เมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง FACEBOOK ประกาศว่าเราได้เปลี่ยนเข้าสู่มิติใหม่ในโลกดิจิทัลแล้วจึงต้อง ขอเปลี่ยนชื่อตัวเองจาก “FACEBOOK” เป็น “META” ซึ่งหมายความอย่างสั้นๆ ได้ว่า “เหนือกว่า” นั้นพบว่า สิ่งแรกๆ ที่ เกิดขึ้นในประเทศไทยของเราคือการเสนอคำว่า “จักรวาลนฤมิต” ให้ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า “METAVERSE” ที่มาจากคำว่า “META” และ “UNIVERSE” มารวมเข้าด้วยกันว่า ช่องทางการติดต่อสื่อสารรูปแบบใหม่นี้จะอยู่เหนือจักรวาล
ผู้เขียนได้มีโอกาสไปบรรยาย หัวข้อ “LAWS IN METAVERSE” ให้กับหลักสูตร “SUSTAINNOVATION LEADERSHIP PROGRAM” เมื่อไม่นานมานี้ โดยหลักสูตรนี้จะเน้นการเสริมสร้างผู้นำและผู้ประกอบการทางสังคมให้มาช่วยคิดช่วยสร้างแนวทางการดำเนินธุรกิจแบบสมดุลภายใต้หลักการของความยั่งยืนทั้ง 17 ข้อที่รวบรวมจัดทำโดยสหประชาชาติ คือ Sustainable Development Goals หรือ “SDGs” ซึ่งเป็นแนวทางที่ทุกคนทั้งภาครัฐและเอกชนต้องมาร่วมด้วยช่วยกันในการสร้างเสริมแนวทางความยั่งยืนนี้และส่งต่อให้กับลูกหลานต่อไป
สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นจากการบรรยายและการเสวนาในครั้งนี้คือการรวมตัวของกลุ่มคนเล็กๆที่มาจากหลายหลากอาชีพไม่ว่าจะเป็น นักธุรกิจ นักขุด Bitcoin นักกฎหมาย นักบัญชี ผู้ประกอบการทางสังคมรวมถึงพระภิกษุและแม่ชีที่ท่านๆเหล่านั้นมาอยู่พร้อมกันและได้รับ “โอกาส” (Opportunity) ในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้อย่างเท่าเทียมกันและทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทุกวินาที
จักรวาลนฤมิต (Metaverse) คือ ช่องทาง หรือ Platform(s) การติดต่อสื่อสารรูปแบบใหม่ที่เป็นโลกเสมือนจริงไม่มีพรมแดนอีกต่อไป (Borderless) โดยเป็นการติดต่อที่สามารถสร้างโลกที่เป็นจริงและเสมือนจริงให้อยู่รวมกันได้ (Augmented Reality) หรือโลกเสมือนจริงแบบ 360 องศา (Virtual Reality) และยังสามารถสร้างอวตาร (Avatar) ให้เป็นตัวแทนเข้าไปสื่อสารติดต่อในสถานที่นั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ใดในโลกโดยผู้จะเข้าถึง Metaverse ได้นั้น (Accessibility) ย่อมจะต้องมีโทรศัพท์มือถือ หรือเครื่องคอมพิวเตอร์และแว่น VR (Virtual Reality) ที่สามารถรับสัญญาณอินเตอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็วเช่น 5G หรือมากกว่าและมีรายได้หรือศักยภาพด้านการเงินอยู่พอสมควร
คำถามที่อยู่ในใจที่อยากถามไปยังรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องด้านนโยบายสาธารณะคือ หาก “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เราจะสร้างและดำเนินนโยบายเพื่อเตรียมความพร้อมของประชาชนในโลกเสมือนจริงนี้ได้อย่างไรเพราะประชาชนคือประชากรรวมกว่า 66 ล้านคนที่มาอยู่กันเป็น “ประเทศไทย”ของเราทุกคน
กลุ่มผู้ได้รับประโยชน์จากจักวาลนฤมิตคือใครบ้าง? จะใช่กลุ่มนายทุนหรือผู้ที่มีสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ในมือหรือผู้ถือที่ดินอยู่ในจักวาลนฤมิตนี้ที่ปัจจุบันมีมูลค่าซื้อขายกันนับร้อยล้านพันล้านเหรียญสหรัฐฯ แม้กระทั่งสถานทูต ธนาคารก็มีการไปจัดตั้งอยู่ในโลกเสมือนจริงแห่งนี้หรือไม่ เราลองมาหาข้อมูล หาคำตอบเชื่อมโยงยืนยันกันได้อย่างน้อยดังต่อไปนี้คือ
(1) มีงานวิจัยแสดงใน (1) www.datareportal.com ว่าคนไทยเพียงประมาณ 54 ล้านหรือราว 77% ที่มี “โอกาส” เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ แต่ถ้าพิจารณาข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติแล้วพบง่ามีครัวเรือนไทยน้อยกว่า 70% ที่สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ และจากการสืบค้นต่อไปอีกยิ่งพบว่ามีครัวเรือนไทยน้อยกว่า 1 ใน 4 หรือ 25% ของครัวเรือนทั้งหมดในประเทศที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะหรือแบบ Laptop เป็นของตนเองและตัวเลขสถิตินี้ยังเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในระนาบเดียวกันถึงกว่า 30% และ
(2) จากรายงานของ EIU ( Economist Intelligence Unit) พบการวิเคราะห์ว่าสาเหตุของความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Digital Divide) ที่สำคัญ 2 ประการคือ (1) ความสามารถในการซื้อบริการ (Affordability) และ (2) ทักษะในการใช้งานเทคโนโลยี (Technological Skills) ยิ่งในปัจจุบัน ประเทศก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ที่คนสูงวัยจำนวนมากปฏิเสธการเรียนรู้ในเทคโนโลยีอันมาจากความกลัว ไม่กล้าที่จะรับรู้สิ่งใหม่ๆ ยิ่งทำให้การพัฒนาประเทศมีอุปสรรคจากปัจจัยภายในมากขึ้น แม้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพยายามผลักดันนโยบายในการแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล เช่น โครงการเน็ตประชารัฐ ที่ใช้งบประมาณมากเป็นหมื่นล้านก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะการติดตั้งจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองและกฎหมาย เช่นสถานที่ติดตั้งส่วนใหญ่จะอยู่ที่สถานที่ที่นักการเมืองท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้กำหนดและที่สำคัญคือ “the Last Mile” ที่ไม่สามารถให้ประชาชนทุกคนในประเทศได้รับบริการอินเตอร์เตฟรีได้เพราะติดขัดเรื่องกฎหมายและการให้สัมปทานเอกชน ยิ่งถ้าผู้รับสัมปทานมาควบรวมกิจการอย่างที่เป็นข่าวนั้นยิ่งทำให้เกิดการผูกขาดของธุรกิจโทรคมนาคมมากยิ่งขึ้นซึ่งคงต้องคงต้องติดตามดูว่าประชาชน ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์จากการควบรวมนี้อย่างไรบ้าง แต่ที่เป็นความจริงแบบไม่มีใครปฏิเสธได้คือ ผู้ที่มีทรัพยากรเหนือกว่า หรือมีเงินทองมากก็จะได้เปรียบและได้ประโยชน์จากโลกดิจิทัลและจักรวาลนฤมิตนี้อย่างแน่นอน
ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล และการก่อเกิดของจักรวาลนฤมิตเป็นตัวเร่งความเหลื่อมล้ำทางสังคมหรือไม่นั้น เห็นเพิ่มเติมก่อนยืนยันว่า “ใช่” ด้วยว่า หากมีการวัดความเหลื่อมล้ำในด้านทรัพย์สินหรือความมั่งคั่ง (Wealth Indication) แล้ว ตามที่ธนาคาร Credit Suisse ได้ใช้เกณฑ์การวัดเบื้องต้นโดยวัดว่าคนที่รวยที่สุด 1% จะถือครองทรัพย์สินเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ของทรัพย์สินทั้งหมดของประเทศ และคำตอบที่ได้คือ 66.9% หมายความว่า กลุ่มคนที่รวยที่สุดจำนวน 1% ได้ถือครองทรัพย์สินเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ และถ้ากลุ่มคน 1% นี้เข้าไปอยู่ในจักรวาลนฤมิตที่เขาต่างมีทรัพยากรที่เหลือล้นในการเข้าถึงเทคโนโลยีของการสร้างโลกเสมือนจริงนี้ การก่อเกิดของจักรวาลนฤมิตจึงย่อมเป็นตัวเร่งความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างที่ไม่มีใครปฏิเสธได้
เทวัญ อุทัยวัฒน์
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทศวรรษนานาชาติแห่งวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ความยั่งยืนเป็นเรื่องที่รณรงค์กันมายาวนานต่อเนื่อง...และจะยังคงต้องรณรงค์กันต่อไป และ...วิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเรื่องที่จะต้องรณรงค์คู่ขนานกันกับการพัฒนา
ออสเตรเลียมีแผนจะแบนเครือข่ายออนไลน์สำหรับเด็กและเยาวชน
ออสเตรเลียต้องการสั่งห้ามการใช้เครือข่ายออนไลน์ อย่างเช่น Facebook และ TikTok สำหรับเด็กและเยาวชน นายกรัฐมนต
ลงทุนในทองคำดีไหม
ข่าวที่เราได้เห็นอยู่บ่อยๆ ในปีนี้ ว่าราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีก น่าจะทำให้เรารู้สึกว่าเราควรจะลงทุนซื้อทองคำตอนนี้ไว้มากๆ เผื่อเอาไว้ขายทำกำไรได้งามๆ ในอนาคต