'ท่าเรือหวุงอ๋าง' ความหวังในการเชื่อมโยงลาวตอนกลางและภาคอีสานสู่ชายฝั่งทะเลเวียดนาม

เส้นทางรถไฟสายเวียงจันทน์ – หวุงอ๋าง (ภาพจาก Vietlaotrade)

หากกล่าวถึงเมืองท่าสำคัญของเวียดนามที่มีศักยภาพรองรับการนำเข้า/ส่งออกสินค้าจำนวนมากและสามารถเชื่อมโยงกับเส้นทางเดินเรือไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกหลายคนอาจนึกถึงท่าเรือไฮฟอง หวุงเต่า ไซง่อน หรือ ดานัง ซึ่งค่อนข้างคุ้นชินสำหรับคนไทย  อย่างไรก็ตามยังมีอีกบางพื้นที่ซึ่งผู้ที่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประเทศทั้งทางบกและทางทะเลในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอาจจะเคยได้ยินชื่ออยู่บ้างก็คือ “ท่าเรือหวุงอ๋าง” ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเวียดนามที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นท่าเรือสากลขนาดใหญ่ และเป็นเส้นทางเชื่อมต่อจากพื้นที่ส่วนในของอินโดจีนซึ่งไม่มีทางออกสู่ทะเล (Land Lock) ออกไปยังเส้นทางเดินเรือในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยเฉพาะสาธารณรัฐประชาชนลาว และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย  ในบทความนี้ผู้เขียนจึงต้องการนำเสนอเรื่องราวและข้อมูลของท่าเรือหวุงอ๋างทั้งในแง่มุมทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ การคมนาคม ความสัมพันธ์ระหว่างลาว-เวียดนาม และศักยภาพของท่าเรือหวุงอ๋างในปัจจุบัน

การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างลาวตอนกลางและเวียดนามในยุคอาณานิคม

การเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล (Land Lock) เป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลและผู้ปกครอง สปป.ลาวแทบทุกยุคสมัยจะต้องตระหนักถึงเพื่อแสวงหาหนทางในการสร้างความเชื่อมโยงจากพื้นที่ตอนในออกไปยังพื้นที่ชายฝั่งทะเลในประเทศเพื่อนบ้าน  ทั้งนี้ แนวคิดและโครงการสร้างความเชื่อมโยงจากลาวตอนกลางออกไปยังมหาสมุทรแปซิฟิกได้ปรากฏขึ้นอย่างจริงจังตั้งแต่ยุคอาณานิคมเป็นต้นมา โดยในปี ค.ศ. 1924 ได้มีการเปิดใช้เส้นทางหมายเลข 8 จากเมืองท่าแขก (แขวงคำม่วน) ไปยังเมืองวิง (จังหวัดเหงะอาน) ซึ่งเป็นเมืองชายทะเลในเวียดนามตอนกลาง  ในขณะที่เส้นทางหมายเลข 9 ที่เชื่อมโยงระหว่างแขวงสะหวันเขตและจังหวัดกวางตรีก็ได้เปิดใช้อย่างเป็นทางการในอีกสองปีถัดมา  เส้นทางสัญจรดังกล่าวได้สร้างความสะดวกให้แก่การเดินทาง การขนส่งสินค้า และผู้คนจากลาวตอนกลางออกไปยังพื้นที่ชายฝั่งทะเลจีนใต้ของเวียดนามเป็นอย่างมาก  ในปี ค.ศ. 1927 ยังได้ปรากฏแนวคิดในการสร้างเส้นทางรถไฟสายเตินเอิ๊บ (เวียดนาม) – ท่าแขก (ลาว) ระยะทางรวม 187 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมโยงระบบการขนส่งทางรางจากจากลาวตอนกลางไปยังพื้นที่ชายทะเลของเวียดนาม  จากนั้นในปี ค.ศ. 1939 การรถไฟอินโดจีนก็ได้เปิดบริการขนส่งสินค้าแบบผสมผสานระหว่างรถไฟ – กระเช้าลอยฟ้า – รถยนต์ โดยเริ่มจากสถานีต้นทางที่เตินเอิ๊บ ในจังหวัดกวางบิ่ง ผ่านไปทางช่องเขา หมุสะ บ้านนาเพ้า โดยมีปลายทางที่เมืองท่าแขกบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง  อย่างไรก็ตาม การพัฒนาการขนส่งทางรางและทางถนนระหว่างลาว – เวียดนามได้หยุดชะงักลงโดยเฉพาะในช่วงสงครามอินโดจีนและต่อเนื่องไปจนสิ้นสุดยุคสงครามเย็น  อาจกล่าวได้ว่าความพยายามในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างลาวและเวียดนามมิใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในปัจจุบัน หากแต่ได้ปรากฏขึ้นมาอย่างยาวนานเมื่อเกือบศตวรรษที่ผ่านมา

