ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ... คือหนึ่งในร่างพระราชบัญญัติสำคัญที่เป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปวงการตำรวจ ซึ่งที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติวาระสองและวาระสาม ในสัปดาห์ถัดจากนี้ 9-10 มิถุนายน ตามที่ประธานรัฐสภาบรรจุระเบียบวาระไว้
คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา และในฐานะหนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ จะมาสรุปเนื้อหาสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อให้เห็นภาพกว้างๆ ว่าร่าง พ.ร.บ.มีจุดดี-จุดด้อยอย่างไรบ้าง หลังที่ผ่านมาเรื่องปฏิรูปตำรวจเป็นเรื่องที่สังคมคาดหวังและรอคอยมาหลายปี ต้องการเห็นการขับเคลื่อนดังกล่าวออกมาอย่างเป็นรูปธรรมเสียที ทำให้สังคมย่อมอยากรู้ว่า หากร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติมีผลบังคับใช้ สิ่งที่คาดหวังและรอคอยดังกล่าวจะสูญเปล่าหรือไม่?
ก่อนอื่นเพื่อให้เข้าใจที่มาที่ไปของการยกร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ... เราขอให้มีการปูพื้นความเป็นมาของร่าง ซึ่ง คำนูณ ก็ได้อธิบายสรุปโดยสังเขปว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ปี 2560 บัญญัติให้มีการ ปฏิรูปประเทศ ไว้เป็นการเฉพาะในมาตรา 258 โดยให้มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ แต่มีการปฏิรูปอยู่สองด้านที่รัฐธรรมนูญแยกไว้ต่างหาก โดยเขียนบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นการเฉพาะ คือ การปฏิรูปตำรวจ กับ การปฏิรูปการศึกษา โดยกำหนดวิธีการและระยะเวลาไว้ ซึ่งการปฏิรูปตำรวจบัญญัติให้ทำให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ส่วนการปฏิรูปการศึกษาบัญญัติให้ทำให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
...ซึ่งในด้านการปฏิรูปตำรวจ บัญญัติให้มีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยโครงสร้างกรรมการให้มีตำรวจเป็นกรรมการครึ่งหนึ่ง แต่อีกครึ่งหนึ่งต้องไม่ใช่ตำรวจ ต่อมาก็มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาที่เรียกว่า คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ซึ่งมีพลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ (อดีต ผบ.ส.ส.) เป็นประธานกรรมการ ซึ่งกรรมการได้จัดทำข้อเสนอเรื่องการปฏิรูป โดยจัดทำรายงานออกมาเดือนมีนาคม 2561
เมื่อข้อเสนอของคณะกรรมการชุดพลเอกบุญสร้างส่งมาถึงคณะรัฐมนตรี ทางคณะรัฐมนตรีก็มีมติตั้งคณะกรรมการพิจารณาที่มีลักษณะคล้ายกับเป็น คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ โดยประกอบด้วยกรรมการที่เป็นกรรมการกฤษฎีกาครึ่งหนึ่ง แต่อีกครึ่งหนึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องที่เป็นตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ เช่น กรรมการปฏิรูปกฎหมาย, คณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยมี อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน
...ทั้งนี้ ได้มีดำริจากนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์) ได้มาแจ้งต่อคณะกรรมการชุดอาจารย์มีชัยในการประชุมกรรมการครั้งแรกว่า ให้ดำเนินการได้เต็มที่ จะดำเนินการจัดทำเป็นกฎหมายแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ที่ใช้อยู่เฉพาะบางประเด็น หรือจะจัดทำใหม่ทั้งฉบับก็ได้ หรือว่าจะจัดทำร่างกฎหมายอื่นประกอบด้วยก็ได้ โดยคณะกรรมการชุดท่านมีชัยพิจารณาเสร็จในช่วงปลายปี 2561 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2562 ที่อยู่ในช่วงระยะเวลาคาบเกี่ยวที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมีนาคม 2562 ซึ่ง ครม.ก็มีมติเห็นชอบกับข้อเสนอของคณะกรรมการชุดอาจารย์มีชัย ที่ได้จัดทำเป็นร่าง พ.ร.บ.สองฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ ที่จัดทำขึ้นมาแบบทั้งฉบับเลย ไม่ใช่แค่แก้ไขบางมาตราของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2547 เท่านั้น และอีกฉบับที่สำคัญมากคือ ร่าง พ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญา ที่ถือเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่จัดทำออกมาคู่กัน ซึ่ง ครม.ก็มีมติเห็นชอบ
คำนูณ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามในช่วงดังกล่าว การที่จะนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเริ่มไม่ทันการณ์ ที่ก็มีผู้เสนอเช่นกันว่าควรจะออกเป็นพระราชกำหนดได้หรือไม่ แต่ในที่สุด ครม.ก็ตัดสินใจไม่ได้ทำเป็นพระราชกำหนด เพราะอาจไม่เข้าองค์ประกอบในการออกเป็นพระราชกำหนด ต่อมามีการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 และหลังจากนั้นมีการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ โดยในช่วงการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา ผมก็ได้ลุกขึ้นอภิปรายซักถามเรื่องนี้ต่อนายกรัฐมนตรี ว่าตกลงเรื่องนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป พลเอกประยุทธ์-นายกรัฐมนตรีก็ลุกขึ้นตอบ โดยยืนยันว่าท่านจะปฏิรูปตำรวจแน่นอน
หลังจากนั้นอีกสักสองเดือน คือช่วงประมาณ ก.ค.2562 นายกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากตัวร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ กับร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา เมื่อส่งไปสอบถามยังหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องแล้ว ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่เห็นด้วย ดังนั้นทาง ครม.ชุดใหม่แต่เป็นนายกรัฐมนตรีคนเดิม (พลเอกประยุทธ์) ก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง ที่มีอาจารย์มีชัยเป็นประธานอีก ซึ่งกรรมการก็ทำงานอยู่ระยะหนึ่ง โดยมีการปรับแก้ไขบ้างเล็กน้อย แต่ในที่สุดก็ยืนยันในตัวร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ กับร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา ก็ส่งความเห็นไปยัง ครม. ซึ่ง ครม.ก็ทำแบบเดิมอีก ก็คือส่งร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับไปสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยส่งไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติในช่วงปี 2563 ที่ตอนนั้นก็มีเสียงเรียกร้องให้ดำเนินการให้เร็ว เพราะระยะเวลาผ่านมาพอสมควรแล้ว ปรากฏว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความเห็นควรปรับแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติในหลายประเด็น ส่วนร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่เห็นด้วยโดยสิ้นเชิง
และในที่สุด ครม.ก็ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ปรับแก้ไขทำเป็นร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติขึ้นมา 3-4 ประเด็น และส่งเรื่องกลับมายังคณะรัฐมนตรี แต่สำหรับร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา ยังคงยืนยันไม่เห็นด้วยโดยสิ้นเชิง
จากนั้นคณะรัฐมนตรีก็ส่งร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่เข้ามาให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณา ในฐานะที่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ ซึ่งในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้พิจารณาร่วมกันของที่ประชุมร่วมรัฐสภา ซึ่งที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้พิจารณาในช่วงเดือนมกราคม 2564 โดยที่ประชุมร่วมรัฐสภาลงมติรับหลักการในวาระแรก และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ
ซึ่งคณะกรรมาธิการใช้เวลาพิจารณามาหนึ่งปีเศษ จนเสร็จสิ้นลงและส่งร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติให้ประธานรัฐสภาเมื่อ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ตอนนี้ประธานรัฐสภาบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 9 มิถุนายน เพื่อพิจารณาวาระสอง แต่หากนับกระบวนการเรื่องนี้รวมเวลาตั้งแต่ต้นถึงปัจจุบันก็ร่วมห้าปี
-หลายคนสงสัยว่า เหตุใดโรดแมปการจัดทำและยกร่าง พ.ร.บ.ตำรวจถึงใช้เวลายาวนานหลายปี?
สำนักงานตำรวจแห่งชาติเห็นต่างจากคณะกรรมการพิเศษชุดท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติอาจเห็นด้วยกับข้อเสนอแรกของกรรมการชุดพลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ แต่ว่าเมื่อ ครม.รับทราบข้อเสนอของกรรมการชุดพลเอกบุญสร้าง คือเห็นด้วยในหลักการ แต่ก็ตั้งคณะกรรมการพิจารณาขึ้นมาเป็นกรรมการคณะพิเศษที่มีอาจารย์มีชัยเป็นประธาน โดยพลเอกบุญสร้างเป็นหนึ่งในกรรมการชุดนี้ด้วย
โดยในความเป็นจริงทั้งสองร่าง พ.ร.บ. คือร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติกับร่าง พ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญา กรรมการชุดอาจารย์มีชัยทำเสร็จก่อนการเลือกตั้งใหญ่ ส.ส.เมื่อเดือนมีนาคม 2562 แต่ก็ต้องยอมรับว่าเวลามันหมิ่นเหม่กับวาระของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เนื่องจากว่าเป็นกฎหมายที่มีเนื้อหาค่อนข้างยาว ก็เลยล่าช้ามา แต่ว่าสาเหตุของความล่าช้าก็คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญาที่เป็นร่างกฎหมายคู่กันกับร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่เห็นด้วยเลย ซึ่งก็ต้องเห็นใจคณะรัฐมนตรี เพราะว่าการเสนอร่างกฎหมายใดๆ โดยที่หน่วยงานที่เป็นฝ่ายปฏิบัติเห็นแตกต่างก็ต้องระมัดระวัง
คณะรัฐมนตรีเลยตัดสินใจส่งแต่ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติมาให้รัฐสภา แต่สำหรับร่าง พ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญา ครม.ก็ยังเห็นด้วยในหลักการ เพียงแต่ว่า ครม.อ้างว่ารอความชัดเจนจากร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติก่อน แต่หากดูจากระยะเวลาต่อจากนี้แล้วก็ค่อนข้างจะยากที่ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญาจะได้รับการส่งมาให้รัฐสภาได้พิจารณา เพราะก็ใกล้เวลาที่จะสิ้นอายุของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แม้ว่าในทางปฏิบัติจะอยู่ได้ถึงช่วงต้นปี 2566 แต่ในทางความเป็นจริงแล้วมันก็มีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งได้
คำนูณ-สมาชิกวุฒิสภา กล่าวต่อไปว่า ที่ผมต้องพูดว่าการปฏิรูปตำรวจในยุคปัจจุบัน ผมต้องพูดถึงร่าง พ.ร.บ.สองฉบับดังกล่าวก็เพราะว่า คนออกแบบ คนร่างกฎหมาย ตั้งใจที่จะให้มันเป็นกฎหมายคู่กัน จะเรียกว่ากฎหมายพวงก็ได้ การพิจารณาแต่เฉพาะร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติจึงเกิดเป็นคำถามขึ้นมาว่า ถ้าจะเป็นการปฏิรูปมันก็ได้เพียงส่วนเดียว คือส่วนที่ค่อนข้างจะเป็นเรื่อง การบริหารงานภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ค่อนข้างจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
แต่อีกครึ่งหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะในรอบหลายปีที่ผ่านมา ที่สังคมค่อนข้างตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับระบบการสอบสวนของตำรวจมาก ทั้งเรื่อง ความเป็นอิสระในการทำงานเกี่ยวกับคดีของพนักงานสอบสวน และเรื่องประสิทธิภาพต่างๆ โดยเฉพาะเกิดเหตุสำคัญขึ้นในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่เกิดเหตุคดีบอส อยู่วิทยา ซึ่งเป็นมหากาพย์ที่กระทบกระเทือนกระบวนการยุติธรรมไทยมาก ที่ต่อมารัฐบาลได้ตั้งกรรมการอิสระมาตรวจสอบ โดยมีท่านอาจารย์วิชา มหาคุณ เป็นประธานกรรมการ โดยกรรมการได้มีข้อเสนอว่าในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและปฏิรูปตำรวจ ท่านก็สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ที่ยกร่างโดยกรรมการชุดอาจารย์มีชัย แล้วก็สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา แต่ด้วยมูลเหตุทั้งปวงทำให้รัฐบาลเสนอเข้ามาที่รัฐสภาเพียงฉบับเดียว
เพราะฉะนั้นประเด็นสำคัญของการปฏิรูปตำรวจ ที่ผมอยากจะเรียกว่าเป็นกระดุมเม็ดแรกของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มันจึงได้รับการแก้ปัญหาเพียงครึ่งเดียว และในครึ่งเดียวมันจะแก้ได้มากน้อยแค่ไหน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องดูรายละเอียดกันไป แต่อีกครึ่งหนึ่งก็คือร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา ถ้าสามารถออกมาบังคับใช้ได้ มันจะเป็นการปฏิรูปใหญ่ ซึ่งโดยหลักการสำคัญๆ ก็คือจะเป็นการเปิดโอกาสให้ พนักงานอัยการเข้ามาร่วมสอบสวนคดีกับพนักงานสอบสวนของตำรวจได้ตั้งแต่ต้นเมื่อเกิดคดีขึ้น ในคดีสำคัญ ที่ก็คือคดีที่มีโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีขึ้นไปหรือคดีอื่นๆ ตามแต่ที่อัยการสูงสุดกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะกำหนดร่วมกัน
ทั้งนี้ ร่างดังกล่าวรัฐบาลจะส่งมาก็ยังทัน แต่ก็เข้าใจว่าคงไม่ง่าย เพราะสำนักงานตำรวจแห่งชาติคัดค้าน แล้วมันก็เป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่จริงๆ ซึ่งผมก็ขอออกตัวว่า ก็สุดแท้แต่จะมองว่ามันจะเป็นผลดี-ผลเสียอย่างไร ที่ผ่านมาเรามีการถ่วงดุลโดยที่ตำรวจสอบสวนก่อนแล้วส่งสำนวนไปให้อัยการ แล้วอัยการก็จะดูว่าจะสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง หรือจะสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมก็สามารถดำเนินการได้ แต่ตามร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญาเขียนว่า "ในคดีสำคัญให้อัยการเข้ามาร่วมด้วยตั้งแต่ต้น" ก็เป็นเรื่องที่หน่วยงานต่างสังกัดต้องเข้ามาทำงานร่วมกัน ก็ต้องรอบคอบ แต่ก็ต้องถามว่าเหตุใดไม่ใช้ที่ประชุมรัฐสภาเป็นที่ชี้ขาด ผมมองว่าอย่างนั้น
สแกน 8 ข้อเด่น 1 ข้อด้อย
ร่าง พ.ร.บ.ปฏิรูปสีกากี
-สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่รัฐสภาจะพิจารณาในวาระสองและวาระสามหลังจากนี้ มีประเด็นหรือจุดสำคัญอะไรบ้างที่น่าสนใจ?
ภาพรวมผมอยากจะเรียกว่ามี 8 ข้อเด่น และมี 1 ข้อด้อย โดย 8 ข้อเด่น ผมขอยกมาเป็นตัวอย่าง ตามลำดับคือ
1.เพิ่มความเป็นธรรมให้ประชาชน
คือยกระดับความเป็นธรรมให้ประชาชน จากกรณีการปฏิบัติหน้าที่ที่บกพร่องหรือผิดพลาดของตำรวจ โดยการสร้างคณะกรรมการชุดใหม่ที่เรียกว่า คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) ที่มีผู้แทนหน่วยงานภายนอก และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกเข้ามาทำหน้าที่พิจารณาตัดสินด้านนี้ แทนที่สำนักงานจเรตำรวจที่จะเป็นเพียงหน่วยงานภายใน ประชาชนจะสามารถมีส่วนร่วมจับตาการทำงานของตำรวจให้อยู่ในกรอบกฎหมายและความเหมาะสม เสมือนเป็นตาวิเศษ พบเห็นความผิดปกติใดก็ให้แจ้งไปที่ ก.ร.ตร.ได้
...คือปกติงานด้านนี้จะเป็นงานของสำนักงานจเรตำรวจ ซึ่งทางคณะผู้ยกร่างกฎหมายมองว่า หากประชาชนไปร้องเรียนการทำงานของตำรวจที่ผิดพลาด แล้วให้ตำรวจตัดสิน ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีความยุติธรรมอย่างไรก็ตามแต่ ทว่ามันก็อาจจะมีปัญหาได้ จึงมีการสร้าง ก.ร.ตร.ที่ไม่ได้มีแต่เฉพาะนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ แต่มีผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ก็ทำให้ประชาชนที่หากพบเห็นการทำงานที่ไม่ถูกต้องหรือบกพร่อง หรือแม้กระทั่งการกระทำที่ขาดวินัย ขาดศักดิ์ศรีของความเป็นตำรวจ ก็สามารถร้องไปยังคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจได้ ส่วนสำนักงานจเรตำรวจแห่งชาติก็มีหน้าที่ช่วยเหลือคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ
2.เพิ่มความเป็นธรรมให้ตำรวจ
โดยมีการยกระดับความเป็นธรรมให้ตำรวจทุกระดับ โดยการสร้างกรรมการอีกหนึ่งชุดที่เรียกว่า คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ หรือ ก.พ.ค.ตร. ที่มีผู้แทนหน่วยงานภายนอกและผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมด้วย เป็นการทำหน้าที่แทนคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร.ที่เป็นคณะกรรมการบริหารภายใน ซึ่งถึงแม้จะมีผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ใน ก.ตร.แต่ก็เป็นเสียงข้างน้อย โดยหากตำรวจเช่นไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการแต่งตั้งโยกย้าย ก็สามารถร้องไปที่ ก.พ.ค.ตร.ได้ โดย ก.พ.ค.ตร. มีทั้งตำรวจและผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆ ทำหน้าที่เป็นเสมือนศาลปกครองชั้นต้น โดยผู้ร้องเข้ามา เมื่อ ก.พ.ค.ตร.ตัดสินแล้ว หากไม่พอใจก็สามารถใช้สิทธิ์อุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุดได้
3.ป้องกันการครอบงำจากการเมือง
โดยที่คณะกรรมการบริหารสูงสุดของตำรวจก็คือ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจหรือ ก.ตร. ที่แม้ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติดังกล่าว ยังกำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก.ตร. แต่จะมีองค์ประกอบใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อให้สามารถป้องกันการแทรกแซงทางการเมืองได้ในระดับสำคัญ
เพราะนายกรัฐมนตรีจะไม่ได้มีเสียงข้างมากใน ก.ตร. โดยเสียงข้างมากใน ก.ตร.ก็คือ ตำรวจในระดับผู้บังคับบัญชาชั้นสูงที่มาโดยตำแหน่ง และอดีตผู้บังคับบัญชาระดับสูงที่มาจากการเลือกตั้งของตำรวจทั้งองค์กร ที่จะทำให้เป็นองค์กรบริหารงานภายในที่ทำหน้าที่ในการแต่งตั้งโยกย้าย
อย่างไรก็ตาม เฉพาะประเด็นนี้ก็มีความเห็นที่แตกต่างกัน ระหว่างกรรมาธิการเสียงข้างมากกับกรรมาธิการเสียงข้างน้อย คือ กมธ.เสียงข้างมากนอกจากจะให้มี ก.ตร.แล้ว ยังให้มีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจแห่งชาติหรือ ก.ต.ช.อีกด้วย โดยให้ทำหน้าที่ด้านนโยบายเหมือนในปัจจุบัน แต่ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาวาระแรกมาให้มีแต่ ก.ตร.เท่านั้น
4.ให้สิทธิ์ตำรวจทุกระดับ
โดยจะเป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้ข้าราชการตำรวจทุกระดับ ตั้งแต่ ผบ.หมู่ขึ้นไปสามารถเลือกตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.ตร.ได้โดยตรง ผ่านการลงคะแนนโดยตรงและลับ โดยกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเข้ามาเป็นผู้จัดการออกเสียงการเลือกกรรมการผู้ทรงวุฒิใน ก.ตร.เพื่อประกันความสุจริตและยุติธรรม จากแต่เดิมที่การเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.ตร.ไม่ได้ใช้ระบบแบบเลือกตั้งทั่วไป แต่จะส่งจดหมายไปให้ แล้วให้ทำเครื่องหมายเลือกบุคคลตามรายชื่อที่ส่งไป ซึ่งคนที่จะได้สิทธิ์ในการเลือกก็จะเป็นระดับผู้บังคับบัญชา ตั้งแต่ระดับผู้กำกับการขึ้นไปเท่านั้น
แต่ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับนี้ให้ตำรวจตั้งแต่ชั้นประทวน ตั้งแต่ระดับผู้บังคับหมู่ มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.ตร.ได้ ก็ถือว่าเปิดกว้างมากพอสมควร
5.ป้องกันการวิ่งเต้น การซื้อขายตำแหน่ง
โดยกำหนดเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายไว้ในกฎหมายหลักมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และปรับปรุงแก้ไขจากร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯที่ผ่านวาระแรกมาให้ตรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 ง (4) ว่าด้วยการพิจารณาประกอบกันระหว่างความอาวุโสกับความรู้ความสามารถให้มากขึ้น
ที่ก็ถือว่าเป็นจุดเด่นอันหนึ่งของร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับดังกล่าวนี้ แต่ก็น่าเสียดายอยู่บ้างที่กรรมาธิการเสียงข้างมากมีมติไป ตัดเกณฑ์ระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง ก่อนได้รับการพิจารณาเลื่อนชั้นของตำรวจออกไป จากบทหลักให้ไปอยู่ในบทเฉพาะกาล ใช้บังคับเพียงห้าปีเท่านั้น
โดยในบทหลักมีการไปแก้ไขให้การกำหนดเกณฑ์ระยะเวลาเป็นอำนาจของ ก.ตร.ในการออกเป็นกฎ ก.ตร. ที่ก็เหมือนกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ร่างที่ผ่านวาระแรกมีการกำหนดไว้ในกฎหมายหลักเลย เช่นสมมุติยกตัวอย่าง จากรองผู้กำกับการ หากจะขึ้นเป็นผู้กำกับจะต้องอยู่ในตำแหน่งรองผู้กำกับมาแล้วไม่น้อยกว่าเช่นเจ็ดปี และจากผู้กำกับจะขึ้นไปเป็นรองผู้บังคับการ จะต้องเป็นผู้กำกับมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี เป็นต้น จะมีการเขียนไว้ชัดเจน ที่ก็จะ สกัดการวิ่งเต้น ได้พอสมควร คือต้องผ่านเกณฑ์ต่างๆ ที่กำหนดไว้เบื้องต้นนี้ก่อน แต่กรรมาธิการเสียงข้างมากตัดส่วนนี้ออก โดยเห็นว่าในกฎ ก.ตร.ก็มีอยู่แล้ว ก็ให้เป็นอำนาจของ ก.ตร. แต่กรรมาธิการเสียงข้างมากก็นำสิ่งที่ตัดออกดังกล่าวไปไว้ในบทเฉพาะกาล โดยเขียนว่าให้บังคับใช้เพียงห้าปี
6.ให้ประชาชนร่วมประเมินตำรวจ
เป็นข้อดีมากๆ คือกำหนดให้นำผลการประเมินความพึงพอใจที่ประชาชนได้รับจากตำรวจมาประกอบการพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายด้วย แต่ข้ออ่อนก็คือ ไม่มีรายละเอียดระบุไว้ว่าให้ทำอย่างไร โดยกรรมาธิการเสียงข้างมากไปตัดแนวทางการประเมินที่อยู่ในร่างฉบับแรกมาออกไป จากที่ร่างแรกเขียนให้ประชาชนประเมินหน่วยงาน แล้วตำรวจที่อยู่ในหน่วยงานนั้นจะได้คะแนนเท่ากันทุกคน แต่มีการไปตัดในส่วนนี้ออกด้วยเหตุผลว่ามันไม่เหมาะสม แต่ก็ไม่ได้มีมาตรการใหม่ที่จะใส่ไว้ในรายละเอียด ซึ่งก็คงโยนให้ไปเขียนไว้ออกมาเป็นกฎ ก.ตร.อีกว่าจะกำหนดวิธีการประเมินของประชาชนอย่างไร
7.ห้ามยกเว้นหลักเกณฑ์ในทุกกรณี อันนี้เป็นข้อดีมาก
คือปรับปรุงจากร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่ผ่านวาระแรกโดยให้ตัดบทบัญญัติที่เปิดช่องให้มีข้อยกเว้นในทุกกรณี ในการที่จะเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ การแต่งตั้งโยกย้าย ที่กำหนดไว้ในกฎหมายหลัก โดยในร่างแรกมีการเขียนหลักเกณฑ์ต่างๆ ไว้โดยละเอียดในมาตราต่างๆ แล้วก็มีพ่วงท้ายในมาตรา 80 วรรคสอง โดยเขียนว่าหากมีเหตุผลพิเศษ แล้ว ก.ตร.มีมติเอกฉันท์ ก็สามารถยกเว้นหลักเกณฑ์ได้ ซึ่งเรื่องนี้กรรมาธิการให้ตัดออกไป
8.ให้เหลือแต่งานตำรวจแท้
ก็คือกำหนดให้โอนย้ายงานที่ไม่ใช่งานตำรวจแท้ คือป้องกันและปราบปรามอาชญกรรมออกไปให้หน่วยงานอื่นอย่างมีขั้นตอน ที่อยู่ในมาตรา 155-160 ของร่าง เช่น ตำรวจรถไฟ, ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, งานด้านจราจรบางส่วน แต่ก็มีข้อวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ้าง ที่กระบวนการขั้นตอนค่อนข้างใช้เวลานานไปบ้าง เช่นบางกองบังคับการให้เวลาไปดำเนินการ 3 ปี บางกองบังคับการก็ 5 ปี และยังให้ต่ออายุได้อีก
ส่องข้อด้อยร่าง พรบ.ตำรวจแห่งชาติ
คำนูณ-กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ กล่าวต่อไปว่า สำหรับ 1 ข้อด้อยที่ผมตัดสินใจเลือกหนึ่งข้อด้อยมา ซึ่งหัวใจสำคัญของการปฏิรูปตำรวจและการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาขั้นต้นก่อนถึงศาล ที่ประชาชนคาดหวัง และประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริงและจับต้องได้
โดยมีอุทาหรณ์จากคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่มีประเด็นเกี่ยวกับเรื่อง การสอบสวน ทั้งหมด อันเป็นกระดุมเม็ดแรกของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
ผมว่าร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับนี้ยังแตะเรื่องระบบการสอบสวนน้อยไป ซึ่งผมขอพูดในสองด้าน โดยด้านหนึ่งคือในตัวร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ ฉบับที่จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา สายงานสอบสวน ยังคงไม่เป็นอิสระอย่างชัดเจน ในระดับที่ยังไม่มีผู้บังคับบัญชาเฉพาะในสายงานของตัวเอง เหมือนที่เคยปรากฏในร่างของคณะกรรมการชุดท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ โดยในร่างดังกล่าวให้แยกสายงานสอบสวนเป็นแท่งอิสระในตัวของตัวเอง มีผู้บังคับบัญชาของตัวเองเฉพาะในด้านงานสอบสวน อย่างเช่นในโรงพัก นอกจากจะมีผู้กำกับการที่กำกับกิจการบริหารงานทั่วไปแล้ว ก็จะมีผู้กำกับสอบสวนควบคู่กันไปด้วย มีผู้บัญชาการสอบสวน คือจะมีตำแหน่งของสายงานสอบสวนควบคู่กันไป ซึ่งเรื่องนี้เป็นที่ถกเถียงกันมาก โดยตำรวจยืนยันว่าหากให้มี ผู้บังคับบัญชาของสายงานสอบสวน โดยเฉพาะ มันจะเสียสายงานบังคับบัญชาทั้งหมด แต่ว่าฝ่ายที่เห็นว่าสายงานสอบสวนต้องถือว่าเป็นวิชาชีพ โดยเฉพาะที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี อย่างน้อยๆ ก็ต้องน้องๆ อัยการ-ผู้พิพากษา ก็ต้องให้เขามีอิสระในวิชาชีพสายงานสอบสวน แม้กระทั่งศาล ผู้พิพากษาเอง ผู้บังคับบัญชาในสายงานปกติก็จะไปสั่งเขาในเรื่องเกี่ยวกับงานคดีไม่ได้ อันนี้ก็เช่นกัน
จึงเป็นมุมมองที่แตกต่างกัน โดยกรรมาธิการเสียงข้างมากไม่เห็นด้วยกับการมีผู้บังคับบัญชาของสายงานสอบสวนโดยเฉพาะ และอันที่จริงร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับที่ผ่านวาระแรกมามันก็ไม่มีเช่นกัน แต่ก็มีกรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่สงวนความเห็นเอาไว้ หนึ่งในนั้นก็มีท่านวิชา มหาคุณ อยู่ด้วย เพราะท่านวิชาเคยเป็นประธานกรรมการอิสระ (คดีบอส วรยุทธ อยู่วิทยา) ที่ท่านได้เสนอประเด็นดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรี
แต่อีกด้านหนึ่งที่เป็นด้านนอกของร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ก็คือ ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา ที่เป็นร่างกฎหมายคู่หรือกฎหมายพวงที่เปิดโอกาสให้ อัยการเข้ามาร่วมสอบสวนคดีกับตำรวจได้ตั้งแต่ต้นในคดีสำคัญ รัฐบาลยังไม่ได้ส่งเข้ามาให้รัฐสภาพิจารณา โดยอ้างว่ารอดูความชัดเจนของร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ ก่อน แต่โดยความเป็นจริงที่รัฐบาลไม่ได้บอกก็คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เป็นหน่วยปฏิบัติคัดค้านเสียงแข็ง และรัฐบาลในฐานะฝ่ายนโยบายไม่ได้บอกประชาชน ว่าท่านตัดสินใจอย่างไรในประเด็นสำคัญที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่
ซึ่งเมื่อดูตามระยะเวลาแล้วไม่น่าจะมีการส่งเข้ามาจนสภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ ทั้งที่หากจะส่ง รัฐบาลสามารถส่งเข้ามาคู่กันพร้อมกับร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ ตั้งแต่เมื่อต้นปี 2564 ได้ และให้รัฐสภาตัดสินว่าจะเปลี่ยนแปลงระบบการสอบสวนคดีอาญากันครั้งใหญ่กันหรือไม่ ถ้าโอเคก็ลงมติรับหลักการ ก็ลงมติรับหลักการแล้วก็ไปปรับปรุงแก้ไขโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดเดียวกันกับที่พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้มีความสอดคล้องต้องกัน แต่รัฐบาลไม่ได้เลือกวิธีนี้
ไม่เพียงเท่านั้น พอมาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ กรรมาธิการเสียงข้างมากก็ได้มีการตัดคำว่า และกฎหมายอื่น ออกไปจากมาตรา 5 ในร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ในส่วนที่ว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็เลยทำให้ชวนคิดไปได้ว่า สิ่งที่เรียกว่าความชัดเจนที่รอดูอยู่ ก็ได้หรือพูดง่ายๆ ว่ามติของ กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ อาจจะเป็นการไปเจือสมเหตุผลข้ออ้างในการไม่เสนอร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญาให้เข้ามาสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภาก็ได้ ที่จะมีเทคนิคทางกฎหมายอยู่เล็กน้อย
คำนูณ ขยายความประเด็นนี้ไว้ว่า คือในมาตรา 6 ของร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ จะเขียนว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็มีหน้าที่ปฏิบัติตาม ควบคุม กำกับ ดูแล ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งร่างเดิมมีคำว่า และกฎหมายอื่น ที่ทาง กมธ.เสียงข้างมากไปตัดคำว่า และกฎหมายอื่น ออกไปจากร่าง พ.ร.บ. โดยบอกว่าถึงจะมีกฎหมายอื่นออกมาภายหลัง ตำรวจก็ต้องทำอยู่แล้ว แต่อันที่จริงการที่กรรมการชุดท่านอาจารย์มีชัยเขียนคำว่า และกฎหมายอื่น ต่อท้ายไว้ หมายถึงกฎหมายอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงหรือลักษณะเดียวกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเรื่องนี้ก็น่าจะเป็นประเด็นต้นๆ ที่จะมีการอภิปรายกันระหว่าง กมธ.เสียงข้างมากกับ กมธ.เสียงข้างน้อย ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ วาระสอง
แค่ปฏิ (ลูบ) เบาๆ
ไม่ใช่ปฏิรูปใหญ่สีกากี
-คิดว่าร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติดังกล่าวจะเป็นกฎหมายที่นำไปสู่การปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างที่สังคมคาดหวังไว้หรือไม่ หลังใช้เวลาในการทำเรื่องนี้มาร่วมๆ จะห้าปี?
ผมสรุปว่ามี 8 ข้อเด่น มี 1 ข้อด้อย ที่ดูเหมือนข้อเด่นจะเยอะกว่า แต่เผอิญว่า 8 ข้อเด่นดังกล่าวอาจจะเล็กไปเลย เป็น 8 ข้อเด่นเล็ก เพราะว่า 1 ข้อด้อยมันเป็นเรื่องใหญ่
เพราะผมเชื่อว่าหากไปถามประชาชน ทางประชาชนก็คงอยากให้ระบบการสอบสวนดียิ่งขึ้น เพื่อเป็นหลักประกันความยุติธรรมทางอาญาให้กับประชาชนยิ่งขึ้น ไม่มีข้อครหา และในเมื่อคณะผู้ออกแบบกฎหมายเรื่องปฏิรูปตำรวจที่ ครม.ก็เคยมีมติเห็นชอบ และ ครม.ก็ยังโอเคดีอยู่กับร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา เพียงแต่ยังไม่ส่งมา จึงเท่ากับว่าที่รัฐสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติที่รัฐสภาใช้เวลาพิจารณามาปีกว่า มันยังแค่ครึ่งเดียว แต่อีกครึ่งหนึ่งที่เป็นส่วนสำคัญ ในเรื่องจะปฏิรูประบบการสอบสวนหรือไม่ ทางรัฐสภาควรจะได้พิจารณาหรือไม่ อย่างไร
“เพราะฉะนั้นเมื่อเทียบแล้วมี 8 ข้อเด่น ก็เป็นเรื่องดี แต่เผอิญ 1 ข้อด้อยเป็นตัวใหญ่ ที่ถามว่าแล้วมันเป็นการปฏิรูปตำรวจหรือไม่ ผมก็อยากจะใช้คำว่า ปฏิรูปลูบเบาๆ คือเปลี่ยนแปลงก็มีข้อดี และไหนๆ ก็ทำกันมา เฉพาะฉบับนี้ก็ใช้เวลาปีกว่าในชั้นกรรมาธิการของรัฐสภา และหากรวมเวลาในชั้นกรรมการชุดต่างๆ หรือตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญประกาศใช้มาห้าปี ผมว่าได้กฎหมายออกมาฉบับหนึ่งแม้จะเป็นการลูบเบาๆ ก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย แต่หากถามว่าเป็นการปฏิรูปใหญ่หรือไม่ ก็คงต้องตอบว่า ไม่ใช่”
.....เพราะว่าในตัวร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ก็เป็นเรื่องของการจัดการภายในองค์กรตำรวจ การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ การให้มีหลักประกันความเป็นธรรมของตำรวจ แน่นอนว่าแม้จะมีผลกระทบต่อประชาชน คือเราได้ตำรวจที่ไม่ได้มาจากการวิ่งเต้น มีกฎเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายที่ถูกต้อง พิจารณาตัดสินกันด้วยคุณงามความดี ความสามารถกันจริงๆ มันก็เป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่มันจะจับต้องได้ชัดเจนหรือไม่ อย่างไร ผมเข้าใจว่าก็ต้องให้ประชาชนหรือสื่อมวลชน และผู้รู้ต่างๆ เป็นผู้ตอบคำถาม แต่หากมีการเสนอเข้ามายังรัฐสภาทั้งสองฉบับ คือร่าง พ.ร.บ.ตำรวจกับร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา ผมเชื่อว่ามันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่
เพราะว่าเวลาเราจับตาดูการทำงานของตำรวจ เราดูที่การสอบสวนและความยุติธรรมที่ประชาชนจะได้รับ แม้จะยังมีชั้นอัยการ-ศาล อีกสามศาล แต่กระดุมเม็ดแรก งานสอบสวนมันสำคัญ เพราะหากกระดุมเม็ดแรกติดถูก มันก็ถูกไปหมด แต่ถ้ากระดุมเม็ดแรกติดผิด กลายเป็นเสื้อกระดุมฉิ่ง ต่อให้เม็ดต่อไปติดถูก มันก็ยังเป็นเสื้อกระดุมฉิ่งอยู่ดี เพราะฉะนั้นต้องตั้งต้นการติดกระดุมเม็ดแรกให้สมบูรณ์
-ในฐานะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติคนหนึ่ง พอใจกับเนื้อหาโดยรวมของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มากน้อยแค่ไหน?
มันเป็นเพียงแค่ลูบเบาๆ แต่หากสมมุติร่างกายเราคัน การลูบเบาๆ ก็ยังดีกว่าไม่ลูบเลย แต่ถ้าจะให้ดีต้องรักษาที่ต้นเหตุว่าอะไรเป็นที่มาของอาการคัน ไม่ใช่ลูบหรือเกาจนเป็นแผล ก็ต้องดูสาเหตุที่แท้จริง
ปัญหาเด็กนาย-ตั๋วฝาก
แต่งตั้งโยกย้าย จะถูกแก้ไขให้ดีขึ้น
-ถ้ากฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจทุกระดับ เรื่องประเภทที่ว่าเด็กเส้น เด็กนาย เรื่องตั๋วแต่งตั้ง เป็นอย่างไร?
น่าจะดีขึ้นเยอะ คือหลักคิดของเรื่องนี้ตั้งแต่คณะกรรมการชุดท่านอาจารย์มีชัย ก็คือว่าต้องการให้เกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้าย เปิดเผย โปร่งใสมากที่สุด โดยให้มาอยู่ในกฎหมายหลัก ไม่ใช่เป็นกฎ ก.ตร. เพราะพอเป็นกฎ ก.ตร. มันเปลี่ยนแปลงได้ แต่พออยู่ในกฎหมายหลัก การแก้กฎหมายหลักมันยาก ซึ่งข้อดีของการที่มาอยู่ในกฎหมายหลักคือจะมีบทยกเว้นของกฎหมายหลักในมาตรา 80 วรรคสอง ซึ่งก็ไม่ง่าย เพราะ ก.ตร.ต้องมีมติเอกฉันท์ และกรรมาธิการเสียงข้างมากเขาตัดออก เท่ากับว่ามันเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย และเกณฑ์ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งแต่ละชั้น ถึงจะมีการตัดออกจากบทหลัก แต่มันก็ยังอยู่ในบทเฉพาะกาล ก็ได้แต่หวังว่าเวลาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฯ ไม่ใช่บทหลักผ่านไปตามมติของ กมธ.เสียงข้างมาก คือไม่มีเกณฑ์ระยะเวลา แล้วพอพิจารณาไปถึงบทเฉพาะกาลไปถูกตัดออก เพราะเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมร่วมรัฐสภาไม่เห็นด้วยอีก ที่ก็เป็นแท็กติกในการพิจารณากฎหมายเหมือนกัน
เมื่อเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายดีขึ้น บทยกเว้นไม่มี การให้ความเป็นธรรมกับตำรวจที่หากเขาเห็นว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้าย ก็ยังมีองค์กรที่ไม่ใช่ตำรวจด้วยกันเองพิจารณา คือคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม อันนี้ผมว่ามันจะดีขึ้น หรือว่าพบตำรวจทำตัวไม่เหมาะสม แทนที่จะไปร้องเรียนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้วให้สำนักงานจเรตำรวจเป็นผู้ดำเนินการ ที่ก็อาจจะยุติธรรม แต่ก็จะมีคณะกรรมการที่ไม่ได้มีแต่ตำรวจ มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ หรือ ก.ร.ตร.
ผมว่าประเด็นนี้ดี ประชาชนได้ประโยชน์ แต่ที่ยังเสียดายอยู่ก็คือ โอกาสในการเปลี่ยนแปลงเรื่องระบบการสอบสวนคดีอาญา แต่ก็ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมาหลายสิบปีแล้ว ซึ่งคนที่อยู่ในองค์กรใดองค์กรหนึ่ง เขาก็คงไม่ต้องการให้คนในองค์กรอื่นเข้ามาร่วมทำงานแล้วมากำกับการทำงาน แต่หลักคิดของผู้ร่างกฎหมาย ผู้ดำเนินการปฏิรูปประเทศ เขาก็ต้องคิดให้พ้นจากตัวตนของคนที่อยู่ในหน่วยงาน เรื่องนี้ก็ต้องถามรัฐบาลว่าแล้วรัฐบาลเห็นอย่างไร ถ้าการปฏิรูปประเทศจะต้องให้หน่วยงานที่เป็นผู้ปฏิบัติต้องยินยอมพร้อมใจหมดทุกอย่าง คำถามก็คือว่า แล้วจะปฏิรูปได้แค่ไหน อย่างไร อันนี้ไม่ใช่แค่เรื่องปฏิรูปตำรวจ แต่เป็นทุกเรื่อง
-ประชาชนคงอยากถามว่าถ้าร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติประกาศใช้ ประชาชนเขาจะได้อะไร จะเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรมเพิ่มขึ้นได้หรือไม่?
ก็ได้ อย่างน้อยมี ก.ร.ตร. ที่หากเห็นตำรวจทำตัวไม่ถูกต้องก็ร้องเรียนได้ หรือตำรวจชั้นผู้น้อย หากเห็นว่าการแต่งตั้งโยกย้ายทำโดยไม่ถูกต้องก็ร้องเรียนได้ โดยผู้พิจารณาตัดสินก็ไม่ใช่เจ้านายคุณอย่างเดียว แต่มีองค์กรที่มีที่มาจากหลากหลาย
-หลังมีเสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปตำรวจและมีการใช้เวลานานหลายปีในการทำเรื่องนี้ มีการตั้งกรรมการหลายชุด จนมาถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ สุดท้ายแล้วเราสามารถคาดหวังกับร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ในเรื่องปฏิรูปตำรวจได้หรือไม่?
เราต้องเข้าใจด้วยว่าการปฏิรูปตำรวจในความหมายอย่างกว้าง พวกเราอาจคาดหวังไปไกล อย่างอาจมีการถามกันว่า เหตุใดไม่มีการพูดเรื่องตำรวจท้องถิ่น ก็ต้องตอบว่า อันนั้นคือการปฏิรูปตำรวจในความหมายอย่างกว้าง แล้วการปฏิรูประดับจะให้มีตำรวจท้องถิ่น ไม่ใช่มากระจุกอยู่ที่ส่วนกลาง เรื่องนี้ต้องไปพิจารณาประกอบกับเรื่องระบบการปกครองท้องถิ่น-การปกครองส่วนภูมิภาคของประเทศด้วย หากประเทศยังไม่ได้ตกลงกันในเรื่องระบบการปกครองส่วนกลาง-ท้องถิ่น-ภูมิภาค ให้ชัดเจนแล้ว เราไปเปลี่ยนตรงนี้ มันจะไม่สอดคล้องต้องกัน
การปฏิรูปตำรวจที่เราพูดกันอยู่ในรอบนี้ ก็หมายถึงการปฏิรูปตำรวจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 258 ง(4) ที่เน้นให้เกิดความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายเป็นหลัก เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นได้ว่าร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ จึงเน้นเสมือนพูดถึงแต่เรื่องตำรวจ แต่คณะผู้ร่างกฎหมาย คณะผู้ปฏิรูปตำรวจเขามองว่า ตำรวจดีนั้นมีอยู่มากมายมหาศาล หากเขาได้เติบโตขึ้นมาตามขั้นตอน ตามผลงานที่โปร่งใส ชัดเจน ตอบคำถามได้ การวิ่งเต้นและการซื้อขายตำแหน่งเหลือน้อยที่สุด มันก็จะทำให้ตำรวจดีได้เติบโต ได้อยู่ในตำแหน่ง ประชาชนก็จะได้รับการอำนวยความยุติธรรมไปด้วย แต่ตรงกันข้าม หากแก้ปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายไม่ได้ โดยตำรวจที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ก็ล้วนเข้าไปด้วยวิธีพิเศษ วิ่งเต้น ซื้อขายตำแหน่ง เมื่อเข้าไปอยู่ในตำแหน่งก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องมีผลประโยชน์ ประชาชนก็จะเสียประโยชน์ นี่คือเขามองแบบนี้
ดังนั้นโดยภาพรวมของร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นความหมายของการปฏิรูปตำรวจตามรัฐธรรมนูญ ที่เขามุ่งเฉพาะตรงนี้ ผมว่าก็ต้องให้ความเป็นธรรมเหมือนกันว่าทำไมพูดถึงแต่เรื่องภายในของตำรวจ ซึ่งก็น่าเสียดายที่รัฐธรรมนูญก็บัญญัติให้เรื่องการสอบสวนคดีอาญาให้มีการถ่วงดุลที่เหมาะสม ซึ่งทั้งในร่างกฎหมายตำรวจแห่งชาติฉบับที่จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภา จุดเริ่มต้นที่เริ่มจากกรรมการชุดอาจารย์มีชัยไปถูกเปลี่ยนแปลงเสียก่อนที่จะมีการเสนอมาให้รัฐสภาพิจารณา ความเป็นอิสระของแท่งงานสอบสวนที่ให้มีผู้บังคับบัญชาของตัวเองจึงหายไป และร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญาที่จะเปิดโอกาสให้อัยการเข้ามามีส่วนร่วมในการสอบสวนในคดีสำคัญตั้งแต่ต้นจึงยังไม่มี เลยทำให้ดูเหมือนว่าการปฏิรูปตำรวจ แม้จะได้ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับนี้ออกมา มันก็ลูบเบาๆ ลูบเล็กๆ.
โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..
รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ
เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก
ประมาทไม่ได้เลย คือ จิตของเรา!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีพระภาษิตบทหนึ่งกล่าวว่า..
คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!
เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย
ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?
การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก
ขบวนการแพทย์ชนบท กับรางวัลแมกไซไซ ปี 2024 ทิศทางพัฒนาระบบสุขภาพไทย
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คือวันเสาร์ที่ 16 พ.ย. คณะผู้แทน”ขบวนการแพทย์ชนบท” ได้เดินทางไปรับรางวัลแมกไซไซ ประจำปี 2024