ทำไมจึงต้องปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของนโยบายอุดหนุนชาวนา

การประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565 มีวาระสำคัญ คือ ความคืบหน้าผลการดำเนินโครงการประกันรายได้ชาวนาและมาตรการคู่ขนานปี 2504/65 กับ ความซ้ำซ้อนของมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร 2 โครงการ (ได้แก่ โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพของผลผลิตข้าวเปลือก และเงินช่วยเหลือเยียวยากรณีชาวนาประสบภัยพิบัติ)

นอกจากปัญหาความซ้ำซ้อนของมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่กำลังสร้างภาระทางการคลังแล้ว รายงานวิจัยของทีดีอาร์ไอ (ที่ได้รับการสนับสนุนจากแผนงานคนไทย 4.0 สภาวิจัยและโครงการ Smart Farm ที่ได้รับการสนับสนุจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร) มีข้อเสนอแนะให้มีการปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยมีวัตถุประสงค์หลักของการสร้างแรงจูงใจของเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถเพิ่มผลิตภาพการผลิตและลดความซ้ำซ้อนของมาตรการช่วยเหลือ

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรเกิดปัญหาความซ้ำซ้อนอย่างไร รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร 3 มาตรการหลัก ได้แก่ (1) โครงการประกันรายได้ของพรรคประชาธิปัตย์ (2) มาตรการคู่ขนาน ได้แก่ โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว (หรือโครงการช่วยเหลือต้นทุนการผลิต) โครงการนี้เป็นของพรรคพลังประชารัฐ ริเริ่มครั้งแรกในสมัยรัฐยุค คสช. ปี 2557 สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี (ดำเนินการโดยธกส.มานานกว่าสองทศวรรษ) สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มสำหรับสถาบันเกษตรกร และการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าว (เป็นสองโครงการดั้งเดิมของกระทรวงพาณิชย์) (3) มาตรการชดเชยความเสียหายจากภัยพิบัติประกอบด้วย เงินเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน และในระยะหลัง ธกส. และกระทรวงการคลังริเริ่ม โครงการประกันรายได้ข้าวนาปี

การซ้ำซ้อนของการช่วยเหลือเกิดขึ้นกับ 3 โครงการ ได้แก่ โครงการประกันรายได้ โครงการ โครงการช่วยเหลือต้นทุนการผลิต โครงการชดเชยความเสียหายจากภัยพิบัติ (ชดเชยไร่ละ 1,340 บาท แต่ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ สำหรับข้าว และไร่ละ 1,980 บาทสำหรับพืชไร่และผัก) ส่วนโครงการประกันภัยข้าวนาปีเป็นความพยายามในการสร้างระบบประกันภัยข้าวเพื่อให้เกษตรกรมีแรงจูงใจที่จะซื้อประกันภัยเพิ่มนอกเหนือจากเงินชดเชยความเสียหายจากภัยพิบัติ

สาเหตุที่เกิดความซ้ำซ้อน โดยเฉพาะ 2 โครงการแรก คือ โครงการประกันภัยรายได้ คำนวณ “ราคาประกัน” จากต้นทุนการผลิตเฉลี่ย “บวก” กำไร “(ประมาณ 15%-20%) เงินประกันรายได้จึง “ซ้ำซ้อน” กับ โครงการช่วยเหลือต้นทุนการผลิตแบบเต็มๆ ส่วนการชดเชยความเสียหายจากภัยพิบัติที่คำนวณจากต้นทุนการผลิตก็ซ้ำซ้อนเช่นกัน แต่วัตถุประสงค์ต่างกัน คือเป็นการชดเชยความเสียหายโดยสิ้นเชิงให้เกษตรกรที่ประสบภัยธรรมชาติ

ถ้าหากรัฐยกเลิก “โครงการช่วยเหลือต้นทุนการผลิต” ปัญหาความซ้ำซ้อน 3 ต่อก็จะบรรเทาลง และคนส่วนใหญ่ยังคงรับได้กับการชดเชยกรณีเกิดภัยพิบัติรุนแรงจนเกษตรกรสูญเสียผลผลิตทั้งหมด

 เงินช่วยเหลือการเกษตรแบบซ้ำซ้อนนี้รวมกันเป็นจำนวนเงินมหาศาล ถ้าคิดเฉพาะเงินอุดหนุนที่ตกถึงมือเกษตรกรโดยตรง 3 โครงการ คือ ประกันรายได้ เงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิต และสินเชื่อชะลอการขายข้าวปลือก จะเป็นเงิน 142,537 ล้านบาทในปี 2563/64 และเพิ่มเป็น 161,956 ล้านบาท ในปี 2564/65 เงินอุดหนุนนี้สูงกว่า งบประมาณกระทรวงเกษตรทั้งกระทรวง (111,832 ล้านบาทในปี 2564/65) นี่ยังไม่นับเงินอุดหนุนที่ใช้งบประมาณประจำปีในโครงการตามยุทธศาสตร์ข้าว เช่น โครงการนาแปลงใหญ่ (7,267 ล้านบาทในปี 2564) โครงการข้าวอินทรีย์ (111,832 ล้านบาทในปี 2560-64) และ เงินชดเชยภัยแล้ง (1,900 ล้านบาทปี 2562/63) รวมทั้งการที่เกษตรกรในเขตชลประทานใช้น้ำฟรี ไม่เสียสตางค์ (ยกเว้นค่าสูบน้ำในบางกรณี) ทั้งๆที่รัฐมีต้นทุนในการจัดหาน้ำในโครงการชลประทานขนาดใหญ่และขนาดกลางเฉลี่ยลูกบาศก์เมตรละ 1.44 บาท ชาวนาไทยจึงใช้น้ำสิ้นเปลืองมากที่สุด แต่ก่อให้เกิดมูล่าค่าเพิ่มจากการผลิตต่ำสุด เมื่อเทียบกับพืชผลอื่นๆ และการใช้น้ำนอกสาขาการเกษตร[1]

การใช้เงินอุดหนุนจำนวนมากมหาศาลนี้เกิดผลอย่างไร ผลดีคือเกษตรกรกว่า 4.67 ล้านครัวเรือนได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มขึ้นไร่ละหลายพันบาท เกษตรกรจึงมีแรงจูงใจเพิ่มพื้นที่ทำนา แต่ข้อเสียที่สำคัญ คือการแตกครัวเรือนจดทะเบียนเกษตรกร (ที่เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว)  เพราะมาตรการช่วยเหลือของรัฐ “จำกัดจำนวนไร่สูงสุดที่เกษตรกรแต่ละครัวเรือนจะขอรับเงินช่วยเหลือ” เช่น โครงการประกันรายได้จำกัดการชดเชย (เป็นต้น) ไม่เกินครัวเรือนละ 40 ไร่ (ยกเว้นช้าวเจ้าไม่เกิน 50 ไร่) โครงการช่วยเหลือต้นทุนการปลูกข้าวไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน ถึงแม้ในแง่หลักการ หน่วยงานรัฐจะกำหนดหลักเกณฑ์การจดทะเบียนเพื่อป้องกันปัญหาการแตกครัวเรือน แต่ข้อเท็จจริง คือ จำนวนชาวนาที่จดทะเบียนเข้าโครงการเพิ่มขึ้นตลอดเวลา โดยเพิ่มจาก 4.485 ล้านครัวเรือนในปี 2562/63 เป็น 4.686 ล้านครัวเรือนในปี 2564/65 นายกรัฐมนตรีจึงต้องนำหลักฐานที่บางครอบครัวมีคนนามสกุลเดียวกันแยกจดทะเบียนรวมกัน 10 รายมาเปิดเผยในที่ประชุม นบข. และสั่งให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างจริงจัง

ผลกระทบที่สำคัญ คือ เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีแรงจูงใจ หรือแรงกดดันที่จะต้องปรับตัวรับมือกับภาวะราคาข้าวตกต่ำหรือต้นทุนสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีในการลดต้นทุน การประหยัดน้ำ การใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้อง หรือการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพราะไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม การปลูกข้าวก็มีแต่กำไรจากเงินช่วยเหลือ ไม่ว่าราคาจะตก ฝนจะแล้ง น้ำจะท่วม หรือแมลงจะระบาด ก็ไม่ต้องทำอะไร ผลที่ตามมาในแง่ส่วนรวม คือ ต้นทุนการปลูกข้าวก็สูงผิดปรกติ ขณะที่ผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าประเทศส่วนใหญ่ในเอเซีย รวมทั้งประเทศที่ด้อยพัฒนาด้านการเกษตรอย่างเขมร เนปาล หรือศรีลังกา มิหนำซ้ำในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตต่อไร่ของไทยก็คงที่ ขณะที่ผลผลิตต่อไร่ในประเทศอื่นๆสูงขึ้น

จึงไม่น่าประหลาดใจว่าไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ตกลำดับจากการเป็นส่งออกรายใหญ่ที่สุดที่ในโลก มาอยู่อันดับ 2-3 ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา

ผลกระทบที่น่ากังวลมากในระดับมหภาค คือ งบประมาณอุดหนุนจำนวนมหาศาลนี้กำลังเบียดงบประมาณแผ่นดินในด้านอื่น (เช่น การลงทุนด้านการศึกษา สาธารณสุข และโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นบทบาทหน้าที่หลักของรัฐบาล) แต่ที่สำคัญ คือ การก่อภาระหนี้สาธารณะ งบประมาณส่วนใหญ่ ในโครงการประกันรายได้ โครงการช่วยเหลือต้นทุน สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก และการอุดหนุนโครงการประกันภัยข้าวเปลือก อาศัยเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) แต่กลับไม่นับเป็นหนี้สาธารณะทั้งหมด ทั้งๆที่รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยทุกปี ภาระการคลังนี้จะกลายเป็นระเบิดเวลาที่อาจก่อให้เกิดวิกฤตการคลังครั้งใหญ่ในอนาคต

คำถามก็คือ ทำไมนักการเมือง/พรรคการเมือง ซึ่งรู้ปัญหานี้ดีจึงไม่แก้ปัญหาความซ้ำซ้อนของการช่วยเหลือดังกล่าว คำแก้ตัวของฝ่ายการเมือง คือ พรรคต่างๆได้หาเสียงสัญญากับประชาชนแล้ว จึงต้องทำตามสัญญา นั่นแปลว่าหากตอนหาเสียง พรรคการเมืองสี่พรรคที่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ต่างก็หาเสียงด้วยนโยบายอุดหนุนชาวนา แต่ใช้ชื่อที่ต่างกัน  รัฐบาลก็ต้องอนุมัติโครงการทั้งสี่โครงการ คำถามคือ คำแก้ตัวแบบนี้เป็นการบริหารประเทศด้วยความรับผิดชอบต่ออนาคตของคนไทย และของประเทศหรือไม่

เราจะมีทางออกหรือไม่ ทั้งในด้านความเป็นธรรมต่อชาวนาที่ยากจน ด้านการดำรงความสามารถในการแข่งขัน และในด้านธรรมาภิบาลทางการเมืองพร้อมๆกัน

การอุดหนุนเกษตรกรเป็นเงินจำนวนมหาศาลมิได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย รัฐบาลต่างประเทศต่างมีนโยบายอุดหนุนเกษตรกรในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลประเทศพัฒนาแล้ว (เช่น สหรัฐอเมริกา EU ออสเตรเลีย) และประเทศกำลังพัฒนา (จีน อินเดีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ตุรกี ฯลฯ) งานวิจัยประเมินผลนโยบายอุดหนุน ส่วนใหญ่พบว่านโยบายเหล่านั้นมักไม่ประสบผลสำเร็จในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ไม่สามารถสร้างความมั่นคงด้านอาหารและไม่อาจลดความยากจนได้ หลายประเทศจึงประสบวิกฤติการคลังจากการอุดหนุนจนต้องมีการปฏิรูปนโยบายอุดหนุนภาคเกษตรขนานใหญ่ เช่น สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย ตุรกี อินเดีย เป็นต้น

ขณะนี้ภาคเกษตรทั่วโลกรวมทั้งเกษตรไทยกำลังประสบความท้าทายสำคัญ World Resource Institute ประมาณการว่าเกษตรทั่วโลกต้องเพิ่มการผลิตอาหารอีก 56% ภายในปีพ.ศ. 2593 เพื่อเลี้ยงประชากรโลกที่จะเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งหมื่นล้านคน แต่กลับต้องลดการใช้ปัจจัยการผลิตโดยเฉพาะที่ดินการเกษตร (เพื่อนำไปปลูกป่า) จำนวนไม่น้อยกว่าสองเท่าของพื้นที่ประเทศอินเดีย มิหนำซ้ำยังต้องลดก๊าซเรือนกระจกลงไม่ต่ำกว่า 67% (เหลือพียง 4 Gt CO2e) เพราะภาคเกษตร (โดยเฉพาะสาขาปศุสัตว์และการปลูกข้าว) เป็นต้นตอสำคัญที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก รองจากภาคขนส่ง สำหรับไทยข้าวเป็นพืชหลักที่ก่อปัญหาก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด (เพราะการทำนาใช้น้ำมาก มีการเผาตอซังและใช้สารเคมีปราบศัตรูพืช) แต่โชคดีที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศในที่ประชุม COP26 ว่าไทยมีเป้าหมายความเป็นกลางด้านการปล่อยคาร์บอน (carbon neutrality) ในปีพ.ศ.  2593 และเป็นประเทศที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero carbon) ภายในปี 2608   ส่วนความท้าทายของภาคเกษตรไทย นอกจากเรื่องการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันแล้ว ยังมีปัญหาเกษตรกรแก่ตัว และเกษตรกรส่วนใหญ่ขาดแรงจูงใจในการปรับตัวด้านต่างๆ

ข่าวดี คือ ผลการวิจัยโดยสถาบันนโยบายอาหารนานาชาติ (IFPRI) และธนาคารโลกเมื่อเร็วๆนี้ พบว่าหากมีการปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของ “การอุดหนุนภาคเกษตร” ไปเป็นการส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก พร้อมๆกับการลงทุนเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต นโยบายใหม่จะประสบควาสำเร็จ เพราะโลกจะได้ประโยชน์สามประการพร้อมๆกัน คือ การลดก๊าซเรือนกระจก การเพิ่มผลิตภาพการผลิตและ GDP ของประเทศ รวมทั้งการสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้พลเมืองโลกแบบยั่งยืน จุดอ่อนประการเดียว คือ ความยากจนอาจสูงขึ้นเล็กน้อย

งานวิจัยชิ้นนี้ให้นัยสำคัญต่อการปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของนโยบายอุดหนุนเกษตรกร และภาคเกษตรไทย โดยเฉพาะการลงทุนด้าน”เทคโนโลยีสีเขียว” ที่สามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ รวมทั้งการเปลี่ยนแนวทางการส่งเสริมการเกษตรในปัจจุบันที่เป็นการส่งเสริมแบบเสื้อโหล ไปเป็นการส่งเสริมตามความต้องการแท้จริงของเกษตรกร และเป็นการปรับตัวที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ วิธีการคือการปรับรูปแบบการส่งเสริมเป็น “สี่ประสาน” กล่าวคือ รัฐเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุนการส่งเสริมและประเมิน “ผลลัพธ์” (outcome) ไม่ใช่เพียงการประเมินผลผลิตแบบที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ส่วนกลุ่มเกษตรกรจะร่วมมือกับภาคธุรกิจ ภาควิชาการ (หรือภาคประชาสังคม) ในการนำเสนอโครงการปรับโครงสร้างการผลิต การแปรรูปและการค้าของข้าวไทย

ข้อเสนอการเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของนโยบายอุดหนุนเกษตรกรแบบนี้น่าจะเป็นที่ยอมรับของพรรคการเมือง เพราะนอกจากยังคงมาตรการอุดหนุนเกษตรกรที่เป็นฐานเสียงกลุ่มใหญ่ที่สุดแล้ว  ยังเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองสร้างสรรค์นโยบายการเกษตรใหม่ๆที่สามารถลดก๊าซเรือนกระจก ใช้เทคโนโลยีสีเขียว เพื่อเพิ่มรายได้ของเกษตรกร และความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน

TDRI จะนำเสนอแนวทางการส่งเสริมแบบสี่ประสาน และมาตรการสนับสนุนให้เกษตรกรมีแรงจูงใจใช้เทคโนโลยีสีเขียวในเร็วๆนี้

เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ สําหรับ
วันพุธที่ 18 พฤษภาคม
โดย

ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภูมิธรรม สุดปลื้มโพสต์ปิดตำนานจำนำข้าว สมัยยิ่งลักษณ์สำเร็จ คุยโกยเงินเข้ารัฐ

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว แสดงความยินดี

เปลี่ยนก้อนหิน เป็นดอกไม้..เปลี่ยนความขัดแย้ง เป็นความปรองดอง หลอมรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย พาประเทศก้าวเดินไปข้างหน้า…..

ปีแล้วปีเล่าที่ประเทศอันเป็นที่รักของเรา ต้องติดหล่ม จมอยู่กับความขัดแย้ง และทิ่มแทงกันด้วยถ้อยคำกร้าวร้าวรุนแรง แบ่งฝักฝ่ายขว้างปาความเกรี้ยวกราดใส่กัน ด้วยเหตุจากความเห็นที่แตกต่างกัน และช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงความเป็นธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสลดหดหู่หัวใจอย่างยิ่ง

ตลาดหุ้นกู้ กับ การสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน

นช่วงทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทเอกชนเข้ามาระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้กันมากขึ้น ตลาดหุ้นกู้จึงเติบโตอย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันมีมูลค่าคงค้างราว 4.5 ล้านล้านบาท  จำนวนบริษัทที่ออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุนก็เพิ่มขึ้นมาก  ไม่จำกัดอยู่เพียงบริษัทขนาดใหญ่เหมือนแต่ก่อน  แต่มีทั้งบริษัทขนาดกลางขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้น

'ภูมิธรรม' โดนแล้ว! 'พี่ศรี' ฟ้องศาลปกครอง ระงับขายข้าวค้าง 10 ปี

'ศรีสุวรรณ' ร้องศาลปกครอง ขอให้สั่งระงับการประมูลข้าวเก่า 10 ปี หวั่นข้าวมีสารปนเปื้อนเล็ดลอดกระทบสุขภาพประชาชนและชื่อเสียงข้าวไทยในตลาดโลก