ท่าเรือหวุงอ๋างสัญลักษณ์แห่งความสัมพันธ์แบบพิเศษระหว่างลาวและเวียดนามในยุคปัจจุบัน

ในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมาการดำเนินนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) ส่งผลให้จีนขยายบทบาทของตนลงไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่อง  ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวได้ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างลาว – จีนมีความใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น  รัฐบาลจีนได้กระชับความร่วมมือและให้ความช่วยเหลือต่อลาวทั้งในระดับพรรคฯ รัฐบาล รวมถึงการพัฒนากองทัพอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น  โครงการรถไฟจีน – ลาวที่มีความยาวประมาณ 1,000 กิโลเมตร และการก่อสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าที่ลงทุนโดยจีนถือเป็นผลจากการขยายอิทธิพลของจีนในลาวอย่างเด่นชัด  รูปแบบทางความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งและเวียงจันทน์ที่เปลี่ยนแปลงไปย่อมส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างลาว – เวียดนามซึ่งมักจะถูกเปรียบเปรยว่าเป็นสองชาติที่มีความสัมพันธ์แบบพิเศษเนื่องจากเคยร่วมมือกันจับอาวุธต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมในช่วงสงครามอินโดจีนและสงครามต่อต้านอเมริกา  

ในขณะเดียวกัน สปป.ลาวเองก็ยังเผยให้เห็นถึงความพยายามในการรักษาความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับเวียดนามไว้อยู่เสมอ  นอกจากนั้น ปัจจัยทางด้านภูมิศาสตร์และพิกัดที่ตั้งของลาวยังได้ส่งผลให้เวียดนามมีความสำคัญในฐานะเส้นทางออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิกอย่างหลีกเลี่ยงมิได้  ดังนั้น โครงการพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมเพื่อเชื่อมโยงลาวเข้าสู่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของเวียดนาม โดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมโยงไปยังอ่าวหวุงอ๋าง ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “ท่าเรือหวุงอ๋าง” ในภาคกลางตอนบนของเวียดนามจึงได้รับการผลักดันจากทั้งสองฝ่ายอย่างมีนัยสำคัญทั้งทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ และ สัญลักษณ์แห่งความสัมพันธ์แบบพิเศษระหว่างลาวและเวียดนาม  ในปี ค.ศ. 2009 รัฐบาลเวียดนามยังได้อนุมัติให้ท่าเรือหวุงอ๋างอยู่ภายใต้การบริหารจัดการแบบร่วมทุนระหว่างเวียดนาม – ลาว โดยมีการจัดตั้งบริษัท Lao – Viet International Port ให้เป็นผู้บริหารจัดการท่าเรือแห่งนี้  กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า การสร้างความเชื่อมโยงในแนวตัดขวางจากลาวเข้าสู่เวียดนามยังคงมีความสำคัญและถือเป็นปัจจัยหลักในการยึดโยงสองชาติลาว – เวียดนามเข้าไว้ด้วยกันภายใต้วาทกรรมความสัมพันธ์แบบพิเศษต่อไป    

อ่าวหวุงอ๋างทางออกสู่ทะเลที่ใกล้ที่สุดของลาวและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย

อ่าวหวุงอ๋าง (Vũng Áng) ตั้งอยู่ในพื้นที่ชายทะเลของอำเภอกี่แอ็ง จังหวัดฮาติงห์ ในภาคกลางตอนบนซึ่งเป็นอาณาบริเวณที่แคบที่สุดของประเทศเวียดนาม  จังหวัดฮาติงห์ยังมีพื้นที่ชายแดนทางด้านทิศตะวันตกติดกับแขวงบอริคำไซ และแขวงคำม่วน สปป.ลาว  นอกจากนั้นฮาติงห์ยังมีชายฝั่งทะเลที่ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิกระยะทาง 137 กิโลเมตร และนับเป็นชายฝั่งทะเลจีนใต้ที่ตั้งอยู่ใกล้กับนครหลวงเวียงจันทน์ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยมากที่สุด  ทางด้านการคมนาคม จังหวัดฮาติงห์มีโครงข่ายถนนที่สำคัญหลายสาย เช่น ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1A อันเป็นเส้นทางสัญจรสายสำคัญที่เชื่อมโยงระหว่างภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ของเวียดนาม  เส้นทางหมายเลข 8A (ส่วนหนึ่งของทางหลวงสายเอเชีย AH15) ที่เริ่มต้นจากจุดตัดบนเส้นทางหมายเลข 13 ในแขวงบอริคำไซ ผ่านเมืองคำเกิด หลักซาว ด่านชายแดนน้ำพาว – เกิ่วแจว เข้าสู่อำเภอเฮืองเซิน อำเภอดึ๊กเถาะ ไปบรรจบกับเส้นทางหมายเลข 1A ที่อำเภอห่งหลิง จังหวัดฮาติงห์  อีกทั้งยังสามารถเชื่อมโยงจังหวัดนครพนม และ แขวงคำม่วน โดยเส้นทางหมายเลข 12 ผ่านเมืองมหาชัย ยมราช ด่านชายแดนนาเพ้า – จาลอ เพื่อเดินทางต่อไปยังหวุงอ๋างด้วยระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตรเท่านั้น  นอกจากนั้นฮาติงห์ยังมีเส้นทางรถไฟที่เชื่อมโยงระหว่างภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ของเวียดนามตัดผ่านจากทิศเหนือไปสู่ทิศใต้ของตัวจังหวัด  ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมานั้น อ่าวหวุงอ๋างซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดฮาติงห์จึงมีศักยภาพในการเชื่อมโยงเข้ากับโครงข่ายการคมนาคมในรูปแบบต่างๆ และสามารถผลักดันให้เป็นท่าเรือขนส่งสินค้าที่สำคัญของเวียดนาม ลาว และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยในอนาคต 

ศักยภาพของท่าเรือหวุงอ๋างกับการเชื่อมโยงลาวและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย

ข้อมูลจากฝ่ายเวียดนามระบุว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาท่าเรือหวุงอ๋างได้รับการจับตามองจากกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งทางทะเลเป็นอย่างมากเนื่องจากตั้งอยู่บนพิกัดที่มีความสะดวกในการเชื่อมโยงไปยังเส้นทางขนส่งทางทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิก  นอกจากนั้นอ่าวหวุงอ๋างที่มีความลึกโดยธรรมชาติตั้งแต่ 11 – 22 เมตร ยังเอื้ออำนวยต่อการรองรับเรือขนส่งสินค้าที่มีระวางบรรทุกระหว่าง 50,000 – 300,000 DWT และเรือขนส่งคอนเทนเนอร์ที่มีระวางบรรทุก 4,000 TEU  ท่าเรือหวุงอ๋างยังมีศักยภาพในการเชื่อมโยงกับพื้นที่ลาวตอนกลาง โดยถือเป็นท่าเรือทางทะเลที่ตั้งอยู่ใกล้กับนครหลวงเวียงจันทน์มากที่สุด  นอกจากนั้นยังสามารถเชื่อมโยงกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยผ่านสะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม – คำม่วน) โดยใช้เส้นทางหมายเลข 8A หรือเส้นทางหมายเลข 12 ด้วยระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตรเท่านั้น  อีกทั้งยังมีศักยภาพในการเชื่อมโยงกับสะพานมิตรภาพ 5  (บึงกาฬ-บอริคำไซ) ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในต้นปี ค.ศ. 2023

กล่าวได้ว่า การสร้างความเชื่อมโยงทางรางเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่สามารถเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ท่าเรือหวุงอ๋างได้ในอนาคต  ทั้งนี้ ลาวและเวียดนามได้ร่วมกันดำเนินโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงระหว่างเวียงจันทน์ไปยังท่าเรือหวุงอ๋าง โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ  ในปัจจุบัน สปป.ลาว กำลังเตรียมความพร้อมในการรายงานผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการฯ  ในขณะที่ฝ่ายเวียดนามคาดว่าจะนำเสนอรายงานผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการฯ ในช่วงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2022  รัฐบาลลาวและเวียดนามคาดหวังว่าเส้นทางรถไฟสายเวียงจันทน์ – หวุงอ๋างจะช่วยยกระดับความสามารถในการขนส่งสินค้า ณ ท่าเรือหวุงอ๋างให้สูงขึ้น โดยตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถรองรับเรือขนส่งสินคาที่มีระวางบรรทุกตั้งแต่ 5,000 – 100,000 ตัน การให้บริการขนส่งสินค้าในรูปแบบคอนเทนเนอร์จำนวนตั้งแต่ 50,000 – 1,200,000 ตู้/ปี และสามารถให้บริการขนส่งสินค้าในปริมาณ 3 – 20 ล้านตันในปี ค.ศ. 2030  ยิ่งไปกว่านั้น เส้นทางรถไฟสายเวียงจันทน์ – หวุงอ๋าง ยังมีศักยภาพในการเชื่อมโยงกับเส้นทางรถไฟสายบ้านไผ่ – นครพนม ซึ่งคาดว่าจะเริ่มต้นก่อสร้างในปี ค.ศ. 2023  อนึ่ง โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายเวียงจันทน์ – หวุงอ๋าง ยังถูกบรรจุไว้ในฐานะโครงการสำคัญในการเชื่อมโยงการคมนาคมระหว่างสองชาติลาว – เวียดนาม ควบคู่ไปกับโครงการก่อสร้างทางด่วนเชื่อมโยงระหว่างนครหลวงเวียงจันทน์ – เมืองหลวงฮานอยเพื่อสร้างความยึดโยงและความเชื่อมต่อระหว่างลาว – เวียดนามในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์แบบแน่นแฟ้นเป็นพิเศษให้มีความมั่นยืนต่อไป  

หากโครงการต่างๆ ที่กล่าวถึงข้างต้นสามารถดำเนินการได้บรรลุตามเป้าหมายที่วางเอาไว้อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการคมนาคมขนส่งสินค้าในพื้นที่ตอนกลางของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงโดยเฉพาะบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ภาคกลางของลาว และพื้นที่ตอนกลางของเวียดนาม  อย่างไรก็ตาม เราคงมิอาจปฏิเสธได้ว่าปัจจัยสำคัญอีกประการที่จะเอื้ออำนวยให้เกิดความสำเร็จของโครงการเหล่านี้ยังขึ้นอยู่กับความสนใจและผลประโยชน์ของประเทศขนาดใหญ่ในเอเชียตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ อีกด้วย

 ดร.สุริยา คำหว่าน

สาขามานุษยวิทยา วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว

คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อีสานสกูตเตอร์ เลาะตามสายแม่น้ำ 8 จังหวัด ปลดพันธนาการเขื่อนแม่น้ำโขง

กลุ่มแม่โขงอีสานสกูตเตอร์รณรงค์ผลกระทบจากการพัฒนาในแม่น้ำโขง  จากเขื่อนสานะคาม จ.เลย ถึง เขื่อนภูงอย จ.อุบลฯ ผ่าน 8 จังหวัดติดแม่น้ำโขงระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตร

อุตุฯ อัปเดตเส้นทางพายุโซนร้อน 2 ลูก 'จ่ามี-กองเร็ย'

กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตสถานการณ์พายุเวลา 04.00 น. (28/10/67) : พายุโซนร้อน "จ่ามี (TRAMI)" มีศูนย์กลางใกล้ชายฝั่งทางด้านตอนกลางของประเทศเวียดนาม

กรมอุตุฯ เปิดศูนย์ฯติดตามพายุ ’จ่ามี’ คาดขึ้นเวียดนามไม่เข้าไทย แค่มีฝนตกเพิ่มขึ้น

พายุโซนร้อนกำลังแรง 'จ่ามี' จะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางในวันนี้ โดยพายุนี้จะไม่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย แต่จะทำให้มีลมฝ่ายตะวันตกและลมตะวันตกเฉียงใต้

อุตุฯ เตือนมวลอากาศเย็นปกคลุมเหนือ-อีสาน ฝนฟ้าคะนอง 35 จังหวัด

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้าว่า ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันออก

พยากรณ์ 10 วันล่วงหน้า 'เหนือ-อีสาน' เริ่มอากาศเย็น ใต้รับมือน้ำท่วม

กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม. : (นับตั้งแต่ 07.00 น. ถึง 07.00 น. วันรุ่งขึ้น) และลมที่ระดับ 925hPa (750 ม.)10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 11 - 20 ต.ค. 67