ประโยชน์ของข้อมูลระยะยาวจากกลุ่มตัวอย่างซ้ำโครงการ HRS
โครงการ Health and Retirement Study (HRS) เป็นโครงการที่ดำเนินการโดย Institute for Social Research (ISR), University of Michigan สืบต่อจากโครงการศึกษาประวัติในการเกษียณ (the Retirement History Study – RHS) โดยสำนักงานประกันสังคม (the Social Security Administration – SSA) ที่ได้ดำเนินการตั้งแต่ปี ค.ศ. 1969 ในการสำรวจกลุ่มคนที่ใกล้เกษียณอายุโดยการใช้ตัวอย่างซ้ำและมีการสำรวจทุก 2 ปี เมื่อเวลาผ่านไป เหตุการณ์ในประเทศเปลี่ยนแปลงไป จึงจำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลที่เหมาะสมกับเหตุการณ์มากขึ้น ดังนั้น สถาบันการสูงอายุแห่งชาติ (National Institute on Aging – NIA) จึงได้ร่วมกับหน่วยงานของรัฐบาลกลางอีก 3 หน่วยงาน ให้การสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1992 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
โครงการ HRS ได้มีการปรับเพิ่มกลุ่มตัวอย่างเป็นระยะ โดยในปีเริ่มต้น เป็นการติดตามข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างประชากรที่มีอายุระหว่าง 51 – 61 ปี และคู่สมรส ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กลุ่มประชากรกลุ่มนี้ได้เปลี่ยนผ่านจากการเป็นบุคคลทำงานเข้าสู่การเป็นผู้เกษียณงาน ในปีค.ศ. 1993 ได้เพิ่มกลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่ 85 ปีขึ้นไป เพื่อสำรวจปฏิสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไประหว่างสุขภาพ ครอบครัว และปัจจัยทางเศรษฐกิจในช่วงหลังจากเกษียณ รวมทั้ง “การสัมภาษณ์ออก” (‘Exit interview’) ที่ใช้สัมภาษณ์คู่สมรสหรือผู้ที่รู้ข้อมูลของผู้ให้สัมภาษณ์ที่ได้เสียชีวิตไปแล้วเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายทางการแพทย์และปฏิสัมพันธ์ภายในครอบครัวกับผู้เสียชีวิต และการจัดการมรดหรือส่งมอบทรัพย์สิน (Assets) หลังจากการเสียชีวิต ต่อมาในปี ค.ศ. 1998 ได้มีการเพิ่มกลุ่มที่เป็นบุตรของคนในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ และกลุ่มผู้ที่เกิดในยุคสงคราม (War Babies) (ผู้ที่เกิดในระหว่างปี ค.ศ. 1942 ถึง 1947) ในปี ค.ศ. 2004 ได้เพิ่มกลุ่มผู้ที่เกิดหลังสงคราม (Early Boomers) (ผู้ที่เกิดระหว่างปี ค.ศ. 1948 – 53) และในปี ค.ศ. 2010 ได้เพิ่มกลุ่มผู้ที่เกิดระหว่างปี ค.ศ. 1954 -59 (Baby Boomers) การควบรวมและเพิ่มกลุ่มอายุผู้ให้สัมภาษณ์ดังกล่าว ทำให้โครงการ HRS ได้ข้อมูลครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างประชากรสูงอายุตั้งแต่ผู้ที่เกิดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1890 จนถึง 1959 เข้าไปในการสำรวจ รวมเป็นขนาดตัวอย่างทั้งสิ้นที่ได้ดำเนินการ 22,500 ตัวอย่างในปัจจุบัน
รอบระยะเวลา (Wave) ในการสำรวจด้วยกลุ่มตัวอย่างซ้ำ คือ ทุกๆ 2 ปี เป็นการสำรวจด้วยเครื่องมือสำรวจที่เป็นแบบสอบถามในหลายมิติที่สำคัญต่อสถานการณ์ในขีวิตของผู้สูงอายุ ตั้งแต่ คุณลักษณะประชากร การมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานและบำเหน็จบำนาญ การประเมินตนเองเกี่ยวกับสุขภาพกายและสุขภาพจิต การเจ็บป่วย การดูแลสุขภาพและการเข้าถึงการรักษาพยาบาล การตรวจทดสอบวัดความจำ (Cognition) ศักยภาพในการทำกิจวัตรประจำวัน (ADLs และ IADLs) รวมไปถึงการตรวจสุขภาพ (Biomarkers) ปฏิสัมพันธ์ในครอบครัวและการเกื้อกูลกัน สถานภาพทางเศรษฐกิจด้านรายได้และทรัพย์สิน หนี้สิน รวมไปถึงการใช้จ่าย และการบริโภคของผู้ให้สัมภาษณ์ ฐานข้อมูลของโครงการ HRS มีรายละเอียดและเข้าถึงได้ ผ่าน https://hrs.isr.umich.edu/about/ รวมทั้งใน Platform: Gateway to Global Aging Data (https://g2aging.org/)
เนื่องจากการได้รับสนับสนุนทุนดำเนินงานของ NIA ร่วมกับสำนักงานความมั่นคงทางสังคม กระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์ และกระทรวงแรงงาน โครการ HRS สามารถเชื่อมโยงข้อมูลของโครงการกับฐานข้อมูลของหน่วยงานรัฐดังกล่าว ได้แก่ ข้อมูลการรับผลประโยชน์และรายได้จากการประกันสังคม ข้อมูลดัชนีการเสียชีวิตของประชากร (National Death Index data) ข้อมูลการรับเงินค่ารักษาพยาบาล และข้อมูลการรับบำเหน็จบำนาญจากนายจ้าง นับเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสถาบันการศึกษา (Research data) กับหน่วยปฏิบัติของภาครัฐ (Administrative data) ในการสนับสนุนการกำหนดนโยบายของรัฐที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงอายุ
ข้อมูลของโครงการ HRS ได้ถูกนำมาสนับสนุนการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับสังคมสูงอายุของสหรัฐนั้น มีมากมาย เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับการตัดสินใจเกษียณได้นำไปวิเคราะห์ถึงผลกระทบต่อสถานภาพทางการเงินของระบบประกันสังคมและนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายประกันสังคมในปี ค.ศ. 1983 ที่ส่งผล ให้คนทำงานเลื่อนเวลาในการขอรับผลประโยชน์ในการเกษียณจากการประกันสังคม จากการสร้างตัวแบบวิเคราะห์ให้เห็นว่าคนทำงานจะมีการตอบสนองต่อการจูงใจในทางประกันสังคมอย่างไร หรือในประเด็นของระบบประกันสังคมและความอยู่ดีมีสุขทางเศรษฐกิจนั้น การวิเคราะห์จะเกี่ยวข้องกับการที่คนทำงานเมื่อมีอายุสูงขึ้นจะสามารถ “ออมได้พอเพียง” สำหรับการเกษียณได้หรือไม่ โดยใช้ข้อมูลด้านรายได้และทรัพย์สินในการประเมินประเภทและปริมาณของผลประโยชน์ในอนาคตของการประกันสังคมได้อย่างถูกต้องมากขึ้น หรือการวิเคราะห์หาคำตอบที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของการประกันสังคมสำหรับผู้หญิงว่าจะเพียงพอและเป็นธรรมหรือไม่
ในทางวิชาการนั้น ตั้งแต่การเริ่มดำเนินการ ในปีค.ศ. 1992 เป็นต้นมา โครงการ HRS ได้รวบรวมข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์สังคมในหลายหลายมิติ (Scientific data) เพื่อให้ชุมชนนักวิทยาศาสตร์ด้านสังคมและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ การเกษียณ และการสูงอายุ ทั้งในสหรัฐและในประเทศต่างๆทั่วโลกได้นำไปใช้ศึกษา เพื่อรองรับปัญหาที่สังคมสูงอายุต้องเผชิญในศตวรรษที่ 21 ผลงานวิชาการมีทั้งที่เป็นบทความตีพิมพ์ในวารสารที่มีการพิจารณาโดยผู้อ่านที่ทรงคุณวุฒิ หนังสือ หรือวิทยานิพนธ์ มากกว่า 3,000 เรื่อง
ฐานข้อมูลการสูงอายุระยะยาวในประเทศไทย – โครงการ HART
สำหรับประเทศไทย ศูนย์วิจัยสังคมสูงอายุ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ได้เห็นความสำคัญของข้อมูลระยะยาวในการศึกษาการสูงอายุของประชากร และได้เริ่มดำเนินการโครงการ “สำรวจและศึกษาสุขภาพการสูงอายุและการเกษียณในประเทศไทย (Health, Aging, and Retirement in Thailand – HART)” ตั้งแต่ ปี 2552 โดยได้รับการจูงใจ/ให้กำลังใจและความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคจากโครงการ HRS และได้เข้าร่วมอยู่ในเครือข่าย โครงการ HART ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช) ตั้งแต่เป็นโครงการนำร่อง (Pilot HART) จนถึงปัจจุบัน เป็นการดำเนินโครงการใช้กลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนประชากร (National HART) ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 เป็นต้นมา โครงการ HART กำลังดำเนินการสำรวจภาคสนาม รอบที่ 4 ในปีงบประมาณ 2565
โครงการ HART สำรวจกลุ่มตัวอย่างซ้ำที่เป็นตัวแทนประชากรสูงอายุจากทุกภูมิภาครวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 13 จังหวัด จำนวนผู้ให้สัมภาษณ์จากครัวเรือนตัวอย่างที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไปรวมทั้งสิ้น 5,600 คน โดยเป็นการสำรวจข้อมูลในหลากหลายมิติในกรอบสำรวจของโครงการ HRS แต่ไม่มีการตรวจสุขภาพด้าน Biomarkers และเครื่องมือในการสำรวจได้เริ่มใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสัมภาษณ์ (Computer Assisting Personal Interview – CAPI) ตั้งแต่การสำรวจรอบที่ 2 โดยได้รับความช่วยเหลือทางเทคนิคจากโครงการ HRS ฐานข้อมูล HART ได้จัดเก็บไว้ใน Server ของศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และมีการเผยแพร่เพื่อประโยชน์สาธารณะ (http://iic.nida.ac.th/main/?page_id=564) มีนักวิจัยจากสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศได้นำใช้ข้อมูลในโครงการวิจัย การเขียนบทความ วิทยานิพนธ์ รวมทั้งสิ้น 54 ราย รวมทั้งการเข้าร่วมใน Gateway to Global Aging Data และ WHO Data Warehouse แต่ในส่วนของการนำไปใช้ในการสนับสนุนการกำหนดนโยบายด้านการสูงอายุของหน่วยงานภาครัฐในประเทศ ยังไม่เป็นผลสัมฤทธิ์ อาจจะเนื่องมาช่องว่างในความรู้ความเข้าใจในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลการสูงอายุระยะยาวด้วยการใช้ตัวอย่างซ้ำระหว่างนักวิจัยในสถาบันการศึกษาและนักปฏิบัติในหน่วยงานรัฐ อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงแนวทางการส่งเสริมงานวิจัยของประเทศที่เน้นการนำผลวิจัยจาก “หิ้ง” มาสู่ “ห้าง” การบูรณาการระหว่างสถาบันการศึกษา และหน่วยปฏิบัติในภาครัฐ การสนับสนุนงบประมาณในลักษณะต่อเนื่อง (Multi-year) น่าจะนำไปสู่การพัฒนาโครงการ HART ให้เกิดประโยชน์ทางวิชาการอย่างต่อเนื่องยั่งยืนเหมือนโครงการ HRS และโครงการเครือข่ายในประเทศต่างๆ
ดร ดารารัตน์ อานันทนะสุวงศ์
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ครอบครัว “อบอุ่น ลูกหลานกตัญญู”: ความท้าท้ายในสังคมสูงอายุ
ปัจจุบัน ข่าวในสื่อสารมวลชนได้นำเสนอเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรง ความแตกแยกในครอบครัวไทย มีมากขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงภาพหนึ่งของความเป็นปึกแผ่นหรือความอบอุ่นของครอบครัวไทยที่มีสายใยความสัมพันธ์ของสมาชิกในหลายรุ่นวัย ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา พ่อแม่ ลูก ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในการเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) สายใยความสัมพันธ์และการเกื้อกูลกันในระหว่างรุ่นคนในครอบครัวที่เป็นอยู่ปกติในทางพฤติกรรม ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากครอบครัว “อบอุ่น ลูกหลานตัญญู” หรือไม่อย่างไร
ฐานข้อมูลการสูงอายุในสังคมสูงอายุสำคัญไฉน? (1)
ประเทศไทยได้เปลี่ยนผ่านจาก “สังคมวัยเยาว์” เข้าสู่ “สังคมสูงอายุ” เมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา และในปี 2565 ได้กลายเป็น “สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์” ที่สัดส่วนผู้สูงอายุ (อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) ในประชากรคนไทย 100 คน จะมีผู้สูงอายุ 20 คน และคาดว่า ในอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะกลายเป็น “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด”