ยังเสี่ยงโดนสกัด ร่าง กม.สุราก้าวหน้า ธุรกิจเม็ดเงิน 4 แสนล้านบาท

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฏว่าร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภา วาระแรกขั้นรับหลักการไปแบบพลิกความคาดหมาย คือร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต หรือที่เรียกกันว่า ร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า กับร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เรียกว่า ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ทั้งที่วิปรัฐบาลและรัฐบาลส่งสัญญาณไม่เห็นชอบด้วย โดยวิปรัฐบาลขอให้ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลลงมติไม่รับหลักการ แต่สุดท้ายทั้งสองร่างก็ผ่านสภา

อย่างไรก็ตาม พบว่าการผ่านร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าเมื่อ 8 มิถุนายน 2565 ที่มีคะแนนเสียงรับหลักการ 178  เสียง ไม่เห็นด้วย 138 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง มีเสียง ส.ส.รัฐบาลไม่เข้าร่วมประชุมจำนวนไม่น้อย อีกทั้งก็มี ส.ส.รัฐบาลแหกมติวิปรัฐบาลไปลงมติรับหลักการ ซึ่งในทางการเมืองจึงยังไม่แน่เสมอไปว่า สุดท้ายแล้วร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าจะผ่านสภาวาระสาม ที่เป็นขั้นตอนลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายหรือไม่

เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ผู้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต ฉบับที่… พ.ศ. … หรือร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า กล่าวถึงกระบวนการขับเคลื่อนเพื่อผลักดันร่างกฎหมายสุราก้าวหน้าในช่วงก่อนหน้านี้ รวมถึงการลุ้นให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาผ่านความเห็นชอบจนประกาศใช้เป็นกฎหมาย โดยเริ่มว่า ก่อนหน้านี้เคยเป็นผู้ประสบภัยมาก่อน เคยถูกดำเนินคดี (ทำคราฟต์เบียร์) และเรารู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรม และเป็นที่เห็นกันว่าประชาชนคนทั่วไปไม่สามารถทำเหล้าเบียร์ได้ การแก้กฎหมายสรรพสามิตจึงน่าจะเป็นทางออกได้ พอมีการตั้งพรรคอนาคตใหม่ ผมก็ถูกชักชวนให้ร่วมก่อตั้งพรรคและพรรคก็มีนโยบายเรื่องนี้ตั้งแต่แรก พอเข้ามาที่พรรคอนาคตใหม่ ผมก็ทำร่างแก้ไขกฎหมายสรรพสามิตรอไว้ตั้งแต่ยังไม่ได้เป็น ส.ส. ที่ก็ยอมรับว่าไม่คิดว่าร่างจะผ่านความเห็นชอบจากสภาวาระแรกไปเมื่อ 8 มิถุนายน อันนี้ก็ยอมรับตรงๆ 

...กฎหมายที่มีปัจจุบัน เป็นการบล็อกไม่ให้เข้ามาทำเรื่องนี้ ซึ่งเรื่องเหล้าเบียร์ผมคิดว่ามันเกี่ยวเนื่องกับทุกอย่าง  เป็นเรื่องที่กระทบกับคนหลายคน ไม่ว่ารวยหรือจน อย่างเกษตรกรก็อาจจะทำสุราพื้นบ้านได้ เพราะเขาอาจเคยทำตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ ผมก็คิดว่าหากเราปลดล็อกตรงนี้ได้ มันก็แสดงถึงจุดเปลี่ยนในแง่ของมายาคติของสังคมในเรื่องบาป บุญคุณโทษ ความเป็นพุทธ คนจนกับนายทุน รวมถึงรัฐราชการรวมศูนย์ ที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่อยากให้มีการผลิตเยอะเพราะไม่อยากตามไปดูควบคุม ทั้งที่ควรเปิดโอกาสให้รายย่อยได้เข้าไปทำมากขึ้น

-หากไม่แก้กฎหมายภาษีสรรพสามิต แก้ไขแค่กฎกระทรวงได้หรือไม่ เพราะภาครัฐ กรมสรรพสามิตก็บอกว่าให้แก้ไขกฎกระทรวงก็เพียงพอแล้ว?

ก็ได้ แต่การแก้ไขกฎกระทรวงอาจจะได้แค่บางส่วน คือเปิดโอกาสให้รายย่อยเข้ามาผลิตได้ แต่ส่วนหนึ่งที่หากแก้ไขแค่กฎกระทรวงแล้วจะทำไม่ได้ก็คือ การทำเหล้าหรือเบียร์บริโภคที่บ้านเองโดยไม่ได้มีการขาย ที่เรียกว่า Homebrew ซึ่งหากแก้ไขแค่กฎกระทรวงก็จะไปไม่ถึงเรื่อง Homebrew เพราะ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตยังเขียนล็อกไว้ว่า หากใครจะทำเหล้าเบียร์ยังไงก็ต้องขออนุญาต ไม่ว่าจะทำกินเองหรือขาย ซึ่งหากไม่แก้ไข พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ในส่วนของการทำ Homebrew เพื่อบริโภคเองที่บ้านก็จะไม่ได้ ที่ผมก็ยอมรับว่า หากจะให้รายย่อยทำก็แค่กฎกระทรวงก็ได้ แต่ที่ผ่านมาคือเขาไม่คิดจะแก้ไขกฎกระทรวง และเราไม่มีอำนาจที่จะแก้ไข เพราะเราเป็น ส.ส. ไม่ได้เป็นรัฐบาล

เรื่องนี้ได้เคยนำเข้าไปหารือพิจารณาในคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ก่อนหน้านี้หลายครั้ง ซึ่งตัวแทนกรมสรรพสามิตมาชี้แจงกับคณะกรรมาธิการหลายรอบ เช่นบอกว่าหากแก้ไขแล้วจะทำให้ควบคุมยาก หากปล่อยให้รายย่อย-รายเล็กทำ จะผลิตออกมาไม่มีคุณภาพ โดยพยายามยกข้อกล่าวอ้างเรื่องคุณภาพกับปริมาณการผลิต ที่มันไม่สัมพันธ์อะไรกันเลยระหว่างเหล้ากับเบียร์ ต่อมาก็มาอ้างเรื่องหากแก้ไขแล้ว เกิดรายย่อยขึ้น จะทำให้การส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบที่โรงงานแหล่งผลิตจะยาก ซึ่งจริงๆ เรื่องการตรวจสอบดังกล่าวมันเป็นเรื่องที่เขาต้องไปออกระเบียบมาเพื่อรองรับการทำงาน  ไม่ใช่จะทำงานแบบเดิมๆ ไม่แก้ไขอะไร จะใช้แบบส่งคนไปเช็กสต๊อก ไปดูเขาติดอากรแสตมป์แบบเดิมๆ หรือ ทำไมไม่ใช้วิธีการเช่น สแกนผ่านคิวอาร์โค้ด แล้วให้ผู้ผลิตเหมาจ่าย ว่ากันไป จะได้ไม่ต้องไปนั่งเฝ้าโรงเหล้าอย่างที่ทำตอนนี้ที่ต้องส่งคนไปเฝ้าหน้าโรงเหล้าเบียร์เวลาบรรจุ ติดอากรแสตมป์ เพราะกลัวโกง ทั้งที่มีวิธีอื่นที่ทำได้และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วย

ช่วงพิจารณาในคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ  สภาผู้แทนราษฎร ตัวแทนกรมสรรพสามิตก็บอกแต่ว่ากำลังจะแก้ไข แต่สุดท้ายก็ไม่มีการแก้ไข เขาพูดไปแบบนั้น คือไม่ได้ทำ มาโกหกว่ากำลังทำ เช่นตอนนี้คืบหน้าไปแล้ว 70  เปอร์เซ็นต์ สุดท้ายซักไปก็พบว่าทำไปได้แค่ 50 เปอร์เซ็นต์  เราก็เห็นว่าเขาไม่ได้ทำจริง

เท่าพิภพ-กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต กล่าวถึงหลักการสำคัญของร่างดังกล่าวว่า มีจุดมุ่งหมายคือเป็นการปลดล็อกเรื่องใบอนุญาตในการทำขาย เช่นต้องไม่มีการกำหนดทุนจดทะเบียนและกำลังการผลิต และการกำหนดประเภทสุราแบบเฉพาะเจาะจงที่เป็นอุปสรรค ทำให้รายใหม่ไม่สามารถเข้ามาในตลาดได้ แต่หากถามว่าตอนนี้ตลาดสุราเสรีหรือไม่-ก็เสรี ใครไปขอทำก็ได้ แต่มันถูกผูกขาดโดยกลไกตรงนี้ จากกฎกระทรวงเช่นการขออนุญาตทำเบียร์ ผู้ขอต้องผลิตเบียร์ 10  ล้านลิตรต่อปีเพื่อบรรจุขวดขาย ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวจะมีคนทำได้สักกี่คนในประเทศนี้ แล้วยิ่งเหล้าขาว เหล้าสีในประเทศไทยยิ่งหนักกว่าเหล้าเบียร์ เพราะกำหนดปริมาณการผลิตไว้เยอะกว่าอีก มันเลยแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับคนธรรมดา

จึงควรต้องเปลี่ยน ซึ่งทำได้ง่ายๆ คือ การเปิดทาง  เหมือนกับการวิ่งแข่ง ก็มีอยู่แค่ 2-3 รายที่เป็นเจ้าใหญ่วิ่งกันอยู่ในลู่ โดยไม่เปิดให้คนอื่นมาแข่งได้เลย เพราะมีการกำหนดค่าลงสมัครแข่งไว้ที่ 10 ล้าน (ลิตร) แต่การแก้ไขนี้ก็จะทำให้ไม่ต้องเสียค่าสมัครแพงขนาดนั้นแล้ว ขอแค่ผ่านเรื่องการผลิตที่มีคุณภาพ แล้วก็ไปขอเพื่อจะได้ลงมาวิ่งแข่งได้ โดยเจ้าใหญ่จะวิ่งนำไปก่อนแล้วกี่รอบไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่สิ่งสำคัญคือเปิดโอกาสให้ผู้คนได้ลงมาแข่งขันกันได้ เพื่อทำให้เกิดความเท่าเทียมกันทางกฎหมายและทางเศรษฐกิจ  โดยไม่ว่าคุณจะรวยหรือจะจนก็มีโอกาสมาทำธุรกิจเดียวกันได้

...เนื้อหาที่จะขอแก้ไขก็คือ จะแก้ไขว่าในกฎกระทรวงห้ามเอาข้อความเกี่ยวกับเรื่องทุนจดทะเบียน กำลังการผลิต แรงม้า แรงคน เข้าไปใส่กำหนดไว้เพราะเป็นการทำให้เกิดการผูกขาด ส่วนหลังจากนี้ (หากร่างแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฉบับดังกล่าวประกาศใช้) เขาจะไปแก้ไขกฎกระทรวงต่อไปอย่างไรก็เป็นเรื่องของเขา (กรมสรรพสามิต) แต่ต้องห้ามไปเขียนทับกับเนื้อหาที่มีการแก้ไขไว้ในร่าง พ.ร.บ.

โอกาสร่าง กม.สุราก้าวหน้า

เสี่ยงสภาพลิกมติคว่ำ-วุฒิสภาต้าน?

เมื่อถามถึงว่า แม้จะผ่านสภาวาระแรกขั้นรับหลักการมาแล้ว แต่มั่นใจหรือไม่ว่าจะผ่านได้ในวาระสาม เพราะตอนโหวตวาระแรก ส.ส.รัฐบาลก็ไม่อยู่ในห้องประชุมหลายคน  และก็มี ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลโหวตให้ เท่าพิภพ พูดถึงประเด็นนี้ว่า ผมตั้งใจทำให้ดีที่สุด แต่เมื่อสภามีมติรับหลักการวาระแรกและมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.สรรพสามิต ก็ทำให้การคุยกันในสภาง่ายขึ้นเพราะผ่านวาระแรกมาแล้ว และมี ส.ส.จากหลายพรรคมาร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญคณะนี้ด้วยเพื่อยกร่างดังกล่าว ดังนั้นหากจะมาคว่่ำกันในวาระสาม ผมว่ามันก็แปลกๆ เพราะในการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ ใครเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างดังกล่าวอย่างไรก็มาว่ากัน แม้รัฐบาลเขาจะมีธงมาก่อนแล้ว

...คุณวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ เขาก็บอกกับผมว่าเขาอยู่ในการเมืองมา 38 ปี เท่าที่เขาจำได้ เขาบอกว่ายังไม่เคยเห็นร่างกฎหมายที่เสนอโดยฝ่ายค้านแล้วผ่านความเห็นชอบจากสภา ร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตเป็นครั้งแรก ซึ่งหากหลักการที่เสนอไว้ในร่างของคณะกรรมาธิการผ่านความเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่ของสภาวาระสอง ผมว่าก็น่าจะผ่านวาระสามได้ เพราะการโหวตพอโหวตวาระสองเสร็จวันนั้น ก็โหวตวาระสามต่อกันไปเลยในวันเดียวกัน

-แล้วด่านสำคัญอย่างวุฒิสภา คิดว่าจะผ่านหรือไม่  เพราะมองกันว่า ส.ว.ไม่ค่อยชอบพรรคก้าวไกลตั้งแต่ยุคอนาคตใหม่?

ก็ใช่ อย่างผมเองก็เคยอัด ส.ว.ไปหลายทีเหมือนกันตอนอภิปราย ก็ไม่รู้ว่าบางคนอาจผูกใจเจ็บ แต่บางคนเขาอาจไม่ได้สนใจแล้ว แต่ผมคิดว่าสมาชิกวุฒิสภาหลายคนเขาก็น่าจะเข้าใจ เพราะสมาชิกวุฒิสภาก็มีเหตุผลหลายท่าน  อย่างตอนประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ก็มี ส.ว.หลายคนมาคุยกับผม เขาบอกว่า "สุดยอดมากน้อง เห็นด้วยจริงๆ" แต่ ส.ว.เขาไม่สามารถคว่ำร่างได้อยู่แล้ว เพราะสภาก็มีมติยืนยันอีกครั้งได้

-ก่อนจะโหวตวาระแรก วันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมาได้มีการเดินสายพูดคุยก่อนลงมติหรือไม่?

ก็คุยในสภาตลอดเพราะทุกคนรู้ว่าผมทำเรื่องนี้ เขาเห็นความตั้งใจผม ซึ่งเรื่องนี้เข้าไปคุยในสภาหลายรอบ เช่นเป็นรายงานหรือเป็นกระทู้ ก็ทำให้คนในสภาได้ยินเรื่องนี้บ่อยๆ  เขาก็โอเค ตรงนี้มันก็เป็นเทคนิค คือจะผลักดันเรื่องอะไรก็ดันผ่านการตั้งกระทู้ในสภาก่อน ให้คนได้ยินว่าเรื่องนี้คืออะไร ประมาณไหน แล้วก็ไปยื่นญัตติขอให้สภาตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาเรื่องสุรา แล้วก็ผลักดันให้มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาในคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจของสภา แล้วอนุกรรมาธิการก็ทำรายงานเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร จะได้ให้สภาได้พูดๆ กัน ก็มีหลายเทคนิคให้คนได้พูด ได้มัดตัวเองไปเรื่อยๆ ได้ดูว่าเขาคิดอะไร เขาติดอะไร

เรื่องนี้ที่ทำ ผมไม่ได้ฟลุก ผมทำตั้งแต่เริ่มด้วยการหารือในที่ประชุมสภา มีการตั้งกระทู้ ยื่นญัตติ ทำรายงาน  ทุกอย่างก็เป็นไปตามสเตปที่เราวางไว้ ก็ทำเต็มที่แล้วก็เคลื่อนนอกสภาด้วย เพราะหากจะเอาให้ผ่านจริงๆ มันก็ต้องทำงานหนัก เพราะมันเป็นเรื่องยากอยู่แล้ว เพราะเราทำในเรื่องที่มัน impossible มันก็ต้องจัดเต็มเป็นเรื่องธรรมดา แล้วก็ต้องมีวาทศิลป์อ้อน โน้มน้าว อย่างตอนโหวตวันที่ 8 มิถุนายน สภาเพิ่งผ่านวาระแรกเรื่องร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ต่อมาก็พิจารณาเรื่องร่างแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ผมไปคุยกับ ส.ส.บางคนที่เป็นฝ่ายรัฐบาล ผมก็บอกเขาว่า "พี่เห็นด้วยกับผม แต่ไม่อยากโหวตตามมติพรรค (ให้โหวตไม่รับหลักการ) พี่ก็กลับบ้าน พี่ไปเข้าห้องน้ำ เออก็จบ จะได้เสียงน้อยลง มันก็เกี่ยว"

-หากมีการแก้ไขกฎหมายสรรพสามิตสำเร็จ กรมสรรพสามิตจะได้รับผลกระทบเรื่องการจัดเก็บรายได้ยังไง?

ก็อาจจะกระทบตรงที่ว่าเขาก็ต้องขยันขึ้น งานเยอะขึ้น ต้องไปดูหลายแห่ง แต่หากจะใช้วิธีการแบบเดิม ต้องส่งคนไปนั่งเฝ้าที่โรงเหล้าไปดูการบรรจุขวด มันไม่คุ้ม ต้องเปลี่ยนวิธีใหม่ ต้องเชื่อใจประชาชนมากกว่านี้ เช่นเหมาถังไปเลยแล้วคิดภาษี ต้องเปลี่ยนระเบียบการจัดเก็บภาษีใหม่ แต่หากร่างแก้ไขกฎหมายประกาศใช้ออกมา กรมสรรพสามิตจะจัดเก็บภาษีได้เยอะขึ้น เพราะของเยอะขึ้น

ส่วนเหตุผลที่หน่วยงานรัฐอื่นๆ คัดค้านการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ เช่นกรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่เป็นห่วงเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม หากมีการผลิตเหล้าเบียร์กันมากขึ้น  เท่าพิภพ บอกว่า การทำเหล้าทำเบียร์มันก็มีแค่ส่าเหล้า ที่มีแค่ธัญพืช หมักเสร็จก็เอาไปให้วัวให้ควายกิน เอาไปเลี้ยงปลา ก็เหมือนกับขยะเปียกทั่วไปที่ไม่ได้มีเยอะ สามารถจัดการได้อยู่แล้ว อย่างสมัยก่อนตอนผมเคยต้มเบียร์ มีคนมารอเอาเลย เอาไปเลี้ยงหมูเลี้ยงปลา เพราะเป็นอาหารสัตว์ชั้นดี ส่วนน้ำที่ออกมาก็ไม่ใช่น้ำเสียที่มีสารเคมีอะไร ส่วนหากโรงผลิตมีกำลังการผลิตเกิน 50 แรงม้า ก็ต้องไปขออนุญาตกรมโรงงานอุตสาหกรรม คือเราทำธุรกิจเหล้าเบียร์ให้มันเป็นปกติ หากทำใหญ่ก็ต้องไปเข้าระบบของโรงงาน ก็ ไปขอใบอนุญาต เข้าระบบโซนนิงที่จะถูกควบคุมโดยธรรมชาติอยู่แล้ว

-ที่คนเป็นห่วงว่า หากกฎหมายนี้ออกมาจะทำให้คนไทย โดยเฉพาะเยาวชนเข้าถึงและดื่มเหล้าเบียร์กันมากขึ้น?

ก็ไม่ได้เยอะมากกว่าเดิมเท่าไหร่ โดยหากคิดแบบนี้ก็ต้องไปยกเลิกเจ้าใหญ่มากกว่า ต้องไปคุมรายใหญ่ ไม่ใช่มาคุมรายเล็ก การควบคุมโดยมีปริมาณเหล้าเบียร์เพิ่มขึ้น มันไม่เกี่ยวว่าเด็กหรือเยาวชนจะกินเยอะขึ้น เพราะมีโรงผลิตที่เล็กลง เพราะเบียร์หรือเหล้าที่ทำจะมีราคาสูงกว่าตลาดอยู่แล้ว ซึ่งเด็กก็มีรายได้น้อย แต่สุดท้ายการควบคุมเรื่องการขาย การบังคับใช้กฎหมายหลายอย่างมีปัญหา ไม่ใช่มาโทษว่ามีเบียร์เยอะขึ้น แต่เป็นเรื่องของการควบคุม การสอดส่องของเจ้าหน้าที่ ที่อย่างต้องยอมรับว่าในป่าในดอยก็มีร้านขายของชำ ก็ขายให้เด็ก เพราะไกลปืนเที่ยง หรืออย่างร้านสะดวกซื้อต่างๆ เขาก็ไม่ได้ขายให้เด็ก ก็เช่นเดียวกับร้านทำคราฟต์เบียร์ ก็ไม่ได้ขายให้เด็กเช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ต้องไปดู

-คิดว่าทำไมที่ผ่านมาถึงไม่มีนักการเมืองคิดจะแก้ไขกฎกระทรวงหรือกฎหมายสรรพสามิต แบบที่เราทำ?

นั่นนะสิ ผมก็งง แต่ว่าด้วยใจเป็นธรรม เขาอาจไม่รู้ก็ได้ว่ามันมีเรื่องนี้อยู่ เรื่องการต้มเหล้าอะไรไม่ได้ หรือทำคราฟต์เบียร์ไม่ได้ อย่างตอนช่วงผมโดนจับ ตอนนั้นเป็นช่วง คสช. ที่ไม่มีนักการเมือง อันนี้ก็ให้เครดิตเต็มที่ ปกป้องสถาบันตัวเองเลยนะ หรือสุดท้ายอาจเป็นว่า พรรคการเมืองส่วนใหญ่ก็รับเงินบริษัทแอลกอฮอล์ ถ้าพูดกันตรงๆ มันก็อาจเป็นไปได้ที่เขาโดยการแลกกับเงินบริจาคหรือโต๊ะจีน ก็กลายเป็นว่าเรื่องอะไรที่เราต้องไม่พูดอะไรบางอย่าง มันมีสองอย่างคือ "จ่ายให้พูด" กับ "จ่ายไม่ให้พูด" มันก็อาจเป็นอย่างนั้นก็ได้  ผมก็เลยคิดว่าทำไมไม่มีใครทำตั้งนาน ก็อาจเป็นด้วยสองประเด็นว่า คือหนึ่งเขาไม่รู้ว่ามันมีกระแสคราฟต์เบียร์ มันเปลี่ยนแล้ว ซึ่งมันก็สิบกว่าปีแล้ว แต่อีกอันผมก็ว่าอาจเป็นเรื่องของ ทุน ที่มาซื้อ ที่เขาเรียกว่าอะไรนะ อิทธิพลทางการเมือง

-สรุปแล้วหากสุดท้าย ร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า ผ่านหมด มีการประกาศใช้เป็นกฎหมาย จะเป็นอย่างไร?

เราก็จะเห็นว่ามีเบียร์ สุรา หลายยี่ห้อขึ้น แรกๆ มันอาจจะบูมแบบกระท่อมก็ได้ ที่บูมขายกันหลังกระบะ มีทุกที่เลย  แต่สุดท้ายก็อาจมีการเจ๊งด้วยการแข่งขันทางการตลาดไปเองอยู่แล้ว คนไทยอาจจะเห่อทำอะไรกันสักพักหนึ่ง แต่สุดท้ายคนที่ไม่ใช่ตัวจริง ทำได้ไม่ดี ก็จะเจ๊งไป แล้วสุดท้ายผู้บริโภคก็จะได้สินค้าที่ดีที่สุด ในราคาที่เหมาะสมที่สุด กลไกตลาดจะได้กลับมา จะเรียกได้ว่าเราจะได้อยู่ในโลกของทุนนิยมจริงๆ ตอนนี้เราทุนนิยม แต่เป็นทุนผูกขาดนิยม ไม่ใช่ตลาดที่เสรี เพราะมันไม่มีการแข่งขันเลยของตลาด มีแต่การบล็อกเต็มไปหมด ผมเชื่อและยืนยันตรงนี้ว่าการทำเบียร์ต้องทำเองได้ที่้้บ้าน เป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล คิดง่ายๆ ว่าหากไม่มีใครทำกับข้าวเองที่้บ้านได้ แล้วอยู่ดีๆ จะให้เขาลงทุนไปเปิดร้านอาหารตามสั่งหรือ หากเขาไม่เคยต้มเบียร์มาก่อน แล้วอยู่ดีๆ จะมาคิดว่าเปิดโรงเบียร์ดีกว่า มันเป็นไปไม่ได้

คือทุกอย่างมันก็มีด้านดีด้านเสีย แต่หากมาเล็งว่าถ้ามีรายย่อยแล้วจะมีเหล้าเบียร์จากเดิมเยอะขึ้นหรือไม่ ที่ก็อาจเยอะบ้างแต่ไม่เยอะหรอกครับ เพราะคนก็จะกินได้ในปริมาณหนึ่ง แล้วเราก็ไม่ได้ไปยัดเยียดให้ใครกินเหล้า และกฎหมายที่ควบคุมเหล้าก็มีอยู่แล้ว ให้มองว่าผลดีของการมีรายย่อยกับผลเสียของการมีรายย่อย ผลดีมันมีเยอะกว่ากับการที่เราให้โอกาสคน ให้มีรายย่อยเพิ่มขึ้น ได้กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น มีการจ้างงานเยอะขึ้น ใช้ผลผลิตจากการเกษตรในท้องถิ่นเยอะขึ้น อาจสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ได้ การทำแบบนี้เป็นการปลดล็อกให้คนอีก 80 เปอร์เซ็นต์ของคนในวงการได้ประโยชน์ แค่เหตุผลในเชิงบวกก็น่าจะลบและหักล้างสิ่งที่จะตามมาได้แล้ว และกลไกการเยียวยาปัญหาก็มีอยู่ดั้งเดิมอยู่แล้ว เช่นเรื่องเก็บภาษี

-อุตสาหกรรมเบียร์ในต่างประเทศเป็นอย่างไร เช่นเยอรมนี เห็นว่าไม่จัดเก็บภาษีเบียร์?

เยอรมนีเป็นประเทศเดียวที่ไม่เก็บภาษีเบียร์ เพราะเขาถือว่าเป็นอาหาร ถือว่าเป็นขนมปังที่เป็นขนมปังเหลว โดยตลาดเบียร์เขามีเจ้าใหญ่อยู่ 3-4 ราย แต่สุดท้ายทุกหมู่บ้านเขามีเบียร์ของตัวเองหมด แล้วเจ้าใหญ่ของเขาก็ไม่ได้ใหญ่เท่าเรา ทั้งที่ระบบเศรษฐกิจของเขาใหญ่กว่าของไทยหลายเท่า แต่ของเราบางรายขายทั่วโลก มีโรงงานผลิตอยู่อังกฤษ เยอรมัน

ส่วนของไทย มูลค่าในตลาดเหล้าเบียร์ตอนนี้ก็ประมาณสี่แสนล้านล้านบาท ก็แบ่งกันอยู่สองที่ ไม่รวมที่นำเข้าจากต่างประเทศ น่าจะเป็นแหล่งรายได้จากการเก็บภาษีอันดับ 3-4 ของประเทศ รองจากพวกภาษีที่เก็บจากน้ำมัน.

                              โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

 

 

 

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..

รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ

เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก

คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!

เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย

ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?

การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก