การครอบงำทางการเมือง (Political Domination)

มีปรากฏการณ์หนึ่งในสังคมไทยในขณะนี้ที่บุคคลผู้หนึ่งที่มิได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง แต่กลับใช้การสื่อสารติดต่อกับผู้นำของพรรคการเมืองให้เห็นคล้อยตามความคิดและความเชื่อของตัวเองได้พฤติกรรมแบบนี้จะถือเป็นการครอบงำทางการเมืองหรือไม่ ?

การครอบงำทางการเมืองหมายถึงอะไร ? และใช้กลไกอะไรในการ ครอบงำ ?

มีนักปรัชญา นักคิดและนักทฤษฎีคนสำคัญของโลกอย่างน้อยที่สุดสี่ท่านที่ได้ศึกษาเรื่องดังกล่าวข้างต้นและสมควรกล่าวถึงคือ มาร์กซ, อัลทูแซร์ กรัมชี่ และฟูโกต์

มาร์กซ (Karl Marx) เป็นนักทฤษฎีชาวเยอรมัน และเป็นนักคิดคนแรกที่ตั้งคำถามว่าทำไมชนชั้นปกครองจำนวนหยิบมือเดียวจึงสามารถปกครองประชาชนจำนวนมากให้อยู่ในความสงบได้ ?

มาร์กซ เจาะจงที่จะอธิบายปรากฏการของสังคม ”ศักดินาฝรั่ง” (Feudalism) ในยุโรปโดยเฉพาะ เขาอธิบายว่าผู้ปกครองมิได้ใช้แต่กลไกความรุนแรงของรัฐ (Coercive State Apparatus) คือกำลังทหารและตำรวจเท่านั้นในการปกครองและควบคุมความ (ไม่) สงบในหมู่ประชาชน แต่ที่สำคัญก็คือผู้ปกครองยังใช้กลไกด้านอุดมการณ์ (Ideological State Apparatuses) ในการทำให้ประชาชนอยู่ในความสงบด้วย มุมมองของมาร์กซ ช่วยเปิดเผยความเป็นจริงของทุกระบบการปกครอง ว่าการใช้แต่กลไกความรุนแรงของรัฐนั้นไม่สามารถควบคุมประชาชนให้อยู่ในความสงบได้ตลอดไป สิ่งที่จะช่วยทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ อยู่ในความสงบได้ยาวนานมากกว่าคือการควบคุมประชาชนด้วยการใช้อุดมการแห่งรัฐ

อันโตนิโอ กรัมชี่ (Antonio Gramsci) นักทฤษฎีคนสำคัญชาวอิตาเลียนอธิบายเรื่องการครอบงำ ทางด้านอุดมการณ์ทางการเมือง จากสิ่งที่เขาเรียกว่า “Hegemony” เขาอธิบายว่าการครอบงำ ทางการเมืองของชนชั้นปกครองที่มีต่อประชาชนทั่วไปนั้นลงลึกไปถึงการครอบงำทางด้านวัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณี จิตใจและรายละเอียดต่างๆ ในส่วนลึกของชีวิตประจำวัน ของประชาชนด้วย อาทิเช่น บทเพลง ดนตรี และบทละคร เป็นต้น มุมมองของกรัมชี่ ช่วยให้เราเข้าใจได้ว่า ทำไมประชาชนที่ถูกกดขี่และถูกครอบงำ จากอุดมการณ์ของผู้ปกครองจึงไม่รู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกกดขี่และถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่

มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) นักทฤษฎีคนสำคัญชาวฝรั่งเศส แห่งสำนักหลังสมัยใหม่นิยม (Post-Modernism) มองเรื่องการควบคุมทางด้านอุดมการณ์ของชนชั้นปกครองต่อปัจเจกบุคคลทั่วไป จากทฤษฎีอำนาจ (Power) ของเขา เขาอธิบายว่าอำนาจของชนชั้นปกครองที่มีต่อผู้ใต้ปกครองแต่ละคนนั้น เป็นการควบคุมแบบเบ็ดเสร็จทั้งทางร่างกาย การควบคุมทางความคิด การควบคุมการเคลื่อนไหวและการควบคุมทางด้านกายภาพ (ซึ่งเขาหมายถึงการจับกุมและคุมขังผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาล) ฟูโกต์มองว่าในรัฐสมัยใหม่ ปัจเจกบุคคลล้วนแล้วตกอยู่ภายใต้การควบคุมของอำนาจรัฐบาลในทุกๆ ด้าน ประชาชนแต่ละคนเปรียบเสมือนนักโทษที่อยู่ในเรือนจำ ที่จะถูกสอดส่องจากผู้คุมอยู่ตลอดเวลา นับตั้งแต่เวลาตื่นนอนจนกระทั่งถึงเวลาเข้านอน และครอบคลุมไปถึงในเวลานอนหลับด้วย

สำหรับผมแล้ว อำนาจในสังคมไทย มีความแตกต่างจากอำนาจในสังคมตะวันตก ที่มีแต่อำนาจที่เป็นทางการ (Authority) แต่สำหรับสังคมไทยแล้วอำนาจมีทั้งที่เป็น ”อำนาจที่เป็นทางการ” หรืออำนาจที่ถูกต้อง ตามกฏหมายที่รองรับการกระทำหนึ่งๆ อำนาจนี้อยู่ในมือของเจ้าหน้าที่ภาครัฐเท่านั้น อำนาจชนิดนี้มีความชอบธรรมตามกฏหมาย

แต่ในสังคมไทยยังมีอำนาจอีกชนิดหนึ่งที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายคือ ”อำนาจที่ไม่เป็นทางการ” หรือ “อำนาจนอกระบบ” หรือการใช้ “อิทธิพล” หรือ “อำนาจป่าเถื่อน” ซึ่งเป็นการใช้อำนาจโดยที่ไม่มีตัวบทกฎหมายรองรับแต่อย่างใด

อำนาจประเภทนี้สามารถถูกใช้จากบุคคลที่อยู่ในระบบการเมืองและระบบราชการ คนกลุ่มนี้สามารถใช้อำนาจชนิดนี้ได้ก็เป็นเพราะเขาเป็นผู้ที่มีอำนาจครอบครองและควบคุมอยู่เหนือระบบการเมืองและระบบราชการ อำนาจที่เป็นทางการนี้ หากถูกนำไปใช้อย่างบิดเบือน (Abuse) ในทางที่ผิด เช่น การใช้อำนาจที่มีอยู่ตามกฏหมายไปแสวงหาผลประโยชน์เข้าตัวเองและพรรคพวก พฤติกรรมหรือการกระทำแบบนี้ของเจ้าหน้าที่ภาครัฐจะถูกเรียกว่าการคอรัปชั่นรูปแบบหนึ่ง ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว พฤติกรรมที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นการคอรัปชั่นทางด้านเศรษฐกิจ หรือการคอรัปชั่นทางการเมือง (Economic & Political Corruption) ก็ได้

อำนาจชนิดที่ไม่เป็นทางการนี้ ยังอาจถูกใช้จากบุคคลนอกระบบการเมืองและนอกระบบราชการก็ได้ บุคคลที่สามารถใช้อำนาจที่กฎหมายไม่รองรับนี้มักเป็นอดีตนักการเมืองที่เคยมีตำแหน่งหน้าที่และบทบาทสำคัญ ทางการเมืองมาก่อน หรือเป็นอดีตข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ที่เคยมีตำแหน่งสูง และนักธุรกิจที่มีทุนทรัพย์มาก และหรือนักธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด เป็นต้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า โดยทั่วไปแล้ว นักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐที่กำลังมีอำนาจมักนิยมใช้อำนาจที่เป็นทางการควบคู่ไปกับการใช้อำนาจที่ไม่เป็นทางการ เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของพวกเขา

จากแนวคิดและทฤษฎีต่างๆ เรื่องการครอบงำทางการเมืองช่วยให้เราสามารถเข้าใจถึงปรากฎการณ์ทางการเมืองไทยในขณะนี้ว่า ผู้ที่มิได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองหนึ่งแต่กลับสามารถครอบงำทางการเมืองแก่พรรคการเมืองนั้นได้ เป็น เพราะมีปฎิบัติการด้านการสื่อสาร (Communication - ท่านที่สนใจการทำงานของการสื่อสารกับการแย่งชิงพื้นที่สาธารณะ และพื้นที่ทางการเมืองควรอ่านงานของเยอร์เกน ฮาเบอร์มาส - Jurgen Harbermas - ผู้เขียนไม่ได้กล่าวถึงงานนี้เพราะอยู่นอกประเด็นที่เขียน) ทั้งทางตรงและทางอ้อม ระหว่าง “ตัวการ” (Principal) กับ “ตัวแทน” (Agent)

การครอบงำทางความคิดและการครอบงำอุดมการณ์ทางการเมือง โดยบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้น สามารถกระทำได้ด้วยการเสนอแนะนโยบายทางการเมือง คำขวัญทางการเมือง การเสนอแนะตัวบุคคลที่สมควรเป็นนายกรัฐมนตรี และการเสนอแนะว่าคุณสมบัติของบุคคลที่สมควรเป็นนายกรัฐมนตรี ตลอดจนการให้คำสัญญาต่างๆ เป็นต้น

การครอบงำด้วยการชักจูงหรือจูงใจให้เห็นคล้อยตามความต้องการของตนนั้น เป็นการครอบงำรูปแบบหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นการครอบงำทางด้านอุดมการณ์ แต่เป็นการครอบงำที่ใช้ Soft power “ตัวการ” หรือ “ตัวกระทำการ” สามารถกระทำการได้เนื่องจากเป็นผู้ทรงอิทธิพลทั้งทางการเมืองและมีทุนทรัพย์มาก

เช่นเดียวกันกับที่นักการเมืองระดับสูงที่ใช้อำนาจทางการเมืองเข้าไปแทรกแซงพรรคการเมือง โดยต้องการเปลี่ยนแปลงบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในพรรคที่เห็นแตกต่างจากตนทางการเมือง ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามความปรารถนาของตน จากพฤติกรรมดังกล่าวข้างต้น ที่เขาสามารถกระทำการ เช่นว่านี้ได้ ก็เป็นเพราะเขามีอำนาจทางการเมืองที่เป็นทางการอยู่ ซึ่งการใช้อำนาจทางการเมืองแบบนี้เรียกได้ว่าเป็นการคอรัปชั่นทางการเมือง (Political Corruption) การแทรกแซงทางการเมืองดังกล่าวที่ไม่มีกฎหมายรองรับ เป็นการใช้อำนาจที่ไม่เป็นทางการไปครอบงำทางการเมืองหรือมีอำนาจเหนือพรรคการเมือง ลักษณะการครอบงำทางการเมืองแบบนี้เรียกว่าเป็นการครอบงำที่ใช้ผ่านกลไกของรัฐที่มีความรุนแรง (Coercive State Apparatuses)

แง่มุมที่ผู้เขียนนำเสนอขึ้นเป็นเพียงความรู้ชุดหนึ่ง ซึ่งยังมีความรู้ชุดต่างๆ อีกเป็นจำนวนมากในสังคมขณะนี้ มุมมองแบบนี้เกิดจากการเลือกปรัชญาและทฤษฎีของสำนักคิดบางสำนัก หากใช้ปรัชญาและทฤษฎีที่แตกต่างสำนักความคิดกันก็จะมองเห็น “ ความจริง” ที่แตกต่างกัน และกลายเป็นชุดความรู้ที่แตกต่างกันได้.

สังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกวุฒิสภา

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ปิยบุตร' ดักคอพรรคจ้องดูด สส.งูเห่า เอาไปก็ไม่เกิดประโยชน์ต่อเสถียรภาพรัฐบาล

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ สัดส่วนพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมนัดแรก

'อนาคตไกล' คลี่ปม 'ลุงชาญ' กรณีการสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่

“อนาคตไกล” คลายปม “ชาญ พวงเพ็ชร”การสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นดุลพินิจของศาล คำชี้ขาดคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ผูกพันองค์กรอื่น

'บิ๊กป้อม' เปิดบ้านป่ารอยต่อ คุย สส.พปชร. ย้ำทำหน้าที่ กมธ.งบ 68 อย่างรอบคอบ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อมด้วยแกนนำคนสำคัญ อาทิ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรค, นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค

'นิกร' ชี้เดินหน้าดีกว่าล้มกระดาน สว.ชุดใหม่ แนะรอ ส.ส.ร. แก้ไขกติกาให้ดีขึ้น

นายนิกร จำนง ประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่าย อาทิ บุคคลที่มีชื่อเสียงทางด้านการเมือง และผู้สมัครที่ไม่ผ่านการคัดเลือกสว.มีความพยายายามดำเนินการ ให้มีการระงับยับยั้ง

'อนาคตไกล' ชี้ตัวแปรทำ 'ชาญ' ชนะเลือกตั้งนายกอบจ.ปทุมธานี

“อนาคตไกล” ชี้ตัวแปร ทำให้ชาญ ชนะการเลือกตั้ง นายกอบจ.ปทุมธานี แม้ ปปช.ชี้มูลและศาลประทับรับฟ้อง ก็ไม่ขาดคุณสมบัติสมัครนายกอบจ.