โอนงานจราจรให้ท้องถิ่น เกาถูกที่คันจริงหรือ?

เริ่มจะเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์การ “ปฏิรูปตำรวจ” ที่หลายคนกำลังรอคอย เพราะตอนนี้รัฐสภากำลังมีการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจใหม่แล้ว การปฏิรูปองค์กรตำรวจไม่ได้เป็นมวยล้มต้มคนดู เหมือนอย่างที่เข้าใจกัน

แต่ที่อดห่วงไม่ได้ก็ตรงประเด็นจะ “โอนงานจราจร” ไปให้ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” คำถามก็คือ เพื่ออะไร จะดีขึ้นจริงหรือ???

ถ้าจะพูดถึงเรื่องทุจริตคอรัปชั่นของตำรวจจราจรในอดีต ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งไม่ว่าหน่วยงานไหนมีอำนาจก็คงไม่ต่างกันนัก เพราะเป็นเรื่องของตัวบุคคล แต่เท่าที่เห็นปัจจุบัน ผบ.ตร. ก็ดูจริงจังกับการกำหนดมาตราฐานการกวดขันวินัยจราจร

ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ ฉบับที่กำลังจะคลอดในเร็ววันนี้ มาตรา 158 ระบุ

” ให้โอนงานจราจร ฯ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการจราจร การกวดขันวินัยจราจร และการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยจราจรทางบกในความผิดฐานจอดรถโดยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ให้แก่กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และเทศบาลนคร”​

ฟังดูแลเหมือนตำรวจกำลังจะสบาย เพราะปริมาณงานจะลดลงเยอะ แต่คำถามก็คือ เป็นการเกาถูกที่คันจริงหรือ???

ฟังดูไม่ต่างอะไรกับการแข่งขันฟุตบอลนัดชิงชนะเลิศ ที่เล่นมาจนถึงครึ่งหลัง แต่ผู้จัดการทีมดันเปลี่ยนเอาผู้เล่นกองหน้าออก แล้วเอานักเตะหน้าใหม่ที่ยังไม่เคยลงสนามมาเล่นเอาดื้อๆ เล่นเอาคนดูอึ้งกันทั้งสนาม

ท้องถิ่น สามารถดูแลการจราจรได้ดีกว่าตำรวจจริงหรือไม่ ก็ยังไม่มีใครสามารถตอบได้แบบยืนยันการันตี แต่สิ่งที่น่ากังวล ที่น่าหวั่นใจก็มาตรฐานการบังคับใช้กฎหมายจะมีมากน้อยแค่ไหน

ยกตัวอย่าง หากแม่ค้าในตลาดวางของบนพื้นถนน จนทำให้รถติด นายกเทศมนตรีจะกล้าสั่งจับจริงหรือ ในเมื่อยังเดินหาเสียงอยู่ในตลาด และแม่ค้าเหล่านั้นก็เป็นฐานเสียง

หรือชั่วโมงเร่งด่วน รอยต่อ กทม. และปริมณฑล ต้องประสานการจราจราข้ามเขตจังหวัดเมื่อรับกับปริมาณรถ ท้องถิ่นจะมีโครงข่ายติดต่อสื่อสารกันได้เหมือนตำรวจซึ่งมีกำลังอยู่ทั่วประเทศอย่างนั้นหรือไม่

เช่นเดียวกับ ในช่วงปีใหม่ สงกรานต์ ที่ต้องจัดการจราจรในภาพรวมทั้งประเทศ การระบายรถ การเปิดเลนส์พิเศษ จะกำหนดแผนปฏิบัติกันอย่างไร ระหว่างท้องถิ่นแต่ละแห่ง ใครรับผิดชอบจุดไหน ถนนไหน แล้วจะเกิดปัญหาในทำนองว่า ขอให้ท้องถิ่นของตัวเองรถไม่ติดไว้ก่อน เร่งระบายรถออกไป ส่วนท้องถิ่นอื่นจะเป็นอย่างไรไม่สน

เป็นปัญหาที่น่าคิด เพราะปกติภารกิจในช่วงเทศกาลอย่างนี้ ตำรวจจะสั่งการและจัดการจราจรในภาพรวมทั้งประเทศได้

คิดง่ายๆ หากเอาท้องถิ่นมาอำนวยการจราจร และมีอำนาจบังคับใช้กฎหมายเพียงเรื่องการจอดรถในที่ห้ามจอด แล้วเจอรถขนยาเสพติดผ่านมา จะสามารถจับกุมได้หรือไม่ หรือต้องใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะขอกำลังสนับสนุนจากตำรวจ ที่ผ่านมาตำรวจจราจรสามารถจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายทั้งจราจรและอาญา บางทีก็ทำได้ดีกว่าฝ่ายสืบสวนด้วยซ้ำ เพราะเขาอยู่บนถนนจนรู้ทางหนีทีไล่

หรือ พ.ร.บ.จัดระเบียบการจอดรถในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2562 ก็กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่จอดรถฝ่าฝืนกฎหมายอยู่แล้ว โดยไม่ตัดอำนาจของตำรวจ ซึ่งจะทำให้สามารถทำงานร่วมกันโดยการหารือว่าจะแบ่งภารกิจหน้าที่ระหว่างกันอย่างไร

ไม่ใช่แค่ประชาชนที่ยังสงสัย บรรดานักวิชาการด้านความปลอดภัยทางถนน ก็พากันสงสัยว่าแนวคิดในการโอนงานจราจรไปท้องถิ่นของกฎหมายฉบับนี้ ได้มีการวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย กันอย่างจริงจังแล้วยัง ถามความเห็นจากคนที่ทำงานด้าน Road Safety ของเมืองไทยกันบ้างหรือไม่

นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ ได้สะท้อนมุมมองเอาไว้ว่า เป็นการแก้ไขที่ไม่ตรงจุด เป็นการโยนปัญหาที่ละเอียดอ่อนไปให้กับท้องถิ่นต้องรับผิดชอบ ความจริงแล้วการเสริมสร้างวินัยและบังคับใช้กฎหมายจราจร ทุกภาคส่วนต้องมาบูรณาการ โดยมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก หน่วยงานท้องถิ่นอย่าง กทม. เมืองพัทยา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคอยให้การสนับสนุน เหมือนกรณี ผู้ว่า กทม. ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ประสานงานกับกองบัญชาการตำรวจนครบาลภายหลังจากได้รับการเลือกตั้ง เพื่อไปร่วมประชุมวางแผนรับมือเรื่องการแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่

“เรื่องการจัดการปัจจัยเสี่ยงบนถนนต้องดำเนินการภายใต้กรอบของกฎหมาย เพื่อให้ผู้กระทำผิดเกิดความเกรงกลัว ไม่กล้าฝ่าฝืน หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอย่างตำรวจจึงมีความจำเป็น แต่ด้านองค์กรปกครองท้องถิ่นมีความยึดโยงกับประชาชนในพื้นที่ ผู้บริหารจำเป็นต้องยึดถือฐานเสียงทางการเมือง จะบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เสียคะแนนเสียงได้อย่างไร จากประสบการณ์ที่ทำงานด้านนี้ จึงเห็นว่างานด้านการจราจรควรอยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจต่อไป เพียงแต่ว่าอะไรที่เป็นปัญหาอุปสรรคก็พิจารณาปรับแก้ไขให้ตรงจุด”

เช่นเดียวกับ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนมักพบบ่อยจากพฤติกรรมที่กระทำจนเคยชิน เช่น การย้อนศร การไม่ใส่หมวกนิรภัยเดินทางในชุมชน หากผู้บังคับกฎระเบียบทำโดยท้องถิ่นก็จะเกิดแรงต้านในสังคม ชุมชนนั้นๆ ได้ง่าย

นอกจากนั้นบทบาทท้องถิ่นอาจทำได้จำกัดในกรณีที่ประชาชนเดินทางผ่านในหลายตำบลหรืออำเภอ ผ่านท้องถิ่นหลายหน่วยงาน การจัดการจราจร บังคับใช้กฎระเบียบ ที่แตกต่างกัน ประชาชนนอกพื้นที่ยากที่จะเข้าใจและปฏิบัติตามได้

“ควรจะมีพื้นที่ทดลอง(ต้นแบบ) ดำเนินการเฉพาะในเมืองใหญ่จริงๆ ก่อน เช่น กทม. ภูเก็ต หรือเมืองท่องเที่ยวที่พร้อม เพื่อศึกษาประเมินผลความเป็นไปได้ ข้อดี-ข้อเสีย ควบคู่ไปด้วย รับฟังความคิดเห็นและผลกระทบที่เกิดกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งบทบาทสำคัญของท้องถิ่น ควรจะมุ่งเน้นเรื่องวิศวกรรมจราจร ถนน เครื่องหมาย สัญญาณ เพื่อช่วยด้านความปลอดภัยในเชิงโครงสร้างของแต่ละพื้นที่มากกว่า”

จากข้อคิดดังกล่าว ทำให้ต้องลองมองดูไปต่างประเทศ ก็พบว่าเกือบทุกประเทศ ตำรวจเป็นหน่วยงานที่มีหน้าจัดการจราจรและบังคับใช้กฎหมายควบคู่กันไป การกำหนดหน้าที่ส่วนนี้ นอกจากตำรวจจะดูเรื่องการจราจรแล้ว ยังสามารถเข้าไปป้องกันปราบปรามอาชญากรรมที่เกิดขึ้นบนท้องถนนได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นการตรวจค้นยาเสพติด การตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ การเข้าระงับเหตุการทำกฎหมายอาญาต่างๆ

หลายๆ คำถามที่อาจจะตามมาอีกมากมาย หากยังคงคิดจะเปลี่ยนม้ากลางศึก จากบทบาทของตำรวจจราจร ที่มีหน้าที่หลักทั้งอำนวยความสะดวกการจราจร และบังคับใช้กฎหมายควบคู่กันไป ในขณะที่ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ย่อมต้องเอื้ออาทรต่อมวลชนที่เป็นฐานเสียงของตนเอง แล้วประชาชนทั้งประเทศจะได้ประโยชน์จริงหรือ หรืออาจกลายเป็นถอยหลังเข้าคลองก็เป็นได้.

นายระฆัง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อดีตจเรตำรวจฯ ขอทำเรื่องเฉพาะหน้า ‘เพิ่มเงิน-สวัสดิการตำรวจ’ ก่อนจะไปเปลี่ยนประธาน ก.ตร.

ณะนี้มีการเคลื่อนไหวจะปฏิรูปตำรวจโดยตำรวจเอง หลักๆคือให้นายกรัฐมนตรีไม่เป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร.  แต่ประธานจะมาจากการเลือกกันเองเหมือนคณะกรรมการข้าราชการอัยการ หรือ ก.อ. กระผม ไม่แน่ใจว่าจะเกิดผลดีกว่าเดิมหรือแย่กว่าเก่า

บิ๊กสีกากี ชงปธ.สภาฯ 'ปฎิรูปตำรวจใหม่' เปลี่ยน 'ประธานก.ตร.' มาจากเลือกตั้ง

พล.ต.อ.วินัย ทองสอง นายกสมาคมตำรวจ ในฐานะผู้แทนคณะผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ได้ลงนามในหนังสือกราบเรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร เรื่องขอยื่นเรื่องริเริ่มเสนอร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ...