เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรมาได้แค่สัปดาห์เดียว การเมืองในสภาก็ร้อนฉ่า สัญญาณการเมืองหลายอย่างทำให้เห็นชัดว่า มีแนวโน้มการเมืองจะเข้าสู่ภาวะ แตกหัก-พังกันไปข้าง ในสมัยประชุมนี้ ที่กว่าจะปิดสภาอีกทีก็ 18 ก.ย.65 โดยบางฝ่ายก็ประเมินว่าสภาชุดนี้อาจอยู่ไม่ถึงตอนนั้นก็ได้ เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองทำให้มีการเปลี่ยนแปลงด้วยการ "ยุบสภา” หรือการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีเกิดขึ้นในช่วงสมัยประชุมสภารอบนี้
นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ พรรคการเมืองขนาดเล็กหนึ่งเสียง แต่มีบทบาทไม่น้อยในการแสดงจุดยืนสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และปัจจุบันก็เป็นหนึ่งในกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้งสองฉบับที่มีการแก้ไข คือ พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.บ.พรรคการเมือง เพื่อรองรับการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญที่แก้ไขให้ใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ โดยจากสถานการณ์การเมืองขณะนี้ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคเศรษฐกิจไทย ที่ธรรมนัส พรหมเผ่า จะขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคเต็มตัว ทาง "นพ.ระวี” วิเคราะห์การเมืองไว้อย่างร้อนแรงว่า การเมืองในการเปิดสมัยประชุมสภารอบนี้ เมื่อเทียบกับ 3 ปีที่ผ่านมา ครั้งนี้เป็นปีที่ 4 ในสมัยแรก น่าจะเป็นสมัยประชุมที่ร้อนแรงที่สุด เพราะเมื่อเริ่มเปิดสภามาได้สัปดาห์เดียว สัปดาห์ถัดไปคือช่วง 31 พ.ค. และ 1-2 มิ.ย. สภาจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ซึ่งหลายคนคิดว่าผ่านแน่ เพราะหากไม่ผ่าน "พลเอกประยุทธ์" นายกรัฐมนตรีต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก ตามมาด้วยยุบสภา ซึ่งนี่ก็คือด่านแรก เสร็จจากนี้ไปก็จะเป็นเรื่องของการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. และพ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่เป็นการพิจารณาในวาระสองและต่อด้วยวาระสาม ที่ต้องรอดูว่าประธานรัฐสภาจะบรรจุระเบียบวาระให้พิจารณาในช่วงใด
เรื่องสำคัญที่ตามมาติดๆ ในลำดับถัดไปก็คือ การยื่นญัตติเพื่อขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งเมื่อฝ่ายค้านยื่นญัตติแล้ว นายกรัฐมนตรีไม่มีสิทธิ์ยุบสภาได้แล้ว และหากพลเอกประยุทธ์ถูกโหวตคว่ำกลางสภา ก็ต้องเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่โดยที่ประชุมร่วมรัฐสภา เรื่องนี้คือความร้อนแรงในเรื่องที่ 3
ส่วนความร้อนแรงในเรื่องที่ 4 เมื่อถึงวันที่ 23 สิงหาคมที่จะถึงนี้ ที่จะครบ 8 ปีที่พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ โดยนับจากช่วงเป็นนายกฯ ครั้งแรกตอนปี 2557 ก็จะมีคนไปร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
แล้วอาจจะมีประเด็นที่ 5 เพราะตอนนี้เงินรัฐบาลก็ใกล้หมด เพราะใช้ในการฟื้นฟูประเทศหลังโควิด ใช้งบไปกับการต่อสู้กับโรคระบาดโควิดเยอะ ซึ่งถ้ารัฐบาลจะกู้เพิ่มอีกประมาณ 1 ล้านล้านบาท ก็ต้องเสนอเป็น พ.ร.บ.เข้าสภา อันนี้ก็เป็นกฎหมายการเงิน ซึ่งหากเกิดถูกคว่ำกลางสภา นายกฯ ก็ต้องไปเหมือนกัน
ทั้ง 5 เรื่องเป็นตัวที่กำหนดว่าการเปิดสภาครั้งนี้จะร้อนแรงที่สุด ซึ่งไม่รู้ว่ารัฐบาลจะอยู่หรือจะไป
...หลังเกิดกรณีทางการเมืองกับพรรคเศรษฐกิจไทยเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ผมเห็นว่าฝ่ายค้านกำลังเริ่มจะคิดเรื่องการล้มพลเอกประยุทธ์ จากเดิมจะล้มช่วงศึกซักฟอก ก็จะมาเริ่มก่อนการโหวตร่าง พ.ร.บ.งบปี 2566 ในสัปดาห์หน้า ผมอ่านเกมว่าฝ่ายค้านไม่สนใจเรื่องกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแล้ว โดยอาจจะขยับมาดูว่าจะคว่ำนายกฯ ในช่วง พ.ร.บ.งบฯ เพราะหากคว่ำได้พลเอกประยุทธ์ก็ต้องยุบสภา ถ้าเลือกตั้งตอนนี้ฝ่ายค้านเขามีสิทธิ์ชนะแบบนอนมา เพราะถึงกฎหมายลูกหากมีการทำออกมาภายหลังให้ใช้สูตรหาร 500 ฝ่ายค้านเขาก็ไม่กังวล เพราะว่าสถานการณ์ตอนนี้พรรคร่วมรัฐบาลมีแค่ภูมิใจไทยที่พร้อมเลือกตั้ง ส่วนพลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์ก็ยังไม่รู้จะเป็นอย่างไร ทำให้ฝ่ายค้านอาจได้ ส.ส.แบบแลนด์สไลด์ ง่ายกว่าจะดึงให้ไปถึงเลือกตั้งปลายปี เพราะหากไปถึงตอนนั้นรัฐบาลจะทำให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นแล้ว ดังนั้นหากให้ดีที่สุดก็ต้องคว่ำตอนนี้เลย
หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวต่อไปว่า หากฝ่ายค้านประสบความสำเร็จจนคว่ำรัฐบาลได้ในการโหวตร่าง พ.ร.บ.งบฯ แล้วมีการยุบสภา ก็จะต้องไปเลือกตั้งใหม่ภายใน 45-60 วัน แต่หากฝ่ายค้านทำไม่สำเร็จ ฝ่ายค้านก็จะใช้วิธีเร่งยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อเลย เพราะพอฝ่ายค้านยื่นญัตติแล้ว พลเอกประยุทธ์หมดสิทธิ์ยุบสภาเลย ดังนั้นพอฝ่ายค้านกำหนดเวลาแล้วว่าจะยื่นญัตติ พลเอกประยุทธ์ต้องรีบตัดสินใจเลยว่าจะยุบสภาก่อนฝ่ายค้านยื่นญัตติหรือไม่ เพราะหากยังเคลียร์การเมืองในฝ่ายรัฐบาลไม่ลงตัว ก็อาจเกิดอุบัติเหตุเสี่ยงจะถูกคว่ำกลางสภาได้ และหากพลเอกประยุทธ์ตัดสินใจยุบสภา มันก็ยังเข้าทางฝ่ายค้านอยู่ดี ดังนั้นหากตัดสินใจยุบสภาก่อนศึกซักฟอก กรอบเวลาหลังจากนั้นก็ยืดออกไปอีกไม่เกินสามเดือน เลือกตั้งเมื่อไหร่ ฝ่ายค้านก็ชนะแบบนอนมาอยู่ดี ถ้าจะคว่ำนายกฯ คว่ำตอนเผลออย่างตอนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบรายจ่ายจะง่ายที่สุด ถ้าไปสู้ตอนอภิปรายไม่ไว้วางใจ ต่างฝ่ายต่างเตรียมการกัน
“แต่หากพลเอกประยุทธ์จะยอมเสี่ยง ไม่ยุบสภา แล้วให้ฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาลก็เดินเข้าสู่โหมดคิลลิงโซน ก็คือไปลุ้นสู้กันตอนอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งเกมของฝ่ายค้าน พอยื่นแล้วเขาก็จะไม่เร่งวันให้อภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่จะรอให้รัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขกฎหมายลูกสองฉบับก่อน ที่ก็คือจะให้ไปอภิปรายไม่ไว้วางใจกันช่วงเดือนกรกฎาคม เกมนี้ฝ่ายค้านมีแต่ได้กับเสมอตัว ที่ได้ก็คือก็ได้เลือกตั้งเร็วขึ้น แต่ถ้าเขาแพ้ในการโหวตร่าง พ.ร.บ.งบฯ ก็คือการซ้อมใหญ่ผ่านเวทีอภิปรายงบ เช่นเขาจะเห็นเลยว่า การโหวตของ ส.ส.รัฐบาลกับฝ่ายค้านเสียงการโหวตออกมาอย่างไร จะได้เห็นตัวงูเห่ามีกี่ตัว อยู่ตรงไหน เวลาอภิปรายไม่ไว้วางใจเดือนกรกฎาคม ฝ่ายค้านก็จะได้ไปบล็อกแก้เกมไว้ได้ ทั้งหมดฝ่ายค้านมีแต่ได้กับเสมอตัว”
...อย่างไรก็ตาม หากสมมติว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ถูกคว่่ำ รัฐบาลรักษาการก็สามารถจะใช้งบประมาณได้ แต่มันมีข้อจำกัดว่าต้องใช้ได้แค่ไหน อันนี้คือความร้อนแรงที่ 1 ซึ่งอาจจะจบรัฐบาล จบสภาชุดนี้ได้เหมือนกัน ไม่ใช่จะไม่มีโอกาส
ถกกฎหมายลูก 2 ฉบับ
รอเปิดฉากซัดกันนัว สูตรปาร์ตี้ลิสต์
ส่วนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขคือร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมืองและร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. ที่รัฐสภาจะมีการพิจารณาหลังจากนี้ ที่ถือเป็นระเบิดการเมืองสำคัญที่รออยู่ในสมัยประชุมสภารอบปัจจุบัน นพ.ระวี-กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ กล่าวลงรายละเอียดว่า สิ่งที่กรรมาธิการมีการยกร่างแก้ไขร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง สาระสำคัญก็เช่น ทำให้การตั้งพรรคการเมืองควรจะทำให้ง่ายขึ้น, ค่าสมาชิกพรรคที่สมาชิกจ่ายให้พรรคการเมืองก็มีการปรับลดลง ซึ่งเป็นทิศทางเพื่อให้ประชาชนแต่ละกลุ่มที่ตั้งพรรคการเมืองมีสิทธิ์ที่จะดำรงอยู่ได้ในการเมือง ให้พรรคการเมืองสามารถที่จะมี ส.ส.เข้าไปเป็นผู้แทนราษฎร ไม่ใช่ทิศทางว่าพรรคการเมืองต้องมีแต่พรรคขนาดใหญ่ จึงมีการแก้ไขเช่น ค่าสมัครสมาชิกก็แก้ให้เหลือ 20 บาท แต่ปรากฏว่าในการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. เสียงส่วนใหญ่ในกรรมาธิการกลับเห็นชอบเรื่อง สูตรคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ โดยให้ใช้สูตร 100 หารคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ทั่วประเทศ ซึ่งการหารด้วย 100 ทำให้พรรคการเมืองที่จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคน ต้องมีฐานคะแนนประมาณ 370,000 คะแนน เพราะว่าเลือกตั้งครั้งที่แล้วบัตรดีมี 35 ล้านใบเศษ เลือกตั้งครั้งหน้าห่างจากปี 2562 ประมาณ 4 ปี คนออกมาเลือกตั้งอาจจะมากขึ้น
พอคนออกมาใช้สิทธิ์มากขึ้น อาจจะทำให้มีบัตรดีประมาณ 37 ล้านใบ หารด้วย 100 ก็จะเป็น 370,000 คะแนน ทั้งๆ ที่ส.ส.แบบแบ่งเขตที่เล็กลง จากเดิมมี 350 เขต แต่เลือกตั้งรอบหน้ามี 400 เขต เพราะฉะนั้นเลือกตั้งครั้งหน้า ส.ส.บางคนอาจจะได้คะแนนในระบบเขตแค่ 25,000 เสียงก็ได้เป็น ส.ส.แล้ว แต่สำหรับพรรคเล็ก จะได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อหนึ่งคนต้อง 370,000 เสียง เห็นไหมครับว่ามันสวนทางกัน พ.ร.ป.พรรคการเมืองแก้ไข ให้ตั้งพรรคการเมืองง่ายขึ้น ทำให้กลุ่มเล็กกลุ่มน้อยก็สามารถจะตั้งพรรคการเมืองได้ แต่ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. วางมาตรการ ใช้ยาแรง พรรคเล็กก็สูญพันธุ์ เพราะว่าการเลือกตั้งในประเทศไทยมันกลายเป็นสังคมคณาธิปไตย ใช้เงินกันมหาศาล มีการพูดว่า ส.ส. เขตถ้าไม่ใช้เงิน 20-30 ล้านบาทไม่มีทาง แล้วพอไปถึงการเลือกตั้งยุคหน้าอาจจะเป็น 40-50 ล้านบาท พรรคเล็กไม่มีเงิน ซึ่งถ้าพรรคเล็กมีเงินก็ไม่ใช่พรรคเล็ก ถ้าผมมีหมื่นล้านบาท พรรคพลังธรรมใหม่ไม่ใช่พรรคเล็กแน่นอน พรรคพลังธรรมใหม่ก็ขยับขึ้นเป็นพรรคขนาดกลาง ผมครองเสียงข้างมาก ถ้าผมมีเงินเป็นหมื่นล้าน
ดังนั้นพรรคเล็กก็ไม่มีโอกาสได้ ส.ส.เขต เขาก็ต้องหวังจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งต้องหาคะแนนจากทั่วประเทศ มันยากกว่าหรือไม่ เพราะระบบเขตหาคะแนนในพื้นที่ อำเภอหรือสองอำเภอ แต่อันนี้ต้องหา 370,000 คะแนนจากทั่วประเทศ ค่าใช้จ่ายมหาศาลแค่ไหนเพียงเพื่อได้ ส.ส.หนึ่งคน จึงเห็นได้ว่าการแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ให้ใช้สูตรหารด้วย 100 มันขัดกับแนวทาง การแก้ไข พ.ร.บ.พรรคการเมือง
...สำหรับการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ วาระ 2 ที่การพิจารณาต้องโหวตทีละมาตรา ดังนั้นการสู้ที่สำคัญที่สุดตอนพิจารณาร่างกฎหมายลูกทั้งสองฉบับ ประเด็นที่หนักและรุนแรงที่สุดคือ เรื่องสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ว่าจะเอาสูตรแบบไหน จะเอาหาร 100 หรือหาร 500 จะสู้กันรุนแรงที่สุด จะอภิปรายกันยาว แล้วพอจบวาระสองก็จะไปโหวตในวาระสามต่อไป ที่เป็นการโหวตว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับ ถ้าเห็นชอบก็รับทั้งร่าง ถ้าไม่เห็นชอบก็คือร่างก็ตกไปเลย
...การสู้กันในวาระสองของฝ่ายที่สนับสนุนเรื่อง 100 หารกับ 500 หาร หากมาประเมินดูจะพบว่าตอนโหวตวาระแรกขั้นรับหลักการ ภูมิใจไทย, ประชาธิปัตย์, พรรคก้าวไกล โหวตเห็นด้วยกับหาร 100 แต่ทว่าในการพิจารณาวาระที่ 2 หลังจากนี้ มันเกิดขึ้นหลังจากเสร็จสิ้น การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ซึ่งผลการเลือกตั้งดังกล่าวอาจจะส่งผลให้พรรคใหญ่คิดใหม่ เช่น พรรคพลังประชารัฐจะเปลี่ยนเรื่องนี้หรือไม่ ส่วนประชาธิปัตย์จะปล่อยให้ฟรีโหวตตอนลงมติวาระสองหรือไม่ เพราะประชาธิปัตย์เองคนที่เป็นกรรมาธิการก็ยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ และเท่าที่ผมทราบฝ่ายบริหารพรรคประชาธิปัตย์บางคนสนับสนุนสูตรเอา 500 หาร เพราะฉะนั้นมันอาจจะพลิกในวาระที่ 2 ซึ่งเรื่องหาร 500 หรือการหาร 100 สงครามยังไม่จบอย่าเพิ่งนับศพทหาร ผมเองกับกลุ่มพรรคเล็กเราสู้สุดชีวิต บางพรรคคิดว่าเพื่อให้พรรคเขารอดเค้าก็ต้องสู้ให้หาร 500 แต่สำหรับพรรคพลังธรรมใหม่ไม่ใช่แบบนั้น เราคิดถึงยุทธศาสตร์ประเทศเป็นหลัก ที่เราจะสู้หาร 500 เพราะเราเห็นด้วยกับประชามติรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่รัฐธรรมนูญให้เกิดระบบจัดสรรปันส่วนผสม เพราะต้องการให้คนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยสามารถที่จะจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา แล้วถ้าหาเสียงได้ประมาณ 7-8 หมื่นเสียง เขาก็มีสิทธิ์ได้ ส.ส.หนึ่งคนเข้ามาในสภา เพื่อสะท้อนปัญหาของคนกลุ่มนั้น มันจะเป็นความหลากหลายที่สวยสดงดงามของระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่มีแต่พรรคใหญ่แค่ 2-3 พรรค เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันผ่านประชามติมาแล้วว่าเห็นด้วยกับระบบจัดสรรปันส่วนผสม
นพ.ระวี-กมธ.ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ วิเคราะห์การเมืองไว้ว่า ผมคาดว่าการต่อสู้ในวาระที่ 2 ของการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะเกิดขึ้นหลังมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เสร็จสิ้นไปแล้ว ผมว่า 60% พลิก ผมเชื่อว่าครั้งนี้กลุ่มพรรคเล็กอาจจะประสบชัยชนะในการหารด้วย 500
ส่วนที่มีกรรมาธิการบางคน เช่น ไพบูลย์ นิติตะวัน, นิกร จำนง และอีกหลายคนพูดว่าหาร 500 ผิดรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้ผมขอชี้แจงในรายละเอียดว่าหารด้วย 100 ถูกตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 เพียงอย่างเดียว แต่ก็ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 93, มาตรา 94 ซึ่งมีการบัญญัติว่าด้วยส.ส.พึงมี และยังขัดเจตนารมณ์ที่สำคัญเรื่อง ส.ส.พึงมี ของรัฐธรรมนูญ ที่ได้รับการโหวตประชามติจากประชาชน ขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญว่าด้วยระบบจัดสรรปันส่วนผสม คุณทำอย่างนี้มันก็ไม่มีระบบจัดสรรปันส่วนผสม แต่หารด้วย 500 ผมยอมรับว่ามันไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ที่บอกว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์โดยตรงกับคะแนนพรรค อันนี้ผมยอมรับ แต่หารด้วย 500 สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 93 มาตรา 94 เพราะการหาร 500 ระบุว่าการคำนวณหา ส.ส. พึงมีและส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยการเอาคะแนนพรรคจากทุกพรรคทั่วประเทศที่ได้จากทุกเขตมารวมกันแล้วนำมาหาร 500 คือจำนวน ส.ส. ออกมาเป็นคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. พึงมีหนึ่งคน จากนั้นไปคำนวณหา ส.ส.พึงมี ที่พอได้แล้วก็สามารถหา ส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะมีในสภาได้ โดยนำ ส.ส.พึงมีลบด้วย ส.ส.เขตที่พรรคการเมืองนั้นมีอยู่หลังการเลือกตั้ง ที่เป็นสูตรซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญเรื่อง ส.ส.พึงมี และระบบจัดสรรปันส่วนผสม รวมถึงสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และมาตรา 94
แต่ไม่ว่าอย่างไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะ 100 ชนะหรือหาร 500 ชนะ ในวาระ 2 และ 3 ก็ยังต้องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ เพราะหลังผ่านวาระสามแล้ว ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติว่าก็ต้องส่งร่างไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา เช่นมันขัดกันหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยมา
...ทั้งนี้หากกฎหมายลูกทั้งสองฉบับผ่าน ก็จะเข้าสู่โหมดการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่มีจุดที่ว่าหากสูตรหาร 500 ผ่านออกมาในวาระสอง ผมคิดว่ามันสะท้อนถึงเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาล มันจะเป็นตัวสะท้อนออกมาเลย เช่น พรรคประชาธิปัตย์อาจจะเปิดฟรีโหวต โดยบางส่วนอาจเห็นด้วยกับหาร 100 และบางส่วนอาจเห็นด้วยกับสูตร 500 หาร คะแนนโหวต 500 หารก็จะขึ้นมา เพราะเท่าที่ผมทราบในพรรคประชาธิปัตย์อาจออกมาแบบครึ่ง-ครึ่ง ขณะที่ในส่วนของพรรคภูมิใจไทยที่เคยโหวตสนับสนุนสูตรหารด้วย 100 มาถึงวันนี้พรรคภูมิใจไทยอาจจะหันมาโหวตหารด้วย 500 แล้วพรรคพลังประชารัฐหลังการเลือกตั้ง กทม.อาจเกิดการตัดสินใจใหม่ บิ๊กป้อมอาจจะต้องฟังบิ๊กตู่หรือไม่ ถ้าฟังบิ๊กตู่ พรรคพลังประชารัฐก็จะโหวตหาร 500 อย่างนี้ชนะ ก็ต้องรอดู โดยถ้าวาระ 2 ฝ่ายไหนชนะ วาระ 3 ก็น่าจะรับไปตามนั้น
ชำแหละยุทธการ 'กินทีละคำ'
แผนล้มประยุทธ์
-วิเคราะห์การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะมีขึ้นจะเป็นอย่างไร?
การอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติที่จะเกิดขึ้นรอบนี้ น่าจะเป็นครั้งสุดท้าย มองว่าถ้ากฎหมายลูกผ่าน ฝ่ายค้านก็ตัดสินใจจะยื่นญัตติ คราวนี้พลเอกประยุทธ์ต้องตัดสินใจว่า ความสามัคคี ความเป็นเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาล อยู่ระดับไหน ถ้าอยู่ในระดับไม่เสี่ยง ชัวร์ ก็ให้ฝ่ายค้านยื่น
ผมคาดว่าเนื้อหาที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นการอภิปรายที่ไม่ไว้วางใจแบบตัดแปะ เอาข่าวหนังสือพิมพ์มาตัดแปะเหมือนกับที่ผ่านมา ไม่มีไม้เด็ดที่จะคว่ำรัฐบาล
ข้อที่สองต้องย้ำว่า รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ ตัวนายกรัฐมนตรีรักษาเรื่องของการไม่ให้เกิดทุจริตคอร์รัปชัน แต่รัฐมนตรีหลายคนอาจจะตามน้ำ อาจจะมีการรับเงินทอน แต่จะเห็นว่าไม่มีโครงการใหญ่ๆ เหมือนโครงการจำนำข้าว โครงการปลูกยาง โครงการอะไรเหมือนกับสมัยรัฐบาลในอดีตที่เห็นเลยว่าทุจริตคอร์รัปชัน ในรัฐบาลนี้ไม่มี
ดังนั้นผมมองไม่เห็นว่าประเด็นใดจะมาคว่ำรัฐบาลได้ ในส่วนตัวโดยเฉพาะตัวนายกฯ แต่จะคว่ำได้ถ้ามันเป็นเรื่องอื่น เช่นต้องอยู่ในยุทธศาสตร์กินทีละคำ ต้องเอาพลเอกประยุทธ์ออกให้ได้ ถ้านายกฯ ประยุทธ์ออกได้ คนอื่นก็มาเป็นนายกฯ ต่อในช่วงที่เหลือ ก็ทำให้ไม่มีคู่แข่ง ใครจะไปแข่งกับแพทองธาร ชินวัตร แต่ถ้านายกฯ ประยุทธ์ยังอยู่ต่อไปจะเป็นก้างขวางคอการแลนด์สไลด์
ดังนั้น ยุทธการกินทีละคำ ต้องจัดการพลเอกประยุทธ์ ไม่ว่าจะในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ หรือเรื่องของวาระการเป็นนายกฯ ครบ 8 ปี หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ข้อต่อมาเมื่อนายกฯ ประเมินแล้วว่ามันเสี่ยง ถ้าลงสนามอาจจะถูกคว่ำ อาจเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทยที่ถูกคว่ำกลางสภาในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งไม่เคยมี ถ้าหากเกิดแบบนี้นายกรัฐมนตรีไม่ได้ลงจากหลังเสือ แต่ตกจากหลังเสือเลย หล่นมาจากตึกสิบชั้นเลย ทางนายกรัฐมนตรีก็ต้องประเมิน หากเห็นว่าเสี่ยง ก็ต้อง ยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่หากนายกฯ ประเมินแล้วว่ารอด ก็เข้าสู่โหมดการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งเมื่อเข้าสู่ช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ สิ่งที่น่าห่วงก็คือ เงินมันซื้อได้ ซึ่งเงินซื้อได้หลายคน แต่สำหรับพลังธรรมใหม่ยืนยันว่าเงินซื้อไม่ได้แน่นอน ส.ส.จำนวนมากเงินซื้อไม่ได้แน่นอน แต่จะมี ส.ส.ส่วนหนึ่งที่เงินซื้อได้ต้องยอมรับความเป็นจริง
...สมมุติผมมีเงินหมื่นล้าน แล้วผมต้องการแลนด์สไดล์ ผมต้องกินทีละคำ ผมยอมที่จะเสียเงินหนึ่งพันล้านบาท โดยตอนนี้ ส.ส.ฝ่ายค้านมี 208 เสียง แต่ก็มีบางส่วนเป็นงูเห่า ดูแล้วเสียงฝ่ายค้านอาจหายไปประมาณ 10 เสียง การจะคว่่ำนายกฯ กลางสภาได้ต้องมี 238 เสียง 208 บอกกับ 30 ถึงจะเท่ากับ 238 เสียง ก็ยังไม่พอ ต้องหามาอีกประมาณ 40 เสียง ถ้าหากเป็นแบบนี้ ผมทุ่มสักพันล้าน ผมก็จ่ายหัวละ 25 ล้านบาท ถือว่าคุ้มสุดๆ เพราะหากผมคว่่ำพลเอกประยุทธ์ได้กลางสภา ผมหมดไปพันล้านบาท แต่เลือกตั้งครั้งหน้าการที่จะชนะการเลือกตั้ง ผมอาจใช้เงินน้อยลงไปร่วม 2,000-3,000 ล้านบาท เพราะไม่มีกว้างขวางคออย่างพลเอกประยุทธ์แล้ว
หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ที่เป็นพรรคการเมืองขนาดเล็กในสภา กล่าวต่อไปว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะมีขึ้นก็มีคนถามผมหลายคนว่า รัฐบาลจะผ่านศึกนี้ไปได้หรือไม่ ผมก็บอกว่ามีโอกาสผ่าน 80 เปอร์เซ็นต์ แต่อีก 20 เปอร์เซ็นต์ยังมีโอกาสถูกคว่่ำได้ ผมว่าคนก็รู้ว่า 40 เสียง ฝ่ายค้านจะไปเอามาจากไหน ก็มีหลักๆ คือ หนึ่ง-เสียงจาก "พรรคการเมืองขนาดเล็ก" ที่ตอนนี้มีบางส่วนไปเคลื่อนไหวตั้งกลุ่ม 16 โดยสมมุติว่ากลุ่มนี้รวมกันได้จริง 16 เสียง ถัดไปก็คือ ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทยที่ไม่ถูกกับนายกรัฐมนตรี ก็มีอีก 16 เสียง สองกลุ่มนี้บวกกันก็ประมาณ 32 เสียงหรือ 30 เสียง ที่ผ่านมาก็มีการพยายามโยนบาปให้กับพรรคเล็กว่า พรรคการเมืองขนาดเล็กทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ เป็นพวกชอบขอ กินกล้วย เป็นพวกตัวป่วน
"ผมขอให้แยก เพราะความเป็นจริงแล้ว พรรคใหญ่ กินกล้วยมากกว่า เพราะพรรคเล็กไม่มีรัฐมนตรีแล้วกล้วยมาจากไหน ก็มาจากเงินทอนที่เป็นภาษีของประชาชน จึงมีแต่พรรคใหญ่ที่จะมีกล้วยที่เอาไปเลี้ยง ส.ส."
...สมมุติว่าเป็นไปตามข้างต้นคือ ไปได้เสียงจากพรรคเล็กและเศรษฐกิจไทยประมาณสัก 30 เสียง หากยังขาดอีกสิบเสียง ถ้าจะหาก็ต้องไปหาจากพรรคใหญ่จึงจะได้ประมาณ 40 เสียง ดังนั้นจะเห็นได้ว่า เกมนี้พลเอกประยุทธ์ยังอันตรายอยู่ ยังอาจจะถูกคว่่ำได้ แต่ถ้าสถานการณ์ต่อจากนี้โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ฝ่ายรัฐบาลเห็นอะไรบางอย่างแล้วมาสามัคคีปรองดอง แล้วกลุ่ม 3 ป.ผนึกกำลังกันจริงๆ อย่าให้เหมือนตามข่าวอย่างที่เราได้รับทราบ คือ ป.หนึ่งก็ไปทางหนึ่ง แล้วอีก ป.หนึ่งก็ไปอีกทาง ซึ่งจะพิสูจน์ได้จากการโหวตกฎหมายลูกในวาระสอง โดยถ้าสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์พลิกกลับมาเป็น 500 หาร พลิกกลับมาชนะ แสดงถึงสัญลักษณ์ 3 ป.เริ่มกลับมาเป็นหนึ่งเดียว ที่จะเป็นสัญญาณได้ว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลจะผ่านไปได้ แต่หากออกมาให้ใช้สูตร 100 หาร ก็ยังลูกผีลูกคนกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งทุกอย่างที่ออกมามีผลในทางสัมพันธ์กันกับผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่จะมีผลต่อการแก้ไขกฎหมายลูก โดยหากออกมาในสูตรให้ใช้ 500 หาร พรรคขนาดเล็กก็แฮปปี้ ไม่ใช่ทำลายพรรคเขาจนสูญพันธุ์หมด
'พรรคเล็ก' แนวร่วม
หนุนหรือล้ม 'ประยุทธ์'?
-บทบาทพรรคขนาดเล็กไม่เกินห้าเสียงส่วนใหญ่อยู่ฝั่งไหน ฝ่ายหนุนพลเอกประยุทธ์หรือฝ่ายตรงข้าม?
ตอนนี้พรรคการเมืองขนาดเล็กที่มี ส.ส.ในพรรคประมาณ 1-6 เสียง ทั้งหมดมีประมาณ 25 เสียง โดยมีหนึ่งพรรคที่ไปอยู่ฝ่ายค้านตั้งแต่แรก (นิคม บุญวิเศษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังปวงชนไทย) ที่เหลือทั้งหมดอยู่ฝ่ายรัฐบาล
ซึ่งระยะเวลาสามปีที่ผ่านมาของสภา จิตใจและการกระทำก็เริ่มแตกต่าง มีการแยกกันออกมา เช่นอย่าง พรรค รวมพลังประชาชาติไทย ของสุเทพ เทือกสุบรรณ อันนี้แน่นอนยืนหยัดอยู่ข้างพลเอกประยุทธ์ไม่มีแตกแถว ส่วน พรรคเศรษฐกิจใหม่ ของมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์เดิม ที่มีส.ส. 6 เสียง พบว่าหนึ่งเสียงชัดเจนแล้วว่าไปอยู่กับพรรคเพื่อไทย เหลือห้าเสียงอยู่กับรัฐบาล แต่พบว่ามีสี่คนไปอยู่กับกลุ่ม 16 เหลือนายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่คนเดียวที่ไม่ได้อยู่กลุ่ม 16 แต่คุณมนูญไปกินข้าวกับยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายพิเชษฐ, นายดล เหตระกูล จากชาติพัฒนากันหลายครั้ง ก็เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องติดตามว่ามันเกิดอะไรขึ้น
ถัดมาที่ พรรคพลังท้องถิ่นไท ของชัชวาลล์ คงอุดม ที่ตอนนี้มี ส.ส.ห้าเสียง พบว่าแม้พี่ชัช เตาปูน จะยืนยันสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ แต่พอไปดูการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อกันยายนปีที่แล้ว พบว่าในพรรคมีพี่ชัชกับโกวิทย์ พวงงาม ที่อยู่ด้วยกันตลอด แต่ที่เหลืออีกสามคนพบว่าไปร่วมกินข้าวกับกลุ่ม 16 ส่วน พรรคชาติพัฒนา ที่มีสี่เสียง พบว่า ส.ส.คนหนึ่ง (สมัคร ป้องวงษ์) ไปร่วมกินข้าวกับ ร.อ.ธรรมนัส-กลุ่ม 16 ด้วย และยังมี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อีกคน (ดล เหตระกูล) ก็ไปร่วมกินข้าวกับแกนนำเพื่อไทย ขณะที่ พรรครักษ์ผืนป่าฯ ของดำรงค์ พิเดช พบว่าอยู่ในกลุ่ม 16 ทั้งสองคน ซึ่งการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งล่าสุด นายดำรงค์โหวตไม่ไว้วางใจพลเอกประยุทธ์ แต่นายยรรยงก์ ถนอมพิชัยธำรง โหวตไว้วางใจนายกฯ ก็คือการส่งสัญญาณเตือน
ถัดมาที่พรรคประชาธิปไตยใหม่ นายสุรทิน พิจารณ์ ครั้งที่แล้วลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ และที่ผ่านมาก็แสดงท่าทีตลอดว่าอยู่ฝ่ายเดียวกับ ธรรมนัส พรหมเผ่า นอกจากนี้พวกพรรคที่มี ส.ส.หนึ่งเสียงที่ไปอยู่กับกลุ่ม 16 หลายคนเช่น พรรคไทรักธรรม นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค หรือ นายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังไทยรักไทย นายปรีดา บุญเพลิง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน ส่วนที่ยืนหยัดอยู่ข้างนายกฯ แน่นอนก็เช่น ตัวผมหมอระวีจากพลังธรรมใหม่ พรรคพลเมืองไทยของพี่สัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ (น.ส.ศิลัมพา เลิศนุวัฒน์ ลูกสาวเป็น ส.ส.) นางบุญญาพร นาตะธนภัทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังชาติไทย นางนันทนา สงฆ์ประชา จากพรรคประชาภิวัฒน์ ก็จะเห็นได้ว่ากลุ่มพรรคการเมืองขนาดเล็กก็มีการแตกย่อยออกไปตามนี้ ไม่ได้เป็นเอกภาพเหมือนแต่ก่อน แต่เราก็คุยกันหลายเรื่องก็มานั่งหารือกัน เช่นเรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่รัฐสภาจะประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.ในเดือนหน้า แบบนี้พรรคเล็กก็จะมาคุยกัน แต่พอถึงช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจ ผมไม่มั่นใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะจากสัญญาณต่างๆ หากถึงช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถ้าไม่มีความเป็นเอกภาพมันก็เสี่ยง
-คิดว่าช่วงต่อจากนี้หลังเปิดสภามาแล้ว แกนนำรัฐบาลทั้งพลเอกประยุทธ์ พลเอกประวิตร ควรเชื่อมสัมพันธ์กับพรรคเล็ก เช่นนัดกินข้าวกันดีหรือไม่?
ก่อนอื่นหากดูความเป็นเอกภาพของ 3 ป.ระยะหลังพบว่าเริ่มไม่ชัดเจน หากเรามาวิเคราะห์ผลการเลือกตั้ง กทม. ที่่ฝ่ายรัฐบาลเพลี่ยงพล้ำชัดเจน อย่างเรื่องความไม่ลงตัวระหว่าง 3 ป. ตอนแรกพลตำรวจเอกเอกจักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร.ก็เตรียมตัวจะลงสมัคร มีการเตรียมตัวไว้แล้วพอสมควร แต่จู่ๆ ก็ต้องประกาศถอนตัว ก็เพราะความไม่ลงตัวของพลังประชารัฐหรือไม่?
แล้วต่อมา พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ก็ลงสมัครโดยมีกลุ่มผู้สมัคร ส.ก.กลุ่มรักษ์กรุงเทพลงด้วย พร้อมๆ กับสกลธี ภัททิยกุล ก็ลงสมัครเช่นกัน ส่วนพลังประชารัฐก็ส่งผู้สมัคร ส.ก.ครบห้าสิบเขต โดยก่อนถึงวันเลือกตั้งก็มีข่าวว่าพลเอกประวิตรให้ผู้สมัคร ส.ก.พลังประชารัฐหนุน พล.ต.อ.อัศวิน แต่ปรากฏว่าผู้สมัคร ส.ก.จำนวนหนึ่งไปเปิดตัวหนุนสกลธี มันเกิดความสับสนไปหมด จึงไม่แปลกใจที่ ดร.ชัชชาติชนะมาแบบเต็มสตรีม ส่วนอีกฝั่งแพ้หมดรูป ได้มาคนละสองแสนกว่าคะแนน มันสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ลงตัวของ 3 ป. ที่เรื่องความไม่ลงตัวของ 3 ป.ดังกล่าว เคยทำให้พลเอกประยุทธ์เกือบถูกคว่่ำกลางสภา ตอนอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ถึงตอนนี้แล้วหากพลังประชารัฐไม่แก้ไขอะไร ถึงตอนเลือกตั้งครั้งหน้าผมเดาว่าพลังประชารัฐสูญพันธุ์
-นายกฯ จะฝ่าด่านศึกซักฟอกได้หรือไม่ และจะมีการใช้เงินใช้ทองอะไรกันหรือไม่ การล็อบบี้ต่างๆ?
ผมก็มองว่าโอกาสที่จะผ่านศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจมีโอกาสผ่าน 80 เปอร์เซ็นต์ การจะคว่่ำนายกฯ ที่ต้องใช้เสียงในสภา 238 เสียง ไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ ถ้าจะทำได้ ต้องเต็มที่เลยคือต้องลงทุนเป็นพันล้านบาท ดังนั้นผมมองว่าโอกาสนายกฯ จะผ่านมี 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีโอกาสพลิกในระดับ 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการที่จะทำให้ผ่านไปได้แบบ 80 เปอร์เซ็นต์ต้องมีวิธีการหลายวิธี เช่นอาจมีการสร้างความสัมพันธ์ มีการนัดกินข้าวกัน แล้วพรรคเล็กก็เสนอเรื่องดีๆ นโยบายดีๆ โดยทางนายกฯ ก็ดูว่าเรื่องใดที่ทำแล้วจะเกิดประโยชน์กับประเทศก็ดูแล ซึ่งการดูแลในที่นี้หมายถึงนโยบาย อย่างพรรคพลังธรรมใหม่ต่อสู้เรื่องทุจริตคอร์รัปชัน และการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ แต่หลายเรื่องไม่ถูกตอบสนอง อย่างผมต่อสู้เรื่องทุจริตไปรษณีย์ สุดท้ายผมถูกไปรษณีย์ไทยฟ้องทั้งคดีแพ่งและอาญา แต่ก็มีหลายเรื่องเหมือนกันที่รัฐบาลก็อาจมีตอบสนองแต่ก็ช้า อย่างเรื่องการสู้เรื่องค่าโง่โฮปเวลล์ ค่าโง่ทางด่วน รัฐบาลตอบสนองช้ามาก หรือเรื่องดาวเทียมก็แทบไม่ตอบสนองเลย
"ผมยังประเมินว่าพลเอกประยุทธ์น่าจะผ่านศึกซักฟอกไปได้ ภายใต้โอกาสที่จะผ่านมี 80 เปอร์เซ็นต์ แต่อีก 20 เปอร์เซ็นต์ก็ต้องระวัง เช่น เรื่องการล็อบบี้ การสร้างความขัดแย้ง การซื้อตัว พูดง่ายๆ ไม่ใช่แค่แจกกล้วยเป็นหวี แต่อาจมีการแจกกันเป็นเครือ ก็ต้องดูว่าจะสกัดยังไงในการแจกกันเป็นเครือ ก็มีข่าวออกมาคนละ 30 ล้าน ผมก็เคยพูดตามข่าว ซึ่ง ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี บอกว่าถ้าเป็นเรื่องจริงบ้านเมืองฉิบหายวายวอด ผมก็อยากบอก ดร.ไตรงค์ว่ามันฉิบหายมานานแล้วครับ มันเป็นสังคมคณาธิปไตย"
"การเมืองหลังเปิดสภามาได้หนึ่งสัปดาห์ ขอให้ประชาชนอย่ากะพริบตา ถ้าท่านหลับตานานเกินไป ลืมตาขึ้นมา อ้าวยุบสภาเสียแล้ว เพราะมีระเบิดเวลาการเมืองเยอะมาก"
............................................................
จากใจ 'พรรคเล็ก'
เราเป็น 'แพะรับบาป'
พรรคใหญ่กินกล้วยมากกว่า
สำหรับบทบาทการเมืองที่ผ่านมาของ พรรคเล็ก มักถูกมองและมีเสียงปรามาสทางการเมืองมาตลอดในช่วงสภาชุดปัจจุบัน ว่าเป็นพวกชอบกินกล้วย-ชอบป่วน-สร้างราคาการเมืองให้ตัวเอง-ทำให้รัฐบาลมีปัญหาเรื่องเสถียรภาพ
เมื่อเราถาม นพ.ระวี หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ว่าบทบาทพรรคเล็กคนมักมองในทางไม่ค่อยดี มองในทางลบว่าชอบเรียกร้องอะไรต่างๆ โดยเฉพาะช่วงศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจคงถูกจับตามองมากยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่ง นพ.ระวี ตอบกลับเรามาว่า รัฐธรรมนูญมีความประสงค์ให้คนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย ให้ชาวนา กรรมการ เอ็นจีโอ เข้าไปสะท้อนปัญหาเขาในสภา ดังนั้นการที่จะมีพรรคเล็กอยู่ควรต้องมองในแง่ดี เพราะเขาต้องการเข้ามาสะท้อนปัญหาต่างๆ เหมือนอย่างพลังธรรมใหม่ เข้ามาปักหลักสู้เรื่องค่าโง่ต่างๆ สู้เรื่องทุจริตคอร์รัปชันต่างๆ ของประเทศ หากไม่มีพรรคเล็กมาสู้แบบนี้ คิดว่าพรรคใหญ่จะมาทำหรือ เคยมี ส.ส.พรรคใหญ่คนหนึ่งคิดว่าจะเข้ามาสู้ แต่ถูกหัวหน้าพรรคเรียกมาตบกระบาลบอกให้เงียบๆ อย่ามีปัญหา บางเรื่องอย่างเช่น การไม่ให้มีธุรกิจผูกขาดของกลุ่มทุนบางแห่ง ถามว่า ส.ส.พรรคใหญ่กล้าออกมาสู้เต็มที่หรือ เพราะสังคมธนาธิปไตย เงินพรรคการเมืองมาจากเงินทอนกับมาจากที่ไหน ใครรู้ ผมว่าคนไทยทุกคนรู้หมด มันมาจากใคร เอื้อกับนายทุนใหญ่ๆ หรือไม่ หากไม่มีพรรคเล็ก ไม่มีใครมาสู้ให้ประชาชน
นอกจากนี้ เสถียรภาพรัฐบาลที่สำคัญไม่ได้อยู่ที่พรรคขนาดเล็ก พรรคเล็ก 14-15 เสียง ถามว่าทำอะไรได้ แต่ที่มีปัญหาคือพรรคใหญ่ รัฐบาลจะคว่่ำหรือไม่คว่่ำอยู่ที่พรรคร่วมรัฐบาลขนาดใหญ่
"เรื่องกล้วย ถามว่าพรรคเล็กกับพรรคใหญ่ใครกินกล้วยจุกกว่ากัน ถามว่ากล้วยคืออะไร กล้วยมาจากไหน กล้วยก็มาจากการงาบงบประมาณแผ่นดิน ก็คือเงินทอน 3 เปอร์เซ็นต์ 7 เปอร์เซ็นต์ 10 เปอร์เซ็นต์ พรรคเล็กจะไปงาบจากที่ไหน เพราะพรรคเล็กไม่มีรัฐมนตรี ถามว่าใครกินกล้วยมากกว่า แต่ข่าวที่ออกบอกแต่ว่าพรรคเล็กกินกล้วย พรรคเล็กป่วน แต่ลองดูว่าพรรคใหญ่ป่วนแรงกว่าหรือไม่ การเกิดของเศรษฐกิจไทย เป็นไง รัฐบาลแทบคว่่ำหรือไม่ แต่การป่วนของพรรคเล็กมีแค่กลุ่ม 16 ทำอะไรได้สักแค่ไหน ผมไม่ได้อยู่กลุ่ม 16 แต่ผมต้องการชี้ให้เห็นความเป็นจริง ประชาชนจะได้เข้าใจว่าพรรคเล็กถูกใช้เป็นแพะรับบาป มาบอกว่าพรรคใหญ่ไม่ได้โกง พรรคใหญ่ไม่ได้มีกล้วยมาแจก มีแต่พรรคเล็กเป็นลิงกินกล้วย แต่ผมคิดว่าพรรคใหญ่ไม่ใช่ลิงกินกล้วย แต่เป็นฮิปโป เป็นช้างกินกล้วย แล้วไม่ใช่กินมื้อละหวี แต่มื้อละเครือ อยากให้ประชาชนดูจากความเป็นจริง"
-หากสุดท้ายกฎหมายลูกออกมาโดยใช้สูตร 100 หารปาร์ตี้ลิสต์ พรรคขนาดเล็กจะปรับตัวสู้อย่างไร จะมีการควบรวมหรือยุบไปรวมกับพรรคอื่นไหม?
ถ้าจบลงที่ 100 หารปาร์ตี้ลิสต์ ที่ต้องใช้ฐานคะแนนสามแสนกว่าคะแนนต่อ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หนึ่งคน ก็มองว่าพรรคขนาดเล็กที่ไม่ใช่แค่พรรคที่มี ส.ส.หนึ่งคน แต่พรรคที่ได้ระดับ 4-5 เสียงก็แทบไม่รอดเหมือนกัน บางพรรคอาจจะสู้ต่อ โดยหัวหน้าพรรคที่ตอนนี้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อก็อาจหันไปลงสมัคร ส.ส.เขต ก็เห็นมีการเตรียมตัวกันอยู่ นอกจากนี้ก็อาจย้ายไปอยู่พรรคใหญ่ ที่ไพบูลย์ นิติตะวัน ทำตัวอย่างให้ดูในการไปอยู่กับพลังประชารัฐ ตอนนี้ก็พบว่าพรรคใหญ่พอเห็นว่าแนวโน้มจะใช้ 100 หาร ก็มีการจีบพรรคเล็กให้ไปอยู่ด้วย หลายพรรคก็มาชวนผมเหมือนกัน รวมถึงก็อาจเกิดกรณีการควบรวมพรรคการเมือง ทั้งพรรคที่มี ส.ส.ในสภาและนอกสภา เพราะถ้าใช้ 100 หาร พรรคที่ตั้งใหม่อย่าง ไทยสร้างไทย-กล้า-ไทยภักดี เผลอๆ ส.ส.อาจจะพอกับพรรคเล็ก ได้มา 2-3 คน มันพลิกไปเลย เพราะคนที่จะไปลงสมัคร ส.ส.เขต หากไม่ใช่พรรคใหญ่คนก็ไม่กล้าไปอยู่ด้วย แต่ถ้าเป็นหาร 500 พรรคเหล่านี้ก็อาจมีคนเข้ามาร่วมเยอะขึ้น แต่ถ้าหาร 100 อาจมีการควบรวมพรรคต่างๆ เหล่านี้ พรรคที่อยู่นอกสภาตอนนี้ก็อาจต้องยุบตัวไปเลย เพราะสู้ไม่ไหวหรือควบรวมกัน หรืออาจสู้ต่อไป อย่างพลังธรรมใหม่ที่ยังไม่มีแนวคิดไปรวมกับพรรคการเมืองใด เราก็ต้องพยายามสร้างกระแสของพรรคให้สูงที่สุด แต่ถ้าเห็นว่ามันไปไม่ได้จริงๆ พลังธรรมก็อาจควบรวม แต่ถ้าจะควบรวมกับใครก็ต้องดูว่าต้องมีอุดมการณ์และความคิดที่คล้ายคลึงกัน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ร้อยใจไทย สืบสานราชธรรม .. ณ จังหวัดนครปฐม!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๗ โครงการร้อยใจธรรม สืบสานราชธรรม ทั้งแผ่นดิน ถวายเป็นพระราชกุศลฯ ที่ดำเนินการโดย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยและวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จ.ลำพูน
ลึกสุดใจ. ”พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ผบ.ตร.” ยึดกฎกติกา ไม่กลัวทุกอิทธิพล
ถึงตอนนี้ "พลตํารวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ หรือ บิ๊กต่าย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" ได้ทำหน้าที่ ผบ.ตร.อย่างเป็นทางการมาร่วมสามเดือนเศษ ส่วนการทำงานต่อจากนี้ ในฐานะ"บิ๊กสีกากี เบอร์หนึ่ง-รั้วปทุมวัน"จะเป็นอย่างไร?
2 สว. “ชาญวิศว์-พิสิษฐ์” ปักธงพิทักษ์รธน. ปกป้องสถาบันฯ พวกเราเป็นอิสระ ไม่มีรับใบสั่ง
กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูยเพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ต้องการทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น
ก้าวย่างออกจากปัญหา .. ของประเทศ!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา... คำกล่าวที่ว่า.. “เมื่อสังคมมนุษยชาติขาดศีลธรรม.. ย่อมพบภัยพิบัติ.. เสื่อมสูญสิ้นสลาย..” นับว่าเป็นสัจธรรมที่ควรน้อมนำมาพิจารณา.. เพื่อการตั้งอยู่ ดำรงอยู่ อย่างไม่ประมาท...
เหลียวหลังแลหน้า การเมืองไทย จาก 2567 สู่ 2568 ส่องจุดจบ ระบอบทักษิณภาค 2
รายการ"ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด"สัมภาษณ์ นักวิชาการ-นักการเมือง สองคน เพื่อมา"เหลียวหลังการเมืองไทยปี 2567 และแลไปข้างหน้า
วิปริตธรรม .. ในสังคม!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. เลียบบ้านแลเมือง มองดูเข้าไปในหมู่ชนของบ้านเรา.. ในยามที่นักการเมืองเป็นใหญ่ มีอำนาจวาสนาบริหารราชการแผ่นดิน จึงได้เห็นความไหลหลงวกวนของหมู่ชน ที่สาละวนอยู่กับการแสวงหา เพื่อให้ได้มาใน ลาภ สักการะ ยศ สรรเสริญ สุข.. ไม่เว้นแม้ในแวดวงนักบวชที่มุ่งแสวงหามากกว่าละวาง