ย้อนมองการเมืองจากบันทึกครั้งโน้น มุมมองจากเยอรมนี

หลายปีก่อนสมัยที่ยังโลดแล่นกับความคิดทางการเมือง ได้เดินทางไปเยือนเยอรมนีหารือกับผู้นำการเมืองของพรรคเอสพีดี ได้บันทึกมุมมองในเรื่องราวการเดินทางไว้หลายแง่มุม! วันนี้หยิบมาเปิดอ่านดู แม้หลายความคิดหลายเหตุการณ์เปลี่ยนไปมาก แต่ภาพรวมยังไม่เก่า-แม้กาลเวลาผ่านมานับสิบปี เลยหยิบมาอ่านอีกครั้ง...

หลังเสวนากับผู้แทนราษฎรของเยอรมนี เจ้าหน้าที่รัฐสภาได้นำเยี่ยมชมตึกรัฐสภาแห่งชาติ อาคารใหม่ที่ชื่อ “ไรซ์ทาคก์” สถาปัตยกรรมที่มีโดมโปร่งแสงใสเป็นหลังคาของตึก ที่ให้ความหมายถึงหลักธรรมาภิบาล เป็นสัญญะแบบเดียวกับที่ วิลลี บรานต์ด เฮาส์ สำนักงานใหญ่ของพรรคเอสพีดี ที่ดูแล้วมันมีพลัง ทำให้เห็น “ความพยายามในการเดินทางสู่การเมืองใหม่ของสหัสวรรษ”

การเมืองในอดีตของโลก โดยเฉพาะโลกตะวันตก เป็นการเมืองที่ก้าวเดินบนการสูญเสีย เต็มไปด้วยคราบเลือดและน้ำตา ขัดแย้งและฟาดฟันกันด้วยความรุนแรงและการรุกราน เมื่อสิ้นยุคการเมืองในอดีตแบบสงคราม โลกก็เข้าสู่การเมืองที่แข่งขันการค้า อิงกับธุรกิจผลประโยชน์และการชิงการนำ!

ฉันทามติวอชิงตันเป็นต้นแบบการเมืองที่มุ่งแข่งขันช่วงชิงประโยชน์ใส่ตัว ปัจจุบันอเมริกันเป็นมหาอำนาจแต่ลำพัง การแข่งขันในระบบโลกของอเมริกันจึงผสมปนเปกับการคุกคามทำลายล้างตามสภาวะอำนาจที่มี แหล่งทรัพยากรน้ำมันของโลกในตะวันออกกลางถูกทำให้กลายเป็นพื้นที่ภูมิศาสตร์การเมืองที่มีอันตรายแฝงอยู่ทุกวินาที

สภาวะการใช้อำนาจที่ทรงอิทธิพลของอเมริกาที่เคลื่อนไหวโลดแล่นอยู่นั้น ทำให้ยุโรปต้องเร่งรวมตัวกัน ภายใต้เป้าหมายสำคัญคือการจัดการดุลยภาพทางเศรษฐกิจของตัวเองและโลก มุ่งสร้างความมั่นคงปลอดภัยสำหรับยุโรปและประชาคมโลก ส่งผลให้ทิศทางการเมืองยุโรปยุคใหม่วันนี้เป็นการเมืองที่มุ่งจัดการปัญหาภายในคู่ไปกับการสร้างนวัตกรรมการบริหารจัดการ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม เพื่อขจัดปัญหาที่ท้าทายจากกระแสโลกาภิวัตน์

ย้อนมองสังคมการเมืองไทย ยังมีสภาพไม่ผิดอะไรกับโลกยุคปลายศตวรรษที่ 18 ที่น่าจะยังคงต้องหาวิธีจัดการใหม่แบบก้าวกระโดด ที่ไม่ใช่ก้าวกระโดดไปตามก้นมหาอำนาจ แต่ก้าวกระโดดแบบที่มุ่งสร้างความเป็นตัวของตัวเอง

ความจำเป็นในการพัฒนาสังคมการเมืองเราอยู่ที่การรักษาความเป็นตัวของตัวเองเอาไว้ และจัดวางตำแหน่งแห่งที่ในกระแสโลกาภิวัตน์ มุ่งเน้นสร้างความก้าวหน้า-ความมั่งคั่งพรั่งพร้อมให้ผู้คนในสังคมที่กำหนดขึ้นร่วมกัน ไม่ปล่อยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งใช้อำนาจ ทำให้คนเฉพาะกลุ่มได้ประโยชน์ แต่ทิ้งปัญหาทั้งมวลให้เป็นเรื่องที่สังคมต้องรับผิดชอบร่วมกันแก้ไขไปเอง การเมืองใหม่ต้องเปิดกว้างแบบมีส่วนร่วม การเมืองตัวแทนต้องไม่ทำให้แค่นักการเมืองในสภามีความหมายแต่ฝ่ายเดียว ต้องเปิดพื้นที่การเมืองสนับสนุนให้สังคมโดยรวมมีความหมายด้วย เพราะรัฐสภาและคนที่ชนะการเลือกตั้งไม่สามารถรับรู้หรือแก้ปัญหาของสังคมได้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง การโฆษณาประกาศตัวเองเกินจริงที่จะรับผิดชอบทุกสิ่ง เป็นแค่ปรากฏการความป่วยไข้ที่น่าเวทนา

การสร้างสันติสุขและความก้าวหน้าให้สังคมต้องไม่อยู่แค่ในสภา หรืออยู่ใต้อำนาจของผู้บริหารประเทศเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาเปิดกว้าง สร้างสำนึกให้รับผิดชอบร่วมกันกับประชาชนทุกคน รัฐ แบบ “เบ็ดเสร็จเด็ดขาด” ไม่ว่าอยู่ในรูปแบบใดก็เป็นรัฐที่ล้าหลังโป้ปดมดเท็จ มักผูกเงื่อนปมแสวงประโยชน์ไว้แยบยลเสมอ รัฐเผด็จการเป็นผลิตผลของความเขลา เป็นเงื่อนไขที่จะทำให้สังคมการเมืองตกต่ำ

การพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและในพื้นที่สาธารณะ จะช่วยเปิดพื้นที่ให้ผู้คน-สังคมเข้าร่วมตรวจสอบการบริหาร การพัฒนาประเทศ เป็นยุทธวิธีที่สร้างความโปร่งใส ดุลและคานอำนาจ ไม่ปล่อยให้ความรับผิดชอบผูกขาดอยู่กับสถาบันทางการเท่านั้น แนวทางนี้จะช่วยลดพิธีกรรมทางการเมืองแบบเก่าที่เต็มไปด้วยอุบายเล่ห์เหลี่ยมในการแสวงประโยชน์ลง

การเมืองใหม่ต้องจัดวางแบบแผนเข้าสู่ระบบการเมืองฐานความรู้ แทนวิธีการแบบอำนาจนิยม พาณิชยนิยม หรือการเมืองแบบขุนนางนิยม มีการจัดปรับข้อกำหนดความเคลื่อนไหวของการเมืองให้สร้างความก้าวหน้าใหม่ที่รับผิดชอบต่อสังคม สร้างกิจกรรมที่ต่อเนื่อง สอดคล้องกับวิถีชีวิตผู้คนในสังคมที่เปิดทางเลือกกว้างขึ้น

กติกาการเมืองใหม่ต้องกำหนดแม่บททิศทางชัดเจน มุ่งสนองประโยชน์สุขสังคมแบบโปร่งใส เชื่อมโยงการบริหารจัดการการเมืองแบบเปิดกว้าง-หลากหลายทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม สร้างการศึกษาที่ตอบโจทย์ความก้าวหน้าและผสานกับฐานคิดเรื่องประโยชน์สาธารณะ ความเสมอภาคเป็นธรรมทางสังคม

สภาพพรรคการเมืองไทยสร้างทางเลือกให้สังคมในแบบที่ตีบตัน คับแคบ บริหารจัดการด้วยรัฐราชการที่แข็งกระด้าง บ่มอยู่ในอำนาจ-ระบบเก่าๆ ไม่ช่วยให้สังคมปรับตัวก้าวหน้าเท่าทันโลก!

สังคมการเมืองในโลกของความจริงที่ผู้คนสัมผัสจับต้องอยู่ แตกต่างสิ้นเชิงกับทฤษฎีการเมืองในตำรา ความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เป็นอยู่สร้างแต่มุมมองที่ย้อนแย้ง! มุมหนึ่งเผยให้เห็นว่า วิชารัฐศาสตร์ปรับตัวไม่ทันกับความเคลื่อนไหวทางการเมือง จนดูเหมือนมันขาดลมหายใจ-ตายไปจากโลกที่เป็นจริง จนวันนี้ผู้คนไม่มีใครฟัง-ไม่เชื่อถือ? อีกมุมก็เห็นสภาพสังคมการเมืองบ้านเรานั้น..แปลงร่างได้รวดเร็ว เร็วขนาดที่เป็นเพราะถ้ามันไม่ป่วยไข้ มันก็สามานย์เอามากๆ? จนทำให้ผู้คนคิดกันว่า หรือระบบการเมืองที่เป็นอยู่ไม่เหมาะสมสอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคม? หรือ.....ฯลฯ

การเมืองของบ้านเมืองเราวันนี้ไม่ก้าวหน้า ยังวนกับปัญหาเดิมๆ เก่าๆ ย่ำอยู่กับที่ จะใหม่ก็แค่ตัวละครใหม่กับชื่อพรรคเท่านั้น พฤติกรรมไม่ใหม่ มีกาลเวลากับกติกาที่เรียกกันว่า “รัฐธรรมนูญ” เท่านั้นที่ถูกทำให้ใหม่อยู่บ่อยๆ แต่สำนึก จิตวิญญาณ วิถีปฏิบัติยังเดิมๆ เกือบทุกประการ!

..เป็นบันทึกมุมมองที่ทิ้งไว้นานแล้ว ตั้งแต่ยังไม่เข้าสู่กาลศตวรรษที่ 21 การเมืองบ้านเราก็ยังวนอยู่ในความขัดแย้ง ไม่ไปไหน ไม่มีอะไรใหม่จริงๆ!!!.

โลกใบใหม่

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จุลพงศ์-พรรคประชาชน เอ็กซ์เรย์ แผลอักเสบ นายกฯ ผิดจริยธรรม-นิติกรรมอำพราง

ถึงแม้ว่า"แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี"จะผ่านศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านไปได้ด้วยคะแนนเสียงโหวตไว้วางใจท่วมท้น 319 เสียง แต่ประเด็นข้อกล่าวของฝ่ายค้านที่ซักฟอกนายกฯกลางสภาฯ

ระเบิดศึกซักฟอก ดีลแลกประเทศ

การเมืองตลอดสัปดาห์หน้าร้อนระอุแน่นอน กับ ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 24-25 มีนาคม และลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจ ในวันที่ 26 มีนาคม

..สืบสานราชธรรม .. ณ เมืองลับแล จ.อุตรดิตถ์!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๘ ที่ผ่านมา ได้เดินทางไปร่วมขับเคลื่อน โครงการร้อยใจไทย สืบสานราชธรรม ทั้งแผ่นดิน

หมอพรทิพย์ -สืบจากศพ ข้อสงสัย-ปมกังขา สองคดีดัง อดีตผกก.โจ้-แตงโม

ปมการเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรืออดีตผู้กำกับโจ้ ผู้ต้องหาใช้ถุงดำคลุมหัวผู้ต้องหาคดียาเสพติดเสียชีวิตในโรงพัก สภ.เมืองนครสวรรค์ ซึ่งอดีตผกก.โจ้ได้ใช้ผ้าขนหนูผูกคอเสียชีวิตในห้องขัง