ประเทศต้องการนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ

อาทิตย์ที่แล้วผมได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรในหลักสูตรนักบริหารระดับสูง ธรรมศาสตร์เพื่อสังคม (นมธ.) รุ่นที่19 ในหัวข้อ นโยบายสาธารณะในประเทศไทย ผมเป็นวิทยากรให้กับหลักสูตรนี้มานานพอควรและส่วนใหญ่จะบรรยายเรื่องธรรมาภิบาล แต่คราวนี้ขอให้ผมพูดเรื่องนโยบายสาธารณะเพราะมองว่าเป็นเรื่องสำคัญของประเทศขณะนี้และมีการพูดถึงกันน้อย ซึ่งผมเห็นด้วยจึงตอบรับด้วยความยินดี

ปัจจุบันนโยบายสาธารณะที่ดีเป็นความท้าทายของรัฐบาลทั่วโลกจากที่ในหลายประเทศมีช่องว่างมากระหว่างสิ่งที่ประชาชนอยากเห็นรัฐบาลทําในแง่นโยบายสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประเทศกับสิ่งที่ภาครัฐทํา ทําให้ประชาชนสูญเสียความไว้วางใจหรือ Trust ในทำหน้าที่ของภาครัฐ เกิดวิกฤติศรัทธาหรือ Crisis of Confidence ต่อการทําหน้าที่ของนักการเมืองและระบบราชการ

บ้านเราก็เจอปัญหาในลักษณะเดียวกัน นโยบายสาธารณะมีปัญหาและไม่นําไปสู่การแก้ปัญหาที่ประเทศมี มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนมากระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวมในการทำนโยบาย ทําให้นโยบายสาธารณะที่ออกมาถูกบิดเบือนจนไม่สามารถแก้ปัญหาที่ประเทศมี ซ้ำบางครั้งทําให้ประเทศยิ่งมีปัญหามากขึ้น ตัวอย่างล่าสุดก็เช่นนโยบายเปิดเสรีที่ไม่มีการควบคุมทําให้ประเทศมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาด้านสาธารณสุขและสังคมตามมา ประเด็นที่เราพูดกันในหลักสูตรนมธ.วันนั้นคือ ทําอย่างไรเราจะได้นโยบายสาธารณะที่ดีพิจารณาจากบริบทของความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่กําลังเกิดขึ้น ซึ่งก็คือประเด็นที่ผมจะเขียนวันนี้

นโยบายสาธารณะคือการแก้ปัญหา ที่อาจอยู่ในรูปของการออกกฏหมาย ข้อบังคับ หรือระเบียบโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ในรูปนโยบายที่ทําโดยภาครัฐเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เช่นการลงทุน หรือในรูปมาตรการที่กระทบแรงจูงใจในระบบเศรษฐกิจเช่นภาษี นําไปสู่การจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจเพื่อการเติบโตและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ที่ต้องตระหนักคือนโยบายสาธารณะมีต้นทุนอยู่ที่การใช้ทรัพยากรของภาครัฐ คือภาษีและเงินที่รัฐบาลกู้ยืมซึ่งมีจํากัด ประชาชนจึงคาดหวังให้รัฐบาลทำนโยบายสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ปัญหาที่ประเทศมีเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

ความท้าทายของนโยบายสาธารณะขณะนี้คือโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว ประเด็นปัญหาต่างๆยากและสลับซับซ้อนขึ้น มีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นในชีวิตประจําวัน ทําให้วิธีการทํานโยบายสาธารณะแบบเดิมๆที่เน้นการทํางานแบบราชการอาจไม่ทันเหตุการณ์และหรือไม่สามารถให้คําตอบที่ดีต่อปัญหาที่ประชาชนมีได้ ที่สําคัญในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำมากเช่นประเทศเรา ที่ประชาชนต้องพึ่งพาบทบาทของภาครัฐมากเพราะประชากรส่วนใหญ่มีรายได้น้อยและความยากจนยังมีอยู่ เช่นกรณีของโควิด19 การทำนโยบายสาธารณะจึงยิ่งมีความสำคัญ ประชาชนอยากเห็นนโยบายสาธารณะที่แก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด ที่ประชาชนได้ประโยชน์ และมีการนําไปปฏิบัติใช้อย่างเป็นธรรม

ดังนั้นเทียบกับในอดีต ความคาดหวังของประชาชนและภาคธุรกิจเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะจึงเพิ่มสูงขึ้นมาก ชัดเจนขึ้น เสียงดังขึ้น และตรงไปตรงมา

หนึ่ง ประชาชนมองปัญหาที่ประเทศมีว่าเป็นปัญหาที่สังคมต้องร่วมกันแก้ไข มองนโยบายสาธารณะว่าเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของคนในสังคมเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหา ที่สำคัญมองว่าความรู้ในเรื่องต่างๆที่จําเป็นต่อการแก้ปัญหาไม่ได้จํากัดอยู่ในภาคราชการ ความรู้ในสังคมมีมากนอกระบบราชการ เช่นในภาคธุรกิจ ภาควิชาการและภาคประชาสังคม ประเด็นคือทําอย่างไรให้การแก้ไขปัญหาหรือนโยบายสาธารณะได้ประโยชน์จากความรู้ที่มีอยู่ในสังคม ได้ประโยชน์จากการมีส่วนร่วมมากขึ้นของคนในสังคม เพื่อให้การแก้ปัญหาประสพความสำเร็จ โดยเฉพาะในปัญหาที่เป็นแบบสหวิชาที่การแก้ไขต้องการความรู้ความเชี่ยวชาญในหลายมิติหลายสาขาอาชีพที่อาจไม่มีอยู่ในหน่วยราชการ

สอง ภาคธุรกิจต้องการนโยบายสาธารณะที่ดีเพื่อสนับสนุนให้บริษัทเอกชนของประเทศมีความสามารถในการแข่งขันเพื่อการเติบโต มองว่าภาครัฐควรจำกัดบทบาทของนโยบายสาธารณะไว้เฉพาะในเรื่องที่สำคัญ อยากเห็นการบังคับใช้กฏหมายและกฏระเบียบต่างๆอย่างตรงไปตรงมาและเป็นธรรม การกํากับดูแลของภาครัฐโดยมาตรการต่างๆควรทําอย่างเพียงพอและเท่าที่จําเป็นที่จะให้เกิดประสิทธิผล (smart regulation) มองเห็นถึงศักยภาพของการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น Big Data, Artificial Intelligence, Blockchain ในการทํานโยบายสาธารณะเพื่อให้เกิดความทันสมัย ให้นโยบายสาธารณะมีความแม่นยำและมีทางเลือกมากขึ้น เพื่อนำไปสู่นโยบายสาธารณะที่ดีที่ภาคเอกชนและประเทศได้ประโยชน์

ในหลักสูตรนมธ.วันนั้น เราหารือกันถึงประเด็นที่การทํานโยบายสาธารณะในบ้านเราจําเป็นต้องเปลี่ยน ซึ่งมีอย่างน้อยสามเรื่องเพื่อให้ประเทศได้นโยบายสาธารณะที่ดี

เรื่องแรก คือ กระบวนการทํานโยบายสาธารณะที่ปัจจุบันเป็นแบบบนสู่ล่างแบบน้ำตก คือหน่วยราชการที่รับผิดชอบจะคิดเอง ทำเอง นําไปปฏิบัติเอง ผลออกมาดีไม่ดีอย่างไรเป็นเรื่องที่สังคมหรือประชาชนต้องรับ คือทําอยู่คนเดียว ซึ่งรูปแบบนี้อาจจะใช้ได้ดีในอดีตที่ปัญหาไม่ยุ่งยาก คนน้อย เทคโนโลยีไม่ก้าวหน้า ความรู้ในระบบราชการมีมากกว่าที่อื่น แต่ปัจจุบันทุกอย่างเปลี่ยนไปมาก ทําให้วิธีคิดและกระบวนการทํานโยบายสาธารณะต้องเปลี่ยน ไม่สามารถทําเหมือนเดิมได้

ประเด็นสำคัญที่ต้องเปลี่ยนมีสองประเด็น หนึ่ง การทำนโยบายต้องมีส่วนร่วมมากขึ้นของคนในสังคม คือผู้ทํานโยบายต้องพร้อมร่วมมือกับบุคคลอื่นนอกระบบราชการเพื่อให้ได้คำตอบที่ดีในการแก้ปัญหา เป็นการระดมความรู้ที่สังคมมีมาช่วยสังคมแก้ปัญหา ซึ่งจะช่วยให้การแก้ปัญหาตรงจุดและแม่นยำขึ้น มีโอกาสสำเร็จสูงเพราะได้การสนับสนุนจากประชาชน สอง ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยในการระดมและวิเคราะห์ข้อมูล ช่วยคิดโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ เพื่อให้ได้ทางเลือกทางนโยบายที่แม่นยำขึ้น ตรงไปตรงมา นำไปสู่การตัดสินใจด้านนโยบายที่มีเหตุมีผล บนฐานของหลักฐานและความรู้เชิงประจักษ์ ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหา

เริ่องที่สอง คือวิธีคิดและทักษะของผู้ทํานโยบายที่ต้องเปลี่ยน เปลี่ยนจาก Policy maker ไปเป็น ผู้ประกอบการสาธารณะ หรือ Public Entrepreneur คือผู้ที่พร้อมจะทํางานร่วมกับผู้อื่นเพื่อแก้ไขปัญหาที่สังคมมี คล้ายกับ Entrepreneur หรือผู้ประกอบการในภาคธุรกิจที่มุ่งมั่นให้กิจการที่ตนเองเข้าไปเกี่ยวข้องประสพความสำเร็จ

ที่ต้องตระหนักคือ ผู้ประกอบการสาธารณะไม่ได้หมายถึงข้าราชการ นักการเมือง หรือบุคลากรในภาครัฐ แต่หมายถึงใครก็ได้ในสังคมที่ต้องการแก้ไขปัญหาที่สังคมมีและพร้อมที่จะทำงานกับคนอื่นที่จะให้การแก้ปัญหาประสพความสำเร็จ

คําถามคือผู้ประกอบการสาธารณะควรมีทักษะอะไรบ้าง ในหลักสูตรเราพูดถึงสี่ทักษะสําคัญที่ผู้ประกอบการสาธารณะควรมี หนึ่ง มีสมองหรือทักษะแบบวิศวกรที่คิดเป็นระบบ สอง มีจิตใจแบบนักกฏหมายที่ให้ความสําคัญกับความเป็นธรรมและการปฏิบัติตามกฏระเบียบ ไม่คดโกง สาม มีกึ๊นหรือความกล้าแบบนักกิจกรรมที่จะผลักดันการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น คือมีภาวะผู้นำ สี่ มีมือแบบนักวิทยาศาสตร์ที่พร้อมจะทํางานร่วมกับคนอื่นเพื่อให้งานของตนบรรลุเป้าหมายหรือประสพความสำเร็จ

นี่คือสี่ทักษะที่ผู้ทํานโยบายควรมี คําถามคือในบ้านเรามีนักการเมืองคนไหนบ้างที่มีครบสี่ทักษะนี้ ที่จะเป็นความหวังของประชาชนว่าจะผลักดันนโยบายสาธารณะที่ดีเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

เรื่องที่สามที่ต้องเปลี่ยนคือให้ความสำคัญกับหลักธรรมาภิบาลในการทํานโยบายสาธารณะเพื่อให้เกิดกระบวนการทํานโยบายและการตัดสินใจที่ดี ได้แก่ การมีอำนาจตามกฎหมายที่จะทําในสิ่งที่ทำ ความมีเหตุมีผลในการตัดสินใจ กระบวนการทํานโยบายโปร่งใสและตรวจสอบได้ ผู้ทํานโยบายมีความรับผิดรับชอบในสิ่งที่ทํา คือมี Accountability และ มีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการทํานโยบาย หลักธรรมาภิบาลทั้งห้าข้อนี้มีความสำคัญและเป็นพื้นฐานของนโยบายสาธารณะที่ดี

เห็นได้ว่านโยบายสาธารณะในบ้านเรายังสามารถปรับปรุงได้อีกมากเพื่อให้เกิดนโยบายสาธารณะที่ดีเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เป็นสิ่งที่ต้องทําและเป็นสิ่งที่คนในสังคมต้องให้ความร่วมมือและช่วยกันผลักดัน เพราะนโยบายสาธารณะที่ดีสามารถสร้างชาติสร้างประเทศให้เจริญก้าวหน้า ตรงข้ามกับนโยบายที่เลวหรือไม่ดีที่จะทําร้ายประเทศและดึงประเทศให้ถอยหลัง

นี่คือเหตุผลว่าทําไมประชาชนต้องการนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ

คอลัมน์ เขียนให้คิด

ดร. บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน