีล...

คนที่จะรักษาสัจจะได้.. ก็ต้องมีความรู้ชอบ (สัมมาทิฏฐิ) อันเกิดจากการมีสติปัญญาศึกษาหาความรู้ เข้าใจในคุณประโยชน์ความจริงของสิ่งนั้นๆ ที่เรียกว่า สัจธรรม...

ความรู้ ความเข้าใจ ถูกต้องตามธรรม.. แสดงความจริงเป็นธรรมดา อันมีอยู่ในธรรมชาติของจิตวิญญาณ ที่ว่าด้วยเรื่อง กฎแห่งกรรม - อำนาจแห่งธรรม จึงนำไปสู่ ศรัทธาความเชื่อ ปสาทะความเลื่อมใส ในหลักธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาในระดับเบื้องต้น จนเกิดความศรัทธาในกรรม.. ในวิบาก.. และความเป็นสัตว์ที่อาศัยกรรม (กัมมัสสกตาสัทธา) .... นับเป็นสัมมาทิฏฐิเบื้องต้นก่อนจะนำไปสู่.. สัมมาทิฏฐิขั้นสูง.. คือ ความรู้-ความเห็นชอบในอริยสัจธรรม ๔ ประการ.. อันเป็นความจริงขั้นสูงสุดที่เป็นที่สุดแห่งความจริง เพื่อความดับทุกข์

ความรู้-ความเข้าใจ.. ในธรรมทั้งหลาย.. มันไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง.. แต่จะเกิดขึ้นเมื่อมีสติปัญญา รู้จักพิจารณาโดยละเอียดแยบคายในเรื่องนั้นๆ.. ที่เรียกว่า “วิธีโยนิโสมนสิการ” ที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “วิธีการแห่งปัญญา”

พระพุทธศาสนา จึงมีหลักธรรมคำสั่งสอนให้ชาวพุทธรู้จักคิดพิจารณาโดยแยบคาย.. ด้วยการมุ่งใช้วิธีการคิด (พิจารณา) ที่ถูกต้อง.. สมประโยชน์ เพื่อความรู้จริงเห็นจริงนั้น..

การกระทำใดๆ .. แบบเชื่อตามกันมา.. ว่าตามกันมา.. ถือปฏิบัติสืบกันมา.. โดยไม่รู้จักคิดพิจารณาหาเหตุหาผล.. ว่าทำแล้วได้อะไร.. ทำแล้วอะไรจะเกิดขึ้น.. เมื่อกระทำเช่นนี้จะให้ผลเป็นอย่างไร.. นั่นมิใช่วิถีพุทธศาสนา พุทธศาสนาจึงเริ่มต้นที่จะต้องตั้งต้นนำสู่การเรียนรู้ เพื่อค้นคว้าหาความจริง.. ด้วยสติปัญญาและความเพียรชอบ เป็นเครื่องมือในการพัฒนาจิตให้มีการคิดอ่านที่ถูกต้อง ถูกวิธีการ.. ถูกทำนองคลองธรรม

เหมือนการทำบุญใส่บาตรในทุกเช้า ก็ต้องนำมาคิดพิจารณาว่า.. ที่ว่าได้บุญกุศล.. บุญกุศลหน้าตาเป็นอย่างไร.. ทำอย่างไรให้ได้บุญกุศล...

ในทางตรงข้าม บาปอกุศล ก็คงต้องพิจารณาไปในทำนองเดียวกัน.. ว่า บาปอกุศลหน้าตาเป็นอย่างไร เกิดได้อย่างไร.. ทำอย่างไรจึงเกิดบาปอกุศล...

ดังเรื่องของการรักษาศีล.. การสมาทานศีล-การวิรัติศีลที่นิยมถือปฏิบัติกันมา.. ก็ควรรู้ว่า ศีลมีหน้าตาเป็นอย่างไร จะไปหาศีลที่ไหน.. จะมีศีลได้อย่างไร.. เกิดมีศีลแล้วเป็นอย่างไร.. ถ้าไม่เกิดมีศีลล่ะ ชีวิตคนเราจะเป็นอย่างไร จึงเป็นเรื่องที่ควรนำมาพิจารณาศึกษาให้เข้าใจ.. ก่อนที่จะตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็น ผู้มีศีล

จึงต้องเรียนรู้ในคุณประโยชน์ของศีลและโทษของการบกพร่องในศีล.. ที่แนวปฏิบัติเรียกว่า วินัย อันเป็นหนทางที่นำไปสู่ความเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์ด้วยสติปัญญา.. เพื่อค้ำชูความเพียรชอบ...

จะได้ไม่เป็นไปเพื่อเป็นผู้หนักไปในทิฏฐิ มานะ จนยากที่จะแก้ไข แม้จะอ้างว่าเป็นผู้มีศีล.. ที่จะนำไปสู่ความหลงตน ถือตัว ว่าเราเป็นผู้มีศีล.. ความเป็นผู้มีศีลของเรา วิเศษกว่าผู้อื่น ดีกว่าผู้อื่น.. ถ้าอย่างนี้ แม้มีศีลก็ปิดกั้นคุณประโยชน์ของศีลแท้จริง.. และกลับเป็นโทษเพราะไม่เข้าใจเจตนาของศีลว่า.. มีเพื่อประโยชน์โดยธรรมอย่างไร...

ดังที่พระสงฆ์ท่านได้กล่าวอนุโมทนาในความเป็นผู้มีศีลอันสมบูรณ์ ที่พระอริยเจ้าสรรเสริญว่า...

๑.สีเลนะ สุคะติง ยันติ .. ศีลเป็นเหตุให้ถึงสุคติ กล่าวโดยสรุป คือ มนุษยสมบัติ ทิพยสมบัติ.. จะสัมฤทธิ์ผลด้วยความเป็นผู้มีศีล

๒.สีเลนะ โภคะสัมปะทา .. ศีลเป็นเหตุให้ถึงพร้อมในโภคทรัพย์.. แปลโภคทรัพย์เป็นพรหมวิหารธรรม.. ก็จักสรุปได้ว่า.. แม้จะดำเนินไปสู่พรหมสมบัติ ก็ต้องอาศัยคุณของศีล

๓.สีเลนะ นิพพุติง ยันติ .. ศีลเป็นเหตุให้ถึงพระนิพพาน.. คือ ความดับทุกข์สิ้น...

ซึ่งรวมความประโยชน์แห่งการเป็นผู้มีศีล ทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ว่า.. ในเบื้องต้นเป็นหนทางเป็นไปเพื่อคติของความสุข.. ที่เรียกว่า สุขคติในมนุษย์และเทวดา ในท่ามกลางเป็นไปเพื่อพรหมสมบัติ.. และในที่สุดเป็นไปเพื่อพระนิพพาน.. ซึ่งจักต้อง อาศัยศีล.. ขาดศีลเส้นทางขาด.. จักไปไม่ถึงเลย.. ไปไม่ได้เลย.. ไม่ว่า.. มนุษย์-เทวดาสมบัติ.. พรหมสมบัติ และนิพพานสมบัติ...

ดังนั้นความเข้าใจที่ถูกต้อง.. ในคุณประโยชน์ของศีล.. ว่าให้อะไรที่ทีคุณค่ายิ่งต่อผู้มีศีล.. ผู้ถือปฏิบัติ ไม่ล่วงละเมิดศีล.. จึงจะนำไปสู่การไม่เสีย สัจจะ ในการกล่าว วิรัติศีล.. จะไม่เป็นผู้เดือดด้วยภายหลัง (วิปปฏิสาร).. จะเป็นผู้มี ปีติ.. ปัสสัทธิ.. สุข.. สมาธิ.. และปัญญา... อันเป็นไปเพื่อ วิมุตติ .. เพื่อ วิมุตติญาณทัสสนะ

จึงควรทำความเข้าใจในสิ่งนั้นๆ ที่เราตั้งใจจะกระทำว่า.. มีคุณประโยชน์อย่างไรหากปฏิบัติตาม.. ให้โทษ เสียประโยชน์อย่างไร ถ้าไม่ปฏิบัติตาม... เมื่อเรารู้เข้าใจตรงตามความเป็นจริงที่เป็นธรรม.. ก็จักก่อเกิด สัมมาทิฏฐิ.. ที่จักนำไปสู่สัมมาปฏิบัติ.. คือ การประพฤติไม่ล่วงละเมิดกิเลสอย่างหยาบ ทางกาย วาจา จักได้ชื่อว่าเป็นผู้มีศีล.. จะไม่เป็นผู้ติดใจ.. ข้องใจ.. ไม่สบายใจ.. เมื่อหวนระลึกถึง ถ้าเราเป็นผู้ประพฤติผิดศีล.. ที่เรียกว่า เกิด วิปปฏิสาร.. อันจะทำให้เกิดความเร่าร้อนเผาไหม้ในจิตใจในภายหลัง.. ที่จักให้โทษอย่างยิ่ง... จึงควรทำความเข้าใจในทุกสิ่งทุกอย่างให้กระจ่างแจ้ง.. ก่อนที่จะกระทำอยู่เสมอ.. เพื่อปลูกฝังความเชื่อมั่นด้วยปัญญา.. อันเป็นการสร้างศรัทธาแท้จริงในพระพุทธศาสนา

เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..

รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ

เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก

คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!

เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย

ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?

การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก