กรุงเทพหลังเลือกตั้งผู้ว่า กทม. สู่สังคมสีเขียวที่ยั่งยืน

วันนี้เป็นวันเสาร์แรกที่ดิฉันได้นั่งมองเมืองกรุงเทพอย่างเต็มตาจากตึกสูงของโรงแรมใจกลางเมือง เนื่องจากบังเอิญต้องมาทำธุระแถวนี้ จุดที่มองลงมาตรงนี้ซึ่งตรงกับสวนลุมพินีพอดี ทำให้รู้สึกชื่นชมว่าสวนสีเขียวขนาดใหญ่แห่งนี้ทำให้เมืองทั้งเมืองเมื่อมองจากมุมสูงดูสวยงามจริง ๆ สวนลุมพินีมีสระน้ำกว้างกลางสวนเขียว ๆ หอนาฬิกาอยู่ข้างสระน้ำ ลานคนวิ่งและขี่จักรยาน ต้นไม้สีเขียวเต็มไปหมด นานแล้วที่ดิฉันไม่ได้เข้าไปเหยียบสวนลุม น่าจะหลายปีนับตั้งแต่ก่อนโควิด สมัยก่อนบ้านดิฉันอยู่ใกล้สวนลุมพินีมาก และตอนเด็ก ๆ จะต้องได้แวะไปสวนลุมทุกวันหลังกลับจากโรงเรียน เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมาก มองไปทางไหนก็มีแต่สีเขียว เพราะมีสวนใกล้บ้าน โรงเรียนก็อยู่ใกล้บ้าน

เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วมาถึงวันนี้ ดิฉันย้ายบ้านไปอยู่ทางตะวันออกของกรุงเทพนับตั้งแต่เรียนประถมปลาย ทุกอย่างเริ่มไกลบ้านไปหมด ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน หรือสวนสาธารณะ ประมาณ 4-5 ปีต่อมาถึงจะเพิ่งมีสวนเปิดใหม่ คือสวนหลวง ร. 9 แต่ก็ยังอยู่ไกลบ้านอยู่ดี กว่าจะขับรถไปถึงก็เกือบครึ่งชั่วโมง ดังนั้นในวันหยุดถ้าไม่ไปห้าง ก็จะไปซูเปอร์มาเกต ไปกอล์ฟคลับที่เป็นสมาชิกอยู่ หรือไม่ก็ขับรถไปเที่ยวต่างจังหวัดเลย 

และหากมีใครถามว่าวันหยุดอยากจะออกมาเดินเล่นนอกบ้าน หรือออกกำลังหรือเปล่า คำตอบคือไม่ เพราะแม้ว่าแถวบ้านจะเป็นเขตที่อยู่อาศัยเป็นหลัก แต่จะให้ออกมาวิ่งในซอยแคบ ๆ ที่มีรถสวนไปมาก็คงไม่อยากจะทำ จะขี่จักรยานก็กลัวรถชนเพราะไม่มีเลนจักรยาน

แม้สิ่งแวดล้อมจะยังไม่เอื้ออำนวยให้กรุงเทพเป็นเมืองที่น่าเดิน หรือขี่จักรยาน แต่ก็ต้องยอมรับว่ากรุงเทพได้เติบโตขึ้นมากจริง ๆ แถวบ้านดิฉันเองก็พัฒนาขึ้นมาก มีถนนหนทางกว้างขวาง มีซูเปอร์มาเกตมาเปิดบริการหลายแห่ง มีรถไฟฟ้า (ที่ยังเดินไปไม่ถึง) มีห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อมากมาย แต่การพัฒนาดังกล่าวได้แลกมาด้วยพื้นที่ธรรมชาติที่ถูกทำลายลงไป การพัฒนาเชิงพาณิชย์เพียงด้านเดียวทำให้เมืองเติบโตก็จริง แต่เป็นการเติบโตเชิงวัตถุที่ไม่ได้ทำควบคู่ไปกับการรักษาหรือเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในเมืองให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ การพัฒนาของเมืองไม่ได้ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตและความสุขของคนเมือง

พื้นที่สีเขียวในเขตเมืองเป็นเครื่องสะท้อนคุณภาพชีวิตและความสุขของคนเมืองที่สำคัญ เมืองที่ดีควรมีพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพ ในปริมาณที่เหมาะสม และสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ได้กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดีว่า ประชาชน 1 คน ควรมีพื้นที่สีเขียวอยู่ที่ 9-15 ตารางเมตร แต่กรุงเทพแม้จะมีพื้นที่สีเขียวในรูปแบบสวนสาธารณะหรือสวนหย่อมมากถึง 8,922 แห่ง หรือพื้นที่ราว 26,329 ไร่ แต่เป็นเพียงสัดส่วน 2.6% ของพื้นที่กรุงเทพทั้งหมด หรือเพียง 7.6 ตารางเมตรต่อประชากรในทะเบียนราษฎร์ 1 คน และหากนับรวมประชากรแฝง อาจหมายถึงจะมีพื้นที่สีเขียวเพียง 3 ตารางเมตรต่อ 1 คนเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกถึง 3 เท่าตัวและน้อยกว่าตัวเลขในอุดมคติที่ 50 ตารางเมตรต่อ 1 คน

คนกรุงเทพโดยเฉลี่ยยังต้องเดินทางถึง 4.5 กม.กว่าจะไปถึงพื้นที่สีเขียวที่ใกล้ที่สุด ซึ่งมากกว่ามาตรฐานของ WHO ที่แนะว่าประชากรควรสามาถเข้าถึงสวนที่ใกล้ที่สุดได้ในระยะ 300-500 เมตร

มีความพยายามหลายยุคสมัยในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพที่เป็นเมืองหลวงของประเทศ แต่ความพยายามดังกล่าวก็ยังไม่เป็นผลชัดเจนเป็นรูปธรรม 

หลังจากผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2022 ที่คุณชัชชาติชนะด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นกว่า 1.38 ล้านเสียง ด้วยนโยบายกว่า 214 ข้อ ที่ครอบคลุมตั้งแต่ด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย เศรษฐกิจ สุขภาพ การบริหารจัดการ การศึกษา และการเดินทาง เพื่อสร้างกรุงเทพให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ขึ้นสำหรับทุกคน ความหวังในการมีกรุงเทพสีเขียวก็เริ่มกลับมาอีกครั้ง

ดิฉันคิดว่านโยบายผู้ว่าชัชชาติในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการจัดการขยะ การจัดการน้ำเสีย การจัดการมลพิษทางอากาศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เช่น การปลูกต้นไม้ล้านต้น สวน 15 นาทีทั่วกรุง เพิ่มการเข้าถึงสวน และ BMA Net Zero  ในระยะหลังมานี้ ปัญหาสิ่งแวดล้อมเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม และไฟป่าที่เกิดขึ้นทั่วไป ทำให้การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นวาระเร่งด่วนที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวและคิดว่าการที่เราจะเริ่มทำมันอย่างจริงจังในเมืองหลวงของเราเป็นเรื่องที่ควรสนับสนุนอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ นอกการเพิ่มจำนวนพื้นที่สีเขียวและการเข้าถึงได้ง่ายแล้ว คุณภาพของพื้นที่ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ พื้นที่สีเขียวที่ดีควรออกแบบให้เหมาะสมกับการใช้งาน และต้องให้ดูแลรักษาง่าย นอกจากนี้เราไม่ควรพึ่งพาภาครัฐอย่างเดียวในการสร้างพื้นที่สีเขียว เพราะในความเป็นจริง พื้นที่ของรัฐในกรุงเทพมีน้อยมาก แม้ว่าที่ผ่านมา พื้นที่สีเขียวสาธารณะล้วนมาจากการย้ายออกของหน่วยงานราชการ หรือการจัดสร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ แต่ในปัจจุบันพื้นที่ของหน่วยงานรัฐมีเหลือไม่มาก ดังนั้น อีกฝ่ายที่จะช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับกรุงเทพได้ ก็คือพื้นที่ของเอกชน หรือกึ่งเอกชน ฉะนั้นเมื่อพูดถึงพื้นที่สีเขียว เราควรจะต้องช่วยกันทุกภาคส่วน และภาครัฐควรมีการสร้างแรงจูงใจผ่านมาตรการทางภาษีในการส่งเสริมให้เอกชนที่มีที่ดินรกร้างว่างเปล่าหันมาสร้างสวนสีเขียว หรือให้ที่ดินรัฐเช่าทำสวนสาธารณะ หรือให้มีการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการสร้างพื้นที่สีเขียว โดยได้รับการยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นการตอบแทน เป็นต้น 

ดิฉันขอเอาใจช่วยการทำงานของผู้ว่ากทม.คนใหม่ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมืองอย่างยั่งยืน ทั้งในแง่การพักผ่อน การออกกำลังกาย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าอีกไม่นานเกินรอเราจะได้เห็นกรุงเทพที่สะอาด ปราศจากมลพิษทางอากาศและน้ำเสีย เมืองที่จะเต็มไปด้วยต้นไม้สีเขียวที่ร่มรื่นน่าอยู่ มีกิจกรรมให้คนกรุงเทพทำใกล้ ๆ บ้านโดยไม่ต้องเสียเงิน เสียเวลา เสียน้ำมันขับรถไปไกล ๆ บ้าน ‘พื้นที่สีเขียว’ คือสิ่งที่ คนกรุงเทพต้องการ 

เทียนทิพ สุพานิช
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ผู้ว่าฯชัชชาติ' สั่งปิดโรงแรมไฟไหม้ย่านข้าวสาร ต่างชาติดับ 3 เจ็บ 5 ราย

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์เพลิงไหม้โรงแรม The Ember Hotel ถนนตานี เขตพระนคร

ฝุ่น PM 2.5 กทม. แนวโน้มลดลง เกินค่ามาตรฐานเหลือ 15 พื้นที่ อยู่ฝั่งธนบุรีเป็นส่วนมาก

ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร ขอรายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร

คนกรุงเทพฯ สำลักฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน อยู่ในระดับสีส้ม 63 พื้นที่

ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานครรายงานสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2567ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ณ เวลา 07.00 น. : ตรวจวัดได้ 34.3-74.3 มคก./ลบ.ม. พบว่าเกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จำนวน 63 พื้นที่ คือ